xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 189 “ผมมวย สวยบาดใจ !”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้....ตื่นแล้วชงกาแฟขมจิบให้อารมณ์แจ่มใส เพราะเพิ่งกลับมาถึงกรุงเทพ หลังจากเดินทางไปเยี่ยมรุ่นพี่ ผู้ที่ผมเคยกล่าวถึงหลายครั้งในคอลัมน์นี้ เพราะท่านโทรมาบอกว่า อยู่บ้านที่จังหวัดลำพูนเหงา ช่วยขึ้นมาทำให้มีชีวิตชีวาหน่อย เลยนั่งเครื่องการบินไทยไปหาไม่ชักช้า โดยไปเที่ยวบินตอนเช้า

บนเครื่องเช้าวันนั้นผมเห็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องคนหนึ่ง เธอรวบผมเกล้าเป็นมวยไว้ด้านหลัง ลักษณะเป็นมวยต่ำ เลยทำให้คิดถึงข้อเขียนใน กาแฟขม...ขนมหวาน ตอนที่ ๑๑๖ “ด่วน..ด่วน..ใครทำจดหมายสมัคร ‘นักบินเอื้ออาทร’ หาย ? แจ้งเร็ว !” ที่ท่านผู้อ่านชอบกันมาก

เมื่อคุณ วรรณลักษณ์ ศรีสด บรรณาธิการของคลื่น FM ๑๐๐.๕ ของ อสมท. อ่านทางรายการสวนอักษร มีคนโทรมาหาถามว่า

“อีตาบ้า...คนที่เขียนจดหมายฉบับนี้ เป็นใครกันยะ !?”

ผมเองก็จนใจตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้จักเหมือนกัน เจ้าของจดหมายเขาเขียนไว้เมื่อกล่าวถึงแอร์โฮสเตสที่ไว้ผมมวย ไว้อย่างนี้ครับ (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านลองคลิกเข้าไปดูกัน)

…ผมเพิ่งทราบวันนั้นเองอีกเหมือนกันว่า บริการิณีบนเครื่องบินนั้น เขาเรียกว่า “แอร์โฮสเตส” เห็นเธอเหล่านั้นรูปร่างระหง เดินเหินกระฉับกระเฉง ยิ้มแย้มแจ่มใส สวยๆทุกคน

ผู้ที่ผมถูกใจมากที่สุด เธอรวบผมเกล้าเป็นมวยเอาไว้หลวมๆ เปิดให้เห็นต้นคอขาวสวยเรียวยาว (เหมือนคอสาวญี่ปุ่นนางเอกเรื่อง “ซาโยนาระ” ที่ชื่อ “มิอิโก ทากะ”) มีลูกผมเคลียตรงบริเวณท้ายทอย มองด้านหลังเส้นผมของเธอไหวน้อยๆดูเป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจไม่มีวันลืมได้ลง เพราะได้จัดพิมพ์ลงไปในสมุดบันทึกหัวใจของผมเรียบร้อยไปแล้ว ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เห็น!

เวลาเธอเดินเอาน้ำเอาข้าวมาบริการ รู้สึกว่าใจผมเต้นสั่นระรัวริกๆ คงจะเป็นเพราะขณะที่เธอโน้มตัวและหน้าเข้ามาจนใกล้เพื่อวางถาดอาหาร ผมได้กลิ่นน้ำหอมอ่อนๆระรวยมารินๆ

แม้เธอจะเดินคล้อยหลังไปแล้ว ผมก็ยังสูดดมกลิ่นหอมนี้เอาไว้เต็มปอด และค่อยๆผ่อนออกทีละน้อย ละน้อย ด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง

เลยมีความตั้งใจเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งอย่างว่า หากเป็นนักบินแล้ว ผมต้องมีแฟนเป็นแอร์โอสเตส จะไม่ยอมชายตามองสาวๆ อาชีพอื่นเป็นอันขาด !

