xs
xsm
sm
md
lg

ฟังปาฐกถาก่อนสอบ

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

เวลาจะต้องสอบ ผมมักจะหากิจกรรมนอกเรื่องนอกราวทำ

นี่คือเคล็ดลับในการเตรียมสอบที่ผมขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง

เวลาเรียนหนังสือหนักๆ หรืออยู่ในช่วงเวลาเครียดๆ โดยเฉพาะเมื่อใกล้สอบ ซึ่งหมายถึงการที่ต้องหยุดเล่นชั่วขณะ ผมมักจะหาทางออกโดยการหยิบหนังสือนอกชั้นเรียนเล่มใดเล่มหนึ่งออกมาอ่าน หรือไม่ก็ไปทำกิจกรรมนอกเวลาที่ได้ความรู้ อย่างเช่นไปฟังปาฐถกถา หรือฟังดนตรี

เคล็ดที่ว่านี้ ผมใช้มาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย เรื่อยมาตลอดเวลาเรียนมหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงขณะนี้ ที่การสอบประจำภาคกำลังเขยิบเข้ามาอย่างกระชั้นชิด พร้อมๆ กับดอกไม้ที่เริ่มเบ่งบาน ก่อนผลัดโปรยกลีบดอก และแทนใบไม้เขียวที่งอกออกมาต้อนรับฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

ผมค้นพบสูตรนี้เมื่ออยู่ ม. 4 จำได้แม่นว่า ผมได้รับของขวัญเป็นหนังสือ 3-4 เล่มจากผู้บังคับการ (ซึ่งเป็นชื่อทางการของ “ครูใหญ่” ที่โรงเรียนเก่า) เนื่องในโอกาสได้รับรางวัลเขียนเรียงความเนื่องในการเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษก

ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สอบพอดี ด้วยความที่ต้องกินนอนอยู่โรงเรียน จึงเห็นเพื่อนขมักเขม้นอ่านหนังสือกันถ้วนหน้า สร้างแรงกดดันให้กับเด็กที่ชอบเล่นมากกว่าเรียนอย่างผมมาก ผมทำอะไรไม่ถูก จึงแก้ความรู้สึกผิดของตัวเองโดยหยิบหนังสือของขวัญที่ได้รับมาอ่านแทนหนังสือเรียน ในหมู่เพื่อนที่กำลังเคร่งเครียดอยู่กับการท่องจำทำความเข้าใจกับเนื้อหาสำหรับการสอบที่จะมีในวันรุ่งขึ้น

หลังสอบเสร็จ เพื่อนสงสัยว่าทำไมผมจึงทำข้อสอบได้ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นท่องหนังสือเลย ผมบอกเพื่อนว่า ผมไม่ได้เก่งไปกว่าเพื่อนหรอก แต่ที่ได้คะแนนดีนั้น เพราะผมขายของแปลกแล้วได้กำไรดีต่างหาก

ของแปลกที่ว่าไม่ใช่อะไรอื่นเสียนอกจากความคิดที่ล่องลอยเข้ามา จากการได้อ่านได้เห็นได้ยินได้ฟังสิ่งนอกเรื่องนอกราวนั่นเอง

นอกจากการเตรียมตัวด้านเนื้อหาการเรียนแล้ว ผมเชื่อว่าเราก็ต้องเตรียมตัวด้านจิตใจและความคิดด้วยการปล่อยให้สบายคลายความเครียดและความกดดันลงบ้างนั้น จะทำให้หัวสมองปลอดโปร่ง คิดอ่านได้ดีเมื่อการสอบมาถึง

เมื่อความคิดของเราผ่อนคลาย หัวสมองของเราก็จะมีอิสระในการคิดนอกกรอบ และสร้างสรรค์ พร้อมมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์คำนวณได้ดีกว่าหัวสมองที่เต็มไปด้วยความกดดัน และความตึงเครียด

