xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 143 “การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย ถึงผลสอบสวนกรณีมัสยิดกรือเซะ ของคณะกรรมการชุด “ขุนศีแม้วตั้ง” !”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้…จิบกาแฟขมแล้วผมขับรถออออกจากบ้าน ไปตีสควอชกับเพื่อนที่สมาคมนักเรียนเก่า แล้วย้อนกลับไปหาของกินกันที่ตลาดสามย่าน แวะซื้อปลาเก๋าสดๆ เลือกเอาตรงท่องหาง ตั้งใจว่าจะเอาไปชุมแป้งทอดราดซอสส้มแบบฝรั่งเศส เพราะทำทีไรเห็นเพื่อนฝูงกินกันเกลี้ยงจานทุกที

จากนั้นก็แวะเข้าสยามสแควร์ หาซื้อหนังสือแล้วขับรถออกทางด้านถนนอังรีดูนังค์ พอเลี้ยวขวาออกจะมุ่งหน้าไปทางถนนพระราม ๔ ผมเห็นผู้คนชายหญิงแต่ชุดดำมารอรับศพที่สถาบันนิติเวช เห็นผู้ซึ่งเป็นญาติผู้ตายยืนร้องไห้ เป็นภาพที่ผมเห็นเจนตา เพราะเดินเข้าประตูสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งติดกันกับสถาบันแห่งนี้ เป็นเวลากว่ายี่สิบปี จึงคุ้นเคยเป็นอย่างมาก และบางครั้งต้องเข้าไปดูแพทย์นิติเวชผ่าชันสูตรศพด้วยตนเอง

เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า ตำรวจทั้งโลกเขามีงานสำคัญที่ถือเป็นภารกิจหลักอยู่ ๔ ประการ คือการป้องกันอาชญากรรมด้วยตรวจลาดตระเวน การปราบปรามอาชญากรรม การทะเบียน (สาระบบบุคคลและอื่นๆ) สุดท้ายคือการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

ผมเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการสอบสวน เพราะคลุกคลีอยู่ในวงการนี้ และได้รับการศึกษาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ ทำให้ผมเขียนบทความ ตำราเกี่ยวกับการสอบสวนออกมาหลายชิ้น ตีพิมพ์ลงในหนังสือต่างๆมากพอสมควร รวมทั้งการเป็นอาจารย์สอนการสอบสวนคดีอาญามาเป็นเวลานาน ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ และตัวเองเป็นผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และการชันสูตรพลิกศพด้วย

สำหรับเรื่องวิขาการตรวจชันสูตรพลิกศพนั้นนายแพทย์ Andrew Duncan เป็นผู้เปิดสอนวิชานี้ขึ้นไปกรุงเอดินเบอเรอะ เมื่อปี ค.ศ. ๑๑๘๔ เป็นเวลายาวนานมากว่า ๘๐๐ ปี ในตอนแรกก็ไม่มีผู้สนใจกันสักเท่าใดนัก แต่ถือเป็นการจุดประกายให้อังกฤษ และเวลส์ มี Coronor’s Court ซึงเป็นศาลไต่สวนสาเหตุการตายโดยผิดธรรมชาติ สำหรับสก๊อตแลนด์ ใช้ระบบ Procurator fiscal มีอำนาจมากกว่า Coronor’s Court เพราะทำหน้าที่เตรียมพยานหลักฐานเพื่อการฟ้องร้องคล้ายพนักงานอัยการด้วย

วิชาการด้านชันสูตรพลิกศพจึงได้แพร่หลายกว้างขวางออกไปในหลายประเทศ และครอบคลุมไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเรานั้น งานนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการบุกเบิกโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สงกรานต์ นิยมเสน แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นอาจารย์ของแพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และตำรวจ (รวมทั้งผมด้วย) โดยเริ่มตั้งแต่เป็นหน่วยงานนิติเวชวิทยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ขึ้นอยู่กับแผนกพยาธิวิทยา และได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนแยกเป็นแผนกนิติเวช เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ สำหรับตำรวจนั้นเมื่อมีการตั้งโรงพยาบาลตำรวจ ก็มีแผนกนิติเวช โดยท่านอาจารย์หมอสงกรานต์ นิยมเสน มาเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลืองานของกรมตำรวจ จนกระทั่งมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตำรวจเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๒ จึงมีการจัดตั้ง “สถาบันนิติเวชวิทยา” ขึ้น และทำหน้าที่มาโดยตลอด