แต่โชคชะตาฟ้าลิขิต ให้มีชีวิตรันทด บันดาลผมต้องไปปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นก่อน โดยยังไม่ได้เป็นนักบิน คิดแล้วเศร้าใจ จนน้ำตาแทบไหลออกมาปริ่มลูกตา เหมือนเวลาอ้าปากหาวตอนง่วงนอนยังไงยังงั้น !

แม้กระนั้นความคิดที่จะเป็นนักบินนี้ ผมยังคงดองเก็บไว้ในหัวใจไม่เคยจางหายไป !!


ผู้หญิงทำหน้าที่เกี่ยวกับอาหารไว้ผมมวย แล้วเอาตาข่ายคลุมไว้ เพื่อไม่ให้ผมรุงรังทำให้ทำงานไม่สะดวก บางครั้งเศษผมหรือสิ่งอื่นที่ติดผมมา ร่วงหล่นลงไปในอาหารทำให้ผิดหลักอนามัย ผมมวยแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า chignon อ่านว่า ชีน’ยอน เป็นผมมวย ทรงมวยต่ำแนบต้นคอ ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศส แต่ก็มีผมเกล้าคล้ายมวยที่เรียกว่า bun ที่แปลว่าก้อนขนมปัง ฝรั่งเรียกอย่างนั้นเพราะดูเหมือนขนมปังบันที่เป็นก้อนกลม มวยชนิดนี้จะสูงกว่าชนิด chignon แต่หากเป็นผมซึ่งเกล้าไว้กลางกระหม่อม แบบหัวจุก เราเรียกว่า topknot (ท็อปน๊อท) บางทีก็มีเครื่องประดับศีรษะ เช่น ริบบิ้น หรือขนนก แต่เอาเข้าจริงก็ออกแบบต่างๆได้ไม่น้อย เช่นเลื่อนมวยให้สูงขึ้น เอียงไปด้านข้างศีรษะ หรือมีสองมวยก็ทำได้หลายแบบ

การไว้ผมมวยนั้นคงมีมาตั้งแต่โบราณท่าน ผู้อ่านลองดูภาพวาดสตรีของชาวอียิปต์ จะเห็นได้ชัดว่าผู้หญิงคงไว้ผมยาว และรวบเอามาไว้ข้างหลัง ทำเป็นมวยไว้มีขนาดใหญ่ทีเดียวแต่ดูก็ไม่ล้าสมัย แต่หากดูมีคลาสและหากนำทรงนี้มาทำใหม่ในยุคนี้ ภาพที่เห็นก็จะออกมาดูงดงามอย่างที่เห็นเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่สตรีอียิปต์โบราณเท่านั้น แม้แต่ในพระพุทธประวัติ ซึ่งเป็นยุคหลังอียิปต์โบราณ พระพุทธองค์ก็ทรงไว้มวยผม ดังมีปรากฏตอนเสด็จออกบรรพชา พระศาสดาได้เสด็จหนีออกจากพระราชวังมากันนายฉันนะ พอรุ่งสว่างก็มาถึงริมฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง อโนมานที (แปลว่า หาที่เปรียบมิได้) ทรงตรัสต่อว่า การกระทำของพระองค์วันนี้ก็ไม่มีที่เปรียบเหมือนกัน เช่นเดียวกับชื่อแม่น้ำสายนี้

แม้นายฉันนะมหาดเล็กเมื่อทราบว่าจะทรงผนวชก็ได้ทูลทัดทานว่า จะทรงไปบวชทำไมกันพะยะค่ะ พระชายายโสธราพิมพาก็เพิ่งประสูติพระโอรส พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของพระองค์ทรงพระชราแล้ว และทวยราษฎร์หรือก็จงรักภักดีพระองค์แน่นแฟ้น ทำไมจะทรงทอดทิ้งไป แต่พระพุทธองค์ได้ตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้ว ทรงมีรับสั่งนายฉันนะให้นำเครื่องประดับและม้ากลับวัง แล้วพระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำไปอีกฟากหนึ่ง ซึ่งเป็นดินแดนแคว้นมัลละกษัตริย์ แล้วทรงตัด พระเมาลี (ผมมวย) ด้วยพระขรรค์ (มีด) ทรงอธิษฐานสู่เพศบรรพชิต สถานที่นี้เรียกว่า อนุปิยอัมพวัน

