xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงคณะรัฐศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ เป็นวันแรกในรอบเกือบสัปดาห์ที่แสงพระอาทิตย์ได้มาเยือนมหานครนิวยอร์ก หลังจากฝนตกติดต่อกันมาโดยตลอด ว่ากันว่าฝนตกในครั้งนี้มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในเกือบรอบศตวรรษ ท่ามกลางความรู้สึกที่ยึดติดกับสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นอยู่ประจำทุกวันโดยมิได้ตั้งใจ แสงแดดเช้าแห่งวันก็ทำให้ใจเบิกบานและกายรื่นเริงกระปรี้กระเปร่า อยากออกจากบ้านและที่พักแถบมหาวิทยาลัยไปชื่นชมยินดีกับความสดใสในเมือง หากมีโอกาสก็หวังจะได้พบเพื่อนฝูงบ้าง

สมดั่งความตั้งใจ บ่ายแก่ๆ ผมได้รับโทรศัพท์จากสองหนุ่มสาวนักการทูต พี่นุ่น ศิริธร ไวยรัชพานิช และพี่บู้ โกศล สถิตธรรมจิตร ชวนให้มากินข้าวด้วยกันในตอนเย็น ผมตอบรับด้วยความยินดี และเฝ้ารออยากให้ถึงเวลาไวๆ เพราะตลอดหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น แทบจะไม่ได้พบเจอผู้คนเลย อย่างเมื่อคืนก่อนก็ฝ่าสายฝนปรอยไปชมการแสดงดนตรีคลาสสิก และการเดี่ยวไวโอลินของ “มิโดริ” นักดนตรีสาวมาคนเดียว ในชุดที่เปียกชื้นไปด้วยละอองฝน

การได้มาพบกับพี่นุ่น และพี่บู้ในครั้งนี้ นอกจากจะได้พบกับ “พี่ร่วมงาน” ที่เคยได้ใช้ชีวิตทำงานด้วยกันในช่วงสั้นๆ ก่อนมาเรียนต่อแล้ว พี่ทั้งสองยังเป็นรุ่นพี่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย แม้ผมจะพลาดเข้าไม่ทันก่อนที่พี่ทั้งสองเรียนจบ แต่สายสัมพันธ์ที่ถูกชักชวนให้ภูมิใจจากรุ่นพี่ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นทีเดียว

นอกจากจะได้พูดคุยกันในเรื่องสัพเพเหระแล้ว เราก็มีเรื่องหนักหัวแต่ไม่หนักใจมาคอยแซมบทสนทนาเป็นระยะๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องราวและข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะของเราเก่าก่อนด้วย ผมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความสนใจ เพราะตลอดเวลาที่เป็นนิสิต และแม้จะจบออกมาแล้ว ก็ยังนึกถึงและผูกพันกับคณะรัฐศาสตร์อยู่เสมอ เพราะนอกจากคณะนี้จะเป็นที่พบรักของพ่อและแม่ (แม้ทั้งสองจะแยกทางกันในเวลาต่อมา) จนทำให้ผมได้เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนอยู่เช่นนี้ ยังเป็นสถานศึกษาประสาทวิชาและให้ประสบการณ์อันดีงามแก่ผมในเวลาต่อมาด้วย

คำถามหลายคำถามเกี่ยวกับชีวิตของนิสิตเอง หน้าที่ของอาจารย์ ระบบหลักสูตรของคณะ รวมถึงการบริหารคณะโดยรวมและแต่ละภาควิชา และเรื่องต่างๆ อีกหลายสิบประเด็น มักเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจอยู่ตลอด หลายครั้งก็เป็นคำถามที่เกิดจากความรู้สึกก้นบึ้งที่ไม่สามารถเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูดได้ หลายครั้งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ บางปัญหาก็รู้สึกว่าเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นผลพวงมาจากระบบการทำงานของอาจารย์ที่มาทำหน้าที่ผู้บริหาร

