xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตพลังงาน ทางเลือก และ ทางออก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

วิกฤตการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ถูกสงครามในตะวันออกกลางปั่นราคาให้ขึ้นไปแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ได้ก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วโลกว่า ... น้ำมันใกล้จะหมดโลกแล้วหรือไร?

"ความเป็นจริงก็ คือ ในระยะสั้น การผลิตไฟฟ้าในระดับใหญ่ จะยังต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิง ฟอสซิลอยู่ แต่ในระยะยาวอาจจะต้องพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์" ลี เรย์มอน (Lee Raymond) ซีอีโอของบริษัทเอ็กซอน โมบิล (Exxon) หนึ่ง กล่าวไว้กับผู้สื่อข่าวของนิตยสารนิวส์วีค

ตามที่ ซีอีโอของเอ็กซอน กล่าว ความเป็นจริงก็ คือ น้ำมันในโลกยังมีเหลืออยู่มากมายโดยเฉพาะในท้องทะเล มหาสมุทร รวมถึงผืนแผ่นดินที่ห่างไกลความเจริญ เพียงแต่ ราคาตลาดจะเป็นตัวกำหนดว่า การสำรวจน้ำมันเพิ่มเติมและดูดเอาน้ำมันในบ่อน้ำมันที่สำรวจพบแล้ว จะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่?

เมื่อราคาน้ำมันดิบต่อบาร์เรลสูงขึ้นไปทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ตอนนั้นน้ำมันเบนซิน/ดีเซล ขายปลีกในเมืองไทยก็อาจจะขึ้นไปถึง 50 บาทต่อลิตร) การลงทุนขุดน้ำมันในบ่อน้ำมันที่อยู่ลึกกลางมหาสมุทร จากปัจจุบันที่ไม่มีใครสนใจ เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนขึ้นมา

ด้วยราคาน้ำมันในปัจจุบันที่แม้จะเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยตัวเร่งคือสถานการณ์สงคราม แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐาน คือ 'ความต้องการ' ที่มากกว่า 'ความสามารถในการผลิต' โดยเฉพาะ ความต้องการพลังงานมหาศาลเพื่อมารองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจอินเดีย สองยักษ์หลับที่กำลังไต่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการถามถึงพลังงานทางเลือกแล้วว่า มีอะไรบ้าง? อย่างเช่นที่ในประเทศไทยก็เริ่มมีการถามถึง รถที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซธรรมชาติ หรือ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการผลิตออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายกันแล้ว

นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ฉบับ 6, 13 กันยายน 2547 ได้รายงานถึงสถานการณ์พลังงานของโลก อย่างครอบคลุม มี บทสัมภาษณ์ รายงาน และสถิติหลายประการที่น่าสนใจ เช่น สถานการณ์น้ำมันโลกในปัจจุบัน ความถดถอยของแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง แหล่งน้ำมันที่มีโอกาสจะถูกขุดขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ของพลังงานทางเลือก ปัจจุบันของรถยนต์ไฮบริดจากค่ายรถยญี่ปุ่น และอนาคตความเป็นไปได้ในการเกิดรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในประเทศจีน ฯลฯ

ทั้งนี้รายงานหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่น ก็คือ พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) จากหัวข้อ พลังงานของปวงชน (People Power)

เมื่อพูดถึงเรื่องพลังงานทางเลือก หลายคนอาจจะส่ายหัวว่า เป็นเรื่องเก่าโบราณ ที่พอพูดให้ฟังก็สวยหรู แต่แท้จริงแล้วไร้ประสิทธิภาพ ดังเช่น ทัศนะของ ลี เรย์มอน ซีอีโอเอ็กซอน กล่าวว่า

"ลม กับ แสงอาทิตย์ ... ผมไม่ได้ต่อต้านลม และผมก็ไม่ได้ต่อต้านแสงอาทิตย์ เพียงแต่การผลิตพลังงานเหล่านี้ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนในการผลิตพลังงานเหล่านี้แข่งขันไม่ได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังต้องการการอุดหนุนอย่างมหาศาล และถึงแม้คุณจะสมมติให้การผลิตพลังงานด้วยลมและแสงอาทิตย์จะเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี ไปอีก 20 ปี พลังงานเหล่านี้ก็จะเลี้ยงโลกได้แค่เพียง 1 ใน 200 ส่วนเท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม การกล่าวว่า พลังงานทางเลือกที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ อย่างเช่น ลม แสงอาทิตย์ น้ำ ไฮโดรเจน-Fuel Cell หรือ เชื้อเพลิงจากวัสดุธรรมชาติ (อย่างเช่น เมืองไทยมีโรงไฟฟ้าแกลบ) ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ควรที่จะทำให้ พลังงานทางเลือกต้องถูกละเลย หรือ มองข้าม

