xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 141 “ รัฐบาลแม่ตะขาบ !!”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว เปิดวิทยุไปหลายสถานีได้ยินเสียงเพลง ซึ่งบอกวาระอันเป็นมิ่งมหามงคลใกล้จะมาถึงในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ นี้แล้ว คือวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ

ปีนี้เป็นปีพิเศษมิ่งมหามงคลเพราะทรงเจริญพระชนม์มายุครบ ๗๒ พระชันษา ชาวไทยเราต่างปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้น ได้ทรงเป็นคู่พระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯยังทรงเป็นเสมือนพระมาตาของชาวเรา เป็นเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ทรงกอบพระราชกรณียกิจของพระองค์อย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบ ด้วยพระราชจริยาวัตรที่งดงาม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนอย่างใหญ่หลวง น้ำพระราชหฤทัยนั้นได้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พระเมตตาให้ประชาชนนั้น อย่างไม่มีวันแห้งเหือดลดลงแม้แต่น้อยมีแต่เพิ่มปริมาณมากขึ้น เปรียบดังแม่น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ที่ชาวเราดื่มกินหล่อเลี้ยงชีวิตกันได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด

ในวโรกาสสำคัญจะมาถึงอีกสองวันข้างหน้า ขอพวกเราชาวไทยน้อมใจร่วมกัน จุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน !

เพลงที่บอกเวลาวันสำคัญของชาติ คือวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระบรมราชราชินีนาถ และ “วันแม่” มาถึง คือเพลง “ค่าน้ำนม” ของครูไพบูลย์ บุตรขัน โดย เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ครูชาญ เย็นแข เป็นผู้ร้องในครั้งนั้น แต่ที่ได้ยินกันเสมอเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ ครูสมยศ ทัศนพันธ์ เป็นผู้ขับร้อง เพลงนี้ดีทั้งเนื้อร้องและทำนองเลย ผู้คนจึงจดจำและร้องกันได้เกือบทั้งประเทศ เพลงขึ้นต้นได้อย่างซาบซึ้ง ว่า

“แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง แม่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล
แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล”


เพลง “ค่าน้ำนม” นี้ มีคนบอกผมว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาเวลาเขาจัดงานวันแม่ตามวัดไทยก็มีการร้องเพลงนี้ เช่น วัดพุทธรังษี ไมอามี่ เขากำหนดการกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ผ่านมา (เพราะวันที่ ๑๒ สิงหาคม ไม่ตรงกับวันหยุด) พอเปิดงานสายๆคนไทยที่มางาน ร่วมกันถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นมีการถวายพานพุ่ม เปิดกรวย กล่าวถวายอาศิรวาท คนที่มางานร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาถวายพระพร ผู้มาร่วมงานตั้งจิตอธิษฐาน รำลึกถึงพระคุณแม่และ ร่วมกันร้องเพลง “ค่าน้ำนม” ลูกทุกๆคนกราบแม่ แม่รับขวัญลูก แล้วก็ถวายเพลพระสงฆ์ และรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่งดงามและมีคุณค่าทางจิตใจมากๆ

ผมอยากให้โรงเรียนทุกแห่งในประเทศ ตลอดจนองค์กรเอกชนต่างๆ หากจะจัดงาน “วันแม่” ถ้ามีการร่วมกันร้องเพลง “ค่าน้ำนม” อย่างนี้ได้ก็จะดี หรือหากมีการดำเนินการในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงไปในทุกระดับชั้นจะยิ่งดีมากทีเดียว ร้องเพลง “ค่าน้ำนม” กันให้กระหึ่มทั้งประเทศ หรือวันที่ ๑๒ สิงหาคม ที่จะถึงนี้ โดยขอเสนอให้ คณะกรรมการมูลนิธิ ๕ ธันวา มหาราช ซึ่งจะจัดให้มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะ ในวันดังกล่าวที่ท้องสนามหลวง ประชาชนชาวไทยทั้งในและต่างประเทศ ทุกศาสนา ทุกเชื้อสาย จะร่วมกันจุดเทียนชัยถวายพระพรโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว ผมอยากให้นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานในพิธี ณ มณฑล สนามหลวง ดำเนินการเป็นตัวอย่างนำร่องก่อน โดยเป็นผู้นำประชาชนร้องเพลง“ค่าน้ำนม” ในวันอันเป็นมงคลยิ่งนี้ หากนายกร้องเพลงนี้ไม่สันทัด ก็ให้ท่านผู้ว่าสมัคร สุนทรเวช ของผม เป็นผู้ร้องนำแทน เป็นเพลงสุดท้ายอำลาตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เพลง “ค่าน้ำนม” เป็นเพลงที่ลูกร้องให้ “แม่” แต่ถ้าหากเราจะมองดูย้อนไปในอดีต เพลงกล่อมเด็กที่พ่อ แม่ หรือ ปู่ย่า ตายาย ร้องกล่อมลูกหลานนั้น นอกจากจะกล่อมให้เด็กหลับแล้ว ยังเป็นการสอนให้เด็กรู้ภาษา หรือหัดออกเสียงได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นยังถ่ายทอดความรู้ ความเป็นไปในธรรมชาติ การทำมาหากิน การดำเนินชีวิต ค่านิยมต่างๆ เป็นการระบายความในใจความผูกพันกันระหว่างผู้ร้องกับเด็ก และที่สำคัญที่สุดก็คือผู้เป็นแม่

