xs
xsm
sm
md
lg

บ้านหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

หากจะต้องเดินทางคนเดียว ผมมักมีหนังสือเป็นเพื่อนคุย

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมนั่งรถทัวร์ไปหาเพื่อนที่วอชิงตันดีซีอีกครั้ง ระยะทาง 4 ชั่วโมงนั้นไม่ไกล แต่ก็ไม่ใช่ใกล้ ทำให้ต้องนั่งหงอยได้เหมือนกัน ใต้แสงไฟที่ส่องลงมาจากโคมไฟเล็กเหนือที่นั่ง ผมนั่งคุยกับ “นิตยสารสารคดี” ที่เพิ่งซื้อมาจากร้านหนังสือใกล้วัดไทยในนิวยอร์ก

เอ่ยอย่างนี้ ก็เพราะไม่เคยคิดว่าหนังสือจะเป็นเพื่อนคุยได้ พอเริ่มโตขึ้น ได้อ่านมากขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่าการอ่านหนังสือช่างเหมือนกับการคุยกับความคิดของตัวเอง ถ้อยคำความเรียงที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษเริ่มบทสนทนา และช่วยจุดประกายความคิด

กว่าจะได้หนังสือเป็นเพื่อนตายเช่นนี้ เราต้องคบหาดูใจกันมานาน และกว่าจะได้มาพบเจอกันในตอนแรกนั้น เราก็เคยเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมานานทีเดียว

ทุกคนคงจะจำได้ดีถึงชีวิตในวัยเด็กที่เริ่มเขียน ก ไก่ และพยัญชนะ รวมทั้งสระภาษาไทยอื่นๆ การหัดเขียนตามมาพร้อมกับการหัดอ่าน จำได้ไหมว่าความรู้สึกของการอ่านคำง่ายๆ ได้เป็นครั้งแรกนั้นรู้สึกเช่นใด

คำง่ายๆ ที่เพียงแค่กวาดสายตาผ่านไปอย่าง “ตา พา มา ดู ปู” ในตอนนี้ คงไม่ใช่เรื่องปอกกล้วยเข้าปากของพวกเราเมื่อครั้งเป็นเด็กตัวน้อย กว่าจะสะกดและอ่านออกเสียงคำหนึ่งคำได้นั้นทำให้หัวขมองน้อยๆ ที่เริ่มใหญ่ขึ้นมึนตึ้บได้ไม่ยาก

“ต สระอา –ตา” “พ สระอา –พา” “มา สระอา –มา” “ด สระอู –ดู” “ป สระอู –ปู”

เมื่อพออ่านและสะกดคำได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีกนานพอควรกว่าจะทำความเข้าใจกับความหมายของประโยค หรือคำนั้นๆ บางคำมีตัวสะกดแปลกๆ บางประโยคยาวจนรู้สึกเหนื่อยที่จะสะกดให้ครบทุกคำ เมื่ออ่านออกแล้ว เราจึงนำกลุ่มคำเหล่านั้นมาประมวลเป็นความหมายให้ตัวเองเข้าใจ

ตัวหนังสือช้อนจับเสียงพูดคำเล่าที่ล่องลอยอยู่ในอากาศมาบันทึกไว้ในอยู่แน่นิ่งบนแผ่นกระดาษ

เมื่อรู้จักมักจี่กันในระดับหนึ่ง นั่นคือพออ่านออกเขียนได้แล้ว เราก็เริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น ตอนเป็นเด็กยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวหนังสือพยายามจะบอกมากนัก แต่พอยิ่งได้พบเจอกันบ่อย ก็ยิ่งทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่ตัวหนังสือต้องการจะบอกเบาๆ ให้รับรู้

ตัวหนังสือที่เริ่มคุ้นเคยอยู่กระจัดกระจายกันตามที่ต่างๆ ทั้งบนหนังสือพิมพ์ที่คุณยายนั่งอ่านทุกเช้า ป้ายชื่อเข้าประชุมของคุณพ่อ ป้ายจราจรบนถนน ถุงใส่กล้วยแขกของป้าหน้าปากซอย หรือบนเหรียญกลมใหญ่ห้าบาทที่ได้รับจากคุณแม่เป็นค่าขนม

พอโตขึ้น ผมเริ่มค้นพบว่าตัวหนังสือเหล่านั้นมาอยู่รวมกันในสิ่งที่เรียกว่า “หนังสือ”

