xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 142 “กาดงัวกาดควาย-ตลาดคนปนตลาดควาย”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้...ผมจิบกาแฟขมแล้ว ขี่จักรยานออกจากบ้านเพื่อนไปตามซอยต่างๆ ขี่กันไปคุยกันไปอย่างสบายเพราะอากาศค่อนข้างจะเป็นใจ ผมชวนเขาแวะตลาดนัดริมทางซึ่งจะมีแม่ค้า พ่อค้า ออกมาค้าขายกัน ครั้งแรกที่เห็นเมื่อสองสามปีก่อนเป็นกลุ่มเล็กๆมีอยู่ไม่ถึงสิบเจ้า ตอนนี้มีมากขึ้นเป็นหลายสิบ เพราะมีรถจากต่างจังหวัดเข้ามาขายด้วย บางคนก็เอาของทะเลมาจากมหาชัย บางเจ้าขนปลาร้ามาจากชัยนาท แต่ที่ชอบมีอยู่เจ้าหนึ่งมาจากสิงห์บุรี เขาเอาหมูตะไคร้มาทอดขายข้างทาง พร้อมกับเอา “ขนมตาล” และ “ขนมถ้วยฟูน้ำตาลสด” ซึ่งรูปทรงคล้ายๆกัน แต่ขนมตาลทำจากลูกตาลมีสีเหลือง ส่วนขนมถ้วยฟูน้ำตาลสดออกสีดำ รสชาติของเขาไม่เลวทีเดียวเลยต้องซื้อไปรับประทานกับกาแฟขมด้วย

ท่านผู้อ่านอาจไม่ทราบว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานเมื่อเรียนชั้นปีที่ ๔ จะต้องผัดเวรกันไปจ่ายตลาด เรื่องการจ่ายตลาดนี้ทางดรงเรียนเขามอบเงินให้นักเรียนนายร้อยถือไปคอยจ่าย ตอนตีห้านักเรียนเวรผู้ทำหน้าที่จ่ายตลาดนั่งรถบรรทุกไปพร้อมกับตำรวจฝ่าย

สูทกรรม ไปหัดจ่ายตลาดไป เพราะหากสำเร็จไปปกครองนักเรียนตำรวจก็จะรู้จักการจับจ่ายของประกอบเลี้ยง เรื่องการจ่ายตลาดนี้ จะทำให้เห็นนิสัยเพื่อนว่าคนไหนเก่ง รอบคอบ ออกไปจ่ายของแล้วเพื่อนๆและนักเรียนได้กินของดีๆ และคนไหนที่ไปจ่ายตลาดเมื่อใด เพื่อนจะได้กินของห่วยๆทุกครั้งไป อย่างนี้ก็เป็นที่รู้กัน จำได้ไม่ลืมว่ารุ่นผมคนหนึ่งมันแกล้งเพื่อนไปจ่ายตลาดเอาปลากระตักเค็มปี๋ มาให้กินกับไข่เค็มเป็นมื้อเย็น แต่มันลากิจออกไปนอนนอกโรงเรียนไม่อยู่กินด้วย แล้วย้อนกลับมาเยาะเย้ยเพื่อนตอนเช้า อย่างนี้ก็มี !

พอผมสำเร็จเป็นนายตำรวจ ก็อยู่ท้องที่โรงพักพระราชวัง ซึ่งมีตลาดสำคัญตั้งอยู่คือ “ตลาดยอดพิมาน” และ “ตลาดท่าเตียน” ซึ่งเป็นแหล่งรวมของส่งทั้งคู่ ตอนนั้นตลาดท่าเตียนคึกคักไปด้วยผู้คน เพราะคนภาคกลางไม่ว่าเป็นอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัย ยังเอาสินค้าล่องลำน้ำเจ้าพระยามาขายที่ตลาดท่าเตียนเป็นอันมา ยังมีบริษัทเรือเขียว เรือแดง ให้คนโดยสารไปจังหวัดเหล่านั้นด้วย หากจำไม่ผิดเลิกกิจการไปหลัง พ.ศ.๒๕๑๐ สักสามสี่ปีเห็นจะได้

