xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายของราชา กับ ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สุดสัปดาห์หลังวันที่ 25 เมษายน 2549 ผมไปเยี่ยมอาจารย์ชาวจีนท่านหนึ่ง ศาสตราจารย์ผู้ที่ครึ่งชีวิตของท่านทุ่มเวลาให้กับเรื่องไทยคดีศึกษา ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมของไทย ......

วันนั้นผมนั่งสนทนากับอาจารย์ถึงเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี พระราชดำรัส ต่อคณะตุลาการ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน ให้ช่วยแก้ไขปัญหาของชาติที่กลายเป็น "วิกฤตที่สุดในโลก"

หลังจากการต่อสู้ทางการเมืองอันดุเดือด ของฝ่าย "ทักษิณ สู้ๆ" และ "ท้าาาาก ษิณ ออกไป" เป็นแรมเดือน การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อขับไล่ผู้นำทรราชนับเป็นแสนเป็นล้านครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ใหญ่ถึงขนาดที่ อ.สุวินัย ภรณวลัย ยกให้ว่าเป็นการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ของการเมืองเชิงพื้นที่ (Politics of Space) อันหมายความถึงการต่อสู้ของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในจิตใจคน ที่มีเวทีคือ เนื้อที่ของสื่อและโลกไซเบอร์สเปซ การเมืองเชิงพื้นที่อันมีผู้เข้าร่วมมากกว่ามหากาพย์แห่งการต่อสู้ของการเมืองเชิงสถานที่ (Politics of Place) เมื่อคราว 14 ตุลาคม 2516* หลายเท่านัก อนาคตของประเทศไทยก็ดูเหมือนจะพบกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อองค์พระประมุขทรงมีพระราชดำรัสให้ศาลเริ่มปฏิบัติการ 'ตุลาการภิวัฒน์'

"สถาบันกษัตริย์ของไทยจริงๆ ไม่เหมือนกับสถาบันกษัตริย์ในอดีต หรือในประเทศอื่นนะ เพราะสถาบันกษัตริย์ของไทยในส่วนของการแก้ไขปัญหาของชาติ และมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ทางสังคมมากจริงๆ" อาจารย์ของผมแม้จะเป็นคนนอก แต่ก็กล่าวอย่างคนรู้จริง

เมื่อได้ฟังผมก็รู้สึกใจชื้นขึ้นบ้างว่า ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่รับทราบและสำนึกถึงคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อประเทศไทย โดยแม้แต่ชาวจีนเองที่ระบอบกษัตริย์ (ฮ่องเต้) ถูกล้มล้างไปตั้งแต่ พ.ศ.2454 หรือเกือบร้อยปีมาแล้ว และปัจจุบันประเทศปกครองในระบอบสังคมนิยมก็ยังมีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว ผิดกับคนไทยบางพวก นักวิชาการไทยบางคนและพรรคการเมืองบางพรรคที่ยังหลงเชื่อว่า ทุนนิยมที่ชั่วช้ายังดีกว่าระบอบศักดินา!

สัปดาห์ที่แล้ว มิตรของผมท่านหนึ่งได้อีเมล์บทความทางวิชาการเรื่อง Network Monarchy and legitimacy crises in Thailand ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ Duncan McCargo นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ และตีพิมพ์ลงในวารสาร The Pacific Review เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 มาให้อ่าน
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
บทความชิ้นนี้มีความยาวรวมทั้งสิ้น 21 หน้า โดยเนื้อหานั้นกล่าววิเคราะห์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ของไทยในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา และเน้นเป็นพิเศษในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้นับตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความเหมาะสมผมจึงขออนุญาตท่านผู้อ่าน สรุปและเรียบเรียง ใจความสำคัญของบทความที่พอจะเผยแพร่ได้มาให้อ่านกันว่า จริงๆ แล้วนักวิชาการตะวันตกส่วนหนึ่งนั้นเขามองการเมืองไทยเช่นไร

