เช้าวันนี้... จิบกาแฟขมแล้วฟังเพลงเพราะๆ สุนทราภรณ์ ชื่อเพลงขอให้พี่บอกว่ารักสักคำ เพลงนี้ประโยคขึ้นต้นเหมือนชื่อเพลงคือ
...ขอให้พี่บอกว่ารักสักคำ ขอให้พี่นำความรักบำเรอ
ขอให้พี่รัก...รักเธอ ถึงยามหลับนอนก็ละเมอ นึกจะบอกเธอตั้งนาน”
เพลงนี้ครู แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนานคำ ฟังทีไรให้นึกถึงเพื่อนรักคนหนึ่งที่ชอบร้องเพลงนี้นัก จีบผู้หญิงกี่คนๆต้องร้องเพลงนี้ให้ฟัง ได้แฟนและภริยามากี่คนๆก็เพราะเป็นคน ‘บอกรัก’ เก่งนี่เอง
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมได้อ่านในเว็บบอร์ดผู้จัดการ เพราะพบหัวข้อกระทู้ คุณภาพชีวิต ที่น่าสนใจ เพราะเจ้าของเขาตั้งหัวข้อกระทู้ว่า
เจอบันทึกของสามีพูดถึงความรักที่มีต่อหญิงคนหนึ่งซึ่งฉันไม่เคยสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้น เราทำงานที่เดียวกันทั้ง 3 ฉันรู้สึกแย่มาก
เจ้าของกระทู้ใช้ชื่อว่า คุณแอน โพสมาเมื่อ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ พอผมอ่านแล้วตั้งใจเลยว่าจะต้องเขียนเรื่องนี้ ผมขอตัดตอนมาดังนี้
“ฉันรู้สึกแย่มากๆ เพราะบันทึกที่ฉันได้อ่านก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ทั้งๆที่ที่ผ่านมาฉันก็ไม่เคยสัมผัสถึงความรักอยู่แล้ว และเขาก็ไม่เคยบอกรักฉันเลยสักครั้งตั้งแต่แต่งงานกันมา ฉันเคยถามเขาก็ตอบว่าให้ดูเอาเอง
....แต่กับบันทึกเล่มนั้นเขาพร่ำอยู่เสมอว่า รักเหลือเกิน เขาบ่นว่า หญิงคนนั้นคือ ชีวิตจิตใจของเขา แต่เวลาก็ผ่านมาแล้วบันทึกฉบับนั้นปี 43 ซึ่งเขาแต่งงานกับฉันปี 46 เรารู้จักกันเพียง 6 เดือน เขาไม่แคร์ความรู้สึกของฉัน....”
ตรงนี้ผมรู้สึกประหลาดใจเป็นอันมากว่า ทำไมคุณแอนเธอถึงยอมแต่งงานกับคุณผู้ชายสามี ที่ไม่เคยบอกรักสักครั้ง เพราะในความเห็นของผมว่า เรื่องความรักนั้นสำคัญมาก การบอกรักอาจไม่จำเป็น หากเป็นการแต่งงานโดยพ่อแม่เลือกคู่ครองให้ แต่เมื่อแต่งกันแล้วอาจบอกรักกันภายหลัง หรืออยู่ไปก็รักกันไปเองโดยไม่ต้องบอกกัน อย่างนั้นก็อาจเป็นไปได้
ดูอย่างคุณพลอยในเรื่องสี่แผ่นดินนั่นปะไร เธอรักคุณเปรมเสียเมื่อไหร่กัน แต่ความรักของคุณพลอยนั้น ตั้งแต่เป็นสาวรู้จักความรัก เธอก็มอบให้กับคุณเนื่องพี่ชายของคุณช้อยเสียจนหมดสิ้น แต่ฝ่ายชายเมื่อไปเป็นทหารขึ้นไปอยู่หัวเมือง ก็ทำให้คุณพลอยผิดหวัง คือไปได้เสียเป็นเมียผัวกับผู้หญิงชาวบ้านในทำนองได้ “คุณนายปิ่นโต” เหมือนอย่างที่นายตำรวจทหารรวมทั้งข้าราชการอีกหลายนาย พอไปอยู่บ้านนอกห่างแสงสีความเหงาเปล่าเปลี่ยวก็จับใจ ในอำเภอที่ไปอยู่ก็ไม่ค่อยจะมีร้านค้าต้องผูกปิ่นโตกิน ในที่สุดก็ตกล่องปล่องชิ้นกับสาวส่งปิ่นโต อันเป็นที่มาของคำว่า ‘คุณนายปิ่นโต’ นั่นเอง
