xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 154 “ยามลมหนาว พัดโบกโบยโชยชื่น”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้…ผมตื่นขึ้นตีสามครึ่งตามปกติ ออกกำลังเบาๆในห้องพักโรงแรมในเมืองโคราช แล้วเดินออกจากโรงแรมไปหากาแฟกินที่ร้านสะดวกซื้อ เพราะไม่อยากรบกวนบริกรให้ขึ้นมาบริการ พอเดินออกนอกประตูล้อบบี้โรงแรม ลมเย็นก็ปะทะเข้ากับตัวเองจนรู้สึกได้ จนต้องรำพึงกับตัวเองว่า ใกล้จะถึงหน้านาวแล้วสิหนอ

เมื่อยังเป็นเด็ก พ่อซื้อหนังสือมูลบทบรรพกิจให้หัดอ่าน จนลูกทุกคนของพ่อกลายเป็นนักอ่านไปทุกคน และเขียนหนังสือจนมีผลงานของตัวเองบนแผง และปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆเสมอมา เริ่มจากหนังสือสำคัญของไทยเล่มนี้จริงๆ

ในหนังสือมูลบทบรรพกิจได้สั่งสอนเรื่องฤดูกาลของไทย ที่ผมยังจำได้แม่นยำคือ

อนึ่งฤดูมีสามไซร้         คือเหมันต์ไปคิมหันต์  วัสสานะนา
เดือนสิบสองแต่แรมมา  เดือนสี่เพ็ญหนา        สี่เดือนนี้ชื่อเหมันต์
แต่แรมเดือนสี่จนวัน      เพ็ญเดือนแปดนั้น     สี่เดือนนี้คิมหันต์นา
แรมค่ำหนึ่งเดือนแปดมา ถึงเพ็ญวารา            กะติกะมาศจงรู้
สี่เดือนล้วนวัสสานะฤดู    แบบโหรเป็นครู       ว่าตามศศิโคจร


อ่านตามนี้ แล้วจะรู้เลยทันทีว่า คนไทยโบราณนั้น แบ่งฤดูกาลของบ้านเราออกเป็นเพียง ๓ ฤดู เท่านั้น และแบ่งออกเป็นฤดูละ ๔ เดือน มาถึงออกพรรษา ถึงเดือน ๑๒ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ ไปจรดวันพระใหญ่กลางเดือน ๔ เป็นเหมันตฤดู หรือหน้าหนาวนั่นเอง

หน้าหนาวนั้น เป็นฤดูกาลที่โปรดปรานของผมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะรู้สึกสบายเนื้อตัว อาจเป็นเพราะขี้ร้อนก็เป็นได้ ในเมืองโคราชนั้นเป็นที่ราบสูง อากาศจะเบากว่ากรุงเทพ จึงมีความรู้สึกสบายตัวมากกว่าที่จะวนเวียนอยู่แต่ในเมืองหลวง คนต่างจังหวัดอย่างลูกเมืองย่าโม เข้ากรุงไปเทพแค่วันเดียว ก็อยากกลับโคราชแล้ว เพราะมันอึดอัดไม่สบายเนื้อตัว คนต่างจังหวัดแถบสูงกว่าน้ำทะเลมากๆ จึงไม่อยากมาอยู่ในกรุงเทพ นอกจากมีความจำเป็นในเรื่องการทำมาหากินหรือศึกษาเล่าเรียน

ตอนขับรถไปอำเภอปากช่อง ผมสังเกตตรงช่องแบ่งถนนหกเลน เขาปลูกต้นไม้ไว้หลายชนิด และกำลังแตกดอกงดงาม มีทั้งคูน ทั้งตะแบก ที่น่าแปลกคือมีแนวลั่นทมอยู่ระหว่างเมืองกับอำเภอสีคิ้วด้วย หน้าหนาวอย่างนี้ดอกไม้โปรดปรานของผม ก็เบ่งบานให้ชื่นใจ ไม่ว่าจะเป็น สุพรรณิการ์ แก้วเจ้าจอม ตะแบก ศรีตรัง ลำดวน ทองกวาว สารภี พะยอม แคฝรั่ง จามจุรี กระเทียมเถา จันทร์กะพ้อ ประดู่แดง ดูน่ารักไปเสียทั้งหมด

