"การเลือกตั้งนั้นเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของประชาธิปไตย นอกจากการเลือกตั้งแล้วประชาธิปไตยจำเป็นต้องประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นอีก 5 ประการคือ เสรีภาพในการแสดงออก, ความเป็นกลางของการใช้อำนาจรัฐ, ความรู้ทางการเมืองของประชาชน, เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีของข้อมูลข่าวสาร ...."
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางติดตาม คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไปบรรยาย-ปราศรัยให้กับคนไทยที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และสถาบันการศึกษา 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ฟังในหัวข้อกว้างๆ คือ อนาคตประชาธิปไตยไทย
ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน คุณสนธิร่วมกับ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.นครราชสีมา ก็เพิ่งตอบรับคำเชิญของวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ The School of Oriental and African Studies (SOAS) เดินทางไปบรรยายเรื่อง 'การเมืองไทยใต้ซีอีโอ ทักษิณ' ให้กับคณาจารย์-นักศึกษา-คนไทยในอังกฤษมา
การเดินสายไป 2 ประเทศ 3 สถาบันการศึกษา ไม่นับรวมกับการตอบรับการขอสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนจากนานาประเทศอีกนับสิบแห่งถือว่าเป็น งานหนัก! ที่หากใครไม่ลองก็คงไม่รู้ เหนื่อยและหนักทั้งในแง่ของร่างกายที่ต้องเดินทางนับเป็นหมื่นๆ ไมล์ เหนื่อยและหนักในการต้องเค้นความคิด-ความรู้ ออกจากสมองถ่ายทอดมาเป็นคำพูด ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ประโยคที่ผมยกขึ้นมาในตอนต้นของบทความ เป็นประโยคที่ในระหว่างการเดินทางไปปราศรัย-บรรยายยังอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คุณสนธิต้องกล่าวถึงเกือบทุกที่ เกือบทุกครั้งที่ขึ้นเวที เนื่องจากคุณสนธิเห็นว่า ฝรั่งและคนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่ประชาธิปไตยสุกงอมแล้ว มักจะมีแนวคิดที่ว่า ประชาธิปไตยก็คือการเดินไปตามแนวทางที่เสียงส่วนใหญ่เลือก ซึ่งในระดับประเทศก็คือ "การเลือกตั้ง"
นั่นเองที่เป็นเหตุที่ทำให้คุณสนธิต้องแจกแจงซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เมื่อมองในกรอบการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมของประเทศไทยแล้ว การเลือกตั้งนั้นไม่เท่ากับประชาธิปไตย เพราะเราขาดองค์ประกอบของประชาธิปไตยอีก 5 ประการ คือ เสรีภาพในการแสดงออก, ความเป็นกลางของการใช้อำนาจรัฐ, ความรู้ทางการเมืองของประชาชน, เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีของข้อมูลข่าวสาร!
และก็ด้วยองค์ประกอบทั้ง 5 ที่ขาดไปนี้เองที่ทำให้ 'ทรราช' สามารถสวมหน้ากากประชาธิปไตยเกาะกุมอำนาจรัฐ ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศไทยได้โดยชอบธรรมมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งที่ร้ายแรงที่สุดก็คือในยุคสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งจบสิ้นลงไป
การบรรยายดังกล่าว เมื่อประกอบเข้ากับตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น กรณีการอุ้ม-ฆ่าประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ อุ้ม-ฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร การฆ่าตัดตอนจากปราบปรามยาเสพติด การแทรกแซง-ครอบงำสื่อมวลชน การไม่ยอมเสียภาษีจากกรณีหุ้นชินคอร์ป การคอร์รัปชันกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ การซื้อ-ขายเสียง-โกงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหง การดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรแต่ละเลยการดำเนินคดีต่อทักษิณและพวก แล้วก็ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ของเมืองไทยได้แจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมมาก
กระนั้นเมื่อมีการเอ่ยถามถึง อนาคตทางการเมืองของสังคมไทย ว่าจะเป็นเช่นไร? ประเทศไทยจะหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร? คุณสนธิมักจะยกสิ่งหนึ่งขึ้นมากล่าวถึงเป็นอันดับแรก โดยระบุว่าองค์ประกอบนี้มีความสำคัญเหนือกว่าองค์ประกอบทั้งปวง
... องค์ประกอบนั้น คือ จิตวิญญาณของประชาธิปไตย!
คุณสนธิระบุว่า 'จิตวิญญาณประชาธิปไตย' เป็นปัจจัยเร่งด่วนที่สังคมไทยจะต้องสร้างและฟื้นฟูขึ้นมาให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะไปกล่าวถึงองค์ประกอบที่เป็นเปลือกนอกอื่นๆ เนื่องจากหากคนไทย-สังคมไทยกอปรด้วยจิตวิญญาณของประชาธิปไตยแล้ว ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเรื่องรองลงไป
"ถ้าหากคนไทยมีจิตวิญญาณของประชาธิปไตย เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ก็รักษาสิทธิของเสียงส่วนน้อย มีความเกรงในชั่ว กลัวในบาป รู้จักผิดชอบชั่วดี ในรัฐธรรมนูญอาจจะมีเขียนไว้แค่ 5 มาตราก็ได้ ..." คุณสนธิยกตัวอย่าง
การกล่าวถึง จิตวิญญาณของประชาธิปไตย มองเผินๆ อาจเป็นเรื่องที่ดูเลื่อนลอย เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดกัน เป็นเรื่องนามธรรมที่ยากแก่การนำไปปฏิบัติ
แต่ในเมื่อคนไทยยังคงยินดีที่จะทำหน้าชื่นตาบาน ยกมือไหว้นักการเมืองที่คอร์รัปชัน, ยกมือไหว้คนสวมเสื้อเหลืองที่จาบจ้วงในหลวง, ยกมือไหว้คนใส่สายรัดข้อมือสีเหลืองที่ไม่ยอมเสียภาษี, ก้มกราบโจรใส่จีวรที่ยักยอกเงินวัด, ยกมือไหว้นางแบงค์-นายแบงค์ที่ปล่อยเงินกู้ให้บริษัทต่างชาติมาทำผิดกฎหมายไทย, ยกมือไหว้คนที่ยินดีจะทำเรื่องดำให้เป็นขาว ทำเรื่องผิดให้เป็นถูก ทำเรื่องหวยบนดินที่กฤษฎีกาตีความว่าผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย หรือกระทั่งยอมยกโทษให้กับทรราชที่ขายสัมปทานของไทยให้กับต่างชาติ! ... การพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง ก่อนที่จะไปกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง การตั้งสมัชชาแห่งชาติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้านี้ แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรี-รัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ถ้าเรายังยอมยอมประนีประนอมกับการฟอกดำให้เป็นขาว ยังยอมนิ่งเฉยกับการทำผิดให้เป็นถูก ยังยอมรับกับการถูกปั่นหัวด้วยเหตุผลตื้นๆ ของ ทหาร-นักกฎหมาย-นักเศรษฐศาสตร์-นักธุรกิจที่ก้าวขึ้นมากุมอำนาจรัฐต่อจากกลุ่มอำนาจเดิมที่เพิ่งถูกโค่นล้มลงไป ก็แสดงว่าเราไม่ได้ก้าวหนีไปจากวงจรอุบาทว์ที่ 'ระบอบทักษิณ' สร้างทิ้งเอาไว้แต่อย่างใดเลย