เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมกับขนมทองเอกจากเจ้าข้าวแช่บางลำพู ติดกับร้านเนื้อเค็ม
แม่เล็ก ขนมของเขาใช้ได้ทีเดียว ส่วนข้าวแช่เจ้านี้มีขายตลอดปี วันไหนนึกอยากทานก็แวะซื้อกลับไปรับประทนที่บ้านเสมอ นับว่าสะดวกดี
ไม่กี่วันมานี้ผมไปที่ต่างจังหวัด เข้าไปรับประทานมือกลางวันในห้องอาหารของโรงแรมเก่าแก่ หน้าห้องน้ำผู้ชายของเขียนป้ายบอกทางเข้าเต็มยศว่า “ห้องน้ำสุภาพบุรุษ” และ “ห้องน้ำสุภาพสตรี” สำหรับผู้หญิง ผมเลยมีความรู้สึกว่า คำว่าสุภาพบุรุษ-สุภาพสตรีนั้นได้จางหายไปจากหน้าห้องสุขา ปัจจุบันตามปั๊มหรือสถานีบริการน้ำมันต่างๆ ภัตตาคาร โรงแรม ก็ใช้แต่เพียง ชาย-หญิง หรือทับศัพท์ภาอังกฤษเป็น MEN - WOMEN ไปเลย
คำว่า สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ที่จะได้ยินกันในสมัยนี้ ท่าพูดพร้อมกัน ดูเหมือนว่าจะได้ยินกันในงานเลี้ยงแต่งงาน ซึ่งผู้ใหญ่ฝ่ายชายหรือหญิง ขึ้นมากล่าวอวยพร ก็จะพูดว่า
“ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ กระผมได้รับฉันทานุมัติจากผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายให้ขึ้นมากล่าวอวยพร คู่บ่าวสาวในวันนี้ ซึ่งเผลอตัวมาแต่งงานกันในวันอันเป็นมงคล ...” อะไรทำนองนี้
นอกจากนั้นแล้ว ไม่ค่อยได้ยิน บางทีมี่พูดรวมๆเป็น “ท่านผู้มีเกียรติ ที่เคารพ” ก็นับว่าเป็นกลางๆดี เพราะใช้ได้ทั้งชายหญิงรวมทั้งเพศที่สามด้วย
พูดถึงคำว่า สุภาพบุรุษ ทำให้นึกถึง ศรีบูรพา หรือคุณ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปีนี้ เขามีการเชิญชวนให้ฉลอง “๑๐๐ ปี ๔ นักเขียน ” คือสี่นักเขียนและนักประพันธ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่เป็นสหชาติหรือเกิดในปีเดียวกัน คือ ม.จ.อากาศดำเกิง ระพีพัฒน์, ม.ล.บุบผา นิมมาเห
มินทร์ เจ้าของนามปากกา “ดอกไม้สด” และ “ไม้ เมืองเดิม” หรือ ก้าน พึ่งบุญ รวมทั้งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ด้วย
สำหรับงานของศรีบูรพานั้น มีการจัดแยกพิเศษไปอีกต่างหาก เพราะองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นวันเริ่มต้นฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า "ศรีบูรพา" มีการจัดเฉลิมฉลองกันหลายสถานที่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสนี้ด้วย เพราะนักเขียนนักคิดรุ่นหลังมองว่า เจ้าของนามปากกาศรีบูรพา ปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการ และได้ต่อสู้กับระบอบการปกครองแบบกึ่งเผด็จการ อย่างผู้มีอุดมการณ์ของเสรีชน ด้วยการคิดการเขียนเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่แต่เพียง ศรีบูรพา เท่านั้น เพราะหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นักคิดนักเขียนยุคนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เมื่อด่าผู้นำหรือด่ารัฐบาลตรงๆไม่ได้ ก็เขียนบทความ บทกวี นิยาย เสียดสีกันเข้าไป ทางผู้มีอำนาจเขาไม่พอใจก็จับกุมคุมขังเอา แต่ยังไม่ขั้นจัดตั้งกองกำลังถึงกับเข้าต่อสู้กับฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ
บ้านเมืองยุคนั้นและต่อมาอีกหลายทศวรรษ ใครมีความเห็นต่างจากผู้นำหรือรัฐบาล กลายเป็นศัตรูของรัฐไปทั้งหมด การวิพากษ์วิจารณ์ทำได้ยาก ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันนี้ ที่ประชาธิปไตยเต็มใบ สื่อสารมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ หรือพูดง่ายๆด่าผู้นำ ด่ารัฐบาล ด่าฝ่ายค้านและนักการเมือง ที่ประพฤติเลวทรามได้อย่างเอิกเกริกไกร ล่อกันได้อย่างเต็มพิกัด มีเสรีภาพเต็มเปี่ยมหายากแม้ในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็มีหลายสื่อที่หลับหูหลับตาด่าไม่ได้ดูเหตุผล ใช้วาจาหยาบคาย แค่เอามันกันเท่านั้น บางทีก็รับเงิน “นายทุนอกหัก” มาเปิดสถานีวิทยุด่ารัฐบาลแทน เพราะประเทศไทยของเรามีเสรีภาพสมบูรณ์ที่จะทำอย่างนั้นได้ จนบัดนี้ผมก็ยังแปลกใจที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ กลุ่มเอ็นจีโอ จะเรียกหาเสรีภาพพระแสงด้ามยาวอะไรกันนักหนา ไอ้ที่ฉลาดหนัก ขู่จะวิ่งโร่ไปฟ้องรัฐบาลกับสหประชาชาติเอาเลย ให้คนต่างชาติดูแคลนประเทศไทยเล่น....อย่างนี้ก็มี !
ศรีบูรพานั้น ได้รับการยกย่องในระดับโลก ก็เป็นที่น่ายินดีสำหรับคนไทย ที่ท่านโดดเด่นขึ้นมาเป็นอย่างมาก ก็เพราะนักเขียนท่านนี้ให้ความสำคัญในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและภราดรภาพหรือความเสมอภาค เป็นผู้มีบุคลิกภาพซื่อตรง จริงใจ ไม่ก้มหัวให้กับผู้ที่ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม แม้ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ งานของท่านสามารถติดอาวุธทางปัญญาของผู้คนที่ได้อ่านผลงานอันไม่มีวันตายของท่าน
ผมคุ้นเคยกับนิยายและข้อเขียนของ ศรีบูรพา หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่การที่ชอบอ่านหนังสือมากตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย นิยายอย่างเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ยังไม่ได้สร้างความรู้สึกให้ผมสักเท่าไหร่ ครั้นเมื่อโตขึ้นมีความรู้สึกเหมือนหนุ่มสาว เรื่องของท่านก็จับใจผมอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมีครอบครัว มีลูกของตนเอง ความรู้สึกต่อข้อเขียนของท่านก็เปลี่ยนไป เพราะประสบการณ์ในชีวิตของตนมีมากยิ่งขึ้น ความรักลึกซี้งอย่างวัยแตกเปลี่ยวจางหายไป กลายเป็นมองเห็นความงดงามของภาษาหนังสือ ถ้อยคำสำนวนต่างๆของท่านผู้เขียน มากกว่าเรื่องโรแมนติคแบบหนุ่มสาว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการอ่านหนังสือของคนในแต่ละวัยที่แตกต่างออกไป
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รวบรวมทุนและเพื่อนสนิทออกหนังสือ เรียกตัวเองว่า คณะสุภาพบุรุษ นั้นประกอบไปด้วย กวี นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ทั้งหมด ๑๘ คน มีอบ ไชยวสุ ("ฮิวเมอริสต์") มาลัย ชูพินิจ ("แม่อนงค์") โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา "ยาขอบ") ชิต บุรทัต (นามปากกา "แมวคราว") โพยม โรจนวิภาต (นามปากา "อ.ก. รุ่งแสง") พัฒน์ เนตรรังษี (นามปากกา "พ. เนตรรังษี") เป็นอาทิ
คณะสุภาพบุรุษ ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือ สุภาพบุรุษ เริ่มออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พิมพ์ ๓,๐๐๐ ฉบับไม่มีเหลือจนต้องเพิ่มยอดเป็น ๔,๐๐๐ แต่ทว่าหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษมีอายุสั้น อยู่ได้หนึ่งปีกับอีกสามฉบับ ก็ต้องเลิกไปเพราะเก็บเงินจากสายส่งไม่ได้