หากปีนี้หนาวมากอย่างที่เขาทำนายกัน อยากจะพาลูกหลานไปขึ้น ภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เพราะดอยอินทนนท์ ดอยหลวงเชียงดาว ที่เชียงใหม่นั้นก็ไปกันมาหมดแล้ว และตอนคริสต์มาสก็จะไปทบทวนความหลัง ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับพรรคพวกเก่าๆที่ยังมีไฟอยู่ในหัวใจ ไปทบทวนความหลังครั้งที่ยังเคยสนุกสนานกัน สนุกแค่ไหนนั้นท่านผู้อ่านต้องคลิกเข้าไป กาแฟขม…ขนมหวาน (ตอนที่ ๘)

พูดถึงเรื่อง “ยังมีไฟอยู่ในหัวใจ” นั้น สตรีท่านหนึ่งถามรุ่นพี่ผม ซึ่งเป็นคนปากไวมาตั้งแต่กำเนิด ว่า

“ไฟที่ว่าอยู่ในหัวใจนั้น ใช่ไฟราคะหรือเปล่า ?” ถามหักกันอย่างนี้ คนถามเลยโดนย้อนกลับไปว่า

“ไม่รู้สิ แต่ไฟที่ว่าน่ะ เมื่อผมอยู่ใกล้คุณแล้ว จะไม่มีหลงเหลือให้จุดเชื้อติดเอาเลยจริงๆ”

เท่านั้นเธอเลยโกรธเป็นโกรธตาย ไม่มองหน้าคนพูดอีกเลย มาจนกระทั่งทุกวันนี้ !

เวลาไปเที่ยวรับลมหนาว บนภูเขาหรือที่สูง คนหนุ่มสาวที่ไปมีกีตาร์โปร่ง ออร์แกนชัก ไปบรรเลงเพลงกันให้ดังไปทั้งภูเขา เหมือนกับอยู่ในหนังเรื่อง The Sound of Music แต่เพลงไทยที่ได้ยินมาก ดูเหมือนจะเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ลมหนาว” ที่ขึ้นต้นว่า

ยามลมหนาวพัดโบกโบยโชยชื่น   เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม          ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูชูใจ
โอ้รักเจ้าเอ๋ยยามรักสมดังฤทัย      พิศดูสิ่งใดก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน            เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง ……..


เพลงนี้เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๙ ทรงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๗ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Love in Spring ทรงพระราชทานเพลงนี้ ให้ออกบรรเลงครั้งแรก ในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗

เนื้อเพลงภาษาอังกฤษนั้นท่อนแรก ขึ้นต้นว่า

Love in spring sets my heart aflame,
Burning as embers glow.
Every time when I hear your name,
Then my burning tears begin to flow.
There'll come a day
When skies will be so blue.
May be you'll say
You are in love with me too.
I'll find joy then in everything,
For I find my love in spring……….


ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า “ลมหนาว” ผู้ที่ร้องและประทับใจผมมาโดยตลอดคือ คุณสวลี ผกาพันธ์ หรือ “พี่ลี่” ที่เคารพของผมนั่นเอง

