xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 251 “บันไซ! รัชทายาทพระองค์ใหม่...Banzai! A New Prince ”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ทำงานสักพักก็รับประทานข้าวกับแกงไก่ใส่หัวปลีป่าที่ลูกน้องเขาเอามาให้ถึงบ้าน เพราะผมบ่นว่าอยากรับประทาน เขาก็อุตส่าห์แกงมาให้ ทำให้กินข้าวเช้าเข้าไปจานใหญ่ด้วยความเอร็ดอร่อย จากแกงรสมือของภรรยาผู้นำมาให้ จึงต้องตอบแทนเขาด้วยไตปลาจากปักษ์ใต้ที่หอบไปจากกรุงเทพ

หัวปลีป่านั้นเกิดจากกล้วยป่า ซึ่งไม่มีใครปลูก แต่ละต้นสูงกว่าต้นกล้วยสวนหรือกล้วยบ้านประมาณ ๒-๓ เท่าเลยทีเดียว เหตุที่ต้องขึ้นสูงเพราะมันต้องขึ้นไปแย่งแสงแดดกับพืชอื่น เหมือนกับคนเราเกิดมาแล้วต้องแข่งขันต่อสู้ เพื่อแย่งชิงกันไปสู่ความสำเร็จของชีวิต ต้นใดขึ้นไม่ทันก็ตายไป คนใดอ่อนแอกว่าก็ต้องหลบลี้หนีหายไป... ชีวิตเป็นดั่งนี้

หัวปลีป่านี้ลูกโตกว่าหัวปลีบ้านหรือสวนมาก และสีม่วงแดงเข้ม ทางเหนือชอบแกงไก่กับหัวปลี แต่หากเรานำมาแกงเลียงแบบภาคกลาง จะได้น้ำแกงที่รสชาติอร่อยมาก เพราะหัวปลีป่าเหนียวและมีรสหวานกว่าหัวปลีบ้าน แต่ราคาก็แพงกว่ากันครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว

เมื่อสักสามสิบปีที่แล้ว อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่การคมนาคมยังไม่สะดวก เวลาเขามีงานปอยหรืองานบุญ บนหมู่บ้านบนดอย กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องเอาตำรวจขึ้นไปรักษาความสงบอยู่ ๓ วัน ซึ่งต้องขึ้นไปด้วยการเดินเพราะไม่มีทางรถ

พองานเลิกตำรวจเดินกลับลงมา พร้อมคณะผู้จัดงานเกือบ ๒๐ คนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าบังเอิญเกิดมีฝนตกการเดินทางจึงไม่สะดวก เพราะต้องกรำสายฝนมาและทางก็ลื่น จึงต้องเดินช้าๆด้วยความระมัดระวัง กว่าจะเดินทางถึงบ้านกำนันที่ตั้งอยู่กลางทางก่อนเข้าอำเภอ ก็เป็นเวลาเกือบบ่ายสองแล้ว จึงได้พักกินข้าวกัน

กำนันให้ลูกหลานไปจับไก่ในบ้านมาเชือดทำแกง ปรากฏว่าเป็นตอนกลางวันไก่มันออกไปหากิน หาตัวไม่เจอจึงจับไก่มาได้เพียงตัวเดียว คนรอกินก็มีจำนวนมาก ต้องเอามาเชือดทำแกงแล้วเขาใส่หัวปลีป่าไปด้วยเยอะๆ เคี่ยวเนื้อไก่กับหัวปลีปนกัน กินเข้าไม่รู้ว่าตรงไหนเนื้อไก่เนื้อหรือเนื้อหัวปลี เพราะทั้งเนื้อไก่และหัวปลีมันเข้าเนื้อผสมกันจนเนียนไปหมด เป็นการเพิ่มเนื้อในแกงทางอ้อม

