เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ก่อนเขียนต้นฉบับ เอาซีดีเพลงสุนทราภรณ์ที่เขาให้มาเปิดฟัง ก็ทำให้นึกถึงความหลัง ซึ่งอยากเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังกันในวันนี้
เพลงสุนทราภรณ์นั้น ผมมาคุ้นหูเอามากๆเมื่อตอนเป็นนักเรียนนายร้อย หลังจากเลิกเรียนในห้องตอนบ่ายสามโมง นักเรียนจะต้องกลับกองร้อย ซึ่งจะเปิดวิทยุที่หัวโรงนอนเหมือนกันทุกอาคารที่พัก ก่อนที่จะเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเพื่อการฝึกหรือกีฬา ช่วงเวลานั้นมีการส่งกระจายเสียงรายการเพลงของคณะสุนทราภรณ์ทุกวัน จนทำให้นักเรียนรู้จักเพลงของวงดนตรีอันเลื่องชื่อนี้หลายต่อหลายเพลง เพราะฟังติดต่อยาวนานมาหลายปีจนจบการศึกษา
ทุกๆปีในงานวันตำรวจ และคืนฉลองกระบี่ของนายตำรวจใหม่วันที่สำเร็จการศึกษาที่ ก็ไม่เคยใช้วงดนตรีอื่นใด นอกจากวงสุนทราภรณ์ แถมครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านยังเป็นอาจารย์สอนดนตรีของโรงเรียนด้วย แต่ไม่มีวงเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนกับสมัยปัจจุบัน เหตุที่ไม่สามารถรวบรวมเป็นวงดนตรีได้ ก็เพราะว่าหานักเรียนนายร้อยที่มีพื้นฐานทางดนตรีได้ยากในสมัยนั้น และเครื่องดนตรีก็ไม่สมบูรณ์ นักเรียนปีหนึ่งอย่าหวังว่าจะได้เรียน เพราะงานหนักตลอดปี และเหนื่อยจนไม่อยากจะคิดถึงอะไร ปีอื่นๆก็ใช่จะไม่มีกิจกรรม เรื่องดนตรีเลยไม่มี
อย่างไรก็ตาม ผมมีโอกาสเล่นเครื่องดนตรีที่ถนัดให้ครูเอื้อท่านฟัง และคุยกับท่านเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ ซึ่งท่านก็กรุณาให้ความรู้เรื่องดนตรี และเล่าประสบการณ์ของท่าน ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสทองของชีวิต ที่ได้อยู่ใกล้ชิดอาจารย์ดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยสองต่อสองเป็นเวลากว่าชั่วโมง แม้เวลาผ่านมานานไม่เคยลืมเลือน และในชีวิตก็เคยร้องเพลงกับวงดนตรีสุนทราภรณ์รวมทั้งออกโทรทัศน์ด้วย
ดนตรีคณะสุนทราภรณ์นั้น จับใจผู้คนในประเทศมาเป็นเวลายาวนาน แม้ในปัจจุบันวงดนตรีนี้ยังคงมีอยู่ ควบคู่กันไปกับดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ แต่เรื่องที่น่าแปลกคือ มีข่าวกรณีพิพาทกันเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ฟังว่าเป็นของครูในฐานะนักแต่งเพลง หรือเพลงนั้นแต่งตามหน้าที่ระหว่างที่ท่านข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ผมเองไม่ค่อยรู้ในเรื่องคดีความที่ดำเนินการ แต่ถึงจะเป็นลิขสิทธิ์ของใครก็ตามที คนไทยเราก็โชคดีที่ยังมีเพลงของครูเอื้อ สุนทรสนาน ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ ซึ่งเมื่อได้ฟังก็เปรียบเสมือนของวิเศษ เป็นโอสถทิพย์ที่ชโลมจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน
ได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังใน กาแฟขม...ขนมหวาน ตอนที่ ๒๑๑ “โอ้แม่ฝรั่งข้างรั้ว แม่สุกคาขั้วคอยใคร !” (จากคอนเสิร์ตนายใหญ่ นภายน คนรวยเพื่อน) ได้พบคุณเรณู พิบูลย์ภานุวัฒน์ ภมรมนตรี มารดาของคุณแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ท่านกระซิบกับผมว่า ปีหน้าอายุของท่านจะแปดสิบแล้ว แต่ผมเห็นคุณเรณูฯท่านยังสดใสสวยงามสมวัยเหมือนเดิม ไม่ได้ทิ้งความงามระดับรองนางสาวไทยเก่าแต่อย่างใด
คุณเรณูคนนี้แหละครับ ที่ความสวยจนคนลือ และมีผู้แต่งเพลงให้ ชื่อเพลง “เรณูดอกฟ้า” ซึ่งผมได้บอกว่าจะเขียนถึงเพลงนี้ในโอกาสต่อไป เลยเอามาเล่าให้ฟังกันในวันนี้
คุณเรณู ภมรมนตรี นั้นนามสกุลเดิมคือ “พิบูลย์ภานุวัฒน์” สมรสกับ พลโท ประยูร ภมรมนตรี อดีตรัฐมนตรีถึง ๕ กระทรวง คุณเรณูฯเป็นนักเรียนราชินีรุ่นอาวุโส เมื่อมีการประกวดนางสาวไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คุณเรณูได้เข้าประกวด และได้ตำแหน่งรองนางสาวไทยใบหน้าท่านคมเข้ม เรือนร่างท่านสูงใหญ่เหมือนฝรั่ง และผิวขาวงดงาม เป็นที่จับใจของผู้คน กระทั่งครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งเพลง “เรณูดอกฟ้า” โดยมีครูแก้ว อัจฉริยะกุล เขียนคำร้อง เนื้อร้องก็ไพเราะ
เรณู กลิ่นเจ้าชื่นชูอยู่เหนือกลิ่นใด
ดอกเจ้าคงสวยงามวิไล กลิ่นเจ้าเร้าใจให้ชื่นเอย
รื่นรมย์ ได้ชื่นได้ชมเมื่อลมรำเพย
เรณูดอกฟ้าหอมนักเอย ชวนชิดชื่นเชยกลิ่นเจ้าเอยเหลือข่ม
เรณูดอกฟ้า ชื่นหนักหนาคราล่องลอยลม
ลมหวนชวนให้ตรม สิ้นกลิ่นดมขื่นขมตรมอาจินต์
เรณูเจ้าเอ๋ย กลิ่นเจ้าเปิดเผยเชยสู่พื้นดิน
โอถ่อมตรงใจไม่ห่วงประทิน เป็นบุญแก่ดินอกใจถวิลอาวรณ์
เพลงนี้เดิม คุณมัณฑนา โมรากุล ท่านร้องเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ต่อมา คุณศรวณี โพธิเทศ ได้มาร้องอัดเสียงอีกครั้ง ของเดิมนั้นจังหวะช้าหน่อย แต่เวลาเล่นสำหรับงานลีลาศเปลี่ยนจังหวะเป็นแทงโก ก็เต้นรำได้เยื้องย่างตามลีลาของละตินอันร้อนแรง สะบัดหน้ากันพึ่บๆพั่บๆ สนุกดีจริงๆ
ตอนเป็นหนุ่มๆชอบนักเรื่องเต้นรำจังหวะแทงโก ลงแข่งก็หลายครั้ง เมื่อไม่กี่วันยังมีโอกาสไปวาดลวดลายเก่ากับเขาเหมือนกัน แต่เต้นมากๆไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเองไม่ไหว แต่สาวที่เป็นคู่เต้นเธอจะพาลเป็นลมเอา ทั้งๆที่อายุยังไม่ถึงสามสิบห้าด้วยซ้ำ
สาวๆสมัยนี้ดูเหมือนสุขภาพไม่ค่อยดีเหมือนสตรีรุ่นเก่า ที่บึกบึนและทรหดกว่านี้มาก เต้นกันครึ่งค่อนคืน ก็ยังมีเรี่ยวแรงไปเล่นตี่จับต่อกันได้สบายบรื๋อ หรือจะเป็นเพราะคุณสุภาพสตรียุคนี้จะกินจั๊งค์ฟูดส์กันมากไปก็ไม่ทราบ เลยไม่สู้จะแข็งแรงกันนัก เต้นกันพักเดียวทำท่าจะหงายผลึ่ง ล้มแผละ กันเสียแล้ว ประหลาดจริงๆเชียว !