โอกาสช่างเหมาะเจาะเหลือเกิน ผมได้เจอพี่ทั้งสองในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่อากาศสดใสเช่นนี้ ประเด็นเรื่องราวเกี่ยวกับสถานศึกษาที่ผมรู้สึกผูกพันจึงจุดประกายให้กลับมานั่งคิดนอนคิดนานๆ อีกครั้ง จนอยากจะขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ผมรู้สึกมาตลอดว่าอยากจะเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันที่พ่อแม่ภาคภูมิใจ และรู้สึกผูกพัน ผมมักได้รับฟังเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับชิวิตในรั้วสิงห์ดำจากท่านทั้งสองมาโดยตลอดตั้งแต่จำความได้ พ่อแม่มักหนีบผมไปงานเลี้ยงรุ่นของท่านแทบทุกครั้ง ลุงป้าน้าอาเพื่อนร่วมรุ่นของพ่อแม่ก็รักใคร่ให้ความเอ็นดูผมตลอดมา หากมีงานเลี้ยงรุ่นของพ่อแม่ เด็กคนอื่นมักรู้สึกเบื่อหน่าย แต่สำหรับผมแล้ว ผมมิเคยไม่อยากไปด้วยแทบสักครั้งเดียว พอโตขึ้นมา หลายครั้งยังขอติดไปด้วยเองโดยพ่อหรือแม่ไม่ได้เอ่ยชวน ผมรู้สึกประทับใจกับความรักความผูกพันของเพื่อนๆ พ่อแม่ที่มีต่อกันและกันมากล้น จนได้ส่งผ่านต่อมายังผมด้วย

สมัยเรียนมัธยมฯ ความใฝ่ฝันในเรื่องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของผมจึงแน่วแน่ ผิดกับเพื่อนคนอื่นหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร ผมหันเข้าเรียนสายศิลป์ภาษาฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่สามารถเรียนสายวิทย์ แม้จะรู้สึกเสียดายในตอนหลังที่ทิ้งวิขาคณิตไปตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็คิดว่าในสภาพแวดล้อมตอนนั้น การคิดเลือกเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นที่สุดแล้ว

ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่มักจะถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร หรืออยากเรียนอะไร ผมมักจะตอบทันทีว่าอยากเรียนรัฐศาสตร์ ซึ่งแทบจะทุกคนเห็นดีเห็นงามด้วยเสมอไป ความท้าทายกับความฝันของตัวเองครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ได้พบกับลุงปราโมทย์ นาครทรรพ ซึ่งแม้จะเป็นนิสิตเก่า แต่ท่านก็แนะนำให้ไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์แทน ส่วนเรื่องรัฐศาสตร์หากสนใจก็ให้ศึกษาหาความรู้เอาด้วยตัวเอง

ด้วยตอนที่พบกับลุงปราโมทย์ฯ นั้น ผมยังอยู่ชั้นมัธยมสี่ขึ้นมัธยมห้า และทางโรงเรียนได้ส่งให้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปโรงเรียนประจำในอังกฤษพอดี คุณลุงจึงเปรยว่าหากมีโอกาสเรียนต่อที่อังกฤษแล้ว ก็อย่าปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดไปง่ายๆ วิชาอย่าง PPE (Philosophy, Politics and Economics) ควรจะเป็นสิ่งที่ผมมุ่งหมายมากกว่าจะเป็นวิชารัฐศาสตร์หลายเท่า ลุงปราโมทย์ฯ ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า เดี๋ยวนี้ (ในสมัยนั้นเมื่อเกือบสิบปีก่อน) คณะฯ ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว

ผมน้อมรับคำแนะนำนั้นมาคิดพิจารณา อีกยังเชื่อและคล้อยตามลุงปราโมทย์ฯไปแล้ว แต่ด้วยความคิดของเด็กวัยยังไม่ถึง 20 ขวบ ที่อยู่โรงเรียนประจำ มีเพื่อนกลุ่มเดียว และไม่เคยเจอผู้หญิงมาโดยตลอด จึงยังมีความทะเยอทะยานอยากจะเข้าคณะในฝัน อยากจะเป็นอย่างพ่อแม่เมื่อโตขึ้นที่มีเพื่อนสมัยเรียนรอบข้างคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และจะได้อยู่บ้านกับครอบครัวเสียที ผมจึงโหยหาที่จะเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทยมากกว่า

ผมสอบเอนทรานซ์ได้ด้วยคะแนนดี คล้ายว่าชีวิตจะลิขิตให้ผมได้เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจริงๆ จำได้แม่นว่า ในเวลาเดียวกันผมสอบผ่านข้อเขียนทุนรัฐบาลเข้าไปยังรอบสอบสัมภาษณ์ เมื่อได้รับข่าว น้ำตากลับไหลร่วงคล้ายผิดหวัง จนพ่อตกใจ ผมต้องสารภาพว่าที่น้ำตาไหลนั้น ก็เพราะไม่อยากไปเรียนเมืองนอก หากเกิดได้รับทุนขึ้นมา

