xs
xsm
sm
md
lg

ใครว่าโลกกลม

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

เพิ่งอ่านหนังสือจบไปเล่มหนึ่งครับ คนเขียนเขาบอกว่าโลกของเรา ไม่ได้ “กลม” อย่างที่เคยเป็นแล้ว

หนังสือเล่มที่ว่า ชื่อ “โลกของเรานั้นแบน: ประวัติศาสตร์โดยย่อของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด (The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-first Century) โดย โธมัส ฟริดแมน (Thomas Friedman) นักข่าวคนดังแห่งนิวยอร์กไทมส์ เขาเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับโลกานุวัตรเรื่อง “รถเล็กซัส และต้นมะกอก” (Lexus and the Olive Tree) ที่เคยเลื่องชื่อ และเป็นหนังสือต้องอ่านประกอบการเรียนรัฐศาสตร์ของผม เมื่ออยู่มหาวิทยาลัย

พออ่านจบ ผมก็เชื่อ และเห็นด้วยกับเขาอย่างหัวปักหัวปำ อีกพาลให้คิดบรรเจิด (จนเกือบจะตกขอบโลก) เสียด้วยสิ น่าจะยกให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประจำปีสำหรับคนไม่ชอบดูดวง แต่อยากรู้ชะตาชีวิตข้างหน้า อีกนักธุรกิจ นักการเมือง ผู้บริหารประเทศ นักเรียนนักศึกษา เด็กในวันหน้า หรือผู้ใหญ่ในวันนี้ก็น่าจะหาอ่านกันไว้เป็นความรู้คู่ตัว

ฟริดแมนอรรถาธิบายว่าโลกที่เรากำลังเดินย่ำอยู่นี้กำลังก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำให้รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนบนโลกนั้นลึกซึ้งมากกว่าแต่ก่อน ปรากฏการณ์ที่เคยเขย่าโลก ให้ “กาล” และ “เทศะ” หดสั้นใกล้ชิดกันนั้น ได้เพิ่มความแรงจนมีพลังทำให้จุดต่างๆ บนโลกที่ใกล้ชิดกันและไร้พรมแดนนั้นตั้งอยู่บนระดับระนาบเดียวกันแล้วในสมัยนี้

โลกในปัจจุบัน และอนาคต จึง “แบน” ไม่ได้ “กลม” อย่างที่เคยเป็น

ฟริดแมนเคยอธิบายปรากฏการณ์โลกานุวัตรที่เกิดขึ้นในศตวรรษก่อนได้แจ่มแจ้งชัดเจนในหนังสือเล่มก่อนของเขา ว่าคลื่นโลกานุวัตรที่พัดสู่โลกนั้นมีเป็นระลอก ในหนังสือเล่มล่านี้ เขานำมาย้ำให้เห็นภาพรวมกันอีกครั้ง การที่จะทำความเข้าใจกับโลกานุวัตรระลอกแรกต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1492 เมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา (ซึ่งโคลัมบัสเรียกว่า “โลกใหม่”) จนถึงช่วงราว ค.ศ. 1800 ในยุคแรกนี้โลกอันกว้างใหญ่เริ่มมีขนาดเล็กลง ผู้คนจากที่ต่างๆ เริ่มมีการค้าขายและเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน มีการล่าอาณานิคม เพื่อแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ และตลาดรองรับความก้าวหน้าจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม ฟริดแมนเรียกยุคดังกล่าวว่า “โลกานุวัตร เวอร์ชั่น 1.0 “

โลกานุวัตรระลอกต่อมานั้นร่วมสมัยกับเรา และเพิ่งจะซัดเข้าฝั่ง การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวของอุดมการณ์ทางการเมือง (อันเนื่องมาจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปิดประตูทางพรมแดนของรัฐ อีกย่นเวลาและสถานที่ให้ใกล้ชิดกัน เรือเดินสมุทรถูกทดแทนด้วยเครื่องบินเจ็ต โทรเลขด้วยอินเตอร์เน็ต ร้านโชห่วยด้วยร้านสะดวกซื้อ และอีกหลายต่อหลายความเปลี่ยนไป โลกานุวัตรในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ อันทำให้เศรษฐกิจ นำการเมืองและสังคม

เด็กรุ่นราวคราวเดินกัน รวมทั้งที่ห่างขึ้นไปและต่ำลงมาหนึ่งรุ่นต่างเติบโตมาในยุคแฟชั่นฮิตใส่ร้องเท้าไนกี้คู่โตรุ่นไมเคิล จอร์แดน และเสื้อสะท้อนแสงจ้าของบอร์ดี้ โกลฟ ฯลฯ ในขณะที่คนรุ่นคุณยายเลือกผู้แทนฯ ตามพรรคที่มีทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มากกว่าตามอุดมการณ์ทางการเมือง ในห้วงเวลาที่ธุรกิจการเมืองเริ่มคุกรุ่น

