xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 192 “มาร้องเพลงกันเถอะ (แต่อย่าเอาอย่าง ‘ผู้ว่าฯบ้าร้อง’ นะ!)”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้....จิบกาแฟขมกับตะโก้ ด้วยเหตุที่ว่าสั่งซื้อขนมตาลแล้วปรากฏว่า เจ้าประจำที่เขาเอามาจากสิงห์บุรี แต่เช้าวันนี้นึกอย่างไรไม่ทราบ เอาตะโก้มาแทนขนมตาล ซึ่งรสชาติก็พออาศัย แต่ยังไม่เข้าขั้น หนักไปทางหวานเสียมากจนไม่กลมกล่อมเท่าที่ควร ต้องให้พอสมพอควร แก่หวานไปไม่ดีทั้งคาวหวาน เพราะปัจจุบันผู้คนกลัวอ้วนกันมาก

ขนมลูกชุบที่นำไปขายที่สนามบินนั้น ฟังมาว่าทางการท่าอากาศยานเขาให้ลดความหวานลงจากเดิมเหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์จะได้ถูกปากลูกค้าฝรั่ง ใครจะไปคิดว่าขายขนมลูกชุบที่แอร์พอร์ตอย่างเดียวนั้น มีรายได้เดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) เลยทีเดียว ใครผ่านไปทางสนามบิน ลองซื้อรับประทานดูว่าของเขาอร่อยแค่ไหน ทำไมจึงขายดิบขายดีอย่างนั้นทีเดียวเชียว

ผมฟังรายการวิทยุเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเช้าตรู่ระหว่าง ๐๔.๐๐-๐๕.๐๐ น. ต้องฟังคลื่น FM ๑๐๐.๕ อสมท.รายการสวนอักษร ซึ่งทางสถานีได้จัดหาหนังสือที่น่าสนใจ มาอ่านให้ผู้ฟังได้รับฟังกัน ทุกวันจันทร์ช่วงนี้ คุณวรรณลักษณ์ ศรีสด ก็นำเอาหนังสือ สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน ที่เขียนโดยคุณ วิมลพรรณ ปีตะวัช มาอ่านให้ฟัง แฟนๆที่ติดใจเสียงหวานไพเราะและการอ่านที่นุ่มเนียน และได้ความรู้สึก ของคุณ วรรณลักษณ์ฯ ฟังไปแค่ไม่กี่ตอน ต้องรีบไปหาหนังสือมาอ่าน เพราะอดใจรอไม่ไหว
พอถึงเช้าวันอาทิตย์เวลาเก้าโมงครึ่ง ผมฟังคลื่น FM๙๗ ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งดำเนินการโดยท่าน อ.วีณา เชิดบุญชาติ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์กับทีมงาน เพราะชอบรายการของคุณ อารีย์ นักดนตรี คือได้ฟังเสียงของนางเอกอมตะท่านนี้คราใด มีความสบายใจที่ได้ยิน ด้วยวิธีการพูดที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

โดยเฉพาะคำลงท้ายประโยคที่คุณอารีย์ว่า “...นะคะ” ซึ่งฟังน่ารัก และระรื่นหูอย่างยิ่ง

ได้ฟังสปอทโฆษณาของสถานีนี้หลายครั้ง เขาบอกว่าทางท่านอาจารย์วีณาฯ มีโครงการฝึกการร้องเพลงให้กับผู้สนใจ ด้วยรายการต่างๆ เช่น พาไปฝึกหัดขับร้องตามเมืองชายทะเล ลงเรือไปร้องเพลงกัน หรือบางครั้งก็จัดการฝึกที่สถานีวิทยุ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม ที่เดียวกับอาคารและโรงแรม Trinity (ทรินิตี้) ดูเหมือนว่าจะมีผู้สนใจเข้าฝึกกันมาก เพราะได้อาจารย์ผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ และความสามารถสูงอย่าง คุณ สวลี ผกาพันธ์ ที่เคารพของผม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ให้กับลูกศิษย์แบบมืออาชีพจริงๆ จึงแน่ใจว่าผู้ที่ได้มาเรียนกับท่าน จะสามารถพัฒนาการร้องเพลง ให้ก้าวหน้าขึ้นได้อย่างแน่นอน