การที่อยู่ใกล้ตลาด ไปตลาดมาตั้งแต่เด็กทำให้ผมเป็นคนชอบการไปตลาด จ่ายของ ด้วยตนเอง เวลาไปต่างจังหวัด ตื่นเช้าขึ้นมา ภารกิจแรกที่ผมจะกระทำคือไปตลาด จนมีคนกระแนะกระแหนการตื่นเช้าของผมว่า ไม่รู้จะรีบตื่นไปตลาดทำไม? ยังค่อนขอดว่าชาติก่อนคงเป็นญาติกับ พญาน้อย ในเรื่อง ราชาธิราช ที่ไปชมตลาดแล้วพบกับมะเทิ่ง เม้ยเจิง บ้างก็ว่าผมประพฤติเหมือนอย่างเพลง “แดดออก” ของคุณ สุรพล โทณะวณิก ซึ่งเป็นน้าผมแท้ๆ แต่งให้คุณ มีศักดิ์ นาครัตน์ และฮิตมากตั้งแต่สี่สิบกว่าปีที่แล้วที่ขึ้นต้นว่า

“แดดออก. แดดออก…ตื่นไปตลาดมองปราดดูน้อง
เอ่ยปากร้องขายส้มโอโอ้โฮใหญ่….”


เพลงนี้ทำนองมาจากเพลงฮิตของฝรั่ง ชื่อ “Banana Boat Song” ผู้คนร้องกันทั้งบ้านทั้งเมืองในตอนนั้น เพลงนี้ “น้าน้อย” ของผมหรือคุณสุรพล โทณะวณิก เปลี่ยนคำว่า Day-O ที่ร้อง “เด๊-โอ” กลายเป็น “แดดออก” แทน เพลงนี้ดังระเบิดระบังและกลายเป็นเพลงประจำตัวของ คุณมีศักดิ์ นาครัตน์ ไปในที่สุด

พอผมย้ายออกต่างจังหวัด ไปสมุทรปราการผมเห็นสภาพของตลาดอีกอย่างหนึ่ง คือตลาดที่เป็นที่ขึ้นปลาทะเล ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ จะมีพวกเด็กชาวบ้านไปคอยเก็บปลาที่ตกหล่นจากหลัว เพื่อเอากลับไปให้พ่อแม่ของตนเป็นการประหยัดค่ากับข้าวไปได้ ตำรวจเรียกเด็กพวกนี้ว่า พวก“ประมงบก” แต่คนทะเลเขาก็ไม่หวงแหนหรือต่อว่าเด็กเหล่านี้ เรื่องใจกว้างนี่ต้องพวกประมง ผมเคยไปคณะตรวจราชการ เมื่อลงเรือตำรวจน้ำ ชาวประมงพอเห็นเรือตำรวจมีนายใหญ่มาลง เขาก็โยนปลามาให้กินกันเป็นหลัวๆทีเดียว

ตลาดค้าปลาทางภาคตะวันออกบางแห่ง เวลาพวกเจ้าของเรือจับปลาเขามาคอยเรือหาปลาของตนเข้า ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง มักจะค่าเวลาด้วยการเล่นไพ่ผสมสิบ ผมเห็นแล้วตกใจ เพราะแต่ละคนมีธนบัตรใบละร้อยบาทพับครึ่ง ( ตอนนั้นยังไม่มีแบ็งค์ ๕๐๐ และ ๑,๐๐๐ บาท) เรียงยาวที่หน้าตักเป็นฟุตเลยทีเดียว เรียกว่าเล่นกันกลางตลาด และเล่นกันหนักพอสมควรเลยทีเดียว เวลาตำรวจมาจับ พวกเธอก็จะบอกตำรวจว่า เดี๋ยวจะเดินตามไปโรงพัก แล้วเล่นกันต่อพอเขาขายปลาเสร็จก็เข้าบ้าน กินข้าวกินปลาเสร็จก็เดินไปโรงพัก เซ็นบันทึกการจับกุมแล้วตำรวจก็เอาไปฟ้องศาล ทำเหมือนเป็นของธรรมดา แต่เป็นเรื่องแปลกสำหรับผมเลยทีเดียว เพราะไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ในจังหวัดที่เคยอยู่มา

ครั้นไปรับราชการที่อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นมีตลาดที่ขึ้นชื่อและขายกันโต้รุ่งเลยทีเดียวคือ “ตลาดสวนรักษ์” (อยู่ใกล้ “สวนรักษ์”ซึ่งเป็นสวนสาธารณะอนุสาวรีย์
“คุณย่าโม” ก็อยู่หน้าสวนนี้) เป็นตลาดที่หาของกินกันได้อย่างคึกคัก และเป็นแหล่งรวมสินค้าส่ง ดดยผู้ซื้อต่างอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาซื้อหาของจำเป็น มาบัดเดี๋ยวนี้ เหลือเป็นเพียงตำนานเพราะเขารื้อตลาดไปอยู่ที่อื่นแล้ว

