xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตการเมืองน่าจะเป็นเช่นไร

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

กลับมาเยี่ยมบ้านคราวนี้ เป็นการเดินทางที่ทรหดแบบไม่ธรรมดาจริงๆ

การโดยสารเครื่องบินรวมระยะเวลาเปลี่ยนเครื่องนานกว่า 20 ชั่วโมงจากอเมริกาถึงกรุงเทพฯ ทำให้เหน็ดเหนื่อยไม่น้อย ตลอดเวลาที่อยู่เครื่องบินรู้สึกอึดอัดคับแคบอีกนึกคิดเรื่อยเปื่อยจนไม่สามารถข่มตาให้หลับได้เลย

เครื่องบินแตะรันเวย์สนามบินดอนเมืองเที่ยงคืนตรง แต่ความอ่อนเปลี้ยจากการเดินทางถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโหมหนักด้วยเวลาที่เปลี่ยนไปจนกลับตาลปัตรจากกลางคืนเป็นกลางวันอันเหมือนจะกลั่นแกล้งไม่ให้ร่างกายพักผ่อนเอาง่ายๆ

นั่งทุรนทุรายเพราะนอนไม่หลับอยู่สักพัก สายตาจึงพาดสาดส่องไปตามชั้นหนังสือที่ตั้งไว้ที่กลางห้อง เห็นหนังสือปกสีขาวเล่มเล็กเรียงกันเป็นตับซ้ำๆ กันราวสิบเล่มได้ จึงไม่รีรอที่จะสุ่มหยิบออกมาอ่าน เมื่อเห็นหน้าปกพร้อมชื่อเรื่องก็ชวนให้คิดถึงวันวานเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตอยู่ในมหาวิทยาลัย

หนังสือปกขาวขนาดกระดาษขนาดมาตรฐานเอสี่พับครึ่ง มีรูปลายเส้นการ์ตูนรูปผู้ใหญ่ผูกเนกไทใส่แว่นตากลมกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่บนม้านั่งยาวอยู่ตรงกลาง ส่วนบนของปกกระดาษอาร์ตด้านเขียนชื่อเรื่องไว้ว่า “อนาคตการเมือง กับ อนาคตบัณฑิตรัฐศาสตร์” ที่มุมล่างเขียนชื่อตัวหนาเล็กไว้ว่า “ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช”

ขณะที่อ่านทุกตัวอักษรผ่านสายตา ความหลังก็เข้ามาเยี่ยมเยือน หนังสือเล่มที่ว่า เกิดขึ้นเมื่อพวกเรานึกครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยากทำกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการนอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นในคณะ ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่าช่างแห้งแล้งห่อเหี่ยวเหลือเกิน นักเรียนรัฐศาสตร์ถูกมองว่าเป็นเพียงนักเรียนเก่งที่สอบเอ็นทรานซ์เข้าได้เพราะคะแนนสูง มิใช่เกิดจากความสนใจและอุดมการณ์ใฝ่รู้เรื่องรัฐศาสตร์จริงๆ เพราะไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่แสดงออกถึงความจริงจังในเรื่องดังกล่าวเลย

เมื่ออยู่ปีสี่ ผมได้รับเลือกให้ทำหน้าที่บริหารในสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ หรือรู้จักกันในหมู่นิสิตฯ ว่า “กกบ.” (ย่อมาจาก คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์)

หนึ่งในความใฝ่ฝันของคณะกรรมการฯ คือ เพื่อนๆ หวังว่าจะจัดกิจกรรมทางวิชาการให้เกิดขึ้นในคณะ นอกเหนือไปจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ทำอยู่เป็นประจำ เช่น งานรับน้องใหม่ การแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ การออกค่าย ฯลฯ ให้เป็นไปด้วยดี ในปีนั้น เรายังมีงานยักษ์อย่างจุฬาวิชาการในตอนท้ายปลายปี ซึ่งเป็นงานหลักของ กกบ.

ในประเด็นเรื่องการสร้างบรรยากาศทางวิชาการให้เกิดขึ้นในคณะนั้น สิ่งที่เราคิดกันได้ก่อนในอันดับแรกก็คือ การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดให้พวกเราฟังในเรื่องที่น่าสนใจของนิสิตฯ และเป็นที่สนใจของสังคม แม้เราวางแผนกันเกินสมรรถภาพของตัวเอง โดยหวังว่าจะจัดปาฐกถาเช่นนี้ให้มากถึง 3-4 ครั้งตลอดหนึ่งปีการศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราจัดได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นสองครั้งที่ภาคภูมิใจ

สำหรับปฐมปาฐกถาของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เราได้รับเกียรติจาก อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช มาพูดให้พวกเราฟังถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ อันจะมีผลต่อนักเรียนรัฐศาสตร์ที่จะจบการศึกษาออกไปท่องโลกกว้างในตลาดแรงงาน ที่หลายคนเฝ้ากลัวว่า “เป็ด” อย่างพวกเรา จะทำอะไรได้ดี และทำอะไรได้เหมาะ

