xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 304 “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่จอมพล ถนอม กิติขจร ไม่เคยตอบ กับ จดหมายนาย ชวน หลีกภัย ถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ไม่เคยได้รับตอบเช่นกัน !”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ลงมือเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ที่เคารพของผม เสร็จสรรพก็พับจดหมาย พร้อมกับกาแฟขม...ขนมหวาน ที่พริ้นท์ออกมา สอดใส่ซองเพื่อส่งให้ท่าน

ได้เคยเรียนท่านผู้อ่านว่า ผมเป็นผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์มากคนหนึ่ง ค่าซองแสตมป์รวมค่าส่งพิเศษอื่นๆ ตกเดือนละหลายร้อยบาท บางเดือนก็สูงถึงหนึ่งพันบาท เพราะต้องส่งหนังสือไปให้ด้วย หรือจดหมายด่วนแบบ EMS แต่ผมเชื่อมั่นในระบบไปรษณีย์ไทยมานานแล้ว เพราะเขาบริการได้ดีมากจริงๆ จนไม่เสียดายเงินค่าใช้จ่าย ให้กับไปรษณีย์ไทยเลย

การเขียนจดหมายนั้น เป็นช่องทางการสื่อสารที่เก่าแก่ แต่ปัจจุบันคนหันมาสื่อสารทางอีเลคโทรนิคส์มากขึ้น แต่หากจะเอากันเป็นหลักฐานแล้ว การส่งทางไปรษณีย์นี่แหละ ที่ใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงทางกฎหมายได้ดีที่สุด

เมื่อผมยังเป็นเด็กอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ ก็ได้เรียนวิชา “จดหมาย” กันแล้ว สอบถามเด็กปัจจุบัน เขาว่าไม่มีการสอนในโรงเรียน แต่ไปเรียนกันตอนเข้าเป็นนักเรียนพาณิชย์เลยทีเดียว ต่างจากสมัยผม ที่ต้องเรียนการเขียนจดหมายทั้งไทย-อังกฤษ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กชั้นมัธยมปีที่ ๑ หรือ ป.๕ ในสมัยปัจจุบัน

สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี จนถึงทุกวันนี้

จดหมายที่เขียนโดยบุคคลต่างๆนั้น เมื่อเวลาผ่านไป อาจกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็นจดหมายลายพระราชหัตถ์เลขา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงส่งจากยุโรป มาประทานพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตตินารี ซึ่งสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถฯ เป็นราชเลขาธิการฝ่ายในอยู่ในสมัยนั้น เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตมาให้ผู้อื่นอ่านได้อีกบ้าง

เมื่อพระราชหัตถเลขามาถึงหลายฉบับเข้าด้วยกัน จำนวน ๕๓ ฉบับ ผู้ที่ได้อ่านเห็นว่า เรื่องเสด็จประพาสซึ่งดำรัสเล่ามาในพระราชหัตถเลขามีข้อความต่างๆ เช่น ทรงพรรณนาสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตรเห็น และกิจการซึ่งได้ทรงทราบ ทั้งกระแสพระราชดำริวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ น่าอ่านยิ่งนัก และเมื่อรวมกันเข้า ก็กลายเป็นหนังสือ “ไกลบ้าน” ที่กลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่คนไทยทุกผู้ทุกนาม สมควรที่จะได้อ่านกัน

นอกจากนั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ยังทรงมีจดหมายและพระราชโทรเลข ถึงพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เมื่อครั้งทรงจากวังหลวง เสด็จกลับไปทรงเยี่ยมพระบิดาที่จังหวัดเชียงใหม่นอกจากถ่ายทอดความรักความห่วงใย ที่พระองค์ทรงมีต่อพระราชชายาเจ้านายฝ่ายเหนือแล้ว ยังเป็นหลักฐานเล่าถึงความเคลื่อนไหวของเมืองไทย ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง ได้เป็นอย่างดี

