xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 234 ‘แดจังกึม’ กับ ‘แม่ครัวป่า’ คุณจะรักใครชอบใคร !?

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้... จิบกาแฟขมแล้ว ผมขับรถพานายตำรวจลูกพี่ออกจากที่พัก มุ่งหน้าเข้าอำเภอเมืองซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณสามสิบกิโลเมตร ที่ออกจากบ้านเพราะจะซื้ออาหารสดเพื่อประกอบเลี้ยงแขกมารับประทานข้าวที่บ้าน แม้จะมีเด็กคอยช่วยเป็นลูกมืออยู่ แต่อาหารอาจต้องลงมือทำเองบ้าง เพราะมาอยู่ไกลอย่างนี้ จะเรียกหาใครมาช่วยก็คงลำบาก

ลูกพี่ของผมออกมาอยู่ไกลจากตัวเมือง ก็เพราะเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ เมื่อตอนเป็นเด็กท่านอยู่บ้านสวนริมแม่น้ำปิง พอเกษียณอายุราชการก็มาปลูกบ้านอยู่ห่างไกลจากชุมชนไม่ติดแม่น้ำ แต่พื้นที่เชิงเขาสวยงาม อากาศดี มีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ หากไม่มีแขกมาที่บ้าน การรับประทานก็เรียบง่าย บางทีท่านก็ไปค้างบ้านผมหรือไม่ผมก็เป็นฝ่ายมาอยู่กับท่านบ้าง พอถึงวันเสาร์อาทิตย์หากมีสาวๆมาชวนไปเที่ยว ก็พากันเข้าเมืองเชียงใหม่หาที่ฟังเพลงบ้าง เต้นระบำเป็นการออกกำลังกันนิดหน่อยให้เลือดลมเดินคล่อง และคุยหาความรู้กับพวกสาวยุคนี้กันบ้าง ไม่อย่างนั้นชีวิตมันดูเหมือนเฉื่อย ไม่สดใสซาบซ่า ดูจะตกขอบวัฒนธรรมรุ่นใหม่ไม่ทันสมัยกับเขาเอาเสียเลย

เมื่อพูดถึงการทำกับข้าวเลี้ยงคนแล้ว อดไม่ได้ที่จะเล่าถึงภาพยนตร์โทรทัศน์ยอดฮิตของช่องสามเรื่อง “แดจังกึม-จอมนางแห่งวังหลวง” ตอนที่ชาวบ้านเขาติดกันงอมแงม ผมเองก็มีโอกาสดูเพียงแวบๆ เพราะตอนค่ำเสาร์-อาทิตย์นั้นตัวเองไม่ค่อยมีเวลาว่าง พอทางสถานีเขานำซีรีส์นี้กลับมาฉายใหม่ ได้เปลี่ยนเวลามาฉายตอนเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ผมออกกำลังช่วงบ่ายพอดี เรียกว่าเอ็กเซอร์ไซส์ไปก็ดูคุณแดจังกึมไปด้วย ก็ให้เข้าใจว่าทำไมผู้คนจึงได้ติดหนังเรื่องนี้กันทั้งบ้านทั้งเมือง

ต่อมาผมได้อ่านข่าวทางจากหนังสือพิมพ์ว่า “ฮันซังกุง” อาจารย์ของแดจังกึม ได้นำเชฟคู่ใจคือคุณ “ยุน ฮี ซุก”มาแสดงวิธีการทำอาหารเกาหลีที่น่าชมอย่างมาก (เสียดายที่ผมไม่ได้ไปดู) เธอเผยเคล็ดลับการประกอบอาหารในราชสำนักเกาหลี เรียกว่าผู้จัดรายการนี้ เขาจับกระแสความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมเกาหลีได้ที่เรียกกันว่า K-Pop ได้ดีทีเดียว

“มิ เคียว ยัง”หรือ “ฮันซังกุง” กับคุณ “ยุน ฮี ซุก” เชฟคู่หูนั้น ทั้งสองมีรายการโทรทัศน์ ซึ่งแนะนำการทำอาหารด้วยกันอยู่แล้ว และยังช่วยกันทำอาหารในละครเรื่องฮิตนี้ด้วย อีกทั้งคุณ “ยุน ฮี ซุก” ยังสอนวิชาการประกอบอาหารในมหาวิทยาลัยที่เกาหลี