ชีวิตสี่ปีที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แม้เป็นชีวิตที่ค่อนข้างผิดหวัง เพราะอาจจะตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยต้นยี่สิบที่มีความคิดเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และมีความอ่อนบนโลกแห่งความฝันที่สร้างขึ้นมาเอง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่จดจำและย้อนกลับมานึกถึงเสมอ สมัยเป็นนิสิต ผมอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการเล่นรักบี้ให้กับมหาวิทยาลัย ต้องออกจากคณะไปซ้อมตั้งแต่สี่โมงเกือบห้าโมงเย็นเกือบทุกวัน โชคดีที่กลุ่มเพื่อนสนิทได้เข้าร่วมกิจกรรมของคณะมิได้ขาด จึงยังทำให้ได้รับรู้ความเป็นไปของคณะอยู่ตลอดเวลา

เมื่อใกล้จบปีสุดท้าย เพื่อนนักกิจกรรมได้มาชักชวนให้ลงเลือกตั้งเป็นประธานสโมสรนิสิตฯ ซึ่งผมก็ตอบรับด้วยใจยินดี ผมหวังว่าการอยู่ในสถานะเช่นนี้อาจจะมีโอกาสทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง บรรยากาศของคณะในความรู้สึกขณะนั้นเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ด้วยเพราะกิจกรรมทางวิชาการมีน้อย คนร่วมทำกิจกรรมก็มีแต่หน้าเดิม หมู่นิสิตมีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนกันจนกลายเป็นการแบ่งแยกภายในคณะ

เมื่อได้มาทำกิจกรรมกับสโมสรนิสิต ผมและเพื่อนๆ ก็ตั้งใจที่จะทำสิ่งที่เคยคาดหวัง หลายสิ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็มีอีกหลายสิ่งที่รู้สึกว่าการทำให้เกิดผลนั้นยากกว่าความคิดนัก บางเรื่องเป็นเรื่องที่คนไม่ชอบ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ทำได้หากได้รับแรงสนับสนุนจากทางคณะมากกว่านี้ หลังจากพ้นไปหนึ่งปีเต็มของการทำกิจกรรม และติดต่อกับส่วนต่างๆ ของคณะ ผมตระหนักได้ว่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อันเป็นที่รักนั้นกำลังประสบปัญหาทางโครงสร้างที่ซับซ้อน โยงใยเกี่ยวกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งตัวนิสิตเองที่ยังไม่มีความกระตืนรือร้นเพียงพอ รวมไปถึงคณาจารย์ และผู้บริหารของคณะ

ปัญหาเหล่านี้ต่างเป็นเหตุเป็นผลให้แก่กันและกันเหมือนงูกินหาง นิสิตไม่กระตืนรือร้นก็อาจเป็นผลมาจากคณะ (โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร) ไม่จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ ยกตัวอย่างเช่น ตึกกิจกรรมนิสิตนั้นเก่าซอมซ่อ จนทำให้หลายๆ คนไม่อยากแม้จะเดินเฉียดผ่าน หรือนิสิตจะต้องพบกับสิ่งเย้ายวนต่างๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม กิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัยแย่งความสนใจไปจากนิสิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ผมมักจะตั้งคำถามในใจคนเดียวบ่อยๆ ถึงอนาคตของบัณฑิตรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อจำต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงในการทำงาน แต่เมื่อคิดคราใด ก็ต้องนึกน้อยใจเสมอๆ ว่าเหตุใด พวกเราจึงไม่สามารถแข่งขันในตลาดงานได้ทัดเทียมกับผู้ที่จบจากคณะอื่น โดยเฉพาะคณะในสายสังคมศาสตร์เช่นเดียวกัน หากมีความเป็นวิชาชีพมากกว่าอย่างเช่น นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ ดูเหมือนว่าพวกเขามักมีความสามารถเฉพาะด้านซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อทำงาน พวกเขาก็ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า มีความก้าวหน้า และบางครั้งก็ดูเหมือนมีช่องทางมากกว่านักเรียน “เป็ด” รัฐศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่ความคิดความสามารถทางการศึกษาก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

