xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 205 “เพลงสงคราม…ปัตตานี !?”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้…จิบกาแฟขมแล้ว เปิดวิทยุฟังรายการตอนเช้าตอนตีสี่ ที่คลื่น เอฟ.เอ็ม ๑๐๐.๕ อสมท.รายการสวนอักษรของ คุณวรรณลักษณ์ ศรีสด ตามปกติ ผมเองเป็นคนฟังวิทยุมากกว่าดูโทรทัศน์ เวลาไปต่างจังหวัดรับคลื่นเอฟ.เอ็ม.กรุงเทพไม่ได้ ให้หงุดหงิดและเหงาหูเป็นอันมาก

ฟังรายงานข่าวตอนเช้า กลางวัน เย็น ผู้จัดรายการทั้งชายหญิง เอาหนังสือพิมพ์มากางอ่านออกเสียงกันจ๋อยๆ อ่านไปแล้วก็ ‘หยอดความเห็น’ ตัวเองแบบโน่นนิดนี่หน่อย พวกที่จัดทางโทรทัศน์โชว์รูปในหนังสือพิมพ์ให้ดู แบบไม่เกรงใจหนังสือพิมพ์ที่ไปหาข่าวด้วยความยากลำบาก ทำอย่างนี้เหมือนกันแทบทุกรายการ ทั้งๆที่แต่ละสถานีโทรทัศน์ก็มีฝ่ายข่าวของตนเองอยู่แล้ว หรือทำอย่างนี้สะดวกกว่าก็ไม่รู้ ?

ผู้จัดรายการข่าวตอนเย็นไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายมาทำรายการ เนื่องจากฉบับบ่ายข่าวและเนื้อหาก็เหมือนฉบับเช้า ก็อ่านเอาจากเวปไซต์ผู้จัดการออนไลน์นี่แหละ หลายบ้านเลยไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือพิมพ์ แต่ใช้ฟังข่าวเอาทางวิทยุ ไม่เปลืองเงินค่าหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งก็ดีไปอย่าง แต่วันไหนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ฯลฯ เขาฟ้องเรื่องละเมิดเข้าให้คงสนุก

เมื่อวันอาทิตย์กลางเดือนนี้ซึ่งตรงกับวันหวยออก ผมขับรถเข้ากรุงเทพตอนสายๆ เปิดฟังคลื่น ๙๗ เอฟ.เอ็ม.ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ดำเนินการโดยทีมงานทรินิตี้ราดิโอ เพราะผมชอบรายการของคุณอารีย์ นักดนตรี อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง และถ้าอยู่ในกรุงเทพในวันอาทิตย์ หากไม่ติดงานใด ก็จะเปิดเครื่องวิทยุรับฟังรายการของท่านเสมอ

การได้ฟังผู้สูงอายุหลายท่าน ที่มาร่วมรายการกับคุณอารีย์ ได้เล่าเรื่องราวต่างๆทุกสัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้เขียนคอลัมน์กาแฟขนมหวาน อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆที่ท่านเหล่านั้นเล่า จึงสามารถโยงใยเรื่องราวที่ผู้เล่ากล่าวถึง แบบกรอฟีล์มหนังเก่าแห่งความหลัง กลับเข้ามาฉายใหม่ในความทรงจำของตัวเองได้เลย

วันนั้นคุณอารีย์ นักดนตรี ได้เล่าถึงเรื่องคุณใหญ่ นภายน ชื่อจริงของท่านคือ สมาน นภายน แต่คนมักเรียกท่านในชื่อเล่น ท่านอายุ ๘๑ ปีแล้ว นางเอกโทรทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต คือคุณอารีย์ ได้แจ้งข่าวว่า

วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่จะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งชื่อและตัว คือคุณสมาน (ใหญ่) นภายน จะจัดรายการคอนเสิร์ตชื่อ

“ใหญ่ นภายน คนรวยเพื่อน”

