xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 281 ภาษาพา ‘งง’...(ภาษาหลังรัฐประหาร อย่าง ‘จดทะเบียนสมรสซ้อน’ ไง!)

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ดูข่าวสารทางโทรทัศน์เขารายงานว่า ตอนนี้บ้านเมืองของเรา อยู่ระหว่างการเขียนรัฐธรรมนูญกัน โดยคนที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งมาเป็นผู้ยกร่าง ต้องเดินทางไปยกไปร่างกันที่ชายทะเล นัยว่าให้ ‘หัวแล่น’ เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดี แต่ละคนจะได้แสดงความเห็นอวดปัญญา รวมทั้งจิกตีกันเองอย่างสนุกสนาน ผู้คนเขาตั้งข้อสังเกตกันว่า ดูราวกับจงใจแสดงให้เป็นข่าวไปสู่สื่อมวลชนต่างๆ จะได้เป็นที่รู้จักของผู้คนกัน เผื่อวันข้างหน้าจะได้เสนอหน้าไปสมัครเป็นผู้แทน หรือมีโอกาสทางการเมืองกับเขาบ้าง ...ก็ไม่ว่ากัน!

ในการร่างกฎหมายสูงสุดครั้งนี้ การเลือกใช้ถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อบรรจุลงในรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากการใช้ความรู้ทางนิติศาสตร์แล้ว ถ้อยคำที่จะต้องเลือกเฟ้นหามาบรรจุ นอกจากจะต้องถูกหลักภาษากฎหมายแล้ว ยังจะต้องแปลความให้ถูกต้องตามมาตรฐานของภาษาไทยเราด้วย

คำแปลความหมายต่างๆนั้น มีบรรทัดฐานที่กำหนดไว้อย่างแจ้งชัด ในเอกสารของทางราชการ ที่เรียกว่า “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” และหากถ้อยคำในกฎหมายนั้น เกิดมีปัญหาขึ้นมา และรัฐบาลที่จะต้องใช้กฎหมายฉบับนั้นๆ เกิดความลังเล หรือไม่แน่ใจ ก็ต้องนำถ้อยคำที่เกิดเป็นปัญหาทางกฎหมายขึ้น ไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้เอง จะถูกนำมาเป็นมาตรฐานที่รัฐบาลจะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากมีคดีความเกิดขึ้น ผู้ที่ทำหน้าที่แปลความหมายทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศ ก็คือตุลาการจากกระบวนการยุติธรรม ในรูปของคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดของประเทศ และกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่สำคัญของชาติเรา ที่นักกฎหมายทุกคนในประเทศ ต้องใส่ใจศึกษาเป็นอย่างมาก

มสังเกตเห็นว่า หลังจากการปฏิวัติรัฐประหารครั้งล่าสุด มีการใช้ศัพท์แสงภาษาไทยที่มาจากผู้ที่โดดเด่นขึ้นมา จากผลของการล้มรัฐบาลเก่า รวมทั้งคำที่สื่อสารมวลชนให้ความสนใจพูดหรือเขียนถึงกัน ซึ่งบางครั้งคำเหล่านั้นก็มีปัญหาว่า

ผู้คนในบ้านเมืองนี้ จะเข้าใจถูกต้องตรงกันหรือไม่?

น่าเสียดายเราไม่มีรายการโทรทัศน์อย่าง “ภาษาไทยวันละคำ” ของท่านอาจารย์ กาญจนา นาคสกุล ที่เคารพของผม ให้ผู้คนสอบได้ถามและฟังคำเฉลยปัญหาจากท่านอาจารย์กันแล้ว และยังไม่รู้ว่าจะไปถามที่ไหน จึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนหายข้องใจกัน นอกจากจะต้องเขียนไปถามที่ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งก็คงได้รับคำตอบไม่ทันใจ

ถ้อยคำที่ฮอทฮิต ติดปากชาวบ้านนั้นมีอะไรบ้าง ผมจะลองลำดับให้ท่านดูเป็นตัวอย่างสักสองคำ แล้วให้ช่วยกันพิจารณาตามบ้าง