มีเกร็ดเล็กๆที่อยากเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังคือ ผู้ใหญ่ที่เคารพของผมอยู่ท่านหนึ่งคือ คุณพยุง อิศรางกูร ภริยา นพ.จรัญพัฒน์ อิศรางกูร สูตินารีแพทย์ที่มีชื่อเสียง ท่านเคยทำงานกับหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษเล่าว่า ก่อนที่ยาขอบจะลงมือเขียนงานประจำวัน นักเขียนชื่อดังท่านนี้ท่านต้องเขียนจดหมายรักให้สาวๆในโรงพิมพ์ได้อ่านกันเล่น เป็นการลับปากกาก่อน แล้วจึงลงเมือเขียนนวนิยาย และหนังสือพิมพ์ของคณะสุภาพบุรุษนี้เอง ทำให้คำว่า “สุภาพบุรุษ” เป็นที่ติดปากผู้คน
พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ. ศ.๒๔๙๓๔ มีภาพยนตร์ไทยที่ใช้คำว่า สุภาพบุรุษ เป็นชื่อ ซึ่งผู้คนรู้จักดี หนังเรื่องนั้นชื่อ “สุภาพบุรุษเสือไทย” นำแสดงโดยพระเอกนามกระเดื่องคือ สุรสิทธิ สัตยวงศ์ ละออ ทิพยวงศ์ สอางค์ ทิพยทัศน์ เป็นหนังไทยในระบบ ๑๖ มิลลิเมตร เรื่องนี้เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุง ต่อมาย้ายจากโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงไปเข้าต่อที่เฉลิมบุรี ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทำรายได้สูงมากในยุคนั้น รวมทั้งได้รับคำชมเชยเป็นอย่างมาก ผู้คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังกึ่งพุทธกาลอาจไม่รู้จัก แต่เชื่อว่าชาวไทยทั้งหลายจะต้องรู้จัก หรือเคยได้ยินเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ขึ้นต้นว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอยลอยกระทง...”
ใช่แล้วครับ...เพลง "รำวงลอยกระทง" พอถึงเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง เราต้องได้ยินเพลงประจำเทศกาล ที่ลูกเด็กเล็กแดงร้องกันได้หมด
เพลง "รำวงลอยกระทง" บันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อปี ๒๔๙๓ โดยมี วินัย จุลละบุษปะ นำหมู่นักร้องกรมโฆษณาการ วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงครั้งแรกในงานวันลอยกระทงที่ สวนลุมพินี และเพลง นี้ ถือว่าเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของสุนทราภรณ์เลยก็ว่าได้ เพราะชาวต่างชาติก็นำไปร้องเล่นที่ประเทศของตนเองเป็นอันมาก อาจกล่าวได้ว่า “ลอยกระทง” นี้เป็นเพลงไทย ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติรู้จักกันมาที่สุดในกระบวนเพลงไทยด้วยกัน ไม่ว่างานเลี้ยงของคนไทยที่ไหนในต่างแดน เป็นต้องได้ยินเพลงนี้อยู่เสมอ และเป็นเพลงไทยที่นักร้องต่างชาติชื่อดัง เอาไปร้องอัดแผ่นเสียง เช่น นักร้องที่โด่งดังเป็นดาวค้างฟ้า และเป็นอดีตตำรวจฮ่องกงด้วยคือ ฟรานซิส ยิป เป็นต้น
คำว่า ว่า 'สุภาพบุรุษ' ไม่ใช่คำเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองไทย หากแต่เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ คือ Gentleman ซึ่งศรีบูรพาเขียนเอาไว้ ถึงคำๆนี้ว่า
....หนังสือเล่มหนึ่งแนะนำให้เรารู้จักสุภาพบุรุษของอังกฤษ โดยนัยดังต่อไปนี้
๑. ชอบการกีฬา
๒. สุภาพเรียบร้อย
๓. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย)
๔. ไม่อึกทึกครึกโครม
๕. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์
๖. มีนิสัยซื่อสัตย์
กฎกติกาของสุภาพบุรุษอังกฤษ บางข้อไม่จำเป็นสำหรับสุภาพบุรุษไทยนัก แต่ถ้าเรามีกฎที่ดีและปฏิบัติตาม ได้มากๆก็ย่อมแน่ละ ที่ความเป็นสุภาพบุรุษของเราจะต้องเด่นขึ้น...