การตรวจหาพยานหลักฐาน และการชันสูตรพลิกศพนั้น ทางตำรวจได้พัฒนามาโดยตลอด แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ทั้งการให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ของผู้นำองค์กร และการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย บางที่ก็ทำให้หน่วยงานเหล่านี้ดูเหมือนก้าวไปอย่างล่าช้า เช่น การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ขณะนี้รัฐบาลก็เลือกที่จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ไม่ได้ฝึกอบรมคนของตนขึ้นมา เพียงแต่เลือกรับโอนเอาจากฝ่ายตำรวจ รัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายไปเพื่อหน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันกับที่ตำรวจทำอีก แต่วัตถุพยานต่างๆในคดีอาญา ซึ่งตำรวจทำคดีอยู่ ก็ยังต้องส่งไปที่ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานของตำรวจอยู่ดี และที่สำคัญคือตำรวจยังมีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องประวัติบุคคล เข่นเรื่องของลายพิมพ์นิ้วมือ การตรวจหาลายพิมพ์นิ้วมือเดี่ยวหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝง การตรวจดัชนีรายชื่อผู้ต้องหา ก็ต้องตรวจสอบกับข้อมูลพื้นฐานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งนั้น เพราะหน่วยงานใหม่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่เลย

ในการชันสูตรพลิกศพนั้นสำหรับบ้านเรา กฎหมายได้ระบุให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าพนักงาน ในกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน โดยกำหนดการตายโดยผิดธรรมชาติ มีอยู่ด้วยกัน ๕ ประการคือ การฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

การชันสูตรพลิกศพนี้ เป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ต้องชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์ แต่สำหรับบางประเทศอย่างอังกฤษที่ใช้ระบบ Coronor’s Court เขายังกำหนดการตายมากกว่าที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายบ้านเรา ที่ต้องทำการชันสูจรโดยศาลโคโรเนอร์ส เช่น การตายของผู้มีบำเหน็จบำนาญ ศพที่ต้องเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ เป็นต้น

การตรวจชันสูตรพลิกศพและการตรวจพิสูจน์หาพยานหลักฐานนั้น บ้านเราก็มีชื่อเสียงถึงขนาดเมืองจีนยกย่อง นำเอาเรื่องราวของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไทย ไว้ในชุดเรื่องราวของ “เปาบุ้นจิ้น” ที่เรารู้จักกันดีว่า เป็นเรื่องของจีน ซึ่ง “พงศวดารจีน” นี้มีการแปลมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่อง “สามก๊ก” และ กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปลเรื่อง “ไซ่ฮั่น” และมีการแปลเรื่องจีนในรัชกาลต่อมา สมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีการนำเรื่องจีนมาลงในหนังสือพิมพ์ให้ผู้คนได้ติตามอ่านกัน เรื่องพงศาวดารจีนนี้นับว่าได้รับความนิยมมากทีเดียว

“เปาบุ้นจิ้น” นี้เป็นผู้มีสติปัญญากล้าแข็งและซื่อสัตย์ยุติธรรม เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมระงับทุกข์ร้อนให้แก่ราษฎร ดูแลราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ ได้รับราชการมาโดยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเป็น “เปาเล่งถูกงอั้น” ได้รับพระราชทานพระราชอำนาจ จนถึงสามารถถอดถอนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ และลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องกราบทูลฮ่องเต้ก่อน รวมทั้งมีอำนาจขัดขวางท้องบัตรใบตราและยึดลายพระหัตถ์ขององค์จักรพรรดิได้ จึงนับว่ามีอำนาจสูงอยู่เป็นอันมาก

ที่ผมแปลกใจมากก็คือ ในหนังสือเรื่องเปาบุ้นจิ้น ซึ่งมีอยู่ ๗๖ เรื่อง ตามฉบับขององค์กรคุรุสภาที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ที่ถือกันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดที่มีอยู่ขณะนี้ มีเรื่องการพิจารณาคดีของไทยรวมอยู่ด้วย อาจเป็นเพราะทางฝ่ายจีนซึ่งมีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน คงเห็นว่าเรื่องการสอบสวนและตัดสินอรรถคดีของไทย ซึ่งมีการชันสูตรพลิกศพรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่แสดงความสามารถของผู้สืบสวนสอบสวนและตุลาการผู้ตัดสินคดี ควรแก่การยกย่อง หรือสมควรที่คนจีนจะนำมาเป็นตัวอย่าง จึงนำเข้ามารวมไว้ในเรื่อง “การตัดสินคดีของเปาบุ้นจิ้น”ด้วย หรือคนไทยอาจเขียนเสริมเข้าไป ตรงนี้ผมก็ต้องขอให้ทางผู้มีความรู้ภาษาจีนลองตรวจสอบกันดู เพราะผมไม่มีความสามารถในเรื่องภาษาจีนจึงทำด้วยตนเองไม่ได้ แต่ก็จะขอย่อยเรื่องที่กล่าวถึง ให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

