xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 250 “เสียงเพลงแห่งความหลัง เจ้าก็ยังภวังค์หรือนั่น”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้... จิบกาแฟขมแล้วรู้สึกหัวใจแช่มชื่น เพราะอากาศยามอรุณรุ่งมีละอองฝนโปรยน้อยๆ ทยอยมากับกระแสลมค่อนข้างเย็น เมื่อทอดสายตายาวออกไปบริเวณเขาที่ล้อมรอบบ้านอยู่ทุกทิศ แม้เป็นภูเขาไม่สูงนัก แต่ก็เห็นหมอกลอยตัวเอื่อยๆเรี่ยยอดภู อากาศรอบกายเย็นสบายเอามากๆ ทีเดียว

เมื่อคืนราวตีสามครึ่งตอนตื่นขึ้นมา ได้ยินสถานีวิทยุท้องถิ่นเขานำเพลงของคณะสุนทราภรณ์มาเปิดให้ฟังกันตอนดึกๆดื่น ซึ่งก็ให้สงสัยอยู่ครามครันเพราะเพลงลูกทุ่งจะครอบงำเกือบทุกสถานีวิทยุภาคนี้ได้อย่างเหนียวแน่น การที่มีเพลงอมตะของคณะสุนทราภรณ์โผล่ขึ้นมา จึงเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก

ผมไม่ทราบว่ามีแฟนสุนทราภรณ์ฟังกันมากหรือไม่ แต่อาจมีผู้ฟังจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ทางภาคนี้เท่าที่เห็นและรู้จักก็มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว คนวัยนี้ส่วนใหญ่มักตื่นนอนกันกลางดึก อย่างผมสองทุ่มก็หลับแล้วพอตีสามครึ่งก็ตื่นโดยอัตโนมัติ ลุกมาดูโทรทัศน์ฟังเพลงและออกกำลัง ทำอย่างนี้มานานเต็มทีแล้ว

เพลงที่เขานำมาเปิดเมื่อคืนนี้ ตอนขึ้นต้นเขาบอกว่า “ยามเมื่อลมผสมเพลงพาเสียงเธอแว่วมาจากฟ้าเบาๆ เหมือนดั่งเธอละเมอรักเก่า เพลงแห่งความหลังเรากล่าวความร่ำไป” ชื่อเพลงเขาบอกตามเนื้อว่า “เพลงแห่งความหลัง” เพลงนี้ตรงตามสูตรเผงเลย คือ

“แก้วเนื้อ...เอื้อทำนอง”

หมายความว่า ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ให้ทำนอง ซึ่งผมชอบตรงท่อนจบมาก เนื้อเพลงเขาบอกว่า

“เสียงเพลงแห่งความหลัง เจ้าก็ยังภวังค์หรือนั่น
โอ้ที่แท้เป็นแต่ความฝัน รักเราผูกพันเพ้อรำพันอยู่เดียว”


เพลงแห่งความหลังของแต่ละคนนั้น ก็มีแตกต่างกันไป คือพอเพลงขึ้นแล้วมันมากระทบจิตใจของตัวเอง ทำให้นึกย้อนเรื่องราวไปถึงอดีตเก่าๆได้ ไม่ว่าเรื่องราวเก่าๆที่ผ่านพ้นมานั้น จะเป็นด้านดีหรือร้าย อาจเป็นความรักหรือความเกลียดชัง หรือไม่ถึงเกลียดชังแต่แค่เนื้อเพลงอาจบอกเล่าถึงวามไม่สมหวังก็เป็นได้

ความหลังแต่ละคนนั้น ไม่เหมือนกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างเทปเก่าแก่ที่ซื้อม้วนหนึ่งมาตั้งแต่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น เจอเข้ารู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นเพลงในม้วนเป็นร้องโดย Julio Iglesias ซึ่งเป็นภาษาสแปนิชเสียส่วนใหญ่ แต่มีอยู่เพลงหนึ่งชื่อ Begin the beguine ร้องเป็นสองภาษาทั้งอังกฤษและสเปน ซึ่งเพลงนี้ใครที่เคยหัดเต้นรำ ballroom ในจังหวะบีกินคงจะรู้จักกันดี

