เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ขอกราบเรียนท่านผู้อ่านว่าวันนี้ ที่ ๒๖ มิถุนายน ครบรอบวันเกิดปีที่ ๒๒๑ ของมหากวีรัตนโกสินทร์ ที่เรารู้จักกันในนาม พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือเรียกกันจนติดปากว่า ‘สุนทรภู่’ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ และหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ คงมีประวัติและเรื่องราวของท่าน ให้อ่านกันเหมือนเช่นทุกปี
ที่ผมบอกว่าเป็น ‘มหากวี’ เพราะไม่ใช่รู้จักนับถือแค่เมืองไทยเท่านั้น แต่เกียรติคุณของสุนทรภู่ ยังขจรขจายไปทั่วโลก เพราะองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องเกียรติคุณ ให้เป็น ‘กวีเอก’ คนหนึ่งของโลก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว
ตอนเป็นเด็ก นอกจากชอบวิชาคณิตศาสตร์แล้ว ผมยังรักการเรียนภาษาเป็นอันมาก ไม่ว่าเป็นภาษาไทยหรือต่างประเทศ อีกทั้งสิ่งแวดล้อมในบ้านพ่อ ก็เต็มไปด้วยกองหนังสือ จึงได้อ่านวรรณกรรม และหนังสือเล่มสำคัญทั้งของชาติเราและต่างประเทศ หลายต่อหลายเล่มจน เรียกว่าเป็น ‘หนอนหนังสือ’ คนหนึ่งก็พอได้
ครั้นได้เรียนวรรณคดีไทย ตอนมัธยม ๓ (ม.๑ ปัจจุบัน) กระทรวงศึกษาธิการให้ใช้หนังสือ ‘พระอภัยมณี’ เป็นหนังสือหลัก ตัวละครที่ชอบมาก คือ ‘ชีเปลือย’ ตัวเองเคยสอนภาษาอังกฤษเด็ก ได้ลองถามถามลูกศิษย์รุ่นเล็ก ที่เคยอ่านพระอภัยมณีว่า จำตัวละครตัวไหนได้มากกว่าเพื่อน คำตอบที่ได้รับเหมือนกันเกือบทั้งหมดคือ คนที่ “หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที” ก็อีตา ‘ชีเปลือย’ คนนั้นนั่นแหละ!
ว่าไปแล้วสุนทรภู่นั้น ช่างมีความเป็นอัจฉริยะล้นเหลือ ที่สามารถสร้างตัวละครให้มีชีวิตชีวา จนสามารถกระโดดโลดแล่น ไปในวรรณกรรมเรื่องตางๆของท่าน จนคนอ่านพากันสัมผัสได้ถึงความสมจริงสมจังอย่างแท้จริง
คุณพุ่ม กวีสตรีคนสำคัญยุคต้นรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึง รัชกาลที่ ๕) ท่านมีบ้านอยู่บนแพริมน้ำ และมีปฏิภาณกวีเป็นเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบอกบทสักวา จนได้รับสมญาว่า“บุษบาท่าเรือจ้าง” ท่านเป็นผู้รจนาเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ได้เขียนถึงหนังสือเล่มโปรดของคนไทย คือ ‘พระอภัยมณี’ ว่า
คราแผ่นดินปิ่นอยุทธ์พระพุทธเลิศ มีช้างเผือกเกิดในสยามถึงสามสาร
เป็นช้างพระที่นั่งอลังการ เกิดตำนานท่านครูภู่สุนทร
แกเขียนพระอภัยมณีมีไว้ขาย เป็นนิยายขี้ปดสยดสยอง
กวีหญิงท่านนี้ ได้บรรยายเรื่องพระอภัยมณีไว้กระชับชัดเจน บอกว่าเป็นเรื่อง ‘นิยายขี้ปด’ เพราะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง และยังบอกให้เรารู้ว่า ท่านมหากวีเขียนนิยายพระอภัยมณี เพื่อเลี้ยงชีวิตด้วย เพราะ “มีไว้ขาย” ไม่ได้ให้อ่านกันฟรีๆเสียเมื่อไหร่กัน!