นี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการเพิ่มปริมาณอาหารโดยแท้

รัฐบาลทักษิณบอกกับประชาชนว่า เศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่ เราในฐานะประชาชนก็ต้องรับฟังไว้ แต่ผมว่าคนไทยตอนนี้เห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ไม่สู้ดี เพราะผู้คนกลัวความไม่แน่นอนในทางการเมือง ที่เต็มไปด้วยข่าวไม่เป็นมงคล จึงเริ่มประหยัดการใช้จ่ายกันเป็นอันมาก เราต้องพลิกแพลงหาวิธีการเพิ่มปริมาณอาหาร อย่างการใส่หัวปลีลงไปในแกงไก่ดังที่เล่ามา

เวลาพิจารณาเศรษฐกิจของบ้านเมือง ผมมองแบบชาวบ้านคือดูที่ ‘ไข่’ เพราะผลิตผลจากไก่นี้ เป็นอาหารสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนไทย เรียกว่าเป็นเศรษฐศาสตร์แบบไข่ๆ ก็พอจะได้กระมัง วิธีการก็คือ ผมจะดูราคาไข่และการบริโภคไข่ของชาวบ้าน และจำนวนไข่ไก่ที่ออกจำหน่าย และจำนวนไข่ไก่ที่คงค้างในแต่ละวันเป็นสำคัญ

การที่เป็นคนชอบเดินตลาด ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด ผมก็จะออกเดินตลาดแทบทุกวัน เพราะชอบคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ทำอย่างนี้มานานแล้ว

แม่ค้าไข่ที่ตลาดเล่าให้ผมฟังว่า เวลานี้ผู้คนประหยัดกันมาก เช่นบ้านลูกค้ารายหนึ่งต้องซื้อไข่จำนวน ๕ ฟอง เป็นเวลาติดต่อกันมายาวนานหลายปี ถึงตอนนี้ก็ซื้อเพียง ๓ ฟอง แม่ค้าสอบถามดูปรากฏว่าแม่บ้านตอบว่า ระหว่างนี้ต้องพยายามลดรายจ่าย เพราะข้าวของหลายอย่างแพงขึ้นมากทีเดียว

ส่วนแม่ค้าไข่เองก็บอกว่า ตอนนี้ต้องประหยัดกันอย่างสุดๆ การค้าตอนนี้ไม่ดีเลย แถมยังมีหวัดนกเข้ามาเสริมด้วย พวกขายไก่ขายไข่หน้ามืดกันเป็นแถว แม่ค้าที่ขายของอย่างอื่นรายได้ก็ตกลงไปมากชนิดครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว ถ้าทักษิณไม่เชื่อก็ลองไปเดินในกาดวโรรส หรือกาดพยอมดูก็ได้

เวลากลับบ้านเชียงใหม่ อย่าไปดูแค่กาดสันกำแพงเท่านั้น เพราะใกล้บ้านเกินไป คนเขาจะไม่บอกความจริง เขาคงกลัวคนบ้านเดียวกันจะเสียใจ เพราะบริหารบ้านเมืองไม่ดี!

การที่จะเพิ่มปริมาณไข่ ให้ดูมากในชามหลังเจียวเสร็จแล้ว ปกติเขาก็จะเติมน้ำข้าวปนเข้าไปในไข่ เวลาเจียวออกมาแล้ว ก็มักจะดูออก เพราะพอไข่สุกเอาใส่จานแล้ว ส่วนที่เป็นน้ำข้าวจะออกสีขาวขุ่นๆ แต่ถ้าเอานมปนก็พอทำได้ แต่คนจนจะเอานมที่ไหนมากินกัน ผู้ที่เอานมมาผสมกับไข่ก็ต้องมีสตางค์พอซื้อนม เพราะต้องการกิน ‘ไข่คน’ หรือ scramble eggs ที่ใส่ทั้งนมและเนย แต่คนไทยก็ไม่นิยมกินกันนัก นอกจากคนที่มีฐานะในเมือง และนิยมกินเบรกฟาสต์แบบฝรั่งมังค่าเท่านั้น