เพลงกล่อมเด็กของไทยส่วนใหญ่แล้วนั้น เราจะได้เห็นชัดเจนถึงสายใยความสัมพันธ์ที่แน่นเหนียวระหว่างแม่กับลูก เป็นการแสดงถึงความรักอย่างล้ำลึก ความห่วงใยอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู ผู้เป็นสายโลหิตเอาไว้ใกล้ตัว

บทเพลงกล่อมเด็กจึงเป็นบทเพลงที่แสดงอารมณ์ ความรักความผูกพันระหว่างแม่-ลูก ซึ่งแต่ละบทมักแสดงถึงความรักความอาทร ทะนุถนอม ที่แม่มีต่อลูกอย่างซาบซึ้งทั้งสิ้น และเพลงก็จะมีคำว่า “แม่” ลองดูบางเพลง เช่นเพลง นกเขาขัน เพลงเขาบอกว่า

นกเขาเอย ขันแต่เช้าไปจนเย็น ขันไปให้ดังแม่จะฟังเสียงเล่น เนื้อเย็นเจ้าคนเดียวเอย

หากจะไปดูเพลง กาเหว่า ที่ผู้คนรู้จักมาก ซึ่งเพื่อนของผมคือ พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท เจ้าของฉายา “เอลวิสบางปะหัน” บอกว่าได้ยินทีไรน้ำตาพาลคิดถึงแม่ทุกทีก็มีคำว่า แม่อยู่แม้ว่าจะไม่ใช่ลูกแท้ๆของตน เพลงนี้ผมว่าคลาสสิคมากเลยทีเดียว เพราะผูกเป็นเรื่องราวที่สอนใจเด็กได้ดี ทั้งเรื่องความรักและความผูกพันของแม่กับลูก แม้จะไม่ใช่เป็นแม่แท้ แต่ก็ด้วยสำนึกของความเป็นแม่ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว ผมลองถามหลายคนว่า จำเนื้อร้องได้ทั้งเพลงไหม ปรากฏว่าคนที่ผมถามไม่มีใครจำได้ทั้งเพลง ส่วนมากจำได้คนละท่อนสองท่อน เลยต้องเอาเนื้อเต็มๆ มาฝากท่านผู้อ่านดังนี้

          กาเหว่าเอย          ไข่ให้แม่กาฟัก
          แม่กาหลงรัก         คิดว่าลูกในอุทร
          คาบข้าวมาเผื่อ       คาบเหยื่อมาป้อน
          ปีกหางเจ้ายังอ่อน   สอนร่อนสอนบิน
          แม่กาพาไปกิน       ที่ปากน้ำแม่คงคา
          ตีนเหยียบสาหร่าย  ปากก็ไซ้หาปลา
          กินกุ้งกินกั้ง           กินหอยกระพังแมงดา
          กินแล้วบินมา         จับต้นหว้าโพธิทอง
          นายพรานเห็นเข้า    เยี่ยมเยี่ยมมองมอง
          ยกปืนขึ้นส่อง         หมายจ้องแม่กาดำ
          ตัวหนึ่งว่าจะต้ม       ตัวหนึ่งว่าจะยำ
          แม่กาตาดำ            แสนระกำใจเอย


ส่วนเพลงที่แสดงความรักใคร่เอ็นดู ทะนุถนอมเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นเพลง “เจ้าเนื้อละมุน” ซึ่งซาบซึ้งมาก