ปีนี้ เป็นปีที่บทเพลงพระราชนิพนธ์ Love in Spring หรือ “ลมหนาว” มีอายุครบ ๕๐ กะรัตพอดิบพอดี อยากให้วงดนตรีใหญ่ของชาติอย่างกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ บรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ให้ประชาชนได้รับฟังกันอย่างอิ่มใจ และคอนเสิร์ตใหญ่ส่งท้ายปีเก่า อย่างงานครบรอบสิบปีของ ค่ายเบเกอรี่ ซึ่งจะรวมวงดนตรีและนักร้องของบริษัท ซึ่งดูเหมือนจะจัดกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ ๑๐ เดือนธันวาคมนี้ หากจะให้ Soul After Six บรรเลงให้ผู้คนที่เข้าไปชมได้ฟังรับลมหนาวกัน ก็จะเป็นการฉลองวาระพิเศษของเพลงนี้ด้วย ซึ่งน่าจะดีกับแฟนนๆที่เข้าชมคอนเสิร์ตวันนั้นด้วย

นอกจากนั้น ผมขอเรียกร้องให้วงดนตรีของสามเหล่าทัพ ที่จะบรรเลงในวันสวนสนามทหารรักษาพระองค์ บรรเลงเพลงนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และถวายความชื่นชมแด่องค์พระประมุขของชาติ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเพลงนี้ ให้กับปวงชนชาวไทยได้รับฟังกันมายาวนานถึงครึ่งศตวรรษพอดิบพอดี

ตอนเข้าพรรษาผมเคยเขียนเล่าเอาไว้ว่า ระหว่างพรรษากาลของพระสงฆ์นั้น ชาวบ้านก็ทำนากัน พอถึง

“หนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด พระเสด็จออกพรรษา”

ชาวบ้านก็ได้ชื่นชมกับพืชผลที่กำลังเติบโตในนา ต่างก็ได้ทำบุญวันออกพรรษา ไปจนถึงหมดกฐินกาล วงดนตรีลูกทุ่งนั้นต่างรับงานกันไว้เพียบ เป็นเวลาช่วงทำเงินทำทองของวงดนตรีลูกทุ่งเลยทีเดียว

เพลงเกี่ยวกับฤดูหนาว ที่จะฟังเป็นลูกกรุงหรือลูกทุ่งก็ได้ทั้งนั้น คือเพลง “ค่ำแล้วในฤดูหนาว” เพลงนี้ ครู ล้วน ควันธรรม ท่านขับร้องเอาไว้ และเป็นเพลงอมตะ ผมได้ยินพ่อร้องให้ฟังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จำได้จนขึ้นใจ เวลาหน้าหนาว คิดถึงพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว ก็จะร้องเพลงนี้เป็นการระลึกถึงท่านเสมอ เพลงนี้ขึ้นต้นว่า

พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ
สายลมเอื่อยมาในเวลาค่ำ (ฮัม) ฉ่ำชื่นกว่าทุกวัน
น้ำค้างพร่างพรมลมเย็นรำเพย หนาวโอ้อกเอ๋ยหนาวจนสั่น
เสียงเรไรร้องก้องสนั่น (ฮัม) ทำให้ฉันเป็นสุขใจ
เสียงเพลงค่ำแล้ว ๆ ๆ ดังแว่วมาแต่ไกล
นี่ใครหนอใคร (ฮัม) ช่างประดิษฐ์คิดเพลงค่ำ ๆ
หนาวลมยิ่งทำให้ใจคนึง คิดถึงแต่รักที่หวานฉ่ำ….


ผมเคยเขียนว่า เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสมัยนี้ดีขึ้นมาก เพราะไทยเราเป็นฐานการผลิของอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งหนึ่งของโลก มาบัดนี้ชักไม่แน่ใจแล้ว เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ โทรทัศน์ได้เสนอข่าวลมหนาวเหน็บ พัดเข้าอีสาน ชาวบ้านต้องออกมาผิงไฟกันกลางลานบ้าน เหมือนสมัยเมื่อผมยังเป็นหนุ่มแน่น เป็นนายตำรวจภาคอีสานไม่มีผิด จนนึกฉงนว่า

คนบ้านเรา ยังขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันอยู่หรือ ?