นี่คือที่มาที่ไปของหนังสือเล่มเล็กดังกล่าว เล่มที่ผมเพิ่งหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เล่มที่อ่านแล้วชวนหวนกลับไประลึกถึงเวลาสนุกแกมทุกข์เมื่อครั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารสโมสรฯ เล่มที่ทำให้คิดถึงบรรยากาศทางการเมืองภายในคณะของนิสิตคุกรุ่นด้วยความร้อนแรง

หลังจากอ่านหนังสือเล่มเล็กเล่มที่เป็นการถอดความของปาฐกถาครั้งดังกล่าวเสร็จ ก็เห็นว่าส่วนที่ อ. ชัยอนันต์ฯ คาดคะเนความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการเมืองโลกและการเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และยังทันสมัยอยู่แม้จะล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง

ในปาฐกถาครั้งนั้น อ. ชัยอนันต์ฯ เน้นให้ตระหนักว่า โลกในปัจจุบันกำลังถูกครอบงำโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจในระดับที่หนักหน่วง แต่คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้ การเมืองจึงมีหน้าที่ประสานประโยชน์ระหว่างคุณค่า และมูลค่าให้สมดุล อีกสงวนรักษาไว้ซึ่งโลกอันประกอบไปด้วยชีวิต มิใช่โลกที่เป็นกายภาพหมุนอยู่ ในระยะยาว

“การเมืองก็คือกิจกรรมของมนุษย์ที่แสวงหาความพอดีระหว่างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ตีราคาเป็นเงินได้ ...กับคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น การเมืองก็คือกิจกรรมของมนุษย์ที่แสวงหาความพอดี” อ.ชัยอนันต์ฯ นิยามคำว่าการเมืองให้นิสิตเข้าใจชัดแจ้ง “ส่วนความพอดีจะมีอย่างไร ในระยะนานแค่ไหน อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่กลุ่มคน แล้วแต่สภาพการณ์ สถานการณ์ในสังคม แล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในขณะนั้น”

ด้วยเหตุของสภาพการณ์อันเปลี่ยนแปลงไปนี้เอง จึงสามารถทำให้คาดเดาการเมืองในอนาคตได้ อ.ชัยอนันต์ฯ บรรยาย พร้อมอรรถาธิบายในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

“ประการแรก การเมืองโลกในอนาคตเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจที่จะคงตัวอยู่ในระยะอีก 10-20 ปี นอกจากนี้แล้ว รูปแบบความร่วมมือแบบเกาะกลุ่มเป็นพันธมิตรดังที่เคยมีมาแต่ก่อนก็จะก้าวไปสู่การเกาะเกี่ยวกันบนพื้นฐานของมูลค่าการค้าเหนือสิ่งอื่นใด มีการเน้นรูปแบบและวิธีการของการเจรจาต่อรองหลายฝ่าย หรือพหุภาคี ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงเสมอภาคกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่เคยแบ่งเป็นฝักฝ่ายบนพื้นฐานทางอุดมการณ์ความเชื่อที่เหมือนกันก็จะเปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์เฉพาะกิจ ต่างรัฐต่างแย่งกันวิ่งในลู่ที่สามารถทำให้ก้าวเท้าได้เร็วกว่า”

“ประการที่สอง ความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ถูกลดทอนความสำคัญลง ในขณะเดียวกัน ความไม่ลงรอยกันในประเด็นปัญหาใหม่ๆ อย่างเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ยาเสพติด การอพยพย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ ก็ยิ่งทวีพลังรุนแรงขึ้น อีกยังก่อให้เกิดสถานการณ์หนีเสือปะจระเข้ หรือเขาควาย (dilemma) คือ หนีจากปัญหาหนึ่งก็ต้องแก้ไขอีกปัญหาหนึ่งเรื่อยไป ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งนี้มาจากแรงผลักดันทางตลาดในทางหนึ่ง อีกสังคมและวัฒนธรรมในอีกทางหนึ่ง รัฐจึงจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน คาบเกี่ยวกันหลายส่วน จนบางครั้งก็แยกไม่ออก ไม่รู้ว่าต้นตอของปัญหามาจากสาเหตุใดกันแน่เช่นนี้”

“ประการที่สาม ในอนาคตการเมืองของนักการเมือง กับการเมืองของประชาชน (หรือการเมืองของพลเมือง) ก็จะแบ่งแยกให้เห็นเด่นชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกัน การเมืองของนักการเมืองก็จะเป็นผลมาจากการเมืองที่มาจากประชาสังคม อันเนื่องมาจากการตื่นตัว การขยายขอบเขตกิจกรรมมากขึ้น มีเครือข่ายมากขึ้น และมีศักยภาพในการสร้างพลังอำนาจให้ตัวเองมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราจะจัดการระบบการเมืองอย่างไร”

“ประการที่สี่ เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเข้ามาเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องการโคลนนิ่ง ฯลฯ ปัญหาทางจริยธรรมจะเข้ามีมีบทบาทสำคัญ”