หนังสือพิมพ์ ‘ไทยรัฐ’ ฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๐ คอลัมน์ข่าวการเมือง(วิเคราะห์) ซึ่งจัดทำโดย ‘ทีมข่าวการเมือง’ ของไทยรัฐ (อีกนั่นแหละ) ที่ผมจะต้องเปิดอ่านเป็นหน้าแรกเสมอ เขาพูดถึง ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ที่หัวหน้าคณะปฏิวัติคือ พล.อ.สนธิ บุณยะรัตกลิน จะหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการ ที่เขาจะมาชุมนุมคัดค้าน คมช.กัน ความตอนหนึ่งเขาบอกว่า

...แต่ที่กระเทือนกลับเป็นชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องอยู่ภายใต้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายที่ใช้สำหรับเหตุมิคสัญญี 3 จังหวัดชายแดนใต้

จะทนอึดอัดกันได้นานแค่ไหน

อะไรไม่ว่า “บิ๊กบัง” ดันมาออกอาการดุ งัดเกมแรงมาเล่นกับม็อบ หลังจากที่นาย
วีระ มุสิกพงศ์ ประธานบริหารพีทีวี ออกมาขู่จะเดินหน้าแฉ เรื่องการจดทะเบียนสมรสซ้อน

มันเลยก้ำกึ่งๆ เสี่ยงให้ชาวบ้านตีความผิดๆ

แยกไม่ออก เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อปกป้องตัวเอง...


แค่ไม่กี่บรรทัดของคอลัมน์ที่ผมชอบอ่านนี้ ก็มีภาษาไทยที่ ‘ฮิต’ ติดปากชาวบ้าน หลังจากการรัฐประหารถึง ๒ คำ ตามที่ผมไฮไลท์เอาไว้ คือ
๑. คำว่า... ‘จดทะเบียนสมรสซ้อน’
๒. คำว่า... ‘ก้ำกึ่ง’
ขออนุญาตลองสวมบทครูภาษาไทย อธิบายเรียงลำดับตัวอักษร โดยจะอธิบายคำที่ขึ้นต้นด้วย ก.ไก่ ก่อน ดังต่อไปนี้

คำแรกที่จะอธิบายความกันคือ ‘ก้ำกึ่ง’

คำว่า ‘ก้ำกึ่ง’ นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๕ บอกว่า เป็นคำวิเศษณ์ ให้ความหมายว่า ....เกือบเท่าๆกัน, พอๆกัน, ไล่เลี่ยกัน…

เมื่อต้นปีมีผู้ออกข่าวว่า บ้านพักพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เขายายเที่ยง อ.ปากช่อง
จว.นครราชสีมา มีโบกี้รถไฟจอดอยู่ พอนายกฯออกมาแถลงความจริงว่า ท่านไม่มีโบกี้รถไฟ
ขนาดใหญ่ คงมีแต่รถไฟเล็กเด็กเล่นเท่านั้น

ผมจำใบหน้ายิ้มพรายของนายกฯ ขณะแถลงได้เป็นอย่างดี บนโต๊ะข้างโพเดียมที่ท่านยืนพูด มีรถไฟเด็กเล็กวางอยู่ ๑ ขบวน เพราะพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คงคิดว่าตอบปัญหาได้กระจ่างชัดและรุกกลับคนพูดได้ด้วย

ตอนนั้นผมกำลังนั่งดูโทรทัศน์กับรุ่นพี่ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องคดีป่าไม้อย่างยิ่ง ท่านพูดกับผมว่า

“เฮ้ย...นายกฯตกหลุมแล้ว!”

ผมเข้าใจความคิดของรุ่นพี่ได้ทันที เพราะเป้าหมายหลักจริงๆคือ ฝ่ายตรงข้ามเขาจะลวงให้ท่านนายกฯออกมาพูด เรื่องที่ดินเขายายเที่ยงนั่นเอง

เล่หฺ์เหลี่ยมวิชามาร ที่ฝ่ายตรงข้ามเขาวางให้นายกฯสุรยุทธ์เดินเข้าพื้นที่สังหาร ตำรวจอย่างพวกผมจะอ่านออกเร็ว แต่คนที่ซื่อๆและจิตใจดีและอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ฯ

คิดไม่ถึง!

ที่น่าแปลกอย่างมากก็คือ ท่านไม่มีฝ่ายอำนวยการ หรือฝ่ายเสนาธิการ ที่มีฝีมือหรือความรู้ความสามารถ อ่านเกมตื้นๆอย่างนี้ ออกโดยฉับพลันทันที และจัดบทบาทการตีโต้ตอบ ในระดับและสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสียหายของท่านลง รวมทั้งพานายกฯออกจากเหตุวิกฤติโดยเร็ว ด้วยกลยุทธ์ที่ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลยจริงๆ...