ชายหญิงคู่หนึ่งผูกสมัครรักใคร่ แอบได้เสียกัน ฝ่าชายชื่อนาย กอ ฝ่ายหญิงชื่อ อำแดง ญอ เป็นบุตรของนาย พอ กับ อำแดง ทอ นายกออายุ ๒๓ ฝ่ายหญิงวัยกำลังสาว ๑๙ ปี แม้คนทั้งสองจะลักลอบเป็นผัวเมียกันแต่ผู้ใหญ่ฝ่ายสาวก็ไม่รู้เรื่องและไปรับขันหมากจากชายผู้ไม่ปรากฏนาม สินสอดทองหมั้นก็เป็นเงินมากอยู่พอควร

อำแดงญอ รักและหลงไหลนายกอ มากได้ให้สัญญาว่า แม้ฟ้าถล่มดินทลายเธอก็จะรักผัวคือ นายกอผู้นี้แต่เพียงคนเดียว และจะเบี้ยวการแต่งงานที่พ่อแม่ไปตกปากลงคำไว้แล้วด้วย หล่อนไม่พูดเปล่าๆ ดันหอบเอาเงินทองของหมั้นส่วนหนึ่ง ให้นายกอนำไปเก็บเอาไว้เป็นทุนเมื่อหนีไปอยู่กินร่วมกัน ผู้หญิงอย่างอำแดงคนนี้ มีให้เห็นเยอะสมัยนี้ แต่งตอนเย็นไม่ให้เจ้าบ่าวนอนด้วย ตื่นเช้ากลายเป็นแม่ยก คือยกเข้ายกของเจ้าบ่าวเกลี้ยงหนีไปอยู่กับผัวเก่า ปล่อยเจ้าบ่าวต้องขึ้นโรงพักไปแจ้งความกันเลยทีเดียว !

วันเกิดเหตุร้ายนายกอร่ำสุราเข้าไปมาก แต่ก็ยังมีสติดีอยู่ ลอบขึ้นเรือนของอำแดงญอ และได้ร่วมอภิรมย์สมพาสกับแม่สาวไปหนึ่งครั้ง จนเสร็จเรียบร้อยแล้วเกิดอาการกระหายน้ำ นายกอจึงให้อำแดงญอตักน้ำน้ำให้กินชื่นใจ ตอนนั้นฝนตกอยู่พอดี สาวเจ้าจึงเอาขันไปรองน้ำฝนจากราง นำไปให้นายกอคู่สวาท
สวีทฮาร์ท ซึ่งก็ดื่มอั่กๆเข้าไปเพราะหิวจัด ดื่มน้ำแล้วทั้งสองต่างก็หลับไหลไปด้วยอาการหมดแรง เพราะทำกิรกรรมเข้าจังหวะหนักมากด้วยกันทั้งคู่

พอฟ้าสางอำแดงญอฟื้นตัวตื่นเห็นแสงตะวันก็ตกใจ รีบปลุกนายกอรีบลงจากเรือนไปเสียก่อนพ่อแม่จะเห็นเข้า พอเอามือเขย่าร่างของฝ่ายชายดู ปรากฏว่าร่างเย็นเฉียบ แข็งทื่อตายหมดลมเด็ดสะมอเร่ตายไปเรียบร้อยแล้ว

ยุ่งละซีอีทีนี้ !
อำแดงญอเธอร่ำไห้ด้วยความเสียใจเจียนจะขาดใจตายตาม แต่เมื่อยังไม่ตายก็ต้องไปบอกพ่อแม่ ซึ่งผู้เป็นบิดามารดาก็ตกใจนัก เพราะลูกสาวได้กระทำการอันบัดสียิ่ง ซึ่งโบราณเขาเรียกว่า "เป็นชู้เหนือขันหมาก" ซึ่งสังคมไทยตอนนั้นรับไม่ได้ (ตอนนี้จะรับกันได้หรือยัง ผมก็ไม่รู้ ? ) ซึ่งถือกันว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายยิ่งนัก แต่ด้วยความที่ตนเองเป็นคนซื่อสัตย์สองคนผัวเมียผู้เป็นบุพการีของฝ่ายหญิง ก็ไม่คิดปกปิดความจริงหรือเอาศพนายกอไปทิ้งนอกเรือน หากแต่ได้ตรงไปบอกพ่อแม่นายกอให้รับรู้ บิดามารดาของผู้เคราะห์ร้ายก็ตกใจร้องไห้โศกาอาดูรยิ่งนัก ที่ลูกชายมาด่วนตายไป จึงพากันไปเชิญฝ่ายอำเภอมาชันสูตรพลิกศพ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่อำเภอเห็นว่า ไม่มีร่องรอยการทำร้ายและไม่ปรากฏบาดแผลบนตัวผู้ตาย ก็สรุปว่า นายกอไม่ได้ตายเพราะถูกฆ่า พ่อกับแม่นายกอจึงนำศพลูกชายไปฝังไว้