เมื่อมีโอกาสขึ้นไปอยู่ทางเหนือ ก็เห็นลักษณะของตลาดทางเหนือต่างออกไปอีก คือมีตลาดใหญ่ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ที่เรารู้จักกันดี คือ “ตลาดวโรรส” ซึ่งคนเมืองเรียกว่า “กาดหลวง” และ “ตลาดต้นลำไย” เหมือนตลาดแฝด(แค่มีถนนคั่นเท่านั้น) ขายของพื้นเมืองมากมายและเป็นจุดท่องเที่ยวจับจ่ายที่สำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต้องซื้อหาของฝาก จำพวกอาหารพื้นเมืองต่างๆ จากย่านนี้ ปัจจุบันนี้มีเสื้อผ้าขายด้วยเพราะอยู่ติดถนนท่าแพย่านกาค้าเก่า แต่หากออกไปต่างอำเภอตลาดเขาปลูกง่ายๆ คล้าย เถียงนา ขนาดใหญ่ มีพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาขายส่วนมากก็จะเป็นของกิน ตลาดของชาวเหนือหากติดตอนเช้าเรียกว่า "กาดเจ๊า" แต่ถ้าติดตอนเย็นเรียกว่า "กาดแลง" ส่วนกาดหรือตลาดที่ขายของหลายอย่างเรียกว่า “กาดมั่ว”

ผมเป็นคนชอบไปตลาดโดยเฉพาะตอนเช้าๆ อาจเป็นเพราะผมโตมาในบ้านคุณตาคุณยายที่อยู่ใกล้ตลาดสดคือ “ตลาดบ้านหม้อ”

คำว่า “ตลาด” นั้น หมายถึงสถานที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่างๆ โดยปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้วหรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด

ดังนั้นตลาดจึงไม่ได้หมายถึง “ตลาดสด” ที่ขายสดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี “ตลาด” อื่นๆ เช่น “ตลาดยี่สาน” ที่ขายแต่ของแห้งเช่นผ้า หรือ “ตลาดหลักทรัพย์”

“ตลาดทุน” ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่แต่ก็รู้จักกันดี

ตลาดบ้านหม้อเป็นตลาดของสดที่ใหญ่ทีเดียว เพราะเป็นย่านของร้านเพชร ทอง และการค้าขาย ผู้คนจับจ่ายใช้สอยมาก วันไหนเป็นวันหยุดผมต้องออกจากบ้านไปเดินตลาดนี้ เพื่อกิน “โจ๊กเกลือ” ที่คนจีนเขาหาบมา มีแต่ตัวโจ๊กเปล่าๆแล้วใส่แค่เกลือ ไม่มีหมูหรือผักอื่นใด ชามละ ๑๐ สตางค์ หากใส่เส้นหมี่ทอดก็เพิ่มอีก ๑๐ สตางค์ เป็น ๒๐ สตางค์ รสชาติของเขาอร่อยมาก ยังคิดถึงอยู่

นอกจากนั้นก็มีคนจีนหาบ “ก๋วยจั๊บ” ที่เอาเส้นก๋วยจั๊บใส่ถังไม้มาขายอร่อยมาก ซึ่ง

อาแปะคนขาย จะออกมาตั้งขายตอนสายหน่อย มาถึงวันนี้ “ตลาดบ้านหม้อ” ร่วงโรยลงไป มีร้านค้าเหลือน้อยเต็ม ทีเพราะเจ้าเก่าพากันขายหรือเซ้งให้กับพวกขายเครื่องเสียไปจนหมดสิ้น