ถ้าอยู่อยู่เชียงใหม่ตอนหน้าหนาว สมัยนี้มีผ้าห่มไฟฟ้าแล้ว ผืนหนึ่งก็ไม่แพง ยังพอหาซื้อกันได้ แต่สมัยเมื่อสามสิบปีก่อน ผมเห็นฝรั่งมิชชันนารี เอาเตาถ่านไว้กลางบ้าน แล้วนั่งรอบเตา เป็นการผิงไฟให้ความอบอุ่นและคุยกันรอบเตาไฟ

บ้านรุ่นพี่ผมที่แม่ฮ่องสอน ท่านใช้ไม้สักหนาสักสามนิ้ว กว้างยาวด้านละเมตรเห็นจะได้ มาตีเป็นสี่เหลี่ยม สูงประมาณสักฟุต ตรงก้นมีแผ่นโลหะรอง แล้วใช้ไม้สักตีปิด ลักษณะเป็นคล้ายกล่องไม่มีฝา ตั้งมันไว้กลางบ้าน ตอนหน้าหนาวก็เอาถ่านใส่ เหมือนมีเตาขนาดยักษ์ที่ให้ความอบอุ่นในตัวบ้าน เจ้าของบ้านกับผู้มาเยือนก็นั่งๆนอนๆ รอบกล่องความร้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นมา หิวก็เอาเนื้อเสียบไม้ ย่างมันที่เตากลางบ้าน ได้บรรยากาศดีไม่น้อย ใครจะนำไปลองทำดูไม่สงวนลิขสิทธิ์

ระหว่างหน้าหนาว มีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นเครื่องทรงฤดูหนาว พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตนั้นกระทำกัน 3 ครั้งต่อหนึ่งปี คือ เครื่องทรงฤดูร้อน ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เครื่องทรงฤดูฝน ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เครื่องทรงฤดูหนาว ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒

สำหรับชาวบ้านทางภาคเหนือนั้น มีงานพิธี เกี่ยวกับพระพุทธรูปตอนหน้าหนาวนี้ เขาเรียกว่า “ประเพณีตานหลัว ผิงไฟพระเจ้า” คนภาคอื่นจะไม่รู้จักกัน เพราะหาดูยาก คือชาวบ้านท้องถิ่นพายัพโดยเฉพาะเชียงใหม่นั้น เขาคิดว่า เมื่ออากาศหนาวกลัวพระพุทธรูปท่านจะพลอยหนาวไปด้วย

การตานหลัวผิงไฟพระเจ้า ก็คือการถวายฟืน เพื่อก่อไฟผิงให้พระพุทธรูป เขามักจะกระทำในช่วงเดือนสี่ ตกราวเดือนมกราคม ชาวบ้านจุดไฟผิงกันเพราะความหนาวเย็น แล้วคิดว่าตัวเองยังหนาวแล้ว เกรงว่าพระเจ้าหรือพระพุทธรูปจะหนาวเหน็บไปด้วย จึงได้ร่วมจิตรวมใจกันขนฟืน เอามากองรวมกันแล้วจุดไฟให้พระเจ้าท่านได้ผิงให้ท่านได้รับความอบอุ่น

นี่คือ ความงดงามของจิตใจผู้คนยุคเก่า
ช่างน่ารักจริงๆ !

วันงานตานหลัวผิงไฟพระเจ้ามาถึง ท่านเจ้าอาวาสก็จะให้ภิกษุสามเณรและบรรดาศิษย์ทั้งหลายเข้าป่าหาฟืน โดยคัดเลือกเอาไม้ฟืนที่มีสีขาว ให้ถ่านดีและไม่แตกเวลาติดไฟ เพื่อใช้เป็นหลัวผิงไฟพระเจ้าชนิดไม้ที่นิยมมาก เช่นไม้คนทา ไม้โมกมัน ไม้สะคร้อหรือไม้มะขาม เมื่อได้ฟืนมาพอสมควร ก็จะถากเปลือกไม้ออก ทอนให้ได้ยาวท่อนละประมาณ ๑ วา ถ้าเป็นท่อนเล็กก็เอาให้ยาวท่อนละ ๑ ศอก รวมมัดกันไว้ จากนั้นจึงนับท่อนไม้ ให้เท่ากับจำนวนปีพระชนม์ของพระพุทธเจ้าคือ ๘๐ พระชันษา แล้วมัดไว้เป็นมัด ๆ จากนั้น ชาวบ้านและพระเณรจะขนไปรวมกันที่ลานข้างวิหาร เรียงกันเป็นวงกลมสุมสูงขึ้นไป ๑ วา

