xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงการเมืองไทยในครึ่งปีหลัง 2550

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 18 เดือนมาแล้วที่การเมืองไทยตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางการเมือง ได้ส่งผลสะเทือนลึกซึ้งต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศอย่างสำคัญโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยใน 4 ด้านหลักกล่าวคือ 1) การใช้จ่ายภาครัฐ 2) การลงทุนภาคเอกชน 3) การบริโภคเอกชน และ4) การส่งออก ชะงักแทบทั้งหมด หลงเหลือเพียง กิจกรรมด้านการส่งออกเท่านั้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่

การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลงเหลือเพียงการส่งออกเป็นหลักนั้นได้ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยบิดเบือนไปจากภาวะปกติอย่างมากดังจะเห็นได้จากยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ที่เกินดุลผิดปกติเพราะการนำเข้าลดลง โดยยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในครึ่งปีแรก 2550 อยู่ที่ 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนที่เหลือ ซึ่งก็คือการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลรักษาการมากว่า 18 เดือน ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอตัวลง ทั้งนี้การใช้จ่ายภาครัฐพึ่งเริ่มต้นในมกราคม 2550 นี้เอง หลังจากที่ชะงักไปกว่า 11 เดือน

ภาวะบิดเบือนของเศรษฐกิจไทย อันเนื่องมาจาก ความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางการเมืองนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวเท่านั้นหากแต่ยังส่งผลให้การบริหารจัดการค่าเงินบาทให้อยู่ในภาวะปกติเป็นได้อย่างลำบาก เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในครึ่งปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้ส่งออกสูงขึ้นผิดปกติ (ผู้ส่งออกได้รับการชำระค่าสั่งซื้อ สินค้าและบริการจากต่างประเทศเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อนำมาใช้ในประเทศต้องทำการขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯและซื้อเงินบาท) เมื่อเทียบกับการซื้อดอลลาร์สหรัฐฯในส่วนของผู้นำเข้าเพราะกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงจากปัจจัยทางการเมืองทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อชำระการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงไปด้วย ถ้าภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างผิดปกติเป็นภาวะชั่วคราวจากเรื่องความเชื่อมั่นทางการเมือง เมื่อการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติหลังร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอาจจะกลับมาขับเคลื่อนได้ดังปกติอีกครั้ง การนำเข้าสินค้าและบริการก็จะปรับสูงขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันต่อค่าเงินบาทผ่านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ค่าเงินบาทจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ผันผวนหรือน่าจะอยู่ในวิสัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถบริหารจัดการได้ แต่คำถามคือทิศทางการเมืองในครึ่งปีหลัง 2550 จะขจัดความไม่แน่นอนทางการเมืองเมื่อเทียบกับภาวะต้นปีที่ผ่านมาหรือไม่

คำตอบคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 น่าจะยังคงดำรงอยู่ ดังจะเห็นจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้

ปัจจัยแรก การลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคม ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ รวมทั้งคณะกรรมการอิสระที่ตั้งหลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 จะต้องเผชิญกับคำถามความชอบธรรมทางการเมือง แม้ว่าในที่สุดถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คมช. จะสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้มาปรับใช้และประกาศบังคับใช้ แต่ถ้าเกิดภาวะดังกล่าวจะส่งผลสะเทือนต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เงินทุนต่างประเทศอาจจะไหลออกทันที ส่งผลให้ค่าเงินบาทอยู่ในภาวะผันผวนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยกลับสู่ความไม่แน่นอนในระดับสูงอีกครั้งเพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ปฏิกิริยาต่อการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ผู้ใด กลุ่มใด หรือองค์กรใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัจจัยที่สอง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน การออกกฎหมายลูก อย่างเช่นร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร จะได้รับการผลักดันให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะผ่านทุกวาระรวดหรือไม่ เพราะร่างดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากปัญญาชน และกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมาก นอกจากนี้หลายฝ่ายเห็นว่าควรปล่อยให้รัฐบาลและสมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว แต่ถ้า คมช.ผลักดันร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็จะสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับชนชั้นกลางและปัญญาชน

ปัจจัยที่สาม การแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไปในเดือนกันยายนต่อจากพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคมช. ทั้งนี้การปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน ทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเพราะผู้ที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกจะเป็นผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองไทย โดยหลังจากปี 2535 ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและโผโยกย้ายนายทหารไม่ได้มีบทบาทและความสำคัญจากประชาชนและสื่อมวลชนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

ถ้าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไปไม่ใช่พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตรจะเกิดความขัดแย้งในหมู่สมาชิก คมช.และความแตกแยกในกองทัพหรือไม่? และถ้าพลเอกสพรั่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจะส่งผลต่อนโยบายและทิศทางการเมืองไทยอย่างไร?

