xs
xsm
sm
md
lg

'การจับมือ' ที่สะเทือนเอเชียและโลก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

การจับมือกันระหว่าง นายเหลียนจั้น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง และ นายหูจิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเวลาบ่ายสามโมง วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2548 ณ มหาศาลาประชาคม กลางกรุงปักกิ่ง นั้นนับได้ว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ สองพรรคการเมืองที่ถือได้ว่าเป็น คู่รักคู่แค้นกันมา 80 กว่าปี และที่สำคัญก็ คือ ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองสองพรรคนี้ได้ส่งผลสะท้อนไปยัง การเมืองจีน การเมืองเอเชียและ การเมืองโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ชาวจีน เรียก การจับมือระหว่าง เหลียนจั้น และ หูจิ่นเทา ว่า เป็นการจับมือครั้งประวัติศาสตร์? สำหรับชาวไทยคงสงสัยว่าทำไมเรียกเป็นการจับมือครั้งประวัติศาสตร์ นอกจากนี้มันมีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อจีน ต่อโลก ต่อเอเชีย?

ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับปัจจุบัน เราต้อง ทำความเข้าใจกับอดีตเสียก่อน ....

พรรคก๊กมินตั๋ง (กั๋วหมินตั่ง:国民党) เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาก่อนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (จงกั๋วก้งฉานตั่ง:中国共产党) โดยพรรคก๊กมินตั๋งนั้นก่อร่างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ล้มลุกคลุกคลาน เติบใหญ่ มาพร้อมๆ กับ บุคคลที่มีชื่อว่า ดร.ซุนยัดเซ็น บิดาแห่งประชาธิปไตยจีน ขณะที่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน นั้นถือเป็นพรรครุ่นน้อง เนื่องจากก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2464 (ค.ศ.1921)

หากพิจารณาตามแนวคิดพื้นฐานของพรรคทั้งสองแล้วอาจดูเหมือนว่ามีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน แต่แท้จริงแล้วการจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคทั้งสอง มิอาจละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์จีนได้เลย ....

การจับมือกันระหว่าง เหลียนจั้น และ หูจิ่นเทา อันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือกันระหว่างผู้นำสูงสุดของ ก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์ไปแล้วก็จะพบได้ว่า ความร่วมมือกับครั้งนี้มิได้เป็นความร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างสองพรรค และพรรคทั้งสองก็มิได้เป็นปรปักษ์ที่อยู่ร่วมโลกกันมิได้มาตั้งแต่ชาติปางก่อน

การร่วมมือกันครั้งแรก ระหว่าง พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2467 (ค.ศ.1924) ในขณะที่ประเทศจีนยังตกอยู่ในสภาวะของ 'ยุคขุนศึก' อันเป็นยุคสมัยแห่งความวุ่นวายเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองโดยผู้กุมกำลังทหาร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติในการเปลี่ยนราชวงศ์เปลี่ยนยุคสมัยทางการเมืองของจีน ดร.ซุนยัดเซ็น ซึ่งเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้นได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติในรัสเซีย และการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ในจีน จึงทำการพูดคุยกับ ตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย และ เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อผนึกกำลังกันปราบเหล่าขุนศึกภาคเหนือ

อย่างไรก็ตามการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างสองพรรค ก็เสื่อมถอยลงเมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็นเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2468 (ค.ศ.1925) และสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในเดือน กันยายน พ.ศ.2470 (ค.ศ.1927) โดยการสิ้นสุดนั้นอีกนัยหนึ่งยังหมายความถึง สงครามภายในระหว่างสองพรรคด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะฟาดฟัน และทำสงครามกันอย่างดุเดือดมาเป็นเวลานับสิบปี แต่ก็เหมือนดังเช่นฟ้าลิขิต เพราะจังหวะจะโคนทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งผลักทั้งดึงให้ทั้งสองพรรคกลับมาจับมือกันอีกครั้ง

การร่วมมือกันครั้งที่สอง ระหว่างสองพรรคเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะที่โลกกำลังคุกรุ่นด้วยไฟสงครามที่ในเวลาต่อมาปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง และจีนเองก็กำลังประสบกับสภาวะถูกรุกรานอย่างหนักจากญี่ปุ่น โดยความร่วมมือกันครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ.2480 (ค.ศ.1937) จุดประสงค์หลักก็เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

