xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

หมู่นี้ ผมมักจะประหยัดค่าอาหารการกินได้มาก โดยเฉพาะเมื่อเจ้ามิซูวากิ เพื่อนสนิทที่สุดชาวญี่ปุ่น-อเมริกันทำงานเป็นคนเฝ้าห้องคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาต้องขลุกตัวอยู่ที่โรงเรียนนานขึ้นผิดกับปีก่อน ตานี่มักจะหูตากว้างขวางมองหาป้ายประกาศกิจกรรมเสวนาที่มีอาหารเย็นให้กินฟรี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยแทบทุกวันที่โรงเรียน เมื่อเสาะหาข้อมูลมาได้ เขาก็จะชวนผมไปยินดีกับลาภปากที่ลอยมาเสมอ อาหารส่วนใหญ่มักเป็นพิซซ่าถาดโต หรือไม่ก็แซนวิชชิ้นใหญ่ แทบทุกครั้งจะมีเบียร์ ไวน์ และน้ำอัดลมน้ำผลไม้นานาชนิดเสิร์ฟพร้อมสรรพ

วันนี้ผมมีเรียนทั้งวัน ตามิซูวากิฝากข้อความเสียงไว้ในโทรศัพท์บอกให้โทรกลับโดยเร็ว เมื่อเลิกเรียนผมโทรกลับไปแล้วก็ได้ความว่า เย็นนี้สโมสรนักเรียนเขาจะจัดให้คณบดี (Dean) มาพบถกปัญหาและตอบข้อสงสัยข้อข้องใจเกี่ยวกับความเป็นไปของโรงเรียน มิซูวากิชวนเชื่อว่าน่าจะสนุก เพราะเพื่อนๆ จะไประบายความอัดอั้นตันใจกัน เพื่อนคนหนึ่งถึงกับลางานเฝ้าห้องคอมพิวเตอร์เพื่อมาโวยผู้บริหารโดยเฉพาะ เราคงจะมีเรื่องให้หัวเราะกันได้พอควร

ความตะกละไม่เข้าใครออกใครจริงๆ โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในสภาพหิวโซและต้องรัดเข็มขัดติ้วเช่นนี้ สองเท้าของเราพร้อมกระเป๋าเป้ห้อยที่สองบ่าพร้อมใจกันมุ่งหน้าสู่ชั้นสูงสุดของตึกเรียน อันเป็นสถานที่จัดกิจกรรมกินอิ่มได้เฮฮาที่ตามิซูวากิเอ่ยชวน

หลังอิ่มหนำสำราญไปกับแซนวิชและสลัดหัวมัน พร้อมน้ำอัดลมเย็นชื่นใจ เราตัดสินใจอยู่ฟังการพูดคุยกันของคณบดีและนักเรียนที่จัดขึ้นอีกปีหนึ่ง กิจกรรมในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนมาก คนมาฟังกันเต็มห้อง ประมาณโดยสายตาคงราวๆ 200 คนได้

แม้จะเป็นเวลาเย็นย่ำ คณบดีพร้อมกับคณะผู้บริหารฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนิสิต ฝ่ายการเงิน ฝ่ายห้องสมุด ฝ่ายคอมพิวเตอร์ และฝ่ายแนะแนวอาชีพ ให้ความใส่ใจมาเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตที่เริ่มตั้งแต่หนึ่งทุ่มตรงจนถึงสามทุ่ม ซึ่งควรเป็นเวลาเลิกงานของพวกเขาแล้ว

ต้องยอมรับจริงๆ ว่า กิจกรรมที่ฝ่ายผู้บริหารมาพบปะพูดคุยกับนักเรียนอย่างจริงจังในวันนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผมมากทีเดียว เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในหัวของเด็กที่เรียนในเมืองไทยมาโดยตลอดเช่นผมเลย ไม่เคยคิดว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งอันใหญ่โตอย่างท่านคณบดีจะลดตัวมาคุยกับเด็กนักเรียน โดยรับฟังปัญหาและตอบข้อสงสัยอย่างใส่อกใส่ใจ ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจว่าช่องว่างระหว่างผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัยกับเด็กนักเรียนนั้นอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน

กิจกรรมดีๆ เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนผมแห่งเดียว มีโอกาสได้คุยกับอดีตนักข่าวสาวบางกอกโพสต์ เหมกานติ์ ศรีจรัสจรรยา ที่เรียนอยู่ Journalism School มหาวิทยาลัยเดียวกัน เธอเล่าว่า ที่โรงเรียนของเธอมีกิจกรรมเช่นนี้มากกว่าที่ผมโม้หลายเท่า โดยจัดอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง บ้างเป็นอาหารกลางวันให้คุยกับคณบดี บ้างก็เป็นคณบดีพบนักเรียนแต่เช้าตรู่ ผมเชื่อจริงๆ ว่านี่คงเป็นเรื่องปกติของสถาบันการศึกษาทุกระดับในอเมริกา