ต่อมาเมื่อได้รับการศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร ผมได้อาจารย์ภาษาไทยที่เก่งและมีชื่อเสียงมาก ๒ ท่าน คือ ศาสตราจารย์ พันตรีหญิง คุณหญิง ผะอบ โปษะกฤษณะ และ พ.อ.(พิเศษ) เสนีย์ วิลาวรรณ ซึ่งทั้งสองท่าน ได้จุดประกายความคิดของผม ในเรื่องหลักภาษาและการวิเคราะห์วรรณคดีไทย จึงสามารถต่อยอดการศึกษาได้โดยง่าย
หนังสือวรรณคดีตอนเรียนเตรียมทหารปีที่ ๒ คือขุนช้าง-ขุนแผนตอน ‘กำเนิดพลายงาม’ ซึ่งสุนทรภู่หรือพระสุนทรโวหาร มหากวีของชาวไทยเป็นผู้รจนาขุนช้าง-ขุนแผนตอนนี้ และอาจารย์ พ.อ.เสนีย์ฯท่านเป็นผู้สอน ซึ่งผมตั้งอกตั้งใจฟังเป็นอย่างดี แม้ขณะเขียนต้นฉบับนี้ เหมือนเสียงของอาจารย์ ดังก้องอยู่ในโสตประสาทของตัวเอง
ท่านบอกว่า สุนทรภู่นั้นเก่งมาก ที่บรรยายตอนนาง ‘วันทอง’ คลอดพลายงาม ว่า
“จะคลอดบุตรสุดปวดให้รวดร้าว ตึงหัวเหน่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยต้นขา”
ท่าน อ.เสนีย์ฯบอกว่า ถามผู้หญิงทุกคนที่คลอดตามธรรมชาตินั้น ตอนเบ่งก่อนคลอด ความรู้สึกตึงและเจ็บปวดแผ่ซ่าน รวมทั้งมีอาการแน่นตึ้บตรง ‘หัวเหน่า’ คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ใช้ คำว่า ‘หัวหน่าว’ (ไม่ค่อยคุ้นหู ชาวบ้านมักเรียกเป็น ‘หัวเหน่า’ มากกว่า) เป็นคำนาม ให้คำแปลว่า ส่วนของร่างกาย อยู่ระหว่างท้องน้อยกับอวัยวะสืบพันธ์ สำหรับภาษาอังกฤษใช้คำ ว่า Mons pubis ให้คำอธิบายว่า เป็นส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ตั้งอยู่หน้ากระดูกหัวเหน่า ใต้บริเวณท้องน้อย ส่วนนอกเป็นผิวหนัง ภายในเป็นไขมันมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีฐานอยู่บนและยอดตรงบริเวณโคนขาด้านหน้า
นี่แสดงว่าสุนทรภู่นั้น ท่านช่างละเอียดอ่อนนัก แม้จะเป็นชาย แต่ท่านมหากวีก็สามารถนำเอาความเจ็บปวดของหญิงก่อนคลอด มาถ่ายทอดบรรยายเสนอคนอ่าน โดยเฉพาะนักเรียนเตรียมทหารที่เป็นชาย ได้เห็นภาพพจน์กันแจ่มชัดกันทีเดียว
อาจารย์ท่านเดียวกันนี้แหละครับ ที่บอกผมว่า การที่เณรแก้วหรือขุนแผน ตอนยังบวชเป็นเณรไปสึกที่โคนต้นไม้ แล้วเข้าหานางพิมพ์ ท่านบอกว่าก็คงคล้ายๆ กับนักเรียนเตรียมทหาร แต่งกายนอกเครื่องแบบ เวลาไปหาสาวๆ นั่นแหละ
พรรคพวกชอบใจ ‘ฮา’ กันตึง!