สำหรับเมืองไทยนั้น ปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ผู้หญิงไว้ผมไม่แตกต่างกันนัก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สตรีในราชสำนักจะนุ่งผ้าจีบหลายทอง ห่มสไบปักและไว้ผมปีก คือไว้ผมยาวเฉพาะกลางศีรษะ ควั่นผมรอบศีรษะเป็นรอยจนเห็นขอบ ปล่อยจอนที่ข้างหูยาวลงมาแล้วยกขึ้นทัดหู เรียกว่า “จอนหู”

การไว้ผมปีกยังคงมีมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ มีปรากฏการณ์ที่มีการไว้ผมทรงอื่นกล่าวคือ เจ้านายฝ่ายในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงนั้น มีพระตำหนักที่เรียกกันว่าสำนัก เช่น

สำนักของ “สมเด็จที่บน” หรือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ มีที่ประทับ ณ พระที่นั่งศรีสุทธาอภิรมย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ “ที่บน”

สำนักของ “สมเด็จพระตำหนัก” หรือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระอัครมเหสี ทรงเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

สำนัก “พระนางเจ้าพระราชเทวี” ของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี

สำนักของ “ท่านองค์เล็ก” หรือพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ เป็นต้น

แต่มีเพียงสำนักเดียว ที่สตรีในสำนักนี้ ไว้ผมมวย คือสำนัก “ตำหนักเจ้าลาว”ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะแปลกแยกไปจากสำนักอื่น เพราะดำรงลักษณะเอกลักษณ์ของชาวเหนือเอาไว้ เช่น ไว้ผมยาว เกล้ามวย นุ่งซิ่น และเมื่ออยู่ในตำหนักจะพูดจาภาษาเมือง หรืออู้คำเมืองเป็นภาษาถิ่นทางเหนือเสมอ โดยแต่เดิมพระราชชายา เจ้าดารารัศมีนั้น ทรงอยู่ในสังกัดของสำนักสมเด็จที่บน ต่อมาเมื่อได้ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีแล้ว พระราชชายาจึงได้ทรงรับเอาพระญาติวงศ์ และข้าราชบริพารจากเมืองเชียงใหม่เข้ามาอยู่ด้วยจนเกิดเป็นสำนักตำหนักเจ้าลาวขึ้น กล่าวกันว่าผู้ที่มาอยู่ในตำหนักพระราชชายานั้น นอกจากจะงามพิศและพูดเพราะแล้ว ดูเหมือนจะมีศิลปะในด้านการขับร้อง ฟ้อนรำ และดนตรีแทบทั้งนั้น

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ เริ่มไว้ผมยาว เกล้ามวย นุ่งซิ่น ฟันขาว (ไม่กินหมาก) ส่วนทรงผมนิยมทรง “ผมบ๊อบ” (ตัดสั้น) และ “ผมซิงเกิ้ล” (shingle style) ที่ใช้มีดโกนซอยสั้นคล้ายบ๊อบ

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ผู้หญิงแต่งกายคล้ายตะวันตกมากขึ้น นิยมนุ่งผ้าถุงสำเร็จ สวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาว แขนสั้น หรือไม่มีแขน ตกแต่งด้วยโบว์ หรือระบาย ผมยาว เริ่มนิยมดัดเป็นลอน และช่วงหลังนิยมนุ่งกระโปรง พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๘ ช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศนโยบายรัฐนิยม ให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อให้ประเทศไทยทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะด้านการแต่งกาย จึงกำหนดให้ผู้หญิงทุกคนไว้ผมยาว เลิกนุ่งโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงหรือกระโปรงแบบต่าง ๆ เลิกใช้ผ้าผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน และต้องสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น

