xs
xsm
sm
md
lg

อควาเรียม และไนท์ซาฟารี ฤาจะถอยหลังเข้าคลอง

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

กลับบ้านไปเยี่ยมเมืองไทยคราวนี้ ผมได้ไปเที่ยวอควาเรียมเปิดใหม่ที่สยามพารากอน และได้ยินข่าวหนาหูเกี่ยวกับไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ ได้เห็นได้ยินเรื่องเหล่านี้ก็ชวนให้ตัวเองระลึกความหลังเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก

เมื่ออายุ 16 ขวบ ผมได้ทำความฝันของผมให้เป็นจริง นั่นคือ การได้ทำงานในสวนสัตว์ จำได้ว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุด ชีวิตทั้งวันมีแต่รอยยิ้ม และความเบิกบาน ผมไม่เคยคิดว่าความฝันลมๆ แล้งๆ ที่อยู่ในใจจะเป็นจริงขึ้นมาได้

ขณะนั้น ผมเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในโรงเรียนประจำในอังกฤษ ช่วงเวลาคริสต์มาสก่อนปีใหม่เป็นเวลาที่เพื่อนๆ หยุดเรียน ต่างคนต่างกลับไปเฉลิมฉลองกับครอบครัวที่บ้าน ส่วนผมนั้นไม่ได้กลับบ้านเพราะตั้งใจจะอยู่ให้ครบหนึ่งปีเต็ม ครั้นจะไปขอพักอยู่กับเพื่อนเหมือนปิดเรียนครั้งที่ผ่านๆ มาก็ดูจะน่าเบื่อและเป็นการที่ทำตัวให้เป็นภาระของคนอื่นเกินไป ผมจึงนึกสนุก ลองเขียนจดหมายสมัครงานฉบับแรกในชีวิตส่งไปถึงสวนสัตว์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกล

สองอาทิตย์ต่อมา ผมได้รับจดหมายตอบกลับให้ไปสัมภาษณ์ ไม่นานก่อนโรงเรียนจะปิด ผมนั่งรถไฟเกือบสองชั่วโมงไปสัมภาษณ์งาน และผ่านการพิจารณาให้ทำงานเป็นเลี้ยงลิง ในโรงเลี้ยงใหม่ล่าสุดของสวนสัตว์ที่สร้างขึ้นบนหลักของการจัดการสวนสัตว์สมัยใหม่ ที่อาจพูดได้ว่าตั้งอยู่บนแนวคิดของการให้ “สัตว์” เป็น “ศูนย์กลาง”

โรงเลี้ยงลิงที่ผมว่าทันสมัยนิยมนั้น เขามีส่วนในอาคารกว้างใหญ่ กั้นระหว่างคนดูและสัตว์ด้วยกระจกแก้วโปร่ง ภายในที่เลี้ยงจัดสภาพแวดล้อมตามความต้องการของสัตว์นั้นๆ เช่น ลิงแมงมุมต้องการที่ห้อยโหนมาก ก็มีเชือกห้อยระโยงรยางค์ให้ลิงได้โผตัวไปมา หรือลิงจากเกาะสุลาเวสีซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่บนพื้น ก็มีลานโล่งให้ได้วิ่งเล่น และมีต้นไม้ให้ได้ปีนป่ายบ้างตามลิงสมัครใจ นอกจากนี้จากโรงเลี้ยงภายในอาคาร เขายังมีส่วนต่อไปยังนอกอาคาร ซึ่งจะเปิดให้ลิงได้ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในวันฟ้าใสและอากาศดี

ผมต้องตื่นแต่เช้าตรู่ และเดินเท้าราวหนึ่งกิโลเมตรจากบ้านพักที่เช่าในราคาถูกของสวนสัตว์ไปยังประตูทางเข้าสำหรับเจ้าหน้าที่ ฟ้ายังไม่สางดี ผมช่วยคนเลี้ยงทำความสะอาดที่เลี้ยงข้างใน โดยไล่ให้ลิงเข้าไปอยู่ในส่วนเฉพาะที่กันไม่ให้ลิงมาทำร้ายเราได้ขณะเข้าไปทำความสะอาด เราเดินเก็บอึ และทำความสะอาดกระจก พอสายหน่อยก็เตรียมอาหาร ซึ่งเป็นผลไม้นานาชนิดคละเคล้าผสมกับไปก่อนที่จะเอาไปให้สัตว์กิน ช่วงบ่ายเป็นช่วงที่ผมชอบที่สุด นั่นก็คือการหาของเล่นให้สัตว์ บางครั้งก็เอาหนอนใส่ไว้ในท่อนไม้ที่มีฝาปิดเปิดให้ลิงพยายามงัดแงะเอาหนอนโอชามากินให้ได้ บางครั้งเราก็เดินเอาน้ำผึ้งผสมถั่วลิสงไปหยอดไว้ตามรูของกิ่งไม้ เพื่อให้ลิงได้ใช้เวลาหาอาหารแสนอร่อย