เมื่อพูดเรื่องนี้ให้พี่ร่วมงานที่ได้พบกันฟัง พี่บู้เล่าเรื่องพร้อมตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ที่มีคะแนนเข้าคณะรัฐศาสตร์ฯ ได้นั้น อย่างน้อยก็เป็นผู้ที่ขยันหมั่นเพียร สามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์ได้ดีจนสามารถเลือกเรียนคณะยอดนิยมได้ หลายคนอยากเข้าคณะรัฐศาสตร์ เพราะมีความสนใจในเหตุการณ์การบ้านการเมืองเป็นทุนเดิม แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่เลือกเข้าคณะรัฐศาสตร์ตามแฟชั่น หรือเพราะตัวเองได้คะแนนสูง และเมื่อเข้ามาได้ ก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทำสำเร็จแล้ว ความตั้งใจในการเรียนก็มีน้อยลงตาม (รุ่นพี่บู้เรียนนั้น เป็นช่วงที่ฟองสบู่เศรษฐกิจไทยกำลังโป่งพอง คณะรัฐศาสตร์ฯ ในสมัยนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นคณะแห่งความฟุ้งเฟ้อ ผมเคยฟังอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เล่าว่านี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจเลิกสอนหนังสือที่จุฬาฯ เพราะนิสิตหันไปสนใจด้านวัตถุนิยม มากกว่าอุดมคติและเนื้อหาวิชาทางรัฐศาสตร์) ส่วนสมัยที่ผมเรียน แม้จะไม่มีความฟู่ฟ่าอย่างเช่นสมัยก่อน แต่คณะก็เงียบเหงา เพราะหลังเลิกเรียน นิสิตต่างแยกย้ายไปทำกิจกรรมอื่นที่หลากหลายตามความสนใจส่วนบุคคล

อย่างไรก็ดี คงเป็นการหลงผิดอย่างมหาศาล หากจะโยนความผิดโทษนิสิตแต่ฝ่ายเดียว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคณะรัฐศาสตร์ ในสถานะสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่สร้างทรัพยากรบุคคลด้านรัฐศาสตร์ให้กับสังคม จะต้องตระหนักและจริงจังกับการแก้ปัญญาที่ถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางวิชาการ และกิจกรรมนอกหลักสูตรให้เกิดขึ้นโดยทั่ว นอกจากนั้นยังต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของระบบระเบียบการเมืองทั้งภายในประเทศและของโลกอันเป็นเนื้อหาสาระหลักของสาขาวิชา อีกควรตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเรียนการสอนด้วย สามสี่อย่างนี้ ผมเชื่อว่าหากทำได้ ปัญหาต่างๆ ที่หลายคนบ่นพร่ำต้องได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดีแน่นอน

ประการแรก ในขณะที่กิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิตนั้นเข้มข้นดังที่เป็นอยู่ มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กิจกรรมทางวิชาการกลับหยุดนิ่ง ผมเห็นว่าการเชิญบุคคลต่างๆ ผ่านการบรรยายพิเศษ ปาฐกถา การจัดสัมมนา หรือแม้แต่การเชิญผู้บรรยายพิเศษมาแลกเปลี่ยนความรู้เฉพาะด้านในชั้นเรียนดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ระบบมหาวิทยาลัยของไทยมองข้ามไม่ให้ความสนใจ นิสิตนักศึกษาจึงไม่สามารถหาความรู้นอกห้องเรียนได้อย่างสะดวกและประหยัด

ข้ออ้างที่ผมมักได้ยินจากคณะผู้บริหารก็คือ นิสิตไม่สนใจ หากจัดการสัมมนา ปาฐกถา หรือการบรรยายพิเศษแล้วก็มักไม่มีคนเข้าฟัง จึงไม่มีประโยชน์ที่จะจัด ด้วยเหตุนี้เอง วัฒนธรรมทางวิชาการเช่นนี้จึงไม่มีวันได้อุบัติขึ้นได้