มีคนหลายคนพยายามให้คุณลักษณะของสุภาพบุรุษ ไว้หลายประการ เช่น
-สุภาพบุรุษเคารพและให้เกียรติในสิทธิของผู้อื่น และต้องการ ให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเขา เช่นเดียวกัน
-สุภาพบุรุษไม่มีพฤติกรรมต่อหน้าอย่างลับหลังอย่างไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความกรุณาโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางสังคม
-สุภาพบุรุษไม่เสียการควบคุมอารมณ์ หรือแสดงอาการโกรธแค้น กลัว เกลียด
ประหม่า ขวยเขิน นิยมชมชอบ หรือ อึกทึกคึกโคม ในที่สาธารณะ
-สุภาพบุรุษไม่พูดไม่เล่าความดี ความมีคุณค่า ความไร้คุณค่าหรือข้อบกพร่องของผู้หญิง
-สุภาพบุรุษไม่เอ่ยและพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยราคาหรือค่าใช้จ่าย
-สุภาพบุรุษไม่เล่าเรื่องกิจกรรมภายในครอบครัวในที่สาธารณะ หรือแม้แต่กับผู้คุ้นเคย
-สุภาพบุรุษไม่โอ้อวดความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทอง และสิ่งของเครื่องใช้เครื่องสะสม
“พนมเทียน” นักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ผู้ประพันธ์นวนิยายสืบสวนเรื่อง “เล็บครุฑ” เรื่องที่อ่านแล้ววางไม่ลงอย่าง “ศิวาราตรี” และนวนิยายที่ฮิตมาจนกระทั่งทุกวันนี้คือ “เพชรพระอุมา” เคยถูกถามว่า สุภาพบุรุษหมายความว่าอะไร ? ท่านตอบว่า สุภาพบุรุษคือคนที่ไม่หักหลังคน พอถามต่อว่า แล้วคำว่า “ลูกผู้ชาย” ล่ะ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ตอบว่า หมายความว่า ลูกผู้ชายจะต้องรู้จักการเสียสละ และกล้าหาญ ซึ่งก็เป็นมุมมองที่ไม่ผิดเช่นกัน
ศรีบูรพา ท่านอธิบายคำว่า “สุภาพบุรุษ” ในทัศนะของท่านว่า
คำว่า "สุภาพบุรุษ" ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความหมายแรงกว่า "ผู้ดี" เพราะผู้ดี, ตามความเข้าใจ ของข้าพเจ้า, เป็นแต่ทำตัวสุภาพอ่อนโยนอยู่ในกรอบของจรรยาเท่านั้น...
ดูเหมือนท่านจะเข้าใจคำว่าผู้ดีไปอีกทางหนึ่ง คือเน้นแต่ในเรื่องจรรยา ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะจรรยานั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบอยู่ในความเป็นผู้ดี และท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
..... ส่วนสุภาพบุรุษ นอกจากจะต้องทำหน้าที่ อย่างผู้ดี ยังมีหน้าที่จุกจิกอื่นๆที่จะต้องทำอยู่มาก หัวใจของ 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษ โดยครบครัน...
ศรีบูรพาเน้นเรื่องความเสียสละ แล้วยังได้อธิบายความต่อไปอีก
ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กระชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า 'ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น', ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่งมาใช้..."
ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็น สุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น"
ฟังดูก็น่าจะดี เพราะคนที่เสียสละได้นั้น ก็เป็นการแสดงว่าทำเพื่อคนอื่นได้อยู่แล้ว แต่ที่ศรีบูรพาท่านพูดอย่างนั้น ก็อาจมีคนค้านได้หลายอย่าง เช่นอ้างว่า พระเจ้าให้คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่พระองค์ไม่ได้ประทานความเป็นสุภาพบุรุษติดตัวมากันทุกคน และที่สำคัญคือ ความเป็นสุภาพบุรุษนั้น พิสูจน์แล้วว่า เป็นเรื่องที่ฝึกฝนอบรมกันได้ !
