xs
xsm
sm
md
lg

ยาแก้โรคคิดถึงบ้าน

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

ตั้งแต่จากประเทศไทยมาเรียนต่างบ้านต่างเมืองตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ผมมักจะเกิดอาการคิดถึงบ้านจนน้ำตาซึมอยู่บ่อย ๆ

แต่ต้องนับว่าเป็นโชคดีอย่างมหาศาลที่ผมเติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีข่าวสารกำลังก้าวหน้า อินเทอร์เน็ตได้เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากที่เคยไกลก็กลับใกล้ เวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในโลกไซเบอร์สเปซ เป็นโอสถชั้นดี แก้โรคเหงาหงอยของผมได้ชะงัดกว่ายาขนานใด ๆ

การเดินทางสู่โลกไซเบอร์สเปซจากปลายนิ้วคลิกในห้องห้องสมุดที่โรงเรียน ทำให้ผมเพลิดเพลิน พอๆ กับได้เดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่แปลกถิ่นที่ผมสนใจ

ผมเริ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไซเบอร์สเปซอย่างเต็มตัวตั้งแต่เมื่อไร ผมพยายามคิดอยู่นานแสนนาน แต่ก็คิดไม่ออก รู้แต่ว่าผมมีมิตรสหายที่รู้จักกันผ่านไซเบอร์สเปซมากมาย เราสนิทสนมคุ้นเคยกันเหมือนเพื่อนที่รู้จักกันในความหมายเดิม คือ เป็นเพื่อนที่ได้พบปะตัวตนกัน พูดคุยถูกคอแล้วรับเป็นมิตรของกันและกัน

การที่จะบอกว่า ผมไปงานแต่งงานของเพื่อนที่พบกันในอินเทอร์เน็ตมาแล้วสองงาน น่าจะแสดงถึงมิตรภาพผ่านไซเบอร์สเปซที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่ใช่อะไรเสียอีก นอกจากความสนใจที่ตรงกัน ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในโลกเสมือนจริงพัฒนาเป็นเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ ความก้าวหน้าและพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตได้เปิดพื้นที่ในมิติใหม่ให้คนที่มีความรู้สึกนึกคิดทำนองเดียวกันได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันในเรื่องที่หาคนคุยด้วยได้ยากในชีวิตประจำวัน

ตอนเด็ก ผมช้อนปลาช้อนลูกน้ำตามลำน้ำคูคลองใกล้บ้านอยู่คนเดียว ครั้นจะชวนลูกพี่ลูกน้องฝาแฝดให้มาเล่นด้วยก็เกรงว่าเขาจะไม่สนใจ

แต่ตอนหลังนี้ผมไม่ต้องออกไปช้อนปลาคนเดียวแล้ว ผมมีคนคอเดียวกันอีกนับสิบไปเป็นเพื่อนและยังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่รอคอยฟังรายงานเรื่องตื่นเต้นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันพวกเราที่ออกภาคสนามก็ใจจดใจจ่อ อยากถึงบ้านล็อกอินต่ออินเทอร์เน็ตสอบถามชื่อชนิดปลา ต้นไม้ และสัตว์อื่นๆ จากเพื่อนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้ไปด้วย

เพื่อนทั้งหมดที่ผมเอ่ยพาดพิงถึงนี้ เราเดินชนไหล่กันที่สวนสาธารณะที่มีมีชื่อว่าอินเทอร์เน็ตนี่เอง

อินเทอร์เน็ตได้เปิดพื้นที่ไร้พรมแดนให้กับคนที่มีความสนใจในสิ่งที่อาจไม่นิยมกันในวงกว้าง ให้ได้แสดงตัวตน และแสดงความสนใจเฉพาะเรื่องนั้นออกมาต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในสังคมสมัยก่อน