ดูเหมือนผมพูดง่ายๆ แต่จะให้ทำอย่างที่พูดจริงๆ ก็ไม่ง่ายอย่างปากพูด ท่ามกลางบรรยากาศการสอบ จะมีใครบ้างที่ปล่อยใจให้สบายคลายกังวลได้เช่นนั้น แต่อย่างน้อย ผมก็คิดว่าการมีอะไรมาคานส่วนที่เคร่งเครียด แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะป้องกันไม่ให้เรากังวลจนคิดอะไรไม่ออก

บางทีผมก็นึกแย้งตัวเองเหมือนกันว่า การที่ผมคิดสูตรสำเร็จในการเตรียมสอบมาเป็นตุเป็นตะอย่างนี้ แท้จริงแล้วเป็นการหาข้ออ้างให้กับความขี้เกียจเรียนหนังสือของตัวเองหรือเปล่า หากใครจะลองทำดูบ้าง โปรดฟังหูไว้หู และชั่งใจเสียให้ดีก่อน

มาเรียนต่อปริญญาโทคราวนี้ก็เหมือนกัน ผมคิดได้ว่าจะต้องงัดเคล็ดลับที่ได้สั่งสมมาออกมาใช้เสียแล้ว

ผมต้องเสียเวลาให้กับการตื่นวัฒนธรรมอเมริกัน (หรือที่ฝรั่งชอบเรียกว่า “Culture Shock“) ไปตลอดภาคเรียนก่อน คะแนนที่ออกมานั้นได้ไม่ดีนัก เกรดของผมอยู่ในระดับที่เรียกว่าเกือบตกถึงสองวิชา พอมาถึงภาคเรียนนี้ ผมจึงลงเรียน และตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ด้วยหวังว่าจะทำให้เกรดเฉลี่ยที่ได้อยู่กระเตื้องขึ้นมาในระดับที่ดีขึ้นบ้าง

ภาคเรียนนี้ดูท่าจะดีกว่าภาคเรียนก่อนมาก แม้ว่าผมลงเรียนหนักถึง 7 วิชา นั่นหมายถึงการบ้าน การอ่าน และการเขียนจึงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ปลายภาคเรียนนี้ ผมมีสอบ 3 วันติดต่อกันนั้นสาหัสพอสมควร อีกทั้งรายงานฉบับโตอีก 3 ฉบับที่จะต้องส่งในเวลาไล่เลี่ยกัน

ผมยอมรับว่าเครียดและกังวลมาก ทั้งเพราะอยากทำข้อสอบได้ดี และงานที่จะต้องทำส่งให้หลายๆ วิชาที่ชุกมากเหลือเกิน

วันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากเรียนเสร็จในเวลา 2 ทุ่ม ผมจึงไม่รีรอที่จะเดินตามป้ายประกาศไปฟังปาฐกถาที่จัดขึ้นที่โรงละครของเรียน ด้วยหวังว่าจะทำให้ตัวเองได้พักผ่อนได้บ้าง หากจะไปเที่ยวเล่นอย่างอื่น ก็คงทำให้ตัวเองต้องรู้สึกผิดแน่ๆ

องค์ปาฐกในวันนี้คือ อาจารย์คนดังของภาควิชาชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย เขาเป็นประธานร่วมของคณะทำงานที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อันเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของโครงการเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (Millennium Development Goals) ที่มุ่งขจัดปัญหาความยากจน และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกมีความกินดีอยู่ดี และอยู่เย็นเป็นสุขขึ้น