ดูเหมือนว่าชื่อคอนเสิร์ตจะตรงกับบุคลิกของคุณใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีเพื่อนฝูงรักใคร่มากมาย บรรดามิตรสหายของท่านหลายคน อาจไปร่วมงานคอนเสิรตครั้งนี้ไม่ได้ เพราะได้ชิงล่วงลับไปก่อน สำหรับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นนักร้องรุ่นเก่า และเป็นที่ชื่นชอบของผมหลายท่าน คุณอารีบอกว่า จะมาร่วมงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ที่จำได้ก็มี คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ คุณวรนุช อารี คณะนักร้องจากสุนทราภรณ์ ทั้งตัวคุณอารีเอง และคุณหมอพูนพิศ อมาตยกุล ผู้ร่วมรายการสนทนากับคุณอารีย์ทางวิทยุคลื่นนี้ ก็จะไปร่วมในรายการคอนเสิร์ตด้วย

กินเนสบุคน่าจะเอาไปลงว่า เป็นคอนเสิร์ตของนักดนตรีที่อายุมากที่สุดในโลก!

คุณใหญ่นั้น เป็นนักดนตรีที่คนไทยในประเทศรู้จักเป็นอย่างดี ท่านเป็นลูกศิษย์คุณพระเจนดุริยางค์ ได้เข้าร่วมงานกับวงดนตรีของกรมโฆษณาการ เคยอยู่ในวงดนตรีมาหลายวงตั้งแต่ก่อนสงคราม และเข้าร่วมวงดนตรีของกองทัพบก ไปราชการสงครามเกาหลี ต่อมาได้เข้ารับราชการกรมประชาสัมพันธ์ เล่นดนตรีอยู่ในวงของกรมนี้ จนได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (สุนทราภรณ์) เป็นคนที่ ๔ ต่อจากครูเอื้อ สุนทรสนาน, ระวี พงษ์ประภาส, วินัย จุลละบุษปะ คุณใหญ่เองมีความสามารถทั้งการเล่นดนตรี ส่วนใหญ่ผมเห็นท่านเล่นกีตาร์คอร์ด แต่ก็เห็นเล่นดับเบิลเบสเป็นบางครั้ง ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ

นอกจากมีความสามารถทั้งด้านการเล่นดนตรี ยังแต่งเพลงอีกด้วย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คุณใหญ่ก็เล่นดนตรีแจสมาก่อน ในยุคที่ดนตรีชนิดนี้กำลังเฟื่องฟู บุคลิกพิเศษคือความเป็นคนน่ารัก อารมณ์ดี ตอนเป็นหนุ่มก็ดื่นเหล้าเฮฮา สนุกสนานกับเพื่อนฝูง แต่งานการท่านก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ คุณใหญ่บอกว่า ตัวท่านเป็นลูกศิษย์ของ ครูเหม เวชกร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งเลื่องลือในด้านการดื่มสุราฮะกึ้น คุณใหญ่เองตอนเป็นวัยรุ่นก็ใกล้ชิดเป็นคนสนิทของครูเหม และท่านได้กล่าวถึงเรื่องวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดจากจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของชาติ ว่า

“ผมเป็นลูกศิษย์ครูเหมคนเดียว ที่วาดรูปไม่เป็น แต่ได้มาอย่างหนึ่งคือกินเหล้าเก่ง..."

คุณใหญ่ท่านมีความทรงจำอันประเสริฐ เป็นผู้บรรยายในหลายหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัย ที่มีการศึกษาทางด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงการณ์ มหิดล และสถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่ง

ความทรงจำอันน่าอัศจรรย์ของท่าน ได้ผลิตผลงานการเขียนออกมา เป็นหนังสือ “คุยเฟื่องเรื่องวัยเด็ก” สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาลงมติมอบรางวัลนราธิปให้กับ เมื่อปลายเดือนสิงหาที่ผ่านมานี้เอง

เมื่อเดือนที่แล้วนี้อีกเหมือนกัน ผมได้ยินคุณใหญ่ท่านให้สัมภาษณ์ วิทยุ บี.บี.ซี.ถึงเรื่องเพลงไทยในยามสงคราม คุณใหญ่เล่าว่า