การเกล้ามวยผมของหญิงชาวล้านนามีมาตั้งแต่โบราณ มีหลายแบบ เช่น ไทใหญ่มวยอยู่ กลางหัวแต่จะเอียงมาทางซ้าย เพื่อให้ปลายผมทิ้งชายยาวห้อยลงมา เจ้านายไทเขินจะเกล้ามวยไว้กลางหัว ส่วนการเกล้าผมอย่างคนไทยวน มีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน เช่น ‘เกล้าวิดว้อง’ เป็นการเกล้าผมทรงสูงแล้วดึงปอยผมขึ้นมาเป็นว้อง หรือเป็นห่วงอยู่กลางมวย หรือ‘เกล้าผมบ่มจ๊อง หรือ ผมอั่วจ๊อง’ คือ การเอาผมปลอมปอยหนึ่ง (จ๊อง-ช้อง) ใส่เข้าไปในมวยผมเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

ทรงผมที่นิยมมากในสมัย พระราชชายา เจ้าดารารัศมี คือ ‘เกล้าผมแบบอี่ปุ่น หรือ เกล้าแบบสตรีญี่ปุ่น’

เมื่อไว้มวยแล้ว ก็จะมีเครื่องประดับศีรษะในการตกแต่งมวยผม ที่ใช้กันมากคือ ‘ปิ่นปักผม’ ชาวยองเรียกปิ่นว่า หมาดโห ส่วนลาวล้านช้างเรียกว่า หมั้นเกล้า การใช้ปิ่นปักผมมีประโยชน์ทั้งใช้เพื่อขัดผมให้อยู่ทรง หรือใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามให้มวยผม และอาจใช้วัสดุมีค่ามาทำตัวปิ่น ยอดปิ่นอาจใช้อัญมณีประดับเพื่อความสวยงามและดูสูงค่าขึ้น

นอกจากปิ่นปักผมแล้ว ยังมีเครื่องประดับศีรษะอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ดอกไม้ไหว’ เมื่อยามแม่หญิงล้านนาจะไปวัดทำบุญ มักจะเหน็บดอกไม้ไว้ที่มวยผม ดังมีคำโบราณกล่าวว่า “เหน็บดอกไม้เพื่อบูชาหัว และเพื่อก้มหัวบูชาพระเจ้า” สตรีล้านนาจะใช้ดอกไม้หอมสีสุภาพ ที่เห็นทั่วไป เช่น ดอกจำปา-จำปี ดอกเก็ดถะหวา (พุดซ้อน) เป็นต้น สำหรับดอกไม้ที่นำมาประดับ เพื่อให้ดูงดงามมากขึ้น นิยมใช้ดอกเอื้องผึ้ง แต่เมื่อเอื้องผึ้งน้อยลง ไม่พอสำหรับงานพิธี จึงมีการประดิษฐ์ดอกเอื้องด้วยทองคำ เงิน ทองเหลือง คนเมืองเรียกว่า เอื้องเงิน-เอื้องคำ หรืออาจทำจากกระดาษก็ได้

เขียนถึงตรงนี้ก็คิดถึงเพลง “กุหลาบเชียงใหม่” ที่คุณไสล ไกรเลิศ แต่งให้คุณชรินทร์ นันทนาคร ร้องเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เอาไว้ว่า

เจ้างามเชิญชวน สีนวลยวนตา
โสภาหญิงเสียบแซมผม
กลีบแซมแย้มใบในร่ม
โอ้คนเขาชมว่าเจ้างาม


ในกระบวนเครื่องประดับศีรษะนี้ ผมติดใจปิ่นปักผมของพระอิศวรมากที่สุด ที่ว่าอย่างนี้เพราะหากเราไปดูในโองการแช่งน้ำในพิธีศรีสัจจปานกาล หรือพิธีถือน้ำพระพิพัทธ์สัตยา (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘พิพัฒน์สัตยา’) ข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวในโองการ มีบทที่กล่าวถึง พระอิศวร แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า