จากบ้านที่บ้านหม้อ เดินไปที่ศาลาเฉลิมกรุงข้ามฝั่งตรงข้ามจะเป็นตลาดบำเพ็ญบุญ ซึ่งก็เป็นตลาดสด ก็เป็นตลาดใหญ่มีวิกลิเกมาเปิดเป็นบางครั้ง และที่เปิดประจำตอนผมเป็นเด็กก็คือวิก “ระบำตาหรั่งเรืองนาม” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ระบำจ้ำบ๊ะ” เอาผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย มาเต้นยั่วยวนใจเสือป่า ผมแอบไปดูตั้งแต่เด็กเพราะความอยากรู้ สำหรับตลาดส่วนไม่ห่างจากเฉลิมกรุงสักเท่าใด ทางด้านติดถนนพาหุรัด ก็จะเป็น “ตลาดมิ่งเมือง” ซึ่งเป็นตลาดเย็บผ้า คือคนมาซื้อผ้าที่พาหุรัดแล้วก็เอาผ้าเข้ามาตัดที่มิ่งเมืองได้ทันที ตัดเช้าได้เย็นก็มี ตอนนี้กลายเป็นศูนย์การค้าไปเรียบร้อยแล้วคือ “ดิโอลด์สยาม”  ซึ่งสองหรือสามเดือน ผมก็จะไปนั่งคุยกับพรรคพวกสร้างหนังและดาราเก่าๆหลังเฉลิมกรุง เพื่อทบทวนความหลังกัน

หากเดินย้อนไปตามถนนพาหุรัดก็จะชนกับตลาดสะพานหัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังคงเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญเช่นเดิม ตอนที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่น มีแม่ค้าสองคนพี่น้องขายขนมหวานหน้าตาสะสวยขายอยู่เจ้าหนึ่ง ตอนหลังเขาลือกันว่าผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองที่ชอบสะสมผู้หญิงท่านเอาไปเก็บไว้หนึ่งคน อีกคนดูเหมือนท่านจะติว่า “ดำไป” เลยต้องมานั่งขายขนมเหมือนเดิม ป่านนี้คงเป็นคนย่าคุณยายกันไปหมดแล้ว เรื่องผู้หญิงนี่ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนจริงๆ ยิ่งเรื่องผิวนี่แตกต่างกันนัก ชอบขาวไม่ชอบดำหรือกลับกันไม่ชอบสาวขาวชอบคนผิวคล้ำก็มี ดีไปอย่างเพราะไม่ต้องมานั่งทะเลาะกัน

มี “กาด” อยู่สองประเภทของทางเหนือ ที่คนกรุงเทพอาจไม่เคยได้ยินนั่นคือ “กาดโก้งโค้ง” กับ “กาดงัว(วัว)” หรือ “กาดควาย”

กาดงัว (วัว) หรือ “กาดควาย”
บางทีก็เรียกผสมว่า “กาดงัวกาดควาย” หมายถึงสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้เป็นพิเศษสำหรับการซื้อขายวัวควาย ที่จังหวัดเชียงใหม่ผมเห็นมีอยู่แห่งหนึ่งที่บ้านทุ่งเสี้ยว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดพะเยาว์ก็มีกาดวัว ที่บ้านบ้านหนองหวี ส่วนมากเขาจะเปิดติดตลาดอาทิตย์ละครั้ง ตั้งแต่เช้าถีงเย็น

การซื้อขายวัวควาย แต่ละสัปดาห์นั้น จะมีจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากเป็นหน้านาก็มีวัวควายมาจำหน่ายน้อย แต่ใกล้หรือหมดฤดูทำนาจะมีวัวควายมาก บางครั้งกว่า ๕๐๐ ตัว การซื้อขายจะตกลงราคากัน และเขามีคำพูดเฉพาะในวงการค้าวัวควาย ซึ่งผมไม่ค่อยเข้าใจนัก เป็นศัพท์ของโคบาลหรือคาวบอย การซื้อขายจะใช้เงินสด หรือแลกเปลี่ยนเป็นจักรยาน จักรยานยนต์ก็ได้ เมื่อตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องไปทำใบซื้อขายกับเจ้าของตลาด โดยมีการตรวจหลักฐานแจ้งรูป พรรณของวัว-ควายและราคาขาย ผู้ขายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับเจ้าหน้าที่ในอัตราตัวละ ๕ บาท วัวควายที่ซื้อขายกันนั้น บางคนนำไปใช้งาน บางคนนำไปขายต่อ บางคนนำไปฆ่า เรียกได้ว่ามีการค้าเกิดขึ้น เป็นผลดีกับวงจรทางเศรษฐกิจ คือเงินได้สะพัดหลายรอบมากขึ้น

กาดงัวนี้ผมเคยไป เพราะนอกจากเป็นแหล่งค้าวัวค้าควายแล้ว ยังเป็นแหล่งที่พวกโจรเอาของที่ลักมาได้ไปขาย บางครั้งก็นำตำรวจไปกวดจับเอาผู้ร้ายได้ที่กาดงัวนี้ และมีที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ กาดงัวมักมีโสเภณีออกไปหาเงินในวันที่มีการติดตลาด ซึ่งเป็นแหล่งแพร่โรคอย่างสำคัญเลยทีเดียว