ผมสนใจคำกล่าวของ พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ แห่งสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ท่านให้แง่คิดที่ดีมากเอาไว้ ว่า
แก่นแท้ของความเป็นสุภาพบุรุษนั้นอยู่ที่ ความรู้สึกภูมิใจในความเป็นมนุษย์ ภูมิใจในเพศของตัวเอง ซึ่งจะมีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาได้สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองแค่ไหนด้วย
นักบำบัดและนักการศึกษา Michael Gurian ได้เขียนถึงคุณสมบัติที่จะช่วยหล่อหลอมเด็กหนุ่ม ให้กลายเป็นสุภาพบุรุษอย่างแท้จริงไว้ในหนังสือ A fine young man ว่าประกอบด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การรู้จักให้เกียรติทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และการมีความรับผิดชอบ และที่สำคัญ เด็กๆ ควรจะต้องมีโอกาสในการฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ด้วย
คุณหมอได้ให้คำแนะนำในเรื่อง การเลี้ยงดูเด็กผู้ชายให้เป็นสุภาพบุรุษ เราสามารถสร้างสุภาพบุรุษขึ้นมาอีกสักคนได้ด้วยการ สอนลูกให้เรียนรู้ที่จะรักตัวเองและคนอื่น
การที่ลูกจะมีคุณสมบัติข้อนี้ได้นั้น พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ ด้วยการให้ความรักควาอบอุ่น ประกอบด้วยการให้กำลังใจ มีทั้งชมและติบ้างตามสถานการณ์ (ด้วยเหตุและผล) และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ อย่านำลูกของเรา ไปเปรียบเทียบกับใคร และให้ความไว้วางใจตามสมควรแก่วัยของเขา เพื่อเขาจะได้รู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เบียดเบียนทั้งตัวเองและคนอื่นๆ
การสอนลูกให้รู้จักการให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเองและคนอื่นๆ และพยายามแก้ไข นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้ท้ายลูกในการพูดจาทับถมคนอื่นเป็นอันขาด รวมทั้งดูถูกผู้คนอื่นต่อหน้าลูก อย่าบอกลูกว่า "ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้" เพราะความจริงแล้ว ผู้ชายก็เหมือนผู้หญิง มีความรู้สึกเศร้าท้อแท้เสียใจได้เหมือนๆกัน การที่เขาได้ร้องไห้ออกมาบ้างจะช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดีขึ้น อ่อนโยนขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ที่เขารู้สึกเศร้าเสียใจ ไม่จำเป็นต้องเก็บกดความรู้สึกนั้นไว้ เพียงแต่บอกเขาว่า
อย่าแสดงความรู้สึกนั้น ต่อหน้าคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่
การสอนให้ลูกขอให้รู้เท่าทันและดูแลความรู้สึกตัวเองได้ จะเป็นประโยชน์ที่เขาจะสามารถดูแลความรู้สึกของคนอื่นได้อีกด้วย เมื่อลูกได้ความรักเต็มอิ่มจากพ่อแม่และรู้จักรักตัวเองแล้ว เขาก็พร้อมที่จะส่งต่อความรักนั้น ให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป
ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ต้องสอนให้ลูกของเรารู้จักการผูกมิตรกับคนอื่น และจะผูกมิตรกับคนอื่นนั้น ต้องสอนให้เขารู้จักการให้เกียรติบุคคลอื่น ตรงนี้เป็นแก่นของความเป็นลูกผู้ชาย เพราะเมื่อเขาเติบโตขึ้นมีสนใจในเรื่องเพศตรงข้าม เราต้องสอนรู้จักการให้เกียรติผู้หญิง โดยสอนให้รู้ว่า
ความรู้สึกนึกคิดของผู้ชายกับผู้หญิงนั้น...แตกต่างกัน !
