xs
xsm
sm
md
lg

เดินป่าหน้าหนาว ที่วอชิงตันดีซี

เผยแพร่:   โดย: อาทิตย์ ประสาทกุล

ผมมาเรียนที่นิวยอร์กได้ครึ่งค่อนข้างปีแล้ว แต่ยังทำใจให้รักมหานครแห่งนี้ไม่ได้ซักที

หลายคนบอกว่าที่นี่คือความสนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่รวมกันมีไว้ที่นี่ ตึกรามใหญ่โต และชีวิตผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง แต่ดูเหมือนว่า ผมจะเป็นข้อยกเว้น

ท่ามกลางความซึมเศร้าและเหงาหงอย ผมยัดเสื้อหนึ่งตัวและกางเกงอีกหนึ่งตัวเข้ากระเป๋า แล้วกดโทรศัพท์นัดเพื่อนรักสมัยเรียนมัธยมซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่รัฐใกล้เคียงชวนมาพบกันที่วอชิงตันดีซี เพื่อเจอกับเกลอเก่าอีกสองคนนั่น สุดสัปดาห์นี้ผมขอหนีนิวยอร์กสักสองวัน เปิดเรียนวันจันทร์จะได้รื่นเริงบันเทิงกับการเรียนกับเขาได้บ้าง

นั่งรถหมาเกรย์ฮาวด์มา ดีซี นั้นสะดวกสบาย เพียงสี่ชั่วโมงกว่าก็มาถึงที่หมาย ผมต่อเมทโทร –ระบบรถไฟใต้ดินอันสะอาดสะอ้านผิดกับซับเวย์เมืองนิวยอร์ก- มาเจอเพื่อนที่สถานีใกล้บ้านเขาทั้งสอง เพื่อนรู้ดีว่าผมชอบสิงสาราสัตว์ พรุ่งนี้แผนของเราจึงไม่ใช่เสียอะไรอื่นนอกจากสวนสัตว์แห่งชาติวู้ดลี่ (Woodley National Zoo) แห่งสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institute) ในตัวเมืองวอชิงตันดีซี ดังที่ทราบกันอยู่ อะไรที่อยู่เมืองนี้เป็นของ “แห่งชาติ” ทั้งนั้น

เพื่อนอีกคนที่มาจากต่างรัฐขับรถมาถึงเมื่อใกล้เที่ยง โทรมาปลุกตอนเรากำลังนอนหลับก้นโด่ง สี่คนเราจึงครบทีมเสียที แต่ก่อนกองทัพจะออกผจญภัย ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากกินเฝอ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนุ่มหั่นชิ้นบาง แกล้มถั่วงอกและโหระพาสดของชาวเวียดนามที่อพยพหนีสงครามตามความช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกัน ตั้งแต่ก่อนพวกเราเกิดและรู้เดียงสา ก๋วยเตี๋ยวชามโตรสชาติถูกปาก ขนาดถูกกระเพาะ และราคาถูกกระเป๋าผ่านพรวดมากองในท้องด้วยเวลาอันรวดเร็วตามนิสัยของเด็กโรงเรียนประจำที่เคยต้องรีบกินให้ทันเวลา

แม้ว่าจะรู้สึกหนาว แต่ต้องถือว่าอากาศบ่ายวันนี้กำลังสบาย ผิดกับเมื่องสองอาทิตย์ก่อนที่พายุหิมะพัดโหมจนเมืองฝั่งตะวันออกของอเมริกากลายเป็นสีขาวโพลนด้วยหิมะหลายสิบนิ้ว เรานั่งรถไฟใต้ดินมาขึ้นที่หัวมุมถนนไม่ไกลจากสวนสัตว์ ผู้คนออกจากบ้านชวนกันมาตากไอแดดกันคลาคลั่ง เสียงเด็กฝรั่ง จีน แขกส่งสำเนียงเจื้อยแจ้ว ตะเบ็งแข่งกับชายไทยสี่คนที่กำลังแย่งเล่าเรื่องที่ผ่านพบหลังจากไม่ได้เจอกันนาน