ในด้านหลักสูตรการศึกษานั้น วิชาทางด้านรัฐศาสตร์ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าต้องการความเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหสาขามากขึ้น (cross-disciplinary) การเมืองนั้นแยกไม่ออกกับการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลักสูตรรัฐศาสตร์ที่เป็นอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยมักเป็นหลักสูตรที่เปิดทางเลือกให้กับนิสิตนักศึกษาน้อยมาก ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เอง ผมและเพื่อนต้องเรียนวิชาบังคับถึงสองปีเต็ม และแทบจะไม่มีช่องทางที่จะเลือกเรียนวิชาทั้งในคณะและต่างคณะตามความสนใจเลย หลายวิชาที่ควรเป็นวิชาเลือกกลับเป็นวิชาบังคับที่หลายคนต้องฝืนใจเรียน การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาเฉพาะด้าน (“ภูมิภาคศึกษา” เช่น เอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศอเมริกา ฯลฯ หรือ “ประเด็นศึกษา” เช่น สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การทหาร ฯลฯ) และนอกบริบทของความเป็นรัฐศาสตร์ย่อมช่วยให้ผู้เรียนมีระเบียบความคิดที่มีความรอบด้าน (หรือที่มักใช้พูดกันหรูหราว่า “บูรณาการ”) มากขึ้น

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือระเบียบวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าใจและจำเป็นอย่างที่สุดสำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์ที่หลายคนมองผ่าน

ประการต่อมา ขณะที่แนวโน้มของโลกปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนถ่ายความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศกันในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาเล่าเรียนก็ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเป็นนิสิต ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้นไม่มีโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเลยสักโครงการเดียว ในขณะที่หลายคณะหลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการเช่นนี้มาหลายปีแล้ว

ผมเชื่อว่าการที่เด็กในวัยยี่สิบต้นๆ ได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาในวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยที่คณะสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและการติดต่อดำเนินการนั้น จะทำให้พวกเขามีระบบความคิดความอ่านต่อสาขาวิชาและโลกโดยรวมที่เฉียบแหลมและรอบด้าน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตัว และมารยาททางสังคมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของความเป็นนักรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ดี โครงการแลกเปลี่ยนฯ เช่นนี้จะต้องไม่จำกัดเฉพาะคนเรียนเก่งได้คะแนนดี หากจะต้องมีให้มาก และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมโดยเท่าเทียมกัน

ประการสุดท้าย เมื่อได้มาเรียนต่อที่ต่างประเทศดังเช่นในขณะนี้ ผมมักจะตื่นตากับการที่เขานำเอาเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต) เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการดำเนินการเรียนการสอน สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นั่นคือ สามารถประหยัดเวลาและเงิน รวมทั้งก่อให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวและสะดวกแก่ผู้ใช้

ที่มหาวิทยาลัยของผมในขณะนี้มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้อย่างเพียงพอ นักเรียนทุกคนใช้อีเมล์เป็นชีวิตประจำวัน นักเรียนใช้ติดต่อกับนักเรียนด้วยกันในทุกเรื่อง อาจารย์และนักเรียนเขียนอีเมล์ถึงกันในเรื่องบทเรียนและการดำเนินการเรียนการสอน รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บเอกสาร สามารถประหยัดเวลาและทรัพยากร (โดยเฉพาะกระดาษ) ได้อย่างเห็นได้ชัด นี่เป็นสิ่งที่ระบบมหาวิทยาลัยจะต้องเอาอย่างฝรั่งและไล่ตามเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อได้คุยกับพี่บู้ และพี่นุ่น สองรุ่นพี่ที่โชคชะตาได้ทำให้มาพบกันที่ต่างบ้านต่างเมืองท่ามกลางความวุ่นวายของมหานครนิวยอร์กเช่นนี้ ก็ยิ่งย้ำความคิดความรู้สึกที่มีต่อสถาบันการศึกษาอันเป็นที่รักให้มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องที่เล่ามานี้จะสามารถสะท้อนปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ผมขอส่งผ่านความระลึกถึงและความห่วงใยต่อไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตเก่า และรุ่นน้องนิสิตรัฐศาสตร์ทั้งหลาย นอกจากนี้แล้ว ผมยังเชื่อว่า สภาพการณ์และปัญหาเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นแต่ที่คณะรัฐศาสต์ จุฬาฯ เพียงแห่งเดียว แต่คงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารคณะสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต้องทำความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้ด้วยความรอบคอบและจริงจัง เพราะนี่จะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของพลเมืองและสังคมโดยรวมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น