ก่อนสงครามโลกครั้งที ๒ คนไทยก็นิยมฟังเพลงดูหนังดูละครกันอยู่แล้ว เมื่อสงครามมาถึงบ้านเราตัวตอนญี่ปุ่นบุก จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ราษฎรเสียขวัญกำลังใจ ท่านผู้นำไม่ยอมให้ยุติการแสดงละครและมหรสพอื่น โดยใช้ความบันเทิงเหล่านี้เป็นเครื่องปลุกปลอบขวัญประชาชนยามสงคราม

ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อคนมีความทุกข์ยาก หากผู้นำไปยุติการบันเทิงเริงรมย์เข้าไปอีก ยิ่งทำให้ชาวบ้านหดหู่ ต้องนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอยู่แต่ในบ้าน โรคประสาทคงจะถามหากันในไม่ช้า ยิ่งสมัยนั้นไม่มีโทรทัศน์อยู่ในบ้านก็ไม่รู้จะทำอะไรกัน

นอกจากจอมพลคนปีไก่นายกรัฐมนตรี จะไม่งดกิจกรรมบันเทิงแล้ว ท่านยังนำ “รำโทน” ของคนต่างจังหวัด ซึ่งท่านเห็นครั้งแรกที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก มาให้ประชาชนเล่นกัน ต่อมาเรียกว่า “รำวง” ใครอยากรู้เรื่องนี้ลองอ่านกาแฟขม ขนมหวาน ตอนที่ ๘๐ “ทิ้งลูกทิ้งผัว..ออกมารำลอยหน้า !” จะได้รับทราบที่มาที่ไปของรำวงเป็นอย่างดี

ไม่เหมือนสามจังหวัดภาคใต้ในตอนนี้ ตกค่ำประชาชนหลบภัยอยู่ในบ้าน ก็ยังนอนดู โทรทัศน์แก้เหงากันได้ ตอนเช้าสว่างดีแล้วก็ออกไปประกอบภารกิจ แต่ก็ต้องระวังตัวกันแจทีเดียว!

ระหว่างสงครามนั้น ได้มีวงดนตรีที่ถือกำเนิดขึ้นมามีสามวงด้วยกันคือ และมีชื่อเสียงเป็นที่ติดอกติดใจของประชาชน

“วงแรกคือวงดุริยะโยธิน ซึ่งเป็นวงของทหารบก ผู้ควบคุมวงคือ ครูจำปา ลิ้มจำรูญ ต่อมาคือวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งไปเล่นหากินข้างนอกไม่ได้ เลยเปลี่ยนชื่อเป็นสุนทราภรณ์ อีกวงหนึ่งคือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งคุณเผ่า ศรียานนท์ ผู้อำนวยการตั้งขึ้นมา”

คุณใหญ่ทบทวนความหลังให้ฟัง

ระหว่างสงครามนี้เอง ได้มีนักร้องจำนวนมากที่ขึ้นเป็นดาวจรัสแสงฟ้าบางกอกทั้งชายและหญิง เช่นสุพรรณ บูรณะพิมพ์ กัณฑรีย์ นาคประภา สถาพร มุกดาประกร ล้วน ควันธรรม และคุณมัณฑนา โมรากุล ที่ผู้คนไม่เคยลืมเสียงอันมีมนต์ขลังของเธอ

ต่อมาก็มีวงดนตรีประเภท light music ของครูล้วน ควันธรรม ท่านได้แต่งเพลงชื่อ พรานเบ็ด โดยมีคุณกำธร ศรวิจิตร ใส่คำร้อง และตัวครูล้วนร้องเอง เพลงขึ้นต้นว่า

“ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจเสียจริงปลาไม่กินเหยื่อ
นั่งตกอยู่นานจนฉันนึกเบื่อ ปลาไม่กินเหยื่อน่าแปลกใจ….”