สวนสัตว์วู้ดลี่นั้นไม่เก็บเงินค่าเข้าเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์เครือสมิธโซเนียนแห่งอื่นๆ อีกทั้งยังกว้างขวางใหญ่โตขนาดที่เจ้าบ้านสองคนบอกว่าเดินทั้งวันไม่มีวันหมด เมื่อเห็นทีได้โอกาสเหมาะ ผมจึงไม่รีรอที่จะเสนอแผนการแกมบังคับว่าเราจะไปดูสัตว์ที่ไหน เสือสิงกระทิงแรดนั้นไม่สนใจ วันนี้ขอไปดูเรือนป่าอเมซอนที่ขึ้นชื่อของสวนสัตว์แห่งนี้เถิด แล้วคนอื่นอยากจะไปดูอะไรผมไม่ขัดข้อง

เรือนป่าอเมซอนตั้งอยู่ด้านในลึกเกือบสุดทางอีกด้านหนึ่งของสวนสัตว์ ระหว่างเดิน เห็นผู้คนหนาตาที่เรือนของเจ้าเหมย เซี่ยน และเชี่ยน เชี่ยน ได้ยินชื่อก็ไม่ต้องเดาให้ยากว่าเป็นบ้านของหมีแพนด้า เพื่อนร่วมชาติของหนูช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ที่มาประจำการอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ อดนึกชมเชยกลเม็ดเด็ดพรายทางการทูตของรัฐบาลจีนไม่ได้ว่าแนบเนียนและลุ่มลึกเสียจริง ผมเดินลิ่วไปทางอื่น แล้วหันกลับมาตะโกนบอกเพื่อนว่าเดี๋ยวเราค่อยมาดูตอนขากลับ ใจของผมนั้นล่วงหน้าไปอยู่ที่เรือนป่าอเมซอนแล้ว

ในที่สุดเราก็มาถึงตึกใหญ่ขนาดสองชั้น ทางสวนสัตว์โม้ว่าที่นี่เป็นส่วนแสดงสัตว์ที่ใหญ่และมีระบบที่ซับซ้อนที่สุดตั้งแต่เคยสร้างมา มีพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ตารางฟุต และมีส่วนอควาเรียมแสดงพันธุ์ปลาจากแม่น้ำอเมซอนถึง 55,000 แกลลอน ภายในตัวตึก รวบรวมพันธุ์ไม้จากป่าอเมซอนกว่า 350 ชนิด และพันธุ์ปลาและสัตว์เลื้อยคลานอีกมากมายหลายสิบชนิด

ทันทีที่บานประตูเรือนป่าอเมซอนเปิดออก ไออุ่นอันชุ่มชื้นที่เคยชินพุ่งเข้ามากระแทกตัว ตามมาด้วยกลิ่นดิน เคล้าใบไม้ลอยโชยเข้าจมูก เสียงน้ำกระแทกน้ำ คลอเสียงหยดน้ำกระแทกหินดังเป็นจังหวะ เราสี่คนถอดเสื้อหนาวเทอะทะออกเหลือเสื้อเพียงชั้นเดียวโดยอัตโนมัติ

เรือนป่าแห่งนี้ไม่ใช่ทันสมัยและยิ่งใหญ่ในด้านเทคโนโลยีการจัดแสดงสัตว์เท่านั้น หากยังทันสมัยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการจัดนิทรรศการสื่อความหมายอีกด้วย ผู้เยี่ยมชมจะได้ความรู้สึกคล้ายกำลังเดินท่องไปในป่าพร้อมกับ ดร. บราซิล (Dr. Brasil) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ในจินตนาการที่จะทำหน้าที่เป็นไกด์ ตลอดทางเดินมีป้ายข้อมูลเหมือนฉีกมาจากสมุดบันทึกของดอกเตอร์ รูปสเก็ตช์สัตว์สวยงาม ส่วนแสดงสัตว์จัดสลับกับส่วนจำลองศูนย์วิจัยกลางป่า มีตัวอย่างสัตว์ พร้อมหนังสือวิชาการวางกระจัดกระจายให้ผู้เข้าชมหยิบจับอ่านดูได้ใกล้ชิด