เรื่องนี้ทำท่าจะจบลง แต่ไม่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมืองไทยมีคนสาระแนอยู่มาก โดยเฉพาะพวกหมอความสมัยนั้น ได้มีหมอความตัวดีมายุยงให้พ่อแม่ของนายกอฟ้องร้อง ว่าบิดามารดาของอำแดงญอ ร่วมกับลูกสาวคือตัวอำแดงญอ วางยาพิษลูกชายของตน ซึ่งพ่อแม่นายกอก็เห็นชอบไปด้วย จึงมีการฟ้องร้องเรื่องนี้ไปสู่ศาลพระราชอาญาสมัยนั้น

ศาลพระราชอาญาจึ่งมีหมายเรียกตัวสามคนพ่อแม่ลูกจำเลยมาเบิกความ ซึ่งทั้งพ่อและแม่ของอำแดงญอก็เบิกได้ตรงกัน แต่อำแดงญอซึ่งเบิกความเจือสมกับพ่อแม่ได้ให้การเพิ่มเติมไปด้วยว่า ตนได้ยักยอกทรัพย์ที่ได้จากเงินทองของหมั้นนำไปให้นายกอ ไปเก็บรักษาไว้เพื่อนำไปเป็นทุนเมื่อหนีไปอยู่ด้วยกัน

ศาลได้พิจารณาหาสาเหตุการตาย ด้วยการให้หมอมาชันสูตรใหม่ (เข้าใจว่าอำเภอมาตรวจคงไม่ได้ให้หมอมาดู หรือเป็นหมอชาวบ้านไม่มีวุฒิก็ไม่รู้) คุณหมอพรทับ (ผมตั้งชื่อให้เอง) ก็ให้ขุดศพนายกอขึ้นมา หมอเอายากรอกกระทุ้งลงปากศพ แล้วผ่าศพดูลำไส้ ก็รู้ว่าเป็นยาพิษ

เท่านั้นยังไม่พอเพื่อให้ความแน่ใจ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาเบิกเอานักโทษประหารมาบังคับให้กินยาพิษ นักโทษตายแล้วก็เอาไปฝัง พอได้สามวันเท่ากับฝังนายกอแล้วขุดศพขึ้นมา ก็ได้หลักฐานอย่างเดียวกันคือพยาธิสภาพของศพไม่แตกต่างกัน

ศาลพระราชอาญาชั้นต้นวินิจฉัยว่าอำแดงญอ ร่วมกับบิดามารดาวางยาพิษผู้ตาย จึงให้ประหารอำแดงญอให้ตายตกไปตามกัน และให้เฆี่ยนพ่อแม่ ๒ ยกหกสิบที แล้วให้เอาไปขังไว้ตลอดชีวิต

อำแดงญออุทธรณ์

เนื้อความอุทธรณ์มีว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ตายถูกวางยานั้นชอบแล้ว แต่ศาลรู้หรือพิสูจน์ได้อย่างไรว่า จำเลยเป็นผู้วางยาพิษ หรือนายกอถูกวางยามาจากที่อื่นก็เป็นไปได้ และจำเลยได้ให้เหตุผลที่สำคัญว่า ถ้าตัวอำแดงยอจะฆ่าคนทั้งที แล้วทำไมจึงเอาทรัพย์สินของหมั้นไปฝากไว้กับคนรักคือนายกอที่ตนคิดจะฆ่านั้นด้วยเล่า

ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาลงมาว่า ตัวจำเลยคืออำแดงญอได้เบิกความมาเองว่า นายกอนั้นเมาสุรามาก่อน แต่ก็ยังกระทำอสัจธรรมสังวาสและขอน้ำกินได้ ตรงนี้ศาลวินิจฉัยว่า

