xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิกจีน กับ โครงการ '119'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

การมอดดับลงของคบเพลิงโอลิมปิกที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นสัญญาณว่า เอเธนส์โอลิมปิก 2004 กำลังจะจบสิ้นลงแล้ว แต่การสิ้นสุดดังกล่าว ในอีกทางหนึ่งกลับถือเป็นจุดเริ่มต้นของโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งต่อไป - - - ปักกิ่งโอลิมปิก 2008

ในอีก 4 ปีข้างหน้า ปักกิ่ง เมืองหลวงแห่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังจะกลายเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของมวลมนุษยชาติ สำหรับประเทศที่ถือเป็น หนึ่งในมหาอำนาจของโลก มีประชากรมากที่สุด พี่ใหญ่ของเอเชีย โอลิมปิกครั้งแรกในบ้าน 'นอกสนาม' จีนไม่เพียงต้องทำหน้าที่เจ้าภาพที่ดี 'ในสนาม' จีนยังต้องแสดงศักยภาพทางการกีฬาให้ทั่วโลกประจักษ์ด้วยว่า พวกเขาเป็นไม่ได้ด้อยกว่า 'สหรัฐอเมริกา' มหาอำนาจที่อยู่ซีกโลกตรงกันข้าม แต่อย่างใด

ตารางอันดับ เหรียญรางวัล ทอง-เงิน-ทองแดง 5 อันดับแรก ของ เอเธนส์โอลิมปิก
 ประเทศทองเงินทองแดง
1.สหรัฐฯ353929
2.จีน321714
3.รัสเซีย272738
4.ออสเตรเลีย171616
5.ญี่ปุ่น16912


หากพิจารณาจาก ตารางอันดับเหรียญรางวัล เอเธนส์โอลิมปิกถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาจีน 3 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง เป็นครั้งแรกที่จำนวนเหรียญทองที่ได้มากถึง 32 เหรียญ สอง เป็นครั้งแรกที่ยืนในอันดับที่สองถัดจากสหรัฐอเมริกาและเหนือกว่ารัสเซีย สาม เป็นครั้งแรกที่เหรียญทองกระจายตัวไปยัง 13 ประเภทกีฬา

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ชี้ให้เห็นถึง จุดอ่อน ของจีนว่า แม้จำนวนเหรียญทองจะเยอะ แต่จำนวนเหรียญรวม เหรียญเงินและเหรียญทองแดง นั้นน้อยกว่าอันดับ 3 คือ รัสเซีย ส่วนเหรียญทองแดงก็น้อยกว่า ออสเตรเลียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 อันแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพในการกีฬาของจีนในทางลึกยังไม่อาจถีบตัวหนีจากสองประเทศนี้ได้ ยังมิต้องพูดถึง สหรัฐอเมริกา ที่จำนวนเหรียญรวมมากกว่าจีนเกือบสองเท่า

4 ปีที่แล้ว หลัง ซิดนีย์โอลิมปิก ที่ออสเตรเลีย แม้จีนจะได้เหรียญทองมากถึง 28 เหรียญ แต่ เหรียญทองจากซิดนีย์โอลิมปิกกลับกระจุกตัวอยู่ใน ประเภทกีฬาที่ตัวแทนของจีนคว้าเหรียญทองแบบ "นอนมา" ทั้งสิ้น เช่น ยิมนาสติก (3 เหรียญ) แบดมินตัน (4 เหรียญ) กระโดดน้ำ (5 เหรียญ) ปิงปอง (4 เหรียญ) หรือ ยกน้ำหนัก (5 เหรียญ)

อย่างไรก็ตาม ประเภทกีฬาที่ถือว่ามีการชิงชัยเหรียญทองมากที่สุด อย่างเช่น กรีฑา รวมถึง ว่ายน้ำ จีนกลับคว้าเหรียญทองมาได้เพียง 1 เหรียญคือ เดินทน 20 กิโลเมตร

หลังจาก ซิดนีย์โอลิมปิก เสร็จสิ้นลง หน่วยงานกลางที่ดูแลทางการกีฬาของจีนได้ทำการประชุม สรุปผล ออกมาว่า ในปี ค.ศ.2008 หากจะทำให้จำนวนเหรียญของจีนก้าวขึ้นไป "มีลุ้น" กับสหรัฐฯ ได้นั้นจีนจะต้องทำการเร่งพัฒนาการกีฬาในสามประเภท อันประกอบไปด้วย กรีฑา ว่ายน้ำ และ กีฬาทางน้ำ

ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า ในซิดนีย์โอลิมปิกกีฬาทั้ง 3 ชนิดมีจำนวนการชิงชัย เหรียญทอง มากถึง 119 เหรียญ ทำให้ในเวลาต่อมา ตัวเลข '119' จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ 'โครงการ 119' โครงการเร่งรัดพัฒนาศักยภาพนักกีฬาจีนใน 3 ประเภทกีฬา คือ กรีฑา ว่ายน้ำ และกีฬาทางน้ำ