เพลงพรานเบ็ด ฮิตที่สุดยามสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ และมาดังระเบิดอีกครั้ง เมื่อคุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มาร้องประกอบภาพยนตร์โฆษณา ทำให้ผู้คนที่เกิดหลังสงครามรู้จักเพลงนี้กัน

ที่คุณใหญ่ท่านให้สัมภาษณ์วันนั้น ผมสนใจมากก็คือ

ระหว่างที่กรุงเทพถูกทิ้งระเบิด ผู้คนหวาดกลัวกันมาก พอได้ยินเสียงหวอเท่านั้น วิ่งกันหน้าตื่นหกล้มหกลุกหาที่หลบภัยกัน ลงท้องร่องสวนบ้าง มุดเข้าหลุมที่ขุดไว้กันบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อระเบิด ในช่วงนั้น คุณหลวง สุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ ท่านเอาเพลงรักชาติยิ่งชีพ ซึ่งคุณนารถ ถาวรบุตร เจ้าของฉายา ราชาเพลงมาร์ชเมืองไทย มาเปิดก่อนที่เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิดแล้ว เป็นการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า รู้กันในหมู่คนไทยพอเพลงรักชาติยิ่งชีพดังขึ้น ต้องรับเข้าหาที่กำบังหรือหลุมหลบภัยทันที

เพลงนี้คุณหลวงรณสิทธิ์พิชัย ท่านเขียนเนื้อร้อง ส่วน ทำนองครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้องให้ความหมายดีมาก คือ


เกิดเป็นไทยเป็นไทยดังนาม  เพียบด้วยความรักชาติยิ่ง
ทั้งใจทั้งกายทุกสิ่ง              ยิ่งวาจาจริงทุกสิ่งไป
ชาติที่รักของเรา                 เราควรเทิดไว้บูชา
มีคุณล้นเหลือล้ำค่า             สุดจะพรรณานับได้
เราเป็นไทย                       ต้องใจมีความรักชาติ
เราต้องพลีชีวาตม์               สละให้ชาติด้วยความหวังดี
มาเผ่าพงษ์วงศ์วานของไทย  เรารวมใจดำรงคงชาติด้วยดี
รักชาติเรานี้ยิ่งชีพ


คนไทยได้ยินเพลงนี้จากวิทยุ เท่านั้นแหละครับ วิ่งหน้าตาตื่นเข้าหาที่กำบังที่เตรียมไว้ทันที !

พอเครื่องบินผ่านพ้นไปแล้ว วิทยุของกรมโฆษณาการก็ส่งเสียงเพลง “พุทธคุณคุ้มครองไทย” ที่คุณหลวงวิจิตรวาทการท่านประพันธ์เอาไว้ ดังขึ้นผ่านลำโพงวิทยุ ว่า

ขอพุทธคุณปกป้อง คุ้มครองไทย
เป็นที่ดำรง เป็นแหล่งพระธรรม และพระวินัย
ให้อยู่ยืนยง แผ่ไพศาลไป ทุกแดนแผ่นดิน
ขอปวงสิ่งเรืองฤทธิ์ มาช่วยประสิทธิ์ ให้ไทยเถกิง
ขอให้ไทยโชติช่วง ดังดวงเพลิง อยู่ชั่วฟ้าดิน
เกียรติไทยเกริกก้อง เหมือนกลองเภริน ทุกทิศทุกทาง


เพลง “พุทธคุณคุ้มครอง” นี้เป็นเพลงให้พร คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้องเอาไว้ตอนที่ท่านยังเป็นสาวน้อย เสียงสดใสฟังไพเราะนัก นี่เป็นวิถีของคนไทยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้เพลงเป็นเครื่องเตือนภัยยามสงคราม และปลุกปลอบขวัญกำลังใจซึ่งกันและกัน เพลงนี้ก็ไม่ได้ยินมานานหลายปีแล้ว น่าจะนำมาเปิดกันบ่อยๆท่าจะดี

สำหรับเพลงรักชาติยิ่งชีพนี้ ยังพอได้ฟังนานๆครั้งตามวิทยุบางสถานี แต่เมื่อมีงานฟรีคอนเสิร์ต “๖๕ ปี สุนทราภรณ์” ที่สวนลุมพินี ทางกรุงเทพมหานครเขาเป็นโต้โผจัดตรงบริเวณสุนทราภรณ์นุสาวรีย์ สวนลุมพินี เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายนปีที่แล้ว คุณสมัคร สุนทรเวช ขณะนั้นกำลังเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร้องนำหมู่คณะสุนทราภรณ์ ผู้คนก็ได้สนุกสนานกัน นี่อีกไม่ถึงเดือนสุนทราภรณจะครบ ๖๖ ปี ยังไม่ทราบว่าจัดที่ไหน แต่กทม.เขาคงไม่จัด เดี๋ยวผู้คนจะหาว่าไปเลียนแบบผู้ว่าฯคนเก่า ใครทราบว่าจัดที่ไหนช่วยบอกด้วย

ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีเพลงยามสงครามครั้งที่ ๒ พวกฝรั่งเขาก็มีเหมือนกัน แถมยังมีเพลงที่โด่งดังคล้ายเพลงพุทธคุณคุ้มครองของไทย เช่นเพลง Praise the Lord and Pass the Ammunition ของ Frank Loesser ซึ่งมีความหมายว่าให้(ทหาร)สรรเสริญคุณพระคุณเจ้าด้วยการสวดมนต์ ในขณะที่มือก็ส่งเครื่องกระสุนให้กัน หรือจะแปลว่าสวดมนต์ไปพลาง ยิงต่อสู้ศัตรูไปพลางก็คงไม่ผิดนัก ตอนต้นของเพลงมีเสียงมีเสียงปังๆๆๆๆของกระสุนและเสียงเครื่องบิน ฟังแล้วราวกับอยู่ในสงครามจริงๆ

อีกเพลงหนึ่งคือ My Prayer อันเป็นที่รักของมิตรรักนักเพลงทั่วโลก นั่นก็เป็นเพลงดังของสงครามโลกครั้งที่สองครับ คนที่รักกันสวดมนต์ให้ผู้ที่อยู่ในสงคราม

ส่วนเพลง Comin’ in on a Wing and a Prayer นั้นเป็นเพลงของทหารอากาศอังกฤษ บอกว่าเรือบินถูกยิงจนเหลือเครื่องยนต์เดียว ต้องบินไปสวดมนต์ไประหว่างที่กลับฐานทัพของตน ทั้งเนื้อและทำนองคึกคักให้กำลังใจทั้งทหารและประชาชน เพราะแสดงถึงความกล้าหาญ ไม่หวาดหวั่น และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ

เพลงที่ทหารขอให้อวยชัยให้พรก่อนที่ตัวจะไปสงครามก็มี อย่างเพลง Wish Me Luck and You Wave Me Goodbye…ระหว่างที่โบกมืออำลาก็ขอให้โชคดีไปด้วย

สงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น กองทัพนาซีเป็นฝ่ายเปิดฉากการรุกขึ้นในยุโรป ฮิตเลอร์ผู้นำของอาณาจักรไรน์ ส่งกองพลรถถังบุกโปแลนด์ แล้วเข้าโจมตีกองกำลังอังฤษไล่บี้จนตกทะเลที่หาดดันเกิร์ก ต้องซมซานข้ามช่องแคบ กลับไปตั้งหลักใหม่บนเกาะ ด้วยความหวังที่ริบหรี่เต็มไปด้วยความมือมนอนธกาลในยามนั้น

เมื่อกองทัพเยอรมันจะบุกเข้าปารีสนั้น Oscar Hammerstein นักแต่งเพลงชื่อก้องโลกได้รับฟังข่าวด้วยความสลดหดหู่ เพราะตัวของเขาเคยใช้ชีวิตในยามหนุ่มอย่างมีความสุข เมืองอันงดงามนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา อยู่ในหัวใจของหนุ่มสาวและผู้คนที่เคยไปเยือนเสมอมา คุณออสการ์คิดว่า ปารีสจะต้องมีอันพังทลายราบลงเป็นหน้ากลอง เพราะแรงการโจมตีและบดขยี้ของกองทัพนาซี จึงเขียนเพลงนี้ขึ้น เพื่อระลึกถึงความหลังอันสวยสด ที่เมืองแสนงดงามนี้ได้ให้ความสุขยามได้อยู่อาศัย และคิดว่าจะไม่เห็นเมืองที่ทรงเสน่ห์ของโลกในสภาพ คุณออสการ์เขียนอย่างรำพึงถึงนครมหาเสน่ห์อันเป็นที่รัก โดยให้ชื่อเพลงว่า The Last Time I Saw Paris ขึ้นอย่างนี้ครับ

The last time I saw Paris
Her heart was young and gay
I heard the laughter of her heart In every street cafe’…