วันนั้นเธอได้สาธิตทำอาหารที่ขึ้นชื่อลือชาของเกาหลี ที่สาวๆที่จะแต่งงานออกเรือนไป ต้องหัดทำเอาไว้เอาใจสามีนั่นคือ จับแช (Japchae) หรือวุ้นเส้นยำ คือการผัดวุ้นเส้นกับน้ำมันงาและเติมผักชนิดต่างๆ ซึ่งเป็น starter หรืออาหารเรียกน้ำย่อยของชาวเกาหลีก็ว่าได้ ผมเห็นของชอบรับประทานกับเบียร์แบบกับแกล้ม ก่อนอาหารหนัก

ผมเองคุ้นกับอาหารเกาหลี เพราะมีเพื่อนสนิทซึ่งเคยเป็นนายกสมาคมเกาหลีแห่งประเทศไทย เขาแต่งงานกับสาวไทยที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาผมไปกินอาหารเกาหลีเสมอ อีกทั้งเมื่อยังอยู่ในราชการ มีร้านอาหารเกาหลีชื่อ Korean House ที่สยามสแควร์อยู่ใกล้กองบัญชาการของผม ซึ่งเจ้าของร้านเป็นสาวชาวอารีรัง แต่งงานกับทหารไทยที่ไปรบในสงครามเกาหลี และตามสามีมาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย เปิดร้านอาหารเกาหลีที่สยามฯมานับมาสิบๆปี เพิ่งเลิกไปสักสองสามปีเห็นจะได้

ร้านนี้มีชื่อเสียงในอาหารเกาหลี ที่ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Nine Princess ชื่อไทยคือ “เจ้าหญิงนพเก้า” มีแป้งเป็นแผ่นคล้ายปอเปี๊ยะ แต่ให้หยิบเครื่องใส่ ๙ อย่างใส่เองคล้ายเมี่ยงคำบ้านเรา แต่ที่โปรดปรานมากสำหรับผมนอกจากกิมจิแล้ว เห็นจะเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อวัว ต้องยอมรับว่าคนเกาหลีเขาทำเก่งจริงๆ ในเรื่องการหมักเนื้อวัวและเนื้อสัตว์อย่างอื่นเช่นหมู เราจึงเห็นร้านหมูย่างเกาหลีเปิดกันเต็มทั่วเมืองไทย เป็นอาชีพเสริมของนักมวยดังหลายคนเช่น สมรักษ์ คำสิงห์ และ นำพล หนองกี่พาหุยุทธ คนหลังนี่เปิดสาขาอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัดทีเดียว

ความจริงแล้วอาหารแต่ละชาตินั้นแม้จะแตกต่างกัน แต่วิถีการกินของชาวตะวันออกและตะวันตกนั้นคล้ายกัน คือมีอาหารที่เราเรียกว่า starter หรืออาหารเรียกน้ำย่อยเหมือนกัน คืออาหารประเภทยำ พวกคนกินเหล้ากินเบียร์ชอบมาก พออ่านข่าว ‘ฮันซังกุง’มาแสดงการทำจับแชหรือยำวุ้นเส้น เมื่อเข้าเมืองลำพูนผมจึงแวะเอาไข่มดแดงที่ลูกน้องเขาหามาล่วงหน้า เพื่อจะนำมาทำเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยแบบไทยล้านนา สำหรับการเลี้ยงแขกมื้อเย็นวันนั้น

การทำยำไข่มดแดงก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น ก็เหมือนกับอาหารยำทั่วๆไป แต่ก่อนที่จะนำไข่มดแดงไปยำ ต้องนำไปล้างให้สะอาดเสียก่อน แล้วนำไปลวกสักนิดแล้วนำมาแช่น้ำปลาดี ทิ้งไว้สักหน่อยประมาณ ๑๐ นาทีก่อนปรุง เวลายำก็ใช้เครื่องลาบเป็นหลัก โดยนำไปเคล้ากับเครื่องลาบเช่นข้าวคั่วกับผักชีฝรั่ง สะระแหน่ ต้นหอม บีบมะนาวผสมพริกป่นตี เติมน้ำเชื่อมสักนิดแล้วเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้ง แล้วก็จัดใส่จาน ผักแนมก็จัดให้หลายอย่างเข้าไว้ ทั้งผักสดผักนึ่งแล้วแต่ชอบ เช่น แตงนึ่ง ผักกาดขาว ผักชีลาว มะเขือยาว แตงไทยอ่อน กินแล้วคนเหนือเปิ้นฮ้องว่า