คนไทยหลายคนเรียกความสนใจแบบนี้ทับศัพท์ว่า “นิชอินเทอร์เรสต์” (niche interest) ที่ผมขอเรียกว่า “ความสนใจยิบย่อย” บางคนรู้จักคำนี้ในความหมายเชิงธุรกิจ ว่า “ตลาดนิช” (niche market) คือ กลุ่มเป้าหมายเล็กๆ ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายแตกต่างจากตลาดทั่วไป

ในทางนิเวศวิทยา คำว่า “นิช” (niche) ใช้เรียกความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ที่อธิบายถึงสถานะที่ไม่มีการทับซ้อนเหลื่อมล้ำกัน อันจะประกอบกันเข้าเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ยกตัวอย่างโดยสมมุติว่าในลำธารสายหนึ่งซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ ในน้ำมีเพียงปลาซิว ปลากระสูบ ไรน้ำ และสาหร่ายฉัตร สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมี “นิช” ของตัวเองที่ไม่ทับซ้อนกับนิชของสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น ปลาซิวกินไรน้ำที่อยู่ตามสาหร่ายฉัตร ปลากระสูบกินปลาซิวบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับกินจนหมดเรียบ เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป ทีนี้ถ้าเกิดมีคนมือดีเอาปลานิลซึ่งไม่เคยมีอยู่ในธรรมชาติจริงไปปล่อย ปลานิลอาจจะมี “นิช” ที่เหลื่อมล้ำกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในนิเวศนั้น โดยอาจจะกินไรน้ำมากไปจนทำให้ปลาซิวอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีปลาซิว ปลากระสูบก็ไม่มีอะไรกิน ในที่สุดระบบก็เสียสมดุล

ฟังแล้วอาจเข้าใจยาก และสับสน

ขอยกตัวอย่างที่พี่โทนี่ฯ นิสิตปริญญาโทด้านมีนวิทยา ผู้เป็นมิตรสนิทสนม เคยอธิบายให้นักเรียนสายสังคมศาสตร์อย่างผมเข้าใจก็แล้วกัน พี่โทนี่บอกว่า “นิช” ก็คือ ห้องเล็กๆ บนตึกใหญ่ ห้องเล็กๆ แต่ละห้องก็คือ “นิช” ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ตึกใหญ่ที่ว่าก็เปรียบดั่ง ระบบนิเวศทั้งระบบ สมาชิกในแต่ละห้องอยู่บนตึกด้วยกันอย่างสันติ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีการสืบทอดเผ่าพันธุ์จากปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลงไปถึงรุ่นหลาน เหลน โหลน สภาวะเช่นนี้คือ สภาวะที่สมดุล แต่เมื่อห้องบนตึกเต็ม การเข้ามาของคนใหม่ย่อม ทำให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้ที่หลับที่นอนบนตึก และนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง จนเลือดตกยางออก คนที่แพ้ก็จะต้องถูกไล่ออกจากตึกที่ว่า และหากผู้ที่เข้ามาใหม่มีนิสัยไม่ดี เป็นคนพาล ความสันติสุขที่เคยมีก็ย่อมจะปั่นป่วนไป

ต้องขอบคุณพี่โทนี่ฯ ที่ทำให้ผมเห็นภาพของ “นิช” ชัดเจนขึ้น

ตามนัยที่กล่าวมานี้ “ความสนใจยิบย่อย” หรือ “ความสนใจแบบนิช” จึงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัว เกิดขึ้นในวงจำกัด และกิจกรรมของกลุ่มนั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมโดยรวม

ญาติสนิทมิตรสหายที่ผมรู้จักนั้นมีงานอดิเรกสะสมของแปลกสารพัดตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ” บางคนชอบถ่ายรูปก้อนเมฆแบบต่างๆ คนหนึ่งสะสม “เชคแฮนด์” (จับมือ) กับนักดนตรี และคอนดักเตอร์ของวงออเคสตร้าระดับโลก อีกคนบ้าไปดูรักบี้นัดสำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผมเข้าใจว่า เรื่องพวกนี้เป็น “นิช อินเทอร์เรสต์” ทั้งนั้น