ส่วน “กาดโก้งโค้ง” หมายถึง ตลาดที่ผู้ขายนำสินค้ามาวางขายบนพื้น เวลาผู้คนไปจับจ่ายซื้อของก็ต้องก้มตัวลงไปหาผู้ขาย ก้นหรือสะโพกก็ลอยโด่งขึ้นในลักษณะ “โก้งโค้ง” ผู้ชายหนุ่มๆชอบมาดูก้นสาวๆแล้วแอบนินทาว่าคนนี้สะโพกแบน หรือก้นเป็นกาละมัง สุดแท้แต่ปากพาไป เขาเลยเรียกชื่อตลาดหรือกาดชนิดนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “กาดโก้งโค้ง”

ตลาดที่ผมชอบมากอีกชนิดหนึ่งคือ ตลาดน้ำ ผมเห็นว่าตลาดน้ำนี้ แสดงถึงการดำเนินชีวิตของชุมชนชาวไทยภาคกลางได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จำได้ว่าเห็นครั้งแรกคือตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำบ้านเรามีอยู่หลายแห่ง ที่ผู้คนไปมากก็เห็นจะเป็นตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งผมไปมาหลายครั้งหลายหน พอมีเพื่อนจากต่างประเทศมาก็ต้องเป็นไก๊ดนำเที่ยว นี่ก็เตรียมว่าหากหลานโตขึ้นพอว่ายน้ำเป็นก็จะต้องพาไป ตลาดน้ำนั้นก็เหมือนตลาดสดทั่วไป เพียงแต่ผลผลิตต่างๆอาจ จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลซึ่งมีทั้งพันธุ์ไม้ ผักสด ผลไม้และสัตว์น้ำต่างๆ มาจำหน่ายเช่นเดียวกับตลาดสด

ตลาดน้ำเป็นแหล่งศึกษาอารยะธรรมและความเป็นอยู่ของคนไทยได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่พวกเราควรอนุรักษ์เอาไว้ จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตลาดน้ำปัจจุบันเขาได้พัฒนาไปมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว มีสินค้าทั้งของสด ของแห้ง ของที่ระลึกมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอาหารและผลไม้ ซึ่งผมสังเกตว่าจะเป็นถูกอกถูกใจของคนต่างประเทศไม่น้อยทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังมีขนมหวานซึ่งบางทีก็ไม่ใช่ของท้องถิ่น เพราะไปเห็นขนมหม้อแกงเมืองเพชร ที่ไม่โรยหอมเจียวโรยหน้า เนื้อเนียนละเอียด เขาเอาไปขายที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน ขนมหม้อแกงนี่ฝรั่งกินได้ไม่เคอะเขิน เพราะกรรมวิธีทำเหมือนคัสตาร์ดบ้านเขาเลยทีเดียว

ตลาดที่มีเหมือนกันในทุกภาคคือ “ตลาดนัด” ทางเหนือเรียกว่า “กาดนัด” คือนัดกันมาติดตลาด แต่ก่อนเมื่อเป็นเด็ก ผมไปตลาดนัดสนามหลวงบ่อยมาก เพราะอยู่ใกล้บ้าน เรียกได้ว่าว่างเป็นต้องไป การเดินตลาดสำหรับผมแล้วเป็นเรื่องของความสุขโดยแท้

สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ตลาดประเภท "ซูเปอร์มาร์เก็ต" เข้ามารุกรานทำให้คนไปตลาดน้อยลง จำนวนตลาดในกรุงเทพมีน้อยลง เพราะผู้คนหันไปจ่ายของในที่ที่สะดวกกว่า ทำให้ตลาดหลายแห่งต้องปรับตัวสู้ เดี๋ยวนี้หน่วยรัฐเราทันสมัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาจัดระเบียบให้ตลาดสด ยกมาตรฐานตลาดสดให้เป็นสถานที่จับจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภค ที่ผู้ซื้อจะได้ของสะอาด ถูกหลักอนามัย ตลาดสดขนาดใหญ่ (ขนาด ๒๐๐ แผงขึ้นไป) ที่ได้รางวัลชนะเลิศ ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน ตลาดนี้ผมชอบไป รางวัลรองชนะเลิศอีนดับ ๑ คือ ตลาดสดแฮปปี้แลนด์ เขตบางกะปิ ส่วนตลาด อ.ต.ก. เขตจตุจักร ที่ไปเป็นประจำได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ส่วนรางวัลชมเชย ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินคือ ความสะอาด การปักป้ายราคาแสดงสินค้า และที่สำคัญมากคือตราชั่งต้องตรง