กิจกรรมลิงๆ เหล่านี้ถือหัวใจของการจัดการสวนสัตว์สมัยใหม่ ที่มิได้เน้นแต่การมุ่งให้ความสำราญและความบันเทิงแก่มนุษย์แต่เพียงถ่ายเดียว หากเน้นเพิ่มพูนสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดีด้วย

ได้อ่านได้ฟังมาว่า การมีสวนสัตว์ในสมัยแรก (ย้อนไปได้ถึงยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ที่เน้นนำสัตว์ใหญ่แปลกตาจากอาณานิคมมาใส่กรงขังให้คนดู) นั้นถือว่าเป็นการจัดการเพื่อให้คนเป็นสุข สวนสัตว์เป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว พ่อแม่พาลูกๆ มาดูช้างม้าวัวควายแปลกตา แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังรอยยิ้มนั้นคือความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่หลังซี่กรง สัตว์หลายชนิดต้องตายไปภายในเวลาอันรวดเร็วทั้งจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เกิดโรคภัยไข้เจ็บง่าย ความเครียดจากการที่ต้องมาอยู่ในสถานที่คับแคบ หรือสภาพอากาศที่แตกต่างออกไป

ต่อมามนุษย์เริ่มคิดได้ว่าการจัดการแบบนี้รังแต่ความเสียหายให้กับธรรมชาติและเป็นผลร้ายต่อสัตว์ที่ถูกนำมากักขัง กอปรกับในขณะเดียวกันโลกเริ่มประสบปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าหลายแห่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นชุมชน ส่งผลให้สัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัย และสัตว์หลายชนิดยังต้องถูกล่าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ทั้งเพื่อเป็นอาหาร ยาจีน เครื่องประดับ หรือนำมาเลี้ยง และนำส่งสวนสัตว์ที่เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นทวีคูณในที่ต่างๆ ของโลก

เมื่อเริ่มมีปัญหา เจ้าของสวนสัตว์ นักอนุรักษ์ และนักสัตววิทยาทั้งหลายจึงเริ่มคิดได้ว่า บทบาทของสวนสัตว์ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่ สวนสัตว์ควรเป็นที่ให้ความรู้แก่สาธารณชนมากกว่าเป็นที่ให้ความบันเทิง ความรู้เหล่านี้ควรเป็นความรู้ที่สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และฉายให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ นอกจากนี้ สวนสัตว์ยังควรเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์นอกบ้านเกิด (ex-situ) ของมัน เพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ชนิดนั้นๆ ในธรรมชาติ อย่างน้อยสัตว์ชนิดนั้นก็ยังไม่สูญพันธุ์ และหากประสบความสำเร็จ สวนสัตว์ก็สามารถเพาะเลี้ยงและนำลูกหลานกลับไปปล่อยในธรรมชาติได้

สิ่งที่ผมเห็นในวัย 16 ขวบเมื่อผมได้มีโอกาสเป็นคนเลี้ยงในสวนสัตว์ ช่างแตกต่างกับสิ่งที่ผมเห็นและได้ยินในวัย 25 ปี ที่บ้านเกิดเมืองนอนของผมจริงๆ

ผมไปเที่ยวอควาเรียมที่สยามพารากอน ยินดีจ่ายเงินค่าเข้าชม 450 บาทโดยไม่อิดออด แต่พอเข้าไปแล้วกลับเห็นปลาป่วยปลาตายกันเกลื่อนกลาด ปลาวัวที่ผมเคยเห็นว่ายสง่างามใต้ท้องทะเลกลับเป็นปลาวัวที่พะงาบๆ อยู่บนผิวน้ำ ครีบปากเปื่อย ปลาใบมีดโกนที่โดยปกติมันหากินอยู่ระหว่างหนามของเม่นทะเล ถูกเพื่อนที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติกัดกินซากศพ ซึ่งดูแล้วน่าสมเพชเป็นอย่างยิ่ง