ทำให้ท่านต้องตกอยู่ในภาวะ ‘เผชิญหน้า’ กับสถานการณ์ร้ายนั้น อย่างน่าสงสาร!!

คำพูดของพล.อ.สุรยุทธ์ฯที่บอกว่า ที่ดินเขายายที่ยงแปลงเจ้าปัญหานี้ ท่านเองก็ออกมายอมรับว่า ท่านรู้ว่ามัน

“ก้ำกึ่ง”

คำพูดของท่านผมจึงแปลว่า “ที่ดินแปลงนี้จะผิดหรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้พอๆ กัน” (อาจแปลความหมาย ตามที่ท่านนายกฯตั้งใจได้ไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน หรือท่านจะให้มีความหมายตามนั้นหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ แต่ก็แปลตามพจนานุกรมฯเท่านั้น) แต่คำนี้เพียงคำเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะเปิดช่อง ให้นักกฎหมายสมาชิก (เก่า) พรรคประชาธิปัตย์อย่างนาย ปรีชา สุวรรณทัต ถลันพรวดออกมาเขียนบทวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที ใน ‘มติชน’ รายวัน ฉบับประจำวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๙ โดยบอกว่า

“...คำรับของท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ว่า เราก็ทราบดีว่าเป็นพื้นที่ที่ ‘ก้ำกึ่ง’คำพูดนี้จึงเป็นการปิดปาก ไม่ให้ท่านเถียงและแก้ตัวว่า ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นป่าสงวนตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗...”

แค่นั้นยังไม่พอ อีตาปรีชาแกยังกระทุ้งทิ้งท้ายเอาไว้ ตามสไตล์ประชาธิปัตย์ขนานแท้ว่า

“รีบปลงอาบัติเสียเถอะครับ!”

ผมว่า...ท่านนายกฯไม่ใช่พระสงฆ์ต้องไปปลง...ไปแปลง ตามคำขอของนายปรีชาฯแกหรอกครับ แต่อยากจะบอกว่า เรื่องนี้จะเป็น ‘วิบาก’ ที่จะต้องติดตัว พล.อ.สุรยุทธ์ ไปอีกนานทีเดียวเชียวครับ เพราะอะไรหรือครับ?...ตอบง่ายๆก็คือ

ก็หากมีการสอบสวนเรื่องที่ป่าแปลงนี้กับท่านนายกฯ โดยคณะกรรมการสอบสวนของ ป.ป.ช. (ที่ไม่ใช่ชุดทหารตั้ง อย่างตอนนี้?) เขาก็จะต้องถามท่าน ว่า

ท่านนายกฯไม่รู้เลยหรือครับว่า ไอ้เจ้าเอกสาร ภบท.๕ นั้น ความมุ่งหมายเดิมของทางราชการ เขาให้ชาวบ้านที่ ‘ยากจน’ ไม่มีที่ทำกิน ได้มีโอกาสเข้าไปทำมาหากินในที่ดินของรัฐ ไม่ได้ประสงค์ให้คนที่มีฐานะดี เข้าไปถือครองเป็นประโยชน์ส่วนตัวเลย

ถ้าท่านนายกฯปฏิเสธโดยตอบว่า “ผมไม่รู้” ...ก็คงจะได้ แต่ถ้าหากเขาย้อนถามท่านกลับอีก ว่า

ตอนที่ท่านอยู่กองทัพภาคที่ ๒ พื้นที่อุทยานเขาใหญ่และใกล้เคียง อยู่ในความดูแลของกองทัพภาคที่ท่านเคยเป็น ‘แม่ทัพ’ และผิดชอบโดยตรง ท่านไม่ทราบเลยหรือครับ ว่า

ที่ดินแปลงนี้เป็น ‘ป่า’ ซึ่งท่านมีหน้าที่ปกปักรักษาเอาไว้ ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ของลูกไทยหลานไทยในวันข้างหน้า แต่กลับปล่อยให้ภริยาตัวเอง เข้าไปถือครองเป็นประโยชน์ตนเองได้ลงคออย่างนี้...

“ไม่รู้จัก ‘เกรงใจ’ ชาวบ้านตาดำๆบ้างเลย...หรือครับท่าน!?”...

หากเขาถามตรงๆอย่างนี้ ไม่รู้ว่าท่านนายกฯ จะตอบคนถามเขาว่าอย่างไร?