ทั้งนี้เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดโดยญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ในปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) ก๊กมินตั๋ง และ พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเจรจากันไม่สำเร็จก็หันกลับมาต่อสู้กันอีกครั้งเพื่อแย่งสิทธิในการปกครองแผ่นดินจีน ซึ่งผลในที่สุดก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ ก๊กมินตั๋ง และผู้นำพรรคคือเจียงไคเช็กได้ตัดสินใจหลบไปตั้งตัวที่เกาะไต้หวัน ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) และ นับตั้งแต่นั้นมา ผู้นำสูงสุดของก๊กมินตั๋ง ก็ไม่เคยได้เหยียบแผ่นดินใหญ่อันถือเป็นผืนแผ่นดินแม่อีกเลย

ปี พ.ศ.2492 จนถึง พ.ศ.2548 นั้นนับเป็นเวลา 56 ปีเต็ม! ส่วนการพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างผู้นำสูงสุดของทั้งสองพรรค ต้องย้อนเวลากลับไปไกลกว่านั้นคือ เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) หรือเกือบ 60 ปีก่อน! ในการเจรจาที่จุงกิง หรือ ฉงชิ่ง โดยการพบกันครั้งนั้นยังนับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ เหมาเจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและ เจียงไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งมีโอกาสยืนเคียงคู่กันอีกด้วย

บ่ายสามโมงของวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ผมนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ดูการถ่ายทอดสดจาก สถานีโทรทัศน์กลางของจีน สังเกตเห็นได้ชัดว่าสื่อมวลชนจีน นั้นตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับการพบกันครั้งนี้อย่างมาก

แม้ปัจจุบันนายเหลียนจั้นจะมีสถานะเป็นเพียงผู้นำพรรคฝ่ายค้านของไต้หวัน แต่หากพิจารณาจากสถานะ-ประวัติศาสตร์ ของพรรคก๊กมินตั๋งที่เขาเป็นผู้นำอยู่ รวมไปถึงปูมหลังของตัวนายเหลียนจั้น ก็จะพบว่า การพบปะกันครั้งนี้มีนัยยะสำคัญอย่างสูงต่อทั้งสองพรรค และ สถานภาพความสัมพันธ์ ระหว่าง จีนกับไต้หวัน

นายเหลียนจั้น (连战) เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2479 (ค.ศ.1936) ปัจจุบันอายุ 69 ปี เกิดที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี โดยครอบครัวของเขานับว่ามีหน้ามีตาในสังคมจีนและเกาะไต้หวันมาก เนื่องจาก'ตระกูลเหลียน' ตั้งรกรากอยู่ที่เกาะไต้หวันมายาวนาน โดย คุณปู่ เหลียนเหิง (连横) นั้นเป็นกวีและนักประวัติศาสตร์ชื่อดังของไต้หวัน บิดาคือ เหลียนเจิ้นตง (连震东) นั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเมืองและสมาชิกคนสำคัญพรรคก๊กมินตั๋ง ที่เคยมารับตำแหน่งทางราชการที่ซีอาน

หลังครอบครัวอพยพไปอยู่ไต้หวัน ด้วยความที่เป็นหนุ่มรักสนุก ประกอบกับการเป็นทายาทสมาชิกคนสำคัญของพรรคก๊กมินตั๋งทำให้เหลียนจั้นถูกขนานนามให้เป็น 'หนึ่งในสี่เจ้าชายแห่งเกาะไต้หวัน (四大公子)' อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเขาหันกลับมาจริงจังกับการเรียนหนังสือ และได้รับการศึกษาอย่างดี โดยจบปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เรียนต่อด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ จนจบปริญญาเอก ก่อนที่เขาจะกลับมารับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และเข้าสู่แวดวงการเมืองไต้หวันในเวลาต่อมา จนในปี พ.ศ.2543 เหลียนจั้นก็ฝ่าฝันอุปสรรคทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกพรรค ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง อย่างไรก็ตาม ถึงปัจจุบันเหลียนจั้นก็ยังคงตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า(ดีพีพี) ของเฉินสุยเปี่ยนที่ชนะการเลือกตั้งมาสองสมัยติดแล้ว