คุณแอนเธอแต่งงานกับฝ่ายชาย ซึ่งต่อมาเป็นสามีและเขาก็ไม่เคยบอกกับคุณแอนผู้อาภัพว่า “ฉันรักเธอ” หรือ “ผมรักคุณ” เลยแม้แต่คำเดียว
ในการแต่งงานของไทยนั้น ตามพิธีการฝ่ายหญิง-ชาย ไม่มีคำสาบานให้กัน แต่ธรรมเนียมฝรั่งนั้นมีอยู่ชัดเจน ตอนที่ยืนอยู่บนแท่นพิธีแต่งงาน เขาต้องให้สัญญาว่าจะรักและทะนุถนอมกันและกันจนตายจากกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้สัญญารักต่อหน้าญาติมิตรทั้งหลายที่มาป็นสักขีพยาน
ลองดูในเพลง Hawaiian Wedding Song ซึ่งเป็นเพลงเอกในเรื่อง Blue Hawaii จะเห็นได้ชัดเจน ลองดูบางท่อนก็ได้
Here I am now dear,
You're my love, I know dear
Promise me that you will leave me never
I will love you longer than forever
หวานซึ้งซะไม่มีล่ะ รักกันนานกว่า ‘ชั่วกัลป์ปาวสานต์’ เสียอีกแน่ะ !
คนไทยนั้นไม่มีธรรมเนียมต้องสาบานเหมือนฝรั่งเขา แต่คู่สมรสอาจไปบอกกล่าวตอนงานกินเลี้ยง ตอนที่พิธีกรในงานเขาเรียกเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปกล่าวขอบคุณแขก ซึ่งดูแล้วไม่สู้จะขลังสักเท่าใดนัก เพราะผู้คนมัวแต่กินข้าวกินเหล้า สนุกสนานเฮฮากันอยู่ข้างล่าง เจ้าบ่าวอยู่บนเวทีอาจพูด ว่า
“ผมสัญญาต่อท่านแขกผู้มีเกียรติว่า จะรักและดูแลเจ้าสาวตลอดไป” ซึ่งก็รู้สึกธรรมดาไม่ได้ประทับใจอะไรนัก แต่ผมเองก็เคยเจอเจ้าบ่าวที่ทะเล้น ตอนกล่าวขอบคุณแขกคงกินเหล้าเข้าไปหลายแก้ว เวลาเขาให้ไปกล่าวอวยพร เจ้าบ่าวก็เซเข้าหาไมโครโฟน กล่าวว่า
“ผมขอให้สัญญาต่อหน้าญาติมิตร และแขกผู้มีเกียรติว่า...จะรักและซื่อสัตย์ต่อเจ้าสาวตลอดไป.....” ผู้คนตบมือเกรียว...เจ้าบ่าวพูดต่อ
“แต่ผมก็ไม่ค่อยจะไว้ใจตัวเองสักเท่าไหร่ ว่าจะไม่เผลอไผลไปมีคนอื่น...ตรงนี้เลยต้องขอความกรุณาเจ้าสาว ดูแลผมให้ใกล้ชิดหน่อย อย่าให้ห่างหูห่างตาเป็นอันขาดทีเดียว !”
คนอย่างนี้มีนะครับ
เจ้าบ่าวพยายามออกมุกตลก แต่ฟังแล้วไม่ค่อยจะเข้าท่าสักเท่าไหร่ หากผมเป็นเจ้าสาว เวลาอยู่ด้วยกันต้องหาตะบองไว้ใกล้ตัว เพื่อจะได้ดูแลเจ้าบ่าวให้ใกล้ชิดตามที่แกอยากให้ดูแลเอาไว้ ถ้าเผลอไผลอย่างที่ว่าเมื่อ จะได้หยิบมาทุบเปรี้ยงเข้าให้ เอาทีเดียวให้ชักเลย
จะได้เข็ดกันซะบ้าง !