คำว่า ‘ดอกฟ้า’ นั้นมาจากไหนกัน ?
ลองสืบค้นดูก็เห็นว่า ที่มาที่ไปชัดเจนนั้น เห็นจากโคลงของมหากวีศรีปราชญ์ ในสมัยอยุธยา โคลงนี้มีว่า
อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีย์ลอออินทร์ ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม
อยุธยายศโยกฟ้า ฝากดิน
ฝากดินพิภพเดียว ดอกฟ้า
แสนโกฏิบ่ยลยิน อยากเยื่อ
ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า หลากสวรรค์ฯ
ไพเราะมากเหลือเกิน !...แล้วคำว่า ดอกฟ้า แปลว่าอะไรกันแน่ ?
เมื่อตรวจดูในพจนานุกรมราชบัณฑิตแล้ว ให้ได้อธิบายคำว่า “ดอกฟ้า” หมายถึงหญิงที่ถือว่ามีฐานะที่สูงศักดิ์กว่าชายที่หมายปอง
เมื่อผมยังเป็นเด็กคนไทยรู้จักคำนี้กันดีเมื่อ เพราะมีข่าวเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต โรส (Her Royal Highness Princess Margaret VC.) พระขนิษฐาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ แห่งอังกฤษและเกรทบริเตน ซึ่งทรงมีพระสิริโฉมงดงามอย่างมากในวัยแรกรุ่น จนคนไทยให้ฉายาพระองค์ว่า “ดอกฟ้า มาร์กาเร็ต”เมื่อยังทรงอยู่ในวัยรุ่น ร่าเริงสดใส ทรงรักอิสระเสรี เจ้า หญิงมาร์กาเร็ตทรงสนพระทัยในด้าน ศิลปะและแฟชั่นอย่างมาก
เจ้าฟ้าชายชาลส์ ทรงรับสั่งภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมาตุจฉาว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่าเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงเล่นเปียโนได้อย่างยอดเยี่ยม และทรงขับร้องเพลงได้อย่างไพเราะดั่งเทพธิดา พระองค์ทรงเป็นคนรักศิลปะ โปรดดนตรี เต้นรำ ทรงมีชีวิตรักสนุก ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างพระอิสริยยศ กับความรักอิสระของพระองค์
ทรงพบรักครั้งแรกกับร้อยเอกปีเตอร์ ทาวน์เซนต์ นายทหารอากาศ แต่พระราชประเพณีนั้นทำให้ความรักของทั้งคู่ กลายเป็นรักต้องห้าม เพราะนายทหารอากาศที่รูปหล่อและคุณสมบัติดีเลิศนั้น มีข้อบกพร่องตรงที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นอย่างมาก เป็นที่วิจารณ์กันกว้างขวาง ไม่เฉพาะในประเทศอังกฤษแม้แต่เมืองไทยผมก็ได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงกันมากในตอนนั้น จนเป็นเรื่องที่จำติดมาจนทุกวันนี้
เจ้าหญิง “ดอกฟ้า มาร์กาเร็ต” ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ “แอนโทนี่ อาร์สตอง โจนส์” ช่างภาพของราชสำนัก ทรงมีพระโอรสและพระธิดาสองพระองค์ และได้ทรงหย่าขาดพระสวามี
พระพลานามัยของเจ้าหญิงไม่สู้ดี ทรงเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง และสิ้นพระชนม์อย่างสงบในเวลาต่อมา สิริพระชนมายุ ๗๑ ชันษา โดยมีพระโอรสและพระธิดาเฝ้าดูพระอาการประชวรของพระมารดาจนวาระสุดท้าย
