xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาการศก.จีนในสายตา อมาตยา เซน

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลปี 1998 ผู้มีชื่อเสียงในการศึกษาเกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์พัฒนาการและการแก้ไขปัญหาความยากจน เดินทางมายังฮ่องกงเพื่อแสดงปาฐกถา โดยหลังงาน เซน ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับหนังสือพิมพ์ 21世纪经济报道 (21st Century Business Herald) ถึงทัศนะเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาความยากจน ของจีนในปัจจุบัน

แม้ประเด็นหลักๆ ในการสัมภาษณ์ดังกล่าวจะเน้นไปที่ อิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลก พัฒนาการเศรษฐกิจของจีน และการเปรียบเทียบเศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจอินเดีย อย่างไรก็ตามผมคิดว่าทัศนะทุกครั้งของ อมาตยา เซน มีหลายแง่มุมที่ควรค่าแก่การให้ความสนใจ ดังนั้นจึงขอ คัดเลือกและเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ในส่วนที่น่าสนใจมานำเสนอดังนี้

ประเด็นแรกเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง อิทธิพลของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เซน ตอบว่า

ในทัศนะของเขาอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลกนั้นมีด้วยกันคร่าวๆ สามประเด็นใหญ่ คือ หนึ่ง ด้วยรูปแบบของเศรษฐกิจโลกได้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยการที่จีนพัฒนาก้าวเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นได้ส่งผลให้รูปแบบของตลาดสินค้าโลก ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ทำให้ลักษณะการผลิตสินค้าของยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

สอง หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ยกระดับฐานะของประเทศจีนให้สูงขึ้นมาก และความเห็นจากรัฐบาลจีนก็มีน้ำหนักมากขึ้น โดยในการประชุมเจรจาทางการค้าระดับสุดยอดใดๆ เสียงของจีนก็ได้รับความสนใจและมีอิทธิพลสูง อันถือได้ว่าปัจจุบันจีนก้าวขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำของโลกอย่างเต็มตัว

สาม ประเทศในโลกจำนวนมากกำลังเรียนรู้จากประเทศจีน อย่างเช่น จะพัฒนาเศรษฐกิจเช่นไรภายใต้โลกยุคโลกานุวัตร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างจีนกับ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงสิงคโปร์

"สำหรับอินเดียก็มีความพยายามที่จะเรียนรู้ด้านนโยบายการค้าต่างๆ จากประเทศจีน อย่างไรก็ตามพวกเรา (เซน เป็นคนอินเดีย 'พวกเรา' ในที่นี้จึงหมายความถึงประเทศอินเดีย) ก็มิได้มัวแต่เรียนรู้จากการบริหารจัดการเศรษฐกิจระบบตลาดจากจีน โดยหลงลืมถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและความยากจนที่โลกานุวัตรนำมาด้วย

"เรายังต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะหาประโยชน์จากโลกานุวัตรเช่นไร ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่มองโลกานุวัตรเป็นเสมือนการเล่นพนันเพียงเพื่อวัดผล แพ้-ชนะ ในทางเศรษฐกิจ" เซนกล่าว

สำหรับประเด็นที่มักมีผู้คนพยายามยก 'จีน' และ 'อินเดีย' สองประเทศยักษ์ใหญ่ ที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกมาเปรียบเทียบในฐานะคู่แข่งกันอยู่เสมอนั้น เซน เห็นว่าการนำเอาจีนและอินเดียมาเปรียบเทียบกันในฐานะคู่แข่งนั้นเป็นแนวคิดที่ผิด โดยเขากลับเห็นว่า แต่ละประเทศก็มีจุดเด่นของตนเอง โดยในขั้นตอนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งจีนและอินเดีย ต่างก็พบเจอปัญหาที่หนักหนาสาหัสด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงควรที่จะเรียนรู้จากกันและกันให้มาก และช่วยกันเสริมในส่วนที่ขาด

โดยในส่วนความสัมพันธ์ของระบบการเมืองที่ส่งผลมายังการพัฒนาเศรษฐกิจ (อินเดียในฐานะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และ จีนในฐานะที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์) นั้น เซน กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและอินเดียเป็นผลโดยตรงมาจากบรรยากาศทางการเมือง แต่ความสำเร็จดังกล่าวขึ้นอยู่กับรรยากาศและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหาก บรรยากาศทางการเมืองของอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เขาก็คิดว่า เศรษฐกิจอินเดียก็อาจจะเติบโตได้ในระดับเดียวกับจีนคือ ระดับร้อยละ 8-9 ต่อปี

ส่วนคำถามที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนามากเข้าจะยิ่งทำให้ระบบการเมืองก้าวเข้าสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น เซน ตอบอย่างอ้อมๆ ว่า

ในความเป็นจริงแล้วขั้นตอนในการก้าวเข้าสู่ ความเป็นเสรี และประชาธิปไตยนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความยินยอมของรัฐบาลและประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ก่อนที่จีนจะทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษที่ 60-70 ชาวจีนกำลังสิ้นหวังกับภาวะเศรษฐกิจดังนั้นจึงเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี ค.ศ.1979 ทั้งนี้ทั้งนั้นผลสำเร็จของการพัฒนานั้นก็มิอาจมองเพียงแค่ระดับรายได้เฉลี่ยของประชากร และแม้ในประเทศจีนจะปรากฎ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันรัฐบาลจีนเองก็รับทราบและตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว และดูจะกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้รับความสนใจ และถกเถียงในวงกว้างของสังคม

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของจีนนั้น เซน ให้ความเห็นว่า ไม่ควรมุ่งเป้าไปที่การกำจัดความยากจน แต่ควรมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาสภาวะการกระจายทรัพยากรอันไม่เท่าเทียมกันเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เซน ก็ยอมรับว่า แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่มีวิธีแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปสำหรับ การกระจายทรัพยากรอันไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว แต่เขาค่อนข้างสนใจกับการให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อปัญหานี้และย้ำว่า 'การกำจัดความยากจน' นั้นมิอาจดำเนินไปตลอดรอดฝั่งได้โดยละเลย การดำเนินนโยบาย 'การลดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน' ควบคู่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม :
- จีนVSอินเดีย:พยัคฆ์ในสายตามังกร (1) 14 มี.ค. 2547
- จีนVSอินเดีย:พยัคฆ์ในสายตามังกร (2) 21 มี.ค. 2547
- จีนVSอินเดีย:พยัคฆ์ในสายตามังกร (3) 28 มี.ค. 2547
- จีนVSอินเดีย:พยัคฆ์ในสายตามังกร (4) 4 เม.ย. 2547
กำลังโหลดความคิดเห็น