...โอม พระผู้เป็นใหญ่สูงสุด คือพระอิศวรหรือพระศิวะ พระผู้ประทับอยู่บนเขาใหญ่ คือเขาไกรลาส อย่างสง่างาม ประทับบนหลังวัวเผือก ทรงเอาพญานาค ทำเป็นสังวาลคล้องพระอังสา เอาพระจันทร์มาเสียบบนพระเมาลี (มวยผม) เป็นปิ่น ทรงมีพระเมาลีใหญ่ มีพระเนตรสามองค์ที่งดงาม ทรงกวัดแกว่งวชิราวุธที่มีฤทธิ์ ทรงกำจัดหรือทำลายอุปสรรคความไม่เป็นมงคล ให้หมดไป ....

(เมื่อพราหมณ์อ่านโองการมาถึงตอนนี้ ในพระราชพิธีพราหมณ์จะจ้วงแทง พระแสงศรอควาต ลงไปในน้ำพระพุทธมนต์ที่จัดไว้ในในพิธี ที่จะใช้เป็นพระพิพัฒน์สัตยา)

ผู้หญิงคนไหนอย่างมีฤทธิ์เหมือนพระอิศวรท่าน ลองเอาหวีพลาสติครูปพระจันทร์จะเต็มดวงหรือครึ่งเสี้ยว มาเสียบผมดูบ้างปะไร !

นอกจากสตรีล้านนาแล้ว ในเมืองไทยยังมีสตรีบางเผ่าที่ไว้ผมมวย อย่างเช่นทางภาคอีสาน ท่านคงได้เคยเห็นชาวไทยอีกเผ่าหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า ชาวผู้ไท หรือ ภูไท ซึ่งคำนี้มาจาก เดิมมาจากคำว่า พุไท หรือ วุไท เดิมคนเผ่าไทกลุ่มนี้มีถิ่นฐานอยู่ที่มีอยู่ในแคว้น สิบสองวุไท หรือสิบสองจุไท และอาณาจักรล้านช้างมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาในภาคอีสานหลายครั้ง สตรีชาวผู้ไทนิยมเกล้าผมมวยสูงตั้งตรง แต่มัดมวยด้วยผ้าแถบผืนเล็กๆ

สำหรับสตรีไทยล้านนานั้น เมื่อจะจากบ้านจากเมืองไป มีประเพณีที่แสดงความจงรักภักดีสามี คือการปล่อยผมมวย และใช้เส้นผมนั้นเช็ดเท้าสามี และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็ได้ทรงกระทำเช่นนั้น เมื่อคราวเสด็จกลับไปเยี่ยมพระบิดา ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงพระนิพนธ์เอาไว้ว่า

....ถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๑ พระราชชายาฯเสด็จขึ้นไปกราบถวาย
บังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงเปลือยพระเกศาออกเช็ด
พระบาททั้งสองพระองค์ทรงพระอาลัยรักที่จะต้องทรงจากกัน....


ที่สนใจเรื่องผมมวย เพราะตัวคนเขียนคอลัมน์นี้ คงเหมือนกับอีตาคนที่เขียนจดหมาย ไปสมัครเป็นนักบินเอื้ออาทรกับท่านอาจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ คือชอบผู้หญิงเกล้าผมมวย เคยนั่งดูผู้หญิงที่สวยมากๆคนหนึ่ง สวยเหลือเกิน เกล้ามวยหลายครั้งหลายหน เห็นความละเอียดประณีตของเธอระหว่างการทำมวย บางวันจะออกไปงานด้วยกัน ผมจะขอให้เธอเกล้ามวย และสังเกตว่าไปด้วยกันทีไร ผู้คนเป็นต้องเหลียวมองเธอทุกครั้งไป ชมกันว่าเธอสวยบาดใจจริงๆ