เมื่อผ่านบานประตูเข้าไป ก็จะพบกับบ่อน้ำขนาดสูงเท่าเอวกั้นด้วยกระจกใสมองเห็นปลากระเบนน้ำจืดตัวเขื่องหลายสิบตัวว่ายไปมา ฉากหลังเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ส่วนรากแช่อยู่ในน้ำ สูงขึ้นไปด้านบนมีคาคบไม้นานานชนิดเกาะอยู่แน่น บ้างก็ทอดลำต้นเลื้อยลงมาระผิวน้ำด้านล่าง บางต้นก็ส่งใบชูช่อปะทะแสงแดดที่ส่องผ่านอากาศอันหนาวเย็นด้านนอกแล้วทะลุเข้ามาทางกระจกใส กลุ่มเด็กเล็กราว 5-6 ขวบยืนออกันรอบบ่อจ้องดูปลาด้วยตาแป๋วแหวว ในขณะเดียวกันอาสาสมัครของสวนสัตว์ก็ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวสนุกสนาน ชี้ชวนให้เด็กๆ ดูปลาตัวนั้นตัวนี้ด้วยความตื่นเต้น ต่อมาได้รู้ว่า เด็กน้อยกลุ่มนี้เขามางานฉลองวันเกิดเพื่อนที่สวนสัตว์ เจ้าของวันเกิดใส่ชุดแมวเทาตัวใหญ่น่ารักน่าเอ็นดู แกมหมั่นเขี้ยวเสียจริง

เดินต่อลึกเข้าไป ทางผนังด้านขวาเป็นนิทรรศการแสดงภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายถึงสภาพชีวิตชาวป่าอเมซอนที่พึ่งอิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ด้านซ้ายมือเป็นตู้ปลาขนาดใหญ่อีก 2 ตู้ ตู้แรกมีปลาช่อนยักษ์อะราไพม่าตัวยาวใหญ่กว่าหนึ่งเมตรครึ่ง ว่ายปะปนไปกับปลาดุกยักษ์เรดเทล และปลาพาคูตัวแบนใหญ่ เป็นที่ตื่นตาของทุกคนจนต้องเดินเข้าไปมองใกล้ๆ และนานๆ ส่วนตู้ที่สองนั้นก็มีปลาขนาดเล็กลงมาอย่างเช่นปลาตะเพียนอเมซอนหางแถบ และปลาพิรันย่า อีกทั้งตะพาบน้ำอเมซอนที่สวนสัตว์เพิ่งนำมาแสดงเพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้ ที่ข้างตู้มีป้ายบอกชื่อปลา และลักษณะนิสัย พร้อมรูปวาดของปลาแต่ละชนิด

ถัดจากนั้น เป็นห้องโถงขนาดพอเหมาะจำลองให้เป็นห้องทำงานของดร. บราซิล ตรงกลางมีหน้าต่างกั้น มองเห็นโต๊ะทำงาน ที่ผนังด้านหนึ่งมีตู้กระจกหลายสิบตั้งอยู่ตลอดแนว ในตู้มีกบพิษชนิดต่างๆ สร้างบรรยากาศว่าดอกเตอร์กำลังศึกษาวิจัยกบพิษเหล่านี้ ส่วนด้านนอกเป็นส่วนแสดงนิทรรศการเปิด มีตู้ปลา ตู้กบ ตู้สัตว์น้ำอื่นๆ ตั้งกระจัดกระจาย ที่มุมด้านหนึ่งมีตู้พรรณไม้น้ำ ภายในมีปลาดินสอสีแดงสดที่นักมีนวิทยาแห่งสถาบันสมิธโซเนียนเพิ่งอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานไปเมื่อสองปีก่อนให้ชมเป็นจุดเด่น สถาบันฯ คงตั้งใจจะชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จที่สามารถเห็นจับต้องได้ให้ประชาชนได้รับรู้

