xs
xsm
sm
md
lg

100 มหาเศรษฐี บนแผ่นดินใหญ่

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอาจเป็นประเพณีของนิตยสารธุรกิจทั่วโลกไปแล้วที่ มักเผยแพร่ผลการจัดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด เศรษฐีที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลก หรือ นักธุรกิจอายุต่ำกว่า 40 ที่รวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา เศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ฯลฯ

ปีนี้ นับเป็นปีที่หกติดต่อกันแล้วที่ Rupert Hoogewerf ได้ทำการตรวจแถว เศรษฐีชาวจีนที่ลงหลักปักฐานอยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักงานบัญชี Rupert Hoogewerf ใน เซี่ยงไฮ้ ผู้ทำการสำรวจและวิจัย 100 บุคคลที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศจีนให้กับยูโรมันนี ก็เผยแพร่ผลการวิจัยของปี 2547 ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบ

ผู้ที่ได้รับตำแหน่ง บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนปีนี้มีชื่อว่า หวงกวงอี้ว์ (黄光裕) เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้ากั๋วเหม่ย (Gome) และอีกด้านหนึ่งก็มีธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ โดย หวง ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อีเกิลกรุ๊ป (鹏润投资)

รายงานระบุไว้ว่า หวงกวงอี้ว์วัย 35 ปี มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 10,500 ล้านหยวน หรือราว 52,500 ล้านบาท ทั้งนี้ก่อนที่จะกลายมาเป็นเจ้าสัวในวันนี้ หวง ในวัย 18 เป็นเพียงเด็กต่างจังหวัดที่มุ่งเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงปักกิ่ง เขากำเงินทุนเพียง 3 หมื่นหยวน (150,000 บาท) ตั้งร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก แต่ปัจจุบันร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวได้กลายเป็นเครือข่ายร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยมีรายงานระบุว่า กั๋วเหม่ยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึงร้อยละ 35

สำหรับ รายชื่อเศรษฐี 5 อันดับแรก รองลงไปจาก หวงกวงอี้ว์ นั้นประกอบไปด้วย

อันดับ 2 เฉินเทียนเฉียว (陈天桥) หรือ ทีโมธี เฉิน วัย 31 ปี เจ้าของบริษัทเกมออนไลน์ ซันต้า เน็ตเวิร์ค ดิเวลอปเม้นท์ (盛大网络) มีสินทรัพย์รวม 8,800 ล้านหยวน (ราว 44,000 ล้านบาท)

อันดับ 3 หรงจื้อเจี้ยน (荣智健) วัย 62 ปี จากซิติก แปซิฟิก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน การก่อสร้างสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคม มีสินทรัพย์รวม 8,500 ล้านหยวน (ราว 42,500 ล้านบาท)

อันดับ 4 สี่ว์หรงเม่า (许荣茂) วัย 54 ปี ประธานกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซื่อเม่า (世茂集团) มีสินทรัพย์ 7,000 ล้านหยวน (ราว 35,000 ล้านบาท)

อันดับ 5 หลี่ว์ก้วนฉิว (鲁冠球) วัย 59 ปี จากบริษัทว่านเซี่ยง กรุ๊ป (万向集团) ที่เกี่ยวข้องธุรกิจประเภทอะไหล่รถยนต์และการเงิน มีสินทรัพย์รวม 6,100 ล้านหยวน (ราว 30,500 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ชายหนุ่มวัย 33 ผู้ที่เคยครองตำแหน่งเศรษฐีอับดับหนึ่งในปี 2546 คือ ติงเหล่ย หรือ วิลเลี่ยม ติง ผู้ก่อตั้งบริษัทเว็บไซต์พอร์ทัล Netease.com ปีนี้กลับตกลงมาอยู่อับดับที่ 7 ด้วยจำนวนทรัพย์สินรวมที่ลดลงจาก 7,200 ล้านหยวน (ราว 36,000 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 5,000 ล้านหยวน (ราว 25,000 ล้านบาท)

ส่วนผู้หญิง ที่ครองอับดับสูงสุดนั้นก็อยู่ในอันดับที่ 7 ด้วยทรัพย์สิน 5,000 ล้านหยวน ร่วมกับ ติงเหล่ย ก็คือ เศรษฐีนีวัย 63 ที่ชื่อ เฉินลี่หัว (陈丽华) ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชื่อ ฟู่หัว อินเตอร์เนชั่นแนล เอชเค กรุ๊ป (香港富华国际集团)

ความน่าสนใจในการจัดอันดับ 100 เศรษฐีจีนนั้นไม่เพียงอยู่ที่ เศรษฐีทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ และธุรกิจของพวกเขา แต่เมื่อกวาดตามองไปแล้ว การจัดอันดับดังกล่าว ยังสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจจีนในรอบปีและรอบหลายปี ที่ผ่านมาได้อีกด้วย คือ

ขณะที่ตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2546 อย่างเป็นทางการ นั้นอยู่ที่ 11,694,000 ล้านหยวน (ตัวเลขโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน) เมื่อนำสินทรัพย์ของ เศรษฐีทั้ง 100 คน มาคำนวณรวมกันแล้ว พบว่ามากถึง 245,600 ล้านหยวน (ราว 1,228,000 ล้านบาท) หรือ เท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ จีดีพีจีนในปี 2546