หากนายกอถูกยาพิษเข้าจริง ก็คงไม่สามารถร่วมกิจประเวณีอันต้องใช้กำลังพอสมควรได้ และศาลเชื่อว่า คำให้การของอำแดงญอที่บอกว่า ออกไปรองน้ำนำไปให้นายกอดื่มกินนั้น ทำให้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าห้วงระยะเวลานี้เอง เป็นโอกาสที่ทำให้อำแดงยอสามารถวางยาชู้รักของตัวเองได้ ศาลจึงตัดสินว่าที่ศาลพระราชอาญาชั้นต้นพิพากษาตัดสินมาเป็นอันชอบแล้วทุกประการ

อำแดงญอเธอให้หมอความยื่นคัดค้านคำพิพากษา เนื้อความมีอยู่ว่า

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ฝ่ายอำแดงไม่เห็นชอบด้วย เพราะศาลเห็นชอบตามหมอที่ทดลอง แต่หมอและศาลยังไม่ได้ทดลองเลยสักนิดหนึ่งว่า คนเมาสุรามากแล้วกินน้ำฝนจะตายได้หรือไม่ ? (ตรงนี้สำคัญ) อีกประการหนึ่งศาลอุทธรณ์เองก็ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า ถ้าอำแดงญอคิดจะวางยาพิษแล้ว เหตุไฉนจึงเอาทรัพย์สินของหมั้นค่าถึงหนึ่งพันชั่ง ไปฝากไว้กับคนรักคือนายกอที่ตนคิดจะฆ่านั้นจะเป็นประโยชน์อันใดกันเล่า ?

อำแดงได้กราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยให้สิ้นสุดกระแสความเสียก่อน โดยขอให้ไปตรวจหาทรัพย์พันชั่งซึ่งตนยักยอกให้นายกอนำไปเก็บที่บ้าน หากไม่พบของกลางที่บ้านของนายกอแล้วไซร้ อำแดงญอก็จะก้มหน้ารับพระราชอาญา รับโทษประหารให้ถูกฆ่าตายตกไปตามกันนั้นเลยทีเดียว

พระจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิธราชธรรม ได้รับฎีกาของอำแดงแล้ว ทรงลงพระนามส่งฎีกาให้องคมนตรีกรรมการศาลฎีกา ไต่สวนว่า

มีของกลางตามที่อำแดงญอกล่าวอ้างจริงหรือไม่ ? ถ้ามีสมจริงตามเนื้อความในฎีกา ก็ให้งดคำพิพากษาไว้ก่อน และให้ประกาศหาตุลาการ มาพิจารณาหาความจริงแล้วจึงมีคำพิพากษาต่อไป

ปรากฏว่าผลการตรวจหาของกลาง คือของหมั้นที่อำแดงยักยอกไปให้ชายคนรัก อยู่ในตู้และหีบที่บ้านของผู้ตายจริงสมดังฎีกาของจำเลยที่อ้างไว้จริง ดังนั้นองคมนตรีกรรมการศาลจึงต้องประกาศหาตุลาการมาตัดสินคดีนี้ เลยมีตุลาการอาสาตัวเอกที่เดินเรื่องนี้ คือ

มีชายคนหนึ่งชื่อ “นายศี” (ศี สะกดตามต้นฉบับไม่ใช่ศรี) แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า นายขุนศีแม่ตั้ง ซึ่งเป็นผู้สนใจในเรื่องกฎหมาย ตาคนนี้ไปศาลทุกวัน แต่ไม่มีความจะมาให้แกชำระ ผู้คนจึงหัวเราะเยาะเอาเพราะตัวเองไม่ได้เป็นตุลาการ ผู้คนจึงตั้งชื่อให้แกว่า “ขุนศีแม่ตั้ง” คล้ายคลึงกับ “คุณหญิงบ่าวตั้ง” ที่เป็นคำเรียกประชดพวกคุณนายที่ยังไม่ได้มีคำนำหน้าเป็น “คุณหญิง” แม้ผัวเป็นใหญ่เป็นโตถึงเทศาหรือปลัด แต่ตัวเองยังไม่ได้เป็นคุณหญิง บ่าวหรือข้าราชการที่เป็นลูกน้องปลัดซึ่งเป็นผัวที่สอพลอจึงเรียก “คุณหญิง” เป็นการประจบประแจงเอาใจ “คุณนาย” ที่อยากพาสชั้นเป็น “คุณหญิง” อย่างนี้ผู้คนเขาเรียกว่า “คุณหญิงบ่าวตั้ง”

