xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรรุ่นเกิด (เกิน) ล้าน

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

พ่อของผมไม่ใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็น "นักประชากรศาสตร์" คนหนึ่งที่ผมรู้จักสนิทสนมเป็นการส่วนตัว

ตั้งแต่เด็กๆ ผมมักสงสัยว่าสิ่งที่พ่อกำลังศึกษา วิจัย และสอนอยู่ หรือสิ่งที่พ่อเรียกว่า "ประชากรศาสตร์" นั้นมันคืออะไร และเป็นอย่างไรกัน

เวลาที่เราสองคนพ่อลูกได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างกลับมาอยู่บ้านจากโรงเรียนประจำ หรือเวลานั่งรถไปกินข้าวมันไก่ที่ผมชื่นชอบหรือบะหมี่ก้ามปูที่พ่อโปรดปราน ผมมักชวนพ่อคุยด้วยความสงสัยในสิ่งที่พ่อ "ทำ" อยู่เสมอมา แม้กระทั่งครั้งล่าสุดที่เราเจอกันพร้อมหน้ากับพี่สาวในครั้งที่พ่อมีโอกาสมาประชุมที่อเมริกา ความสงสัยที่ตั้งอยู่บนความคลุมเครือนั้นก็ยังไม่ห่างหายไปจากตัวผมว่า "พ่อทำอะไรที่ทำงาน"

เมื่อราวเจ็ดแปดปีก่อน พ่อได้ออกทีวีพูดถึงการที่จำนวนประชากรไทยจะแตะที่ตัวเลข 60 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสังคมในขณะนั้น พ่อเป็นตัวแทนของคณะทำงานฉายภาพทางประชากรของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกและแห่งเดียวของพ่อ

เวลานั้น ผมนั่งอยู่หน้าจอทีวีกับคุณยายดูพ่อพูดถึงเรื่องนี้ด้วยความภูมิใจ ซึ่งไม่มีอะไรนอกไปจากการที่ได้เห็นพ่อออกทีวี แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างเรื่องนี้ ก็ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของเด็กชายในอายุเพิ่งผ่านวัยเด็กชายไปไม่นานได้แจ่มแจ้งพอ

ในใจลึกๆ ผมรู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นกับการที่คนไทยครบ 60 ล้านคนเลย มันก็แค่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ดีหน่อยที่ผมอาจจะเอาไปตอบข้อสอบในวิชาสังคมได้ก็แค่นี้เอง

มีวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ผมจำได้ว่าพ่อพูดผ่านทางโทรศัพท์กับผมว่า พ่อไม่อยากทำงานบริหารแล้ว อยากจะตั้งใจและอุทิศเวลาที่เหลือให้กับงานด้านวิชาการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผมรู้สึกได้ถึงไฟที่ลุกโชนในตัวพ่อที่ลุกพรึ่บขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นั่นกลับเป็นประกายที่จุดชนวนความสงสัยในตัวผมเองให้เพิ่มขึ้นอีก

ในปีที่ผมเกิดพอดี พ่อได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสถาบัน และใช้ชีวิตนักบริหารในเกราะของอาจารย์ตลอดสองสมัย เมื่อหมดวาระ พ่อยังได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในรองอธิบการบดีของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าพ่อเป็นรองอธิการฯ คนแรกที่ไม่ได้เป็นหมอ หลังจากนั้น พ่อก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศาลายา ซึ่งเป็นแคมปัสใหม่เอี่ยมอ่องของมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น

ชีวิตหน้าที่ในงานบริหารของพ่อดังที่ผมได้เห็นตลอดชีวิตในวัยเยาว์เช่นนี้ ทำให้ผมสงสัยว่าเหตุใดพ่อจึงไม่ยอมรับงานบริหารอื่นๆ และปวารณาตัวให้กับงานทางวิชาการเช่นนี้ ผมเห็นพ่อลุกขึ้นมาเขียนหนังสือว่าด้วยการศึกษาด้านประชากรเล่มโต ซึ่งพ่อให้อุทิศให้คุณย่าและลูกทั้งสี่คนของพ่อ และเห็นพ่อสนุกสนานกับงานวิชาการอย่างเช่นการรวบรวมศัพท์ประชากรศาสตร์ และการทำวิจัยอื่นๆ อย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตช่วงแรกของตัวเอง

กลับกันผมรู้สึกว่าพ่อคิดแปลกๆ และในใจลึกๆ แล้วผมอยากให้พ่อทำงานบริหารมากกว่า เมื่อครั้งพ่อทำงานบริหาร พ่อมีรถและคนขับรถประจำตำแหน่ง พ่อมีคนพูดถึงและนับหน้าถือตา อีกยังทำให้ชีวิตผมสะดวกสบายและโก้หรูตามไปด้วย