ใช่แต่เพียงจดหมายของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ยังมีจดหมายส่วนพระองค์ของเจ้านายพระองค์สำคัญ ซึ่งเป็นพระหัตถ์เลขาของเจ้านาย ที่ทรงเป็นปราชญ์ใหญ่สองพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีไปมาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนรานุวัตติวงศ์ ดังนั้น เรื่องราวที่ปรากฏจึงมีลักษณะทรงความรอบรู้ มีความหลากหลาย และถึงพร้อมด้วยอัจฉริยภาพของปราชญ์แห่งสยามทั้งสองพระองค์ จึงมีลักษณะเป็นสหวิทยาการและเป็นประโยชน์ยิ่ง

หนังสือที่รวบรวมเอาจดหมายสำคัญนี้ เรารู้จักกันในนาม

“สาสน์สมเด็จ”

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มา คงจะทราบว่าผมเคยแนะนำให้อ่านหนังสือที่ทรงคุณค่าทั้งสองเล่มนี้ ซึ่งมีคำคล้องจองกันคือ “ไกลบ้าน-สาสน์สมเด็จ”

สำหรับสาสน์สมเด็จจะให้คุณประโยชน์กับท่าน ในการทำความรู้จักเรื่องไทยศึกษา ทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี ศาสนา ศิลปกรรม วรรณคดีและอักษรศาสตร์ ฯลฯ

หนังสือ “ไกลบ้าน-สาสน์สมเด็จ” ทั้งสองเล่มนี้ จึงเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญ น่ามีติดบ้านเอาไว้ให้ลูกหลานได้อ่านกัน

จดหมายที่มีความโดดเด่น และกลายเป็นจดหมายสำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ และเป็นที่รู้จักกันมากหลังกึ่งพุทธกาลนั้น น่าจะเป็น “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นนามแฝงของท่านอาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทยเรา อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ ได้เขียนจดหมายส่วนตัวไปท้วงทักท้วงการที่จอมพลถนอม กิตติขจร กระทำ “การปฏิวัติตัวเอง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔

อาจารยป๋วยฯ ได้ยืนยันด้วยข้อเขียน ในหนังสืออายุครบรอบ ๖๐ ปี ของท่าน ว่า

จอมพล ถนอมฯ อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ที่เคยมีเมตตาต่ออาจารย์ป๋วย ดังนั้น จดหมายที่ท่านอาจารย์เขียนถึงท่านจอมพล จึงกระทำไปด้วยความหวังดีจริงๆ ท่านได้จ่าหน้าซอง และมีหนังสือนำเรียนถึงจอมพล ถนอมฯอดีตนายกฯโดยตรง แต่เมื่ออดีตผู้นำประเทศ ที่มียศเป็นจอมพลคนสุดท้าย ที่ได้มีอำนาจในบ้านเมือง กลับไม่มีปฏิกิริยาตอบ หรือพูดง่ายๆก็คือ

“ไม่ตอบจดหมาย”

การไม่ตอบจดหมายของผู้นำประเทศ ทำให้ผู้ที่เคยเป็นถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารชาติ ซึ่งเขียนด้วยความปรารถนาดี ทำให้ท่านอาจารย์ป๋วยฯตัดสินใจครั้งสำคัญ นำเอาจดหมายประวัติศาสตร์ ออกตีพิมพ์ในลักษณะที่เป็นจดหมายเปิดผนึก ซึ่งได้ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ซึ่งได้สร้างปฏิกิริยาในทางลบ ต่อตัวจอมพลถนอมฯเอง รวมไปถึงคณะรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นด้วย และในที่สุด

รัฐบาลเผด็จการ ก็ถึงกาลอวสานไป!

เมื่อต้นเดือนนี้เอง ผมฟังรายการข่าวของ อ.ส.ม.ท. คลื่น ๙๖.๕ ตอนเย็นๆซึ่งมีคุณ
พัชระ สารพิมพา เป็นพิธีกร ได้สัมภาษณ์สด นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ซึ่งอดีตผู้นำประเทศถึงสองสมัย ก็ได้ตัดพ้อว่า

ระหว่างรัฐบาลที่แล้วบริหารประเทศอยู่นั้น ไม่มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องไหน เชิญคุณชวนไปออกรายการโทรทัศน์เลย แม้แต่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ตัวอดีตนายกชวนเอง อุตส่าห์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ทำให้ช่อง ๑๑ ถือกำเนิดขึ้นมาได้แท้ๆ ก็ไม่ได้เชิญท่านไปออกรายการเลย เป็นเวลายาวนานถึง ๖ ปี เต็ม