ผมอยากให้ตลาดสดบ้านเราได้มีการพัฒนา ไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเป็นคนรักตลาด และการไปตลาดของผม เป็นการทำให้ตัวเองรู้สึกสดชื่นสนุกสนาน ข้อสำคัญคือความรักขนมไทยด้วย หากท่านไปตามซุปเปอร์จะหาทานแทบไม่ได้ โดยเฉพาะขนมไทยที่ใส่หม้อดิน เช่นปลากริมไข่เต่า ฟักทอง แกงบวดต่างๆ และที่ชอบมากๆ บางชนิดก็หาไม่ได้เลยในซุปเปอร์มาเก็ต เช่นกาละแม ข้าวเหนียวแดง ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมเล็บมือนาง (ขนมคันหลาว) เป็นต้น โดยเฉพาะขนมอร่อยของทางใต้ เวลาลงไปทีไรต้องหากินทุกทีคือขนมลา และขมกง โดยเฉพาะตอนงานบุญเดือนสิบ

ขนมลานั้นเขาหมายถึง เสื้อผ้าแพรพรรณ ส่วนขนมกงนั้นหมายถึงเครื่องประดับ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นขนมที่ขายในตลาดสดทั้งนั้น หากมีแต่ซุปเปอร์ขนมเหล่านี้อาจสูญพันธ์ไปจากบ้านเราเลยก็ได้

ตอนเป็นนายตำรวจใหม่ๆ ผมจะต้องออกไปทานกาแฟตอนเช้าในตลาด ร้านกาแฟหากไม่อยู่ในตลาดก็อยู่หน้าตลาด และเป็นแหล่งชุมนุมของพวกข้าราชการท้องถิ่นอย่างที่เคยเล่าให้ฟังใน “กาแฟขม...ขนมหวาน เล่มที่ ๑” แต่หากเป็นต่างจังหวัด สมัยที่การคมนาคมไม่สะดวก มีแต่ทางรถไฟ หนังสือพิมพ์จะต้องมากับรถไฟคือขนขึ้นที่สถานีหัวลำโพงตั้งแต่เช้า มาถึงจังหวัดปลายทางก็เย็นหรือค่ำ กว่าจะแกะห่อหนังสือพิมพ์ออกขายกันได้ ร้านกาแฟจะต้องรับหนังสือพิมพ์ให้ลูกค้าได้อ่านกัน คนทางเหนือ ใต้ และอีสาน จะอ่านหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ที่กรุงเทพในตอนตอนเย็น ดังนั้นสมัยก่อนร้านกาแฟนอกจากแน่นตอนเช้าแล้ว ยังมีคนมากในตอนเย็นอีกรอบหนึ่งด้วย แต่เดี๋ยวนี้การคมนานคมสะดวก ร้านกาแฟที่เคยแน่นตอนเย็นก็เลยจางไป ผู้คนหันไปเข้าร้านขายเหล้ากันแทน แต่ร้านกาแฟตอนเย็นยังคงมีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีร้านน้ำชาที่เปิดขายตอนเย็นด้วย ซึ่งผู้คนก็ยังออกมาจิบกาแฟและชากันมาก เพราะคนไทยมุสลิมแถวนั้นเขาไม่กินเหล้ากัน หากแต่กินชาและกาแฟแทน

ผมมีเพื่อนหลายคนที่พ่อแม่ค้าขายอยู่ในตลาด เพื่อนนายตำรวจที่สนิทกันของผมคนหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ดำเนินกิจการร้านขายของชำขนาดใหญ่ในตลาดต่างจังหวัด จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้เป็นนายพลตำรวจที่เกษียณแล้ว บางวันก็ไปช่วยพี่สาวขายของชำในตลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะทำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กถึงจะเป็นนายพลแล้วก็ยังทำได้ และนักการเมืองใหญ่ๆหลายคนขนาดกุมบังเหียนประเทศมาแล้ว คุณแม่ค้าขายอยู่ในตลาด จนเป็นที่รู้จักและนับถือกันทั้งจังหวัด หรือระดับผู้นำที่ผู้บุพการีขายกาแฟอยู่ที่ร้านติดตลาดสด ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการค้าขายในตลาดนั้น เป็นเรื่องการทำมาหากินโดยสุจริต ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ หรือต้องมาดูถูกดูแคลนกันเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่น่ารังเกียจหรือไม่น่าพอใจนั่นก็คือ คนต่างประเทศเขาบอกว่า บ้านเราเป็น “ตลาด กามารมณ์” หรือ “ตลาดค้ากาม” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย มีการบรรยายถึงสรรพคุณสถาน