“ลำขนาด” แปลว่า “อร่อยมาก...เจ๊า”

เมื่อพูดถึงเรื่อง‘แดจังกึม’ แล้ว ทำให้คิดถึงละครโทรทัศน์ไทย ที่ไม่สู้ประทับใจผมเท่าไหร่นัก จึงไม่ได้สนใจติดตามเพียงแค่ดูผ่านๆแบบแวบๆ เพราะมีความเห็นส่วนตัวว่า เนื้อหาของละครไทยนั้นมีรูปแบบที่ซ้ำกันเกินไป ความแปลกใหม่หายาก นานๆครั้งถึงจะมีเรื่องดีๆโผล่มาให้เห็นกันบ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ครั้นมาเห็นซีรีส์เกาหลีชุดนี้แล้ว ผมคิดว่าหากเราลองทำละครในแนวนี้ดูบ้างเห็นท่าจะดี

แนวทางที่ผมว่านั้น คือการผสมผสานระหว่างละครย้อนยุคหรือที่ชอบเรียกกันว่าละครพีเรียด (period) ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสให้ความรู้การทำอาหารไทย เคล็ดวิชาการครัวไทย ใครจะว่าเลียนแบบ‘แดจังกึม’ ก็ไม่ว่ากัน เพราะไม่ใช่ของเลวร้าย ละครโทรทัศน์ไทยที่ฮิตหลายเรื่อง เห็นวางเค้าโครงเรื่องและเนื้อหาในบทสนทนา ลอกมาจากเรื่องฝรั่งมังค่าบ้าง จีนบ้างฯลฯ เยอะแยะตาแป๊ะไก๋ ไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่ ไม่ต้องบอกว่าเรื่องอะไร เดี๋ยวจะขัดใจกันเปล่าๆ

การจัดละครทั้งสนุกและให้ความรู้เรื่องอาหารนั้น มีการรายการทำอาหารอยู่บ้างทางโทรทัศน์ แต่การทำอาหารไทยแบบดั้งเดิมนั้นหายาก ผมเคยติดใจอยู่รายการหนึ่งซึ่งตอนนี้ก็หายไปแล้ว ชื่อ “ตำรับไทย” ซึ่งคุณยายที่มาให้ความรู้เรื่องอาหารกับผู้ชม ท่านมีความรอบรู้จนน่าทึ่ง ส่วนพิธีกร (ไม่ทราบชื่อ) ก็เป็นเด็กสาวที่น่ารักมาก ดูอ่อนหวานเรียบร้อยแบบไทยๆ เรียกว่าให้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินเจริญใจและเจริญตาอย่างมาก

ท่านผู้อ่านอาจถามผมว่า แล้วจะให้ผูกเรื่องอย่างไร จึงจะทำให้คนติดอกติดใจอย่างกับ ‘แดจังกึม’ ได้อย่างไรกัน ?

มาคิดดูแล้ว หากตัวเองเป็นคนเขียนเรื่อง จะนำเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มาผูกเข้าเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมคงต้องเล่าย้อนไปในอดีตก่อนถึงบทละคร เพื่อเป็นการปูพื้นความเข้าใจให้ท่านผู้อ่านฟังดังนี้ครับ