ถ้าให้หนังสือเป็นคน หนังสือก็เป็นคนสุภาพ มีเสนาะสำเนียงอันนุ่มเบาจนไม่มีใครได้ยิน หนังสือยังเป็นคนง่ายๆ ที่พร้อมจะไปไหนไปด้วยเป็นเพื่อน จะบุกป่าผ่าดง หรือจะเข้าร้านอาหารหรู หนังสือไม่เคยบ่นให้รำคาญ หากเวลาไหนที่สนุกกับสิ่งเร้าใจอื่นจนลืมหนังสือ หนังสือก็ไม่เคยบ่นน้อยใจ

แม้ว่าหนังสือจะดูคล้ายๆ กันหมด แต่หนังสือก็มีอุปนิสัยที่หลากหลาย ผมดีใจที่คุณพ่อสนับสนุนให้คบกับหนังสือทุกประเภท (โดยซื้อหนังสือให้ทุกประเภทที่อยากอ่าน ตั้งแต่การ์ตูนโดราเอมอน คู่มือเลี้ยงปลากัดฉบับปราบเซียน สามเกลอมพลนิกรกิมหงวน จนไปทั้งนิตยสารอย่าง “สารคดี” หรือ “ชีวิตพิสดาร”) อีกทั้งยังชวนหนังสือมาหาที่บ้าน (โดยการสมัครสมาชิกนิตยสารให้) รวมทั้งพาไปเยี่ยมหนังสือที่ร้านหนังสือบ่อยๆ ด้วย

นอกจากจะได้คบกับเพื่อนหนังสือที่ผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกแล้ว ผมยังแอบคบกับเพื่อนที่โตก่อนวัยอย่างหนังสือปกขาว เช่น นวลนาง และนิยายภาพ (หวิว) ด้วย หนังสือประเภทนี้ เด็กชายอายุเพิ่งเข้าวัยรุ่นอย่างอย่างพวกเรามุงกันอ่านในห้องตู้ลับตาคราวละเป็นสิบคนเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนประจำ

การได้หยิบจับหนังสือ เหมือนได้นั่งคุยกับเพื่อนคนหนึ่งจริงๆ การพูดแบบนี้ต้องใช้เสียงที่เปล่งออกมาทางใจ

ประสบการณ์ที่ได้พบปะพูดคุยกับหนังสือหลายประเภท ทำให้ตัวเองเริ่มรู้ว่าสบายใจเมื่อได้คุยกับเพื่อนแบบไหน และอยากจะรู้สึกกับเพื่อนคนไหนเป็นพิเศษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้คบกับเพื่อนที่หลากหลายเช่นนี้ ทำให้ผมฟัง (อ่าน) พวกเขา (หนังสือ) ได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มที่จะปะติดปะต่อความหมายที่หนังสือต้องการจะสื่อได้อย่างรวดเร็ว

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังชอบหนังสือทุกประเภท ด้วยรู้สึกว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนได้ในเวลาที่เราต้องอยู่คนเดียวจริงๆ

โตขึ้นมา ผมเริ่มที่จะรู้จักเป็นผู้ให้บ้าง เมื่อผ่านบ้าน (ร้าน) หนังสือ ผมจึงไม่รีรอที่จะแวะเวียนเข้าไปทักทาย บางครั้งก็ชวนให้ออกมาเดินเล่น ไปทานข้าว และชวนมาคุยกันที่บ้าน การแวะร้านหนังสือนั้นเป็นกิจวัตร ผมรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เข้าไปหา และเบิกบานเมื่อได้เจอเพื่อนเก่าที่แต่งตัวด้วยหน้าปกตามแนวของตัวเองมารอรับกันพร้อมหน้า

เมื่อครั้ง เป็นนิสิตรัฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ ศูนย์หนังสือที่ใต้ถุนศาลาพระเกี้ยวคือบ้านของเพื่อนที่แวะเวียนเข้าไปหาประจำ เมื่อมีเวลาว่างไม่ว่าจะเป็นช่วงพักเรียน หลังเลิกเรียน หรือก่อนกลับบ้าน บางครั้งอากาศที่ร้อนจัด ก็ไล่ให้เข้าไปตากเครื่องตากอากาศอันเย็นฉ่ำที่บ้านเพื่อนหลังนี้อยู่บ่อยๆ

แปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมผม (และเพื่อนๆ อีกหลายคน) จึงไม่นิยมไปหาหนังสือที่ห้องสมุด แทนที่จะเป็นร้านหนังสือ อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกเคร่งเครียด และบรรยากาศที่เคร่งขรึมกระมังของห้องสมุดที่ทำให้เราเลือกที่จะไปร้านหนังสือ ซึ่งได้ความรู้สึกผ่อนคลายและสบายกว่า

หลังจากต้องระหกระเหินมาอยู่สหรัฐอเมริกา ผมก็ยังแวะเข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนต่างสัญชาติที่ร้านหนังสือมิเคยเปลี่ยน แต่พักหลังๆ เริ่มรู้สึกว่า บ้านของเพื่อนหนังสือนั้นทำไมดูละม้ายคล้ายคลึงกันไปหมด มาร้องอ๋อก็เมื่อค้นพบว่าธุรกิจร้านหนังสือของอเมริกันนั้นเป็นธุรกิจที่ใหญ่โต จึงมีร้านหนังสือใหญ่ๆ อยู่เพียงสองร้านคือ บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล (Barnes and Noble ) และบอร์ดเดอส์ (Borders) สองร้านนี้มีสาขาอยู่นับร้อยทั่วมุมเมือง

จนกระทั่งเมื่อปลายปีก่อนนี่ล่ะ ผมได้มีโอกาสได้บินไกลไปเยี่ยมเพื่อนที่เมืองพอร์ตแลนด์ (Portland) ในรัฐออรีกอน (Oregon) ณ ที่นี่ ผมได้เจอบ้านของเพื่อนหนังสือที่ผมประทับใจ

ความรู้สึกประทับตั้งแต่แวบแรกกับร้านหนังสือแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมคนเดียว หากยังเกิดขึ้นกับผู้รักหนังสืออย่างอาจารย์ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ซึ่งเป็นอาจารย์คนโปรดของผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย อาจารย์ศุภมิตรฯ ผู้ซึ่งมีคอลเลกชั่นหนังสือ (โดยเฉพาะหนังสือด้านสังคมศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งนิยายไทยคลาสสิกหลายหัวเรื่อง) มากจนแทบล้นออกมาห้องทำงาน อาจารย์เล่าถึงร้านหนังสือร้านหนึ่งในอเมริกาให้ฟังเมื่อครั้งพาไปเลี้ยงข้าว (มื้อโต) พร้อมบอกว่าหากมีโอกาสไปเมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐออรีกอนเมื่อไร ห้ามลืมไปร้านหนังสือนี้เด็ดขาด

ร้านที่ว่า คือ ร้านหนังสือพาวส์ (Powell’s) ซึ่งเป็นร้านหนังสือมือสอง (แต่ก็ขายหนังสือใหม่ด้วย) ขนาดใหญ่ในตึก 3 ชั้นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4 มุมถนนใจกลางเมืองพอร์ตแลนด์ ร้านหนังสือแห่งนี้ใหญ่มาก จนเวลา 2 วันที่เทียวเข้าเทียวออกก็ไม่พอที่จะเดินให้ทั่ว

ที่ชอบที่สุดก็คือการตกแต่งและการจัดวางหนังสือที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่จืดชืดเหมือนร้านหนังสือสาขาที่เห็นอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะไปเมืองไหน ร้านหนังสือพาวส์จัดหมวดหนังสือแต่ละประเภทไว้ในห้องที่ทาสีต่างๆ กัน แล้วเรียกชื่อห้องตามชื่อสีนั้นๆ เขามีตั้งแต่ห้องสีทอง เรื่อยไปถึงห้องสีแสด ผมขลุกอยู่ในห้องสีชมพูซึ่งเป็นห้องเกี่ยวกับหนังสือธรรมชาติวิทยานานเป็นพิเศษ พร้อมกลับมาด้วยหนังสือมือสองเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาที่ใช้เทคนิคมือวาด และการพิมพ์สมัยก่อนติดมือมาหลายเล่ม

ที่ห้องสีแดงซึ่งเป็นห้องของหนังสือท่องเที่ยว และหนังสือต่างประเทศ ยังมีชั้นหนังสือไทยมือสองให้เห็นด้วย ถึงแม้จะเป็นหนังสือไทยที่นอกความสนใจ (เช่น หนังสือเตรียมสอบ หนังสือสอนคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า) แต่ก็พอทำให้นึกอยากอ่านหนังสือไทยที่เป็นของขาดแคลนในยามนี้บ้าง