เจ้าเนื้อละมุนเอย  เจ้าเนื้ออุ่นเหมือนสำลี
แม่มิให้ผู้ใดต้อง  เนื้อเจ้าจะหมองศรี
ทองดีเจ้าคนเดียวเอย

สำหรับเพลงที่กล่อมให้ลูกนอนตรงๆเลย ก็ดูเหมือนจะเป็นเพลง “นอนไปเถิด”
นอนไปเถิดแม่จะกล่อม  นวลละม่อมแม่จะไกว
ทองคำแม่อย่าร่ำไห้  สายสุดใจเจ้าแม่เอย


เพลงที่กล่อมให้ลูกนอนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ ซึ่งผู้คนรุ่นหลังอาจยังไม่ทราบคือ เพลง “Lullaby” ซึ่งมีเนื้อร้องทั้งภาษาไทยและอังกฤษทำนองเพลงไพเราะมาก ใครมีลูกขอแนะนำว่าหัดร้องเพลงนี้กล่อมลูกจะดีไม่น้อย หรือหากร้องไม่ได้ก็ต้องไปหาซื้อเทปมาเปิดให้เขาฟังกันตั้งแต่ยังแบเบาะ เพราะเรื่องให้เด็กฟังเพลงฟังเทปดนตรีนี้จะทำให้เขาหรือเธอคุ้นกับเสียงดนตรี ทำให้จิตใจอ่อนโยนและเผลอๆหากมีโอกาสได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ตอนโตอาจใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือหาลำไพ่พิเศษ อย่างลูกของผมเองซึ่งเป็นทั้งนักดนตรี นักร้อง แต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานได้ รวมอยู่ในตัวคนเดียวกันหมด ไม่ใช่คนเดียวแต่ทั้งสองคน และสามารถคว้ารางวัลของมืออาชีพได้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยกันทั้งคู่ (ตรงนี้ต้องขอคุยหน่อยๆ)

คำว่า “แม่” นั้น ในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย คือ ผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อลูก ๆทุกคน แม่จะคอยดูแลเอาใจใส่และประคบประหงมลูกจนเติบใหญ่ ความรักของแม่ถือว่าเป็นความรักที่บริสุทธิ์ จึงนำ “ดอกมะลิ” ที่มีสีขาวบริสุทธ์และหอมเย็นชื่นใจ เหมือนความรักของมารดา มาเป็นสัญญาลักษณ์ของ “วันแม่”

สังคมไทยมักพูดถึงแม่ในฐานะของผู้ที่รักลูกยิ่งชีวิต พร้อมจะตกระกำลำบากเพื่อลูกของตนโดยไม่สำนึกเสียใจ ที่รักลูกมากในวรรณคดีไทย ที่ประทับใจผมมากๆ เห็นจะเป็นนางมณฑาของท้าวสามล เพราะแม้ลูกรจนาเธอจะเลือกเอาเงาะป่าบ้าใบ้มาเป็นคู่ครอง ก็ยังเป็นห่วงเป็นใยไม่โกรธลูกเลยแม้แต่น้อย ลูกถูกพ่อยังให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา แม่ก็ตามไปดูแล ช่วยปลอบโยนให้กำลังใจลูก หากท่านผู้อ่านพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าผู้หญิงอย่างนางมณฑานั้น เป็นผู้หญิงที่เฉลียวฉลาดมาก เก่งกว่าท้าวสามลเยอะ เรียกว่าเป็น “ช้างเท้าหน้า” เสียด้วยซ้ำไป

