xs
xsm
sm
md
lg

ป่าหลากฤดูหน้าตึกรัฐสภาอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

ผมยังอยู่ที่วอชิงตันดีซีอีกหนึ่งวันเต็มก่อนกลับนิวยอร์กในคืนวันอาทิตย์

ระหว่างกินข้าวมื้อเย็นฝีมือเพื่อนที่บ้าน ผมเสนอว่าเช้าวันรุ่งขึ้น เราทำตัวสบายๆ ก็แล้วกัน อยากจะตื่นเมื่อไรก็ตื่น ถ้ารู้สึกว่าไม่มีอะไรทำที่บ้านก็ออกไปข้างนอก แต่หากรู้สึกไม่อยากออกไปไหน ก็นั่งเล่นนั่งคุยที่บ้านก็แล้วกัน

นี่ผมหนีความวุ่นวายของนิวยอร์กมาพักผ่อน เพื่อนไม่ต้องหักโหมพาไปเที่ยวเยอะนักหรอก นิวยอร์กกับดีซี อยู่ไม่ไกลกัน หากเที่ยวไม่หมดในคราวนี้ โอกาสหน้าก็ยังมี

แต่พอเอาเข้าจริงๆ เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจกันไว้ ตกเย็น ได้มีโอกาสคุยโทรศัพท์กับเพื่อนสาวสวยต่างมหาวิทยาลัยที่รู้จักตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ ประจวบเหมาะเธอมาเรียนที่วอชิงตันดีซีพอดี เลยอยากแนะนำให้เกลอทั้งสามได้รู้จักมักจี่ จึงเอ่ยปากชวนออกมาทานข้าวกลางวันด้วยกัน ในวันรุ่งขึ้น

เราตื่นกันค่อนข้างเช้าในวันอาทิตย์ด้วยไม่อยากผิดนัด ทั้งๆ ที่เมื่อคืนเรานั่งคุยกันจนถึงดึกดื่น เมื่อกินข้าวเสร็จแล้ว เราขับรถไปส่งเพื่อนสาวที่หน้าสถานทูตฯ ไทยในเมือง เธอมีนัดกับเพื่อนของเธอ (ที่เราไม่รู้จัก) หลังจากล่ำลากันเรียบร้อย กองทัพหนุ่มโสดของเราเห็นพ้องว่าไหนๆ ก็มาอยู่ใกล้กลุ่มพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน (The Mall) แล้ว เหตุไฉนเราจึงจะหันกลับฐาน

กองทัพสี่คนของเราจึงออกผจญภัยกันอีกหนึ่งยกใหญ่

ผมเสนอว่าอยากไปดูพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในกลุ่มพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนกันยายนปีกลายนี้ วันนี้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ จึงไม่ต้องเสียเงินค่าจอดรถ แต่กว่าหาที่จอดได้ก็ต้องลุ้นกันเสียเหนื่อย โชคดีได้จอดรถไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนนัก

แต่บางสิ่งบางอย่างได้ทำให้ความสนใจของเราเบี่ยงเบนไป

จากจุดที่เราโชคดีได้ที่จอดรถ สามารถมองเห็นตึกพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนเป็นตึกกลมใหญ่สีน้ำตาลฝุ่นออกแบบเก๋ไก๋ แต่เมื่อหันมาอีกด้านหนึ่ง เราเห็นเรือนกระจกใหญ่ไม่แพ้กันตั้งอยู่เป็นฉากหน้าของตึกรัฐสภาอเมริกัน เพื่อนเดากันต่างๆ นานาว่าตึกประหลาดที่ว่านี้คืออะไร

เมื่อดูจากลักษณะแล้ว ผมรู้ทันทีว่าคือสวนพฤกษศาสตร์เป็นแน่ ผมซาวเสียงจากเพื่อนว่าอยากไปไหนก่อน แต่คำถามของผมนั้น แฝงไปด้วยเลศนัยบ่งบอกของคำตอบที่ต้องการได้ยินเหมือนเดิม

