xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2551 ประเทศไทยยังคงอยู่ในหล่มปลัก

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

หลังจากที่รัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ ภาคธุรกิจและประชาชนได้คาดหวังว่าปัญหาทางการเมืองที่ทำให้ประเทศไทยติด ”หล่มปลัก” จะคลี่คลายลง

“หล่มปลัก” ดังกล่าวคือการที่การเมืองและเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเกือบ 2 ปีเต็มนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2549 จนถึงห้วงเวลาที่จะมีรัฐบาลใหม่ในต้นปีหน้า ปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ฉุดกระชากสังคม เศรษฐกิจไทยติดหล่มปลักเท่านั้น หากแต่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติ

คำถามคือ หลังประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 สิงหาคม และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคมในปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าข้ามพ้นหล่มปลักและสังคมเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเดินหน้าผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนศักดิ์ศรีของชาติจะอยู่มาอยู่บนเวทีประชาคมโลกอย่างสมเกียรติภูมิของพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ???

ในความเป็นจริง เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2551 ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในหล่มปลักทาง การเมือง โดยปัจจัยที่บ่งชี้ให้เป็นไปในทางนั้นได้แก่

1)ความขัดแย้งของคนในประเทศยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ดังจะเห็นได้จากผล ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม ที่จำนวนเสียงที่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 41.37 และเสียงโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่ร้อยละ 56.69 โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 57.61 ของผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด เมื่อพิจารณาในรายภูมิภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคเดียวที่มีจำนวนผู้โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าครึ่งที่ ร้อยละ 62.80 โดยตามการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบเขตของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 135 ที่นั่ง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุดของประเทศ ดังนั้นแม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว แต่มีความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชาชนจะได้ที่นั่ง ส.ส. (ทั้งแบบเขตและแบบรายชื่อ) มากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ

การที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของผู้สนับสนุนพรรคพลังประชาชนกับพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามอาจจะปะทุในลักษณะการประท้วง นอกจากนี้ คำถามเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคพลังประชาชนที่ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะถูกรัฐบาลต่างประเทศและองค์กรนานาชาติตั้งข้อสงสัยและกังขาว่า อำนาจและอิทธิพลของกองทัพยังไม่ได้ออกจากเวทีการเมืองไปอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศตลอดจนภาพลักษณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบท่าทีของโลกหรือนานาชาติต่อประเทศไทย แต่เราไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าผลประโยชน์ของประเทศไทยในแต่ละปีประมาณร้อยละ 74 ผูกพันกับภาคต่างประเทศ (คำนวณโดย UBS Investment Research สิงหาคม 2550)

ถ้าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลมหาอำนาจ ต่อประเทศไทยลดลงจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ประเทศไทยผ่านช่องทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ประชาชาติของประเทศไทยให้ปรับลดลงตามลำดับ

2) รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกออกแบบให้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความอ่อนแอ จนไม่สามารถเป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนในการบริหารประเทศและรับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายที่นำเสนอในการหาเสียง ดังจะเห็นได้จากการแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิมหนึ่งเขตหนึ่งส.ส.เป็นหนึ่งเขตมีสามส.ส. และการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีที่มาจากเขตเลือกตั้ง 8 เขตแทนที่จะเป็นเขตเลือกตั้งในลักษณะทั้งประเทศดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

นอกจากนี้วุฒิสมาชิกในรัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากการคัดสรรกึ่งหนึ่งและเป็นไปได้ว่า ข้าราชการประจำ (ซึ่งในเชิงการบริหารอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล)จะสามารถดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้กลไกการตรวจสอบและกำกับรัฐบาลตามที่ควรจะเป็นของวุฒิสภากลายเป็นเวทีการ ต่อรองจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างข้าราชการประจำโดยเฉพาะทหารกับนักการเมืองซึ่งส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลไม่สามารถกำกับหรือสั่งการข้าราชการประจำตามแบบฉบับของรัฐบาลที่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อนโยบายที่หาเสียงต่อประชาชน นอกจากนี้ รูปแบบองค์กรที่ปรับปรุงขึ้นหลังรัฐประหารอย่าง กอ.รมน.ถูกออกแบบในร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในให้กองทัพมีอำนาจอย่างกว้างขวางและกำลังจะเป็นองค์กรที่สามารถดำเนินนโยบายความมั่นคงเป็นอิสระจากรัฐบาลโดยปราศจากการตรวจสอบของรัฐสภาและอำนาจของรัฐบาลในการกำกับและสั่งการ

ประการสำคัญ ประเทศไทยในเวลานี้ต้องการการปฏิรูปศักยภาพการผลิตของประเทศ ตั้งแต่การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและ ระบบ Logistics รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การพัฒนาประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปโครงสร้างกติกาการแข่งขันทางการค้า และที่สำคัญที่สุด คือการปฏิรูปการศึกษา

มาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้านศักยภาพการผลิตต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งและแกร่งพอที่จะผลักดันการปฏิรูปฯ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เปิดช่องให้มีรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่งทางการเมือง

3) เมื่อผนวกกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะชอตัวลงเนื่องจากปัญหา สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยที่มีการส่งออกโดยตรงไปสหรัฐ ฯ ประมาณร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (คำนวณโดย UBS Investment Research สิงหาคม 2550) และจะส่งผลโดยตรงต่อระดับรายได้ประชาชาติของไทย (GDP) ในปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.2 (คำนวณโดย Morgan Stanley ณ วันที่ 11 กันยายน 2550 ) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและกระทบต่อระดับรายได้ประชาชนไทยโดยเฉพาะชนรากหญ้า เมื่อรัฐบาลผสมถูกออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ให้อ่อนแอ ดังนั้นความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะไม่มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพดังตัวอย่างที่เราเคยพบเห็นในสมัยของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธที่ทีมเศรษฐกิจของพรรความหวังใหม่ขัดแย้งกับทีมเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนาซึ่งส่งผลให้นายอำนวย วีรวรรณ แกนนำทีมเศรษฐกิจของพรรคความหวังใหม่ต้อง ลาออกไปในที่สุด

นอกจากนี้ ระบบราชการหรือระบบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งมีทหารและเทคโนแครตเป็นแกนกลางในการบริหารประเทศได้พิสูจน์แล้วในปี 2540 ว่าระบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

ถ้าเศรษฐกิจไทยตกต่ำในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อชนรากหญ้าจำนวนมาก การประท้วงจากชนรากหญ้าหรือคนกลุ่มอื่นๆจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและบานปลายเป็นความขัดแย้งในสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของประชาชน และเสถียรภาพทางสังคมในที่สุด

“หล่มปลัก" ที่เกิดจากข้อ 1-3 ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะฉุดรั้งสังคมไทยให้วนเวียนอยู่ในวังวนของความขัดแย้งของคนในชาติ หากภาวะหล่มปลักดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและนานพอจะส่งผลต่อระดับการพัฒนาประเทศไทยให้ถดถอยโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดังประสบการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงปลายยุคประธานาธิบดีมาร์กอสและยุคประธานาธิบดีอาคีโน
กำลังโหลดความคิดเห็น