อาบอบนวดในประเทศว่า เป็น “ซ่องโสเภณี” ที่วิลิศมาหลามากที่สุดในโลก อย่างนี้เราจะต้องพิจารณาจำกัดวงไม่ให้มันขยายมากไปกว่าที่มีอยู่ และต้องมุ่งสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพขึ้น ด้วยการชี้ผิดชี้ถูกให้พวกเขาได้รับทราบกัน

คนที่บริหารบ้านเมืองที่ชอบใช้คำว่า national agenda หรือ วาระแห่งชาติ ผมคิดว่าเรื่องการปกป้องเยาวชนให้ออกห่างจากความเลวร้ายนี่แหละครับ ควรเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญยิ่ง เพื่อกีดกันพวกอนาคตของชาติเรา ออกจากจาก “ตลาดกามารมณ์” ให้ได้ ต้องแจกแจงให้เห็นว่าเด็กสาวที่ไปแก้ผ้าแก้ผ่อน เล่นหนังกายกามโตเกียวที่อื้อฉาวนั่นเป็นเรื่องผิด คนไทยรับไม่ได้ ลูกหลานทั้งหลายอย่าได้เห็นดีเห็นงามไปเป็นอันขาด

หากรัฐบาลหน้าที่จะเลือกตั้งกันเข้ามาใหม่ คิดสั้นเปิดเอนเทอร์เทนต์เมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ผมเรียกว่าเป็น “สิ้นคิดคอมเพล็กซ์” ก็จะยิ่งเป็นช่องทางสำคัญ ที่จะผลักให้เยาวชนของชาติเรา เข้าสู่เส้นทางหากินเป็นโสเภณีกันมากยิ่งขึ้น ต้องระวังกันไว้ให้มาก อย่าได้คิดหาเงินง่ายๆ โดยลืมคิดเรื่องศีลธรรมจรรยาไป เพราะแค่นี้ผู้คนเขาก็ด่ากันมากพออยู่แล้ว

เมื่อตอนเด็กๆผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด พวกนักเรียนโรงเรียนนี้โกรธนักหนา หากใครมากเรียกชื่อโรงเรียนว่า “ราชินิ ปากคลองตลาด” โดยไม่ใส่คำว่าคลองฟังๆดูก็น่าโกรธสำหรับผู้หญิง เพราะคำว่า “ปากตลาด” หมายความ “ปากจัด” คนไทยนั้นชอบคนมีฝีปากจัดจ้าน มีปฏิภาณไหวพริบดี ดังนั้นการละเล่นอย่างเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงฉ่อย เพลงเรือ ลำตัด ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงปฏิภาณไหวพริบในการใช้ฝีปากของคนไทยทั้งนั้น

แต่คำว่า “ปากตลาด”นั้นดูท่าจะจำเป็นสำหรับนักการเมือง เพราะหากฝีปากไม่จัดจ้านพอตัว ดูเหมือนจะถูกฝ่ายตรงข้ามถูกเสียดสีเอาเสียฟอร์มไปได้ง่าย แต่ที่เห็นอยู่นี่นับว่ายังสูสีแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับ ผลัดกันด่า และผลัดกันเสียดสี เพราะทั้งนักการเมืองตัวเด่นของทั้งสองค่าย ต่างมีวิถีชีวิตเยาว์วัยอยู่ใกล้ตลาด เลยติด “ปากตลาด” ไม่แพ้กัน แต่ก็ทำให้ผู้คนได้เพลิดเพลินกับคำด่าคำเสียดสี และสนุกสนานกับการโต้ตอบในระดับเดียวกัน บางทีประชาชนก็พลอยผสมโรงด่าทั้งสองฝ่ายเข้าไปด้วยอย่างครื้นเครงทีเดียว ไม่ใช่เลือกเอาแต่อยู่ข้างผู้ชนะ อย่างที่มีคนคิดเสียเมื่อไหร่กัน อีกทั้งคนไทยเราก็ชอบและเห็นใจมวยรองด้วย ผนวกกับอารมณ์ยามข้าวของค่ารถค่าราแพงขึ้นอย่างพรวดพราด ผู้คนเริ่มลำบาก อารมณ์คนไทยยิ่งวูบวาบขึ้นๆลงๆง่ายๆ โดยเฉพาะคนกรุงเทพ เพราะคนเมืองหลวงเขาเห็นว่าเริ่มเห็นผู้ปกครองเป็นฝั่งตรงข้าม และหากยังทะนงคิดว่า ฝ่ายตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ ด้วยการพยายามเอารัดเอาเปรียบในทุกๆทาง แบบเอาแต่ได้เอา-เสียไม่ยอม ผิดหรือถูกไม่รู้ ขอให้ชนะเอาไว้ก่อน
คนไทยที่รักความยุติธรรมก็จะพลอยแช่งด่าเข้าให้ และท่านอาจารย์ พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า