ด้วยความที่เรากิน เล่น เรียน นอน มาด้วยกันตั้งแต่อายุยังไม่ 9 ขวบดี เพื่อนจึงรู้ทัน และใจดีตอบผมว่าไปสวนพฤกษศาสตร์ก็ได้

เมื่อเดินไปถึงจึงได้รู้ว่าสวนแห่งนี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า สวนพฤกษศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Botanic Garden) ที่ประตูทางเข้า มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเข้าชมกันมาก แต่ด้วยเหตุที่ว่าเรือนกระจกนี้อยู่ใกล้กับตึกรัฐสภาอเมริกัน จึงมีระบบรักษาความปลอดภัยรัดกุม มีการตรวจกระเป๋า และเดินผ่านช่องตรวจอาวุธ ตำรวจตัวใหญ่หน้าตาบึ้งตึงประจำการอยู่เต็มกำลัง เสียเวลากับการตรวจสิ่งของไม่นาน ก็เดินเข้ามาภายในตัวตึก

เรือนกระจกแห่งนี้ออกแบบให้มีเรือนตรงกลางที่สูงและใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเรือนบริวารอื่นๆ ที่มีความสูงต่ำลงมา ผู้เข้าชมสามารถเดินทะลุกันได้รอบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรือนแสดงต้นไม้เหล่านี้มีทางเดินในร่มเชื่อมต่อกัน โดยแบ่งออกเป็น 13 เรือนน้อยใหญ่ ตามชนิดและประเภทของพันธุ์ไม้ ที่จัดแสดง ซึ่งได้แบ่งแยกเป็นกลุ่มตามธีม (theme) ของแต่ละเรือนแบบหลวมๆ ขึ้นอยู่ว่าต้องการสื่อความหมายในเรื่องอะไร

เรือนกระจกหลักสูงใหญที่่มองเห็นแต่ไกลนั้น คือ “เรือน Forest” แสดงพันธุ์ไม้ในป่าฝนเขตร้อนจากทั่วโลก

“เรือน World Deserts” แสดงพันธุ์พืชจากทะเลทรายจากทั่วโลก
“เรือน Oasis” มีบ่อน้ำและแสดงพืชที่อยู่ริมน้ำ เหมือนเป็นโอเอซิสที่เพิ่งเดินออกมาจากทะเลทราย
“เรือน Garden Primeval” แสดงพันธุ์เฟิร์นต้นไม้ดึกดำบรรพ์เป็นส่วนใหญ่
“เรือน Rare and Endangered” แสดงพันธุ์พืชที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์
“เรือน Plant Exploration” มีพืชแปลกตาที่เพิ่งค้นพบใหม่ในธรรมชาติ และห้องทดลอง
“เรือน Orchids” ที่เขาบอกว่ามีต้นกล้วยไม้จากทั่วโลก
และ “เรือน Medicinal Plants” มีพืชสมุนไพรที่หลายชนิดคุ้นตา

เราเริ่มต้นโดยเดินผ่ากลางพื้นที่สี่เหลี่ยมภายในตึกเพื่อไปดู “เรือน Forest” ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก คะเนด้วยสายตาคงมีขนาดประมาณเท่าตึกสามชั้น ภายในจัดแสดงพันธุ์ไม้ในป่าเขตร้อน โดยพยายามวางรูปแบบคล้ายกับสภาพป่าจริงให้มากที่สุด พันธุ์ไม้ทั้งหมดมาจากป่าเขตร้อน ทั้งจากแถบบ้านเราในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นปาล์ม พืชตระกูลขิง พืชอิงอาศัย และพืชขนาดเล็ก ที่นี่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ แต่จะทำลำต้นเป็นไฟเบอร์กลาสแล้วปลูกพืชอิงอาศัยเกาะติดบังไว้โดยรอบ หากมองผ่านโดยมิได้สังเกตก็คงจะนึกว่าเป็นต้นไม้จริง ที่โคนต้นของต้นไม้แต่ละชนิดมีป้ายบอกชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ พร้อมแหล่งที่มาไว้ชัดเจน หากพืชชนิดไหนอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ก็จะเขียนไว้เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เป็นบันไดขึ้นไปบนยอดไม้ (canopy walk) ซึ่งมีไม้อิงอาศัยโดยเฉพาะพืชในตระกูลฝอยลม (Tillansia) มากมายหลายชนิดจนน่าตื่นใจปลูกไว้ที่ราวทางเดินตลอดแนว