ก่อนอื่นผมเข้าใจว่าท่านผู้อ่านที่มีอายุหน่อยอาจได้ยินคำว่า “แม่ครัวหัวป่า” หรือ “แม่ครัวหัวป่าก์” กันมาบ้าง ส่วนท่านที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว อาจไม่เคยได้ยินเลย หรือได้ยินแต่ไม่ทราบว่ามีความหมายอย่างไร ? ก็ขอเล่าย่อๆ ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงโปรดเสด็จไปเยี่ยมเยียนเพื่อทรงทอดพระเนตร ดูแลความทุกข์สุขของราษฎรของพระองค์แบบไม่เป็นทางการ เรียกว่าการ
เสด็จประพาสต้น ซึ่งเสด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งโดยเสด็จด้วย ได้ทรงบรรยายการเสด็จประพาสต้นเอาไว้ ทำให้เราทราบพระราชจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐหลายประการ เช่นทรงโปรดการประกอบพระกระยาหารด้วยพระองค์เอง ซึ่งผมเคยเล่าเรื่องข้าวต้มสามกษัตริย์ให้ท่านผู้อ่านฟังแล้ว

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๑ เสด็จประพาสต้นเมืองพรหมบุรี และไปเสวย
พระกระยาหารที่ วัดชะลอน (เดิมชื่อวัดชลวน เพราะตรงหน้าวัดน้ำไหลวนแรง) ตำบลหัวป่า ซึ่งชาวบ้านที่มี เหตุเสด็จครั้งนั้นเพราะเกิดจากคำกราบบังคมทูลฯ เชิญเสด็จพระราชดำเนินงานทอดกฐินของพระยาอภัยราชา สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ซึ่งเจ้าคุณท่านไปราชการเมืองพรหมบุรีบ่อย และประทับใจมากถึงขนาดก่อสร้างและบูรณะวัดชะลอน (ปัจจุบันชื่อทางการว่าวัดพรหมเทพาวาส) ไว้

เล่ากันถึงวันอันพิเศษยิ่งนั้น ปรากฏในบันทึกมีความว่า

ชาวบ้านมี อำแดงอึ่ง อำแดงสิน อำแดงหงส์ ตื่นเต้นกันมาก ตื่นกันขึ้นมาตั้งแต่หัวไก่โห่ ช่วยกันตระเตรียมอาหารเป็นพัลวัน พอก่อนเพลกระทะใบบัวถูกตั้งขึ้น น้ำถูกเทลงในกระทะ ช่วยกันซาวข้าวสารจนสะอาดเริ่มเร้เรไร เทใส่ลงลงน้ำเดือดที่ตั้งบนเตาถ่าน พวกผู้ชายต่างพากันใช้ใบพายกว้านทั่วกระทะจนข้าวเริ่มแตกเม็ด ภาชนะสานดูคล้ายบุ้งกี๋ ถูกกดลงให้น้ำข้าวแยกกับเมล็ดข้าว แล้วอำแดงคนหนึ่งนำกระบวยตักน้ำข้าวออกไปจนเหลืออยู่ไม่มาก ฟืนถูกชักออกจนเหลือแต่ขี้ถ่านแดงๆ ฝ่ายชายก็ใช้ใบพายกวนข้าว วิธีการก็ต้องกวนจากก้นกระทะขึ้นมาข้างบนอีกครั้ง ผ้าขาวบางถูกนำมาคลุมในกระทะสักพัก เท่านั้นแหละครับ ข้าวก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งอบอวลไปทั่วบริเวณวัด

ข้าวสุกแล้ว...เจ้าข้าเอ๊ย !

พอหันไปดูอีกด้านหนึ่ง กับข้าวอย่างอื่นถูกปรุงตามวิธีแบบชาวบ้าน อาหารอย่าง แกงขี้เหล็ก แกงบอน ต้มกะปิแตงกวาใส่ปลาเค็ม ปลาร้าสับ ฯลฯ ถูกลำเลียงนำขึ้นโต๊ะเสวยบนเรือของพระมหากษัตริย์เจ้าชาวไทย ที่จอดลอยลำอยู่ที่บริเวณบ้านจวนหัวป่า หน้าวัดวัดชะลอน

มีคำเสียงผู้คนร่ำลือต่อๆกันมาด้วยว่า พระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดในฝีมือการทำอาหารของแม่ครัวบ้านจวนหัวป่า ซึ่งนำโดยคุณหญิงโหมดภรรยาเจ้าเมืองพรหมบุรี อำแดงอึ่ง อำแดงสิน และชาวบ้านคนอื่นๆ

มีปรากฏในบันทึกของพระภาวนาวิสุทธิคุณ (สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี) ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องไม่ทางใดทางก็หนึ่งกับท้องถิ่นหัวป่า กล่าวถึงรับสั่งของพระองค์เอาไว้

"นี่แน่ะ แม่ครัวหัวป่า แม่ครัวทั้งหลาย ขออนุโมทนา ข้าพเจ้าขอบใจที่ทำอาหารอร่อย อาหารดี โปรดรักษารสอาหารอย่างนี้ไว้ถึงลูกหลาน..."