หลายสิบปีที่ผ่านมา จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานของมนุษย์ ทั้ง น้ำมัน ถ่านหิน เขื่อนรวมถึง โครงการพลังงานใหญ่ๆ ที่ใช้งบประมาณมหาศาล อย่างล่าสุดในประเทศจีนคือ เขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง (长江三峡) ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ได้ทำให้นักคิด นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งได้เสนอขึ้นว่า น่าจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานขนาดเล็กในระดับชุมชนขึ้นมา

หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเจ้าสำนักจิ๋วแต่แจ๋ว ก็คือ อี เอฟ ชูมาเกอร์ (E.F. Schumacher) นักเศรษศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือที่ Small Is Beautiful : Economics as if people mattered (แปลเป็นไทยใช้ชื่อว่า จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ โดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์)

การนำศาสตร์ทั้งสองเข้ามาผสมผสานกัน ทำให้เกิดการตีความในการแก้ปัญหาปากท้องของมนุษย์โลกในแนวทางใหม่ขึ้นมา โดยมิเพียงจะจำกัดเพียง "การเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ" แต่ยังหมายถึง "การเพิ่มมิติการจัดการความต้องการให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีจำกัด" อีกด้วย

ทั้งนี้ในมิติทางด้านพลังงาน เมื่อพลังงานมีนัยยะอย่างสูงต่อระดับการพัฒนาของสังคม การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยทางสังคม การเพิ่มผลิตพลังงานอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมอันนำมาสู่ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เขื่อน การเผาผลาญน้ำมัน รวมถึงพลังงานต่างๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จากแต่ก่อนที่แนวความคิด 'หน่วยผลิตพลังงานขนาดเล็ก' ถูกจำกัดวง ด้วยระดับความพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ยังก้าวล้ำไปไม่ถึง จากรายงานของนิตยสารนิวส์วีค ฉบับดังกล่าว ได้ฉายภาพ เค้าโครงความเป็นไปได้ของ แนวคิดหน่วยผลิตพลังงานขนาดเล็ก ให้แจ่มชัดขึ้นมาอีกไม่น้อย

นิวส์วีครายงานว่า โครงข่ายเชื่อมโยงระบบสายส่งพลังงาน (Power Grid) อันเป็นรูปแบบของการกระจายไฟฟ้าในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้จะเปลี่ยนรูปโฉมไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

จาก ปัจจุบัน ที่พลังงานไฟฟ้าไหลไปในทิศทางเดียว คือ จากโรงไฟฟ้า ผ่านหม้อแปลง ไปสู่ โรงงาน บ้านเรือน หรือ หน่วยใช้ไฟฟ้าปลายทางอื่นๆ ใน อนาคต ทิศทางการไหลของพลังงานจะเป็นไปในแบบสองทาง คือ บ้านเรือนและหน่วยย่อยที่ต้องการพลังงาน จะไม่เป็นเพียงผู้บริโภค แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็น ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตไปด้วย

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) จะช่วยเอื้ออำนวยให้การจัดการพลังงานมีความเป็นไปได้ และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก การผลิตพลังงานจากหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก อย่างเช่น กังหันลมที่ติดอยู่หลังบ้าน แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดอยู่บนหลังคาบ้าน จะทำให้ บ้านเรือน หรือ หน่วยย่อยที่เคยบริโภคกลายเป็นผู้ผลิตไปด้วยในตัว ทั้งนี้เมื่อหน่วยย่อยเหล่านี้ ผลิตไฟฟ้าได้เหลือ หรือ เกินความต้องการก็จะสามารถขายไฟฟ้ากลับคืนสู่ โครงข่ายได้

แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่ ความฝัน แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วในพื้นที่หลายแห่งของโลก อย่างเช่น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้โครงข่ายรูปแบบใหม่ดังกล่าวจะพลิกโฉมรูปแบบของการผลิตพลังงานไปอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงต้นทุนของการผลิตพลังงานทางเลือก (อย่างเช่น ราคาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังมีราคาสูงมาก และในหลายประเทศรัฐบาลต้องเป็นผู้อุดหนุน) การอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งหมายถึง การควบคุมความต้องการ (ดีมานด์) ให้พอเหมาะพอควรจึงเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมควบคู่กันไปด้วย

ดิแอซ แม่บ้านของครอบครัวหนึ่งในแคลิฟอร์เสียที่นำ เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในบ้านตั้งแต่ปี 2546 กล่าวว่า การนำเครื่องวัดที่นำมาติดตั้งอันบอกว่า บ้านของเธอผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่ และใช้ไฟฟ้าไปเท่าไหร่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในบ้านให้ใส่ใจในเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างเห็นได้ชัด

กุญแจไขปัญหาวิกฤตการณ์พลังงานแท้จริงแล้ว อาจไม่ได้อยู่กับ ราคาน้ำมัน เทคโนโลยีใหม่ หรือ พลังงานทางเลือก แต่อาจจะอยู่ที่ตัวเรานี่เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น