สำหรับเมืองไทยนั้น เรื่องของดอกฟ้ามาโด่งดังเอาแต่ไม่เหมือนกันกับเมืองผู้ดี เพราะของบ้านเรานั้น เป็นเรื่องของนวนิยายที่ประพันธ์โดย คุณกัณหา เคียงศิริ (สกุลเดิม วรรธนะภัฏ) มีนามปากกาว่า “ก.สุรางคนางค์”คือเรื่อง “ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง” ซึ่งท่านผู้ประพันธ์เขียนขึ้นภายหลังจากที่มีข่าว “ดอกฟ้า-มาร์กาเร็ต” กระแสของเจ้าหญิงอาจมีส่วนช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้โด่งดังขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องของสตรีที่มีเลือดสีน้ำเงิน มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศ์หญิง ชื่อหม่อมราชวงศ์หญิง แสงระวี ซึ่งผู้ประพันธ์สมมติเอาว่า เธอเป็นดอกฟ้าแห่งราชสกุลทิวากร
คุณหญิงเธอรักษาเกียรติและคุณงามความดี เพื่อวงศ์ตระกูลอันสูงศักดิ์ดุจดั่งหงส์ แต่เพียงรอยจุมพิตแค่ครั้งเดียว ทำให้เธอหล่นปุลงไปในหลุมรักของชายหนุ่มผู้ต่ำต้อย คือนายโดม ซึ่งนามสกุลไม่มีใครรู้จักคือ “ภาสกรณ์”
ไม่น่าเชื่อจริงๆว่า เพียงแค่ only one kiss ทำให้คุณหญิงต้องละตระกูลหงส์ลงไปสู่ตระกูลกา มันช่างเป็น ‘จูบมหัศจรรย์’ จริงๆ และทำให้โดม ภาสกรณ์ ซึ่งเป็นแค่ชายผู้จองหองคนหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถทำให้ชีวิตของสาวตระกูลสูง ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ต้องพลัดพรากวัง ‘ทิวาเวศม์’ สู่เรือนหอหลังน้อยๆ ซึ่งชีวิตอาจจะดีขึ้นหรือต่ำต้อย หรืออาจต้องเป็นยาจกยากจน หรือมั่งมีศรีสุขในเบื้องหน้าเป็นอย่างไรนั้น เธอก็หาญกล้าพอที่จะเผชิญอย่างองอาจ แบบเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นกันไม่หวาดหวั่น
ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีเคยเป็น ไปสู่อ้อมแขนอันอบอุ่นของโดม ภาสกรณ์ ผู้ซึ่งเป็นชายหนุ่มไร้หัวนอนปลายเท้า แต่บังอาจจูบคุณหญิงไปแล้ว ทำให้ตัวเองต้องรับผิดชอบ ต่อการกระทำที่กริยาจองหองพองขนและถือดีของเขา ไปตลอดชีวิตทั้งชีวิตด้วย
กระแสของดอกฟ้าและโดมผู้จองหองในยุคนั้นร้อนแรงมาก ทำให้ผู้คนกล่าวขวัญกันทั้งเมือง และวลีที่ว่า “ดอกฟ้ากับหมาวัด” ก็ปรากฏขึ้นตามนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนและการเปรียบเทียบประชดประชันของคนไทย
“ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง” เป็นนิยายที่ได้มีการสร้างเป็นทั้งละคร และภาพยนตร์ ครั้นมาถึงยุคโทรทัศน์ ก็กลายมาเป็นละครทางจอแก้วอีก และเชื่อว่าอีกไม่นานช้าก็ต้องกลับมาสร้างใหม่ เพราะเมืองไทยนั้น บทประพันธ์เรื่องยาวดีๆหาไม่ง่าย นิยายเก่าจึงถูกสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกวนไปวนมาน่าเบื่อไม่น้อย หรืออาจเป็นเพราะบทประพันธ์ยุคหลังๆ ไม่จับใจผู้คนหรืออย่างไรไม่ทราบได้
ตอนนี้ “ในฝัน” ก็กลับมาอีก แม้เพลงในละครครั้งนี้จะฟังพอใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้ดีกว่าที่มีคนร้องและทำดนตรีไว้ในครั้งอดีตอีกหลายเวอร์ชั่น การสร้างครั้งนี้ภาพรวมๆที่ออกมา ไม่ยักยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะดึงดูดผู้คนให้สนใจได้มาก ถึงแม้จะทุ่มทุนมหาศาลบานตะไท เพราะผมดูแล้วเห็นว่าห่างไกลจากความแนบเนียนเป็นธรรมชาติ มีความรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังนั่งดูละครชาตรีหัดใหม่ ช่างแห้งแล้งและไร้เสน่หา อย่างสิ้นเชิง !