ผมรู้จักเพลงนี้มาตั้งแต่เด็กเพราะเรียนดนตรี และเล่นดนตรีแจ๊สออกรายการวิทยุ
อ.ส. และเล่นออกทางโทรทัศน์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๕ ปีดี เคยเต้นรำกับสาวน้อยที่ถูกใจนักขณะที่วงดนตรีบรรเลงเพลง Begin the beguine ได้ยินทีไรให้ระลึกถึงวันชื่นคืนสุขเสียทุกครั้งไป

แม้ล่วงมาถึงวันนี้แล้ว ก็ยังไม่เคยมีวันเลือนหรือลบออกไปจากหัวใจได้เลย ลองดูท่อนแรกของเพลงซิครับ

When they begin the beguine
It brings back a sound of music so tender
It brings back a night of tropical splendor
It brings back a memory evergreen


ใช่ครับ...ความหลังที่งดงามเขียวขจี และคงความสดใหม่เสมอ ในความทรงจำของหลายคน รวมทั้งคนเขียนด้วย

เพลงนี้ผมว่ายิ่งใหญ่มาก ท่านผู้อ่านไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นลองเข้าไปในร้านขายเทป ซีดี ดีวีดี อะไรพวกนี้แล้วลองถามหาเพลงนี้ ผมรับรองว่าแทบทุกร้านต้องมี ที่ไม่มีคือ 'หมด' ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าตัวเองลองมาแล้ว

ถามว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

คำตอบก็คือ เพลงนี้เป็น American Song ที่คนญี่ปุ่นได้ยินเป็นเพลงฝรั่งแรกๆที่มาเข้าหูชาวซากูระ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงหยกๆ ท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่าแจแปนนิสทุกคนเขาจะหลงใหลได้ปลื้มกับสงคราม เพราะชาวบ้านธรรมดาๆจำนวนมากที่เขาไม่เห็นด้วย จำใจต้องกระทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจที่บ้าสงคราม คนพวกนี้ดีใจเงียบๆ ที่สงครามซึ่งนำมาแต่ความทุกข์โศกของชนในชาติ จบลงเสียได้

ดังนั้น เพลงนี้จึงเหมือนความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ยาก ของประชาชนชาวแดนซากูระ และหมดยุคกองทัพลูกพระอาทิตย์อันเกรียงไกร เป็นการ begin หรือเริ่มต้นใหม่ หรือมีชีวิตใหม่ เหมือนกับเริ่มหัดเต้นรำในจังหวะ beguine (คำนี้อ่าว่า บีกีน ใช้สระอี เสียงยาว)

ด้วยความมุ่งมั่นและความร่วมมือร่วมใจของชนในชาติ ญี่ปุ่นแม้จะสิ้นสุดแสนยานุภาพทางการทหาร แต่เพียงไมใกี่ปีการทำงานหนัก พลานุภาพทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นใหม่ทดแทนการทหาร ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าขึ้นมาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง

ดูไปแล้วช่างผิดกับบางประเทศ ที่ผู้นำขึ้นมาพร้อมประกาศก้องว่าร่ำรวยแล้ว จะดูแลไม่ให้มีการคอร์รัปชั่น แต่ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ คือหลังจาก begin การบริหารประเทศไปเพียงไม่กี่ปี กลับกลายเป็น “รัฐบาลทำมาหาแดก” สมบูรณ์แบบ เจือจานเศษเนื้อข้างเขียงให้ผู้คนที่ขาดความรู้ แต่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ ของคณะบุคคลที่อยู่ในอำนาจ

กีดกันคนที่ไม่ใช่พวกออกไป สนุกสนานกันอยู่ฝ่ายเดียวจริงๆ!