เรียกได้ว่า องค์ปาฐกที่ผมไปฟังในวันนั้น “ใหญ่” ไม่เบาทีเดียว

ผมกึ่งวิ่งเดิน พร้อมงับพายไก่เข้าปาก เพราะท้องนั้นหิวเหลือหลาย ที่เดินเร่งรีบ ก็เพราะใจหนึ่งก็กลัวว่าจะไปไม่ทันฟังปาฐกถาในหัวข้อ “เราจะจัดการปัญหา (สิ่งแวดล้อม) อย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “โรงละครแห่งความคิด” (Theaters of Ideas) อีกใจหนึ่งก็กลัวบัตรเข้างานจะหมด เพราะผมคิดว่าด้วยองค์ปาฐกที่มีชื่อเสียง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเช่นนี้ คงมีผู้สนใจมาฟังกันอย่าล้นหลาม

ผมยังเคี้ยวพายไก่อยู่ในปากก็เดินมาถึงหน้าโรงละคร หยุดสักพักพอให้หายหอบ และกลืนพายไก่อันแสนโอชาเข้าท้องให้หมด หลังจากนั้นก็ผลักประตูเข้าไปในห้องขายบัตรด้วยความลุกลี้ลุกลนจนคนเฝ้าประตูไล่ให้ไปแลกบัตร (เขาให้บัตรเข้าฟังฟรีกับนักเรียนที่มหาวิทยาลัย) ที่ช่องขายตั๋วก่อน เมื่อได้ตั๋วมาแล้ว คนเฝ้าประตูบอกว่า องค์ปาฐกได้เริ่มพูดไปแล้ว 15 นาที ผมคิดในใจว่าไม่เป็นไร เพียงแค่ได้มาฟังก็ดีใจมากแล้ว

ผลักประตูเข้าไปในโรงละคร องค์ปาฐกยืนพูดอยู่บนเวทีที่เคยใช้เป็นเวทีละคร บางครั้งก็ใช้เป็นเวทีคอนเสิร์ต ที่ฉากด้านหลังมีการฉายพาวเวอร์พอยท์ประกอบการบรรยาย ไฟสลัวที่พบได้ทั่วไปในโรงละครให้บรรยากาศเคร่งขรึม ผมรีบเดินหาที่นั่งให้ตัวเองด้วยฝีเท้าที่เบาที่สุด ด้วยไม่ต้องการจะรบกวนผู้ฟังคนอื่นๆ ที่กำลังตั้งใจฟังจนตาแทบไม่กระพริบ

ผมหาที่นั่งให้ตัวเองได้ในตำแหน่งที่เหมาะเจาะที่สุดแม้จะเข้าสาย ที่นั่งนั้นอยู่กลางห้องห่างจากเวทีในระยะห่างกำลังพอดี แถมที่ข้างๆ ยังว่างพอให้ยืดขาอันยาวเก้งก้างออกไปได้ โดยไม่ต้องนั่งคุดคู้ให้อึดอัดด้วย

การบรรยาย และการฉายสไลด์ประกอบขององค์ปาฐกนั้นน่าสนใจมาก ผมเห็นผู้ฟังคนอื่นๆ นั่งฟังด้วยความกระตือรือร้น คล้ายกำลังคิดตามสิ่งที่องค์ปาฐกกำลังพยายามจะบอกได้ทุกความคิดทุกขั้นตอน ส่วนผมเองก็ฟังด้วยความสนใจไม่แพ้กัน เพราะหัวข้อของปาฐกถาในวันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมชอบฟัง

นอกจากจะตื่นเต้นไปกับการบรรยายแล้ว ผมยังรู้สึกได้ถึงบรรยากาศแปลกของการมานั่งฟังปาฐกถาในโรงละครซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย แม้หูจะทำหน้าที่ฟังอย่างตั้งใจ และหัวคิดตาม สายตาของผมกลับสอดส่องไปโดยรอบโรงละครด้วยความฉงน

ที่ฉงนไม่ใช่อะไรเสีย นอกจากจำนวนผู้เข้าฟังที่น้อยมาก ผมหันไปแล้วรอบหนึ่งก็ต้องหันกลับไปอีกหนึ่งรอบ เพราะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าผู้ฟังปาฐกถาที่มีองค์ปาฐกมีชื่อเสียงอย่างนี้จะมีน้อยถึงเพียงนี้