โครงการ 119 จีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อพัฒนาการกีฬาและนักกีฬาของตนเอง ในกีฬา 3 ประเภทดังกล่าว โดยในเอเธนส์โอลิมปิก ก็มีผลตอบแทนกลับมาให้เห็นบ้างแล้ว เป็นจำนวนเหรียญทอง 4 เหรียญ

ว่ายน้ำ - จีนคว้าเหรียญทองจาก ประเภท กบ 200 เมตรหญิง โดย หลัวเสี่ยว์จวน (罗雪娟)

สำหรับกีฬาประเภทนี้นั้น สหรัฐฯ และ ออสเตรเลีย ถือเป็นผู้นำของโลก ไม่เพียงเฉพาะ แต่ในด้านตัวนักกีฬาที่มีพรสวรรค์สูง แต่ยังรวมถึงเทคนิก การฝึกซ้อม และการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดัดแปลงใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล

สังเกตได้จาก นักว่ายน้ำญี่ปุ่น อย่างเช่น โคซูเกะ คิตาจิม่า เจ้าของสองเหรียญทองจากประเภทกบ 100 และ 200 เมตร ที่แม้จะมีรูปร่างเล็ก แต่ในการแข่งขันนักว่ายน้ำญี่ปุ่นที่สูงเพียง 178 เซนติเมตร กลับทำทำเวลาได้ดีกว่า นักกีฬาจากตะวันตกที่สูง 180-190 เซนติเมตร และคว้า 2 เหรียญทองไปในที่สุด

ผ่าน 'โครงการ 119' ทีมว่ายน้ำจีนได้ปรับเปลี่ยนการฝึกซ้อมจาก กระจายไปตามมณฑลต่างๆ มาเป็นแบบรวมศูนย์เพื่อความมีมาตรฐาน สะดวกต่อการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีต้นทุนสูงเข้ามาดัดแปลงใช้กับนักกีฬา โดยในขั้นต่อไปทีมว่ายน้ำจีนมีแผนจะลงทุนอีก 20 ล้านหยวน (100 ล้านบาท) เพื่อนำเครื่องสร้างกระแสน้ำ และอุปกรณ์การถ่ายภาพเคลื่อนไหวใต้น้ำ ทำการวิจัยการเคลื่อนไหวของนักกีฬาขณะว่ายน้ำอยู่ใต้น้ำ

ทีมว่ายน้ำจีนมีเป้าหมายว่าในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ทีมว่ายน้ำจีนจะต้องคว้าเหรียญทองมากกว่า 1 เหรียญที่ได้จาก เอเธนส์

กรีฑา - หาก ชาวจีนกล่าวถึงเอเธนส์โอลิมปิก ชื่อของ หลิวเสียง (刘翔) ก็ถือเป็นชื่อชาวจีนทุกคนคุ้นหูดีที่สุด

หลิวเสียง* เป็นนักกรีฑา ประเภท วิ่งข้ามรั้วระยะ 110 เมตรของจีนผู้คว้าเหรียญทองได้ใน เอเธนส์โอลิมปิก โดยการวิ่ง 12.91 วินาทีนั้น เป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก และทำสถิติเทียบเท่าสถิติโลกที่นักวิ่งชาวอังกฤษได้ทำไว้

แต่ไหนแต่ไรมา มงกุฎสำหรับการวิ่งระยะสั้น นั้นถูกนักวิ่งผิวสีตัวแทนจากสหรัฐฯ และยุโรป ครอบครองมาโดยตลอด ทำให้การแตะเส้นชัยเป็นคนแรกของ หลิวเสียง ไม่เพียงกลายเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของวงการกรีฑาโลก แต่ยังมีความหมายอย่างสูงต่อวงการกรีฑาเอเชีย

ขณะที่ในวันเดียวกับที่ หลิวเสียง คว้าชัย สิงฮุ่ยน่า (邢惠娜) นักวิ่งหญิงระยะ 10,000 เมตรของจีน ก็คว้าเหรียญทองให้กับทีมกรีฑาจีนได้อีก 1 เหรียญ

หลังจากการผ่าตัดใหญ่ในทีมกรีฑาของจีนที่ประสบความล้มเหลวใน ซิดนีย์โอลิมปิก 2000 ผ่าน 'โครงการ 119' ปัจจุบัน ระบบการฝึกซ้อม เครื่องมือการฝึกซ้อมรวมถึงสวัสดิการของนักกีฬาทีมชาติจีน การส่งตัวไปฝึกซ้อม-แข่ง ยังต่างประเทศ ถือได้ว่ามีมาตรฐานอยู่ในระดับหัวแถวของโลก