ย้อนกลับมาที่โรงเรียนตัวเอง คณบดีเริ่มเปิดประเด็นด้วยการเล่าถึงแผนการในปีที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเป็นปีที่โรงเรียนครบรอบ 60 ปี งานสำคัญคือการจัดฉลองตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ในเมืองหลวงวอชิงตัน ดีซี เรื่อยไปถึงยุโรป โตเกียว ปักกิ่ง และรัสเซีย เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือการพยายามสร้างเครือข่ายของศิษย์เก่า เพื่อให้เป็นตัวแทนในการเผยแพร่ชื่อของโรงเรียนให้โด่งดัง และยังคาดหวังใช้เป็นช่องทางในการหารายได้เข้าโรงเรียนด้วย

โรงเรียนของผมเป็นโรงเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับปริญญาโทที่ตั้งขึ้นสมัยสงครามเย็น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันในตอนนั้นให้ความสนใจมาก รัฐบาลของเขามุ่งเน้นศึกษานโยบายต่างประเทศของตัวเอง รวมทั้งความเป็นไปของประเทศอื่นๆ กาวเวลาผ่านไป โรงเรียนก็เปิดสอนหลักสูตรบริหารราชการซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผมกำลังศึกษาอยู่เพิ่มอีกหนึ่งโปรแกรม ปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ประมาณหนึ่งพันคนในสองหลักสูตร โรงเรียนนี้มีลักษณะไปในแบบโรงเรียนวิชาชีพ (Professional school) ที่เน้นผลิตบัณฑิตสู่การทำงานจริง มากกว่าเข้าสู่วงการวิชาการเข้มข้น

หลังจากคณบดีกล่าวนำจบ เวทีด้านล่างคล้ายเริ่มปะทุด้วยไฟจากความอัดอั้นตันใจและข้อสงสัยต่อความเป็นไปของโรงเรียน ช่วงแรกพิธีกรถามคำถามในประเด็นต่างๆ ที่เพื่อนนักเรียนส่งมาก่อนหน้า ต่อมาก็เปิดให้ผู้สนใจยกมือถามเป็นรายบุคคลในช่วงหลัง

ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่เรื่องการให้บริการด้านการศึกษาทั้งในด้านการจัดหลักสูตร และคุณภาพอาจารย์ ไปจนถึงการจัดพื้นที่ใช้สอยให้นักเรียน เรื่องห้องสมุด การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี งบประมาณ การให้ทุนการศึกษา และหน้าที่ในการช่วยนักเรียนหางานเมื่อจบการศึกษา

คณบดี และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยความจริงใจ โดยพยายามอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งยอมรับในปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่รู้มาก่อน พวกเขาให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาที่สามารถทำได้โดยทันที ส่วนเรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อาจจะเป็นเพราะเหนือความรับผิดชอบ หรือต้องใช้เวลาและงบประมาณก็จะเก็บไว้ใช้พิจารณาในโอกาสที่เหมาะสม

เรื่องหนึ่งที่น่าใจก็คือ คณบดีให้แนวทางในการบริหารงานว่า เป้าหมายสำคัญก็คือการทำการตลาดให้กับโรงเรียน ซึ่งมีผลต่อการดึงดูดเงินสนับสนุนจากศิษย์เก่า อีกทำให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนี้เป็นที่สนใจของตลาดแรงงาน นี่จะเป็นสิ่งที่สามารถใช้วัดความสำเร็จของโรงเรียน หากนำเรื่องนี้มาคิดดีๆ แล้ว คล้ายจะบอกว่าในยุคปัจจุบันนั้น การทำการตลาดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะชื่อเสียงอาจจะเป็นเพราะสามารถจับต้องได้มากกว่าคุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องแตกต่างกันไปตามแต่ความคิดของแต่ละคน

อีกเรื่องที่ชอบใจก็คือ นักเรียนออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของอาจารย์ที่เขาเรียนซึ่งไม่สนใจในการสอน อาจารย์คนนี้มักยกเลิกคาบเรียนเป็นประจำ และสอนแบบขอไปที ทั้งๆ ที่เป็นถึงระดับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย (Tenure professor) ผมสังเกตเห็นฝ่ายบริหารดูจริงจังกับข้อคิดเห็นจากนักเรียนข้อนี้มาก จนขอให้นักเรียนผู้นั้นรายงานเรื่องดังกล่าวให้ทราบอย่างละเอียด โดยไม่ต้องรอตอบในแบบประเมินผลปลายภาคเรียน

นอกจากนี้แล้ว มีนักเรียนสองสามคนมาออกมาบ่นว่าหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนของเรานั้นสู้โรงเรียนด้านการบริหารราชการและ/หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Harvard Princeton และ John Hopkins ไม่ได้ คณบดีออกมาให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า เรากำลังอยู่บนแนวทางและปรัชญาที่แตกต่างกัน เราจึงไม่สมควรนำมาเปรียบเทียบกัน ที่โรงเรียนของเรานักเรียนสามารถเรียนข้ามคณะและสาขาวิชาได้โดยเสรี ผิดกับสถาบันอื่นๆ ที่อาจจะต้องเรียนเฉพาะวิชาที่เปิดสอนซึ่งโดยมากเป็นวิชาด้านสังคมศาสตร์เท่านั้น ดังนั้น ผมเห็นว่าความเห็นของคณบดีในข้อนี้แสดงถึงแนวทางในการบริหารและจุดหมายที่ชัดเจน อันข้อสำคัญในคุณลักษณะการเป็นผู้บริหารที่ดี