ผมนับผู้ฟังทั้งโรงละครได้ทั้งหมด 26 คน หากรวมองค์ปาฐกแล้ว ในโรงละครขนาดประมาณ 500 ที่นั่ง มีคนพูดและคนฟังอยู่เพียง 27 คนเท่านั้น เมื่อเทียบองค์ปาฐก กับจำนวนผู้ฟังแล้ว ผมถือว่าผู้ฟังจำนวน 26 คนนั้นเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่น้อยมาก

ผมเห็นองค์ปาฐกบรรยายในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญอย่างคล่องแคล่ว เต็มไปด้วยความรู้และความคิด อีกยังเต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่เขามีให้กับผู้ฟังให้เข้าใจง่าย และราบรื่นที่สุด

เห็นแล้วก็นึกคิดเรื่อยเปื่อยไม่ได้ว่า ปาฐกถาดีๆ แต่มีผู้สนใจเข้าฟังเพียงไม่กี่คนแบบนี้ จะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้บ่อยๆ ไหม

ผมรู้สึกว่า (ผู้จัด) คนไทยส่วนใหญ่ชอบนึกกลัวว่าหากจะจัดการบรรยาย หรือปาฐกถาแล้ว จะมีคนฟังน้อย แม้ว่าจะมีผู้พูดจะมีความน่าสนใจและมีความคิดดีแค่ไหน

ที่ผมคิดเห็นอย่างนี้ ก็เพราะมีประสบการณ์ตรงครั้งเมื่อทำกิจกรรมสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ เมื่อครั้งอยู่ปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย

คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ เห็นว่าคณะรัฐศาสตร์ของเรานั้นมีแต่การเรียนภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว นิสิตยังขาดโอกาสที่จะได้รับความรู้รวมทั้งประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่ไม่ได้เป็นอาจารย์สอนพวกเราในชั้นเรียน จึงมีความคิดว่าหากสโมสรจะจัดปาฐกถาขึ้นเองก็จะเป็นการดี เพราะจะไปขอร้อง หรือผลักดันให้ทางคณะจัดก็คงจะเกินความสามารถของพวกเรา

เราจึงริเริ่มโครงการปาฐกถาสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ขึ้น โดยตั้งใจจะเชิญองค์ปาฐกที่มีความรู้ความสามารถและมีบทบาทในสังคมมาพูดให้เราฟังกันภาคเรียนละหนึ่งครั้ง

ภาคเรียนแรก เราได้รับความกรุณาจาก อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์เก่าของคณะรัฐศาสตร์ มาเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อเรื่อง “อนาคตการเมืองไทย กับอนาคตของบัณฑิตรัฐศาสตร์” ส่วนในภาคเรียนที่สอง เราได้รับความกรุณาจากคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น มาพูดให้เราฟังในหัวข้อ “ทำไมต้องจัดระเบียบสังคม” ในช่วงงานจุฬาวิชาวิชาการพอดี

สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้เรียนรู้กับการจัดปาฐกถาทั้งสองครั้งนี้ ก็คือ การหาคนมาฟังให้สมเกียรติกับองค์ปาฐกนั้นเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขาจริง

ปาฐกถาครั้งแรกนั้น เราย้ายเวทีกันไปจัดกันที่บ้านธรรมสโรช ซึ่งเป็นอาคารเก่าสวยงาม และขณะนั้นเป็นร้านอาหารเจนิส ของรุ่นพี่รัฐศาสตร์ของพวกเรา คือ ม.ร.ว. สิริมาดาฯ และพี่แบม จณิสตาฯ สิ่งที่เรากลัวที่สุด ก็ดังที่บอก คือกลัวว่าจะไม่มีใครไปฟังปาฐกถาที่เราจัดขึ้น เราแก้ปัญหาโดยการขอความกรุณาจากอาจารย์ผู้สอนที่เราพอจะสนิทสนมด้วยให้บังคับนิสิตในห้องไปฟัง โชคดีที่มีคนสนใจกันมาก เมื่อรวมกับนิสิตที่อาจารย์บังคับให้ไปแล้ว เรือนกระจกกลางสวนในบริเวณบ้านธรรมสโรชที่เราใช้เป็นที่จัดปาฐกถาจึงแน่นขนัดไปทันตา