หลัวเชาอี้ ผู้อำนวยการทีมกรีฑาจีน ล่าสุดได้เปิดเผยผ่านสถานีโทรทัศน์กลางของจีน เปรียบเทียบถึงพัฒนาการว่า "เมื่อปี ค.ศ.2002 จีนมีนักกรีฑาประเภทต่างๆ ที่มีศักยภาพ พอจะยืนอยู่ในระดับ 8 คนแรกของโลกประมาณ 4 คน แต่ถึงปัจจุบันจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น อย่างน้อย 10 คน โดยในจำนวน 10 กว่าคนนี้มีหลายคนที่สามารถติดอันดับ 1 อันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก ด้วย"

อย่างไรก็ตาม ทีมกรีฑาจีนมิได้เปิดเผยถึงเป้าหมายในการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง เพียงแต่ระบุว่า อีก 4 ปีข้างหน้าใน กรีฑาประเภทลู่-ลาน จะมีนักกีฬาจีนมีคุณสมบัติเข้าร่วมมากถึงราว 80 คน เพิ่มขึ้นจาก เอเธนส์โอลิมปิกที่มี 54 คน เพื่อชิงเหรียญรางวัลในการแข่งขันกรีฑา 32 ประเภท

กีฬาทางน้ำ (ไม่รวมว่ายน้ำ กระโดดน้ำ) - โดยเฉพาะ พายเรือ-แคนู เป็นกีฬาที่ชาวเอเชียไม่ค่อยสนใจนัก แต่ใน เอเธนส์โอลิมปิก ก็มีเหรียญทองให้ชิงชัยกันมากมายหลายสิบรายการ โดย ในครั้งนี้ จีน คว้าเหรียญทองมาได้ 1 เหรียญจากการแข่งขัน พายแคนูน้ำเรียบระยะ 500 เมตร โดย เมิ่งกวนเหลียง (孟关良) และ หยางเหวินจุน (杨文军)

ด้วยความที่เป็นกีฬาที่ชาวเอเชียไม่ค่อยให้ความสนใจนัก ทำให้เหรียญรางวัลจากกีฬาชนิดนี้เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของ ประเทศในแถบยุโรป อย่างเช่น โรมาเนีย เยอรมนี อังกฤษ รวมถึงออสเตรเลีย

การคว้าเหรียญทองจากกีฬา พายเรือ-แคนู ของจีนครั้งนี้นั้นก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของ การกีฬาทางน้ำ เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับ ซิดนีย์โอลิมปิกที่จีนมีนักกีฬาคุณสมบัติถึงเพียงคนเดียวแถมยังไม่ได้ส่งเข้าแข่ง กับ เอเธนส์โอลิมปิก ที่คว้าได้ 1 เหรียญทอง ก็นับว่า มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด

ทั้งนี้ต้นทุนที่ จีนต้องจ่ายสำหรับการยกระดับการกีฬาทางน้ำ ก็นับว่าไม่น้อยเลย

จาก 'โครงการ 119' ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 รัฐบาลจีนได้อนุมัติงบประมาณให้ศูนย์กีฬาทางน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า เป็น 20 ล้านหยวน (100 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังทุ่มงบประมาณให้กีฬา แคนู-คายัค โดยเฉพาะอีก 3 ล้านหยวน (15 ล้านบาท) สำหรับการซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ ในการฝึกซ้อม และอีก 1 ล้านหยวน (5 ล้านบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งตัวนักกีฬาไปแข่งขันยังต่างประเทศ

สำหรับการฝึกซ้อม ทีมกีฬาทางน้ำจีนได้ดึงเอาโค้ชพายเรือมาจากประเทศโปแลนด์ ส่วนด้านเทคนิก และวิทยาศาสตร์การกีฬา ก็มีดอกเตอร์ ทางด้านการกีฬา ชีววิทยา และจิตวิทยา อีก 5 คน เพื่อมาดูแลนักกีฬาโดยเฉพาะ

สำหรับเป้าหมายสูงสุด ของทีมกีฬาทางน้ำ ก็คือ การเพาะพันธุ์ 1 เหรียญทองจาก 'เอเธนส์โอลิมปิก' ให้เป็น 3-5 เหรียญทอง ใน 'ปักกิ่งโอลิมปิก' ที่จะมีขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า

การจะคว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาโอลิมปิกใน ศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงขึ้นอยู่กับ พรสวรรค์หรือความพากเพียรของนักกีฬาและผู้ฝึกสอน แต่ครอบคลุมไปถึง วิสัยทัศน์ในระยะยาวต่อการกีฬา การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ล้ำหน้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น 'การลงทุน' ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลทั้งสิ้น

*อ่านเพิ่มเติม - เบื้องหน้าเบื้องหลัง "หลิวเสียง" จาก คอลัมน์บนเส้นสตาร์ทเดียวกัน โดย สันติ ตั้งรพีพากร (1 ก.ย. 2547)
กำลังโหลดความคิดเห็น