นี่เป็นสองตัวอย่างที่ผมขอเล่าแต่เพียงเท่านี้ เกรงว่าจะสร้างภาพพะอืดพะอมจนคนที่ยังไม่ไปเยี่ยมเปลี่ยนใจไม่ไป จนทำให้ยอดขายบัตรของเขาตกฮวบ

ได้อ่านข่าวมาว่าการอควาเรียมยักษใหญ่แห่งนี้ต้องเปิดเร็วกว่าปกติ แต่ทำไมหนออควาเรียมที่มีการคุยโวว่าได้รับการสนับสนุนด้านการจัดการจากอควาเรียมระดับโลกและมีเทคโนโลยีล้ำหน้าถึงมีปลาตายให้คนดู หากยังไม่พร้อมแล้ว ทำไมต้องรีบเปิดให้คนดู โดยเฉพาะเด็กเล็กและเยาวชนที่ต้องกลับบ้านด้วยความเข้าใจผิดๆ ทางด้านธรรมชาติวิทยาของปลาหลายชนิดที่ไม่ได้แสดงพฤติกรรรมอย่างที่มันเป็นในท้องทะเล

ที่หน้าตู้ปลาวัว (ป่วย) ผมได้ยินคุณแม่ยังสาวชี้ชวนให้ลูกน้อยของเธอดูปลาวัวพร้อมกับเอ่ยในท่วงทีว่า “ดูสิลูก มาดูปลาวัวมันกอดกันกลมเชียว” คุณแม่ชี้ให้ดูกลุ่มปลาวัวที่กระจุกกันอยู่ที่ผิวน้ำ ซึ่งหารู้ไม่ว่านี่คืออาการของปลาที่ไม่สบาย และหวาดกลัว

นักเลี้ยงปลาทะเลทุกคนรู้ว่า การที่จะนำมาปลามาเลี้ยงนั้นต้องให้เวลาตู้เลี้ยงในการสร้างความสมดุล มีแบคทีเรียคอยจำกัดของเสียจากปลา และให้สภาพน้ำมีความคงที่เสียก่อนที่จะปล่อยปลาลงไป นี่เป็นความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของคนที่เคยเลี้ยงปลา แต่เพราะเหตุอันใดอควาเรียมแห่งนี้ถึงมองข้ามความจริงข้อนี้ไปอย่างทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

ผมไม่ได้เป็นกังวลว่าทางอควาเรียมจะต้องเสียเงินซื้อปลาใหม่เพื่อทดแทนปลาที่ตายไป ม้าน้ำมังกรที่ตายยกตู้นั้นคงมีราคาค่างวดแพงหูฉี่ แต่ที่เป็นห่วงเป็นพิเศษนั่นก็คือ มีใครตระหนักบ้างไหมหนอว่าปลาเหล่านี้ล้วนถูกจับมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น มีปลาทะเลน้อยชนิดมากที่สามารถได้รับการเพาะพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง ยิ่งปลาตายมาก ก็ยิ่งรบกวนธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว ผมยังได้ฟังเพื่อนจากกลุ่มนักเลี้ยงปลาทะเลชั้นครูที่มีใจด้านอนุรักษ์ที่รวมตัวเสวนากันบนกระดานข่าวอินเตอร์เน็ตที่ www.thaireef.com เล่าว่าป้ายบอกชื่อชนิดปลาที่หลายๆ ตู้ ยังไม่ตรงกับปลาที่แสดงอยู่ ส่วนใหญ่เป็นการบอกชื่อชนิด (species) ที่คล้ายคลึงกันผิด แต่ในเมื่อเป็นอควาเรียมระดับโลกแล้ว ก็ควรจะเป็นอควาเรียมสำหรับคนทุกระดับความรู้ มิใช่ให้คนที่พอมีความรู้บ้างจะต้องผิดหวังกับข้อมูลผิดๆ ที่เขาสามารถสังเกตุได้ไม่ยาก อีกทั้งข้อมูลที่ป้ายให้ความรู้ ก็ควรจะมีสารัตถะในเรื่องการให้ความรู้ในทางธรรมชาติวิทยา พร้อมไปกับแหล่งกระจายพันธุ์ รวมถึงข้อมูลด้านการอนุรักษ์ที่ลึกซึ้งไปกว่านี้ เท่าที่เห็นอยู่ มีแต่ข้อมูลพื้นๆ บอกชื่อปลาที่อยู่ในตู้ และเล่าเรื่องเกี่ยวกับปลาชนิดนั้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