คุณหมออัมพรท่านบอกว่า ความรักความใคร่สำหรับผู้หญิงแล้วนั้นเป็นเรื่องของความโรแมนติก แต่สำหรับผู้ชายแล้วคือเรื่องของอีโรติก ตรงนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะเด็กผู้ชายคิดไปในทำนองนั้นเป็นเรื่องนำ ดังนั้น ต้องสอนให้ลูกชายรู้ว่า ผู้ชายมีหน้าที่ให้เกียรติผู้หญิง ต้องรับรู้ว่าผู้หญิงไม่ได้คิดเรื่องความรักใคร่เหมือนตน แล้วก็ไม่นำการไม่รู้เท่าทันของผู้หญิง ในเรื่องของเพศสัมพันธ์มาผูกมัดผู้หญิง
คุณหมออธิบายความว่า ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คนเป็นพ่อแม่ต้องรู้ว่า ลูกต้องการการให้เกียรติจากเราในวัยเด็กที่ค่อนข้างเปราะบาง เราต้องฟังความเห็นของลูก ให้เขาพูดตามเหตุผลของตนก่อน แล้วจึงบอกความเห็นของเราออกไปว่า ตรงไหนที่ผิดหรือถูกอย่างไร ที่พูดอย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นคนมีเหตุผลด้วยนั่นเอง ที่จะทำให้ลูกเป็นคน
รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม สุภาพอ่อนน้อม รู้จักหน้าที่และมีระเบียบวินัยในตัวเอง พอที่จะได้รับเกียรตินี้จากคนอื่นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการอบรมของพ่อแม่ทั้งนั้น ที่เป็นเครื่องจักรสร้าง “สุภาพบุรุษน้อยๆ” ขึ้นมา
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเป็นสุภาพบุรุษนั้น หากผู้ชายจะเรียกตัวเองว่าเป็นสุภาพบุรุษ คงไม่ขลังเท่ากับคนอื่นเขาเรียก แต่คนสมัยนี้โดยเฉพาะพวกนักการเมือง เขามีวิธีการประหลาด อยากให้คนยกย่องตนว่าเก่งกล้าสามารถ ก็ไปจ้างให้คนเขาเขียนหนังสือ ออกโฆษณา ยกย่องยกยอว่าตัวเองเลิศล้ำเหนือมนุษย์
น่าคลื่นไส้มาก !
ผู้คนเขารู้เช่นเห็นชาติ เห็นสันดาน ก็เขียนแดกดัน ถากถาง เอาเป็นเรื่องขบขันให้คนหัวร่อเยาะเล่นกันมิได้ขาด !!
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานพระบรมราโชวาท กับนักเรียนวชิราวุธ วิทยาลัย โรงเรียนที่ทรงพระราชกำเนิด และยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ว่า
“....ข้าต้องการให้พวกเอ็งทุกคนเป็นสุภาพบุรุษ เจนเทิลแมน ให้รู้จักคำว่า ผู้ดี ผู้ดีไม่ได้หมายถึงคนมีทรัพย์ ไม่ได้หมายถึงคนมีสกุล แต่หมายถึงคนที่ประพฤติปฏิบัติดีทั้งกาย วาจา และที่สำคัญคือ ใจ ขอทานเขาก็เป็นผู้ดี สุภาพบุรุษ เจนเทิลแมนก็เช่นเดียวกัน...”
ดังนั้น หากพิจารณาตามพระบรมราโชวาทแล้ว เรื่องความเป็นสุภาพบุรุษและเป็นผู้ดีของพระองค์ท่านกว้างขวางลึกซึ้ง และทั้งสองคำมีความใกล้ชิดกันมาก สุดแท้แต่ผู้คนจะเข้าใจก้น ศรีบูรพาอาจเข้าใจไปทางหนึ่ง แต่สำหรับผมกลับเห็นว่า
ถ้าผู้ชายมีความเป็นผู้ดี ความเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชายไม่หนีไปไหนเลย เพราะคนที่เป็นผู้ดีนั้น ความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
อยู่กับเขาและเธอเรียบร้อยแล้ว !