เหตุใดพ่อจึงละทิ้งให้กับยศ และสรรเสริญที่ว่า พ่อกำลังดำเนินชีวิตอยู่บน "คุณค่า" เช่นใดหรือ

ครั้นเรียนจบมหาวิทยาลัย และมาเรียนต่อปริญญาตรี ก็ยังไม่คลายสงสัยว่า "พ่อจะไปทำอะไรกับประชาการศาสตร์"

เมื่อได้เรียนสูงขึ้น ผมยังเคยคิดวิเคราะห์พ่อแบบสะเปะสะปะตามกรอบคิดวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ได้ร่ำเรียนมา ซึ่งเห็นว่าพ่อเป็นผลผลิตของนโยบายล่าอาณานิคมสมัยใหม่อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในช่วงสงครามเย็น คนรุ่นพ่อและรุ่นก่อนหน้าได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาที่อเมริกาหลายต่อหลายคน ซึ่งผู้ให้ทุนคงหวังว่าจะปลูกฝังความคิดความอ่านทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนวัฒนธรรมแบบตะวันตกให้กับ "ผู้มีการศึกษา" เหล่านี้ใน "ประเทศด้อยพัฒนา" อย่างเช่นประเทศไทย และประชากรศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในสาขานั้น ที่เป็นประเด็นทางการเมืองอเมริกัน เพราะคนอเมริกามีจำนวนเพิ่มขึ้นในยุคที่พ่อได้ทุนไปเรียนต่อพอดี ซึ่งวิชาเหล่านั้นก็อาจจะไม่เหมาะสมกับประเทศไทยก็เป็นได้

"ประชากรศาสตร์" จึงไม่ต่างอะไรจากการน้อมรับเอา "แนวคิด" ต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของสังคมไทยในขณะนั้น เพราะจำนวนประชากรก็คงไม่เพิ่มมากไปกว่านี้ เพราะประเทศไทยของเราไม่ได้ใหญ่โตมีที่ว่างมากมายอย่างเช่นดินแดนอเมริกันชน

ผมต้องขอขอบคุณเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าและก้าวไกลที่ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดข้ามโลกกับพ่ออย่างเช่นเมื่อครั้งอยู่เมืองไทย ซึ่งทำให้ได้รับคำตอบต่อคำถามที่ว่า "พ่อ (ในฐานะนักประชากรศาสตร์) ทำอะไร" "อะไรคือประชากรศาสตร์ " หรือ "เราจะนำศาสตร์ว่าด้วยประชากรนั้นมาใช้ได้อย่างไร" กระจ่างชัดเจน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้คุยกับพ่อ ซึ่งนอกจากเล่าถึงความเป็นไป และถามถึงสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว พ่อยังเล่าถึงว่ากำลังจะไปบรรยายเรืองประชากรศาสตร์ ในประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมตาลุกวาว คิดบรรเจิด และคลายใจ

เราพูดข้ามฝั่งโลกถึงประเด็นดังกล่าวกันนาน ผมบอกพ่อว่าสิ่งที่พ่อเพิ่งเล่ามานั้นได้ทำให้ผมเข้าใจถึงสภาพสังคมที่ผมได้เติบโตมาได้อย่างดีเยี่ยม อีกยังจะช่วยให้ผมเข้าใจชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ ผมยังภูมิใจว่าเรื่องที่พ่อจะเป็นตัวแทนพูดในนามคณาจารย์เพื่อนร่วมงานพ่อที่ได้ร่วมกันศึกษามานี้ จะมีผลในการชี้แนะสังคมและรัฐบาลในเรื่องที่มีข้อมูลประจักษ์ แต่มักมองข้ามและไม่สนใจ

ผมยังไม่ได้บอกพ่อว่า สิ่งที่พ่อเพิ่งเล่ามานอกจากจะตอบคำถามข้างต้นที่ผมมีต่อสังคมได้แล้ว ยังตอบคำถามส่วนตัวว่าพ่อทำอะไรกับประชากรศาสตร์ที่คุกรุ่นมาเป็นเวลายาวนานได้ด้วยอย่างดียิ่ง

ในวัยเบญจเพสเช่นนี้ สองคำตอบที่เพิ่งได้รับมาหมดๆ จึงทำให้วันเวลาของผมมีความสุข ผมถือว่านี่เป็นของขวัญล้ำค่าที่พ่อมอบให้ นอกจากความรัก ความห่วงใย และความเข้าใจที่พ่อมีให้เสมอมา

พ่อเล่าว่า ในการบรรยายที่กำลังจะไปพูดนั้น พ่ออยากจะชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นที่เกิดระหว่างปีพุทธศักราช 2506 ถึง 2526 มีจำนวนการเกิดเพิ่มสูงขึ้นมากเกิน 1 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์การเกิดในช่วงเวลาก่อนหน้าและให้หลังถือว่ามีจำนวนมากเป็นพิเศษ