“ประการที่ห้า การสื่อสารระหว่างมนุษย์จะมีผลทางการเมืองมากขึ้นกว่าที่เราเคยเห็นเป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะจะมีชุมชนแบบใหม่เกิดขึ้นซ้อนกับชุมชนทางธรรมชาติ เป็นชุมชมในโลกเสมือนจริงที่ทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายดายขึ้น อันเป็นผลพวงของนวัตกรรมอินเตอร์เน็ตที่ทวีบทบาทขึ้นทุกวัน”

“ประการที่หก การที่ประชากรมีอายุขัยมากขึ้น อันเนื่องมาจากการสาธารณสุขที่ก้าวหน้าก็มีผลต่อการเมือง เพราะต่อไปคนอายุ 80-90 ปี ก็ยังทำงานอยู่ ซึ่งทำให้เกิดการปะทะกันในด้านทิฐิมานะ หรือกระบวนทัศน์ (paradigm) มิใช่อุดมการณ์ ดังนั้น หากจะมีการปรับเปลี่ยนในด้านกระบวนทัศน์ (paradigm shift) แต่ละหนึ่งก็ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น โดยต้องปล่อยให้เจ้าของความคิดนั้นหมดอายุขัยไปเสียก่อน”

“ประการที่เจ็ด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับกลไกของรัฐ เช่น ระบบราชการในอนาคตต้องเปลี่ยนไปแน่นอน ดังเห็นได้จากการที่ผู้นำในเวลานี้ออกมาบอกประชาชนอยู่เรื่อย คุยให้ประชาชนฟังว่าที่ทำอย่างนี้เพราะเหตุนั้นเหตุนี้ น่าคิดว่าต่อไปจะนำไปคนเดียวได้ไหม หรือต้องเป็นการนำแบบรวมหมู่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแหล่งอำนาจทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป มีแหล่งอำนาจใหม่ มีแหล่งอำนาจที่ตื่นตัว ส่วนเรื่องระบบอุปถัมภ์นั้นแม้ยังอาจมีหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย แต่ในที่สุดอีก 10-20 ปี ระบบอุปถัมภ์จะไม่สามารถทำให้การเมืองอยู่ได้”

“ประการที่แปด ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเสมอ อีกบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (ดังเช่นในยุโรป) ฉะนั้น การเมือง และเศรษฐกิจ ก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะวิ่งกันคนละลู่คนละช่องทาง บางคนเช่นผู้ที่ทำของส่งออกอาจจะไม่ต้องการให้การเมืองมาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องการพึ่งรัฐเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น รัฐจำจะต้องพัฒนาการเมืองในรูปแบบ วิธีการ และกระบวนการที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ซึ่งสิ่งที่จะเป็นผลร้ายต่อโลก”

แปดประการของอนาคตทางการเมืองที่ผมได้ยินจากปาฐกถาของ อ.ชัยอนันต์ฯ เมื่อสามปีก่อน แม้จะเป็นเพียงข้อสังเกตและการคาดเดาอย่างคร่าวๆ ของนักสังคมศาสตร์ผู้หนึ่งที่ผมเคารพนับถือ แต่ก็ชวนให้คิดทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสียจริง เพราะนี่อาจจะเป็นประตูสู่การทำความเข้าใจโลกและสังคมในเบื้องต้น อันจะพัวพันกับวิถีชีวิตของทุกคนในอนาคตได้เป็นอย่างดี

หากนักการเมืองหรือผู้ที่อยากเป็นนักการเมืองได้อ่าน ก็หวังว่าจะทำให้รู้ซึ้งและเข้าใจว่าการ “เล่นการเมือง” ในทุกวันนี้และอนาคตเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง มิใช่เรื่องปอกกล้วยเข้าปากดังเช่นเคยเป็นอยู่ เพียงมีทรัพยากรทรัพย์เพียบพร้อมก็สามารถเข้าสู่วงการเมืองได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

ส่วนผม ผู้ซึ่งไม่เคยฝันอยากเป็นนักการเมือง ก็ขอยิ้มหวานเสียแต่วันนี้ และรอคอยให้สถานการณ์ต่างๆ ของประเทศมุ่งสู่อนาคตที่เราเฝ้าหวังกันเสียที

หมายเหตุ ขณะนี้ ผมกำลังพยายาม “เล่นแร่แปลธาตุ” ให้หนังสือเล่มเล็ก “ปาฐกถาสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์: อนาคตการเมือง กับอนาคตบัณฑิตรัฐศาสตร์) เป็นไฟล์อิเลคทรอนิกส์เพื่อเผยแพร่สำหรับผู้สนใจโดยสะดวก หากผู้ใดต้องการสำเนา โปรดส่งอีเมล์มาที่ tihtra@gmail.com แล้วผมจะส่งให้โดยทันทีที่พร้อม (ซึ่งต้องขอเวลาสักพักใหญ่)
กำลังโหลดความคิดเห็น