อีกท่านหนึ่งที่น่ายกย่องคือ “นางทองประศรี” แม่ของขุนแผน แม้ขุนไกรผู้สามีจะถูกประหารบ้านเรือนถูกริบเป็นราชบาตรแล้ว นางก็ยังกะเตงหอบพาลูกคือ “พลายแก้ว”หลบหนีราชภัยไป กลอนเสภาตอนนี้บอกว่า “มือกระเดียดกระบุงแล้วจูงลูก จิตผูกเกรงภัยให้นึกพรั่น” นางทองประศรีได้หนีไปสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ที่กาญจนบุรี ดูและลูกด้วยความเรียบร้อยลูกชายคนเดียวด้วยความเรียบร้อย โดยไม่คิดที่จะหาสามีใหม่ พอถึงเวลาที่จะต้องลูกต้องเข้ารับการศึกษา ก็พาไปบวชเรียนกับหลวงตาบุญที่วัดส้มใหญ่ กาญจนบุรี จนหมดภูมิรู้ของอาจารย์ นางก็ให้ลูกศึกษาก้าวหน้าสูงขึ้นไปอีก โดยให้ไปเรียนต่อกับหลวงตามีสมภารวัดป่าเลไลย ที่สุพรรณ ให้ท่านช่วยสั่งสอน ซึ่งผมเคยเปรียบเหมือนเป็นการพาเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร (ดูกาแฟขม…ขนมหวานเล่มที่ ๑) เณรแก้วหรือขุนแผนตอนนั้นก็ได้ร่ำเรียนวิชาทหารตามอย่างพ่อ ตอนหลังก็ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์คงเรียนวิชาชั้นสูงขึ้นไปตั้งแต่วิชายุทธวิธี การเสกใบมะขามเป็นต่อแตนจนเณรแก้วเก่งกล้าสามารถทางการรบทัพจับศึก ต่อมาก็ได้รับใช้ชาติรับใช้แผ่นดินทำราชการทำศึกสงคราม กลายเป็นขุนพลใหญ่ ทำหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนคนแรก มีตำแหน่งเป็น “ขุนแผนแสนสะท้าน” ตำแหน่ง “แสนสะท้าน” เป็นตำแหน่งของตำรวจโดยแท้

นางทองประศรีนี่คือตัวอย่างผู้หญิงไทยที่ทำมาค้าขายเป็น หากท่านจะย้อนไปอ่าน “กาแฟขม…ขนมหวาน ตอนที่๑๒๕ ผู้หญิงมีกล้าม…กล้ามโต๊…โต ” ที่ผมบอกว่า ผู้หญิงไทยกุมกระเป๋าเงินหรือ holds the purse strings ของบ้าน เหนือกว่าผู้หญิงฝรั่งที่ต้องแบมือของตังค์ผัว และผู้หญิงชาวบ้านไทยคิดเลข ค้าขายเป็น จะเก่งกว่าสามีด้วยซ้ำไป ถึงสมัยนี้ก็เถอะ หากท่านผุ้อ่านเข้าไปในตลาดตามต่างจังหวัด จะเห็นว่าคนขายของเป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด ไม่เหมือนชาติอื่นเช่นญี่ปุ่น อินเดีย หรือฝรั่งก็ตามที ชาติเหล่านี้นี้ผู้ชายหรือผัวเป็นคนขาย ผู้หญิงจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ กรณีผู้หญิงเก่งทั้งเป็นแม่คนและทำมาค้าขายเก่ง นางทองประศรีนี่น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน

สำหรับความรักของแม่ที่แม้ลูกออกมาพิกลพิการ แต่ก็ยังรักลูกทะนุถนอมยอมลำบากไปกับลูกเราก้ได้เห็นกันทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ แต่เรื่องของ นางจันทร์เทวี ออกลูกมาเป็นหอยสังข์ จนต้องถูกขับออกจากเมือง ต้องพาลูกเซซังระเหเร่ร่อนไปโดยไร้ที่ซุกหัวนอน แต่ถึงกระนั้น นางก็ยังรักหอยที่เป็นลูกดูแลเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง ไม่ได้คิดรังเกียจเดียดฉันท์แม้แต่อย่างใด หรืออย่างนางพันธุรัตน์ เมียพระอภัยมณีแม้เป็นยักษ์ก็รักสินสมุทรผู้เป็นลูกอย่างเหลือกำลัง แต่นางพันธุรัตน์ ตนนี้หากลูกทำอะไรให้ขัดใจยังตีลูกบ้าง เพราะชาติภูมิของเธอเป็นยักษ์ แต่ก็เป็นยักษ์ที่รักลูกนัก

สรุปได้ว่า “แม่ในวรรณคดีไทย” ส่องสะท้อนความรักลูก ของคนไทยในยุคเก่าก่อนได้เป็นอย่างดี

สำหรับแม่ของฝรั่งที่เป็นคนมีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จัก และเป็นแม่ที่คนยกย่องว่ารักลูกเหลือเกินเช่น แม่ของ โทมัส เอลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งทะเลาะกับครู เพราะคุณครูหาว่าลูกของเธอว่าเป็นเด็กโง่ ดึงให้เด็กในชั้นเรียนล่าช้าตามไปด้วย คุณแม่เถียงว่าครูอย่ามาว่าลูกฉันนะ ลูกของฉันฉลาดจะตายชักยูมองไม่เห็นเอง ครูไม่สอนให้ฉันก็เอามาเรียนโฮมสกูลของฉันเองที่บ้านก็ได้ และคุณแม่ก็เอาออกด.ช.โทมัส ออกจากโรงเรียนจริงๆโดยนำลูกมาสอนเองที่บ้าน จนกลายเป็นนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าส่องสว่างให้กับโลกมาถึงทุกวันนี้