บอกรักอย่างเดียวก็คงไม่พอ แต่เมื่อรักกันแล้ว หรืออยู่กินด้วยกันแล้ว คนเราต้องพูดกันด้วย ไม่พูดไม่ได้ เพราะจำเป็นมาก ต่างฝ่ายต่างอมความทุกข์ ข้อสงสัยเกี่ยวกับคู่รักคู่ครองเอาไว้ในใจ ไม่รู้จักพูดปรับคงวามเข้าซึ่งกันใจ ความคับอกคับหัวจิตมันก็ทวีเปล่าๆปลี้ๆ ไม่เข้าการ
ตรงนี้มีตัวอย่างให้เห็นผลร้าย ของการไม่ยอมพูดปรับความเข้าใจกันนี่แหละ เช่น
เมื่อไม่นานผมได้ยินท่าอาจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา พูดถึงเรื่องนี้อยู่ในรายการของท่านทางวิทยุ FM ๙๔ โดยอาจารย์ได้เล่าถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘ไผ่สีทอง’ ดูเหมือนจะทำเป็นทั้งหนังและละคร ตอนเป็นภาพยนตรฺ์นั้น คุณสรพงษ์ ชาตรี เป็นพระเอก คุณสุพรรษา เนื่องภิรมย์ รับบทนางเอก
พระเอกนั้น เป็นบัณฑิตจบทางวารสารหรืออักษรฯ ผมไม่แน่ใจ มาทำงานในโรงพิมพ์ของพ่อนางเอก ก็รักกันดี แต่วันหนึ่งมีญาตินางเอกเป็นชายหนุ่มหล่อ มาจากต่างประเทศ ได้มาพักอยู่ที่บ้านของพ่อนางเอก ซึ่งเธอก็ต้องทำหน้าที่รับรองแขก พาไปเที่ยวกินข้าวอะไรทำนองนี้ พระเอกก็เข้าใจผิด คิดว่านางเอกไปรักคนอื่นและทิ้งเขา แล้วก็ตามประสาคนอกหักแบบไทย คือต้องกินเหล้าจนเมามาย เมื่อพบหน้ากันก็หนีบขวดเหล้า ยืนโงกเงกต่อว่านางเอก ซึ่งแทนที่จะชี้แจงเหตุผลให้ฝ่ายชายทราบ นางเองกลับเงียบเฉยซะอย่างนั้นแหละ ปล่อยให้พระเอกสรพงษ์ต่อว่าจนสะใจแล้ว พ่อเจ้าประคุณก็ผลุนผันไป นางเอกสุพรรษาก็ได้แต่ยืนทื่อมะลื่อ ปากก็ร้องเรียก
“ไผ่...ไผ่...ไผ่...” (ชื่อเล่น พระเอก) จนฝ่ายชายลับหายไป
พ่อพระเอกผู้พ่ายแพ้ต่อชะตาชีวิต ซมซานหนีนางเอกไปไปเป็นนักประพันธ์ไส้แห้ง แต่โชคชะตาพาให้กลายเป็นนักเขียนใหญ่ ได้รับรางวัลระดับชาติจากนิยายเรื่อง ‘ไผ่สีทอง’ ที่เขาประพันธ์ และนางเอกลูกเจ้าของโรงพิมพ์อ่านเข้า ก็คิดว่าน่าจะเป็นคนที่เคยรักกันมาก่อนแน่ๆจึงตามไปพบปรากฏว่าพระเอกของเราเป็นวัณโรคใกล้ตายแล้ว เรื่องราวเลยค่อนข้างเศร้าหน่อยๆ แต่ถูกใจคอหนังไทย และทำรายได้ดี
ความจริงเรื่องอย่างนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น และพระเอกก็ไม่จำเป็นต้องไปตกระกำลำบากเลยแม้แต่นิด นั่นเคือแทนที่นางเอกจะตะโกนเรียกคนรักว่า “ไผ่...ไผ่...ไผ่...” ก็เติมเข้าไปสักหน่อยว่า
“ไผ่...ไผ่...ไผ่...ไผ่กำลังเข้าใจผิดนะ...
....คนที่ไผ่กล่าวหาว่าฉันปันใจให้น่ะ เป็นญาติแท้ๆของฉันเองนะไผ่......ฉันไม่ได้รักเขา ฉันรักไผ่..ฉันรักไผ่...ได้ยินไหม ฉันรักไผ่คนเดียวรู้ไหมจ๊ะ...อีตาโง่!”
ก็แค่นี้แหละ ไม่เห็นมีปัญหาทำให้ดอกพิกุลร่วงพรู ออกจากปากซะเมื่อไหร่กัน พระเอกก็ไม่ต้องไปตกระกำลำบากลำบนอย่างนั้น
จริงไหมล่ะ !!