เมื่อขั้นตอนการตระเตรียมเรียบร้อยแล้ว หัวหน้ากลุ่มชาวบ้าน ก็จะนำพานข้าวตอกดอกไม้ ฟืนท่อนยาว ๑ วา หนึ่งมัดพร้อมด้วยสำหรับอาหาร เมื่อนมัสการพระ รับศีลเรียบร้อยแล้ว ก็จะกล่าวคำถวายจากนั้นให้เอาฟืนเข้าประเคนหน้าพระพุทธรูปองค์ประธาน

ส่วนพิธีการจุดกองไฟหรือกองฟืนนั้น จะทำในเช้าวันรุ่งขึ้นถัดมาประมาณเวลาย่ำรุ่ง ตีสี่ตีห้า ๔-๕ ท่านเจ้าอาวาสก็จะจุดไฟขึ้น เป็นองค์แรกแรกพร้อมกับให้ ตีฆ้องไปด้วย ๓ ลาเพื่อให้ประชาชนได้รู้และร่วมอนุโมทนาในการบุญครั้งนั้นด้วย

พิธีหลวง และพิธีราษฎร์ เกี่ยวกับการจุดไฟให้ความอบอุ่นกับร่างกายมนุษย์ และพระพุทธรูปในฤดูหนาว ก็ได้เล่าให้ท่านผู้อ่านที่เคารพฟัง ตามความทรงจำที่มีจนหมดสิ้นแล้ว
ในขณะที่ลมหนาวโชยมา และประชาชนกำลังก่อไฟเพื่อผิงให้อบอุ่น บรรเทาความเหน็บหนาว แต่ภาคใต้ปลายสุดของบ้านเมืองเรานั้น
ไฟแห่งความแตกแยก ซึ่งเริ่มประทุขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นปี ที่ทำท่าว่าจะดูค่อยๆมอดสงบลง บัดนี้กลับดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยคราวเคราะห์ที่ปรากฏเหตุอุบัติ นำมาซึ่งการสูญเสียของชีวิตผู้คนจำนวนมาก อย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น
ถึงเวลาแล้ว พวกเราในสยามประเทศ ต้องร้อยรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ทุ่มเท
พลังกายพลังใจ ทำหน้าที่ของตนตามความรับผิดชอบอย่างแข็งขัน ด้วยสติปัญญาและการไตร่ตรองที่รอบคอบ เต็มความสามารถของตน โดยเอาความสงบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันเป็นเข็มมุ่งสำคัญ และ
ยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นธงชัยประจำใจของพวกเราทุกคน ด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยมในพระบารมี ที่จะนำให้พวกเราบรรลุภารกิจ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศนี้ไว้ได้ ในที่สุด !

พรรคการเมืองใด ที่คิดว่า
จะฉกฉวยเอาโอกาสนี้ “สาดไฟใหม่-ใส่เชื้อปะทุ” เพื่อก่อให้เกิด “ความปั่นป่วน”ขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ จะต้อง “ฉุกคิด” และระงับซึ่งการกระทำ เช่นว่านั้นเสีย


อย่าได้พยายามตอก “ลิ่ม-แห่งความแตกแยก” ต่อไปอีกเป็นอันขาด !!


ผู้คนเขารู้ทัน และกำลังจับจ้องท่านอยู่ !!!

----------------
กำลังโหลดความคิดเห็น