xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยชุมชน

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

เธอเป็นสาวน้อยหน้าหวาน วันหนึ่ง ผมเห็นเธอนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบระหว่างพักทำงาน จึงชวนคุย เธอบอกผมว่ากำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ “คอมมูนิตี้ คอลเลจ” (community college) แห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก

ตลอดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ผมมักฝากท้องอันโหยหิวไว้กับร้านอาหารเกาหลีในโรงอาหารของโรงเรียนแทบทุกมื้อ บางวันนอกจากจะอิ่มกายแล้ว ยังอิ่มใจที่มีสาวสวยคอยตักกิมจิ พร้อมบูโกกิราดข้าวร้อนให้ด้วย สาวน้อยคนนี้เป็นสาวเกาหลีที่เพิ่งย้ายมาหาโอกาสใหม่ในชีวิตที่อเมริกา เธอมีท่าทางเหนียมอาย และไม่ชอบพูดคุย แต่ก็น่ารัก โดยเฉพาะที่ตักข้าวให้ผมเต็มกล่องได้อิ่มท้องไปทั้งวันทุกครั้งเมื่อเราได้เจอกัน

แม้จะติดใจกับกริยาน่าเอ็นดูอย่างสาวเอเชีย แต่ก็นึกสะดุดใจกับบทสนทนาเรื่องการเรียนของเธอที่เพิ่งพูดคุยกันไม่ได้

สาวน้อยบูโกกิคนนี้เล่าให้ฟังว่า เธอเพิ่งจบมัธยมตอนปลายจากเกาหลี และมาเข้าเรียนในชั้นปีหนึ่งของคอมมูนิตี้คอลเลจ ที่อยู่ห่างไปไม่ไกลจากโรงเรียนของผม เธอทำงานไปด้วยในระหว่างเรียน อีกยังพูดถ่อมตัวว่าเธอคงไม่สามารถเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยของผมได้หรอก เพราะนอกจากจะค่าเล่าเรียนแพงหูฉี่แล้ว ยังมีการแข่งขันกันสูง คนเรียนไม่เก่งแต่ใฝ่เรียนอย่างเธอคงมีโอกาสเข้าเรียนแทบจะเท่ากับศูนย์

โชคดีที่ผมพอได้รู้จัก “คอมมูนิตี้คอลเลจ” หรือ “วิทยาลัยชุมชน” มาก่อนบ้างแล้ว จึงทำให้คุยกับเธอได้ไม่ติดขัด สามารถเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ที่เธอเอื้อนเอ่ยขึ้นมาเล่าให้ฟังระหว่างตักข้าวแกงเกาหลีให้ผมได้

นึกเช่นนี้แล้ว ก็อดนึกชื่นชมระบบการศึกษาอเมริกันที่เปิดทางเลือกให้กับผู้ใฝ่เรียนโดยมิจำกัดความสามารถและฐานะของเขาไม่ได้ คนมีโอกาสน้อยอย่างเช่นสาวเกาหลีหน้ามนคนนี้ ยังไม่นับรวมคนอเมริกันอีกหลายหมื่นแสนคนมีทางเลือกในการเรียนต่อหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือไฮสกูล (high school) ในระดับขั้นตติยภูมิ (tertiary) ได้ที่คอมมูนิตี้คอลเลจ

ผมได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับคอมมูนิตี้คอลเลจครั้งแรกจากลุงปราโมทย์ นาครทรรพ บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาระบบดังกล่าวอย่างที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย

เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ขณะกำลังขึ้นชั้นมัธยมฯ ปีที่ 5 ผมได้รับเลือกจากทางโรงเรียนให้ไปใช้ชีวิตหนึ่งปีที่โรงเรียนประจำต้นตำหรับในอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของอดีตผู้บังคับการพระยาปรีชานุสาส์น เมื่อไปถึงก่อนเดินทางต่อไปเข้าโรงเรียน ผู้บังคับการ (ครูใหญ่) ได้ฝากฝังให้ผมไปพักที่บ้านของคุณป้าหมู สุมณฑาฯ ภรรยาของลุงปราโมทย์ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ กรุงลอนดอน