สุดจากส่วนแสดงนิทรรศการส่วนนี้แล้ว เป็นบันได้สำหรับขึ้นไปบนชั้นสองที่จำลองให้เป็นป่าดิบชื้นของอเมซอน ทางเดินแคบๆ ที่ย้อนทิศกลับจากทางที่เพิ่งเดินขึ้นมาจากชั้นล่างลัดเลาะไปตามพุ่มไม้ สร้างความรู้สึกคล้ายเดินป่าจริงๆ ได้ดี ดูเหมือนว่าเขาจะใส่ใจในรายละเอียดถึงขนาดทำพื้นทางเดินคอนกรีตให้เป็นรอยใบไม้ สร้างความรู้สึกให้เหมือนกำลังเดินย่ำไปบนพื้นป่า มองขึ้นด้านบน เห็นมาร์โมเซ็ต (Marmoset) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก พร้อมนกเล็กสองสามชนิด เคลื่อนที่ขยับเขยื้อนไปมาบนยอดไม้ สร้างความมีชีวิตชีวาให้ป่าจำลองแห่งนี้อย่างไม่ขัดเขิน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างผลัดกันชี้เจ้าตัวพระเอกมาร์โมเซ็ตให้กันและกันดู บางช่วงเป็นหลบเหวสามารถชมปลายักษ์ที่เห็นในตู้กระจกที่ชั้นล่างได้จากมุมด้านบน เขาออกแบบได้อย่างลงตัวเสียจริงๆ

เดินต่อไปก็ถึงทางออกจากป่าจำลอง เข้าไปสู่ส่วนนิทรรศการข้อมูลและรูปภาพซึ่งให้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับป่าเขตร้อน ทั้งระบบนิเวศวิทยา การสังเคราะห์แสงของต้นไม้ การดำรงชีวิตอยู่รวมกันของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ฯลฯ อีกยังมีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแสดงข้อมูลพร้อมรูปภาพของโครงการวิจัยต่างๆ ที่สถาบันสมิธโซเนียนกำลังดำเนินการอยู่ และมีห้องสมุดใหญ่ดูหรูหราให้นั่งพักอ่านดูหนังสือก่อนที่จะเดินลงบันได้ต่อไปยังส่วนนิทรรศการต่อไป

ทันทีที่ก้าวลงจากบันไดขั้นสุดท้าย มองเห็นอยู่ข้างหน้าเป็นห้องโถงที่ทำเป็นห้องแล็บอีกห้อง แต่ห้องนี้จัดดูหรูหรา และมีอุปกรณ์ครบครัน ผิดกับห้องแล็บกลางป่าของดร. บราซิลที่ดูเรียบง่าย และระเกะระกะ บนโต๊ะกลางห้องตั้งกล้องจุลทรรศน์ไว้ให้ส่องดูแมลงชนิดต่างๆ ที่จัดใส่ไว้ภายในวงล้อหมุนได้ ในวงล้อมีตัวแมลงขนาดใหญ่ที่สุดใหญ่กว่าหัวแม่โป้ง ไปจนถึงแมลงที่ขนาดเล็กสุดเท่าหัวเข็มหมุด ที่มุมห้องมีโต๊ะยาวหันหน้าเข้าชั้นวางของขนาดใหญ่ด้านบน บนชั้นมีขวดดองตัวอย่างกบและปลา พร้อมหนังสือเกี่ยวกับกายวิภาคสัตว์ หากใครเห็นตู้กระจกหลายตู้ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะยาว พร้อมเก้าอี้ว่าง ก็คงอดไม่ได้ที่จะเขยื้อนตัวเข้าไปนั่งลงพินิจพิเคราะห์กับสิ่งแปลกตาที่อยู่ในตู้