น่าสังเกตว่าลักษณะโดยรวมของ “เรือน Forest” นี้คล้ายคลึงกับส่วนของเรือนกระจกใหญ่ที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ บ้านเราที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างกันและเห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นส่วนที่จำลองเป็นสระน้ำภายในเรือนกระจก เขาตั้งใจทำให้รู้ว่าเป็นของคนทำ ไม่ได้จำลองมาจากธรรมชาติ ลักษณะบ่อน้ำและสะพานทันสมัยคล้ายที่มักสร้างในสวนสมัยใหม่ -ไหนๆ ก็ทำไม่เหมือนแล้ว- ในขณะที่บ้านเราตั้งใจทำน้ำตกโดยใช้ไฟเบอร์กลาสพยายามทำให้เหมือนจริง –ขอลองทำให้เหมือนดูหน่อยนะ- เรื่องนี้ผมไม่มีความเห็น ขอให้ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบของแต่ละคนว่าจะชอบแบบไหนก็แล้วกัน

เราเดินต่อมายัง “เรือน World Desert” ที่เป็นพืชทะเลทราย มีต้นกระบองเพชรหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่มาจากแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาและทางตอนบนของเม็กซิโก แต่ก็มีจากที่อื่นทั่วโลกเหมือนกัน เดินเรื่อยต่อไปผ่าน “เรือน Oasis” ซึ่งแสดงพืชที่ขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำกลางทะเลทราย ต่อจากนี้ไป คือ ส่วนของเฟิร์น แล้วทะลุมายังห้องโถง (Gallery) ทางสวนพฤกษศาสตร์จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านต้นไม้อย่างเข้าใจง่าย มีการพูดถึงระบบการเก็บอาหารของต้นไม้ชนิดต่างๆ โดยใช้แผนผัง พร้อมรูปกระกอบสวยงาม ส่วนหนึ่งแสดงส่วนประกอบของดอกไม้ มีปุ่มให้กดตามชื่อของส่วนนั้น แล้วไฟสีจะสว่างขึ้นที่ดอกไม้จำลองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ที่มุมอีกด้านหนึ่งของห้องโถง มีโต๊ะใหญ่ว่างส่วนต่างๆ ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เกสร เมล็ด ใบ ผล ฯลฯ ให้หยิบจับได้ตามต้องการ

เดินกลับมาที่โถงทางเข้าซึ่งมีไม้ดอกสวยงามวางเรียงรายเป็นแถว ก็ไปถึง “เรือน Rare and Endangered” ซึ่งตั้งอยู่อีกด้านหนึ่ง ส่วนนี้เป็นส่วนที่ชอบใจที่สุดและคิดว่าเป็นความคิดที่ดีมากๆ เขานำพันธุ์ไม้ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ในบัญชีแดงขององค์การสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN: The World Conservation Union) ซึ่งเป็นองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศมาแสดงให้ดูด้วย

บัญชีแดงที่ว่านี้เป็นการรวบรวมสถานะของสัตว์และพืชชนิดต่างๆ มีระดับตั้งแต่ สูญพันธุ์ (extinct) สูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ (extinct in the wild) ได้รับอันตรายอย่างน่าเป็นห่วง (critically endangered) กำลังได้รับอันตราย (endangered) เปราะบาง (vulnerable) และมีแนวโน้มว่าได้รับอันตราย (near threatened) ทั้งนี้เพื่อให้ประชาคม และรัฐบาลเข้าใจสถานะของสัตว์และพืชแต่ละชนิดที่เป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน การดำเนินนโยบายอนุรักษ์จะได้เป็นไปอย่างทันท่วงที

