xs
xsm
sm
md
lg

ตอน 174 “คุณคิดดูซิว่าคนไหน รักคุณรักยิ่งจริงใจ อยู่ที่ไหน…กันเล่า?”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ไปออกกำลังที่สวนลุม ผู้คนมากหน้าหลายตา เดี๋ยวนี้เขามีการหัดร้องเพลงในสวนแห่งนี้ด้วย ผู้สูงอายุร้องเพลงกันอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยเปิดเพลงจขากเทปแล้วหัดร้องตาม เพลงที่ผมได้ยินนั้นไม่ได้ฟังมนานหลายปี เป็นเพลงของคุณ รวงทอง ทองลั่นทม เจ้าของเสียง “น้ำเซาะทราย” ที่ขึ้นต้นว่า

คุณคิดดูซิว่าคนไหน รักคุณรักยิ่งจริงใจ อยู่ที่ไหน กันเล่า
คนไหน ที่รักภักดีคอยเฝ้า หลงติดตามเหมือนดังเงา
เฝ้าคอยเฝ้ารักดังใจ
อย่าทรมานเสียเลย......


เพลงนี้ชื่อ ไม่ใกล้ไม่ไกล ซึ่งไพเราะมากทีเดียว

คำว่า “ไม่ใกล้ ไม่ไกล”นั้น ทำให้นึกถึงคำว่า ใกล้-ไกล ได้เป็นอย่างดี แล้วหยิบเอามาเล่นคำได้มากมาย เช่น อยู่ไกลเหมือนใกล้ อยู่ใกล้เหมือนไกล เป็นเรื่องของระยะทาง แล้วพูดกันเลยไปถึงเรื่องใจของคน ที่หมุนแปรเปลี่ยนไปได้ตามระยะทาง

อย่างไรก็ดี คำว่าไกลนั้น ทำให้ผมคิดถึงคนที่ไปอยู่ไกลบ้าน เหมือนผู้อ่านอีกหลายท่าน ที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้ แต่อยู่ในแดนไกล แม้อยู่ในประเทศไทยด้วยกันเองก็เถอะ ตอนนี้ลูกหลานก็รู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว ต้นปีการศึกษาใหม่อีกสองเดือนข้างหน้านี้ ก็จะมีเยาวชนลูกหลานเรา เข้าไปเป็นนิสิตนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก สำหรับผู้ที่สอบติด มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ต้องจากบ้านไปไกล จึงอยากให้ท่านลองดูประกาศนี้สักนิด


ทุกปัญหามีทางออก และทุกอย่างจะเป็นความลับ
Hotline สายด่วน มช.
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากรู้สึกไม่สบายใจ
นอนไม่หลับ สับสนจนใจ ไกลบ้าน เกรดตก
ท้อแท้ มีปัญหากับเพื่อนรัก ชักหน้าไม่ถึงหลัง
หาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร
Hotline สายด่วน มช. ยินดีเป็นเพื่อนกับคุณ
เพียงยกหูโทรศัพท์มา วันจันทร์-ศุกร์
เวลา 09.00 - 16.00 น. 0-5394-3034, 0-5394-3042-3
เวลา 18.00 - 21.00 น. โทร. 0-5394-1351-2


เห็นแล้ว อยากถามท่านผู้อ่านว่า รู้สึกอย่างไร ?…
…การไปไกลบ้าน เป็นปัญหาหรือไม่ ?…

สำหรับผมแล้ว มีความคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พอสมควร เพราะสถานศึกษาแห่งนี้ อยู่ในท้องที่ซึ่งผมเคยดูแลรับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย ได้เคยเฝ้าสังเกตวิถีชีวิตของนักศึกษาและครูบาอาจารย์ ซึ่งมีทั้งคนต่างถิ่นและคนเมือง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวเมืองอื่นอพยพเข้ามาอยู่ใหม่

บรรยากาศของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นับว่าดีมาก แม้ปัจจุบันสภาพการจราจรไม่สะดวกสบายเหมือนก่อน แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ นักศึกษาใหม่ที่เข้ามามีชีวิตในมหาวิทยาลัย ต้องจากบ้านพลัดที่นาคาที่อยู่เดิม เข้ามามีชีวิตใหม่ ซึ่งมีสิ่งที่น่าห่วงคือ ความห่างไกลบ้านนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับ นักเรียนซึ่งเพิ่งสำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลาย จะสามารถปรับตัวภายในช่วงเวลาสั้นๆ ให้เข้ากับรูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยได้ ความดีใจที่สอบเข้าได้ตามความประสงค์ ยังค้างคาอยู่ในหัวใจ ความเพลิดเพลินกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ความห่างไกลจากสายตาผู้ปกครอง อาจเป็นปัญหากับตัวเขาได้ หรือบางคนไม่สามารถสอบเข้าในมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการ เช่นอยากเข้าจุฬา แต่มาสอบติดเอาที่เชียงใหม่ ความรู้สึกไม่สมหวังตามที่ตั้งใจไว้นี้อาจติดค้างอยู่นาน จนบางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปก็มี การเรียนในมหาวิทยาลัยก็เป็นของใหม่ ไม่เหมือนที่เคยเรียนชั้นมัธยม สภาพจิตใจที่รับไม่ได้กับภาวะแวดล้อมใหม่ ผลการเล่าเรียนพลอยตกต่ำไปอย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นกับนักศึกษาใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ หอพักนักศึกษา หากอยู่ในมหาวิทยาลัยก็จะดี แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่นอกมหาวิทยาลัย ผมอยากให้คุณพ่อคุณแม่ ช่วยไปดูสถานที่ตั้งก่อน ขอให้พิจารณาดูสภาพแวดล้อมให้ดีด้วย อย่างน้อยควรรู้ว่าเจ้าของหอเป็นใคร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ดูแลเอาใจใส่นักศึกษาในหอดีหรือไม่ ? หรือเอาแต่เก็บตังค์ลูกเดียว?

หอพักนั้นเป็นทั้งสถานที่พักกายพักใจของบุตรหลานของเรา ซึ่งจะไปเรียนไกลหูไกลตา สิ่งที่จะเกิดขึ้นในหอมีมากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับบุตรหลานและคนในหอ การเรียนรู้สภาพต่างๆจำเป็นกับผู้ปกครอง เพราะบางหอนักศึกษาชายตั้งวงดื่มสุราฮะกึ้นกันเป็นประจำ บางหอเป็นแหล่งมั่วสุมการพนันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ฯลฯ

ฉะนั้น หากจำเป็นต้องไปพักนอกมหาวิทยาลัย ต้องดูแลกันมากหน่อย ว่างๆคุณพ่อคุณแม่ลองขึ้นไปเยี่ยม โดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้าบ้างก็จะดี จะได้รู้สภาพความเป็นไปอย่างแท้จริงว่า ลูกหลานของเรามีความสุขทุกข์อย่างไร

ตรงนี้ผมพูดได้เลยว่า การเรียนมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด เป็นจุดหักเหที่สำคัญยิ่ง ผู้ที่จะคอยดูแลและปลอบใจ รวมทั้งทำความเข้าใจในตัวนักศึกษาใหม่ ที่ดีที่สุดหนีไม่พ้นคือ พ่อ-แม่ ที่จะต้องช่วยกันดูแล และทำความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษาได้อย่างดีที่สุด รวมทั้งคนครอบครัวไม่ว่าเป็นพี่น้อง หรือญาติผู้ใหญ่ ที่จะต้องให้กำลังใจ สร้างเสริมความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัย การชี้จุดยืน และคำแนะนำ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง !

เมื่อเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสื่อสารไม่สะดวก นักศึกษาจะพูดโทรศัพท์แต่ละครั้ง ต้องเดินทางเข้าไปโทรทางไกลที่องค์การโทรศัพท์ ที่อยู่ข้างโรงพักแม่ปิง ต่อมามีบริการทางไกลเอกชนหน้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งมีตู้โทรศัพท์ แบบหยอดเหรียญสาธารณะมากมายหลายตู้ หน้ามหาวิทยาลัย และภายในบริเวณสถานศึกษาแต่ละคณะ รวมทั้งหอพักภายในของมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้สะดวกมากขึ้น จนกระทั่งระบบโทรศัพท์แบบมือถือแพร่เข้ามา คราวนี้นอกจาการติดต่อก็สะดวกเป็นอย่างมากแล้ว แค่บิลโทรศัพท์อาจกลายเป็นสิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายผู้ปกครองมากเกินเหตุ หากลูกหลานของท่านเป็นคนช่างพูดช่างคุยนี่ก็ต้องเตือนกัน หรือจำกัดการใช้ไว้ล่วงหน้า

ที่สำคัญแลอยากแนะนำผู้ปกครองคือ พ่อแม่ต้องโทรหาลูก และลูกต้องโทรหาพ่อแม่ ต้องกำหนดให้มีการรายงานกันทุกวัน อย่าได้ละเลยเป็นอันขาด มีเวลาก็ต้องขึ้นไปเยี่ยม ถึงเวลาปิดเทอมต้องกลับบ้าน อย่าปล่อยทิ้งไว้ ต้องทำให้เห็นว่า ‘บ้าน’ นั้นเป็นสถานที่สำคัญ