กระแสความนิยมจึงไม่ได้เศษเสี้ยวของ “แดจังกึม” อย่างเทียบกันไม่ได้ เรียกว่าแพ้กันหลุดลุ่ย !!
เรื่องของดอกฟ้านั้น ยังไม่หมดแค่เรื่องดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง เพราะในเรื่องดรรชนีนางของอิงอร ก็มีเพลงชื่อ “เดือนต่ำดาวตก” ซึ่งเป็นเพลงที่ “ป๋าเปรม” ท่านโปรดมากและร้องเพลงนี้ออกงานหลายครั้ง เพลงมีคำว่าดอกฟ้ารวมอยู่ด้วย เนื้อเป็นอย่างนี้ครับ
เดือนต่ำดาวตกวิหคร้อง เหมือนเสียงน้องครวญคร่ำร่ำเฉลย
สารภีโชยกลิ่นเรณูเชย เหมือนพี่เคยจูบเกศแก้วกานดา
หอมระรวยชวนชื่นระรื่นจิต ถวิลคิดครั้งเมื่อขนิษฐา
สละศักดิ์ฐานันดรดวงดอกฟ้า ต้องหนีหน้าวงศ์ญาติมาด้วยกัน
ณ เวิ้งอ่าวชายฝั่ง ณ ที่นี้ น้องช่วยพี่สร้างห้องหอสวรรค์
กระท่อมน้อยคอยเตือนเรือนผูกพัน ระลึกวันขวัญสวาทอนาถรัก
พระเอกในเรื่อง ดรรชนีนาง นั้น เป็นนายทหารเรือผู้ดีมีตระกูล มีหญิงสูงศักดิ์และหมายปองอยู่ในใจ กลับมารักกับนางเอก ซึ่งเป็นเพียงหญิงบ้านนอก ไม่ได้เป็นหญิงผู้สูงศักดิ์ แต่น่ากลัวเพราะใจถึงนัก (ตามสายตาของผม)
ทำไมจะไม่กลัวเล่า? เธอเล่นตัดนิ้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้พระเอก ตอนเขาทิ้งเธอเพื่อไปหาหญิงผู้สูงศักดิ์ หากตัวเองมีนางเอกใจเด็ดแบบนี้ในบ้านเดียวกัน และจำเป็นต้องอยู่กินด้วยกันกับหล่อน อย่างที่ไม่มีทางจะขยับขยายไปไหนได้ เห็นทีจะต้องเก็บมีดและกรรไกรให้พ้นสายตาเธอ และ...
ยามจะเข้านิทรา ใส่ไม่ได้แล้วชุดนอนน่ะ ต้องนุ่งกางเกงยีนส์ฟิตๆ และนอนคว่ำหน้าทุกคืน เป็นแน่แท้ !
เพลงที่มีคำว่าดอกฟ้าและสนุกสนานที่สุดของสุนทราภรณ์ ผมว่าน่าจะเป็น ช่อมาลี-ยวนย่าเหล่ เพราะร้องเพลงนี้ตอนพวกหนุ่มๆสมัยก่อนกินเหล้าแล้วร้องแซวสาวๆ ทั้งเนื้อร้องและทำนองฟังแล้วเข้าท่าดีจัง เขาขึ้นว่า
ช่อมาลีคนดีของพี่ก็มา
สวยจริงหนาสุดาแก้มแดง สวยจริงหนาสุดาแก้มแดง
โอ้จันทร์ไปไหนทำไมจึงไม่ส่องแสง
เดือนมาแฝงแสงสว่างเมฆน้อยลอยมา เมฆน้อยลอยมา
ดอกฟ้าจะร่วงพวงพยอมโรยลา
ดอกฟ้าจะโรยเมื่อลมโชยมาถลาลงดิน
เหมือนรักเราสิ้นไม่มีเยื่อใย
ดอกฟ้าพลัดถิ่นเคยส่งกลิ่นหอมสลักตรึงใจ
ยังไม่ทันไรก็ร่วงโรยลา
ยวนย่าเหล ยวนย่าเหล หัวใจว้าเหว่ไม่รู้จะเหไปหาใคร
จะซื้อเปลญวนที่ด้ายหย่อนๆ
จะเอาดอกฟ้านอน...ไกวเช้า...ไกวเย็น
เพลงนี้ร้องทีไรก็สนุกเมื่อนั้น และครูเอื้อท่านยังไม่ได้ลาจากวงการบ้านเราไปไหน ผมรับรองได้ว่า
ระยะนี้ ทุกเย็นวันศุกร์ที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี เอื้อ สุนทรสนาน ท่านยังยืนถือคันชักไวโอลินแทนไม้บาตอง ให้จังหวะพี่น้องประชาชน ที่มาร่วมกันร้องเพลงมิได้ขาดดังที่ท่านผู้อ่านเห็นจากภาพประกอบ (ดูภาพแล้วกรุณาร้อง....เอ้ายวนย่าเหล ยวนย่าเหล หัวใจว้าเหว่ไม่รู้จะเหไปหาใคร... ไปด้วยจะได้อารมณ์และความครึกครื้นมากทีเดียว)
ท่านผู้อ่านที่ชอบการขับร้อง และรักเสียงเพลงของสุนทราภรณ์ สามารถไปร่วมร้องเพลงกับ ‘คุณสนธิและคุณสโรชา’ ได้ทุกสัปดาห์ครับ !