การฟังเพลงและการได้ร้องเพลงนั้น มีประโยชน์อย่างมาก เมื่อลูกยังเด็กผมมีเทปเล็กๆ ใส่เพลงบรรเลงเพราะๆ หลายแบบ ตั้งแต่เพลงที่มีคำร้องและบรรเลงอย่างเดียวทั้ง ไลท์มิวสิค ถึงโอเปร่า รวมทั้งเพลงไทยเดิม วางไว้บนเตียงของลูกตั้งแต่ยังแบเบาะ เพื่อให้เขาได้ฟังดนตรีหลากหลายแบบตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ไม่น่าเชื่อว่าลูกๆโตขึ้น สามารถแต่งเพลงออกมาได้ไพเราะเพราะพริ้ง ขายดิบขายดี ได้รับรางวัลระดับชาติ ที่นักดนตรีอาชีพทั้งหลายต้องการหลายรางวัล ตั้งแต่ครั้งยังเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกด้วย รวมทั้งมีละครคณะต่างๆมาว่าจ้างให้ทำเพลงประกอบ หรือทำ score เปียโนให้กับละคร รวมทั้งภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งก็สามารถเพิ่มรายได้ให้กับลูกๆได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากงานประจำที่มีอยู่ ในฐานะซี.อี.โอ.ของบริษัทเก่าแก่ และยังมีรายได้แต่ละเดือนจากลิขสิทธิ์เพลงที่แต่งอีกต่างหากด้วย ที่สำคัญกว้านั้นก็คือ

งานประพันธ์เพลงนี้ ทำได้ตลอดชีวิต ชนิดไม่มีเกษียณอายุอีกด้วย !

ตามตำราทางการแพทย์ปัจจุบันเขาบอกว่า การฟังเพลงช่วยทำให้สุขภาพจิตดี พัฒนาสมองและระบบความจำของเด็ก ถ้าเป็นเสียงที่เกิดจากคนใกล้ชิดด้วยแล้ว เสียงยิ่งจะสร้างความอบอุ่นให้แก่เด็กมากยิ่งขึ้น
ผมจึงเลือกการร้องเพลงกล่อมลูก ตอนยังเป็นเด็กทารกด้วยตนเองเสมอ ทั้งเพลงไทย-ฝรั่ง อย่างเพลง Lullaby บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งแสนจะไพเราะ รวมทั้งเพลงกล่อมเด็กแบบโบราณของไทยเรา ที่ลูกชอบมากก็อย่างเช่น เพลงกาเหว่า ที่ขึ้นต้นว่า

กาเหว่าเอย ไข่ให้แม่กาฟัก แม่กาหลงรัก คิดว่าลูกในอุทร
คาบข้าวมาเผื่อ คาบเหยื่อมาป้อน ปีกหางเจ้ายังอ่อน สอนร่อนสอนบิน....


หรือเพลงวัดโบสถ์

วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี ลูกเขยตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี
ข้าวโพดสาลี ป่านฉะนี้จะโรยรา


ถ้าแม่กล่อม ก็มักจะเป็นเพลงนกเขาขัน (บ้างก็เรียก นกเขาเถื่อน)

เจ้านกเขาเถื่อนเอย ให้เจ้าอยู่เรือนเลี้ยงน้อง แม่จะไปขายของ เลี้ยงน้องเถิดพ่อคุณเอย
นกเขาเอย ขันแต่เช้าไปจนเย็น ขันไปให้ดังแม่จะฟังเสียงเล่น เนื้อเย็นเจ้าคนเดียวเอย


อย่างนี้เป็นต้น

ตัวคนเขียนเองมีความเชื่อว่า เสียงของบิดามารดานั้น จะทำให้เส้นสมองของเด็กพัฒนาแตกกิ่งก้านสาขา บังเกิดความเฟื่องฟูแตกฉาน และเป็นผลดีแก่เด็กที่จะเติบโตต่อไป