การที่สังคมกลับมาให้ความสนใจในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกรวมถึงโผโยกย้ายนายทหารนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ต่างประเทศแล้ว มีแต่ประเทศพม่าเท่านั้นที่การดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือโผโยกย้ายนายทหารที่จะได้รับความสนใจในระดับนี้ นานาอารยประเทศในโลกยุคปัจจุบัน (เว้นแต่พม่า) ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่สังคมจะต้องมาให้ความสนใจกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือโผโยกย้ายนายทหารระดับอื่นๆในลักษณะเป็นโผที่กำหนดชะตากรรมประเทศและการเมือง

ปัจจัยที่สี่ การเล่นการเมืองของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน การกำหนดวันเลือกตั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม หรือ 23 ธันวาคม ซึ่งถ้าพลเอกสนธิเล่นการเมืองหลังเกษียณราชการในเดือนตุลาคม จะมีเวลาหาเสียงประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง แต่พลเอกสนธิในฐานะนักการเมืองจะพกตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ลงสู่สนามเลือกตั้งด้วยหรือไม่และการที่พลเอกสนธิ ก้าวเข้าสู่สนาม การเมืองอย่างเต็มตัว พลเอกสนธิมุ่งหวังตำแหน่งใดในรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเพราะถ้าพลเอกสนธิไม่ลงสนามเลือกตั้ง ก็มีแนวโน้มสูงยิ่งว่าหลังเลือกตั้งอาจจะมีการเชื้อเชิญพลเอกสนธิดำรงตำแหน่งรอง นายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แต่ถ้าพลเอกสนธิลงสนามเลือกตั้ง เป็นไปได้ว่าพลเอกสนธิอาจจะมุ่งหวังตำแหน่งที่สูงกว่านั้น

อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองของพลเอกสนธิ (ถ้าพลเอกสนธิลงสนามเลือกตั้ง) มีนโยบายในการจัดการบริหารเศรษฐกิจอย่างไร มีแนวทางในการนำพาประเทศชาติในศตวรรษที่ 21 อย่างไร สิ่งเหล่านี้ยังไม่เห็นจากพลเอกสนธิและจากพรรคการเมืองที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน เว้นแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เริ่มพบปะนักลงทุนต่างประเทศและประชาชนในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งออกประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายการบริหารประเทศ การเข้าสู่สนามการเมืองของพลเอกสนธิ ถือเป็นการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบจากภาคการเมือง ซึ่งคาดได้ว่าพลเอกสนธิจะได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษไม่เพียงจากพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น หากแต่พรรคการเมืองอื่นๆ อาจจะผสมโรงร่วมตรวจสอบพลเอกสนธิอย่างเข้มงวด

ถ้าการกระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างเข้มข้นและส่งผลสะเทือนในด้านไม่พึงปรารถนาต่อพลเอกสนธิ ปฏิกิริยาจากกองทัพจะเป็นเช่นไร?

ถ้ากองทัพออกอาการมากเกินไป (Over reaction) จะส่งผลอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของการเมืองไทยและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั้งจากคนในประเทศและสายตาจากนานาชาติที่จับตามองประเทศไทยเป็นพิเศษในช่วงเลือกตั้งหรือช่วงการถ่ายโอนอำนาจบริหารจากฝ่ายทหารมาสู่ประชาชน?

ความไม่แน่นอนทางการเมืองเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่บริหารจัดการได้ยาก ภาคเอกชนไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเมืองไม่เหมือนกับปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาทหรือความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยที่อย่างน้อยภาคเอกชนยังพอมีทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนดังกล่าว แต่ความไม่นอนจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงเกือบ 18 เดือนที่ผ่านมาไม่มีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง และถึงที่สุดแล้ว ความไม่แน่นอนทางการเมือส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก และเกิดการชะงักงันในการบริหารประเทศอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่ผู้ที่อยู่ในเวทีการเมืองทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยจะเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น