ในบทคัดย่อของบทความชิ้นนี้กล่าวว่า นักวิชาการชาวต่างชาติจำนวนมากนั้นมักจะใช้ความคิดหรือทฤษฎีที่ไม่แม่นยำนักในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ในส่วนตัวผู้เขียนเอง (Duncan McCargo) เห็นว่า การจะทำความเข้าใจกับการเมืองของประเทศไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึง เครือข่ายทางการเมือง (Political Network)

McCargo อธิบายต่อว่า เครือข่ายทางการเมืองที่ชี้นำการเมืองไทยในห้วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2516-2544 (ค.ศ.1973-2001) นั้นคือเครือข่ายที่มีศูนย์กลางอยู่ในวัง หรือเรียกกันในอีกนามหนึ่งว่า เครือข่ายของราชา (Network Monarchy)

เครือข่ายของราชาเข้ามามีส่วนร่วมและแทรกเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านตัวแทนของกษัตริย์ซึ่งก็คือ คณะองคมนตรี (Privy Council) ที่นำโดยประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้เครือข่ายของราชาจะพัฒนาขึ้นมาจนมีบทบาทสูงต่อสังคมในระดับหนึ่ง แต่เครือข่ายของราชาก็ไม่เคยก้าวล่วงเข้ามาจนกลายสภาพเป็นการครอบงำสังคมไทย ในทางกลับกันเครือข่ายของราชากลับมีภารกิจในการทำหน้าที่ผ่านองค์กรทางการเมืองทั้งหลาย (ที่เรารู้จักกันดีก็คือ อำนาจทางการปกครองผ่านรัฐบาล อำนาจทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และอำนาจทางตุลาการผ่านศาลยุติธรรม) โดยมีรัฐสภาไทยที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นพื้นฐาน

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์กล่าวต่อด้วยว่า ถึงแม้เครือข่ายของราชาจะมีลักษณะของความเป็นอนุรักษ์นิยมโดยธรรมชาติ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 90 (ห้วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2533-2543) เครือข่ายนี้ก็ยังแสดงออกถึงความเป็นเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลังจากปี พ.ศ.2535 ที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ถึง 3 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง พล.อ.เปรม ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพื่อรักษาสมดุลย์ทางการเมือง และนำประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติได้ทุกครั้ง

กระนั้นการเข้าแทรกแซงดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงลงของเครือข่ายแห่งราชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ.2544 และ 2548 โดยในจุดนี้ McCargo มองว่าในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา ทักษิณพยายามที่จะสร้างเครือข่ายใหม่ที่อยู่ภายใต้อาณัติของตน เพื่อจะนำมาแทนที่เครือข่ายเก่าที่ดำรงอยู่และกำลังอ่อนแรงลงทุกทีๆ .......

โดยส่วนตัวผมเองคงไม่อาจจะให้ความเห็นอะไรกับบทความชิ้นดังกล่าวของ ศาสตราจารย์ McCargo ได้มากนัก แต่เมื่อพิจารณาในส่วนแรกของบทคัดย่อที่กล่าวถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของเครือข่ายของราชาที่มีต่อสังคมไทยแล้ว ก็นับว่าสอดคล้องกับพระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน และความคิดของอาจารย์ชาวจีนของผมที่กล่าวไว้ในตอนต้น

ส่วนบทสรุปจากการวิเคราะห์ในตอนท้ายของบทความ ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ในฐานะคนไทยที่รับทราบสถานการณ์ เรื่องราว และความเป็นมาเป็นไปของชาติมากกว่าใคร คงไม่จำเป็นที่จะต้องให้อาจารย์ชาวจีนหรือนักวิชาการตะวันตกผู้ใดมาชี้ให้เราเห็นว่า ณ วันนี้อะไรกำลังเกิดขึ้นกับบ้านเราเมืองเรากันแน่

อ่านเพิ่มเติม :
*สนธิ ทักษิณ และอนาคตของประเทศไทย: บทวิเคราะห์ของสุวินัย ภรณวลัย จากหลังเวทีพันธมิตรฯ จากเว็บไซต์ onopen.com
กำลังโหลดความคิดเห็น