เพลงที่พ่อแม่ร้องให้ลูกฟัง โดยเฉพาะแม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด เมื่อลูกฟังแล้วก็จะรู้สึกอบอุ่น มีความมั่นคงทางอารมณ์เป็นอย่างมาก เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีการสอนให้เด็กร้องเพลงนั้น เขามีวิธีการสอนให้ร้องเพลงด้วยชื่อโน๊ต ที่เรียกกันว่า SOLFEGE SINGING เพื่อเป็นการนำผู้เรียนทางด้านประสาทสัมผัส ให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว เพลงและดนตรีเป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ทำให้เส้นใยประสาทแตกแขนงมากขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ความทรงจำ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถจดจำสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ได้ดี เด็กมีโอกาสสนุกสนานกับการร้องเพลง กันได้อย่างไพเราะในเวลาอันรวดเร็ว และปูพื้นการร้องเพลงอย่างถูกต้องด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า การร้องเพลงจะช่วยเรียก ‘ความทรงจำ’ บางส่วนของผู้สูงอายุคืนมา ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้ฟังเพลงก่อนการบำบัดโรค จะผ่อนคลาย มีสติและกำลังใจ ส่งผลดีต่อการรักษาพยาบาลเป็นอย่างมากอีกด้วย

เมื่อฟังเพลงมีความสุขแล้ว ถ้าได้หัดร้องด้วยยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะการร้องเพลงนั้นจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลง ตรงนี้ผมเชื่อเพราะเพื่อนสนิทคนหนี่ง มีธุรกิจการค้ามากขั้นมหาเศรษฐี เขามีโรคเกี่ยวกับความดันโลหิต ตกเย็นเพื่อนคนนี้จะเปิดมิวสิควีดีโอ ร้องเพลงกับลูกน้อง ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผมเคยเห็นผู้ใหญ่บางท่าน เช่นคุณ สวัสดิภาพ กันทาธรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ตอนนี้เป็นวุฒิสมาชิก จังหวัดแพร่ ท้ายรถของท่านมีเครื่องคาราโอเกะอยู่ด้วย ไปถึงบ้านไหน เจ้าภาพไม่มีเครื่องเสียง ท่านก็ยกออกมาตั้งแล้วร้องเอง

ดูแล้ว...ก็น่ารักดี

ผมให้ลูกๆเรียนเปียโน เพราะเขาเห็นเครื่องดนตรีชนิดนี้ตั้งอยู่ในบ้านตั้งแต่เกิด อีกทั้งตัวเองคิดว่า การกดนิ้วลงบนแป้นคีย์ ทำให้นิ้วมือมีกำลัง และเป็นการฝึกแยกประสาทควบคุมมือทั้งสองข้าง และเปียโนมีโน๊ตจำนวนมาก ทำให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและมีความแม่นยำกับตัวโน๊ต ซึ่งจะส่งเสริมให้ประสาทหูเด็กในการจำแนกเสียงได้เป็นอย่างดี

พอเขามีลูกเอง หลานปู่ของผู้เขียน ก็ต้องดำเนินตามรอยเดิม คือต้องรู้จักและทำความคุ้นเคยกับเปียโนตั้งแต่เด็ก หลานตัวน้อยๆทีน่าเอ็นดูของผม (ที่ท่านผู้อ่านเห็นตามรูปประกอบคอลัมน์) แค่ขวบกว่าเธอก็มีวิธีการวางมือ ตั้งท่าจะพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนเองได้อย่างน่ารัก และแม่หนูน้อยจะได้เรียนและเล่นเครื่องมือดนตรีนี้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อสืบสานความรักดนตรีของบรรพบุรุษต่อไป

