xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการกับนักบริหาร

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

เมื่อหลายเดือนก่อน ขณะที่ “ธร ปีติดล (ธนารัตน์สุทธิกุล)” เพื่อนรุ่นน้องที่สนิทสนมตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนประจำ เพิ่งเริ่มชีวิตการเป็นอาจารย์หนุ่มเฟี้ยวแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ฯ เขาได้ตั้งคำถามกับตัวเองออกมาดังๆ ว่า “นักวิชาการจะเป็นนักบริหารที่ดีได้หรือไม่” แล้วบังเอิญผมไปได้ยินเข้าพอดี

คำถามข้างต้นได้ให้ชวนนึกหาคำตอบอยู่นาน อีกทั้งพาลให้คิดต่อไปว่า “แล้วนักบริหารล่ะ จะมีความเป็นนักวิชาการอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน” หรือหากจะให้ล้อกับคำถามของเพื่อนก็ต้องถามว่า “นักบริหารจะเป็นนักวิชาการที่ดีได้หรือไม่”

ในช่วงเวลาแรกเมื่อได้ยินนั้น ต้องยอมรับว่าคำถามดังกล่าวได้ตามมาหลอกหลอนให้หัวสมองทำงานหนักไม่เว้นวัน สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคำถามดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมใส่ใจ โดยเฉพาะว่าเชื่อมโยงกับวิถีการทำงานในอนาคตที่ตัวเองอยากเห็นและอยากเป็น

ด้วยคิดเท่าไรก็นึกไม่ออกเสียที คำถามโลกแตกของผมจึงค่อยเลือนรางไปจากจิตสำนึก พร้อมๆ ความสุขเฉพาะหน้าที่เข้ามาไม่เว้นวัน เมื่อได้กลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยระหว่างวันหยุดฤดูร้อน คนจากบ้านไปไกลนานๆ พอได้เจอะเจอครอบครัวที่รักและเพื่อนฝูงก็ทำให้สนุกสนานเฮฮาจนลืมอะไรๆ ที่เคยขบคิดเมื่อต้องอยู่คนเดียว

พอกำลังจะต้องกลับนิวยอร์กมาเรียนต่ออีกหนึ่งปีเต็ม จิตก็ไม่เป็นปกติสุขขึ้นอย่างกะทันหัน ใจคิดกลัวกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง คล้ายประสบการณ์หนึ่งปีที่ผ่านมาอันไม่สู้จะน่าประทับใจได้ตามมาหลอกหลอน ความรู้สึกเช่นนี้ช่างชวนให้นึกถึงยามเยาว์วัย เมื่อต้องถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำ พอได้กลับบ้านก็ดีใจล้น แต่พอวันจะเข้าโรงเรียน ท้องไส้ก็ปั่นป่วน ปวดหัวปวดตัวไม่อยากกลับโรงเรียนอีก

เมื่อมาถึงจริงๆ แล้ว ก็ผิดคาด ผิดคาดกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ตั้งแต่โรงเรียนเปิดเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ตื่นตาตื่นใจ จิตเบิกบาน และหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นที่สุด ซึ่งคงเป็นเพราะตัวเองเริ่มคุ้นเคยกับชีวิตความเป็นอยู่ อีกสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้แล้ว

และที่สำคัญที่สุดก็คือการได้เลือกเรียนหนังสือในวิชาที่ตัวเองอยากเรียน มิต้องถูกบังคับให้เรียนวิชาบังคับของหลักสูตรดังเช่นหนึ่งปีเต็มที่ผ่านมา

ภาคเรียนนี้ผมลงเรียนสี่วิชา ในสี่วิชานี้ สองวิชาได้เรียนกับ “โปรเฟสเซอร์ เจฟเฟอร์รี่ แซคส์” (Professor Jeffery Sachs) หรือ “อาจารย์แซ่บ” ที่ผมตั้งฉายาให้ และชอบใช้เรียกเมื่อคุยกับเพื่อนคนไทย เขาเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่กำลังดังเป็นพลุแตก เขาได้รับการแต่งตั้งจากนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในโครงการ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millenium Development Goals –MDGs) ซึ่งประเด็นการทำงานหลักของยูเอ็นในห้วงเวลานี้

นอกจากนี้ อาจารย์แซ่บเป็นผู้อำนวยการสถาบันโลก (Earth Institute) อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัย โคลัมเบีย (Columbia University) แล้ว สถาบันนี้เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมความรู้ทางวิชาการเข้ากับการปฏิบัติ โดยมีอาจารย์ในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำวิจัย รวมถึงให้คำแนะนำโครงการต่างๆ ในนานาประเทศทั่วโลก เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการกำจัดปัญหาความยากจน

ผมเรียนกับเขา ก็เพราะเหตุผลง่ายๆ คือ อยากรู้นักว่าอาจารย์ที่มีชื่อเสียงนั้นเขาสอนอะไรกัน และสอนดีหรือไม่ อีกประการหนึ่ง การที่ได้เรียนกับโปรเฟสเซอร์ดังๆ เช่นเขาก็คงจะคุ้มค่าไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าการจ่ายค่าเล่าเรียนราคาแพงหูฉี่นั้นถือเป็นการลงทุน อย่างไรก็ดี ต้องสารภาพว่าในตอนแรกก็ไม่ได้คิดประทับใจอะไรกับแนวคิดหรือทฤษฎีของเขาเป็นพิเศษเลย หนังสือเล่มล่าของเขา “The End of Poverty: Economic Possibilities of Our Time” ซึ่งออกมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็เพิ่งซื้อมาอ่านเมื่อสามวันก่อนนี้เอง

เมื่อลงทะเบียนเรียนจริงๆ ทำให้ผมมีโอกาสได้พบกับอาจารย์แซ่บอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งมิได้ขาด และแทบทุกครั้งที่นั่งฟังเลคเชอร์ คำถามชวนคิดของเพื่อนรุ่นน้องก็ลอยเข้ามาในทันทีทันใด

“นักวิชาการจะเป็นนักบริหารที่ดีได้หรือไม่”

ในขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มเรียนได้สองสามครั้ง ก็เริ่มพอเข้าใจกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเขา จนชักจะตื่นตาตื่นใจมากขึ้นไปทุกวัน อาจารย์แซ่บเชื่อว่าความยากจนนั้นเป็นผลพวงมาจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (อันหมายรวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ การมีทางออกติดทะเลหรือไม่ โรคภัยไข้เจ็บที่มักเกิดในประเทศเขตร้อน ฯลฯ) ซึ่งก่อให้เกิด “หลุมพรางแห่งความจน” (Poverty Trap) อันทำให้ประเทศพัฒนาน้อยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางด้านใต้ทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) ต้องประสบกับปัญหาของความยากจน อันเป็นเหตุทำให้ไม่เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

หรือพูดง่ายๆ ว่าประเทศเหล่านี้ทำอย่างไรก็โงหัวไม่ขึ้นสักที เพราะโชคร้ายมีทุนทางธรรมชาติ (natural endowment) ที่ไม่ดีมาตั้งแต่แรก นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่โคฟี่ อันนัน เชิญเขามาเป็นที่ปรึกษาพิเศษของโครงการ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” หรือ “เอ็มดีจีส์” (MDGs) ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าความยากจนจะหมดสิ้นไปภายในปี ค.ศ. 2025

ในหลายกรรมหลายวาระ โปรเฟสเซอร์แซ่บเรียกร้องผ่าน ‘เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ’ ให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น เข้าให้การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ความจับต้องได้ที่ว่านั้นก็คือการบริจาคเงิน 0.07 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ภายในปี ค.ศ.2015 สำหรับประเทศอเมริกา ตัวเลขที่เป็นเป้าหมายของการบริจาคนี้น้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับงบประมาณของสหรัฐอเมริกาที่ใช้จ่ายไปในสงครามที่อิรัก แต่ประเทศอเมริกาก็ยังไม่สัญญาว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ผิดกับประเทศยุโรปตะวันตก ที่มีแผนการการบริจาคในแต่ละปีเพื่อให้ถึงสัดส่วน 0.07 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ. 2015 แล้ว

หากทุกประเทศให้ความร่วมมือ ระยะเวลา 10 ปี จาก ค.ศ. 2015 ถึง 2025 สงครามต่อสู้กับความยากจนก็จะมีอาวุธ –งบประมาณ- ที่เพียบพร้อม สามารถกำจัดซึ่งศัตรูที่แท้จริงของโลก –ความยากจน- ได้อย่างถาวร

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ องค์การระหว่างประเทศอย่าง IMF หรือ World Bank ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ แทนที่จะแนะนำให้ประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ (มีงบประมาณขาดดุล) ลดรายจ่ายภาครัฐลง อาจารย์แซ่บกลับเรียกร้องให้องค์การทั้งสองนี้ยกเลิกหนี้ (debts) และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงิน (grants) เพื่อให้เกิดการลงทุนทางสาธารณะเช่น สร้างโรงเรียน สถานีอนามัย ถนน สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้ประเทศที่อยู่ใน “ความจนสุดขั้น” (extreme poverty) สามารถขึ้นจากหลุมลึก ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพไต่ขึ้นบันไดของการพัฒนาได้ แต่การที่จะเรียกร้องให้กับองค์กรระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศที่บริจาคเงิน (creditor-led institution) เช่นนี้นับเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง

ที่เล่าประวัติและแนวคิดของอาจารย์แซ่บมายืดยาวนี้ เพราะผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างยิ่งสำหรับการที่นักวิชาการคนหนึ่งจะทำแนวคิดทฤษฎีทางวิชาการของตนมาทำให้เกิดผลจริงในการปฏิบัติโดยตัวเอง ตลอดยี่สิบปีกว่าที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โปรเฟสเซอร์แซ่บเคยเป็นอาจารย์ และผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาระหว่างประเทศ (Center for International Development) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในระหว่างเวลานั้น เขาได้ใช้แนวคิดที่เขาคิดและเชื่อให้คำแนะนำทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลประเทศต่างๆ มากมาย