จึงเป็นเรื่องราวที่เล่าขานสืบเนื่องกันมา พวกชาวบ้านตำบลหัวป่านั้นทำอาหารอร่อยเป็นเลิศ และคำว่า “แม่ครัวหัวป่า” ก็ติดพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าหลวง จนลงไปจนถึงเมืองบางกอก เมื่อพระองค์เสวยพระกระยาหารที่มีรสชาติดีและทรงโปรดคราใด ก็มักตรัสชมเปรียบเทียบว่า “อร่อยอย่างกับ...แม่ครัวหัวป่า” เสมอมา

ปัจจุบันนี้ ลุกหลาน “ตำบลหัวป่า” พรหมบุรีก็พยายามสืบสานตำนานความอร่อยของ “แม่ครัวหัวป่า” กันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งผมจะเล่าถึงร้านอาหารของเมืองสิงห์บุรีสายเลือดแม่ครัวหัวป่าของแท้ในโอกาสต่อไป

คำว่า “หัวป่า” นั้น ก็ยังมีหลักฐานอื่นอีกคือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้แต่งตำรากับข้าว และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกให้ชื่อหนังสือว่า และเก่าที่สุด คือ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ.๑๒๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๑ ซึ่งเขียนคำว่า “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” แต่คำว่า "หัวป่า" เขียนเป็น "หัวป่าก์"

คำว่า ป่าก์ ก็มาจากภาษาบาลีว่า ปากะ หมายถึงการทำอาหารการกิน" ท่านผู้หญิงเองอธิบายเอาไว้ว่า (ตัวสะกดแบบต้นฉบับ)

“วิธีทำของรับประทานที่เข้าใจโดยสามัญว่า การหุงต้มทำกับเข้าของกินที่ฉันให้ชื่อตำรานี้ว่าแม่ครัวหัวป่าก์ คือ ปากะศิลปะคฤหะวิทยา ก็เปนสิ่งที่ว่าชี้ความสว่างในทางเจริญของชาติมนุษย์ ที่พ้นจากจารีตอันเปนป่าร้ายให้ถึงซึ่งความเปนสิทธิชาติที่มีจารีตความประพฤติ์อันเรียบร้อยหมดจดดีขึ้น....”

เมื่อท่านผู้อ่านพอเข้าใจเรื่องราวแล้ว ผมก็จะผูกเรื่องสำหรับละครไทยขึ้นมาในแนวย้อนยุคคล้าย‘แดจังกึม’ ตามที่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งด้านบันเทิง การให้ความรู้กับประชาชนเน้นเยาวชน สนใจในเรื่องการประกอบอาหารไทยที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งโบราณ ส่วนใครจะเอาพลอตเรื่องของผมไปทำละคร ขอย้ำว่าอย่าไปกลัวปากคนวิจารณ์ เพราะละครโทรทัศน์บ้านเราไทยที่เอาโครงมาจากฝรั่ง จีน หรือประเทศอื่นก็มีอยู่โทนโท่อย่างที่ผมบอก ก็ไม่เห็นมีใครบ่นว่าทุกข์ร้อนตรงไหนเลย

โครงเรื่องของผม มีอย่างนี้ครับ...