ผมใช้เวลาอยู่ที่บ้านป้าหมูราวสี่ห้าวันก่อนจะเข้าโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างออกไปในต่างจังหวัดของอังกฤษ ขณะนั้นลุงปราโมทย์ฯ มาเยี่ยมคุณป้าพอดี จึงทำให้ผมมีโอกาสได้พบกับคุณลุงใจดี

ตลอดเวลาที่อยู่บ้านป้าหมู ผมได้พูดคุยและติดตามคุณลุงไปไหนต่อไหน ไม่ว่าจะเดินไปเช็คอีเมล์ที่สำนักงาน ททท. ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปไม่กี่ถนน หรือไปซื้อหวยล็อตโต้ที่ร้านขายของชำหัวมุมสวนสาธารณะ ด้วยความที่ลุงปราโมทย์ฯ เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่รอบรู้ และเอ็นดูเด็กๆ โดยเฉพาะพวกที่ใฝ่เรียนและใฝ่รู้ ผมจึงได้รับคำแนะนำต่างๆ ในการเรียนตลอดหนึ่งปีข้างหน้าที่ผมจะเผชิญและที่จะประสบพบในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องระบบการศึกษาชั้น “เอเลเวิล” (A level ) ของอังกฤษ ซึงคุณลุงก็มีความรู้ถ่องแท้ไม่แพ้กับระบบการศึกษาของอเมริกัน

หนึ่งปีในโรงเรียนประจำที่อังกฤษผ่านไปด้วยดี ก่อนกลับเมืองไทย ผมก็ได้รับความกรุณาจากป้าหมูให้มาพักที่บ้านในลอนดอนอีกครั้ง ผมโชคดีได้พบกับลุงปราโมทย์ฯ อีกเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้คุณลุงคงเห็นว่าผมเริ่มโตขึ้น จึงได้เริ่มแนะนำผมในเรื่องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยโน้มน้าวให้ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ แทนที่จะเข้าคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะเก่าของคุณลุง และพ่อแม่ของผม

ด้วยความที่ไม่ชอบวิชาเลขคณิตเป็นทุนเดิม จึงค่อนข้างมีอคติกับวิชาเศรษฐศาสตร์ ทั้งๆ ที่เห็นว่ามีความสำคัญ เมื่อกลับมาจากอังกฤษ เรียนมัธยมฯ ปีที่หกต่ออีกหนึ่งปี เมื่อเอ็นทรานซ์ผมเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์ มิใช่เศรษฐศาสตร์อย่างที่คุณลุงแนะนำ

ในระหว่างที่มีโอกาสพบกับลุงปราโมทย์ฯ ที่อังกฤษ ผมก็พอได้ยินเป็นเลาๆ เกี่ยวกับ “คอมมูนิตี้คอลเลจ” ที่คุณลุงกำลังทำและพยายามผลักดันด้วยใจขะมักเขม้นอยู่ในตอนนั้นบ้างแล้ว แต่ตัวเองก็ไม่เข้าใจทะลุปรุโปร่งจนกระทั่งครั้งเมื่อลุงชวนให้ผมไปเที่ยว “วิทยาลัยประชาคมนานาชาติ” (First Global Community College) ที่จังหวัดหนองคาย ในระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อน เวลานั้นผมจำได้แม่นว่าเป็นช่วงรอประกาศผลสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยที่กำลังใจจดใจจ่ออยู่พอดี

