xs
xsm
sm
md
lg

โศกนาฎกรรม 'พันธุ์หัวแม่โป้ง'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สัปดาห์ที่แล้วผมกลับเมืองไทย เพื่อไปร่วมงานมงคลของพี่ชาย หลังจากเสร็จงานผมก็ถือโอกาสใช้เวลาสองวันที่เหลือทำธุระและพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่าตามสมควร

คืนหนึ่งหลังจากทานอาหารเย็นกันเสร็จเราจึงไปต่อกันที่สถานบันเทิงของเหล่าวัยรุ่นย่านถนนรัชดาภิเษก คืนนั้นนอกจากหนุ่มๆ แล้ว เพื่อนในกลุ่มของผมยังโทรศัพท์เชิญหญิงสาว เพื่อเข้ามาร่วมก๊วนด้วย

"เออ ... น้องxxx แล้วเพื่อนที่จะมาด้วยนี่ชื่ออะไร ส่งรูปมาให้พี่ดูทางมือถือก่อนก็แล้วกัน ... "

แม้จะไม่ได้กลับมาบ้านเพียง 8-9 เดือน แต่ผมก็สังเกตเห็นและรู้สึกได้ถึงสังคมวัยรุ่นกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตา หนึ่งในสิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ โทรศัพท์มือถือ (โดยเฉพาะที่ผสมพันธุ์กับกล้องดิจิตอล) ได้ยกฐานะกลายเป็น 'ปัจจัยที่ 5' สำหรับวัยรุ่นชาวกรุงไปเสียแล้ว

ไม่เพียงแต่วัยรุ่น แม้แต่ลูกพี่ลูกน้องของผมที่อยู่ในวัยมัธยมต้น ก็ใช้ โทรศัพท์มือถือ ส่งข้อความสั้น (SMS) ถึงเพื่อนฝูงอย่างคล่องแคล่วและบ่อยครั้งเสียจนผมตกใจ หรือ เด็กรับใช้ที่บ้านก็มีโทรศัพท์มือถือติดตัว (เชื่อว่าคงไม่ได้เป็นที่บ้านผมบ้านเดียว)

"ฉันกำลังเล่นอินเทอร์เน็ตแต่ฉันไม่ได้ดูข่าวสารบ้านเมือง ฉันกำลังสนทนากับเพื่อนแต่ฉันไม่ต้องออกเสียง ฉันกำลังโมโห-หัวเราะ-ร้องไห้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ..... ฉันคือ พันธุ์หัวแม่โป้ง"

พันธุ์หัวแม่โป้ง Thumb Generation หรือ 拇指族* เป็นศัพท์เกิดใหม่ที่ใช้เรียกแทนเยาวชนในปัจจุบันที่เกิดมาพร้อมกับ สินค้านวัตกรรมที่ 'นิ้วโป้ง' มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเกมไฟฟ้า คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ รีโมตคอนโทรล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือ

สมัยนี้เป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับการที่เด็กประถม-มัธยม จะขอโทรศัพท์จากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง (และก็ให้กันง่ายๆ เสียด้วย) โดยจุดประสงค์หลัก มิใช่เพียงเพื่อความปลอดภัยของบุตรหลาน หรือความสบายใจของพ่อ-แม่ ที่จะสามารถตามตัวลูกได้ตลอดเวลาแต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ แฟชั่น และสังคมของคุณลูก

ลองคำนวณเล่นๆ ถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หนึ่งเบอร์ และเปลี่ยนเครื่องปีละหนึ่งครั้ง หากค่าโทรศัพท์ตกเดือนละ 1,000 บาท ค่าเสื่อมของเครื่องโทรศัพท์ตกเดือนละ 500 บาท ค่าใช้จ่ายหนึ่งเดือนก็จะตกอยู่ที่ 1,500 บาท หรือราวปีละ 18,000 บาท

ทั้งนี้ตัวเลขที่ผมคำนวณให้เห็นนี้เป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำสุดเท่านั้น! เพราะเป็นที่ทราบดีว่า วัยรุ่นปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเพื่อ 'เทคโนโลยีไร้สาย' ชนิดนี้เฉลี่ยมากกว่า 1,000 บาท และ ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์กันบ่อยกว่าปีละครั้ง

เด็ก เยาวชน และวัยรุ่นเหล่านี้ เกือบทั้งหมด กำลังเรียนหนังสือและไม่มีรายได้เป็นของตนเองสักบาทเดียว แต่จำเป็นต้องหารายได้เพื่อมาตอบสนองต่อ 'ปัจจัยที่ 5' ที่ว่า