เพื่อนเดินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ผมยังเดินวนไปวนมาในเรือนเล็กๆ นี้อยู่ เพราะมัวแต่สนใจอยู่กับนิทรรศการเล็กๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญาไซเตส (CITES) หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ แผ่นนิทรรศการวางแทรกไประหว่างกระถางต้นไม้หายากที่ตั้งอยู่บนชั้น มีสถิติและรูปแสดงการจับกุม รวมทั้งโครงการของสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติที่เป็นหน่วยงานในการรับต้นไม้ที่ยึดมาได้จากแผนกศุลกากร แล้วมาเลี้ยงให้อยู่รอด พร้อมกับใช้ศึกษาและวิจัย โดยไม่ต้องทิ้งให้ตายไปโดยไร้ประโยชน์

พูดถึงเรื่องต้นไม้ผิดกฏหมายที่ถูกยึดจากการค้าแล้ว ทำให้นึกถึง เรื่องเล่าของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ชอบต้นไม้จนขึ้นสมอง เขาเคยเล่าให้ฟังว่า แทบทุกครั้งที่เขาเห็นตำรวจป่าไม้มาจับไม้ป่าผิดกฏหมายที่วางขายอยู่ที่ “ลานดิน” ตลาดมืดของไม้ป่าบนลานจอดรถข้างตลาดซันเดย์ในสวนจัตุจักรนั้น เขามักจะรู้สึกเสียดายไม้ป่าเหล่านั้นเหลือเกิน

ของกลางที่ยึดจับไปนั้น จะถูกแจกจ่ายไปปลูกตามหน่วยงานของกรมป่าไม้ทั่วประเทศ แต่ในที่สุดแล้วพืชเหล่านั้น น้อยต้นที่จะอยู่รอดต่อไป ส่วนใหญ่มาจากการขนส่ง และความไม่ชำนาญในการดูแลรักษา เพื่อนคนเดิมบอกว่าเขาอยากเห็นหน่วยงานของรัฐที่มีความชำนาญความรู้ในเรื่องไม้ป่าอย่างลุ่มลึก ปัญหาลักลอบเก็บไม้ป่ามาขายจะได้รับการแก้ไขอย่างครบวงจร ทั้งป้องกัน และตั้งรับ

ผมเดินเพลิน และคิดเพลินก็มาถึง “เรือนกล้วยไม้” โดยไม่ทันรู้ตัว กล้วยไม้ที่นำมาแสดงมีต้นไม้ทั้งสายพันธุ์แท้ และลูกผสมอย่างฟาแลนนอปสิส เขานำกล้วยไม้ที่กำลังออกดอกมาแสดงสับเปลี่ยนกันไป ต้นไหนเหี่ยวแล้วก็เอาออก และนำต้นใหม่ที่ออกดอกมาใส่ในไว้หลุมตามคาคบไม้ กระบะ และผนังหินที่ออกแบบไว้เฉพาะ สวนพฤกษศาสตร์ที่นี่โม้ว่ามีกล้วยไม้ทั้งหมดกว่า 12,000 ชนิด ตลอดปีเขามีกล้วยไม้ที่ออกดอกแสดงราว 200 ต้นหมุนเวียนต้อนรับผู้เข้าชม

ส่วนสุดท้ายเป็น “เรือนสมุนไพร” มีต้นไม้คุ้นตามากมายตั้งแต่มะกรูด ไปจนถึงมะละกอ เขาบอกชื่อ และแหล่งที่มาพร้อมสรรพคุณประโยชน์ในการใช้ นับว่าเป็นกลเม็ดแยบยล ที่จะโยงใยถึงประโยชน์ของต้นไม้ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้เห็นแบบง่ายๆ

อากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทยในเรือนกระจกพอทำให้หายคิดถึงเมืองไทยได้บ้าง แต่ก็ยังอดวาดฝันไม่ได้ว่าจะดีแค่ไหนหากเรามีสวนพฤกษศาสตร์ที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ในด้านพรรณไม้ของไทย ในเมืองหลวงของเราให้คนกรุงอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ไม่มีโอกาสได้เข้าชมโดยไม่ต้องไปไกลถึงเชียงใหม่

ผมคิดเรื่อยเปื่อยไปถึงพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนสวนสนุกในเขาดินวนาที่บ้านเรา หากรัฐบาลคิดจะเปลี่ยนเป็นเรือนกระจกรวบรวมพันธุ์ไม้จากที่ต่างๆ ของประเทศ หรือจากแหล่งเฉพาะเจาะจง อย่างเช่นป่าฮาลา-บาลา หรือที่อื่นๆ ได้ก็คงจะวิเศษทีเดียว

เด็กๆ ชาวกรุงที่พ่อแม่พามาเที่ยวกันในวันหยุด จะได้พอรู้ว่าป่าที่คุณครูพูดถึงที่โรงเรียนมันเป็นอย่างไรกัน จะได้ไม่ต้องนึกจินตนาการผิดๆ ถูกๆ อย่างผมเมื่อตอนเป็นเด็กหัวเกรียน

ผมกลับมานิวยอร์ก แล้วได้นั่งอ่านแผ่นพับข้อมูลของสวน พร้อมเข้าไปชมสวนในโลกไซเบอร์สเปซ ทำให้รู้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อว่า สวนพฤกษศาสตร์นี้ได้รับการวางแผนมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 แล้ว โดยเป็นความฝันของสามประธานาธิบดี คือจอร์จ วอชิงตัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน และเจมส์ แมดดิสัน ที่อยากให้มีสวนพฤกษศาสตร์อยู่ “บนที่นั่งของรัฐบาล” (at the seat of government) พอในปี ค.ศ. 1820 รัฐสภาอเมริกันก็ลงมติให้ดำเนินการสร้างสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ ต่อจากนั้นอีก 22 ปี ชาวอเมริกันก็มีเรือนกระจกปรับอุณหภูมิเพื่อปลูกพืชเมืองร้อนแห่งแรก นอกจากสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้จะมีเรือนกระจกให้พลเมืองอเมริกันและนักท่องเที่ยวมาเข้าชมแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นคนสวนเพาะปลูกต้นไม้สำหรับใช้ในงานราชการต่างๆ ด้วย

รัฐบาลอเมริกันเขาเอาธรรมชาติที่อยู่ห่างไกลมาปรนเปรอผู้คนถึงเมืองหลวง

ผมไม่สนับสนุนลัทธิเอาอย่าง แต่กรณีนี้ขอให้เป็นข้อยกเว้นก็แล้วกันครับ


หมายเหตุ : ไปสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติอเมริกันได้ที่ www.usbg.gov และหากสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีแดงของ IUCN คลิกไปที่ www.redlist.org หรือ http://www.iucn.org/themes/ssc ส่วนเวบไซต์ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) นั้นอยู่ที่ www.cites.org

คุณฌานิกาฯ ได้อ่านต้นฉบับของบทความนี้ และส่งอีเมล์ด่วนจี๋อธิบายเพิ่มเติมถึง “องค์การสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)” ให้ฟังว่า [IUCN] เป็นหนึ่งในองค์การด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2491 ที่ฝรั่งเศส เดิมใช้ชื่อว่า "International Union for Conservation of Nature and Natural Resources" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น "The World Conservation Union" หรือองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก แต่ยังคงใช้ชื่อย่อเดิมว่า IUCN ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

กำลังโหลดความคิดเห็น