xs
xsm
sm
md
lg

'จีเอ็มโอ' เมื่อไหร่จะคิดใหม่ทำใหม่?

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

วันที่ 20 สิงหาคม 2547 พลันเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ประกาศว่า รัฐบาลสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับพืชที่มีการดัดแปรทางพันธุกรรม (GMOs) โดยส่งเสริมให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอร่วมกับพืชดั้งเดิม (Co-Exist) เสียงของประชาชนทั่วประเทศก็ดังกระหึ่มขึ้นคัดค้านทันควัน

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกล่าวยืนยันว่า นโยบายเรื่องพืชจีเอ็มโอ รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายทางสายกลาง โดยทางสายกลางที่ว่า คือ ด้านหนึ่งต้องไม่ละทิ้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และไม่ละเลยการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายก็เพื่อการผลิตเทคโนโลยีชีวภาพที่ประเทศไทยเป็นผู้ให้กำเนิด เพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ในอีกด้านหนึ่งจะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของชีวิตและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันด้วยตัวเองว่าจะไม่ยอมปล่อยให้ พืชจีเอ็มโอที่ยังไม่ผ่านการทดสอบทางด้านความปลอดภัยต่อมนุษย์ และความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หลุดรอดออกมา โดยจะมีการออกกฎระเบียบกฎกติกา และกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน บนพื้นฐานทาง "วิทยาศาสตร์"

สำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่อง "พืชจีเอ็มโอ" กลายเป็นสงครามยืดเยื้อไม่เฉพาะ ระหว่างชาติ พัฒนาแล้ว-กำลังพัฒนา แต่ยังเป็นสงครามภายในระหว่าง ภาครัฐกับภาคประชาชน ที่ต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่องกินเวลาเนิ่นนานหลายปีแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ จนมาถึง พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคไทยรักไทย

คำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ ในรอบสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมา ท่านยังคงความเป็น "คนหัวแข็ง" ตามพื้นฐานนิสัยเดิม รับฟังแต่ผู้ใกล้ชิดผู้ป้อนข้อมูล และปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงจากวงนอก โดยให้เหตุผลว่า "ถ้ารับฟังทุกเสียงวิจารณ์ทุกเรื่องรัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี!!!"

คำพูดดังกล่าว พูดตรงๆ แล้วเหมือนกับเป็นการตบหน้า 'ประชาชนผู้คัดค้าน' ทั้งหมด ทั้งที่หากมีการตรวจสอบด้วยการลงคะแนนเสียงกันแล้ว คนกลุ่มนี้อาจเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ได้

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงความทระนง ในข้อมูลและการตัดสินใจของตนเองว่ายากที่จะผิดพลาด ท่านเชื่อในคำว่า "วิทยาศาสตร์" อย่างหมดหัวใจ และสุดท้ายก็คงเหมือนหลายกรณีที่ท่านต้องออกมากล่าวในทำนองที่ว่า

"เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย!"

อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องจีเอ็มโอนั้น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ และ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ คงมิใช่คำตอบทั้งหมด และคงไม่ใช่ประเด็นที่บุคคลในรัฐบาลชุดนี้จะเอาชื่อเสียงของ "ตัว" หรือแม้แต่ "หัว" ของบุคคลในคณะรัฐมนตรีมาเป็นประกันได้ .... กรณี 'ไข้หวัดนก' ก็เคยพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนมาแล้วครั้งหนึ่ง

ส่วนคำอธิบายดังเช่นที่ว่า จีเอ็มโอ ช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกเพิ่มขึ้น และจะช่วยให้ คนจน-คนไม่มีกิน ท้องอิ่มขึ้นนั้นก็ถือเป็นเรื่อง "ตลก" เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันความขาดแคลนอาหารของมนุษย์โลก มิได้เกิดจากปัญหาที่ว่า เราผลิตไม่พอ แต่เราไม่รู้จักวิธีการกระจาย ที่เท่าเทียมกันต่างหาก