คนเรารักกันนั้นต้องพูดกัน แต่ไม่ใช่คนรักกันเท่านั้น ในวงการราชการ ธุรกิจ แม้แต่วงการทหาร ท่าต่างฝ่ายต่างถือดีซึ่งกันและกัน ไม่ปรับความเข้าใจเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ธุรกิจนั้นหรือราชการงานเมืองนั้นๆก็พลันเสียหาย
วงการทหารนั้นยิ่งหนัก ถ้าไม่สนทนาปรับความเข้าใจ แต่ละกองทัพถือว่าตัวเองเก่ง เป็นกำลังรบหลัก แข่งบารมีกัน ตัวอย่างก็มีให้เห็นคือ ญี่ปุ่น
ไม่น่าเชื่อว่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพลูกพระอาทิตย์นั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ กับผู้บัญชาการทหารบก ไม่พูดกัน เป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ในการพ่ายแพ้สงครามเลยทีเดียว ใครอยากรู้ลองไปศึกษาดู ก็จะเห็นจริงตามที่ผมว่ามา
การพูดจานั้นถ้าพูดกันด้วยมธุรสวาจา หรือวาจาหวานไพเราะแล้ว ความร่วมมือร่วมใจก็จะเกิดขึ้น นี่เป็นสัจธรรม
ความจริงแล้วการพูดของคนไทยนั้น ก็ไม่ได้เป็นรองใคร การพูดของชาติเรามีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม มัน และที่ขาดไม่ได้คือรสเผ็ด ซึ่งรสเหล่านี้ก็ไปปรากฏชัดในวรรณคดี ซึ่งสามารถสัมผัสรสอันวิเศษได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของความรักระหว่างชายหญิง ตำราวรรณคดีไทยแบ่งเป็นสี่รส ชื่อสอดคล้องกัน คือ เสาวรจนี ,นารีปราโมทย์, พิโรธวาทัง, สัลลาปังคพิไสย
อธิบายได้ว่า
เสาวรจนี นั้นเป็นรสการชม ชมโฉม ความงาม บรรยายพร่ำพรรณาถึงความงามแห่งนางอันเป็นที่รัก ศัพท์นั้นแปลตรงตัว คือ เสาว เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่าดี, งาม รจนี แปลว่าการตกแต่ง, หรือการประพันธ์ เรียกอีกอย่างคือ ‘คำหยาด’ การชมนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เราชมของเราว่าสวย แต่คนอื่นอาจเห็นตรงข้ามก็ได้
พิโรธวาทัง คือคำที่ระบายความโกรธแค้น ขุ่นเคือง แสดงออกมาเป็นคำพูดด้วยการตัดพ้อต่อว่าให้สะใจ เพื่อปลดปล่อยความผิดหวัง ความแค้นคับอับจิต ความน้อยเนื้อต่ำใจ ปะปนด้วยความการเสียดสี โกรธเกรี้ยว อ่านแล้วถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณนัก คำว่าพิโรธ แปลว่า โกรธกริ้ว ไม่สบอารมณ์ วาทังหรือวาทะก็คือ คำพูดนั่นเอง
สัลลาปังคพิไสย เป็นการแสดงความโศกเศร้า ด้วยการโอดคร่ำครวญ เมื่อต้องพลัดพรากจากนางหรือสิ่งอันเป็นที่รัก อย่างที่เราได้พบเห็นในวรรณคดีนิราศทั้งหลาย ซึ่งกวีผู้แต่งต้องระหกระเหเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ เพราะความจำเป็นส่วนตัวหรือราชการงานทัพ คำว่า สัลล หมายถึงความโศกเศร้าโศการ่ำหาน้ำตานอง การครวญคร่ำรำพึงรำพันด้วยความรู้สึกปวดร้าวรานใจ ส่วน สัลลาป เป็นการพูดจากัน เมื่อผนวกกับ องค์ หมายถึง บท, ชิ้น อัน, มารวมกับคำว่า พิไสย คือ ความสามารถ หรืออาจแผลงมาจาก วิสัย ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ หรือ สันดาน ก็เป็นได้ ก็กลายเป็นการแสดงความโศกเศร้าด้วยการโอดคร่ำครวญ นั่นเอง
สำหรับ นารีปราโมทย์ ซึ่งเป็นลำดับที่สองแต่ผมยกเอามาไว้ท้ายนั้น มาจากคำว่า นารี แปลว่า หญิง บวกกับ ปราโมทย์ หรือ ปราโมช คือ ความปลื้มใจ, ความบันเทิงใจ, หมายถึงการทำให้ "นารี" นั้น ปลื้มปราโมทย์ ซึ่งรูปแบบที่เราคุ้นกันนักคือ การแสดงความรักโดยผ่านการเกี้ยว และการโอ้โลมปฏิโลม ซึ่งคำนี้ผมชอบมาก เพราะตามศัพท์แล้วโอ้โลม ก็หมายถึงการใช้มือลูบไปตามโลมหรือโลมา คือแนวขน แล้วหมุนย้อนคือ ปฏิขน ขึ้นมา เรียกว่าลูบขึ้นลูบลง ว่ากันตรงๆอย่างนั้นเถอะ อย่างนี้แหละที่สวีทและโรแมนติคยิ่งนัก อย่าว่าแต่ผู้ชายลูบผู้หญิงเลย แม้คุณผู้หญิงมาลูบชาย
ฮู้ฮู้ย ยยยยยยยยยยยยย......