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง De-Lovely ทางเคเบิลที.วี.ซึ่งบอกเรื่องราวความรักของชายหญิง ตั้งแต่แรกพบกันจนถึงยามต้องพลัดพรากจากกันด้วยความตาย ฝ่ายชายคือ คุณ Cole Porter ผู้ประพันธ์เพลง Begin the beguine กับหญิงสาวผู้เป็นที่รักและภริยาของเขาคือ Linda

โคล พอร์เตอร์ นั้นแสดงนำโดย Kevin Kline ส่วนลินดาผู้ผู้ภริยานั้น ดาราหญิงที่ผมชอบเธอหนักหนาคือ Ashley Judd เป็นผู้แสดง ผู้หญิงคนนี้บางครั้งดูสวยหวานสนิท แต่บางทีก็ดูดุดันในบทของผู้รักษากฎหมาย และทีสำคัญเธอได้สร้างความประทับใจให้คนไทยเอามากๆ ตอนที่มาเมืองไทย เพื่อโครงการป้องกันเอดส์ของสหประชาชาติ

ในภาพยนตร์ De-Lovely นั้น ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณโคล พอร์เตอร์มากนัก ผู้คนที่ดูและไม่ทราบประวัติเกี่ยวกับนักประพันธ์เพลงชื่อก้องโลกมาก่อน อาจไม่ทราบว่า คุณโคล พอร์เตอร์ นั้นเป็นนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐

ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงถึงความรักของคู่สามีภริยา ที่มีความรักต่อกันอย่างลึกซึ้ง แม้ฝ่ายชายนั้นมีพฤติกรรมทางเพศที่รักได้ทั้งหญิงและชาย ซึ่งภริยาก็ยอมรับ ซึ่งก็ดูเป็นของแปลกสำหรับคนบ้านเราก็มีข่าวกระเส็นกระสาย ในวงการไฮทรุดไฮโซทั้งหลายบ้าง รวมทั้งพวกนักกินเมืองที่ชอบลองของแปลกๆแบบ "เสือใบ" นี้ ที่ชัดเจนนับได้ถึง ๘ หน่อ แต่ไม่อยากพูดถึง เดี๋ยวจะเป็นการขโมยซีนคุณซ้อเซเว่นไป

หนังแสดงถึงความหรูหรา ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่ในมุมที่ซ่อนเร้นของความผิดปกติทางชีวิตคู่ ก็สร้างความแปลกให้ผู้คนอยู่เหมือนกัน

ดูเหมือนพฤติกรรมเหล่านั้น จะถูกทำให้มีความหมายน้อยลงไป เมื่อภาพยนตร์ได้แสดงถึงความเป็นละครมากกว่าหนัง ที่เต็มไปด้วยเพลงที่ไพเราะ ฉากละครที่น่าติดตาม แม้ผู้แสดงนำทั้งสองซึ่งไม่มีความสามารถในเรื่องการร้องเพลง แต่ก็สามารถวางท่าทางตอนทำ lips sing ที่ดูไม่ค่อยจะขัดเขินเท่าใดนัก

เรียกว่าดูเพลิดเพลินในดนตรี เสียงเพลงมากกว่าจะเป็นหนังชีวิต

เมื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่ของคุณ โคล พอร์เตอร์ ก็ต้องถือโอกาสเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า ในสมัยที่เพลง pop ของสหรัฐเริ่มใหม่ๆนั้น นักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงของอเมริกัน ส่วนมากจะเป็นคนนิวยอร์ค และเป็นชาวอเมริกัน-ยิวแทบทั้งสิ้น และแทบทุกคนมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ยากจนเกือบทั้งนั้น แต่คุณโคล พอร์เตอร์ ไม่ได้เข้าสูตรนั้นเลย เพราะเป็นคนสะตออเมริกัน คือมาจากรัฐอินเดียน่า ครอบครัวชาวใต้ที่ร่ำรวยเอามากๆ เรียกว่าเป็นพวกที่มีเงินเก่า หรือที่อเมริกันชนเรียกตรงๆตัวว่าพวก “old money” คือเป็นเศรษฐีมีเงินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คุณโคลก็อยู่ในพวกที่ ‘คาบช้อนเงิน-ช้อนทอง’ มาแต่เกิดเลยทีเดียว