การมองเรื่อง "พืชจีเอ็มโอ" และการลดระดับความขัดแย้งต่อกรณีดังกล่าวนั้น ในเมื่อวันนี้และอนาคตเรามิอาจหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีคลื่นลูกที่ 4 นี้ได้ ผมคิดว่า ณ ปัจจุบัน หากรัฐบาลดึงดันที่จะไม่ยกเลิกมติสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอ รัฐบาลก็จำต้องลงมือปฏิบัติในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่เพียงเฉพาะ! การใช้คำพูดว่า จีเอ็มโอจำเป็นต่อคนไทย-การพัฒนาของประเทศไทย และ วิทยาศาสตร์จะเป็นคำตอบสำหรับความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ....

หนึ่ง ต้องชี้แจงและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันว่า มีความปลอดภัยจริงหรือไม่ ทั้งนี้มีข้อแม้ที่ว่า การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวรัฐจะต้องไม่ปกปิดประชาชน ด้วยการนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน คือ มิเพียงต้องนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่จำเป็นต้องนำเสนอลึกไปถึง ข้อดี-ข้อเสียของการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้อย่างจริงจัง การเปรียบเทียบนโยบายที่ภาครัฐของไทยจะนำมาใช้เมื่อเทียบกับนโยบายของประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งอธิบายถึงเหตุผลด้วยว่า ทำไมประเทศหนึ่งๆ จึง ยอมรับ และ ไม่ยอมรับ การปลูกหรือการนำเข้า พืชจีเอ็มโอ

สอง ต้องออกกฎหมายและบังคับใช้ การติดฉลากอาหารที่มีส่วนผสม หรือ การปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอ ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะ เท่าที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ ที่มีการใช้พืชจีเอ็มโอในการผลิตสินค้าต่างพยายามหาทางหลีกเลี่ยงที่จะ ติดฉลาก ดังกล่าว เพราะทราบดีว่า ผู้บริโภคไม่ยอมรับ

ทั้งนี้เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีข่าวการลงโทษผู้ที่หลีกเลี่ยง "การติดฉลากจีเอ็มโอ" อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่การเลือกบริโภคหรือไม่บริโภค อาหารที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

สาม ทางการพาณิชย์ ต้องมีการชี้แจงว่า นโยบายการเปิดไฟเขียวให้มีการปลูกหรือนำเข้าพืชจีเอ็มโอ นี้จะไม่ทำให้เกิดการขยายตัวในทางลบต่อ ภูมิศาสตร์ทางการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันเป็นการขัดต่อธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึง กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"

ทั้งจำเป็นต้องมีการประเมิน ด้วยว่า พืชชนิดใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว กระทบอย่างไร และยืนยันอย่างเป็นทางการว่าการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการดัดแปรทางพันธุกรรม นั้นจะไม่ส่งผลในทางลบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและประชาชนไทย รวมถึงอธิบายว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า เทคโนโลยีชนิดนี้ผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ ของสหรัฐอเมริกา

สี่ หากมีความจำเป็นหลังจากการให้ข้อมูลกับประชาชนโดยทั่วถึงกันแล้ว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรใช้วิธีการทำประชาพิจารณ์ และลงประชามติ ของประชาชนทั่วประเทศเพื่อตัดสินแนวโน้มนโยบายจีเอ็มโอของประเทศต่อไปในอนาคต เนื่องจากกรณีนี้ถือเป็นกรณีใหญ่ที่การตัดสินใจในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวไทยทั้งมวลในระยะยาว

หากรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความชัดเจน หรือ ไม่สามารถอธิบายข้อมูลข้างต้นต่อประชาชนได้ ก็ควรจะยกเลิกมติสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอเสีย และพิจารณาตนเองโดยด่วน!

อ่านเพิ่มเติม :
- จีนความเพลี่ยงพล้ำในสงคราม GMOs โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 11 เมษายน 2547
- ธาตุแท้ไอ้กัน โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 28 กรกฎาคม 2545
- ทำไมเราต้องเล่นเกมนี้? โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 21 ตุลาคม 2544
กำลังโหลดความคิดเห็น