คุณผู้อ่านมีความสนใจใน “นิช”ไหนบ้างหรือเปล่า หากมีเวลาว่าง โปรดเล่าสู่กันฟังบ้าง

สำหรับผมชอบสิงสาราสัตว์มาตั้งแต่เป็นเด็กตัวน้อย ความสนใจของผมจึงเกี่ยวโยงกับเรื่อง “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” “กุ้ง หอย ปู ปลา” และ “ช้าง ม้า วัว ควาย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อความสนใจได้กลมกลืนเข้าสู่การสื่อสารในโลกไซเบอร์สเปซแล้ว ผลพวงที่ออกมาจึงเป็น “ยาวิเศษ” ที่หาได้สะดวกสบายในยามอยู่ไกลบ้านเช่นนี้

ผมขอบรรยายสรรพคุณยาคลายเหงาที่ผมใช้อยู่ไปทีละขนาน หากท่านใดสนใจก็เชิญทดลองใช้ดูบ้างตามอัชฌาสัย

ขนานครอบจักรวาล
ชมรมนักนิยมธรรมชาติ
(www.naturethai.org) จากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความรักและสนใจในธรรมชาติเริ่มมารวมตัวกันตั้งแต่ปี 2526 จนบัดนี้ยังไม่ตกกระแสได้เปิดเวทีมาคุยกันบนไซเบอร์สเปซ สมัยผมเป็นเด็ก ยังเคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนกับพี่ๆ ที่กลุ่มนี้ด้วย ยังจำได้แม่นถึงวันและเวลาที่สนุกสนานกันบนเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เมื่อกลับมาจากค่ายแล้ว ยังเคยไปนั่งฟังเสวนาดีๆที่ห้อง PR 201 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ข้างโรงพยาบาลรามาฯ ด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (www.seub.or.th) คงไม่ต้องบอกว่านักอนุรักษ์ที่ยิ่งใหญ่ท่านนี้คือใคร มูลนิธิฯ เกิดขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปของสืบ นาคะเสถียร เว็บไซต์นี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไป และการอนุรักษ์ผืนป่าของไทย

ขนานจืด
กลุ่มสยามเอ็นซิส (www.siamensis.org) คือ ยาขนานที่ใช้บ่อย และใช้ประจำ ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มแรกอวดโฉมบนไซเบอร์สเปซ เริ่มแรกทีเดียว ความสนใจของกลุ่มอยู่ที่ปลา และต้นไม้น้ำของไทย ทั้งที่อยู่ในธรรมชาติ และในที่เลี้ยง ต่อมาความสนใจของสมาชิกเริ่มขยายวงกว้างครอบคลุมไปถึงสัตว์อื่นๆ ตั้งแต่ตุ๊กกาย ตุ๊กแก งู แมลง และสัตว์อื่นๆ พื้นฐานของสมาชิกคือผู้ที่รักสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์ และในที่สุดแล้วก็อยากจะศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านั้นในธรรมชาติ เมื่อเห็นสถานะของสัตว์บางชนิดที่เริ่มหายาก และเริ่มได้รับอันตราย ก็เกิดแนวคิดที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์และต้นไม้ชนิดนั้นแก่ผู้สนใจอื่นๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่