คนไทยรู้จักโลกานุวัตรดีว่า “โลกาภิวัตน์” ตามศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานก็ในเวอร์ชั่น 2.0 นี้ล่ะ

ฟริดแมนเสนอต่อไปว่า โลกานุวัตรระลอกใหม่ (เวอร์ชั่น 3.0) ได้เริ่มโหมซัดแล้ว คราวนี้ซัดแรงเสียด้วยสิ แรงจนทำให้โลกของเราแบนเรียบทีเดียว ความสัมพันธ์ตามแนวตั้งระหว่างผู้คนเริ่มตะแคงลงเป็นแนวนอน เขายกตัวอย่างว่าอินเดียเริ่มอยู่ในระดับเดียวกับอเมริกา ดูตัวอย่างสิว่าคนอเมริกาขอความช่วยเหลือทางโทรศัพท์ (เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ แจ้งกระเป๋าหาย) กับคู่สายคนอินเดียวที่อยู่คนละฟากฝั่งโลก อีกหนึ่งตัวอย่างก็คงไม่พ้นสินค้าติดป้ายเมดอินไชน่าหราทั่วตลาดโลก

อะไรเป็นพลังให้เกิดคลื่นระลอกใหม่ซึ่งทำให้โลกแบนลงเช่นนี้เป็นเรืองน่าสนใจ ฟริดแมนเขาเห็นว่ามีอยู่ 10 อย่างด้วยกัน คนเขียนบอกต่อไปว่า แรงทั้งสิบอย่างนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งได้เวลาเหมาะเจาะมาหลอมรวมกันเป็นพลังที่ทำให้โลกานุวัตรระลอกใหม่ครั้งนี้

แรงอย่างแรกก็คงไม่พ้นการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1989 ที่เขาถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งชัยชนะอันยาวนานของระบบเสรีประชาธิปไตย

อย่างที่สองก็เป็น การเกิดขึ้นของโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตอย่างเนตสเคป (Netscape) ที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น

ต่อมาคือ พัฒนาการด้านซอฟต์แวร์ที่เอื้อให้การติดต่อระหว่างจุดต่างๆ ในโลกง่าย และมีประสิทธิภาพ ฟริดแมนยกตัวอย่างโปรแกรมที่ช่วยให้นักบัญชีชาวอินเดียทำภาษีให้คนอเมริกัน

อย่างที่สี่ ก็คือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เปิดข้อมูลการเขียนโปรแกรมให้แก้ไขโดยเสรี (open source) ซึ่งมีความแตกต่างจากโปรแกรมที่เป็นสินค้าลิขสิทธิ์อย่างเช่นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ หรือโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สนี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมีโปรแกรมเมอร์หลายคนช่วยกันรุมแก้ข้อผิดพลาด และทำให้ก้าวหน้า อีกยังมีราคาถูก และปลอดภัยต่อการโจมตีด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์

หกอย่างต่อมานั้นเป็นเรื่องของการที่เทคโนโลยีทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (ประหยัด และได้ผลดี) ได้แก่ การเอาไปให้คนอื่นทำ (Outsourcing) การย้ายฐานการผลิต (Offshoring) การกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ (Supply-Chaining ) และการเอามาทำเอง (Insourcing )

อย่างที่แปด ก็คือ การที่คนเราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้อย่างเท่าเทียม โดยการช่วยเหลือจากโปรแกรมการค้นหาข้อมุลอย่างกู๊กเกิล (Google) ยาฮู (Yahoo) หรือเอ็มเอสเอ็น (MSN) การเข้าถึงข้อมูลโดยเสรีเช่นนี้ทำให้โลกทรรศน์ของผู้คนนั้นกว้างขวาง อุปสรรคที่เคยขวางกั้นศักยภาพในการพัฒนาตนให้เท่าเทียมนั้นเริ่มถูกทำลายลงเรื่อยๆ จนผู้คนในประเทศต่างๆ สามารถก้าวขึ้นมาผงาดอยู่ในระดับเดียวกันได้ไม่ยาก

อย่างสุดท้าย ฟริดแมนเรียกว่าเป็น ยาโด๊ป (steroids) ซึ่งช่วยสนับสนุนและเพิ่มกำลังของแรงทั้ง 9 อย่าง ยาเสือสิบเอ็ดตัวที่สำคัญในยุคโลกแบนเห็นจะไม่พ้นเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีทั้งมือถือ โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (ที่ฟรี และถูกมากๆ) และเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (PDA)