ลุงปราโมทย์ฯ ชวนให้ผมไปช่วยรับแขกของวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นคณะจากคอมมูนิตี้คอลเลจแห่งหนึ่งในคาลิฟอร์เนีย ซึ่งมีโครงการมาเยี่ยมทัศนศึกษากับวิทยาลัยประชาคมนานาชาติ ที่คุณลุงเป็นประธานผู้ก่อตั้ง ตอนนั้น มีการพานักเรียนฝรั่งไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ อีกเข้ารับฟังการบรรยายจากคุณพีระ สุธรรม นักเขียนอีสานนิยมชื่อดัง ผมยังมีโอกาสได้พบกับฝรั่งพูดไทยได้คล่องอย่างคุณไมเคิล ไรท์ ซึ่งคุณลุงชวนมาทานข้าวเย็นด้วยที่ร้านอาหารลมเย็นริมฝั่งโขง

พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมก็มิได้ช่วยอะไรลุงปราโมทย์ฯ มาก เพราะนักเรียนที่วิทยาลัยมีความสามารถทั้งในการใช้ภาษาและบุคลิกนิสัยในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นอย่างดี ผมจึงแปลเปลี่ยนสภาพจาก “คนที่จะมาช่วย” กลายเป็น “ผู้เรียนรู้” โดยเร็วพลัน

ลุงปราโมทย์ฯ มักแนะนำใครต่อใครว่าผมเป็นเด็กกรุงเทพฯ เคยไปเรียนในโรงเรียนประจำซึ่งเป็นโรงเรียนของคนมีกะตังค์ในอังกฤษมาหนึ่งปี ลุงเลยชวนให้ผมมาช่วยงาน ซึ่งผมคิดว่าลุงปราโมทย์ฯ คงอยากให้ผมได้เรียนรู้ และรับประสบการณ์ ได้เห็นโลกที่ต่างออกไปจากที่เคยเห็นมาตลอดในเมืองกรุงมากกว่า ลุงปราโมทย์ฯ มักเล่าว่าลุงเป็นคนหนองคายขนานแท้ คุณพ่อของลุงไม่ยอมให้เข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่สามารถส่งเสียได้สบาย แต่อยากให้ใข้ชีวิตเด็กต่างจังหวัด ถอดรองเท้าเดินไปเรียนหนังสือเฉกเช่นลูกชาวบ้านคนอื่นๆ เขา

ลุงปราโมทย์ฯ ส่งภาษาอีสานแจ่มแจ้งกับเด็กนักเรียนที่ลุงแนะแนวให้มาเรียนที่วิทยาลัยประชาคมนานาชาติ อีกยังเป็นที่เคารพนับหน้าถือตาของคนทั่วไปโดยทั่ว ผมคิดว่าคงเป็นเพราะคุณลุงเข้าถึง “ใจ” ของทุกคนได้อย่างลึกซึ้งและเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ด้วยความหวังดี

ตลอดเวลาที่อยู่หนองคาย ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย นักเรียนที่วิทยาลัยประชาคมนานาชาติซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันในขณะนั้นมีมิตรจิตมิตรใจ ชวนผมให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นกันเอง ผมจำได้ว่าไปรำวงกับสาวงามน่ารัก อีกยังได้กินกระทะร้อน พร้อมนมสด ซึ่งเป็นกิจกรรมอันเป็นที่นิยมของวัยรุ่นหนองคาย ผมติดนิสัยชอบกินส้มตำลาวใส่ปลาร้าขนานแท้ก็จากเพื่อนที่ผมได้พบเจอ ณ ที่วิทยาลัยประชาคมนานาชาตินี้ล่ะ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปดำนาอย่างที่เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยชวน

วันเวลาต่อมาในเมืองมหาวิทยาลัยกลางเมืองกรุงฯ ผมจึงไม่ลืมประสบการณ์ที่ดีและน่าจดจำในหนองคายเสมอมา ความจริงใจให้กันและกัน อีกมิตรภาพที่แท้เป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งผมได้เรียนรู้จากวิทยาลัยประชาคมนานาชาติแห่งนี้เป็นสำคัญ