ตอนนี้เราหุงข้าวไม่เช็ดน้ำกันแล้วเพราะหุงด้วยหม้อไฟฟ้า เลยไม่มีน้ำข้าวนำมาตีปนกับไข่ ง่ายที่สุดก็ต้องเอาน้ำปนเข้าไปเลย ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นเนื้อไข่ที่ต้องการเพิ่ม เช่นเดิมเคยเจียว ๕ ฟอง มีกำลังซื้อได้แค่ ๓ ฟอง ก็เพิ่มน้ำเข้าไปในอัตราส่วนของไข่อีก ๒ ฟอง ก็คงพอปะล่อมปะแล่มไปได้ ตามประสาเศรษฐกิจตกสะเก็ดในยามนี้

อ...หรือจะเป็นเพราะหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ๗ หมืนบาทต่อครัวเรือน เป็น ๑.๖ แสนบาทต่อครัวเรือน ตามที่สภาพัฒน์เขารายงาน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่จมปลักกับหนี้สินจำนวนมาก จะกินจะซื้ออะไรเลยต้องคิด เห็นได้ชัดนอกจากดัชนีผู้บริโภคลดต่ำลงกว่าร้อยจุด และลดต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว ภาษีแวตเดือนกรกฎาคม ก็หดหายไปเกือบ ๕ พันล้านบาท อีกหน่อยคงจะประหยัดด้วยการกินข้าวกันแค่วันละ ๒ มื้อ รูปร่างจะได้ผอมเพรียว สวยหล่อกันทั่วประเทศเลยกระมัง!

การที่ได้รับประทานแกงไก่กับหัวปลีป่า ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า เมื่อราวกว่าสามสิบปีมานี้ อาหารโปรตีนสำหรับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานนั้น เนื้อสัตว์ที่บริโภคเป็นหลักก็คือไก่กับหมู ส่วนเนื้อวัวควายนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะราคาแพง คนยากจนที่ขาดอาหารโปรตีน มีจำนวนมากเลยทีเดียวในตอนนั้น ถึงตอนนี้แม้ลดลงก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ในกาดหรือตลาดนอกอำเภอเมืองออกไป อย่างดีก็เนื้อไก่กับเนื้อหมูปิ้ง ที่เรียกกันเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “จิ๊นหมู” “จิ๊นไก่” แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนาไปไกลแล้ว ราคาไก่ถูกลงประชาชนพอซื้อหารับประทานได้ไม่ยาก รวมทั้งสามารถเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านก็ได้ ทำให้เนื้อไก่กลายเป็นอาหารหลักที่ได้กินกันเสมอแม้ในชนบทห่างไกล ส่วนเนื้อหมูนั้นก็พอกินกันในบางโอกาส แต่เนื้อวัวเนื้อควายในหมู่บ้าน แม้ในปัจจุบันก็ต้องเป็นโอกาสพิเศษพอสมควร จึงจะมีวางขายกันในตลาด

ทีกลายเป็นอาหารโปรตีนหลักของชาวบ้านในระยะหลายปี ที่ผ่านมา ดูเหมือนมีปลาเข้ามาเสริม ซึ่งแต่ก่อนนี้หากินได้ยาก เพราะคนเหนืออย่างคนเชียงใหม่ปกติแล้วหาปลาไม่เก่งเหมือนคนภาคกลาง ที่สำคัญคือว่ายน้ำไม่เป็น

ผมเคยพบเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว บางหมู่บ้านในเชียงใหม่ไม่มีใครว่ายน้ำเป็นเลย เพราะคนเหนือมีคำกล่าวว่า “ในน้ำบ่มีอะหยังเก๊าะ บ่มีอะหยังกุม” แปลความได้ว่า “ในน้ำไม่มีที่เกาะ ที่ยึด” น่าจะเป็นอันตรายเลยไม่อยากลงน้ำกัน จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหาปลาไม่เก่ง