เคยอ่านพบว่าเด็กที่เรียนเปียโนนั้น จะช่วยพัฒนาการเรียนคำนวณด้วย ส่วนเหตุผลจะเป็นอย่างไรนั้น จะไปค้นคว้ามานำเสนอท่านผู้อ่านต่อไป แต่ขอแนะนำว่า หากท่านมีกำลังและเวลาพอให้ลูกเรียนดนตรีได้ อยากแนะนำให้เด็กของท่านได้เรียนเครื่องดนตรีชนิดใดก็ได้ ไม่ว่าเครื่องดีด สี ตี เป่า ไม่ว่าจะเป็นของฝรั่งหรือไทยเรา เพราะจะทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน และสุขภาพจิตที่ดี สมกับคำครูที่ว่า “....อันดนตรีมีคุณทุกสิ่งไป”

ที่เห็นว่าการร้องเพลงมีคุณค่ามาก เพราะที่ข้างบ้านผมมีคุณลุงอยู่คนหนึ่ง ท่านป่วยมาเป็นเวลานาน ต้องนั่งรถเข็น ต่อมาแพทย์คงแนะนำให้ท่านร้องเพลง ทุกเช้าและเย็น พยาบาลประจำตัวของคุณลุงจะเปิดซีดีคาราโอเกะ และร้องเพลงกับผู้ป่วย ส่งเสียงมาให้ผมได้ยินทุกวัน เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งท่านสิ้นลมไป ได้แอบถามพยาบาลว่า คุณลุงทรมานหรือไม่ก่อนที่จะเสียชีวิต

เธอบอกว่าปกติดี แต่ถึงเวลาก็หลุดลอยไป เหมือนมะม่วงที่งอมแล้ว ร่วงหล่นไปเอง !

ฟังแล้วผมยกมือขึ้นสาธุ อธิษฐานขอพรพระว่า
เวลาตัวเองจะละจากโลกนี้ไป ก็ขอให้ไปโดยสงบอย่างนี้ แต่อย่าให้ต้องนั่งรถเข็นเหมือนคุณลุงท่านเลย

เรื่องของคุณลุงทำให้ผมเชื่อว่า ดนตรีเพื่อการบำบัดนั้น เป็นของดีมีคุณอย่างวิเศษ เวลาไปสวนลุมพินี จะเห็นคนไทยเชื้อสายจีนสูงอายุจับกลุ่มกันร้องเพลง ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงและการหายใจทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ปอดผู้สูงวัยเหล่านี้แข็งแรง สมองก็จะสร้างระบบความจำใหม่ๆ จากทำนอง จังหวะ และภาษาที่แตกต่างไป การร้องเพลงที่ถูกวิธีนั้น จะทำให้กล้ามเนื้อเส้นเสียงแข็งแรง และทำงานได้มีประสิทธิภาพ

ผู้มีอายุแล้วได้ฝึกร้องเพลงเป็นประจำจึงมีเสียงที่อ่อนกว่าวัย ดูอย่าง คุณสวลี ผกาพันธ์ ท่านฉลองครบ ๖ รอบไปแล้ว แต่เพราะได้ร้องเพลงทุกวัน

เสียงจึงยังแจ่มใสเหมือน ‘ระฆังหยก’ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน !

ผมชอบไปสวนลุมพินี และนั่งฟังการร้องเพลงของบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีน เพลงไหนที่รู้จักก็ร่วมร้องกับเขาด้วย ดูแล้วเห็นว่าท่านผู้สูงอายุเหล่านั้นล้วนมีความสุขดี แม้แต่วันฝนตกฟ้าร้องอย่างไร ไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะบรรดาสมาชิกเหล่านี้หาได้ท้อถอย และไม่ยอมขาดกิจวัตรที่สำคัญ คือการมาชุมนุมร้องเพลงที่สวนสาธารณะเก่าแก่แห่งนี้กันเลย