“วิทยาลัยชุมชน” หรือ “คอมมูนิตี้คอลเลจ” ที่หนองคายฝังลึกในความรู้สึกนึกคิดไม่เปลี่ยนแปลง

ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความประทับใจที่มีต่อนักศึกษาที่จบจากคอมมูนิตี้คอลเลจของไทย สี่ปีต่อมา ในระหว่างภาคเรียนสุดท้ายก่อนจนการศึกษา ผมและเพื่อนรักที่คณะวางแผนไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง เราวางแผนเดินทางโดยรถทัวร์จากแถบถนนข้าวสาร เพื่อไปขึ้นรถทัวร์ที่นครเวียงจันท์ รถทัวร์เดินทางทั้งคืน และมาถึงหนองคายตอนเช้าตรู่เพื่อเตรียมเอกสารผ่านแดน ระหว่างที่รถทัวร์หยุดพักให้กรอกเอกสารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ผมเห็นนักศึกษาสองสามคนเข้ามาอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารด้านตรวจคนเข้าเมืองลาวให้พร้อม พวกเขาช่วยแนะนำทั้งคนไทย (ซึ่งมีไม่มาก) และฝรั่งแบกเป้ (เต็มคันรถ) ด้วยความคล่องแคล่ว ผมแอบแว่วได้ยินนักศึกษาเหล่านี้พูดคุยกับฝรั่งในภาษาอังกฤษที่ผมและเพื่อนเห็นแล้วว่าเด็กมหาวิทยาลัยชื่อดังในเมืองกรุงอย่างเราต้องอาย

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมจึงชวนนักศึกษาที่มาช่วยงานคนหนึ่งคุย ถามเขาว่าไปร่ำเรียนภาษาอังกฤษที่ฟังเสนาะหูเช่นนี้จากที่ไหน ก็ได้ความว่าได้มาจากวิทยาลัยประชาคมนานาชาติ ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้คอลเลจแห่งแรกๆ ในเมืองไทยที่ผมได้เคยมาเยี่ยมเยียนเมื่อสี่ปีก่อนนี่เอง ผมถามข่าวคราวถึงลุงปราโมทย์ที่ผมเคารพรัก เสียดายที่ต้องข้ามไปฝั่งลาวแล้ว อยากจะหาโอกาสไปสวัสดีคุณลุงที่หนองคายโดยที่ท่านไม่รู้เนื้อรู้ตัวคงสนุกไม่น้อย

น้องนักศึกษาคนนี้เล่าว่างานที่เขาทำเป็นงานชั่วคราวที่บริษัทจ้างให้ทำเมื่อมีทัวร์ลง เขาชอบงานดังกล่าวเพราะได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานจริง อีกได้เงินเป็นค่าขนมสำหรับใช้จ่ายโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน และให้ชีวิตวัยหนุ่มสาวสนุกสนานขึ้น

หนึ่งปีต่อมาหลังเรียนจบ ลุงปราโมทย์ฯ ได้ชวนผมกลับไปที่หนองคายอีก ตอนนี้ผมเห็นว่าวิทยาลัยประชาคมนานาชาติที่คุณลุงตั้งใจก่อร่างขึ้นมาตั้งแต่เริ่มแรกนี้ได้ก้าวหน้าไปมาก นักศึกษามีจำนวนมากขึ้น อีกยังได้มีชาวต่างชาติมาช่วยสอนมากมาย ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อีกยังมีอาจารย์ฝรั่งหลายคนตัดสินใจมาใช้ชีวิตในวัยเกษียณสอนหนังสือให้กับนักศึกษาชาวหนองคายและจังหวัดใกล้เคียงที่วิทยาลัยแห่งนี้