ปลาที่เข้ามาเสริมอย่างสำคัญคือ “ปลานิล” เมื่อไม่กี่วันก่อนเข้าไปในอำเภอเมืองลำพูน พอออกนอกตัวอำเภอมาสักหน่อย เห็นคนมุงรถเข็นซึ่งมีควันโขมงเลยต้องลงไปดู ปรากฏว่าเขาขาย “แอบปลา” ซึ่งคำว่า “แอบ” (บางทีออกเสียงว่า “แอ๊บ”) นั้นหมายความว่า หากเราเอาเนื้อสัตว์มาห่อใบตองแล้วเอาไปปิ้งหรือย่างไฟ หรือนึ่ง ภาษาคำเมืองเขาเรียกว่า “แอบ” ภาคกลางอาจเรียกว่า “หมก” หรือ “ห่อหมก” นั่นเองเช่น “แอบหมู” “แอบไก่” หรือ “แอบอ่องออ”(อ่องออ คือ มันสมองหมู)

ดังนั้นคำว่า “แอบปลา” ก็หมายถึง “หมกปลา” โดยใช้ปลานิล ซึ่งปัจจุบันปลาชนิดนี้กลายเป็นอาหารหลักของทางภาคอีสานและภาคเหนือเลยทีเดียว เพราะราคาไม่แพงและพอซื้อหารับประทานได้ง่าย อย่างแอบปลาที่ผมเห็นที่ลำพูน เขาเอาปลามาหมกกับผักกาดขาว แล้วเคล้าด้วยเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อน ห่อด้วยใบตอง พอนำเผาเข้าเท่านั้น

แหม...กลิ่นมันหอมหวนชวนรับประทานนัก ไม่น่าเชื่อว่าราคาหนึ่งห่อเพียง ๒๐ บาท ซึ่งมีปลาขนาดย่อมๆเท่าฝ่ามือหนึ่งตัว กินคนเดียวกับข้าวเหนียว ๕ บาท ก็แน่นท้องแล้ว ทีแรกไม่รู้ว่าเขาขายได้อย่างไร แต่ลูกน้องที่เป็นคนลำพูนเขาบอกว่า ปลานิลขายกิโลละ ๒๐ บาท ได้ประมาณ ๔-๕ ตัว นำมาทำแล้วจำหน่าย หักโสหุ้ยแล้วคนขายก็พอมีกำไรตามสมควร
พระราชวงศ์ญี่ปุ่น
ปลานิลนี้จำได้ว่า ผมได้รับประทานครั้งแรกที่ร้านอาหารริมกว๊านพะเยาว์ เมื่อกว่า ๓๐ ปี ที่แล้ว เวลาจะไปเชียงราย ต้องแวะรับประทานแทบทุกครั้ง ตอนนั้นพะเยาว์ยังเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปกินถึงกว๊านพะเยาว์ มีให้รับประทานกันทั่วไป สำหรับที่มาของปลานิลนั้น มีที่มาอย่างน่าสนใจ ซึ่งผมขออัญเชิญพระราชดำรัชของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงมีรับสั่งกับผู้เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ ๖๐ พรรษาความว่า


“...ข้าพเจ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกับมหาวิทยาลัยโตไก เชิญให้ไปรับปริญญา ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้ไม่ให้ปริญญาต่างชาติง่าย ๆ ข้าพเจ้าเป็นรายแรก ในครั้งนี้ได้เล่าให้ชาวญี่ปุ่นทราบว่า

สมเด็จจักรพรรดิญี่ปุ่น เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เสด็จเยือนเมืองไทย และทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยี่ยมทุกข์สุขของประชาชน และรับสั่งว่าคนไทยยังขาดโปรตีน มงกุฎราชกุมารทรงแนะนำว่าอย่าเลี้ยงปลาหมอเทศ เพราะกินปลาอื่น ขอให้เลี้ยงปลาที่กินพืชอย่างปลานิลจะดีกว่า โดยทรงสั่งเอาปลานิลมาทูลเกล้าฯถวาย จะได้เพาะเลี้ยงไปแจกจ่ายให้ประชาชนคนไทยได้เลี้ยงกัน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่เสวยปลานิล โดยให้เหตุผลว่า ทรงเป็นผู้แนะนำให้เอามาเลี้ยง จึงสงสารมัน สำหรับกลิ่นโคลนติดอยู่ก็ทำได้ง่าย ๆจากพระโอรสองค์เล็กของจักรพรรดิญี่ปุ่นว่า ให้จับปลามาขังไว้ในอ่างซีเมนต์...”