ขณะที่สถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน 'ตระกูลเหลียน' นอกจากจะเป็นตระกูลนักการเมืองใหญ่ แล้วก็ยังเป็นตระกูลมหาเศรษฐีของเกาะไต้หวันอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้มีการคำนวณออกมาว่า สินทรัพย์ทั้งหมดของครอบครัวของเหลียนจั้นนั้นมีมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญไต้หวัน

ด้วยต้นทุนส่วนตัวอันแข็งแกร่ง สถานภาพทางการเมือง และที่สำคัญแนวทางในการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน ของเหลียนจั้นที่สนับสนุนแนวทาง "ฉันทามติ 1992 (九二共识 หรือ 1992 Consensus)" อันหมายความถึง "นโยบายจีนเดียว" (สำหรับคำว่า 'จีนเดียว' นี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าหมายความว่าอะไรบ้าง) ประกอบกับ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันที่ตึงเครียดอย่างมากในปัจจุบันและการแทรกแซงจาก ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นความสำคัญในการเป็นทูตสันติภาพของนายเหลียนจั้น จนในที่สุดจึงได้ส่งเทียบเชิญมาเยือนจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการในปี 2548 นี้

เนื้อหาของการพบปะและการหารือเป็นภาษาจีนกลางระหว่างผู้นำของสองพรรค (ชาวจีนเรียกโดยย่อว่า หูเหลียนหุ้ย:胡连会) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น ในพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการและมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกนั้น ประเด็นที่ถือว่าเป็นหัวใจในการกล่าวต้อนรับของ 'หูจิ่นเทา' ผู้นำจีน ก็คือ การเชื่อมสองพรรคเข้าด้วยกันโดยการ กล่าวนำ ยกย่อง ดร.ซุนยัดเซ็นผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง แนวทางที่เน้นประชาชนเป็นหลัก และแนวคิดลัทธิไตรราษฎร์ (三民主义) ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ว่าก็เป็นแนวทางที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดถือมาตลอด

ก่อนที่ หูจิ่นเทา จะเน้นย้ำต่อไปถึง นโยบายจีนเดียว และ การคัดค้านการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน ว่า เป็นปัญหาภายในที่สองฝ่ายสามารถแก้ปัญหากันได้เอง (ชาติอื่นไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว) ซึ่ง 'เหลียนจั้น' ก็ตอบรับอย่างทันท่วงทีว่า โดยส่วนตัวและพรรคก๊กมินตั๋งเองก็เคารพใน "ฉันทามติ 1992" เช่นกัน

ดังเช่นที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิเคราะห์ .... ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2548 นี้ หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวของ 'จีนต่อญี่ปุ่น' เรื่อยมาถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 'จีน-ไต้หวัน' ..... ปัญหา 'จีน-ไต้หวัน' ที่ในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมาผู้นำจีนทุกยุคถือเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอันดับหนึ่ง และตลอดเวลาเป็นช่องโหว่ให้มหาอำนาจจากภายนอกถือโอกาสเข้ามาแทรกแซง

สัญญาณสองประการนี้ กำลังบ่งบอกให้เราทราบถึง พลวัตรของภูมิศาสตร์การเมืองของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศไทย จะปรับตัวอย่างไร? คือ ปัญหาสำคัญที่ รัฐบาลไทย ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย รวมถึงนักวิชาการต้องนำไป คิด ทบทวนและปฏิบัติต่อด้วยระมัดระวังยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :
- ข่าว นัยในการเยือน หนันจิง ปักกิ่ง ซีอัน และเซี่ยงไฮ้ของผู้นำฝ่ายค้านไต้หวัน (29 เม.ย. 2548)
- ข่าว จีน-ผู้นำฝ่ายค้านไต้หวันบรรลุฉันทามติ ยุติความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างช่องแคบ (29 เม.ย. 2548)
- บทความ ซุนยัดเซ็น:บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด (1) และ ซุนยัดเซ็น:บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด (2)
กำลังโหลดความคิดเห็น