ผ่านไปได้หนึ่งงาน

ครั้งที่สอง เราจัดกันที่ห้องประชุมบนตึกเทวาลัย ซึ่งเป็นตึกเรียนเก่าของคณะอักษรศาสตร์ที่เพิ่งได้รับการบูรณะใหม่เอี่ยมอ่อง คราวนี้เราไม่สามารถขอความกรุณาจากอาจารย์ให้เกณฑ์คนเข้าฟังได้เช่นครั้งก่อน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยหยุดเพื่อให้นิสิตจัดงานจุฬาวิชาการ เราจึงต้องใช้วีธีระดมคนกันหน้างาน ผมจำได้ดีว่า พวกเราเหงื่อแตกกันซิก เพราะต้องเดินทั่วมหาวิทยาลัย ขอร้องให้ผู้ที่เข้ามาชมงาน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้องนักเรียน และนิสิต) ที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้นให้เข้าฟังปาฐกถาดังกล่าว โดยพูดเชื้อเชิญว่าไปนั่งพักตากแอร์ฟังรัฐมนตรีพูดหน่อยเถิดน้อง

งานนี้เล่นเอาเสื้อเชิร์ตขาวของผมเปียกโชกไปด้วยเหงื่อ คุณปุระชัยฯ พูดเสร็จ และกลับไปแล้ว เสื้อของผมก็ยังไม่แห้ง ผมสารภาพว่าการเกณฑ์คนเข้าไปฟังงานที่พวกเราพยายามจัดขึ้นนั้นเหนื่อยกว่าซ้อมรักบี้ที่ต้องวิ่งรอบสนามหลายรอบเสียอีก

จริงๆ แล้ว เมื่อเราเริ่มประชุมกันใหม่ๆ เราตั้งใจว่าจะจัดปาฐกถาเช่นนี้ภาคเรียนละประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ด้วยความยากลำบากในการหาผู้ฟัง ทั้งนี้เพื่อให้สมเกียรติกับผู้พูดซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตามความตั้งใจของพวกเราที่อยากให้เพื่อนและน้องนิสิตรัฐศาสตร์ทั้งหลายได้มีโอกาสฟังความคิดของผู้ที่มีบทบาทในสังคม แรงและพลังของเราก็เริ่มลดร่อยรอหายไปเรื่อยๆ

เมื่อจบปีการศึกษา เราจึงลงเอยด้วยการจัดปาฐกถาเพียง 2 ครั้ง จากที่ตั้งใจไว้ 4-6 ครั้ง เท่านั้น

เมื่อได้มีโอกาสมาฟังปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาครั้งนี้ ก็ชวนให้ตัวเองย้อนกลับไปคิดว่า พวกเราไม่น่าจะกลัวอะไรเกินเหตุกับเรื่องจำนวนคนเข้าฟังปาฐกถาเลย ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่เป็นผู้อาวุโสทั้งหลายก็คงจะไม่คิดเล็กคิดน้อยไม่พอใจที่หาคนฟังมาไม่ได้ถึงเป็นร้อยๆ คนแน่ แล้วเราจะกลัวอะไรเล่า

การจัดปาฐกถาดีๆ ในบ้านเรานั้นมีอยู่ไม่มากและไม่บ่อย

ขอเพียงให้ได้จัด แล้วมีคนฟังที่สนใจจริงๆ เพียงสิบคนก็ควรจะพอใจเป็นที่สุด และเรียกว่าเป็นการลงทุนลงแรงที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น