ขนานเค็ม
กลุ่มทะเลไทย
(www.talaythai.com) และกลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ(www.whalesharkthai.org) เป็นกลุ่มสำหรับผู้รักธรรมชาติทางทะเล กลุ่มทะเลไทยเกิดจากการริเริ่มของนักวิชาการทางทะเลชื่อดังอย่าง อ. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจกับธรรมชาติทางทะเล บทความคุณภาพจากปลายปากกาของ อ.ธรณ์ และทีมงาน รวมทั้งกระดานข่าวพูดคุยกันเรื่องราวน่ารักเกี่ยวกับทะเลทำให้ผมมักเข้าแอบไปฟังหนุ่มสาวเจ้าทะเลเขาคุยกัน บ่อยครั้งแอบได้ยินเจ้ากระสาบเพื่อนรักที่กำลังขมักเขม้นอ่านหนังสือเตรียมสอบเนติบัณฑิตฯ มาร่วมวงกับเขาด้วย ส่วนกลุ่มรักษ์ฉลามวาฬนั้นเกิดขึ้นจากนักดำน้ำกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรณรงค์ให้นักดำน้ำร่วมกันรักษาเจ้าแห่งท้องทะเลอย่างฉลามวาฬที่เริ่มลดจำนวนลงและได้รับอันตราย กลุ่มนี้จัดกิจกรรมดำน้ำสร้างประโยชน์อยู่เสมอน่าชมเชย เมื่อครั้งผมเริ่มดำน้ำเป็นใหม่ๆ ก็ได้ที่นี่ละเป็นแรงบันดาลใจ

กลุ่มไทยรีฟ (www.thaireef.com) คือ กลุ่มนักเลี้ยงปลาทะเล ที่หลายคนมักเห็นว่าแตกแถวไปจากสองกลุ่มข้างต้น นักเลี้ยงปลาเหล่านี้เน้นศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศน้ำเค็ม เพื่อมุ่งหวังขยายพันธุ์ปลาในระบบปิด โดยไม่ต้องรบกวนธรรมชาติ หากมองอย่างเปิดใจว่าไหนๆ กิเลสตัณหาของมนุษย์นั้นแก้ไขไม่ได้ ทำไมเราไม่คิดหาวิธีรบกวนธรรมชาติให้น้อยลง อันจะนำไปสู่การไม่รบกวนธรรมชาติในที่สุด หลายๆ ครั้งการค้นพบพฤติกรรมบางอย่างของนักสัตวศาสตร์ ก็เป็นผลมาจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนักเลี้ยงสัตว์สมัครเล่นเหล่านี้

ขนานฟ้า
ยาขนานนี้มีหลายสูตร แต่ละสูตรนั้นมีสรรพคุณ และรูปแบบน่าสนใจทั้งนั้น เริ่มด้วยห้องดูนกในเว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com/cafe/blueplanet) นักถ่ายรูปทั้งหลายเอารูปนกสวยๆ มาคุยกันเสมอ ตามติดมาด้วย กลุ่มรักษ์นก(www.savebird.com) ชมรมนกแอนด์เนเจอร์ (www.nokandnature.com) กลุ่มสยามเบิร์ด (www.siambird.com) นอกจากนี้ยังมีสูตรท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มดูนกโคราช (www.geocities.com/koratbird) และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่สนใจนกชนิดพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มดูนกน้ำ(www.thaiwaterbirds.com) ที่ให้ความสนใจเฉพาะนกน้ำเป็นพิเศษ มีการรายงานการมาเยี่ยมเยือนของนกอพยพอย่างทันท่วงที กลุ่มรักษ์แต้วแร้วท้องดำ(www.savepitta.org) ที่มุ่งอนุรักษ์ที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ แหล่งอาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำแหล่งสุดท้ายในประเทศไทย

ขนานมัน
กลุ่มรักษ์ผีเสื้อ
(www.savebutterfly.com) เป็นกลุ่มย่อยของชมรมนักนิยมธรรมชาติ ที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อ และส่งเสริมกิจกรรมดูผีเสื้อที่กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กับการดูนก ผมนั่งอ่านบทความต่างๆ ก็ชวนให้คิดถึงเมื่อตอนอยู่ชั้นมัธยม ที่เพื่อนๆ แข่งกันเลี้ยงหนอนแก้วในกล่องรองเท้า ยังจำกลิ่นเหม็นเขียวของดอกและใบต้นยี่โถที่พวกเราเด็ดมาให้เป็นอาหารลอยฟุ้งออกจากตู้เสื้อผ้าติดอยู่ที่ปลายจมูกจนทุกวันนี้ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ เว็บไซต์แมลงไทย (www.thaibugs.com) ซึ่งเป็นของชาวฝรั่งในเชียงใหม่ผู้สนใจเรื่องแมลงแปลกๆ ที่เรามักไม่ได้สังเกต เขาเที่ยวถ่ายรูปแมลงต่างๆ มาเก็บรวบรวมไว้ ลองเข้าไปดู เผื่อครั้งหน้าไปเที่ยวป่า อาจจะมีกิจกรรมใหม่ๆ อย่างดูแมลงให้ตื่นเต้น