ที่พูดอย่างนี้เพราะผมเห็นตัวอย่างที่ดีจากคนรู้จักกันดี ที่ลูกอยู่กับพ่อ โดยไม่มีแม่ แต่พ่อนั้นรักลูก และลูกก็รักพ่อมาก ระหว่างที่พ่อทำงาน ลูกสามารถโทรถามการบ้านได้ตลอดเวลา เพราะพ่อเป็นวิศวกรที่เก่งเอาการ สอบได้ทุนไปเรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยดีที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ เก่งทั้งคำนวณ ภาษาอังกฤษ และเข้าใจระบบการเรียนการสอนดี ตอนที่ลูกเรียนมัธยม การติวลูกเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น พ่อทำเองโดยไม่ต้องกวดวิชา หากติดงานต่างจังหวัด ก็อธิบายข้อขัดข้องวิชาสำคัญให้ลูกฟังทางโทรศัพท์ จึงเป็นโชคดีของทั้งคู่ไปในที่สุด

ลูกสอบเข้า คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ได้ ขึ้นปีสามแล้ว พ่อกับลูกคู่นี้ยังโทรหากันทุกวันเช้าเย็น ต่างก็ ปรับทุกข์ ยื่นสุข ให้กำลังใจ ซึ่งกันและกันอย่างอบอุ่นมิได้ขาด ตอนนี้สะดวกหน่อย ลูกสาวหากคิดถึงพ่อและน้องๆมาก ก็บินโลว์คอสไปกรุงเทพได้

ผมว่าพ่อลูกคู่นี้โชคดีทั้งสองคน เพราะอยู่ไกล...ก็เหมือนใกล้

ส่วนที่อยู่ใกล้ก็เหมือนไกล ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก แม้อยู่บ้านเดียวกัน แต่สภาพในบ้านเหมือนคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน ตรงนี้น่าเป็นห่วงเพราะพ่อแม่กับลูกคุยกันไม่ได้ ลูกไม่อยากสนทนาปราศรัยกับผู้บังเกิดเกล้า ลูกติดยาเสพติด พ่อแม่รู้เอาก็เมื่อตำรวจจับลูกไปแล้ว ผมพบเห็นมาไม่น้อย

จึงเห็นว่า การพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้จะคุยกันแล้วโต้เถียงกันบ้าง ขัดใจกันนิดหน่อย ดีกว่าจะไม่พูดจากันเอาเสียเลย จึงไม่อยากให้ครอบครัวไหนที่เป็นไปแบบ...

อยู่ใกล้...ก็เหมือนไกล

ท่านที่มีบุตรไปเรียนแดนไกล อยากแนะนำบทพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน เป็นหนังสือติดตัวไปอ่าน เพื่อจะได้ระลึกถึงเมืองไทย บทพระราชนิพนธ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยทรงมีลายพระราชหัตถเลขาเป็นจดหมายมาถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานพดล ลักษณะจดหมายของผู้ที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน มาถึงคนที่อยู่บ้าน ทรงพระราชทานมาเป็นระยะๆ

ตลอดเวลาที่ทรงรอนแรมอยู่ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนิน ทรงพรรณนาเล่าถึงสภาพบ้านเมือง และผู้คนที่ได้ทรงพบปะ การเมือง การปกครอง ตลอดจนมุมมองของพระองค์ท่าน และพระอารมณ์ขันเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการเปิดแนวทางให้บุตรหลานของท่านที่อยู่แดนไกล ได้พิจารณาสิ่งรอบตัวในต่างประเทศ ที่มีโอกาสไปเล่าเรียน เขาจะได้มีความระลึกถึงชาติบ้านเมือง และไม่ลืมที่จะทำประโยชน์ต่อประเทศของเรา เมื่อโอกาสมาถึง

หนังสือไกลบ้าน มีขายที่ห้องจำหน่ายที่กรมศิลปากร อยู่ที่อาคารด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ (เข้าทางประตูด้านหลัง) มีหนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร หนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยที่เขียนโดยชาวต่างชาติ แปลโดยนักภาษาศาตร์ของกรมศิลปากร ฯลฯ ราคาไม่แพงเหมือนซื้อหาที่อื่น เพราะทางกรมศิลปากรไม่ได้หวังกำรี้กำไร ลองไปซื้อหากันนะครับ จะได้มีหนังสือดีๆของชาติไว้อ่านกัน

บทพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” นี้ มูลนิธิราชสุดา ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้จัดทำเป็นหนังสือเสียงในระบบ DAISYหรือ Digital Audio - based Information สำหรับคนพิการทางสายตา หรือผู้ชอบการฟังมากกว่าอ่านอีกด้วย

ทราบว่าบทพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน อ่านโดย คุณภัทรฤทัย นพรัตน์ จำนวนเวลาทีอ่านยาวถึง ๒๓ ชั่วโมง และหนังสือเสียงของมูลนิธิ ยังมีบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ อยู่หลายเล่ม ผู้สนใจอาจซื้อหาเป็นเจ้าของกันได้ หรือท่านที่มีฐานะอาจซื้อบริจาคให้กับห้องสมุดของผู้พิการในจังหวัดของท่าน ก็จะได้กุศลเป็นอันมาก

ที่น่าจะมีควบคู่ไปกับหนังสือไกลบ้าน คือหนังสือชื่อ “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง" หนังสือรวบรวมพระราชประวัติและพระบรมฉายาลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่สมบูรณ์แบบสุด ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระปิยมหาราช ในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ ปีแห่งการเสด็จพระราชสมภพ และครบรอบ ๑๐๕ ปีแห่งการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ร่วมกับสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ผู้จัดพิมพ์

หนังสือเล่มนี้น่ามีเอาไว้ เป็นสมบัติของห้องสมุดประจำบ้าน หรือท่านใดมีเงินมาก ขอให้ซื้อบริจาคห้องสมุดโรงเรียนเก่าของท่าน ความพิเศษอยู่ที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตรวจทานรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้ด้วยพระองค์เองอีกด้วยว่า ถูกต้องตามพระราชประวัติหรือไม่ และทรงมีรับสั่งว่า เป็นหนังสือสำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย จึงทรงอยากให้มีความครบถ้วนที่สุด และยังได้พระราชทานพระนิพนธ์คำนำแก่หนังสือเล่มนี้อีกด้วย

ระยะทางใกล้ไกลนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องพ่อแม่ลูกอย่างที่กล่าวมา หนุ่มสาวที่มีความรัก จิตใจที่ถวิลหากันนั้น เรื่องระยะทางก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ลองดูวรรณคดีนิราศ ตามแบบฉบับโบราณ คือ มีการเดินทางไปราชการงานทัพ ไม่รู้ว่าจะไปครั้งนี้จะรอดกลับมาหรือต้องตายในสนามรบ ในยุทธบริเวณซึ่งห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน จึงคร่ำครวญถึงการพลัดพรากจากนางอันเป็นที่รัก ที่ต้องมาพลัดพรากจากกันด้วยความอาลัยรักยิ่ง ที่ประทับใจผมมากก็คือนิราศนรินทร์

ผู้แต่งคือ นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) แต่งขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปทัพพม่า ในสมัยรัชกาลที่สอง ไม่มีบันทึกถึงประวัติของผู้แต่งไว้ ทราบแต่ว่าเป็นข้าราชการ ตำแหน่ง มหาดเล็กหุ้มแพร ในกรมพระราชวังบวรฯ และมีผลงานที่ปรากฏนอกจากนิราศเรื่องนี้ เป็นเพลงยาวอีกบทหนึ่งเท่านั้น แต่แม้จะมีผลงานเพียงน้อยนิด แต่ผลงานของกวีท่านนี้จัดว่าอยู่ในขั้น วรรณคดี และเป็นที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลาย

นิราศนรินทร์นั้น มีจุดเด่นที่การใช้คำที่ไพเราะ รื่นหู ข้อความกระชับ ลึกซึ้งและกินใจ จะถือว่าเป็นนิราศคำโคลงที่ไพเราะที่สุดก็ย่อมได้ และบทที่ ๒๙ นั้น ได้กล่าวถึงความไกลกันครั้งกระนั้น ทำให้ผู้แต่งที่ไปราชการงานทัพ เขียนไว้กินใจผมไม่น้อยเลย คือ

          ไปศึกสุดมุ่งม้วย          หมายเป็น ตายเลย
           ศูนย์ชีพไหนนุชเห็น    หากลี้
           อรเอยลับหลังเอ็น        ดูนัก นะแม่ 
           โอ้โอะไกลกันกี้           เมื่อไซ้จักสม