มจะกำหนดให้ตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง สมมติเป็นลูกหลานของอำแดงคนหนึ่งที่รับหน้าที่เป็นแม่ครัวในวันมหามงคลของชาวหัวป่า ในวันที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาเยือนตำบลหัวป่า และเสวยอาหรจากฝีมือชาวบ้านถิ่นนี้

แม่หนู(นางเอกของผม) เฝ้าดูยายทำกับข้าวจัดสำรับคับค้อนและเตรียมเครื่องเสวย
ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ตัวเธอคอยช่วยเหลือผู้ใหญ่ จึงได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยายของเธอทำอาหารมือเป็นระวิง แต่ปากก็พร่าสอนหลาน สั่งให้จดจำเคล็ดวิชาการประกอบอาหารต่างๆ จนเมื่อเติบโตขึ้นเธอจึงได้ซึมซับ รับการถ่ายทอดความรู้ในอาหารไทยโบราณมาจนหมดสิ้น

เด็กหญิงนางเอกคนนี้เติบโตขึ้นมากลายเป็นสาวสวยสะพรั่ง มีข้าราชการหนุ่มมหาดไทยมาตรวจราชการ ปรากฏว่าศรรักของสาวชาวหัวป่านางเอกแผลงปัง ปักฉึกลงที่ตรงหัวใจของหนุ่มบางกอก จนขอแต่งงานกับเธอ ปรากฏว่าคุณหญิงแม่ของฝ่ายชายได้มองหาหญิงอื่นไว้แล้ว แต่ทนอ้อนวอนลูกชายไม่ได้ ยอมให้แต่งเอาสะใภ้บ้านนอกเข้ามาในบ้านอย่างจำใจ

เมื่อแรกสะใภ้หัวป่าเริ่มทำอาหรให้คุณหญิงกิน แต่แม่ผัวก็ไม่ชอบ ผิดกับเจ้าคุณพ่อนั้นกลับโปรดปรานฝีมือของเธอ ในที่สุดเห็นว่าลูกสะใภ้คล่องแคล่วเก่งกาจในการบ้านการเรือนจริงๆ จึงส่งไปเป็นลูกศิษย์ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุญนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ)คนแรก ซึ่งท่านผู้หญิงได้เมตตาสั่งสอนถ่ายทอดทั้งวิชาอาหารไทย และอาหารต่างประเทศที่เรียกกันในตอนนั้นว่า “เครื่องฝรั่ง” เพิ่มเติม จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอาหารของเมืองไทย ต่อมาสามีรับราชการในตำแหน่งขึ้น เป็นใหญ่เป็นโตก็ได้มีโอกาสทำอาหารฝรั่งเลี้ยงพวกคนต่างชาติจนเป็นที่ร่ำลือ

ผูกเรื่องให้เปรี้ยวหวานเค็มมันอย่างไรก็ได้ ถ้าจะเอาน้ำตาท่วมก็เขียนให้แม่ผัวใจร้ายหน่อยๆ พยายามกดดันให้ผัวหนุ่มเมียสาวเขาเลิกกัน เรื่องนี้พวกนักเขียนบทเขาเก่งไม่ต้องแนะนำ ลากให้ยาวกว่า‘แดจังกึม’ ก็ยังได้ ไม่ต้องดูอะไรหรอกครับ เฉพาะเรื่องการตำน้ำพริก ท่านอาจารย์ พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านยังเขียนตำรับน้ำพริกออกมาตั้งร้อยอย่าง หาใครคิดจะทำเป็นละครเรื่อง “รสมือ-รสน้ำพริก” ก็ได้ตั้งร้อยตอนแล้วเจ้าค่ะ!

ใครสนใจจะทำก็เอาโครงร่างของผมนี้ไปได้เลย เป็นที่ปรึกษาให้ก็ยังได้ ไม่คิดค่าวิชาด้วย ผมเชื่อว่าทำออกมาแล้วคนไทยคงจะชอบ เพราะแฟนละครบ้านเรานั้นชอบเรื่องการทำอาหารอยู่แล้ว ยิ่งมีการสอดแทรกประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นของเก่าหรือของโบราณ คนยิ่งชอบ ใครทำก็จะช่วยเขียนเชียร์ให้อีกต่างหากด้วย อยากรู้เหมือนกันว่า ระหว่าง

‘แดจังกึม’ กับ ‘แม่ครัวป่า’ ท่านจะรักใครชอบใคร!?

