xs
xsm
sm
md
lg

ฟองสบู่เศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ต้นปี พ.ศ.2543 ขณะยังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ผมได้รับโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ฟังบรรยายของ พอล ครุกแมน ในงานกาลาดินเนอร์ที่โรงแรมเอราวัณ

ในการบรรยายคราวนั้นผมจำได้รางๆ ว่า ครุกแมน ไม่ได้พูดอะไรแปลกใหม่ไปจากหนังสือ The Return of Depression Economics ของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีก่อนหน้ามากนัก นอกจากนั้นยังเหมือนกับเป็นการฉายหนังซ้ำให้เราทราบถึงสาเหตุว่าทำไมเอเชียจึงเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ....

5 ปีถัดมา กลางเดือนพฤษภาคม 2548 หรือ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง พอล ครุกแมน เดินทางมาเมืองไทยตามคำเชิญของ บริษัทไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด และ แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป เพื่อบรรยายเรื่อง “Warning System; Positioning of Thailand & South East Asia” น่าเสียดายที่ผมอยู่ไกลเกินไปที่จะเดินทางไปรับฟังคำบรรยายของครุกแมนคราวนี้ อย่างไรก็ตาม โชคยังดีที่เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันเอื้อให้ผมสามารถรับรู้รายละเอียดของเนื้อหาการบรรยาย คำทำนาย และคำเตือน เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกของ กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ได้

ผมติดตามอ่านบทความ ข่าว สัมภาษณ์ และบทวิเคราะห์ของผู้ที่ได้เข้ารับฟังคำบรรยายของ ครุกแมน เกือบทุกตอน และก็พอจะให้ความเห็นกับตัวเองได้ว่า มาเมืองไทยคราวนี้ ครุกแมน พูดอะไรที่เป็นเนื้อเป็นหนัง มากกว่าคราวที่แล้วเยอะเลยทีเดียว อย่างน้อยคราวนี้โดยสถานการณ์โลกก็พอเหมาะพอเจาะให้เขาพูดอะไรที่น่าสนใจออกมา ขณะที่ในส่วนข้อมูลของประเทศไทยเขาก็ยังทำการบ้านมาพอสมควร

คำเตือนแรกจากครุกแมนที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะแตกได้ ทั้งนี้ผลกระทบต่อโลก และชาติในเอเชียก็คือ ความมั่งคั่งที่ลดลงของชาติในเอเชียที่ส่วนใหญ่นิยมถือดอลลาร์สหรัฐฯ สำรองเอาไว้ และ กำลังซื้อของชาวสหรัฐฯ ที่จะลดน้อยถอยลง

คำเตือนในเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของครุกแมนประเด็นนี้ ทำเอาผมอดหันมาคิดถึงสถานการณ์ในประเทศจีน อีกเครื่องยนต์ยักษ์ที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไม่ได้

ในช่วงหลายปีมานี้มีเสียงถกเถียงกันอย่างหนาหูว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนคือฟองสบู่ขนาดใหญ่มหึมาที่รอวันแตก! แม้ฝ่ายมองโลกในแง่ดีจะพยายามให้ข้อมูลว่า ชาวจีนมีอยู่เป็นพันล้านคนความต้องการที่อยู่อาศัยนั้นก็มีมากไปด้วย สร้างอย่างไรก็มีคนซื้อ แต่สภาพของนโยบายจากรัฐบาลจีนที่ออกมานั้นเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลจีนกำลังพยายาม Soft Landing เศรษฐกิจ โดยประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2547 (แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักจากเดิมที่ นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า ตั้งเป้าไว้ที่ ร้อยละ 7 ต้นปี 2548 ทางการจีนประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2547 ว่าคือร้อยละ 9 ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นว่า จริงๆ แล้วปี 2547 เศรษฐกิจน่าจะเติบโตในระดับร้อยละ 10 ขึ้นไป)

อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปัจจุบันนั้นก็อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยนักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความกังวลว่า ฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ ของจีนคงจะแตกเร็วๆ นี้จากการที่รัฐบาลยังเงื้อง่าราคาแพงไม่ยอมออกนโยบาย 'ของแข็ง' มาห้ามปรามการเจริญเติบโตดังกล่าว

มีสถิติชี้ให้เห็นว่าในปี 2547 ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีการสร้างที่พักอาศัย คิดเป็นเนื้อที่มากถึง 1,100 ล้านตารางเมตร ซึ่งก็หมายความว่า ในจำนวนชาวจีนที่อยู่ในเมือง 166 ล้านครัวเรือน มีมากถึง 15 ล้านครัวเรือนที่กำลังรอซื้อบ้านเหล่านี้อยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้

ทั้งนี้เมืองที่ฟองสบู่อสังหาฯ โต น่ากลัวที่สุดในเมืองจีนก็คือ เซี่ยงไฮ้ ....