ผมเองก็อยากรู้จริงๆ!!

คำที่ ๒ คือคำว่า ‘จดทะเบียนสมรสซ้อน’ นั้น เฉพาะตัวคำว่า ‘จดทะเบียน’ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มล่าสุดคือ ฉบับพ.ศ.๒๕๔๕ ให้คำอธิบายไว้ดังนี้

คำว่า “จดทะเบียน” นั้น เป็นคำกริยา หมายความว่า ลงบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด เช่นจดทะเบียนรถ จดทะเบียนสมรส จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พอมีคำว่า ‘ซ้อน’ ถ้าเป็นคำกริยา แปลว่า‘ทำซ้ำๆกัน’ แต่ถ้าใช้เป็นคำวิเศษณ์จะแปลว่า ‘มีหรือทำอย่างเดียวกันกับที่มีหรือทำอยู่’ แล้ว ดังนั้น คำว่า ‘จดทะเบียนสมรส’และมีคำวิเศษณ์คือ ‘ซ้อน’ มาขยาย น่าจะแปลได้ว่า เดิมนั้นได้จดทะเบียนสมรสกับภริยาเอาไว้แล้ว ๑ ฉบับ แต่ดันทะลึ่งไปทำอย่างเดียวกัน คือ

ไปแจ้งจดทะเบียนสมรสเพิ่มกับหญิงอื่นอีก ๑ ฉบับ อันเป็นการจดทะเบียนซ้ำๆกันนั่นเอง!

แม้จะเคยเรียนกฎหมายทหาร พ.ร.บ.วินัยทหารฯ พ.ร.บ.ธรรมนูญทหารฯมาบ้าง แต่ผมก็ไม่รู้รายละเอียดระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนต่างๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมในการปกครองบังคับบัญชาของทางฝ่ายทหาร ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อีกด้วย ดังนั้น ถ้านายทหารจดทะเบียนสมรสแล้ว ยังไปจดซ้อนอีก ทั้งๆที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากภริยาคนที่จดทะเบียนสมรสไว้เดิม ท่านผู้อ่านต้องไปถามทางเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารดูว่า ผู้กระทำการเช่นนั้น จะมีความผิดทางอาญาและทางวินัยทหาร อย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม หากผู้กระทำเช่นว่าเป็นข้าราชการตำรวจ ผมรับรองได้ว่า ถ้ามีเรื่องอื้อฉาวอย่างนี้โผล่มาทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า นายตำรวจคนนี้ชื่อนั้นไป ‘จดทะเบียนซ้อน’ เข้า ป่านนี้โดน ‘เชือด’ ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะตำรวจนั้นนอกจากมีกองวินัยแล้ว ยังมีกองบังคับการมาตรฐานวินัย ที่เคร่งครัดในเรื่องการมาตรฐานการลงทัณฑ์มาก ยิ่งข้อหา ‘ทอดทิ้งภริยา’ ด้วยแล้ว มีโทษ ‘ให้ออกจากราชการ’สถานเดียวเลยทีเดียว!

อย่างไรก็ตาม ผมจะเล่าเรื่องจริงที่คล้ายคลึงกัน เป็นตัวอย่างประกอบให้ท่านผู้อ่านลองฟังกันดู เรื่องมีอย่างนี้ครับ

นายตำรวจรุ่นพี่ผมคนหนึ่ง เป็นมือปราบที่โด่งดังมากทางภาคใต้ ท่านแต่งงานแล้ว แต่ไปจดทะเบียนสมรสซ้อนกับหญิงที่เป็นมุสลีมะ หรือเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม นายตำรวจท่านนี้เดิมเป็นพุทธศาสนิกชน เมื่อแต่งงานอีกครั้ง ก็ได้รับสลาม หรือเข้านับถือศาสนาอิสลามตามภริยาคนใหม่ ก่อนที่ท่านจะถูกดำเนินคดีข้อหา

“แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน”

ทั้งนี้ เป็นเพราะในวันไปจดทะเบียนสมรสครั้งหลังนั้น นายทะเบียนซึ่งเป็นนายอำเภอ หรือหัวหน้าเขต (ในกทม.) จะต้องถามคำถามสำคัญว่า “ฝ่ายชายเคยจดทะเบียนสมรส มาก่อนหรือไม่?” ท่านตอบว่า “ไม่” (ทั้งๆที่เคยจดไว้กับภรรยาเดิมแล้ว) นายอำเภอหลงเชื่อจึงจดทะเบียนสมรสกับหญิงคนใหม่ให้อีกหนึ่งฉบับ

การกระทำของรุ่นพี่ผมท่านนี้ ต้องกลายเป็นความผิดอาญาไป...เพราะความรักครั้งใหม่แท้ๆทีเดียวเชียว!