สำหรับวรรณคดีไทยนั้น เวลาเขามีสัมมนาที่ไหน หากไปได้ผมจะต้องรีบไป แม้วงสนทนาที่เขาจะยกไปพูดกัน อยู่ถึงต่างจังหวัด ถ้าไม่ไกลนักก็จะขับรถไปฟัง อย่างการสัมมนาเรื่องที่เกี่ยวกับท่านมหากวีของชาติท่านนี้ ตอนที่จัดกันเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ในหัวข้อ “เศรษฐกิจการเมือง เรื่องสุนทรภู่” ณ โรงละครแห่งชาติกรุงเทพฯ จัดโดยกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ก็ได้ไปฟังการสัมมนากับเขาด้วย
ผมเองเป็นแฟนอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว องค์ปาฐกหลักในการสัมมนา ท่านเป็นคนเมืองพัทลุงแต่ไปเป็น ‘ปราชญ์ใหญ่’ เมืองเพชรบุรี รายนี้พูดที่ไหนเป็นต้องตามไปฟังกัน อาจารย์จะเขียนหนังสืออะไรออกมา ผมก็ตามซื้อหามาอ่านหมดทุกเล่ม
นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม บรรยายเรื่อง พระอภัยมณี:มหากาพย์แห่งยุคเรือปืน และนานาชาตินิยม ซึ่งเห็นแค่หัวข้อ ก็ต้องแจ้นไปฟังกันแล้ว
พูดถึงยุคเรื่อง ‘เรือปืน และนานาชาตินิยม’ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า สุนทรภู่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่วัดระฆังและวังหลัง มองมาอีกฝั่งก็เป็นพระบรมมหาราชวัง ท่านคงมีโอกาสได้เห็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ที่เข้ามาทำการค้าขายมากมาย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ เพราะใครมากรุงเทพ จะติดต่อข้อราชการ ก็ต้องขึ้นท่าเรือด้านหลังของวังหลวง
ท่านสุนทรภู่จึงสังเกตท่าทาง ลักษณะของชนเชื้อชาติต่างๆ ไม่ว่าเป็นฝรั่ง จีน จาม แขก เขมร ลาวฯลฯ ประกอบกับความเป็นอัจฉริยะเชิงกวี และการมีจินตนาการที่แสนเพริศพริ้งของท่าน จึงสามารถหยิบจับเอารายละเอียดต่างๆ ไปเป็นบุคลิกของตัวละคร ในนิยายที่ท่านแต่งขึ้นเอง ได้เป็นอย่างดี
มาปีนี้ทางผู้ที่รักและนิยม ในท่านมหากวีสุนทรภู่ ได้จัดการเสวนากันขึ้นอีก คราวนี้เป็นเรื่องสุนทรภู่ปฏิบัติ “ราชการลับ” ในนิราศเมืองแกลง เมื่อ ๒๐๐ ปี ที่แล้ว โดยใช้กลอนจากนิราศฉบับนี้ มาตั้งเป็นเป็นหัวข้อพิจารณา คือ
“จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา”
ก็ต้องไปถกเถียงกันว่า การไปหาบิดาของท่าน เป็นการไปทำตามคำสั่งเจ้านาย ซึ่งจะใช่ราชการลับ หรือไม่? ก็ต้องไปแลกเปลี่ยนการสนทนา เพื่อวิเคราะห์หาหลักฐานกัน
รายการนี้จัดกันที่วัดเทพธิดาราม เมื่อกลางเดือนนี้เอง ซึ่งท่านสุนทรภู่บวชและจำวัดอยู่ที่พระอารามแห่งนี้เป็นเวลายาวนาน แต่ผมเสียดายที่ไม่ได้ไปฟังด้วย
การไปราชการลับของสุนทรภู่นี้ เป็นเรื่องพูดกันมานานแล้ว แต่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายที่เห็นด้วยก็บอกว่า บิดาของท่านเป็นข้าเก่าของวังหลัง เคยไปเป็นราชการงานทัพในฐานะทหาร ซึ่งผมเคยอธิบายในคอลัมน์นี้แล้ว ว่า
บ้านเรานั้น แต่โบราณไม่ได้มีแต่กองทัพประจำ เมื่อมีศึกสงครามจึงจะเกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหารกัน เพิ่งมามีกองทัพประจำแบบยุโรป เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ชายไทยแต่โบราณที่อายุถึงเกณฑ์ ไม่พิการ จะต้องไปราชการสงครามทั้งนั้น โดยแปรสภาพจากชาวบ้านไปเป็นทหารกันหมด ครั้นเสร็จศึกก็กลับบ้านใครบ้านมัน ไม่มีกรมกอง หรือมีสังกัด เหมือนปัจจุบันแต่อย่างใด
พอศึกมาติดพันอีก ก็กลับมารวมตัวกัน จัดเป็นรูปกองทัพขึ้นมาใหม่ แล้วยกออกไปรบกับข้าศึก ก็เป็นเช่นนี้ตลอดมา