ปากคนไทยนั้นกินแต่ของเผ็ดของร้อน แช่งใครแล้วก็มักขลังนัก ใครก็ตามที่ถูกคนไทยส่วนใหญ่ “แช่ง” เข้าให้ทุกวันๆ มักจะต้องพินาศ พบความหายนะ วายวอด ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันอยู่แต่ทะลึ่งไม่จำกัน !

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สนุกสนานกับการพาดหัวเรื่องการซื้อควายขายคน ทำให้เกิดวิวาทะขึ้นหลายคู่ ชาวบ้านได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กันอย่างครื้นเครง

ควายหลายตัวเลียนแบบคน เดินเข้าไป "กาด" ตั้งราคาซื้อขายตัวเอง กระบือบางกลุ่มก็ขายพวกตัวเองแบบยกแก๊ง ยอมเดินเข้าไปในคอกใหม่ที่เขา ขังทั้งควายขังทั้งหมาปนกัน ทำให้ผู้คนขบขันและรู้สึกสมเพชเวทนากับข้อแก้ตัวต่างๆ ที่สรรหามาอ้างการเดนิเข้าคอกเป็นอันมาก

บางคนเขาวิจารณ์ว่า เจ้าควายที่น่าชังเหล่านี้มันต้องเข้าไปอยู่ในคอก ที่เขรอะไปด้วยอาจมและของเสีย แต่ละตัวเมื่อเข้าคอกไปแล้วก็อ้าปากกันไม่ออก เพราะเขาเอาหญ้าเงินหญ้าทอง ยัดปากให้เคี้ยวเอื้องกันไป ปล่อยให้ผู้เป็นนายสนตะพาย จูงเดินตามตูดคนซื้อตัวต้อยๆ ไม่ว่าเขาจะไปทางไหนก็ต้องตามใจ จะคัดง้างอะไรก็ไม่ได้ เพราะขายตัวให้เขาแล้ว จะไม่เชื่อฟังเขาได้อย่างไรกัน ถ้านายเขาจะให้ยกขาหน้าหรือดีดขาหลัง ถึงจะรู้สึกเก้ๆกังๆอย่างไรก็ต้องแม้ตัวเองจะไม่เห็นด้วยก็ต้องฝืนใจ มันก็เลยดูชอบกล !

ควายตัวไหนที่มันทนอึดอัดไม่ได้ แม้จะแหกปากร้องครวญครางหาความชอบธรรมตามที่พึงจะได้ เจ้าของคอกเขาก็จะเอาปฏักทิ่มปากเข้าให้ เพราะเป็นควายทาสไปแล้ว จะมาทะลึ่งเรียกร้องสิทธิหรือแอ๊คท่ามากก็ไม่ได้ เดี๋ยวนายเขาโกรธเอา เผลอๆจะโดนไล่ออกจากคอก เหมือนไล่หมูไล่หมาวันใดก็ยังไม่รู้อนาคต สุดท้ายต้องกลายเป็นกระบือหมดราคา สูญสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นควายไทยไปเลย ช่างน่าเวทนาเสียนี่กระไร !!

หากท่านผู้อ่านบังเอิญไปพบเจ้า “ควายขายตัว” ฝูงนี้ ช่วยตะโกนดังๆ ให้พวกมันได้ยิน เพราะมีคนเขาฝากคำพูด ของผู้ที่เขารู้เช่นเห็นชาติกระบือ ว่า

"ฉันสงสารพวกแกนักหนา เจ้าควายเอ๋ย…ควาย !!!"

                                  ……………………………………..

กำลังโหลดความคิดเห็น