พอมีการประกาศรับสมัครอย่างนั้น ขุนศีแม่ตั้งจึงรับอาสาทันที ตัวแกเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบเพราะสนใจใฝ่ศึกษา ขุนศีแม่ตั้งสงสัยว่าคนที่มีกำลังพอจะร่วมประเวณีได้ แต่กินน้ำฝนเข้าไปหน่อยเดียว ทำไมถึงแก่ความตายได้ ? น่าจะมีอะไรที่อยู่ในน้ำที่อีตานายกอแกดื่ม หรือชะรอยรางน้ำคงมีสิ่งมีพิษอยู่เป็นแน่แท้ จึงให้นักการเอาบันใดปีนขึ้นไปดู เห็นกระดูกสัตว์เช่นกระดูกหนู ที่นกแสกคาบกินแล้วตกอยู่ในราง และยังมีกระดูก “งูทับสมิงคลา” ทั้งตัวมีเนื้อเหลือติดอยู่บ้าง ก็นำเอาลงมาให้ขุนศีแม่ตั้งดู

ขุนศีแม่ตั้งจึงเอากระดูกงูทับสมิงคลาแช่น้ำ แล้วทูลขอพระบรมราชานุญาติ เบิกนักโทษประหารออกมาให้ดื่มเหล้าจนเมา แล้วเอาน้ำแช่กระดูกงูให้กิน ปรากฏว่านักโทษดิ้นพราดๆถึงแก่ความตายไปในบัดดล จึงให้เอาศพไปฝังแล้วขุดนำขึ้นมามาผ่าดูอีก ปรากฏว่าเครื่องในศพเหมือนกับนายกอทุกประการ เมื่อได้ความชัดเจนดังนั้นแล้ว ขุนศีแม่ตั้งจึงทำคำพิพากษากราบบังคมทูล ชี้เหตุการตายให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และวินิจฉับว่า

อำแดงญอไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาให้ปล่อยอำแดงญอ กับพ่อแม่ไปเสียจากการควบคุมของทางการ

ตัวขุนศีแม่ตั้งซึ่งเป็นตุลาการอาสาสมัคร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนหลวงพระไกศี” คือเป็นทั้ง “ขุน” “หลวง” และ “พระ” ในฐานันดรเดียวกัน เพื่อตอบแทนการวินิจฉัยคดีที่รอบคอบและเป็นแบบอย่างอันควรยกย่องสืบไป

ฟังเรื่องขุนหลวงพระไกรศรีแล้ว ทำให้รู้สึกเลื่อมใสในภูมิปัญญาของท่านนัก จึงอยากให้ผู้มีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย หมั่นค้นคว้าหาความรู้ใส่ตน เกี่ยวกับวิทยาการและความก้าวหน้าต่างๆ เพราะผมเคยเห็นมามากว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในด้านนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการแล้ว มักจะหยุดการศึกษาค้นคว้าลง และหน่วยราชการต้นสังกัดเองควรที่จะจัดทำเอกสารทางวิชาการ หรือมีการเผยแพร่ทางสือของตนหรือเวปไซด์ในเรื่องของทางวิทยาการในด้านนี้ด้วย เพื่อเสริมความรู้ให้กับบุคคลในองค์กร ประเทศของเราจะได้เจริญก้าวหน้าในด้านการสอบสวน การพิจารณาและตัดสินอรรถคดี ให้เป็นที่เชื่อถือของนานาประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ คนพวกนี้ฆ่าฟันผู้คนล้มตายเป็นเบือ แต่รัฐบาลนี้ไม่ยอมรับกับชาวโลกว่า เรามี “การก่อการร้าย” ขึ้นในประเทศแล้ว แต่ถลากไถลเรียกขานเป็นเรื่องอื่นไป เช่น“โจรกระจอก” บ้าง “ผู้ไม่หวังดี” หรือ “ผู้ก่อการไม่สงบ” บ้าง สุดแท้แต่ปากจะพาไป แต่ความจริงที่หนีไม่พ้นก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง “การก่อการร้าย” อย่างชัดเจน (แม้แต่ผู้สื่อข่าวกรมประชาสัมพันธ์ที่รายงานเหตุการณ์วางระเบิดถล่มโรงแรมสองโรง หลายจุด เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บสิบกว่าคน เธอก็ยังเลือกใช้คำว่าเป็นการกระทำของ “โจรก่อการร้าย”ที่ถูกต้องตรงกับความจริงมากกว่ารัฐบาลเสียอีก ) อีกทั้งปฏิบัติการก่อการร้ายที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ ยังมีคนจากนอกประเทศเข้ามาร่วมขบวนการอีกด้วย สมควรที่จะดำเนินกรรมวิธีอย่างเรื่องการก่อการร้าย และจัดการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การก่อการร้าย ที่รัฐบาลอุตส่าห์ออกกฎหมายไปอย่างเร่งรีบ โดยไม่ยอมออกเป็นพระราชบัญญัติเสียด้วยซ้ำ (แต่ก็แอบใช้กฎหมายนี้ในการตรวจทรัพย์สินผู้ก่อการร้าย)