สตรีที่จะไว้ผมมวยนั้น หากมีใบหน้าเรียวยาวแบบพระพักตร์ของพระพุทธรูป ที่เรียกกันว่า “หน้านาง” เช่นเดียวพระพุทธรูปสมัยกรุงสุโขทัย ที่บ้านเมืองร่มเย็น ราษฎรมีความสุข พระพุทธรูปในยุคนั้นจะมีพระพักตร์งามอิ่มเอิบ เหมือนสตรี จึงนิยมเรียกกันว่าเป็นพระพักตร์แบบหน้านาง

ตรงกันข้าม หากบ้านเมืองมีทุกข์เข็ญ ข้าวยากหมากแพง ราษฎรทำมาหากินฝืดเคือง (เหมือนครั้งรัฐบาลยุค ไอ.เอ็ม.เอฟ. ครองบ้านกินเมือง จนอดีตรัฐมนตรีร่วมคณะติดคุกไปหนึ่ง กำลังจะตามเข้าไปเพราะกรรมที่ทำไว้อีกสอง) พระพุทธรูปที่สร้างในยุคบ้านเมืองมีแต่ความระทมทุกข์ ศิลปินมักสร้างปฎิมากรรมออกมาด้วยอารมณ์ที่ไม่แจ่มใส พระพักตร์ของพระพุทธรูปในยุคนั้นจึงดูค่อนข้างบึ้งตึง เช่นพระพุทธรูปยุคลพบุรี เป็นต้น

สตรีที่มีใบหน้าลักษณะนี้ ถ้าเป็นคนสูง ผิวขาว ลำคอยาว ไหล่กว้าง ผมยาวสวย มีขวัญที่หน้าผาก คางเอาชานหมากวางได้ ผมสลวยเป็นลอนโดยไม่ต้องดัด ถ้าเกล้าผมมวยเปิดต้นคอยาวระหงให้เห็น จะดูสวยสง่าเป็นที่สุด ผู้หญิงคนที่ผมพูดถึงนี่แหละครับ มีลักษณะเช่นว่าครบ พวกปฏิมากรชอบมาขอให้ไปนั่งเป็นแบบปั้นกันนัก

ที่เอาเรื่องเบาๆสบายๆ มาเขียนเล่าให้ฟังกันในวันนี้ เห็นว่าดีกว่าไปคุยเรื่องการเมือง ชักจะออกนอกลู่นอกทางกันทุกที อภิปรายกันในสภาแพ้ชนะก็รู้กันแล้ว แต่ดันมีการออกมายุยงให้ก่อจลาจลกันในบ้านเมือง แต่ยังจะไม่อยากพูดเรื่องไปเป็นมงคลกันในวันนี้ จึงเอาเรื่องสวยๆงามๆอย่าง “ผมมวย สวยบาดใจ” มาเล่าให้ฟังกันเพลินๆ ตามประสาคนชอบมองผู้หญิงสวยคงจะดีกว่า และก่อนจบขอบอกกล่าวเกี่ยวกับ ตำราทำนายฝันของคนโบราณนั้น กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับผมมวย ดังนี้

หากฝันว่าเกล้าผมมวยไว้ข้างหลัง แปลว่า ผู้ใหญ่สูงอายุจะจะอุปถัมภ์ หรือได้ลาภ ถ้าฝันว่าตัดผมมวยทิ้ง แปลว่าจะหมดเคราะห์จะมีลาภภายหลัง

เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว หวังว่าบรรดานักการเมืองสูงวัยที่ผู้คนเขาชอบเรียกกันว่า “ป๋า” อย่าได้ไปถามเด็กสาววัยรุ่นที่ไหน ว่า
“ระยะนี้หนูฝันว่า ‘เกล้ามวย’ บ้างหรือเปล่าจ๊ะ ?”

เดี๋ยวมีอันได้ ‘ตกตึกตาย’ ไปอีกคน ไม่รู้ด้วยนะ !!!

กำลังโหลดความคิดเห็น