ตู้แรกเป็นตู้กบพิษ ต่อมาเป็นตู้แมงด้วงตัวใหญ่ขณะกัดกินต้นไม้ ตู้ที่สามแสดงการย่อยสลายของใบไม้หนาที่ตกลงบนพื้นป่าโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดต่างๆ ที่ทำงานกันตลอดวันตลอดคืน ข้างตู้มีแว่นขยายให้ส่องดูสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นระหว่างใบไม้ที่ทับถมกัน ตู้สุดท้ายเป็นตู้ลูกอ๊อดแสดงวิวัฒนาการของกบตั้งแต่เป็นไข่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งคนหนุ่มอย่างเราทั้งสี่ไม่รีรอที่จะเขาไปหยิบแว่นขยายส่องดูโน่นดูนี่ หรือเข้าไปจ้องมองกบพิษสีสดกระโดดไปมา ผู้คนทุกวัยสนุกสนานกับกิจกรรมที่สวนสัตว์มีให้ทำในเรือนป่าอเมซอนแห่งนี้ ต่างคนต่างย้ายขยับจากเก้าอี้หนึ่งไปยังอีกเก้าอี้หนึ่งด้วยความกระตือรือร้น และครื้นเครง

ส่วนนี้คือส่วนแสดงนิทรรศการอันสุดท้าย ก่อนที่จะถึงประตูทางออก ผมเอ่ยปากชวนเพื่อนเกลอทั้งสามเดินเข้าไปกันอีกสักรอบเพราะยังรู้สึกไม่หนำใจ เดินรอบที่สองนี้ก็อดคิดไม่ได้ถึงเมืองไทยที่รัก คงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสวนสัตว์ และสถานแสดงพันธุ์ปลา รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์ของบ้านเราที่มี่อยู่หลายสิบแห่ง และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ว่าจะทำอย่างไรที่จะผสมผสานประสบการณ์การได้มาเห็นสัตว์จริงๆ กับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านชีววิทยา และนิเวศวิทยา ในขณะเดียวกันก็ชี้ชวนให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศอันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพไปด้วย ส่งสารให้ผู้เยี่ยมชมรับรู้ว่าป่าไม่ได้ประกอบไปด้วยสัตว์ใหญ่อย่างช้าง เสือ ลิง ฯลฯ เพียงอย่างเดียว หากยังมีต้นไม้ชนิดต่างๆ นก ไส้เดือน กิ้งกือ ไปจนถึงแบคทีเรียที่มองไม่เห็นอยู่ใต้ดินทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ในป่า

นอกจากสวนสัตว์ควรจะมีหน้าที่ให้ความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ ตามสมควรแล้ว การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อแน่ว่า เด็กน้อยๆ ที่มาฉลองวันเกิดเพื่อนกันที่เรือนป่าอเมซอนกันในวันนั้น จะต้องมีคนใดคนหนึ่งโตขึ้นแล้วอยากจะเป็นนักชีววิทยาศึกษาสัตว์นานาชนิด เขาจะระลึกถึงความทรงจำที่สุขสันต์ และบรรยากาศการทำงานที่เขาได้รับรู้เมื่อได้เห็นห้องทำงานของนักวิจัยจำลอง หรือได้นั่งส่องกล้องจุลทรรศน์ดูแมลงตัวเล็กเท่าหัวเข็มหมุดตัวนั้น แล้วได้เห็นขาของมันปกคลุมไปด้วยขนบางๆ ชัดเจน

ก่อนออกจากเรือนป่าอเมซอนที่ผมประทับใจ ผมแอบได้ยินเพื่อนรักบ่นพึมพำกับตัวเขาเองว่า “เด็กฝรั่งเขามาเรียนกันที่นี่ เด็กไทยอย่างเราเรียนเรื่องแบบเดียวกันนี้อยู่แต่ในห้องเรียน” ส่วนผมนั้นบ่นกับเพื่อนระหว่างนั่งรถกลับบ้านว่า “ตอนนี้อยากจะไปวิจัยกบพิษ หรือค้นหาปลาชนิดใหม่ที่ป่าอเมซอนแบบดร. บราซิล บ้างจัง”

หมายเหตุ: คลิ้กไปเยี่ยมชมสวนสัตว์วู้ดลี่ได้ที่ www.nationalzoo.si.edu หรือ www.fonz.com
กำลังโหลดความคิดเห็น