การร้องเพลงนั้น หากร้องอยู่ในบ้านคนเดียว หรือร้องให้ฟังกันในหมู่ญาติพี่น้อง ถ้าไม่ได้เป็นการแหกปากร้องตะโกน ให้คนข้างบ้านเขารำคาญ เอาเข้าของเขวี้ยงเข้ามาในบ้าน ก็นับว่าเป็นของดีมีประโยชน์ แต่มีการร้องเพลงที่ไม่ค่อยจะถูกกาลเทศะบางกรณี ทำให้ผู้คนเขารำคาญก็มี อย่างจดหมายที่จะนำมาเสนอกับท่านผู้อ่านต่อไปนี้ ผมได้รับสำเนาซึ่งส่งมาถึงผมตั้งแต่ห้าปีที่แล้วและยังเก็บไว้ เพราะเห็นว่าอ่านแล้วต้องอมยิ้ม

จดหมายฉบับนี้มาจากผู้ใช้ชื่อว่า “คนขี้รำคาญ” ซึ่งส่งถึงท่านอาจารย์ซึ่งเป็น kuruทางกฎหมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ และมีเว็บไซด์ตอบปัญหากฎหมายด้วย แต่ท่านอาจารย์ไม่ได้นำจดหมายฉบับนี้ ลงในเว็บของท่าน

ผมเห็นว่าเขาอุตส่าห์ส่งสำเนามาถึงด้วย คิดว่าจะนำมาลงให้ท่านผู้อ่านได้ดูกัน แต่รออยู่นานเพราะไม่รู้ว่าจะไปขออนุญาตเขาที่ไหนได้ วันนี้จึงตัดสินใจว่าจะต้องนำมาให้ท่านได้อ่านกัน ด้วยเห็นว่าไม่เสียหายอะไร แค่ดัดแปลงจดหมายนิดๆหน่อยๆ เพื่อไม่ให้ไปล่วงเกินผู้อื่นเขา

ส่วนท่านอ่านแล้วจะมีความเห็นอย่างไร ก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่จดหมายเขาว่าเอาไว้อย่างนี้ครับ


ที่บ้าน
25 ต.ค..2543

กราบเรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

ผมดูข่าวโทรทัศน์ตอนเช้า เห็นนายพลวิรันโต อดีต ผบ.สูงสุดประเทศอินโดนีเซียร้องเพลงออกเทป,ซีดีการกุศล เพื่อช่วยเหลือคนติมอร์ตะวันออกแล้ว เห็นว่า

ถ้าตัดเรื่องการเมืองออกไป ผมว่าข้าราชการอินโดนีเซียนี่คงชอบร้องเพลงเหมือนข้าราชการประเทศสาระขันขันของเรา

เอาเป็นว่าในชาติใกล้เคียงกับเรานี่คล้ายๆกัน ผู้นำชอบร้องรำทำเพลง เมียท่านผู้นำอย่างมาร์คอสนี่ ระหว่างสามีอยู่ในตำแหน่ง เธอก็ร้องเพลงการกุศลบ่อยมาก บางครั้งก็เชิญนักร้องระดับโลกมาร้องรำทำเพลงในทำเนียบมาลากันยัง ออกครื้นเครงกันบ่อยๆ

เอาเถอะครับ ไอ้เรื่องการกุศลนี่เราไม่ว่ากัน แต่เมืองสาระขันขันอย่างเรา มีลักษณะพิเศษกว่าเมืองอื่นก็คือ
ข้าราชการบ้านเมืองร้องเพลงกันจัง เหมือนกับว่างานร้องเพลงเป็นอาชีพที่สอง รองจากงานหลักคือราชการ

เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีผู้ว่าคนหนึ่งในจังหวัดทางใต้ ตกค่ำลงท่านต้องไปห้องอาหารในโรงแรมประจำเมือง ซึ่งมีดนตรีสามชิ้น มีนักร้องหญิงคนหนึ่งเป็นนักร้องประจำวง จังหวัดนี้โดยปกติแล้วเงียบสงบมาก ทั้งเมืองมีวงดนตรีประจำห้องอาหารอยู่วงเดียว

ทุกค่ำเวลาท่านผู้ว่าฯต้องไปห้องอาหารแห่งนี้ พร้อมกับข้าราชการในศาลกลางและลูกน้องคนสนิท 2-3 คนทุกวัน (ขอยืนยันว่าทุกวัน) พอรับประทานอาหาร สุรา ไปได้สักพัก ข้าราชการที่มาด้วย จะทำหน้าที่หน้าม้าขึ้นไปประกาศว่า