ที่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงไอเดียที่เกิดจากการได้ดู‘แดจังกึม’ และในค่ำคืนวันที่มีแขกมาทานข้าวบ้านนั้น ผมก็ได้ทำอาหารเลี้ยงไม่กี่อย่าง หนักไปทางอาหารเนื้อหมักย่างกันแบบบาร์บีคิวแบบเกาหลี เดี๋ยวนี้สะดวกไม่ต้องติดเตาใหญ่ เพราะเขามีเครื่องย่างไร้ควัน ราคาก็ไม่แพงและคุภาพดี การทำนั้นจะเอร็ดอร่อยแค่นั้นไม่ทราบแต่อาหารก็หมด เหลือแต่ไวน์กับเหล้า จนกระทั่งนายตำรวจคู่สามีภริยาที่มาทานอาหารด้วยวันนั้น ดื่มเข้าไปหลายแก้ว จนกระทั่งก่อนกลับเขากระซิบอบอกผมว่า

“ผมต้องให้เมียขับรถกลับครับพี่” ....ยกขึ้นดื่มอีกแก้ว ก่อนจะพูดว่า

“พอขึ้นรถเมียผมเขาคงจะดุว่า ‘คุยกันเรื่อง‘แดจังกึม’ เธอก็กลาย เป็น
ดื่ม จัง แก แล้วนะ!’ ....แต่ก็สบายหน่อย ไม่ต้องขับรถกลับเองแล้วครับ”

เออดีไปอย่าง...เมาแล้วอย่าขับ!

พอส่งคุณ ดื่มจังแก เรียบร้อยแล้ว ระหว่างนั่งดื่มกันต่อ ลูกพี่ของผมก็เอื้อนเอ่ยขึ้นมาว่า “ถึงจะอยู่ไกลอย่างนี้ พี่ก็ไม่กล้าฝันถึงผู้หญิงอย่าง ‘แดจังกึม’ หรอก....”

“อ้าว ทำไมล่ะครับ?” ผมถามอย่างสงสัย


“แดจังกึม มีคนชอบมากแล้ว เราไม่คิดไม่ฝันไกลอย่างนั้น...” หยุดพูดนิดหนึ่งแล้วยิ้มอย่างมีเลศนัย ก่อนจะพูดต่อ

“อยากได้แค่อาจารย์นางเอกแดจังกึม คือนายหญิงฮันซังกุง มาอยู่ที่บ้านลำพูนด้วยกันนี้เท่านั้น ก็ลองดูซิ่...ผู้หญิงอะไรก็ไม่รู้...” ถอนหายใจนิด ตาเป็นประกาย แล้วพูดอธิบายให้จบ

“...อายุตั้งสี่สิบห้าแล้ว หน้ายังใสปิ๊ง ผิวนวลเนียนสวยเนี้ยบไปเลย แม้อายุจะเลยเลขสี่กับอีกครึ่งไปแล้ว พี่ก็ไม่รังเกียจ จะได้มาช่วยกันทำกับข้าวให้สนุก!”

แน่ะ...ดูพูดเข้า !!

ผมไม่ได้ทักท้วงอะไร เพียงแต่นึกเถียงกึกก้องอยู่ในใจ ว่า

“นึกว่าอยากได้คนเดียว หรือไงนะ!!!?”

...............................

ท้ายบท ท่านผู้อ่านที่มีลูกหลานเป็นนิสิตนักศึกษาจุฬา-ธรรมศาสตร์ ซึ่งพวกคนหนุ่มสาวเขาช่วยกันยกป้าย ในขบวนพาเหรดวันบอลประเพณีที่ผ่านมา ตามภาพที่เห็นนี้นั้น

กรุณาช่วยสอบถามพวกเขา แทนผมหน่อยเถอะครับ ว่า

‘ตระกูลแด*’ ของเหล่านิสิตนักศึกษานั้น มาจนจะถึงกลางปีสี่เก้านี่ คนในตระกูลนี้เขาช่วยกันรุม DAK ประเทศที่น่าสงสารของเรา หมดไปเท่าไหร่แล้ว?

หรือยังไม่หมด จนอดใจเว้นวรรคการ แด* ไม่ไหว จำต้องกลับมาจัดการต่อให้เกลี้ยง...

...ถามแล้วได้ความอย่างไร ช่วยกรุณาเล่าให้ฟังกันด้วย...ขอบคุณครับ !

กำลังโหลดความคิดเห็น