ดังนั้น ทหารไทยตามแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เพิ่งมีมาไม่นานนัก เพียงร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง หาได้มีประวัติศาสตร์มายาวนานแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมคือชาวบ้านแท้ๆ ดังที่ได้อธิบายความไปแล้ว
นอกจากนั้นแล้ว เมืองไทยเรายังมีเจ้านาย ซึ่งแต่ละองค์ก็มีผู้คนอยู่ในสังกัด ว่าเป็นข้าของเจ้าองค์ใด อย่างเช่นบิดาของท่านครูภู่สุนทรของเรานั้น ก็เป็นข้าวังหลัง ได้ไปงานทัพในฐานะทหารของวังหลัง มีชื่อว่า ‘ขุนเพชรสังหาร’ ฟังก็ดูดุดัน น่าจะมีฝีมือรบกล้าแข็งพอตัว จึงได้บรรดาศักดิ์ที่ฟังน่าเกรงขามเอาการอยู่ แต่เมื่อกลับจากทัพแล้ว ก็ร้างกันกับมารดาของท่านสุนทรภู่ ไปบวชเป็นพระอยู่เมืองระยอง เป็นสมภารเจ้าวัด ฉายา ‘อรัญธรรมรังสี’
ฝ่ายที่มีความเชื่อว่า เจ้าวังหลังท่านจะมีข้อราชการนัยว่า ‘ลับ’ ฝากท่านครูสุนทรภู่ไปถึงพระภิกษุผู้บิดานั้น ก็จับเอาเรื่องความขัดแย้งในหมู่เจ้านายมาเป็นตัวตั้ง แต่ผมนั้นยังไม่เชื่อตรงนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวคือ
ประการแรก การที่เราจะใช้คนไปงานลับ คงไม่ใช้คนอย่างสุนทรภู่ เพราะท่านติดสุรา เกิดไปกินเหล้าเมาที่ไหนเข้า ความลับรั่วไหลออกหมด ถึงตอนเดินทางจะบวชเป็นพระหรือไม่ก็ตามที แต่ไว้ใจไม่ได้ว่าจะแอบไป ‘กรึ๊บ’ เข้าอีก ทั้งยังเพิ่งพ้นโทษมาด้วย ไปที่ไหนก็จะต้องตกอยู่ในสายตาชาวบ้าน หากเขารู้ว่าเป็นใคร ก็จะมีคนจับจ้องมองกัน จะ ‘เสียลับ’ โดยง่าย
ดังนั้น จะใช้คนอย่างสุนทรภู่ไม่ได้เด็ดขาด อันตรายจะพลอยมีไปถึงเจ้านาย ผู้ที่ใช้ให้ไปปฏิบัติงานด้วย หลักฐานจึงอ่อนเกินไป
นี่เป็นความเห็น ส่วนตัวของผมสำหรับประการแรก
ในประการต่อมาผมเห็นว่า ท่านครูภู่สุนทรเป็นคนกรุง ผิวบาง และเป็นคนหยิบโหย่ง เพราะเกิดและอยู่แต่ในเมืองหลวง อารมณ์ของท่านเท่าที่ดู ก็ไม่มั่นคง ทั้งไม่เคยชินกับชีวิตบ้านนอกคอกนา จึงไม่ชอบการเดินทางแบบระหกระเหินไปตามบ้านป่าเมืองดอย เพราะผมสังเกตจากคำกลอนของท่าน เห็นได้ชัดว่าไม่ชอบความลำบากตรากตรำ อีกทั้งการเดินทางไปหาบิดาที่ระยองของท่านในสมัยนั้น ไม่มีความสบายเลย ท่านไม่คุ้นเคยกับความลำบาก จึงบ่นกะปอดกะแปดไปตลอดทาง ว่าปวดเมื่อยลำบากเหลือเกิน เช่น
“โอ้ยามยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง มากรำยุงเวทนาประดาหาย”
แค่ยุงกัดก็บ่นแล้ว หรือ
“น้ำตาตกอกโอ้อนาถเหนื่อย ให้มึนเมื่อยขัดข้องทั้งสองขา ”
แน่ะ..จะร้องไห้ท่าเดียว อย่างนี้เป็นต้น
ผมว่าเจ้านายท่านคงรู้นิสัย ไม่ใช้คนอย่างสุนทรภู่ไปงานลับแน่นอน เพราะอาจไปถึงที่หมายล่าช้า หรือไปไม่ถึงเสียเลยก็เป็นได้!
ถ้าอย่างนั้นแล้ว สำนวน “...แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา” นั่นจะหมายถึงว่าอะไรกันเล่า?
ต้องขอแสดงความเห็นส่วนตัว ดังต่อไปนี้
ผมเห็นว่า คนไทยสมัยนั้นกตัญญูรู้คุณต่อเจ้านาย เรียกว่ากิจการงานใดที่เป็นของเจ้านายที่ชุบเลี้ยง ท่านใช้ให้ทำแล้ว ไม่มีวันปฏิเสธ จะต้องกระทำด้วยความเต็มใจเสมอ จึงอาจเป็นคำพูดติดปากผู้คนในสมัยนั้น ถ้าไม่อยากทำอะไรอาจพูดว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่ทำ” แม้แต่ข้าราชการปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่เจ้านายสายตรงของตน ขืนมาใช้สุ่มสี่สุ่มหก ก็อาจถูกย้อนเอาได้ว่า
“ท่านไม่ใช่เจ้านาย จะไปทำตามคำสั่ง หาหอกอะไร!”