โดยมีข่าวคราวออกมาเป็นระยะว่า ราคาที่พักอาศัยบางแห่งของเซี่ยงไฮ้นั้นเพิ่มขึ้นถึง 1,000 หยวนต่อตารางเมตรต่อปี! ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ หากเดิมห้องขนาด 100 ตารางเมตร ราคาเปิดขาย 4,000 หยวน ต่อตารางเมตร หากซื้อในปีแรกราคาห้องพักห้องนี้ก็จะอยู่ที่ราว 400,000 หยวน หรือ 2 ล้านบาท ถัดมาอีกเพียงปีเดียวราคาห้องดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 หยวน หรือ 2.5 ล้านบาททันที โดย เจ้าของโครงการนั้นมีเล่ห์กลสารพัดสารพันในการปั่นราคา สร้างภาพให้คนเห็นว่าห้องพักขาดแคลน ซึ่งมองในภาพรวมแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า แม้เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตรวดเร็วเพียงใด คนจีนรวยขึ้นมาเพียงใด แต่อุปสงค์ และกำลังซื้อก็ยังเติบโตไม่ทันต่อ อุปทานอย่างแน่นอน

สถานการณ์เช่นนี้ หากใครเคยผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของเอเชียในปี 2540 มาก่อนก็คงทราบดีว่า มีความคล้ายคลึงกันมากน้อยเพียงใด

คำเตือนข้อที่สองที่น่าสนใจก็คือ เรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ครุกแมนเตือนให้ประเทศไทยระวังในการเปิด เอฟทีเอ กับสหรัฐฯ เพราะ จากการศึกษาของเขา เขาทราบดีว่ามีไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่ได้เปรียบสหรัฐฯ ในการเปิดเขตการค้าเสรี ....

เรื่องเอฟทีเอนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ผลักดันมาตลอด และบังคับให้หน่วยงานราชการต่างๆ เร่งรัดทำเอฟทีเออย่างรวดเร็ว รวดเร็วจนหลายครั้ง 'การเซ็นสัญญา' เกิดขึ้นก่อน 'การทำการศึกษา-วิจัย ประเมินผล ความได้เปรียบเสียเปรียบ' เสียด้วยซ้ำ ไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ไม่เคยได้ยินสำนวนโบราณที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" หรือ เคยได้ยินแต่จงใจทำหูทวนลมกันแน่?

ตัวผมเองรับทราบมา จากนโยบายเร่งรัดเรื่องเอฟทีเอของของรัฐบาลนั้น บางครั้งดูน่าสงสัยว่าจะมีเงื่อนงำ ความไม่ชอบมาพากล หรือ อาจจะถึงขั้นมีการสอดไส้ดังเช่นที่นักวิชาการและสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสงสัย เพราะ บางครั้งหน่วยงานของรัฐที่ทำ การศึกษา-วิเคราะห์-วิจัยการเปิดเขตการค้าเสรี ไม่ทันจนถึงกับต้องมาจ้างนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษา แต่เมื่อผลการศึกษาปรากฎออกมาเป็น 'ลบ' คือ 'ไม่ควรเซ็นสัญญา เนื่องจากมีแนวโน้มส่งผลเสียต่อประเทศไทยมากกว่า' หน่วยงานภาครัฐกลับตีกลับ โดยสั่งให้ไปแก้ผลการศึกษาให้เป็น 'บวก' เสีย!!!

การกระทำเช่นนี้จะให้ ประชาชน คิดเป็นอื่นได้อย่างไร?

คำเตือนข้อที่สาม ที่เหมือนจะเป็นคำแนะนำมากกว่าก็คือ การปรับตัวครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการที่เศรษฐกิจโลกจะต้องแยกตัวออกออกจากการพึ่งพาอาศัยการขาดดุลของสหรัฐฯ ตลาดที่พักอาศัยในสหรัฐฯ และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ อันเป็นแหล่งที่มาของอุปสงค์ โดยในประเด็นนี้ ครุกแมนกล่าวว่า

"ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องสร้างอุปสงค์ภายในประเทศขึ้นมาเอง รวมทั้งประเทศไทยด้วย"

ในตอนต้นของ บทสุดท้ายบทที่ 9 ของหนังสือ The Return of Depression Economics ซึ่งใช้ชื่อบทเช่นเดียวกับชื่อหนังสือ ครุกแมน ได้แสดงถึงความเป็นห่วงต่อระบบเศรษฐกิจโลกว่าเป็นระบบที่อันตรายต่อสวัสดิภาพของชาวโลกอย่างยิ่ง โดยเขากล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงนิยามของ Depression Economics หรือ เศรษฐวิบัติ (ในภาษาแปลของ ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์) ว่า

"เป็นครั้งแรกในช่วงคนสองรุ่น ที่ความบกพร่องทางด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจ ความไม่เพียงพอในการใช้จ่ายของภาคเอกชนเพื่อที่จะขับเคลื่อนกำลังการผลิตที่มีอยู่ ได้แสดงให้เห็นว่า การเจริญเติบโตในภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลกนั้นมีจำกัด" หรือ อธิบายง่ายๆ ก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคตนั้นจะถูกควบคุมไว้ด้วย ภาวะที่การเติบโตของอุปสงค์ที่ตามไม่ทันการโตของอุปทาน (ความต้องการบริโภคโตไม่ทันความสามารถในการผลิต จนเกินภาวะอุปทานล้นเกิน หรือ Over Supply)

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศผู้นี้จะกำลังบอกเราว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น

ใช่ครับ 'พึ่งพาตัวเอง' ให้มากขึ้น....

หมายเหตุ :
- หนังสือ The Return of Depression Economics มีแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า เศรษฐวิบัติ แปลโดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ สนพ.มติชน
กำลังโหลดความคิดเห็น