นักเรียนหลายคนลุกขึ้นมาต่อว่าคณบดีและคณะผู้บริหารว่า ปัญหาหลายปัญหาเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เคยนำมาพูดกันแล้วในปีก่อน แต่ทำไมบัดนี้ยังไม่ได้แก้ไขสักที บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดฝ่ายบริหารจึงเน้นการตลาดเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของโรงเรียนมากกว่าการปรับปรุงให้ความพอใจกับนักเรียนปัจจุบัน เพราะในที่สุดแล้วสักวันหนึ่งพวกเขาก็ต้องจบการศึกษาออกไปเป็นศิษย์เก่า และจะเป็นผู้หนึ่งที่มีศักยภาพรับเด็กที่จบจากโรงเรียนเข้าทำงาน หรือเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินรายใหญ่ โดยสรุปแล้ว พวกเขาพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาให้ดีกับนักเรียนรุ่นปัจจุบัน มากกว่าพยายามโฆษณาชื่อเสียงกับคนภายนอก

ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงกว่าของกิจกรรมในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าผมและมิซูวากิจะมาร่วมกิจกรรมในฐานะผู้สังเกตการณ์มากกว่าอยู่ฝ่ายนักเรียนที่มุ่งตั้งคำถามค้างคาใจต่อการจัดการของคณะ บางครั้งเราแอบนินทาเพื่อนนักเรียนที่สวมสีหน้าจริงจังและขึงขังเกินเหตุด้วยการเขียนข้อความบนกระดาษ บางจังหวะเราก็พยักหน้าหัวเราะคิกคักให้กันกับคำพูดตลกๆ ทั้งของผู้ถามและผู้ตอบ อย่างไรก็ดี แม้เราจะไม่ได้จริงจังอะไรมากขนาดเพื่อนคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ได้ฟังมาในวันนี้ก็ทำให้เรามีประเด็นได้ขบคิด และถกเถียงกันพอสมควรทีเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าปัญหาของเพื่อนนักเรียนทั้งหลายจะได้รับการแก้ไขก่อนพวกเราจะจบการศึกษาหรือไม่ เพราะหลักสูตรเพียง 2 ปีนั้นเทียบไม่ได้กับกับความใหญ่โตของปัญหาหลายเรื่อง โอกาสจึงดูเลือนรางเต็มที กระนั้น ผมกลับชื่นชมในความตั้งใจของคณะผู้บริหารที่รับฟังปัญหาเหล่านี้อย่างตั้งอกตั้งใจ รวมทั้งตอบข้อสงสัยและคำถามที่เกิดขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง

ผมอยากเห็นเรื่องกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และทัศนคติในการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยและนักเรียนเกิดขึ้นที่บ้านเราบ้าง

ก่อนจบกิจกรรม คณบดีบอกว่าเธอมีเวลาพบนักเรียนทุกสัปดาห์ หากใครมีปัญหาอะไรก็ขออย่ารีรอ ให้เข้าไปพบได้ทันที มีนักเรียนคนหนึ่งเสนอให้เธอลงมานั่งที่ชั้นล่างในส่วนของฝ่ายกิจการนิสิตซึ่งง่ายกับการเข้าถึงของนักเรียนมากกว่า เพราะไม่ต้องขึ้นลิฟท์ห้องทำงานคณบดีที่อยู่บนชั้นเกือบสูงสุด คณบดีตอบรับและสัญญาว่าจะทำตามที่เสนอ

การที่ผู้บริหารออกมารับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรของตัวเองเช่นนี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่มองผ่านไปไม่ได้ หากกิจกรรมคล้ายๆ แบบนี้เริ่มที่สถาบันการศึกษาในเมืองไทยก่อนก็จะเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะนั่นจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมให้กับเยาวชนที่ย่อมมีโอกาสเติบโตเป็นผู้บริหารที่ใจกว้างในวันหน้า

คุณค่าในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง โดยไม่เสแสร้ง

ผมเชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ควรจะเป็นทั้งในระดับผู้นำและผู้ตาม อันถือเป็นส่วนสำคัญของสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ดี ผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ที่ยอมรับเหตุผลและความคิดเห็นของกันและกัน

จะลืมเสียไม่ได้ว่าการเมืองนั้นมีความหมายกว้างขวาง เป็นปฎิสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับชาติ ชุมชมเรื่อยไปจนถึงครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพูดว่าเป็นการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์และเป็นจริง ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็คงจะไม่ผิดนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น