เมื่อปลานิลเป็นปลาสำคัญต่อการบริโภคของคนไทย และทำให้ชาวบ้านไทยหลายครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเลี้ยงปลาชนิดนี้ เราชาวไทยก็ควรระลึกถึงองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณกับชาวไทย ซึ่งพระองค์ท่านได้ถวายพันธ์ปลาชนิดนี้ ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกลายมาเป็นอาหารจานหลักบนโต๊ะของชาวเรา เป็นเวลายาวนานกว่า ๓ ทศวรรษแล้ว

นับตั้งแต่สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงจัดส่งปลานิลเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ จำนวน ๕๐ ตัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ และพระราชทานให้กับประชาชนนำไปเลี้ยงต่อจนแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร

ทุกวันนี้ มีปลานิลจำนวนนับแสนกิโลกรัมต่อวัน ถูกนำออกมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคของชาวไทย และได้เพิ่มอาหารโปรตีนให้กับคนในบ้านเมืองของเราในราคาถูก ประชาชนซื้อหากันมาบริโภคไม่ยาก เป็นปลาที่เนื้อเยอะ ปรุงก็ง่าย โดยเฉพาะการนึ่ง หรือเผา หรือจะเอาไปชุบแป้งทอดก็ไม่ผิดกติกาอันใด ขอเพียงให้มีน้ำจิ้มรสชาติถึงใจเท่านั้น ก็สามารถกินกับข้าวได้อย่างเอร็ดอร่อย จนผมอยากจะเรียกปลานิลอีกชื่อหนึ่ง เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระจักพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่นว่า

“ปลาสมเด็จพระจักรพรรดิ!”
ชาวญี่ปุ่นแสดงความยินดีเมื่อได้รับข่าวพระประสูติกาลรัชทายาทพระองค์ใหม่ (ภาพจากสำนักข่าวเอพี)
คนไทยนั้นเป็นผู้รู้คุณบุคคล และเมื่อข่าวที่เป็นที่น่าชื่นชมยินดีเกี่ยวข้องกับผู้มีพระคุณชาวเราก็พลอยดีใจปลาบปลื้มไปด้วย เช่น การมีพระประสูติกาลขององค์รัชทายาทลำดับที่สามแห่งราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ทรงมีพระกรุณาธิคุณกับชาวไทยเรา ตามที่ได้บรรยายมา

ดังนั้นในวาระแห่งความปลาบปลื้มยินดีนี้ ขอเปล่งคำว่า

“บันไซ! รัชทายาทพระองค์ใหม่...Banzai! A New Prince ”

คิมิ งะ โยะ วะ ชิโยะ นิ ยะชิโยะ นิ
ซาซาเระ อิชิ โนะ อิวะโอะ โตะ นะริ เตะ
โคะเคะ โนะ มุซุ มะเดะ


บันไซ! ขอองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี
ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน!!


.......................
ท้ายบท คำแปลภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาไทย
ขอพระองค์ทรงพระเจริญในราชสมบัตินับหมื่นปี
ขอจงเสวยราชย์ชั่วกาลนาน
ตลอดจนบรรดาเม็ดกรวดรวมกันเข้าเมื่อกาลเวลาผ่านไป
และกลายเป็นหินผาอันมหึมา
ซึ่งมีตะไคร่น้ำขึ้นอาศัยเกาะอยู่โดยรอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น