ขนานเขียว
กลุ่มเฟิร์นสยาม (www.fernsiam.com) กลุ่มนี้ให้ความรู้ถึงการปลูกเลี้ยงต้นไม้ และเฟิร์น พร้อมรายละเอียดครบถ้วนในด้านการจำแนกชนิด และลักษณะที่อยู่อาศัย

สังคมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตามซอกซอยของโลกไร้พรมแดนที่ผมได้ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายแห่งที่ผมยังไม่ได้พบเจอ น่าสังเกตว่าเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตสามารถก้าวข้ามรูปแบบการสื่อสารแบบเดิมที่จำกัดสถานะแน่นิ่งของผู้ส่งสารและผู้รับสารไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กันสองทาง ผ่านรูปแบบของกระดานข่าว หรือที่หลายคนคุ้นหูในชื่อภาษาอังกฤษว่าเวบบอร์ด (webboard) ที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างได้รสชาติผ่านตัวหนังสือ และรูปภาพ

สมาชิกที่พบปะกันบนพื้นที่สาธารณะเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยผู้คนต่างสาขาอาชีพ ต่างสถานะ ต่างเพศ และต่างวัย

ที่น่าดีใจที่สุด คือ การได้เห็นนักวิชาการไทยเข้าร่วมวงเสวนาออนไลน์กับผู้สนใจทั่วไปด้วยภาษาเรียบง่าย และเป็นมิตร ผู้รู้ตอบคำถามแก่ผู้เรียนรู้อย่างละเอียดลออด้วยความตั้งใจและยินดี ความห่างเหินอันเคยเป็นอุปสรรคกั้นกลางระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ได้เขยิบเข้ามาแนบชิดจนหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน

ในห้องเรียนวิชานโยบายสิ่งแวดล้อมที่ผมนั่งเรียนอยู่ขณะนี้ อาจารย์มักจะเน้นย้ำให้นักเรียนอเมริกันซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาควิชาชีววิทยาอนุรักษ์ (conservation biology) จำใส่ใจว่า อุปสรรคต่อความสำเร็จในนโยบายสิ่งแวดล้อมหลายนโยบายของอเมริกานั้น ส่วนสำคัญมีสาเหตุมาจากช่องว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับประชาชน ในสายตาคนอเมริกัน นักวิทยาศาสตร์มักพูดภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง หยิบโหย่ง ทะนงตนว่าจะสามารถจัดการปัญหาได้เองทั้งหมด อีกทั้งยังไม่คาดคิดถึงพลังอันมหาศาลของภาคประชาชน

ในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดนั้น ทุกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ของอเมริกาฯ จะต้องยอมรับว่าความร่วมมือจากประชาชน นั้นมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะใช้ทรัพยากรทั้งเงิน คน และเวลาน้อย แต่กลับก่อให้เกิดผลจริง รวดเร็ว และประหยัดที่สุด

เมื่ออาจารย์เอ่ยถึงเรื่องนี้คราใด ผมคิดถึงเมืองไทยขึ้นมาทันที ใจผมจะเบิกบานและกระหยิ่มยิ้มย่องล่องลอยกลับสู่เมืองไทย จนกระทั่งสัญญาณดังหมดเวลา

ผมรู้ดี และมั่นใจว่านักวิชาการบ้านเรานั้นไม่ได้เป็นอย่างนักวิทยาศาสตร์อเมริกันส่วนใหญ่

ที่พูดกับคนขายของข้างบ้านไม่เคยรู้เรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น