xs
xsm
sm
md
lg

แด่ วีรสตรีโอลิมปิกไทย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

"นักยกน้ำหนักไทยก็เก่งนี่นา ที่ยกได้เหรียญทองคนนั้นเก่งจริงๆ" เพื่อนคนจีนเอ่ยปากกับผมระหว่างการสนทนากันเรื่อง การแข่งขันเอเธนส์ โอลิมปิก เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ..... ผมยิ้ม พร้อมกับแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ

ย้อนเวลาไปเมื่อ 6 ปีก่อน พ.ศ.2541 ก่อนการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่เมืองไทยเป็นเจ้าภาพ ขณะนั้นผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ในรั้วมหาวิทยาลัย

คล้ายๆ กับนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากในช่วงนั้นที่รับทำงานพิเศษระหว่างกีฬาเอเชียนเกมส์ บ้างเป็นผู้ประสานงาน บ้างเป็นล่ามให้ทีมกีฬาต่างชาติ ตอนนั้นผมไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าวกีฬา ช่วงเอเชียนเกมส์ ให้กับหนังสือพิมพ์ The Nation

งานแรกของการเป็นผู้สื่อข่าว ผมพร้อมกับเพื่อนคู่หู คุณวโรดม โง้วศิริ (อดีตผู้เขียนคอลัมน์ จากโลกคนละซีก (ตะวันตก) ทางผู้จัดการออนไลน์) ที่ได้รับมอบหมายจาก คุณประเสริฐ ศรีสืบ บรรณาธิการข่าวกีฬา คือ การไปสัมภาษณ์ "2 นักกีฬาดาวรุ่ง" ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น

ผมและคุณวโรดม นัดเวลาสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ประสานงานของสมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทยได้ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง โดยสถานที่ก็คือ หอพักนักกีฬา ภายในสนามกีฬาหัวหมาก ย่านรามคำแหง

วันนั้น ดาวรุ่งทั้งสองคน ที่เราได้สัมภาษณ์มีชื่อว่า ปวีณา ทองสุก และ อุดมพร พลศักดิ์ โดยหลังจากการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นเย็นวันเดียวกันผมก็แจ้งให้กับทางช่างภาพมาเก็บภาพในวันถัดไป เพื่อทำรายงานลงหนังสือพิมพ์

ปลายปี 2541 เมื่อการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เริ่มขึ้น คุณวโรดมได้รับมอบหมายให้คอยรายงานผล มวยสมัครเล่น อันเป็นกีฬาความหวังเหรียญทองหลักของไทย จากศูนย์อิมแพค (เอเชียนเกมส์ครั้งนั้นนักชกไทยก็แสดงผลงานสมกับเป็นเจ้าภาพ และมหาอำนาจของวงการมวยสมัครเล่นของเอเชียจริงๆ) ส่วนตัวผมนั้นถูกมอบหมายให้คอยรายงานผลกีฬายกน้ำหนัก จาก อินดอร์สเตเดี้ยม ณ ศูนย์กีฬาเมืองทองธานีเช่นกัน

ตามปกติของ กีฬายกน้ำหนัก ที่ใช้เวลาในการแข่งขันชิงเหรียญทองค่อนข้างจะประหยัด คือ แต่ละรุ่นสามารถหาเจ้าของเหรียญทอง-เงิน-ทองแดง ได้อย่างรวดเร็วภายในวันเดียวมักจะเป็นกีฬาที่ถูกจัดวางการแข่งขันไว้ในวันแรกๆ

ตามหน้าที่ ช่วงบ่ายของทุกๆ วันที่มีการแข่งขัน ผมต้องเป็นผู้คอยติดตามผลกีฬายกน้ำหนักอย่างใกล้ชิด รวมถึงจับตาดู นักกีฬายกน้ำหนักไทยที่มีความหวังในการคว้าเหรียญรางวัล และนักยกน้ำหนักระดับโลกจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะนักยกน้ำหนักจากประเทศจีนที่ถือเป็นมหาอำนาจในกีฬายกน้ำหนักโลก

ในบางกอก เอเชียนเกมส์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว นักยกน้ำหนักไทยทั้งชาย และ หญิง ต่างทำผลงานได้ไม่ดีนักโดย เกษราภรณ์ สุตา นักกีฬายกน้ำหนักหญิงไทยในรุ่น 58 กิโลกกรัม อันเป็นความหวัง 'เหรียญทอง' ของสมาคมยกน้ำหนักกลับพ่ายให้กับสาวจอมพลังจากจีนและเกาหลีเหนือ คว้ามาได้เพียงเหรียญทองแดง และ ก็เป็นเหรียญรางวัลเหรียญเดียวที่ ทีมนักยกน้ำหนักไทยสามารถคว้าได้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น (แต่เมื่อโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ สองปีถัดมา เกษราภรณ์ ก็ไม่ทำให้ใครผิดหวังเพราะ สำแดงพลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ กลายเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่คว้าเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิกได้สำเร็จ)