สำหรับเรื่องดอกฟ้าและโดมผู้จองหองนั้น คำพูดของพระเอกนั้นประทับคุณผู้หญิงที่อ่านหนังสือ เพราะถ้อยคำที่หนุ่มโดมกล่าวนั้น ฟังดูแล้วอบอุ่นดีเหลือกำลังในความเห็นของสตรีเพศ เช่น
ตอนที่คุณหญิงดอกฟ้าจะยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยมีเคยเป็น ไปสู่อ้อมแขนอันอบอุ่นของอีตาโดมจองหอง และร่วมหอลงโรงด้วยกัน เขาก็กล่าวถ้อยคำหวานสนิทว่า
“คุณจะไม่ต้องสะอื้นด้วยความทุกข์ ผมสัญญา คุณจะอบอุ่นและปลอดภัยในอ้อมแขนของผม”
เป็นสัญญาของลูกผู้ชายที่ฟังแล้วขึงขังดีแท้ ดูช่างเย่อหยิ่งจองหองในศักดิ์ศรีของตนเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งคงประทับใจสาวๆสมัยนั้น และผมก็คิดว่าคำพูดของนางเอกคือ หม่อมราชวงศ์หญิง แสงระวี ที่เธอแสดงการบูชาคุณค่าของความรัก ยิ่งกว่าเงินตรามากมายนัก คงโดนใจสาวน้อยสาวใหญ่ยุคนั้นเข้าไปเต็มๆ อีกเหมือนกัน เพราะคุณหญิงเธอพูดประโยคที่คงติดตรึงหัวใจสาวๆสมัยโน้น ว่า
“เงินเป็นสิ่งที่ฉันเลือกหลังสุด ถ้าความรักความพอใจยังมีอยู่ในโลกตราบใด เงินต้องเป็นสิ่งสุดท้าย”
สำหรับตัวคนเขียนเองคิดว่า ถ้าบังเอิญคุณหญิงมาพูดให้ได้ยินในตอนนี้ คงต้องแย้งเธอไปหน่อย ว่า
“คุณหญิงเจ้าขา ที่พูดมาน่ะ ผิดแล้วนะเจ้าคะ เพราะอินเทรนด์นั้น ไม่ว่าตอนนี้หรือ
ยุคไหน ผู้หญิงก็ต้องการแต่งงานกับคนมีกะตังค์กันทั้งนั้นล่ะ เจ้าค่ะ....
..ถึงจะเป็นดอกที่อยู่บนฟ้า แต่ถ้าหมาวัดกระเป๋ามันตุง มีเงินเต็มถุงเต็มถัง ดอกฟ้าก็ลอยหล่นปุลงมาหา นักต่อนักแล้วนะ เจ้าคะ”
และคงต้องขยายความ แถมต่ออีกสักนิด ว่า
“...สมัยนี้น่ะ ไม่ว่าจะเป็น ‘ดอกฟ้าหรือดอกหญ้าริมทาง’ ก็ไม่ห่างชั้นกันแล้ว
เจ้าค่ะ...
...คุณหญิง...เจ้าขา!”