ทั้งนี้ หากนำตัวเลขดังกล่าวมาหารเฉลี่ยกันใน 100 คน แล้วก็จะได้ตัวเลขที่ประมาณ 2,500 ล้านหยวนต่อคน ซึ่งนับว่า เพิ่มขึ้นจาก 1,800 ล้านหยวน อันเป็นตัวเลขของปีที่แล้ว (2546) ถึงร้อยละ 36

สินทรัพย์ของบุคคลที่มีชื่ออยู่ท้ายสุดในตารางอันดับ หรือ อันดับที่ 100 ในปี 2547 คือ หลี่หนิง (李宁; นักยิมนาสติก ตำนานโอลิมปิกของจีนที่หันมาตั้งบริษัทผลิตเครื่องกีฬาในยี่ห้อหลี่หนิง) มีสินทรัพย์อยู่ที่ 1,250 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกที่ทำการสำรวจเมื่อ 6 ปีก่อน (2542) ซึ่งเศรษฐีอันดับที่ 100 มีสินทรัพย์เพียง 50 ล้านหยวน ถึง 25 เท่า

ปีนี้ใน 100 อันดับแรก มีนักธุรกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริทรัพย์มากถึง 45 คน อย่างไรก็ตามก็ยังมี ประเภทธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจการเกษตร ขายปลีก เหล็ก หรือ สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ เข้ามาติดอันดับอยู่ด้วย

ปรากฎการณ์ดังกล่าว ทำให้ทีมงานนักวิจัยของ Rupert Hoogewerf ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมในประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างมาก อันจะสังเกตได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาเคยเป็น และ ในด้านตัวบุคคลก็สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ แม้ขนาดของธุรกิจจะเล็ก และทรัพย์สินจะน้อยกว่ากันหลายเท่าก็ตาม

ธุรกิจค้าปลีก 'กั๋วเหม่ย' ของหวงกวงอี้ว์ สามารถนำมาเปรียบได้กับ 'วอลล์มาร์ท' เครือข่ายค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและในสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นโดย แซมวล วอลตัน (Samuel Walton) ธุรกิจไอที ของ เฉินเทียนเฉียว (อันดับ 2) หรือ ติงเหล่ย (อันดับ 7) สามารถนำมาเปรียบเทียบกันกับ ไมโครซอฟท์ ของ บิล เกตส์ ธุรกิจการลงทุน ของ หรงจื้อเจี้ยน (อันดับ 3) ก็อาจนำมาเปรียบเทียบกันกับ วอร์เรน บัฟเฟต ประธานกลุ่ม Berkshire Hathaway

จากอันดับในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า จำนวนเศรษฐีที่พื้นเพทางธุรกิจอยู่ใน 'ปักกิ่ง' นั้นได้แซง 'เซี่ยงไฮ้' ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับทาง 'กวางตุ้ง' โดยในตาราง 100 อันดับดังกล่าว มีเศรษฐีกวางตุ้ง ติดอันดับอยู่ 19 คน ปักกิ่ง 17 คน และ เซี่ยงไฮ้ 15 คน โดย เศรษฐีที่อยู่ในปักกิ่งโดยมากจะประกอบธุรกิจทางด้าน โทรคมนาคม ไอที เทคโนโลยีชั้นสูง และ อสังหาริมทรัพย์ ส่วน เศรษฐีเเซี่ยงไฮ้ (รวมถึงบริเวณรอบๆ มณฑลเจียงซู และ เจ้อเจียง) นั้นจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต อย่างเช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และ รถยนต์

สำหรับสาเหตุที่ จำนวนนักธุรกิจจากปักกิ่ง ก้าวกระโดดขึ้นมาแซงหน้านักธุรกิจจากเซี่ยงไฮ้นั้นก็มีการวิเคราะห์กันว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจาก นโยบาย Soft Landing หรือ มาตรการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจจีนที่ ผู้นำอย่าง หูจิ่นเทาและเวินเจียเป่า เน้นย้ำเป็นพิเศษในปีนี้ อันส่งผลให้ อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเหล็ก และรถยนต์ ที่อยู่แถบเซี่ยงไฮ้ ได้รับผลกระทบมาก

หยางรุ่ยหลง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยประชาชน (人民大学) ได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหาของตารางอันดับดังกล่าวว่า ช่องว่าทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่สามแห่งคือ กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่งกำลังลดลงเรื่อยๆ โดยสังเกตได้จากจำนวนนักธุรกิจจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกำลังไล่ตาม นักธุรกิจจากกวางตุ้งนั้นแสดงให้เห็นถึง นโยบายจากภาครัฐ รวมถึงสถาพแวดล้อมอันได้เปรียบของพื้นที่ทั้งสองแห่ง ที่ได้เปรียบกว่ากวางตุ้ง โดยในอนาคตก็มีแนวโน้มว่า นักธุรกิจจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้น่าจะขึ้นมาแทนที่นักธุรกิจจากกวางตุ้งในที่สุด

ส่วนประเด็นที่ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนเศรษฐีในเมืองจีนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง หยางรุ่ยหลง ก็ให้ทัศนะว่า สถานะและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ ธุรกิจเอกชน เพื่อแทนที่ภาครัฐนั้นเป็นเรื่องที่จีนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ รัฐบาลก็ไม่ควรแทรกแซง

อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าสัว‘หวง’นั่งบัลลังก์เศรษฐีมังกร ข่าวโดย หน้าจีน ผู้จัดการออนไลน์ (13 ตุลาคม 2547)
- วิลเลี่ยม ติง เศรษฐีดอทคอม Chinese Edition จาก นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2546

กำลังโหลดความคิดเห็น