จำนวนเกิดตามทะเบียนราษฎร ประเทศไทย พ.ศ. 2480 - 2547 เห็นได้ว่าคนที่เกิดนช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ ปัจจุบันอยู่ในวัย 22-42 ปี มีจำนวนเกิน 1 ล้านคน อันมีผลต่อสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า -- ที่มา: ปราโมทย์ ประสาทกุล และ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ “สถานการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2548” ใน กฤตยา อาชวนิจกุล และ ปราโมทย์ ประสาทกุล (บรรณาธิการ). ประชากรและสังคม 2548

พ่อตั้งชื่อคนรุ่นนี้ (ที่ผมเป็นส่วนหนึ่งในช่วงปลาย) ว่า "ประชากรรุ่นเกิดล้าน"

สถานการณ์ทางประชากรเช่นนี้คล้ายกับยุค "เบบี้บูม" (baby boom) ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อการแต่งงานถูกชะลอออกไป อันเนื่องมาจากทหารหนุ่มต้องเข้าสงคราม และเมื่อสงครามสิ้นสุดและคนหนุ่มเหล่านี้กลับมาตุภูมิ จึงมีครอบครัวและมีลูกกันถ้วนหน้า จำนวนการเกิดของเด็กทารกจึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีมาก่อน ฝรั่งเรียกคนรุ่นนี้ว่า "บูมเมอร์" (boomer) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในช่วงวัยสูงอายุ

ผมเอ่ยถึงว่านี่คงเป็นเบบี้บูมเมืองไทยใช่ไหม แต่พ่อบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรไทยนั้นน่าจะเรียกว่า "เบบี้บวม" มากกว่า เพราะฐานประชากรนั้น "บวม" ออกภายในช่วงเวลายาวถึง 20 ปี มากกว่าที่จะ "พุ่ง" (boom) ออกในห้วงเวลาสั้นๆ แล้วก็ "หด" (bust) ลงอย่างรวดเร็ว ดังที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรป

ในขณะที่เบบี้บูมเกิดจากการแต่งงานที่ล่าช้า (delayed marriage) อันเป็นผลจากสงครามโลก พ่อเล่าให้ฟังต่อว่า "เบบี้บวม" ของไทย อันเป็นช่วงเวลาที่ "คนรุ่นเกิด (เกิน) ล้าน" ถือกำเนิดนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยด้านการสาธาณสุขที่ก้าวหน้าอันมีผลทำให้จำนวนแม่ในวัยเจริญพันธุ์มีมากขึ้น อีกมีอัตราการรอดของทารกเมื่อแรกเกิดสูง ปัจจัยสุดท้ายที่พ่อบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาต่อก็คือการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใต้พระบรมโพธิสมภารของคนต่างด้าวจากที่ต่างๆ ทั้งคนจีนโพ้นทะเล และชาติใกล้เคียง

ปัจจุบันคนรุ่นเกิดล้านที่เกิดในระหว่างปีพ.ศ. 2506 - 2526 นี้อยู่ในช่วงอายุ 22-42 ขวบ ซึ่งขณะปัจจุบันกำลังอยู่ในวัยแรงงาน

สำหรับผมแล้ว จำนวนคนที่มากขึ้นใน "รุ่นเกิดล้าน" นี้ อธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นได้เยี่ยม อีกยังสามารถทำให้คาดการณ์ภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีเช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโยงใยกับทุกหน่วยในสังคม

ในห้วงเวลาที่ได้เติบโตขึ้น สิ่งที่คนรุ่นผมและรุ่นก่อนหน้ามักจะประสบพบก็คือการแข่งขันที่เกิดขึ้นในทุกระดับและเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดทั้งในระดับประถมฯ หรือมัธยมฯ พอโตขึ้นไปอีกก็ต้องสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะและมหาวิทยาลัย อีกเมื่อจบออกมาแล้วก็ต้องขวนขวายเข้าสู่ตลาดงานที่มีอยู่จำกัด

วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครพึงปรารถนา แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพการแข่งขันที่เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้อาจสามารถอธิบายได้โดยคำจำกัดความพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "อุปสงค์" (demand) และ "อุปทาน" (supply) เมื่อความต้องการ (จำนวนคน) มีสูง แต่ทรัพยากร (โรงเรียน มหาวิทยาลัย งาน) มีอยู่อย่างจำกัดในทางหนึ่ง การแข่งขันก็ทำให้เกิดการขวนขวายชิงดีชิงเด่นทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรนั้นๆ ในอีกทางหนึ่ง ก็ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรทั้งโดยกลไกตลาด (ซึ่งรวดเร็ว ตอบรับทันท่วงที) และวิถีรัฐ (ซึ่งใช้เวลาตามขั้นตอนของระบบราชการ)