อย่างนี้ก็อาจเป็นไปได้ เพราะแม้แต่คำพูดหรือสำนวนคนในสมัยนี้ ก็ยังพูดติดปากว่า “ไม่ใช่นายกู...กูไม่ทำ!” อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเป็นเจ้านายของตนแล้ว ใช้มาเถอะครับ...ไม่มีขัด
ยิ่งถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยแล้ว คนไทยในสมัยก่อนนั้นไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา หรือทหาร ต่างจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน ยอมตายถวายชีวิตเป็นราชพลีได้ทั้งนั้น ชนิดที่เรียกว่า “อาสาเจ้าจนตัวตาย ไม่เสียดายชีวา” อย่างนั้นกันเลย
ผมจึงมองคำกลอนที่ว่า “จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา” ว่า อาจเป็นเพียงแค่คำอุทาน หรือถ้อยคำสำนวนที่ใช้กันในตอนนั้น ความเห็นของผมจะถูกผิดอย่างไรนั้น ก็ขอยกให้ท่านผู้อ่าน เป็นฝ่ายพิจารณากัน
ก่อนจบบทความ ระลึกถึงท่านสุนทรภู่ในวันนี้ ขอเล่าเรื่องความประทับใจของขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ‘กำเนิดพลายงาม’ ที่ยังจำไม่ลืมคือ
เมื่อพลายงามถูกไอ้ขุนช้างพ่อเลี้ยง มันลวงไปฆ่าในป่า แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ แม่คือนาง ‘วันทอง’ ให้หนีไปหาย่าคือนาง ‘ทองประศรี’ ที่กาญจนบุรี บ้านอยู่ตรงวัดเชิงหวาย
พอพ่อพลายน้อยเดินทางไปถึงเมืองกาญจน์ ถามเด็กๆแถวนั้นว่าบ้านท่านทองประศรีอยู่ไหน เด็กๆชี้ให้ดูบ้านของย่าพลายงาม แล้วบอกว่ายายทองประศรีนั้นดุนัก เพราะเคยไปลักมะยมในบ้านแกกิน
ชอบกลอนตรงนี้มาก และจำได้มาจนทุกวันนี้ เพราะเด็กบอกว่า
มะยมใหญ่ในบ้านแกหวานนัก กูไปลักบ่อยแกคอยจับ
ฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า แกจับเอานมยานฟัดกระบาล*หัว
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว แกจับตัวตีตายยายนมยาน
อาจารย์เสนีย์ฯท่านบอกว่า ใครจะไม่กลัวเล่า ในเมื่อนางทองประศรีแกหยิกตรงไหนไม่หยิก เล่นหยิกเอาตรงที่สำคัญ อย่างนั้นเลยทีเดียว
นอกจากนั้น กลอนยังบรรยายลักษณะของหญิงไทยโบราณ ได้อย่างชัดเจนว่า พอแก่ตัวก็ปล่อยเต้ายานโตงเตง แค่นั้นยังไม่พอยังใช้เป็นอาวุธได้อีกด้วย เพราะโกรธขึ้นมาเอานมยานของแกนั่นแหละ
ฟาดหัวกบาลของไอ้คนที่มาขัดใจ...เปรี้ยงเข้าอีก!
แหม...ท่านผู้อ่านขอรับ
นี่ถ้าคุณย่าทองประศรี ท่านยังมีชีวิตอยู่ เห็นทีจะต้องไปเมืองกาญจน์ฯ ขอร้องคุณย่าคนเก่ง ให้ช่วยเอาอาวุธประจำกาย ฟาดกบาลไอ้เจ้าตัวหัวโจกแก๊งการเมือง และลิ่วล้อสักคนละตุ้บสองตั้บ ที่ปากของพวกมันก็พร่ำบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ดันเอาหัวหูไปซุกคาตูดพวกเผด็จการอยู่ได้...ใช่แต่แค่นั้นนะจ๊ะ
ยังทะลึ่งออกมาพูดเทิดทูนบูชา ยกย่องราวกับเป็น ‘เตี่ย’ ตัวเองซะอีกด้วย!!
พอคนเข้าด่า เข้าให้เท่านั้นแหละ....
หนอยแน่..ยังดันลอยหน้าออกมาปฏิเสธอีกแน่ะ...ดูมันทำ!!!
.....................
ท้ายบท กระบาล* สะกดตามต้นฉบับเดิม
ปัจจุบันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ใช้ ‘กบาล’ แปลว่าส่วนกลางของศีรษะ,หัว