ปารีสไม่ได้ล่มสลายลงอย่างที่คุณออสการ์คิด เมืองอันสวยงามนี้ ยังไม่ได้ถูกทำลายลงเป็นเถ้าธุลีอย่างที่กลัวกัน กลับยังยืนหยัดสง่างามมาถึงทุกวันนี้

คราวนี้ผมอยากให้ลองดูกรณีการก่อการร้าย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง

ผู้ก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามจะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในชาติ เราจะท้อแท้ไม่ได้เป็นอันขาด

ไม่ว่าใครจะตื่นตระหนกจนไปนั่งเขียนเพลง The Last Time I Saw Pattani เพราะคิดว่าปัตตานีต้องแหลกราญเพราะการก่อการร้าย เหมือนอย่างคุณออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ มองเมืองปารีส เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยของคนรักชาติรักแผ่นดินถิ่นกำเนิดในประเทศนี้ ที่จะไม่มีวันยอมให้เหตุการณ์เช่นว่าเกิดขึ้นเป็นอันขาด

หน้าที่ของคนในประเทศ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ และประชาชนคนรักชาติ ต้องพัฒนาการตีโต้ตอบอย่างแข็งขัน ไม่ว่าเหตุการณ์จะหนักหนาสาหัสเพียงไร

เราต้องทำให้ได้!

อย่างที่ผมพูดเอาไว้ในตอนที่ ๒๐๒ “กตัญญู กล้าหาญ แล้วต้องกล้าตายด้วยหรือ!? ” (ด้วยความห่วงใยเยาวชน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เอาไว้ว่า

....นอกจากนั้นรัฐบาลเริ่มตระหนักแล้วว่า การใช้ระบบกฎหมายอย่างจริงจัง ประกอบกับความเมตตาต่อผู้บริสุทธิ์ จะทำให้ความสงบกลับคืนมาสู่ท้องถิ่นโดยเร็ว กลยุทธและมาตรการทางกฏหมายต่างๆ จะต้องถูกงัดมาใช้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพด้วย

ฝ่ายที่จะรักษาชาติบ้านเมืองจะต้องเอาชนะศึกภายในครั้งนี้ เหมือนทุกครั้งในอดีต ไม่มีวันวันแพ้ ไม่มีแม้แต่เสมอ

ต้องเอากันให้ เสร็จเด็ดขาดกันไป !


ทันทีที่การก่อการร้ายอุบัติขึ้นมาในประเทศ ผมได้บรรยายความขมขื่นใจของตัวเองเอาไว้ในข้อเขียนตัวเอง แต่ไม่อยากพูดซ้ำอีกเพราะเวลาล่วงมาพอสมควร ด้วยคำนึงด้วยว่าถึงเวลาที่ต้องรวมกำลังกัน แต่การที่หน่วยทหารถูกโจมตีและปล้นค่ายแบบ

“ปล้นยกกองพัน”


ฝ่ายทหารก็ต้องจำใส่ใจเอาไว้ให้ดี มาทำลืมกันง่ายๆ ไม่ได้เด็ดขาด !

เมื่อเหตุการณ์ลุกลามหนักข้อขึ้น ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ได้นำเพลง “รักกันไว้เถิด”ของคุณนคร ถนอมทรัพย์ มาใส่เนื้อภาษามาลายู โดยคุณสัมพันธ์ มูซอดี คุณสุขเกษม จารงค์ และคุณชาลี เร็งมา ใช้ชื่อว่า

“กาเซะห์กันละห์”


มีการนำนักร้องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ กรมประชาสัมพันธ์ มาขับร้องร่วมกัน ดนตรีก็ใช้วงกรมประชาสัมพันธ์ ขึ้นต้นว่า

กาเซะห์กันละห์ กีตาระยัดไทย วาเลาลาเฮด ดีมานา ซือมัวไทยแลนด์ บืรไลยนัน กตูโรนัน ตะบืรบาตาซัน ลาเฮรบาวะห์ บืรเดรา ซือมัวอีตูระยัตไทย…

เพลงนี้ได้นำเผยแพร่ออกมาสู่ประชาชนให้ได้รับฟังกัน ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.๒๕๔๗ แต่เหตุการณ์กลับไม่ดีขึ้น

การโจมตีกองกำลังของรัฐยังปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ และเพิ่มระดับความรุนแรงตั้งแต่การสังหารทหารนาวิกโยธิน การบุกเข้าฆ่าพระภิกษุและเผาวัด ที่น่าสลดใจยิ่ง !