เรื่องราวของร้านหนังสือแห่งนี้ก็มีความสนใจไม่แพ้กับการตกแต่งร้านของเขา ร้านหนังสือพาวส์ตั้งอยู่คู่ขวัญชาวเมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐออรีกอนมากว่า 30 ปีแล้ว จุดกำเนินนั้นอยู่ไกลไปถึงเมืองชิคาโก หนุ่มนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยชิคาโกคนหนึ่งคิดที่จะเปิดร้านหนังสือเล็กๆ แถวมหาวิทยาลัย เขาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้โดยการสนับสนุนของเพื่อน เมื่อแรกเริ่มเปิดร้านปรากฏขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนหนุ่ม ไมเคิล พาวล์ (Michael Powell) คนนี้สามารถใช้หนี้ 3,000 เหรียญ ซึ่งยืมมาจากเพื่อนได้ในเวลาเพียงสองเดือน

ในช่วงฤดูร้อนของการดำเนินกิจการเล็กๆ ของไมเคิลในปีแรก คุณพ่อในวัยเกษียณได้มาช่วยขายหนังสือที่ร้าน และรู้สึกเกิดสนุกคึกคักกับการขายหนังสือและคิดว่าจะกลับไปเปิดร้านหนังสือแบบนี้ที่บ้านบ้าง เมื่อกลับมาจากการเยี่ยมลูกชายในปี ค.ศ. 1971 คุณพ่อจึงเปิดร้านหนังสือมือสองแบบเดียวกับของลูกชายที่เมืองพอร์ตแลนด์ ร้านของคุณพ่อนี้ก็คือร้านเดียวกันกับที่ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมเยียน

ปัจจุบัน ร้านหนังสือพาวส์มีสาขาใหญ่อยู่ในตัวเมือง สาขานี้เป็นที่รู้จักของหนอนหนังสือมากที่สุด เมื่อกิจการดีขึ้น ก็ขยายสาขาเล็กๆ ออกไปอีก 6 สาขาทั่วเมืองพอร์ตแลนด์ แต่ไม่มีแนวโน้มว่าจะขยายออกไปที่เมืองอื่นๆ

น่าสนใจที่ผู้บริหารร้านพาวส์ต้องการคงเอกลักษณ์ของร้านให้จำกัดอยู่เพียงไม่กี่สาขา แต่เพื่อให้ร้านอยู่รอดทางธุรกิจ จึงเปิดเป็นเว็บไซต์ขายหนังสือมือสองในปี ค.ศ. 1994 เรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ทันสมัยกับกระแสที่ธุรกิจดอทคอมบูมเหมือนดอกเห็ด สาขาใหม่ในไซเบอร์สเปซนับเป็นสาขาที่ 7

ตามที่เล่ามาว่าระหว่างเดินท่องไปท่ามกลางเพื่อนฝูงหน้า (ปก) สลอนภายในร้าน ผมรู้สึกได้ทันทีว่าร้านหนังสือเล็กๆ (เมื่อเทียบขนาดของธุรกิจกับร้านหนังสือสาขาที่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก) แห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจ คล้ายมีมนต์สะกดให้อยู่นานกว่าร้านหนังสือสาขา (อย่างเช่นบาร์นส์ แอนด์ โนเบิล หรือบอร์ดเดอส์) คงเพราะผมได้มีโอกาสหยิบพลิกและเลือกซื้อหนังสือหลายเล่มที่พิมพ์น้อย หรือพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์เล็กๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยการทำตลาด หรือเลิกพิมพ์แล้ว

ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ผิดอะไรกับการได้ไปกินข้าวมันไก่ไหหลำอันแสนโอชาที่ร้านจีนเล็กๆ ในไชน่าทาวน์กลางเมืองนิวยอร์คเมื่อวันก่อน ที่ทั้งอิ่มเอมกับทั้งรสชาติ และบรรยากาศที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ช่างแตกต่างกับชีสเบอร์เกอร์ในร้านแมคโดนัลด์ราวฟ้ากับดิน

หมายเหตุ ร้านหนังสือพาวส์สาขาใหญ่ ตั้งอยู่ที่ Powell's City of Books (Burnside),1005 West Burnside, Portland, OR 97209 USA ส่วนสาขาใหม่บนไซเบอร์สเปซนั้นอยู่ที่ www.powells.com
กำลังโหลดความคิดเห็น