เรื่องใกล้ๆ ตัวอาทิเช่น โรงเรียนสอนพิเศษที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันราชภัฏฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี หรือแหล่งสถานบันเทิงทั้งกลางวันกลางคืน น่าจะอธิบายปรากฎการณ์จำนวนคนเกิดที่เพิ่มขึ้นมาก หรือ "เบบี้บวม" ที่กำลังพูดถึงได้ดี เพราะเมื่อคลื่นประชาชนรุ่นนี้เคลื่อนที่ไปในวัยใด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช่วงวัยนั้นๆ ก็ดูจะเฟื่องฟูและเบ่งบานตามไปด้วย

สิ่งที่น่านึกถึงในอนาคตก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไม่แพ้กับการนึกย้อยคิดไปยังห้วงเวลาที่ผ่านมาและที่กำลังเป็นอยู่ ในทางหนึ่งก็ชวนให้ดีใจว่า "คุณภาพ" น่าจะทวีความสำคัญเหนือ "ปริมาณ" การที่จำนวนประชากรในรุ่นหลังที่เริ่มมีจำนวนน้อยกว่าที่เป็นอยู่บังคับให้สถาบันต่างๆ ที่รับใช้สังคมต้องปรับเปลี่ยนตาม ตัวอย่างเช่น สถาบันการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดเพื่อตอบสนองความต้องการด้านปริมาณน่าจะเริ่มพัฒนาในเชิงคุณภาพมากขึ้น มิเช่นนั้นแล้วก็จะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชนที่มีรายได้ขึ้นอยุ่กับผลงานการดำเนินธุรกิจล้วนๆ

อย่างไรก็ดี มีเรื่องหนึ่งที่น่ากลัว พ่อบอกว่าเมื่อประชากรรุ่นเกิดล้านเริ่มมีอายุก้าวขึ้นไปถึงวัยคนแก่ เมื่อถึงเวลานั้น
ก็อาจจะเกิด "วิกฤติคนแก่" ได้ เพราะในเวลานั้น จำนวนคนแก่จะมีมาก และคนแก่เหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากลูกหลานเท่าที่ควร อันเป็นผลมาจากจำนวนคนในรุ่นลูกมีน้อยลง คนรุ่นเกิดล้านคนมักไม่แต่งงาน อยู่กันโดดเดี่ยว หากมีครอบครัวก็มักมีลูกน้อย หรือก็ไม่มีลูกเลยสักคน สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากคุณค่าเรื่องครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ปัญหาคนแก่ก็จะเป็นปัญหาที่ทิ้งไว้ให้รัฐเป็นผู้ดูแล หากรัฐไม่มีประสิทธิภาพและอุดมไปด้วยนักการเมืองที่ขาดวิถีทัศน์ในระยะยาว ปัญหาดังว่าก็จะคาราคาซัง ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที และในที่สุดแล้วพลเมืองส่วนหนึ่งก็จะไม่ได้รับความกินดีอยู่ดี อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ

น่าเสียดายที่นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องคนแก่นี้ มักเป็นเรื่องที่ไกลตัวนักการเมืองผู้มีอันจะกิน อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่มีผลน้อยต่อการเลือกตั้งอันเป็นสิ่งที่นักการเมืองให้ความสำคัญที่สุด

ในมุมมองของนักการเมืองแล้ว คงคิดว่ารัฐบาลมีเวลาทำงานเพียง 4 ปี แต่ปัญญาเรื่องคนแก่เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนกันยาวนาน อีกยังใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผล นโยบายที่ต้องใช้เวลานานเช่นเรื่องคนแก่จึงไม่ทันท่วงทีในการเป็นผลงานอวดประชาชนเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป

คิดถึงอนาคตของคนรุ่นเกิดล้านว่าจะเป็นเช่นไรแล้วก็เสียวไส้ อย่าลืมว่าอีกเพียงแค่ 18 ปีข้างหน้า คนรุ่นเบบี้บวมกลุ่มแรกก็จะแตะวัยสูงอายุ คือ 60 ปีแล้ว

ไม่รู้พ่อจะยิ้มดีใจให้กับอะไร ระหว่างการที่ลูกชายรู้ว่า "ประชากรศาสตร์" ของพ่อมีความหมายและการใช้ในชีวิตจริงอย่างไร (จนคิดเตลิดมาถึงเช่นนี้) กับการที่พ่ออยู่ในยุคที่ปัญหาคนแก่ยังไม่ได้อยู่ในวัยวิกฤติจนน่ากลัว (ดังอนาคตที่พ่อคาดการณ์ไว้)
กำลังโหลดความคิดเห็น