จนกระทั่ง ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์กับคุณพัชระ ตัวอดีตหัวหน้าพรรค ที่ประชาชนเห็นว่าถนัดในการเป็นฝ่ายค้านได้ดีกว่าการเป็นรัฐบาล เพิ่งมีโอกาสไปออกรายการช่องที่ตัวเองทำคลอดมาแท้ๆ


ในวันที่ให้สัมภาษณ์นั้น อดีตนายกฯชวนได้เล่าให้คุณพัชระฟัง ว่า

ท่านเป็นห่วงสถานการณ์ปักษ์ใต้ เพราะตั้งแต่รัฐบาลทักษิณมีอำนาจ ได้ยุบ ศอบต. ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจดูแลภาคใต้ ทำให้เกิดความสงบ เหตุการณ์ไม่ลุกลาม แต่เลิกปุ๊บ เหตุการณ์ก็พลันรุนแรงขึ้นมา

จะเป็นจริงตามนั้น หรือไม่?

ผมมีข้อมูลในเรื่องนี้นี้มากมาย ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นว่า ที่คุณชวนกล่าวนั้น ไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะก่อนหน้าที่จะมีการยุบ ผู้ที่เกี่ยวข้องใน ศอบต. ทำหรือไม่ทำอะไรเอาไว้บ้าง ทำไมฝ่ายทหารอย่าง ‘กองทัพบก’ เองในขณะนั้น

จึงเห็นดีงาม กับการยุบ ศอบต.ทิ้งไป!

เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น ที่จะเอามาพูดกันวันนี้ เพียงขอให้คุณชวน ลองกลับไปดูเรื่องการที่แม่ทัพภาคที่ ๔ คนปัจจุบัน(กำลังจะเลื่อนตำแหน่ง) รวมทั้งนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผอ.ศอบต. ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ และนายพลปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ ไปให้คำรับรองกับศาล เรื่องการขอประกันตัวชั่วคราว ๑๒ อุสตาส จนศาลท่านปล่อยตัวชั่วคราว และคนเหล่านั้นก็หลบหนีหายไป ไม่กลับมารายงานตัวที่ศาลอีกเลย นั้น

อยากให้คุณชวน ลองวิเคราะห์เจาะดูให้ลึกๆ ว่า

ทำไม นสพ.มติชนจึงยกกรณีนี้ขึ้นมา แล้วว่ากล่าวอย่างขมขื่น ในการที่บุคคลผู้มีอำนาจในพื้นที่และสภานิติบัญญัติ เข้าไปรับรองกลุ่มผู้ต้องหา ทั้งๆที่เป็นหัวโจกในการก่อการร้าย ?

บุคคลเหล่านั้น จะรับผิดชอบ กับสังคมอย่างไร?

ดังนั้น เหตุการณ์หลบหนีประกันไปของกลุ่มผู้ต้องหานั้น น่าจะแสดงให้เห็นศักยภาพในการวินิจฉัยเหตุการณ์ ของกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ ได้เป็นอย่างดี!

คุณชวนได้บอกกับคุณพัชระว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนมาหลายสิบปี จึงรู้สถานการณ์ภาคใต้ดี เพราะรู้จักบุคคลในพื้นที่ ตั้งแต่นายร้อย นายพัน นายพล ข้าราชการอื่นๆตั้งแต่ระดับล่าง ไปจนถึงระดับใหญ่ๆ

จึงคิดว่า ตนเองมีแนวทาง ที่จะมอบให้กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาได้

ดังนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย จึงได้มีจดหมายไปถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯคนปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดในจดหมายจะว่าอย่างไรนั้น ประธานพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้บอกให้ทราบ แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ

คุณชวนโพล่งออกมา ด้วยน้ำเสียงขุ่นๆ ว่า

“นายกรัฐมนตรี ท่านไม่ตอบจดหมายผม!”

คุณพัชระฯได้ฟัง ก็ร้องสอดขึ้นมา ว่า

“อ้าว...ท่านไม่ได้เป็นคนตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ฯเป็น ผบ.ทบ.หรือครับ?”

นายหัวชวนไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เพียงแต่บอกว่า

“ตอนนั้นผมเป็น รัฐมนตรีกลาโหม!”

คงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า นายชวนเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งนายพล สุรยุทธ ณ. เขายายเที่ยง จากที่ปรึกษา ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในตอนนั้น

เออ...มันก็น่าเดือดเหมือนกันนะ...คนกันเองแท้ๆ!!

คุณพัชระฯถามว่า เมื่อนายกฯคนปัจจุบัน (ที่คุณชวนฯมีส่วนปั้นมาเอง) ไม่ตอบจดหมาย แล้วอดีตนายกฯของพรรคประชาธิปัตย์ ทำอย่างไรต่อไป?

ได้รับคำตอบว่า

ท่านประธานพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ได้ทำจดหมายนำปัญหาต่างๆ รวมทั้งวิธีแก้ไขปัญหาภาคใต้ นำเสนอประธาน คมช. คือ พล.อ.สนธิ บุณยะรัตกลิน โดยมีเพื่อนๆอดีตผู้แทนราษฎรภาคใต้ ร่วมกันลงชื่อพ่วงท้ายไปด้วยหลายคน

ปรากฏว่าได้จดหมายตอบจาก พล.อ.สนธิฯมา ทำให้นายชวนคงรู้สึกสบายใจขึ้น!

ตรงนี้ในฐานะที่เป็นคนนอกอย่างผม อยากมอบรางวัล “โรตีทองคำ สำหรับคนมีมารยาทดี” ให้กับ ‘บิ๊กบัง’ ไปเลย ๑ แผ่น!..๕๕๕

ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว รู้สึกเห็นใจคุณชวน หลีกภัย ที่ต้องมาเสียความรู้สึกกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งแม้ขณะนี้อยู่ในตำแหน่งนายกฯแล้ว แต่ก็เป็นคนที่คุณชวนเคยเกื้อกูลกันมาแท้ๆ สู้อุตส่าห์เขียนจดหมายบอกกล่าว ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นส่วนตัวเลย หากแต่เรื่องของบ้านเมืองแท้ๆ

กลับดันไม่ตอบกันเสียดื้อๆ อย่างนั้นแหละ!

อย่ากระนั้นเลย ผมขอแนะนำว่า

ท่านประธานพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะนำจดหมายฉบับดังกล่าว ออกตีพิมพ์ในลักษณะที่เป็นจดหมายเปิดผนึก แบบท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้ผู้คนได้เห็นกัน จะได้รู้ว่า

มันมีอะไรนักหนา ถึงตอบกันไม่ได้เลย ทีเดียวเชียว!!

ฟังที่คุณชวนให้สัมภาษณ์แล้วน่าเห็นใจ ทั้งเรื่องที่ต้องกอดเข่าเจ่าจุก ไม่มีโอกาสเสนอความเห็นทางสื่อสารมวลชน เป็นเวลายาวนานถึง ๖ ปี รวมทั้งการไม่ตอบจดหมายของนายกฯ เขายายเที่ยง ซึ่งทำให้ท่านประธานพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับลมออกหูแล้ว...

ยิ่งทำให้คิดถึงกฎของความเป็น ‘อนิจจัง’ ตามคำพระท่านว่า มากยิ่งขึ้นทุกที

จนทำให้ไพล่ไปคิด ถึงคำกลอนสอนใจ ที่เวลาเราขับรถไปต่างจังหวัด แล้วแวะเข้าห้องน้ำ มักพบข้อความฮิต ที่เขาเขียนกันไว้ห้องส้วมปั๊มน้ำมัน จนผู้คนจำกันได้แม่น ว่า

“ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงส์    ยามบุญลงหงส์เป็นกาน่าฉงน
ยามบุญมาหมูหมากลายเป็นคน    ยามบุญหล่นคนเป็นหมา...น่าอัศจรรย์”


เที่ยวนี้...อย่าให้บุญหล่น กลับไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ อีกเชียวนะ....นายหัว!
...๕๕๕...


..................
กำลังโหลดความคิดเห็น