ส่วนเรื่องไนท์ซาฟารีนั้น ผมได้แต่เพียงอ่านข่าว และไม่ได้รู้และเห็นด้วยตาตัวเอง เพียงอยากแต่ให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักว่า การจัดการสวนสัตว์นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่ว่ามีที่ทางแล้วจะนำสัตว์ไปปล่อยเพียงเท่านั้น ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ย่อมมีสัตว์และพืชชนิดอื่นอาศัยอยู่แต่ก่อนแต่ไร หากนำสัตว์ต่างถิ่น (รวมทั้งพืชที่จะนำไปปลูกเพื่อการจัดภูมิสถาปัตย์) เข้าไป ก็ย่อมมีผลต่อความเป็นไปของสัตว์และพืชท้องถิ่นด้วยไม่มากก็น้อย

การจัดให้มีส่วนศึกษาและวิจัยอย่างจริงจัง ที่ไม่จัดเพื่อให้ดูดีเท่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ในเมืองนอก สวนสัตว์และอควาเรียมมักมีสถาบันศึกษาและวิจัยเป็นของตัวเอง แม้จะเป็นสถานที่เอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก สถาบันเหล่านี้มักมีบุคลากรที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และความสามารถ มีทุนเพียงพอ ทำให้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ นั่นหมายถึงการคงอยู่ของสัตว์ต่างๆ ในป่าต่างๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น อควาเรียมยักษ์ใหญ่ที่เมืองมอนทาเร่ในรัฐคาลิฟอร์เนีย เขาเป็นอควาเรียมเอกชนที่มีศูนย์ศึกษาวิจัยที่เป็นที่น่ายกย่อง เขาลงทุนถึงขนาดมีเรือดำน้ำเพื่อการศึกษาวิจัยปลาใต้ท้องทะเลของตัวเอง

ผมยังคิดเล่นๆ ว่า หากรัฐบาลจะนำเอาเงินทุนที่เสียไปในการเตรียมการจัดตั้งไนท์ซาฟารีมาให้องค์การสวนสัตว์เพื่อพัฒนาสวนสัตว์ในความรับผิดชอบ ทั้งในเรื่องการจัดแสดงสัตว์ และการจัดตั้งสถาบันศึกษาและวิจัยที่เป็นเอกเทศ มีงบประมาณเพียงพอ ก็จะเป็นความหวังต่อความเป็นไปของสวนสัตว์ในประเทศไทยอย่างยิ่ง ซึ่งนั่นย่อมส่งประโยชน์ต่อการสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการดำรงอยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสม

ผมรู้ดีว่าทั้งอควาเรียมและไนท์ซาฟารีนั้นจัดการอยู่บนพื้นฐานของการแสดงหากำไร เป็นเรื่องของเอกชน แต่ในเมื่อสินค้าที่เขานำมาขายให้คนดูนั้นเป็นสินค้าที่มีต้นทุนมาจากธรรมชาติ อย่างน้อยในฐานะคนที่อาศัยอยู่อย่างเท่าเทียมกับบนโลกที่ดี การคิดถึงต้นทุนและผลกระทบต่อธรรมชาติในข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมไม่ใช่หรือ

ไม่ขอพูดอะไรมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมด ผมเริ่มคิดได้ตั้งแต่อายุ 16 ขวบแล้ว ขออนุญาตเล่าด้วยความจริงใจว่าไม่ได้มีเจตนาจะคุยโวโอ้อวดตัวเอง เพียงแค่นึกสงสัยว่าเรื่องพื้นๆ เกี่ยวกับการจัดการสวนสัตว์ และอควาเรียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ และธรรมชาตินานาสัตว์ ทำไมหนอผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงานใหญ่โต มีเงินล้นมือ มีอำนาจล้นเหลือ ถึงคิดไม่ได้แม้แต่เสี้ยวหนึ่งสักที
กำลังโหลดความคิดเห็น