ขอยอมรับจริงๆ ว่า นักศึกษาที่วิทยาลัยประชาคมนานาชาติสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง อีกยังมีความรุ้ประสบการณ์รอบตัวมาก ประธานนักเรียนคนหนึ่งของวิทยาลัยฯ เคยให้ผมช่วยสมัครสอบโทเฟิลไปทางสิงคโปร์ให้ สองสามเดือนต่อมา เขาโทรมาส่งข่าวว่าสอบได้คะแนนดีมากกว่า 550 คะแนน นักศึกษาคนนี้ไม่ได้เรียนเพิ่มเติม แต่ใช้ความพยายามอ่านหนังสือเอง และใช้ทรัพยากรครูฝรั่งที่มีอยู่ที่วิทยาลัยให้คุ้มค่า

เมื่อได้ฟังข่าวดีแล้ว ก็อดทึ่งในผลผลิตของวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ อยากให้วิทยาลัยแห่งนี้เป็นต้นแบบและชนวนชวนคิดให้ทุกคนตระหนักถึง “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาในระดับหลังมัธยมศึกษาตอนปลายเช่นนี้เสียจริง เด็กๆ ในต่างจังหวัดก็มิต้องจากบ้านทิ้งคนแก่และผู้หญิงมาเรียนต่อในเมือง

ไม่ทราบว่าขณะนี้นโยบายเรื่องวิทยาลัยชุมชนของรัฐที่เริ่มต้นไปพอให้ได้ยินแว่วๆ ไปถึงไหนแล้ว

ส่วนเรื่องวิทยาลัยประชาคมนานาชาติที่หนองคาย ที่ผมได้มีประสบการณ์หลากหลายวาระนั้น ได้ยินข่าวจากพี่วิกกี้ นวลแข ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับลุงปราโมทย์ฯ มาว่าขณะนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังประสบปัญหาเช่นเคย ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนทางการเงิน และเรื่องการรับรองคุณวุฒิเพื่อนักศึกษาได้ใช้ในการสมัครศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

แนวคิดเรื่องคอมมูนิตี้คอลเลจ หรือวิทยาลัยชุมชน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาขึ้นสูงในระดับหลังมัธยมศึกษาตอนปลายที่รัฐควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และเร่งด่วน

วิทยาลัยชุมชนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมทางวิชาการที่จะศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่มีการแข่งขันกันมาก อีกยังมีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนสูง นอกจากนี้อาจมีบทบาทในการเป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง (continuing education center) ของผู้ใฝ่รู้ทั้งหลายด้วย

ในอเมริกาและแคนาดาที่ระบบการศึกษาแบบ “วิทยาลัย (ประจำ) ชุมชน” เช่นนี้ถือกำเนิดและดำเนินการให้บริการการศึกษาในวงกว้างด้วยความสำเร็จ การเข้าเรียนเป็นไปโดยง่าย ไม่มีการสอบแข่งขัน และไม่มีการจำกัดอายุ (open admission) ตามทำนอง “ใครใคร่เรียน เรียน” อีกยังมีระบบรองรับหากนักศึกษาคนหนึ่งๆ สนใจอยากเรียนต่อให้ไปถึงระดับปริญญาตรี หรือมากกว่านั้น โดยสามารถโอนย้ายไปยังมหาวิทยาลัยชื่อดังอื่นๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากรัฐจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจังให้เกิดระบบการศึกษาแบบคอมมูนิตี้คอลเลจ หริอวิทยาลัยชุมชนดังที่เคยพูดถึงกันไว้มานานแล้ว สังคมทั่วไป โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องเปิดใจยอมรับด้วยว่า การเรียนวิทยาลัยชุมชมไม่เป็นสิ่งที่น่าอาย บุตรหลานจะได้รับโอกาสทัดเทียมกับการศึกษาในมหาวิทยาลัยในความหมายเดิมทุกประการ

หมายเหตุ คลิกชมเว็บไซต์ของ วิทยาลัยประชาคมนานาชาติ จังหวัดหนองคาย ได้ที่ www.fgcc.ac.th
กำลังโหลดความคิดเห็น