ดูแล้วคนไทยโบราณนั้น โรแมนติคไม่น้อย ใช่แต่ว่าคนสมัยก่อนเท่านั้นที่มีความรู้สึกหวานแหวว คนสมัยนี้ แม้แต่ไม่ใช่กวีหรือนักกลอนที่อาจหาญแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์กลอน แต่ก็สามารถหาจุดสัมผัสกินใจในการใช้ภาษา เขียนติดไว้ท้ายรถบรรยายถึงความคิดถึงภริยา โดยเขียนทิ้งไว้เป็นวรรณกรรมท้ายรถ เพราะต้องออกจากบ้านเดินทางไกล ใจก็คิดถึงคนอยู่ที่บ้าน เลยเขียนติดท้ายรถสิบล้อคู่ชีพ เอาไว้อย่างน่ารัก ว่า

“ เหยียบเบรคคิดถึงเมีย เข้าเกียร์คิดถึงเธอ !”

โอ้โฮ...มันจะหวานอะไรขะไหนขนาดนี้....หวานยิ่งกว่าน้ำตาลเมืองเพชร....ด้วยซ้ำไป
แต่บางคนออกจากบ้าน ห่างไกลหูไกลตาเภริยาที่บ้าน ดันกลับรู้สึกยินดีปรีดาจนออกนอกหน้า เลยเขียนติดท้ายรถว่า

“ สุขใจ...เมื่อไกลเมีย !”

แน่ะดูมัน....ไอ้นี่ถ้าเมียเห็นเข้า ตบให้สักฉาด คงจะดี !!

ความคิดถึงนั้น ไม่ใช่ พ.ศ.ไหน ความห่างไกลกันนั้นมันก่อความถวิลหา จนออกมาเป็นเพลงอย่าง ชั่วฟ้าดินสลาย ที่บรรยายบอก อย่าได้ให้ความรักของตนนั้น มีอันพรากจากกันไปเลย เหมือนอย่างเพลงเขาว่า

            ก่อนเข้านอน            ฉันวอนฝันไปเพ้อครวญ
            ภาพรักหลอน           ให้ชวนละเมอ
            อยากให้เป็นของเธอ  ชั่วฟ้าดินได้
            อย่ามีอันใดพรากไป  ไกลกัน


สำหรับท่านอ่านที่อยู่ต่างประเทศ ไปอยู่ห่างไกลบ้าน หากเป็นผู้ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับผม อาจนึกถึงเพลงไกลบ้าน ซึ่งโด่งดัง ที่คุณชรินทร์ นันทะนาคร เป็นผู้ขับร้อง ช่างบรรยายได้ดีจริงๆ เพราะนอกจากพูดถึงความวิปโยคโศกใจ เพราะต้องห่างไกลบ้าน ฝ่ายชายก็ไถ่ถามทุกข์สุขของคนที่อยู่ข้างหลัง แล้วบอกว่า

มีคนที่ชื่นชมคนใหม่อล้วหรือ…จึงลืมเขาเสียสิ้นแล้วหรือ ? และพูดเป็นคำคล้ายที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่าอยู่ไกลก็เหมือนใกล้ อยู่ใกล้ก็เหมือนไกล โดยเปรียบเทียบเอาไว้ดี ว่า

      อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า      เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี
      อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี            ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง
      เพราะไกลบ้านซ่านมาโถนิจจาเจ้า จะเงียบเหงาแล้วลืมซึ่งความหลัง
      ฝากเพียงเสียงกระซิบสั่ง             ขอน้องอย่าชังคนร้างแรมไกล


เอ…ถ้าจะจริง รักกันนี่แม้ไกลก็เหมือนใกล้ ตัวไปอยู่ถึงเมกา หน้ายังมาลอยอยู่แถวสุขุมวิท…อะไรทำนองนี้

ท่านที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมายาวนาน หากมีความประสงค์ที่จะกลับบ้าน ภายหลังจากที่ไปใช้ชีวิตประกอบอาชีพ หากอยากจะกลับบ้าน ผมก็จะขอพรพระ ให้ท่านได้กลับมาถึงเมืองไทย เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สงบ ในบั้นปลายของชีวิต สมดังที่ได้ตั้งใจไว้ทุกประการ

ให้เหมือนอย่างเพลง "บ้านเรา ที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องเอาไว้ ว่า

        บุญนำพา            กลับมาถึงถิ่น
        ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร
        หัวใจฉัน             ใครรับฝากเอาไว้
        จากกันแสนไกล    ยังเก็บไว้หรือเปล่า

เพี้ยง...หัวใจ…ที่หลงไปฝากใครเขาไว้นั้น….
ขอให้ท่าน…ได้รับกลับคืน…สมดังที่ตั้งใจเอาไว้ นะครับ...


...เจ้าประคู้น !


 
กำลังโหลดความคิดเห็น