เพลง กาเซะห์กันละห์ แต่งออกมาคงยังไม่ชลังพอที่จะทำให้เกิดความรัก ความเข้าใจกันได้ เพราะการก่อการร้ายต่างๆก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่ก็ได้มีการแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาอีก เผยแพร่ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยและยาวีปนกัน ระยะนี้ผมได้ยินบ่อยไม่รู้ว่าชื่อเพลงอะไร และหากเหตุการณ์ไม่สงบลง คงจะมีอีกหลายๆเพลงที่ติดตามมาอีก

ถ้ารัฐบาลจะเอาเพลงชุดนี้ออกมารวมเผยแพร่กับประชาชน ให้ร้องปลอบใจกันเอง ผมก็อยากจะเหมาเอาเพลงชุดนี้ ว่า

“เพลงสงครามปัตตานี!”

ทำไมผมจึงเรียกอย่างนั้นหรือครับ ? …เหตุผลก็เพราะว่า

สถานการณ์มันเป็นสงครามที่อีกฝ่ายหนึ่ง ทำกับคนในชาติของเรา แต่พวกเราเองกลับไม่ได้มองว่า พวกผู้ก่อการร้ายมันกำลังทำสงครามกับชาติของเรา

คิดกันอย่างนี้โดยไม่ยอมรับความจริง
แถมรัฐบาลยังดันตั้งพวกสมานฉันท์ ให้ออกมาเดินกร่าง ใช้คำพูดกรีดหัวใจชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ เหมือนสร้างหอกขึ้นมาแทงสีข้างตัวเองอยู่ได้ทุกวี่ทุกวัน

ขย่มซ้ำหัวใจ คนที่รักชาติเข้าไปอีก !

ขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยนะว่า

ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องให้คนกลุ่มนี้ สรุปความเห็นที่ย่องตอดไปสมานฉันท์ที่สามจังหวัดแบบตดยังไม่ทันหายเหม็น แล้วเปิดตูดกลับมาพ่นความเห็นไม่เข้าหูชาวบ้าน เป็นอย่างนี้มานานกว่าครึ่งปี รีบๆให้สรุปส่งมาให้รัฐบาลได้แล้ว

จะแนะให้สมานฉันท์กันอย่างไรก็ว่ามาให้เป็นหลักเป็นฐาน

เสร็จเรียบร้อยแล้ว...ยุบทิ้งไปซะที!
พูดกันตรงๆอย่างนี้แหละ…ไม่เห็นต้องมาอ้อมค้อมอะไรกัน!!?


ก่อนจบวันนี้ต้องขอบอกว่า เพลงที่ผมได้ยินล่าสุด ชื่ออะไรยังไม่รู้ คนแต่งเขาบอกว่า

“เจอกันทุกยาม…เจอกันทุกยาม….อัสสะลามอะลัยกุม….”

ฟังก็ไม่เลว ทำนองง่ายๆ คนคงจะพอจำกันได้เร็ว แต่จะให้ดีเลิศประเสริฐขึ้นไปอีก นั้น

รัฐบาลต้องทุ่มเทและเร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ‘ปลดอาวุธ’ ออกจากมือของผู้ก่อความไม่สงบให้จงได้ ขอให้ทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งได้ขันอาสาประชาชนมาบริหารบ้านเมือง
จะต้องนำสันติสุขกลับมาสู่แผ่นดิน เพราะการก่อการร้ายนำมาซึ่งเหตุการณ์ใกล้กลียุคนี้ ได้เกิดในสมัยที่ท่านเป็นรัฐบาล

ทำให้ได้สำเร็จเสียก่อน แล้วถึงค่อยชวนประชาชนมาร้องเพลง และเอ่ยคำว่า

อัสสะลามอะลัยกุม….ให้เต็มปากเต็มคำ…จะดีกว่าไหม !?

........................


กำลังโหลดความคิดเห็น