ด้วยความที่ตัวเองเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว และมีพี่ชาย ๒ คนแต่พี่ทั้งสองของคุณโคลกลับตายเสียตั้งแต่ยังเด็ก เด็กน้อยโคลเลยกลายเป็นสุดที่รัก และหวงแหนของตระกูล แต่เขาก็ไม่ได้กลายเป็นพวกเสพยา เหมือนพวกลูกมหาเศรษฐีเก่งทางเลี่ยงภาษีแห่งเมืองสาระขันขันที่ต้องส่งลูกไปอดยากับพระบ้าง เอาไปฝากไว้บ้านรุ่นพี่ให้ช่วยดูแลบ้าง การเรียนก็ลุ่มๆดอนๆ พอจะเข้าสอบก็ลอกข้อสอบเขาให้คนด่าเล่นสนุกสนาน อะไรทำนองนั้น

คุณโคลไม่ใช่พวกมหาเศรษฐีใหม่เมืองด้อยพัฒนา ที่นิสัยเสีย ขี้เบ่ง มีแต่เงิน ไม่มี class เพราะโคลเป็นคนร่ำรวยมหาศาล เป็นผู้ดีเก่ามาแต่อ้อนแต่ออดเลยทีเดียว

โคล พอร์เตอร์ เรียนหนังสือเก่ง และชอบดนตรีเล่นเปียโนเก่งตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และสามารถแต่งเพลงได้เมื่อมีอายุแค่ ๑๑ ปีเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เรียนต่ออย่างเป็นเรื่องเป็นราวทางดนตรี กลับข้าไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยดีที่สุดหนึ่งในสี่ของสหรัฐ ที่เรียกกันว่าพวก Ivy League คือ มหาวิทยาลัย Yale เหตุที่ต้องเรียนกฎหมายก็เพราะว่า ต้องทำตามประสงค์ของคุณตา ผู้ที่เป็นเจ้าของมรดกอันมหาศาลนั่นเอง แทนที่เขาจะไม่เอาใจใส่ในการเรียนก็หาไม่ เพราะโคลสามารถทำคะแนนในวิชากฎหมายได้สูงเสียอีก แต่ความสนใจเขาอยู่ที่การประพันธ์เพลงมากกว่าวิชากฎหมาย

ที่มหาวิทยาลัยเยล โคลโด่งดังในฐานะที่เป็นผู้จัดแสดงละครเพลงซึ่งเฟื่องฟูมากในยุคนั้น และเป็นดาวเด่นในมหาวิทยาลัย เพื่อนนิสิตต่างพากันชื่นชอบเพลงอันแสนนุ่มนวลและไพเราะลึกซึ้งของโคล เขามีชีวิตที่สนุกสนาน เอนจอยกับงานปาร์ตี้ เรียกว่ามีชีวิตที่เป็นความฝันของหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่จะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และต้องการใช้ชีวิตยามศึกษาอยู่เป็นอย่างมาก เพราะตอนแก่ตัวแล้วไปปาร์ตี้ก็ไม่ค่อยจะสนุกนัก

โคลเรียนจนจบกฎหมายที่เยล ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อที่ Harvard แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ที่เยลคือ เพลงต่างๆที่เขาแต่งให้มหาวิทยาลัย ซึ่งยังคงร้องกันอยู่มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะเพลงที่เขาแต่งนั้นล้วนแต่สนุกสนาน มีถ้อยคำคมคาย มีความไพเราะเสนาะหูยิ่งนัก