แรงทั้งสิบอย่างที่เพิ่งยกมาให้ฟังนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรกับโลกเราบ้างก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ การที่โลกแบนย่อมหมายถึงความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ย่อมแบนราบเท่าเทียมกันไปด้วย ฟริดแมนเขียนไว้ชัดว่า “เวทีที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นเวทีระดับโลก บนพื้นฐานของการติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันในหลายระดับ โดยเฉพาะการแบ่งปันความรู้ และแบ่งงานกันทำ ในเวลาเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงความห่างไกลด้านภูมิศาสตร์ หรือภาษา”

นอกจากนี้แล้ว เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะมีความเกี่ยวพันต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น อินเทอร์เน็ตสามารถลดต้นทุนของธุรกิจได้เห็นทันตา อีกยังอำนวยความสะดวกให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ฟริดแมนคาดเดาว่าขณะนี้ ผู้คนกว่า 3 พันล้านคนในอินเดีย จีน รัสเซีย อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก และเอเซียกลางที่เคยถูกปิดจากโอกาสในการแข่งขันกำลังจะลืมตาอ้าปาก คนเหล่านี้เป็นพวกที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ซึ่งเขาเรียกคนกลุ่มใหม่นี้ว่า “ซิปปี้” (Zippies) คนพวกนี้จะเข้าคุมบังเหียนทำหน้าที่หมุนเศรษฐกิจโลก แทนองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์กรการค้าโลก (WTO) รวมทั้งสนธิสัญญา หรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล

เวทีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระหว่างปัจเจกบุคคลจะเกิดขึ้นใหม่ ตัวแสดงในเวทีนั้นก็เป็นคนกลุ่มใหม่เช่นกัน ดังนั้น โลกในศตวรรษใหม่นี้นอกจากจะแบนแล้ว ยังหมุนเร็วขึ้นอีกหลายเท่าตัว

หากใครตกแถวในรอบนี้ ก็จะเจ็บสาหัสสากรรจ์เชียวล่ะ ฟริดแมนเขาเตือนให้หูตากว้างขวาง และรับรุกให้ฉับไว

อ่านหนังสือเล่มนี้จบ แทนที่ผมจะง่วงแล้วหลับผล็อยดังที่เคยเป็นประจำ กลับต้องลุกขึ้นมาเต้นโหยง คิดกังวลใจว่าตัวเองจะตกกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้หรือไม่ เมื่อคิดสรตะได้ จึงค่อยเริ่มเปลี่ยนนิสัยและความเคยชินต่างๆ ใกล้ตัว อีกยังพาลยุให้เพื่อนรอบข้างรับรู้ถึงคลื่นลูกใหม่นี้ พร้อมบอกกล่าวให้เตรียมรุก และตั้งรับให้ทันกับสถานการณ์

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมจึงใช้เวลาหน้าคอมพิวเตอร์แทบทั้งวันโดยไม่ลุกไปไหนไกล นั่งค้นหาข้อมูลเรื่องระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์ส (open source) อย่างลีนุกซ์ (Linux) และดาวน์โหลดโปรแกรมท่องไซเบอร์สเปซอย่าง “เจ้าหมาจิ้งจอกเพลิง” (Firefox) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมาใช้งาน พร้อมหยุดใช้โปรแกรมท่องเว็บตัวเดิมที่ใช้ประจำอย่างอินเทอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ จากค่ายไมโครซอฟท์ โดยไม่แม้แต่กล่าวลา

สารานุกรมวิกิพีเดีย (wikipedia) ภาคภาษาไทย อธิบาย “โอเพนซอร์ส” ไว้ว่า “ลักษณะการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีแนวคิดแบบ 'เปิด' ที่ทุก ๆ คน สามารถร่วมพัฒนาได้ ในทุก ๆ ส่วน” และอธิบาย “ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” ว่า “ซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้ แก้ไข และ เผยแพร่ ซอร์สโค้ด ได้อย่างเสรี”

สารานุกรมวิกิพีเดียที่ผมใช้หาคำอธิบายของคำข้างต้นมานั้น คือ สารานุกรมออนไลน์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของและผู้บัญญัติศัพท์ผู้ใช้ทุกคนสามารถเพิ่มเติมข้อมูลในสารานุกรมนี้ได้โดยเสรี สารานุกรมฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ ”แรง” ที่ยกระดับให้โลกแบนราบเท่ากัน ไม่มีช่องว่างของผู้บัญญัติศัพท์ และผู้ใช้ ดังที่มีอยู่ในการจัดทำแหล่งประมวลความรู้ในความหมายเดิม ที่มีคณะผู้จัดทำเพียงไม่กี่คน และอยู่ในสาขาวิชาเดียวกันเท่านั้น แต่วิกิพีเดียให้ผู้ใช้ทุกคนเป็นคณะผู้จัดทำ มีสถานะและหน้าที่เท่าเทียมกันหมด ระบบเช่นนี้ย่อมจะไม่มีข้อมูลที่ผิดๆ ถูกๆ อย่างแน่นอน เพราะผู้ใช้ทุกคนเป็นผู้ตรวจสอบ และสามารถแก้ข้อผิดได้อย่างทันท่วงที