แม้แต่ 'นักยกน้ำหนักรุ่นพี่' ยังพลาดท่า ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ 'นักยกน้ำหนักดาวรุ่ง' ของไทยทั้งหลายในการแข่งขันปีนั้นต่างก็วืดเหรียญรางวัลไปหมด

7 ธันวาคม 2541 'น้องอร' อุดมพร ในรุ่น 48 กิโลกรัม เมื่อการแข่งขันจบลงด้วย การคว้าอันดับที่ 4 หลังจอมพลังจากจีน พม่า และอินโดนีเซีย เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้เธอพลาดการยกน้ำหนักครั้งแรก 75 กิโลกรัมในท่าสแนชไปและส่งผลทางจิตใจในการยกครั้งต่อๆ มา ก็เดินออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำตาที่นองหน้า

ตอนนั้นเธอบอกด้วยว่า ก่อนการแข่งขันเอเชียนเกมส์จะเริ่ม เธอหวังว่าเหรียญทองแดงไม่น่าจะไกลเกินฝันของเธอ ด้วยการเตรียมตัว และผลการฝึกซ้อมที่ดี

อย่างไรก็ตามเธอยังบอกถึงสาเหตุของความผิดพลาดไว้ด้วยว่าเกิดจากหลายปัจจัยคือ การลดน้ำหนักก่อนการเข้าแข่งขัน พลังขาของเธอก็ยังไม่ค่อยดีทำให้ในท่าคลีนแอนด์เจิร์คเธอทำน้ำหนักได้ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เธอกล่าวย้ำอีกครั้งว่าเป็นความผิดพลาดส่วนตัว แต่ก็ยืนยันว่าได้ทำเต็มความสามารถแล้ว ...

หลังจากทำใจได้กับผลการแข่งขันของตัวเองแล้ว ในวันต่อๆ มา เมื่อมีโอกาส อุดมพร ก็แวะเวียนมานั่งที่บริเวณของผู้สื่อข่าวอยู่บ่อยๆ เพื่อชม พี่ๆ และเพื่อนๆ ร่วมทีมลงทำการแข่งขัน

ถัดมาอีก 4 วัน ในรุ่น 69 กิโลกรัม เป็นคิวของ 'น้องไก่' ปวีณา ซึ่งหากพิจารณาจากสถิติแล้วเธอมีโอกาสมากถึงการคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น

ก่อนการแข่งขันด้วยความที่โหมฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้ ปวีณา เมื่อถึงวันลงทำการแข่งขันจริงเกิดอาการบาดเจ็บที่หลังและหัวเข่า จนส่งผลต่อการแข่งขันในท่าคลีนแอนด์เจิร์ค ที่เธอไม่สามารถยกผ่านได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว หลังการแข่งขัน ปวีณา ที่ดูจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ร้องไห้เหมือนกับนักกีฬารุ่นน้อง แต่สีหน้าเธอในตอนนั้น ทุกคนที่เห็นต่างก็ทราบดีว่าเธอ 'เสียใจ'
..........................
ถึงวันนี้ เวลานี้ คนไทยทั่วประเทศ หรือ คนไทยที่อยู่ต่างแดน คงไม่มีใครไม่รู้จัก เกษราภรณ์ สุตา, อารีย์ วิรัฐถาวร, อุดมพร พลศักดิ์, วันดี คำเอี่ยม และ ปวีณา ทองสุก 5 สาวที่เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

ผ่านมา 6 ปี กว่าจะเปลี่ยน 'น้ำตา' เป็น 'รอยยิ้ม' เปลี่ยนความ 'พ่ายแพ้' เป็น 'ชัยชนะ' กว่าจะบ่มเพาะให้ 'ดาวรุ่ง' ในวันนั้นเติบใหญ่ กลายมาเป็น 'วีรสตรี' ของไทยในวันนี้ ผมเชื่อว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ตัวนักกีฬาเอง ครอบครัว ผู้ฝึกสอน สมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทย ผู้สนับสนุน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ..... ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทุกคนต่างต้องทุ่มเทกำลังใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์ และ เสียสละเพื่อประเทศชาติไปมากมาย

ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งต้องขอขอบคุณบุคคลเหล่านี้จากเบื้องลึกของจิตใจจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น