จึงมีศพที่ผู้ก่อการร้ายลอบฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์ ตำรวจ ทหาร ให้หมอและตำรวจได้ชันสูตรพลิกศพเพิ่มความชำนาญกันอยู่ทุกวัน

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลยังดันตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนกรณีมัสยิดกรือเซะอีก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ผมขอสมมติชื่อเรียกขานคณะกรรมการชุดนี้ว่า ชุด “ขุนศีแม้วตั้ง” เลียนแบบ “ขุนศีแม่ตั้ง” เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ท่านฟัง คณะกรรมการชุดนี้ สรุปผลการสอบสวนโดยย่อของคณะตน ฟังได้ความว่า คนของรัฐทำเกินกว่าเหตุ รัฐบาลควรชดเชยค่าเสียหายให้กับญาติผู้ตาย โดยโฆษกรัฐบาลออกมาแถลงว่า

“….รัฐบาลจะดำเนินการเร่งด่วน ๓ อย่างคือ

๑.ดำเนินการชดใช้ความเสียหายทั้งในรูปเงินและสิ่งของ สำหรับทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ

๒.มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความคุ้นเคยในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เป็นวิกฤติแบบนี้ ซึ่งเราหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

๓.รัฐบาลได้จัดให้มีการประชุมเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการทั่วโลก โดยนายสุจินดา ยงสุนทร ประธานคณะกรรมการอิสระฯ จะเป็นผู้แทนในการบรรยายสรุปให้กับเอกอัครราชทูตฟังในวันที่ รวมทั้งมีการแจกเอกสารเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว”

นี่ผมยังไม่พูดถึงการที่โฆษกรัฐบาลบอกว่า จะมีผลการสอบสวน “ก็อกสอง” เพิ่มเติม ที่จะบอกถึงความผิดของเจ้าหน้าที่แต่ละส่วน ซึ่งเข้าปฏิบัติการในวันนั้นอีกด้วย

การที่รัฐบาลให้โฆษกออกมาแถลง มีการแปลเอกสารผลการสอบสวนออกแจกจ่ายไปยังคณะทูตานุทูตต่างประเทศ นั้น เท่ากับรัฐบาลเอาตัวไปผูกพัน ให้การยอมรับต่อนานชาติ ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเราได้กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ และยอมรับการชดใช้ในทางแพ่ง ผู้คนเห็นว่าเป็นการกระทำเพียงเพื่อเอาใจชาติมุสลิม ซึ่ง ผมเห็นว่า

นอกจากเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอามากๆแล้ว ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งอีกด้วย !
เหตุผลของผม คือ

รัฐบาลลืมไปหรือเปล่าว่า คณะกรรมการชุด “ขุนศีแม้วตั้ง” แตกต่างจาก “ขุนศีแม่ตั้ง” โดยสิ้นเชิง เพราะ”ขุนศีแม่ตั้ง” นั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งให้เป็นตุลาการชำระคดี

แต่ “ขุนศีแม้วตั้ง” นั้นเป็นแค่ คณะบุคคลไปสืบหาความจริง และมารายงานผลให้รัฐบาลทราบ ซึ่งถ้าให้พนักงานสอบสวนมืออาชีพไปทำ ผลออกมาอาจไม่ได้ออกมานี้ก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือ

กระบวนการทางกฎหมายที่แท้จริงนั้นมีอยู่ และกำลังเคลื่อนไหวหมุนไปตามครรลองของกฎหมาย ซึ่งมีคณะตุลาการที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ !

ในเรื่องนี้นั้นศาลผู้เขตมีอำนาจพิจารณาคือ ศาลจังหวัดปัตตานี จะเป็นผู้ออกคำสั่งของศาลเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ตามนัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ

ศาลเท่านั้นจะออกคำสั่งว่า เป็นการตายโดยเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ ? ไม่ใช่คณะกรรมการหน้าไหนทั้งสิ้น

บัดนี้การดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้สำนวนการสอบสวนชันสูตรพลิกศพอยู่ที่พนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะต้องยื่นต่อศาลเพื่อไต่สวนเหตุการตายผิดธรรมชาติ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน

นอกจากนั้นยังมีสำนวนการสอบสวนที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นี้อีก ๒ เรื่อง คือ
๑.สำนวนผู้ก่อการร้ายเข้าปล้นสถานที่ราชการและฆ่าเจ้าพนักงาน

๒.สำนวนที่เจ้าพนักงานผู้ทำให้ผู้ก่อการร้ายตาย ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งก็เป็นการทำตามหลักกฎหมายเหมือนคดีลักษณะเดียวกัน

คดีทั้งสองขณะนี้ก็เสร็จสิ้นลงในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว เตรียมการส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การที่รัฐบาลออกรายงานไปทั่วโลกเช่นนี้ เป็นลักษณะการทำงานรัฐบาลนี้ชอบทำ คือคุยฟุ้ง เรื่องที่ตัวอยากทำไปก่อน แล้วตรวจสอบข้อกฎหมายทีหลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่อง การสร้างเมืองหลวงใหม่ มีการประชุมพิจารณากันมากมาย เสียเงินเสียเวลา ผู้คนที่นครนายกฝันหวานว่าจะได้เป็นคนเมืองหลวงกับเขาบ้าง ละเมอไปว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งแป๊บเดียวถึงอำเภอบ้านนาแล้ว พวกเก็งกำไรออกกว้านซื้อทีดินกันเป็นการใหญ่ สุดท้าย….อ้าว !

รัฐบาลดันออกมาแถลงว่า ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญไปอีกแล้ว !

แห้วรับประทานกันไปตามระเบียบ ซึ่งดูๆไปก็รู้สึกว่าเหมือนว่าจะทำงานใหญ่ก็จริง แต่กลับทำกันเหมือนเด็กเล่นขายของหรือตลกคาเฟ่ ผู้คนขำกลิ้งกันไปเลย !!

นั่นก็ยังไม่เท่าไหร่ เพราะการตั้งเมืองหลวงเป็นเรื่องคนไทยด้วยกันเอง ไม่เหมือนอย่างเรื่อง “ขุนศีแม้วตั้ง” ที่รัฐบาลบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำลงไปเกินกว่าเหตุ ป่าวประกาศออกไปให้ผู้คนรับรู้กันทั่วโลกแล้ว ซึ่งเสียหายเหลือเกิน เพราะเรื่อง “ขุนศีแม้วตั้ง” นี่โดยส่วนตัวผมคิดว่า ก็ต้องซ้ำรอยเดียวกับเรื่อง เมืองหลวงฝันสลาย แน่นอน เพราะสถานที่เกิดเหตุที่มัสยิดตั้งอยู่ คืออำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นั้น มีการประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมไว้ตั้งแต่ วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จึงอยากให้คนของรัฐชำเลืองดูกฎหมายเกี่ยวกับกฎอัยการศึกกันให้ดีๆ แล้วจะคิดเหมือนผมว่า ผลที่จะเกิดขึ้นภายหน้าจะมีในทิศทางใด

ผมนึกไม่ออกว่า หากศาลพิจารณาแล้วคำสั่งว่า เจ้าหน้าของได้ปฏิบัติการโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วรัฐบาลจะเอาหน้าไปไว้ไหน ?

จะทำหนังสือชี้แจงทูตเศียรตรีขรเขาอย่างไรกัน เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับรายงานการสอบสวน ของคณะกรรมการพิเศษที่รัฐบาลแจกจ่ายออกไปให้เขาแล้ว

ถ้าศาลพิจารณาออกมาว่า เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายเจ้าพนักงาน ผมก็ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ขอให้ทำความจริงให้ปรากฏต่อประชาชนคนไทย และทำให้ชาวโลกเข้าใจกระจ่างชัด ว่า

นี่คือการต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับผู้ก่อการร้าย ที่ปล้นสถานที่ราชการชิงอาวุธ ฆ่าเจ้าพนักงาน ทหารตำรวจ ข้าราชการ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ พระสงฆ์องค์เจ้า ทำลายทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กำราบปราบปรามเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำลงไปด้วยความถูกต้อง และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้แต่ผู้นำศาสนาอิสลาม คือท่านจุฬาราชมนตรี ยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ปฏิบัติตามหน้าที่ถูกต้องแล้ว !

แค่รายงานฉบับ “ขุนศีแม้วตั้ง” ออกมา ผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ ก็พากันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอ้ออึงไป ว่า

รัฐบาลนี้ช่างไม่ถนอมน้ำใจผู้ปฏิบัติงานเสี่ยงชีวิต เพื่อรักษาความสงบของชาติในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายเลย แม้แต่น้อย !!

กำลังโหลดความคิดเห็น