นายตำรวจท่านนี้ถูกดำเนินคดี และเมื่อถูกส่งตัวขึ้นศาล ก็รับสารภาพแต่โดยดี ไม่ขอต่อสู้คดีแต่อย่างใด เพียงแต่แถลงต่อศาล ว่า

“...ได้เปลี่ยนศาสนาแล้ว และศาสนาที่ท่านนับถือใหม่นี้ อนุญาตให้มีภริยาได้มากกว่า ๑ คน ขอประทานต่อศาลที่เคารพ ได้โปรดปรานีด้วย...”


ศาลท่านก็กรุณามาก พิพากษาให้จำคุก แต่ให้รอการลงอาญาไว้เท่านั้น!

หลังจากถูกศาลพิพากษาแล้ว ท่านก็ถูกให้ออกจากราชการไป นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเคยเป็นข่าวที่โด่งดังมาก ในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ลงกันเกรียวกราว แต่จะเอาไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ของ ‘ทีมข่าวการเมือง’ ไทยรัฐลงคงไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษ” ไปเสียอีก...

ลูกพี่คนเก่งคู่สนทนาประจำของผม...ถึงกับบ่นลอยๆออกมาดังๆว่า

“เฮ้อ...ไม่เข้าใจจริงๆว่า การพูดเรื่องจดทะเบียนสมรสซ้อนอย่างนี้ มันจะไปเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับเรื่อง ‘ความเป็นสุภาพบุรุษ’...ตรงไหนกันด้วย (วะ)!?”


..........................

ท้ายบท หลังทหารเข้ายึดบ้านครองเมือง ยังมีถ้อยคำภาษาไทยอีกหลายคำ ที่โด่งดังติดปากคนไทย ทำให้ชาวบ้านร้านตลาด วิพากษ์วิจารณ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่ออื่นๆอย่างเวปไซด์อีกหลายคำ เช่น คำว่า “วีรบุรุษ” ที่กลายเป็น “วีรบุรุษ-บินฟรี” ไป แถมบางคนเขาก็เรียกให้ดุดันขึ้นไปอีก คือ

“วีรบุรุษ-บินฟรี-DAG ฟรี!”

ถึงอย่างนั้น ยังไม่ฮอทฮิตติดปากชาวบ้าน เท่ากับคำคุยโอ่ระดับปีศาจแสดงเองที่ว่า กฎหมายสำคัญที่กำลังยกร่างกันอยู่นี้นั้น มีคุณภาพเลอเลิศมาก เพราะเป็นฉบับ “ไล่จับตะกวด” แต่ชาวบ้านที่เป็นคอการเมืองขนานแท้กลับบอกว่า ทำไมไม่บอกซะให้ครบเลย ว่าเป็นฉบับ...

“แลนเฒ่า ไล่จับตะกวด”

กลายเป็นเรื่องที่ชวนหัว เฮฮาตลกขบขันกันนักในหมู่นักเสียดสีระดับชาติ จนมีการพนันขันต่อกัน เพราะผู้คนเขาลงความเห็น ว่า

ลองมีถ้อยคำไม่เป็นมงคลอย่าง ‘ตะกวด’ เข้ามาข้องเกี่ยวเสียแต่ต้นแล้ว ไอ้ที่เสียเงินเสียทองร่างกันอยู่นี้คงไปไม่ถึงไหน ตอนลงคะแนนว่าจะรับหรือไม่รับกัน ชาวบ้านเขาต้องร่วมในกัน ‘ถีบคว่ำ’ เอาอย่างแน่นอน

....ก็ต้องคอยดูกันไป!!

ถ้อยคำที่โด่งดังเหล่านี้ ความจริงแล้วก็อธิบายความได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ภาษา ‘พางง’ อะไรนักหนา แต่ผู้พูด หรือคนที่ถูกภาษาพาไปพาดพิงถึง นั่นแหละที่...

อาจต้อง ‘งง’ เอง...เพราะชาวบ้านเขาด่าเข้าให้...ไงล่ะ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น