ท่านผู้อ่านคงได้ยินคำว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นฉายาที่สื่อหนังสือพิมพ์เขาตั้งให้อดีตผู้นำ ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ได้ยกย่องเสียเลยทีเดียว หากแต่มีท่วงทำนองเสียดสีอยู่พอสมควร เพราะยังมีการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมอดีตผู้นำในหลายเรื่อง รวมทั้งความโปร่งใส ซึ่งยังเป็นปัญหาของตัวท่านและค้างคาใจผู้คนในบ้านในเมืองจำนวนไม่น้อย บางครั้งการวิจารณ์ออกทางสื่อหลายอย่าง เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และยังมีคนที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์เอารุนแรง โดยพิมพ์เป็นหนังสือพ๊อคเก็ตบุ๊คด้วยซ้ำ แต่ผู้ดีท่านนี้ก็ไม่เคยออกมาโต้ตอบให้ผู้คนเขาหายสงสัย ทิ้งให้มันคลุมเครือไว้อย่างนั้น ซึ่งหากเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างผม หากไม่ได้ทำจริงต้องลุกขึ้นตะบันหน้ากันให้รู้ดีรู้ชั่ว ลากกันขึ้นทุกศาลให้เห็นดีกันไปข้างหนึ่งเลย !
ไม่รู้เจ้าของฉายา “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” เห็นว่าการมีขันติ ดีกว่าการลุกขึ้นตอบโต้ ป้องกันเกียรติยศของตน และวงศ์ตระกูลหรืออย่างไร ?
ใครช่วยลองไปถามให้ผมที เพราะสงสัยมานานแล้ว !!
เมื่อมีผู้ดีรัตนโกสินทร์แล้ว จะมี “สุภาพบุรุษรัตนโกสินทร์” บ้างหรือไม่ ? หากมีคนถามผมก็จะตอบว่า
ได้ลองย้อนประวัติศาสตร์ไปดูถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผมประทับใจในข้าราชการท่านหนึ่ง คือ พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) อดีตเจ้าเมืองชลบุรี ซึ่งมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นอย่างมากในการเดินเรือ ท่านได้ทำนุบำรุงหัวเมืองแห่งนี้ ในฐานะข้าราชการที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ ดูแลพ่อค้าไทยและต่างชาติ ให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ปราบปรามโจรสลัดที่ท้าทายอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งเพิ่งสถาปนาพระราชวงจักรี จนโจรเหล่านั้นระย่อในฤทธิ์เดชของท่าน
พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) เอาใจใส่ต่อภารกิจที่มีต่อแผ่นดิน ครั้งหนึ่งท่านออกตรวจปราบปรามโจรสลัด ได้พบกับเจ้าญวน คือ องค์เชียงสือ พามารดาและครอบครัวพร้อมบริวาร หนีกบฏไกเซิน เข้ามาหลบอยู่ที่เกาะกระบือ คุณพระได้ชักชวนเจ้าญวนให้เข้ามาอยู่ในดินแดนไทย โดยจะพาไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่องค์เชียงสือเกรงพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว กลัวจะเป็นอันตรายแก่ตน จึงขอให้พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) รับตนเป็นบุตรบุญธรรมเสียก่อน เพราะหากมีเหตุพลั้งพลาดประการใด จะได้ช่วยแก้ไขให้หนักเป็นเบาได้ ซึ่งเจ้าเมืองชลบุรีท่านนี้ได้รับคำ องค์เชียงสือจึงได้ลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพอย่างปลอดภัย
มันก็น่าแปลก ที่ว่าเหตุใดเจ้าญวนองค์นี้ ได้พบพระสมุทรบุรานุรักษ์เป็นครั้งแรก โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน จึงได้เลื่อมใสนับถือถึงกับยอมถ่อมตนขอเป็นบุตรบุญธรรม ?