เด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจำต้องถอดชุดเครื่องแบบนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา กระโดดลงมาเดินสายประกวดสารพัดมิส ประกอบอาชีพทั้งสุจริตและอาชีพในเงามืด เพื่อหารายได้มาตอบสนองกับความต้องการการบริโภคของตนเอง ใครจะปฏิเสธได้บ้างว่าโทรศัพท์มือถือที่ขายกันเกลื่อนกลาด และแต่ละปีมีรุ่นใหม่ๆ ออกมานับเป็นร้อยๆ แบบ ไม่มีส่วนใดๆ ทั้งสิ้นกับการดึงเยาวชนเหล่านี้ให้กระโดดออกมาโลดแล่นสู่โลกภายนอกก่อนเวลาอันควร

ผมไม่ปฏิเสธเลยว่า การหาประสบการณ์ชีวิตจากการทำงานระหว่างเรียนหนังสือเป็นเรื่องที่ดี แต่มีใครสอนพวกเขาหรือไม่ว่าควรหาประสบการณ์ชีวิตอย่างไร? การเรียนกับการหาเงินสิ่งไหนสำคัญกว่า? นี่สิที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมน่าจะตั้งคำถามและหาคำตอบที่เป็นบรรทัดฐานให้ได้โดยเร็ว

น่าเสียดายที่ วัยรุ่นสมัยนี้ตกเป็นทาสของกิเลสได้ง่ายกว่าวัยรุ่นสมัยก่อน และน่าอับอายที่ ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยโลภมาก โดยถือโอกาสจากความไร้เดียงสาของวัยรุ่นสมัยนี้ สร้างความร่ำรวย-มั่งคั่ง ให้กับตนเอง

"คุณรู้ไหม เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือนี่เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากเลยนะสำหรับ พวกผู้หญิงขายตัว เด็กไซด์ไลน์" ผู้คร่ำหวอดวงการกลางคืนท่านหนึ่งคุยกับผมเล่นๆ

"สำหรับคนกลุ่มนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้เลย ค้างค่าเช่าบ้าน ไม่มีข้าวกิน ยังร้อนใจไม่เท่า โทรศัพท์มือถือถูกตัด พอบิลเตือนให้ชำระค่าบริการมานี่ก็ต้องรีบแจ้นไปจ่ายก่อนเลย เพราะ อาชีพของสาวๆ พวกนี้มันต้องอาศัยโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อสื่อสาร รับงาน ติดต่องานโดยตลอด ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือเมื่อไหร่ สิ้นหนทางการติดต่อ รับงานไม่ได้ทันทีเลยนะ"

ไม่น่าแปลกใจที่ สามปีหลังมานี้ (2544-2546) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศ จะมีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2544-2546 มีกำไรสุทธิรวม 33,810,636,995 บาท (ตัวเลข 5 ตัวแรก อ่านว่า สามหมื่นสามพันแปดร้อยสิบล้านบาท) และในปี 2547 ก็คาดว่าจะมีกำไรอีกราว 2 หมื่นล้านบาท*

ส่วนน้องรอง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค นั้นผลประกอบการปี 2546 ระบุว่า มีรายได้รวม 31,781 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ นั้นตามเอไอเอสมาห่างๆ คือ 2,587 ล้านบาท**

ว่ากันอย่างนี้ก็เท่ากับว่า บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหลายทั้ง รวมถึงของท่านนายกฯ ก็กลายเป็น ผู้สนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการของ 'ธุรกิจ-ธุรกาม' ในสังคมขึ้นมาทันที

ย่อหน้ารองสุดท้ายนี้ผมคิดและพูดเอาเอง ส่วนจะคิดจาก หัวบน หัวล่าง หัวแม่เท้า หรือ หัวแม่โป้ง นั้นท่านผู้อ่านกรุณาพิเคราะห์กันตามสะดวก

ตัวเลขจาก :
*บทความพิเศษ ไทยรักไทย ขาลง ชินคอร์ป ขาขึ้น 3 ปี "ทักษิณ" SHIN FUN 5.5 หมื่นล้าน โดย ศัลยา ประชาชาติ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1264
**ข่าว ดีแทคโชว์รายได้ 3.1หมื่นล้าน จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 4 มีนาคม 2547
กำลังโหลดความคิดเห็น