จำพจนานุกรมฉบับหนึ่งของฝรั่งได้ไหม ที่เคยบัญญัติศัพท์ว่า “Bangkok” ที่เรารักและหวงแหนนั้น คือ เมืองแห่งโสเภณี การมองโลกด้านเดียวเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในวิกิพีเดีย เมื่อข้อมูลได้รับการเพิ่มเติม และขัดเกลาโดยเท่าเทียมกัน

ด้วยเหตุผลประการทั้งปวงที่ได้ขบคิดมาโดยตลอดสัปดาห์ ผมจึงไม่รีรอชวน “หัวคี่” เพื่อนที่ทำงานอยู่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และ “ชูฮวย” เพื่อนอีกคนที่กำลังเรียนอยู่ประเทศอังกฤษ มาสุมหัวช่วยกันเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องโรงเรียนเก่าของเราในสารานุกรมวิกิพีเดีย พร้อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน “เจ้าจิ้งจอกเพลิง” ไปยังกระดานข่าวของรุ่น และของสมาคมนักเรียนเก่าฯ ป่าวประกาศให้เพื่อนพี่น้องคนอื่นๆ ให้มาช่วยกันเพิ่มเติมเสริมแต่งข้อมูลของโรงเรียนเก่าในสารานุกรมออนไลน์ฉบับดังกล่าวให้ครบถ้วน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ คนที่สนใจจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้

แผนอยู่บนโลกแบนอันต่อไปสำหรับผมก็คงจะเป็นการบอกลาจากอย่างไม่มีวันหวนจากคุณอาบิล เกตส์ หันมาใช้ลีนุกซ์ และพิมพ์ต้นฉบับด้วยปลาดาวออฟฟิศแบบไทยๆ ผมตั้งใจทำตามแผนให้เสร็จโดยเร็ววัน นอกจากนี้ ก็ยังหวังว่าจะสามารถตั้ง “โปรแกรมส่งสารด่วนจี๋” (Instant Messenger) ที่ชื่อว่า “เกม” (Gaim) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้ใช้การได้แทนโปรแกรมส่งสารเอ็มเอสเอ็นของค่ายไมโครซอฟท์เจ้าเดิม

ตอนนี้ประเทศกำลังพัฒนาไหนๆ โดยเฉพาะประเทศแนวหน้าอย่างบราซิล รัฐบาลเขาก็หันมาให้การสนับสนุนระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่างจริงจัง เสียดายพี่ไทยมาแรงตอนต้น แต่มาแผ่วจนเรื่องเงียบหายกลางคันเสียนี่

วันว่างจากการเรียนเช่นนี้ ผมจึงมีความสุขอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูล พูดคุยติดต่อกับเพื่อนจากทั่วทุกมุมโลก อีกยังภูมิใจที่ได้เสียสละเพิ่มเติม และแก้ไขข้อมูลในสารานุกรมออนไลน์ให้ครบถ้วนมากขึ้น

ที่เล่นเน็ตทั้งวันทั้งคืนจนตาเปียกตาแฉะอย่างนี้ ไม่ใช่อะไรเสีย นอกจากจะกลัวเป็นอย่าง “ลุง(ตา)เชย” ที่เดินถือชะลอมเข้ามาเมืองกรุง ในสมัยหัสนิยายสามเกลอ (อา)พล (อา)นิกร และ(อา) กิมหงวนเท่านั้น

หมายเหตุ

ดาวน์โหลด “เจ้าจิ้งจอกเพลิง” ภาคภาษาไทย (โปรแกรมท่องเว็บ ใช้แทน Internet Explorer สำหรับวินโดวส์) ได้ที่ www.actiwhiz.com/firefox

ดาวน์โหลด “เกม” (โปรแกรมส่งสาร ใช้แทน MSN messenger) ได้ที่ http://gaim.sourceforge.net/downloads.php

ดาวน์โหลด ออฟฟิศทะเล (โปรแกรมจัดการเอกสาร ใช้แทน Microsoft Office ได้ที่ http://opentle.org/modules.php?op=modload&name=phpWiki&file=index&pagename=OfficeTLEหรือ ปลาดาวออฟฟิศ (ใช้งานเช่นเดียวกับออฟฟิศทะเล) ที่ http://www.pladao.org

ท่องหาข้อมูลในสารานุกรมวิกิพีเดียภาคภาษาไทยได้ที่ http://th.wikipedia.org ภาคภาษาอังกฤษที่ http://en.wikipedia.org

หากอยากเปลี่ยนจากระบบปฏิบัติการวินโดว์ของไมโครซอฟท์ มาเป็นระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ของคนไทย หารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://opentle.org
กำลังโหลดความคิดเห็น