ความรู้สึกปราโมทย์ มันก็เอ่อขึ้นมา.....เต็มหัวใจทีเดียวเชียวแหละ
นี่ไม่ได้นึกเอาเอง แต่พูดอย่างคนที่มีประสบการณ์มาก่อนเชียวนะ !
ตัวอย่างของบทประพันธ์ที่เรียกว่า นารีปราโมทย์ นั้น มีให้เห็นหลายบท ที่ผู้คนรู้จักกันดีก็บท พระอภัยมณีโอ้โลมนางละเวง ที่ไพเราะมาก
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
ถึงอยู่ในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
อีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ที่เรารู้จักกันดี จาก ‘วิวาห์พระสมุทร’ ที่ร้องในทำนอง ‘คลื่นกระทบฝั่ง’ คือ
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมน
อ้าดวงสุรีย์ศรีของพี่เอ๋ย ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีก
ขอเชิญจันทร์ส่องสว่างกลางสกล เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา
ความจริงเรื่องการพูดว่า ฉันรักเธอ หรือรักคุณนะ นี่ฝ่ายชายจะเป็นผู้กล่าวกับฝ่ายหญิง แต่ยุคนี้ชักไม่แน่ใจว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เพราะในยุคไอที อะไรต่อมิอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เนื่องจากเรามีสิทธิเสรีภาพเท่ากันทั้งชายหญิงตามรัฐธรรมนูญ หากสตรีจะเป็นฝ่ายเอ่ยขึ้นมาก็ไม่น่าแปลก
ใครมาพูดว่า “ฉันรักเธอ” กับผมบ่อยๆ ก็น่าจะเป็นของดี กับตัวคนเขียนด้วยซ้ำไป !
กรณีคุณแอนแต่งงานกัน โดยฝ่ายสามีไม่เคยเอ่ยปากฝากรักสักครั้ง มันดูแปลกสำหรับผม
หากเป็นคุณแอน ผมจะไม่รีรอเลยที่จะถามคุณผู้ชาย ว่า
“คุณขา อยู่มาจนมีลูกด้วยกันคนหนึ่งแล้ว แต่คุณยังไม่ได้บอกรักแอนเลยสักคำ...” แล้วก็ยิงคำถามสำคัญเข้าไปเลย คือ
“ถามตรงๆ ‘คุณรักฉัน’ หรือเปล่าคะ !?”
พูดกันซื่อๆอย่างนี้แหละ ให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
หากเขาบอกรัก ก็กรุณาลืมเรื่องจดหมายที่คุณแอนไปพบเข้า แล้วนำมาทรมานใจตัวเองออกไปให้หมด อย่างทิ้งไว้ให้เป็นเสี้ยนเป็นซากแทงใจตัวเองอยู่เลย เอาอย่างเรื่อง Love Story ที่เขาบอกว่า
Love means never having to say you’re sorry.
แต่ถ้าเขาบอก “ฉันไม่รักเธอ” ตรงๆทื่อๆ ก็เห็นทีจะต้อง มานั่งทบทวนกันอีกทีว่า จะทนอยู่ร้าวรานหัวใจอีกต่อไป ดีไหมนะ ?
หรือจะเอาอย่างที่มีผุ้โพสแนะนำ เข้าไปในกระทู้ของคุณแอน ว่า
“Leave him!?”