“วันนี้ ทางห้องอาหารของเราขอกราบเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด.... ขึ้นมาร้องเพลงเพื่อเป็นเกียรติกับห้องอาหารและโรงแรมของเรา....ขอกราบเรียนเชิญครับ”

พูดจบก็ผายมือไปยังโต๊ะของท่านผู้ว่า (ก็โต๊ะของผู้ประกาศนั่นแหละ)

พวกขุนพลอยพยักพเยิดที่โต๊ะของท่านผู้ว่า จะปรบมือเกรียว ยกมือไหว้ท่านแล้วก็ช่วยกันเชิญท่านผู้ว่าฯให้ขึ้นไปร้องเพลงตามคำเชิญ (ไอ้พวกนี้คนในจังหวัดเรียกว่า ‘หน้าม้าอาชีพ’)

ท่านผู้ว่าก็จะทำท่ากระบิดกระบวนเล็กๆน้อยๆ พอเป็นพิธี แล้วลุกจากโต๊ะเดินขึ้นไปบนเวที โดยมีลูกน้องสอดพลอคอยเดินประคับหน้าประคองหลังไป

พอขึ้นเวที ท่านผู้ว่าก็ออกตัวเล็กๆน้อยๆว่า ไม่ใช่นักร้องอาชีพ แล้วก็ตั้งท่าร้องเพลงแรก จากนั้น ท่านก็จะควักเอากระดาษขนาด A4 ออกมา ก็จะมีเนื้อเพลงพิมพ์เรียงกันเป็นตับทั้งแผ่นหน้าและหลัง ซึ่งท่านก็จะร้องติดต่อกันหลายเพลงด้วยความเบิกบาน เฉลี่ยท่านต้องร้องคืนละสิบเพลงขึ้นไป

บ๋อยในห้องอาหารของโรงแรมคนหนึ่งเคยจดเอาไว้ว่า คืนที่ผู้ว่าร้องมากที่สุดถึง ยี่สิบเอ็ดเพลง ซึ่งเด็กที่จดสถิติให้ความเห็นว่า

คงเป็นวันที่คุณนายไม่อยู่บ้าน แกเลยเบิกบานเป็นพิเศษ

พวกที่มานั่งรับประทานอาหาร ถ้าไม่ใช่คนในจังหวัด หรือเป็นพวกแขกที่มาพักโรงแรม ก็อาจสงสัยว่า ตาแก่นี่เพี้ยนหรือเปล่าวะ ตะบี้ตะบันแย่งนักร้องเขาร้องอยู่ได้ ส่วนคนในจังหวัดที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ ต่างเรียกบ่อยมาเก็บเงิน แล้วบ่นว่า

“เอาอีกแล้ว... ‘ผู้ว่า-บ้าร้อง’เอาอีกแล้ว...”
ผมเองก็ได้แต่น่าปลงอนิจจัง อายแทนแกจริงๆ
แต่แปลกจังครับอาจารย์...แกอยู่จังหวัดนี้ได้ตั้งเกือบ 3 ปี !

ผมอยากให้คนทำวิจัย เรื่องข้าราชการบ้าร้องเพลงจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น !!

ขอให้ท่านอาจารย์ซึ่งมีผู้คนนับถือทั่วบ้านทั่วเมือง ออกมาปรามข้าราชการกระดับสูงพวกนี้กันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องบ้าร้องเพลง ให้รู้จักอับจักอาย เอาให้มันพอสมควร ไม่ใช่แย่งนักร้องแหกปากกันทุกวัน...เพราะตอนนี้...

โรคบ้าร้องเพลงระบาดไปทั่วประเทศสาระขันขัน พอๆกับยาบ้าแล้วครับ !!!

เคารพอย่างสูง
จากกระผม
“คนขี้รำคาญ”

........................................

กำลังโหลดความคิดเห็น