เสียงเพลงที่โคล พอร์เตอร์แต่ง จึงดังก้องอยู่ในความทรงจำของศิษย์เก่าเยลรวมทั้งนิสิตปัจจุบันก็ไม่เว้น

พอไปเรียนกฎหมายต่อที่ Harvard พวกอาจารย์เลยยุส่งให้เรียนดนตรีไปเสียเลยรู้แล้วรู้รอด เรียนกฎหมายไปก็ไม่มีประโยชน์สักเท่าใด เพราะอเมริกานักกฎหมายเก่งๆนั้นมีมากพอควรอยู่แล้ว

ส่วนที่เรียนกฎหมายจนจบมาแล้ว แต่ต้องอยู่กับบ้านเพราะไม่มีงานทำ คงมีในบางประเทศอย่างบ้านเรา ที่จบกฎหมายมาแล้วไปสอบเนติบัณฑิตย์กับเขาไม่ได้ จะเป็นทนายความชั้น ๒ ก็ไม่ค่อยจะมีใครมาจ้าง เมื่อไม่มีงานทำบัณฑิตทางกฎหมายจำนวนมาก จึงต้องไปขายก๋วยเตี๋ยว ขายกาแฟ ขายประกันฯลฯ เต็มไปหมด น่าสารมาก

ก็ดีเหมือนกัน ที่มีนักกฎหมาย นักวิ่งความแยะๆ คนทั้งบ้านทั้งเมืองจึงต้องสนุกสนานกับการเป็นคน “หัวหมอ” เรื่องอะไรต่อมิอะไรก็ต้องตีความกันเรื่อยไป ดูอย่างเลือกคณะกรรมการ ป.ป.ช.นี่ไง เคยเลือกคนที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าไปไม่รู้ตั้งกี่รอบ แต่มาคราวนี้สมาชิกวุฒิสภาเกิดปัญญาสว่างขึ้นมา สงสัยกันว่า เออแล้วไอ้ตำแหน่งเทียบเท่านั้น ถ้ามายืนเทียบกับอธิบดีแล้ว มันจะสูงเท่ากันหรือเปล่า ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนดีกว่า ฟังดูแล้วก็อเนจอนาถใจเหลือกำลัง จนคนเขียนอยากจะให้ฉายาประเทศตัวเองว่า

“เมืองตีความ!”


โคลก็เรียนดนตรีในฮาร์วาร์ดนั่นแหละ เรียนไปก็แต่งเพลงไป ในที่สุดก็ประสพความสำเร็จยิ่งใหญ่ เงินทองจากการแต่งเพลง ละครเพลง ไหลมาเทมาจนทำให้เขาร่ำรวยและก็มีเงินใช้อย่างมากมาย ไม่ต้องพึ่งพาเอามรดกบรรพบุรุษมากินเที่ยวอีกต่อไปแล้ว คราวนี้เป็นเพลย์บอยด้วยเงินของตัวเองเต็มที่ ไม่หนักกบาลหัวใครด้วย

เมื่อมีเงินมากๆ ก็ต้องท่องโลกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ตกหลุมรักกับนางเอกคือคุณลินดา และได้แต่งงานกัน แต่พฤติกรรมอีกด้านหนึ่ของคุณโคล คือความเป็นชายที่รักหญิงก็ได้ รักชายด้วยกันก็ได้นั้น ทำให้มีข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขามากมาย แต่ภริยาก็ทำเป็นมองข้ามเรื่องส่วนตัวที่เร้นลับของสามีไปได้ มันก็แปลกดีนะ

หลังจากแต่งเพลง Begin the beguine จนโด่งดังไปทั่วโลก ชีวิตคุณโคล พอร์เตอร์ ก็ถึงคราวเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งเ มื่อวันหนึ่งขณะที่เขาควบม้าอย่างเร็ว ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุตกม้า และตอนตกสายบังเหียนติดมือ ตัวคุณโคลเอนมาทางด้านซ้ายโดยมีม้าล้มตามสายบังเหียนมาด้วย และร่างกายท่อนล่างของเขาถูกม้าทับ ขาท่อนล่างหักทั้งสองข้าง ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง

