xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจาก “รัฐประหาร 19 กันยายน”

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการครบรอบ 1 ปีแห่งการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐประหารดังกล่าวได้ส่งผลสะเทือนไปยังโครงสร้างทางสังคม การเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง และ ผลดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นลบหรือบวกจะยิ่งเห็นผลชัดเจนในระยะยาวมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รัฐประหารดังกล่าวยังสร้างความแปลกใจให้แก่ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย

รัฐประหารได้สร้างบทเรียนหลายบทเรียนที่น่าสนใจ ดังจะอภิปรายในด้านล่างนี้

1) ถ้ากลไกการตรวจสอบทั้งจากภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาชน ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นจะลดโอกาสการเกิดรัฐประหาร เช่นองค์กรจาก ภาครัฐ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ฯลฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลในภาคการเมืองโดยไม่ถูกขัดขวางและแทรกแซงจากพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล องค์กรจาก ภาคการเมือง เช่นพรรคฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่เช่นอภิปรายทั่วไปและสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร การตรวจสอบของวุฒิสภาและภาคประชาชน โดยการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ที่เป็นอิสระและพ้นไปจากการแทรกแซงของภาคการเมือง ถ้าทั้งสามภาคส่วนไม่ถูกแทรกแซงจากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะลดโอกาสการเกิดรัฐประหารและป้องกันการทุจริตของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งสั่งสมเรื่องอื้อฉาวจนมาเป็น “ทุนความชอบธรรม” ของคณะทหารในการแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการทำรัฐประหาร

2) รัฐประหารไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งของคนในชาติ เพราะกลไกดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ และสุ่มเสี่ยงที่ความแตกแยกของคนในชาติจะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลสมัยหน้าไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจประเทศให้มีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสูงและนำส่วนเกินทางเศรษฐกิจในภาคเมืองส่งไปให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ นอกจากนี้ รัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ รวมทั้งกลไกการใช้อำนาจของรัฐบาลรักษาการณ์หลังรัฐประหารยังไม่ได้รับการตรวจสอบ

3) รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจไทยชะงักและถอยหลังไปหลายปี ที่สำคัญคือการสูญเสียโอกาสในการวางรากฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ( IMF ประเมินว่าในปี 2548 2549 และ 2550 เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงในปีหน้า นอกเหนือจากปัญหาค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็คือปัญหาวิกฤติหนี้อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐฯ (Subprime) ซึ่งมีแนวโน้มที่ปัญหาจะขยายตัวจนส่งผลลบต่อการส่งออกของประเทศไทย ที่สำคัญ การทำรัฐประหารได้เพิ่มต้นทุนความเสี่ยงของประเทศไทยในสายตานานาชาติให้สูงขึ้นไปอีกหลังจากที่ประเทศไทยว่างเว้นจากรัฐประหารมากว่า 15 ปี

ต่อจากนี้ไป ภาคต่างประเทศและหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ (Credit Rating Agency) จะจัดความเสี่ยงดังกล่าวเป็นความเสี่ยงเฉพาะประเทศไทย (Country Risk) และจะส่งผลต่อต้นทุนการระดมเงินทุนของประเทศไทยจากตลาดการเงินระหว่างประเทศในอนาคต และต้นทุนการประกอบธุรกิจของต่างชาติในประเทศไทยที่ต้องบวกความเสี่ยงดังกล่าวในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย และที่สุดต้นทุนดังกล่าวจะส่งต่อไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยทำให้เศรษฐกิจไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นและสวัสดิการสังคมของประเทศไทยจำต้องปรับลดจากต้นทุนประเภทดังกล่าว

4) รูปแบบการบริหารจัดการประเทศที่ล้มเหลวของคณะรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร รูปแบบของรัฐบาลที่ผู้นำมาจากทหาร และคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่มีภูมิหลังจากภาควิชาการ ระบบราชการโดยเฉพาะในหน่วยงานบริหารนโยบายเศรษฐกิจ หรือ เทคโนแครต พิสูจน์แล้วว่ารูปแบบดังกล่าวล้มเหลวในการบริหารจัดการเศรษฐกิจประเทศ อันที่จริงระบบดังกล่าวได้พังครืนลงไปในปี 2540 การนำมาใช้ใหม่ในรอบเกือบปีที่ผ่านมา ยิ่งยืนยันชัดเจนว่าระบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน

5) มรดกจากคณะรัฐประหารทำให้ประเทศไทยอ่อนแอในอนาคต รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกออกแบบให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพและเน้นบทบาทของระบบราชการ ซึ่งจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าระบบที่มีข้าราชการเป็นแกนนำในการบริหารประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยและโลกในยุคปัจจุบัน

6) รัฐประหารจะส่งผลให้ภาคการเมืองและภาคสังคมในอนาคตจะคุมกองทัพในระดับที่เข้มงวดกว่าเดิม แม้ว่ารัฐประหาร 19 กันยายนจะถูกนับว่าเป็นความสำเร็จของกองทัพในสายตาของผู้นำคณะรัฐประหารในแง่ของการรื้อฟื้นเกียรติภูมิของกองทัพที่หายไปตั้งแต่ พฤษภาคม 2535 แต่ในระยะยาวเมื่อภาคการเมืองกลับมาเข้มแข็ง ภาคการเมืองและภาคประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบและควบคุมกองทัพในระดับที่สูงยิ่ง ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ กองทัพจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจการบัญชาการของรัฐบาล กองทัพไม่ใช่องค์กรอิสระตามจินตนาการของผู้นำกองทัพและผู้สนับสนุนกองทัพ

บทเรียนจากรัฐประหาร 19 กันยายน ควรได้รับการประเมินจากภาคส่วนของสังคมทั้งในแง่ต้นทุน-ผลได้ จากรัฐประหาร โดยใช้วิธีวิทยาในการประเมินจากสาขาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ หรือประเมินในแง่ของสหสาขาที่กล่าวมาในข้างต้น เพื่อท้ายที่สุดจะได้เป็นบทเรียนให้สังคมไทยก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่ต้องหวนกลับมาใช้เครื่องมือแก้ปัญหาที่ล้าสมัยเช่นรัฐประหาร ซึ่งไม่เพียงพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ทว่าในระยะกลางและระยะยาวต้นทุนจากรัฐประหารไม่เพียงจะสูงกว่าผลได้จากการทำรัฐประหารเท่านั้น หากแต่ต้นทุนดังกล่าวจะสุ่มเสี่ยงที่ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในหล่มปลักอีกหลายปี
กำลังโหลดความคิดเห็น