การที่ความคิดอ่านทางวิชาการของอาจารย์แซ่บสุกงอมกระมัง ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ในการบริหารได้ดีเช่นนี้ แต่เมื่อมาคิดดีๆ แล้ว นั่นก็มิใช่สาเหตุทั้งหมดทีเดียว ผมเคยคิดกับตัวเองว่า การที่จะเป็นนักบริหารที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความรู้มากมายแล้วก็ไม่เพียงพอ หากยังต้องมีความสามารถในเรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งมีบุคลิกภาพ อุปนิสัย และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมของตัวเองด้วย

หลังจากเกิดคำถามเช่นนี้อยู่ในหัว ผมชอบนึกย้อนกลับไปบ่อยๆ ถึงหน่วยงานที่เคยมีประสบการณ์กับนักวิชาการที่มาทำงานนักบริหาร เท่าที่นึกได้ก็มีเพียงสองแห่ง นั่นก็คือที่โรงเรียนประจำ และคณะเมื่อเรียนปริญญาตรี

ตอนอยู่โรงเรียนประจำและเมื่อจบออกมาแล้ว ผมมักจะหงุดหงิดใจที่เห็นผู้ปฎิบัติ (ครูๆ และพนักงานทั้งหลาย) ไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูใหญ่ของผมต้องการจะทำ จนทำให้หลายโครงการหลายเรื่องที่เด็กนักเรียนอย่างผมตั้งหน้าตั้งตารอกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซึ่งมีผลออกมาผิดจากแนวคิดที่ผมเคยได้ยินได้ฟังจากครูใหญ่เล่าให้ฟังโดยตรง

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากและเป็นปัญหาสำคัญของการบริหารงาน นอกจากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์แล้ว ผู้ตามก็จำเป็นต้องเข้าใจในแนวคิดเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติด้วย ไม่อย่างนั้นแล้ว ก็มีแต่เพียงแต่นโยบาย ที่ไม่สามารถแปรเปลี่ยนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง

เมื่อมาเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะทำงานบริหารสโมสรนิสิต ทำให้ได้เห็นและบางครั้งก็เป็นผู้รับผลพวงจากการบริหารงานของคณะโดยตรง ผมมักรู้สึกลึกๆ ในใจว่า ทำไมคณะของเราจึงเฉื่อยชาปานนี้ เพื่อนคณะอื่นๆ เขามีโครงการแลกเปลี่ยนไปเปิดหูเปิดตาต่างประเทศ มีการบรรยายดีๆ ให้ฟังสม่ำเสมอ ในทางกายภาพ คณะข้างๆ ก็มีสนามบาสเกตบอลใหม่ (จนล้ำเข้ามาจ่อหลังตึกกิจกรรม แต่ก็ไม่เห็นมีใครใยดี) มีการปรับปรุงตึกกิจกรรมของนิสิต ส่วนที่คณะของเรากลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าบางทีนักวิชาการก็เป็นคนยอมคน และยึดติดอยู่กับอุดมการณ์จนเกินไป บางครั้งจึงทำให้ขาดความยืดหยุ่น ความกล้าได้กล้าเสีย และการรุกรับที่ถูกจังหวะ จึงทำให้ผลที่ออกมานั้นไขว้เขว นอกจากนี้แล้ว การเป็นนักบริหารต้องประสบปัญหารอบด้าน ทั้งในเรื่องของการนำองค์กรไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ และการประสานผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายต่างๆ บางครั้งปัญญาก็ต้องเพิ่มเป็นทวีคูณ หากมีการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้บริหารที่เน้นหนักในเรื่องการประนีประนอมมากจนเกินไป ก็อาจะทำให้องค์กรที่นำนั้นต้องย่ำเท้าอยู่กับที่ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าความเป็นวิชาการ กับการบริหารนั้น ไม่ได้อยู่ห่างไกลกันมากเกินนักที่ผสมรวมอยู่ในคน เดียวกัน การมีความรู้ทางวิชาการในสาขาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ย่อมจะทำให้ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ สามารถคิดอ่านได้อย่างรอบคอบ ในขณะเดียวกัน การมีความสามารถในทางการบริหาร ก็ย่อมทำให้นักวิชาการสามารถนำทฤษฎีแนวคิดที่ตัวเองศึกษาบนกระดาษหรือในห้องทดลองมาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลจริงได้

แต่เมื่อคิดกลับไปแย้งมาว่าอะไรหนอที่รวมอยู่ใน “นักบริหารที่พร้อมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ” และ “นักวิชาการที่เก่งกาจในเรื่องบริหาร” ก็ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด เว้นเสียแต่ได้บทสรุปให้กับตัวเองว่าคงไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จตายตัว “การทำในสิ่งตัวเองเชื่อ เชื่อในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นในดีที่สุด” อาจจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของผมในเวลานี้ก็เป็นได้

หมายเหตุ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ได้ที่นี่
เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millenium Development Goals) - http://www.un.org/millenniumgoals
สถาบันโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Earth Institute) - http://www.earthinstitute.columbia.edu/about/about.html
กำลังโหลดความคิดเห็น