โคลต้องนอนรอความช่วยเหลืออยู่นานนับชั่วโมง แต่ระหว่างการรอที่ยาวนานและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดอย่างสาหัสนั้น เขาได้คิดเนื้อเพลงเพื่อเพิ่มเติมเพลง ชื่อ At long last หรือแปลว่า ‘ในที่สุด’ หรือ ‘ท้ายที่สุด’ ที่แต่งค้างไว้ได้ด้จนจบ และชีวิตที่เหลือต่อมาของเขา ก็จมอยู่ในความทุกข์ ลินดาภริยาตาย ส่วนขาของเขาต้องถูกตัดออก กลายเป็นคนพิการจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทิ้งแต่ผลงานเพลงที่ยังดังก้องโลกเอาไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ชื่นชมกัน

ขออธิบายสักหน่อยว่า

คำว่า At long last ดังขึ้นมาเพราะพระเจ้าเอ็ดเวอร์ด ที่ ๘ เพิ่งทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อปลายปี ค.ศ.๑๙๓๖ หลังครองราชย์อยู่เพียง ๑ ปี เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า จะทรงครองราชย์ต่อไปโดยปราศจากผู้หญิงคนรัก คือแม่หม้ายซิมป์สันไม่ได้ ตอนที่ทรงประกาศสละราชสมบัติ และช๊อคพสกนิกรทั้งประเทศ พระองค์ทรงใช้ถ้อยคำประโยคขึ้นต้นว่า

"At long last I am able to say a few words of my own. I have never wanted to withhold anything, but until now it has not been constitutionally possible for me to speak.

และตรัสถึงหญิงที่พระองค์รักและทรงขาดเธอไม่ได้ว่า

But you must believe me when I tell you that I have found it impossible to carry the heavy burden of responsibility and to discharge my duties as King as I would wish to do without the help and support of the woman I love.


ถ้อยคำตรงนี้ทำให้พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ละทิ้งประเทศชาติเพราะผู้หญิงคนเดียว แต่ฝ่ายที่โรแมนติกก็บอกว่า ทรงมีรักแท้และทรงยอมสละได้แม้แต่ฐานันดรศักดิ์และราชสมบัติ เพื่อไปครองชีวิตกับหญิงคนรักของพระองค์

นักประพันธ์เพลงอย่างคุณโคล พอร์เตอร์ หยิบถ้อยคำก้องโลกนี้มาเป็นชื่อเพลง ดังเปรี้ยงปร้างไปเลย!

เขียนมาถึงตรงนี้ อยากจะตื่นขึ้นมาตอนเช้า และเห็นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์หรือเดอะเนชั่น พาดหัวว่า

PM said “ At long last I am able to say, I am not going to be Thai prime minister again!”

หรือ นายกฯพูด “ในที่สุดผมก็สามารถกล่าวออกมาได้ว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทยอีกต่อไป”


อยากเห็นอย่างนั้นจริงๆ!!

................................

ท้ายบท หากไม่ได้เห็นพาดหัวข่าวอย่างนี้ ก็ต้องขอบอกว่า ถ้าคนเป็นนายกฯยังไม่อยากเห็นคนในชาติที่กำลังแตกแยกเพราะความขัดแย้ง อันมีตนเป็นต้นเหตุ จนถึงเข้าฆ่าฟันกันจนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาในชาติของเราอีกครั้ง ก็ต้องเตือนกันเอาไว้ตรงนี้ชัดๆว่า

“Don’t begin the beguine... again!!!”

ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ลองอ่านทวนอีกครั้งก็ยังได้นะ

กำลังโหลดความคิดเห็น