ท่านอาจารย์ คุณหญิง ศรีนาถ สุริยะ ซึ่งพระอาจารย์ถวายพระอักษร สมเด็จเจ้าฟ้า
เพ็ชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย ได้วิเคราะห์ตรงนี้เอาไว้ว่า
น่าจะเนื่องมากจาก กิริยา วาจา และบุคลิกลักษณะของพระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) เป็นที่น่านับถือไว้วางใจได้อย่างแท้จริง
พูดกันง่ายๆก็คือ ท่านมีความเป็น “สุภาพบุรุษ” นั่นเอง องค์เชียงสือที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมาก่อน และเมื่อได้พบตัวจริง ก็มีความรู้สึกอบอุ่น บังเกิดความไว้วางใจในตัวท่านนั่นเอง
พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) ผู้นี้ เป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรีแขก (หมุด) มีบุตรชายคนโตได้เป็น พระยาราชบังสัน และได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยายมราช
ต่อมา โดยรัชกาลที่ ๑ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) เป็นแม่ทัพเรือ ครั้นจะใช้ราชทินนาม พระยาราชบังสัน ทรงเกรงจะผิดความหมายทางภาษาแขก คือ “บัง” หมายถึงพี่ชาย แต่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (หวัง) เป็นน้องของพระยาราชบังสันที่ได้ตำแหน่งสูงขึ้น จึงทรงเปลี่ยนคำว่า “บัง” ซึ่งเป็นความหมายลำดับเครือญาติ เป็น “หวัง” ซึ่งเป็นชื่อบุคคลนิยมตั้งชื่อกันในผู้ที่มีเชื้อสายแขกสุหนึ่ ในตระกูล “หวังฮะซัน” จึงทรงพระราชทานพระราชทินนามแม่ทัพเรือท่านนี้ เป็น “พระยาราชวังสัน” (หวัง)
ท่านเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นหลานทวดของพระยาราชบังสันเสนี (ฮะซัน) เป็นคนที่ ๕ ในตระกูลที่สืบเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน
ต่อมาแม้ผู้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพเรือ จะเป็นพุทธศาสนิกชนและไม่ได้อยู่ในตระกูลของสุลต่านสุลัยมาน พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา ก็พระราชทานราชทินนาม “ราชวังสัน” ทุกคน จนถึงคนสุดท้าย คือ พระราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ไป
เมืองไทยของเรานี้ดีนักหนา ผู้คนหลายเผ่าพันธ์อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวอย่างผสมกลมกลืนกัน จึงมี ‘สุภาพบุรุษประเทศไทย’ ที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา เกิดขึ้นในประเทศนี้มิได้ขาด
นักวิชาการบางคนพยายามใช้คำว่า ‘รัฐไทย’ โดยหลีกเลี่ยงคำว่าประเทศไทย เหมือนจะเน้นว่าสามจังหวัดภาคใต้นั้นเป็นรัฐอื่น ซึ่งผมเห็นว่า
เป็นการจงใจแบ่งแยกให้คนในชาติเดียวกัน ให้ดูแตกต่างออกไป ทั้งๆที่เราอยู่ร่มเย็นเป็นสุขกันมาช้านาน ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์เจ้าพระองค์เดียวกันมาช้านาน
ดังนั้น เมื่อมีภัยร้ายเกิดขึ้นกับประเทศ ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในแผ่นดินนี้ ต้องไม่แสดงความหวั่นไหว ให้พวกผู้คิดร้ายมันเห็น จนเกิดความลำพองและย่ามใจ เพราะทุกวันนี้ทั้งพวกนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคมบางกลุ่ม ‘ขี้’ ขึ้นไปอัดแน่นอยู่บนหัวกบาล ‘ปอดแหก’ เป็นเสี่ยงๆ ออกอาการกลัวตัวซีด...ตัวสั่น น่าเวทนา ถึงกับล่าถอยกรูดๆ แสดงออกให้พวกผู้ก่อการร้ายมันเห็นชัดเจน
พวกจัญไรจึงฮีกเหิมได้ใจ ไม่ยับยั้งปฏิบัติการก่อการร้าย ไล่ฆ่าฟันประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างเมามันต่อเนื่องยาวนาน และหากเราไม่ช่วยกันลุกขึ้นขัดขวาง การเข่นฆ่าของพวกมันจะยังคงดำรงต่อไปไม่สิ้นสุด
ต่อให้มีโคตรสมานฉันท์เข้ามาแก้ไข...ก็ช่วยไม่ได้ !
ถึงเวลาแล้ว ที่คนในแผ่นดินแม้ว่าจะต่างเผ่าพันธุ์ และลัทธิศาสนา...ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่ง...
ตีโต้ตอบให้หนักหน่วง...ขับไล่ภัยพาล...ให้พ้นจากประเทศของเราไป...ให้จงได้ !!
......................................