แม่ที่มองลูกออกว่าลูกนั้นเป็นอัจฉริยะก็เห็นจะเป็นคุณแม่ของแพทย์นักจิตวิทยาที่มีชื่อก้องโลกคือ ซิกส์มัน ฟรอยด์ เธอเรียกลูกของตัวเองว่า “My golden Ziggy” แล้วไม่ว่าจะยากดีมีจนก็จะเลี้ยงลูกคนนี้อย่างพิเศษ ไม่ให้ต้องเดือดร้อน แม่คอยเอาอกเอาใจทำให้ทุกอย่าง เจ้าหนูซิกกี้สีทองมีหน้าที่อย่างเดียวคือเรียนหนังสือ ซึ่งก็เรียนได้เลิศประเสริฐศรียึดที่หนึ่งตลอดชีวิตอย่างที่แม่หวังไว้
ส่วนแม่ของลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์คนที่แต่งเพลงในหนังเรื่อง West Side Story ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาคีตะกวีของอเมริกา คนนั้นแม่ก็เทิดทูน ลูกเกิดมาอ่อนแอออดแอด คุณแม่ก็ไม่ย่อท้อ แถมยังคุยว่า“ลูกของฉันนั้นเก่งไปทุกอย่าง สะกิดตรงไหนที่ตัวของเขาเจออัจฉริยะไปทั้งนั้น” ขนาดนั้นเลยทีเดียวเชียว
แม่คนหนึ่งที่ดูลูกออกว่าลูกมีความสามารถพิเศษ คือแม่ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้สร้างภาพยนต์มือเยี่ยมของโลก ลูกไม่สนใจการเรียนแม่ก็ไม่ว่า เอากล้องพ่อให้เล่นอีกด้วยซ้ำ โดยตัวคุณแม่ยอมเป็นดาราให้ลูกในหนังที่สตีเวนจะถ่ายทำ ไม่ว่าเด็กคนนี้จะถ่ายหนังเรื่องอะไร แม่ก็จะเป็นผู้คอยช่วยเหลือ เกณฑ์ทั้งคุณพ่อและลูกคนอื่นๆมาด้วย เพราะผลเรียนอ่อน สตีเวน สตีลเบิร์กเลยไม่สนใจการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไป กระโดดไปเอาดีทางการถ่ายทำภาพยนต์เลย นี่ก็เพราะแรงหนุนที่แม่ช่วยส่งเสริมแท้ๆ

แม่ฝรั่งที่ปกครองลูกอย่างเข้มงวดจนได้ดี คือแม่ของจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต ที่เป็นชาวคอร์ซิกัน เกาะของอิตาลีที่ฝรั่งเศสมักมาชิงไปเสมอๆ เมื่อวาสนาส่งให้นโปเลียนกลายเป็นจอมทัพที่เกรียงไกร จนสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ พอพบกับแม่ถามล้อๆว่า

“ทำไมแม่ไม่คุกเข่าให้กับองค์จักรพรรดิ เหมือนกับคนอื่นๆล่ะจ๊ะ ?”


เท่านี้เองคุณแม่มหาดุก็ตบหน้านโปเลียนเปรี้ยงเข้าให้ แล้วพูดเป็นภาษา
อิตาเลียน ว่า

“ที่หลังอย่างทะลึ่งกับแม่ !”


เห็นไหมครับว่า คุณแม่ของนโปเลียนนี่ดุระเบิดเถิดเทิงจริงๆ แม้คุณลูกจะเป็นจอมจักรพรรดิใหญ่โตจนผู้คนเกรงกลัวกันทั้งยุโรปแล้ว ก็ยังโดนแม่ทำโทษได้อยู่ดี
แต่ถึงยังไงก็ต้องยกย่องว่าท่านเป็น “ยอดคุณแม่” ที่เลี้ยงลูกได้ยิ่งใหญ่มากๆทีเดียว เป็นถึงจักรพรรดิที่มีชื่อเสียงคนรู้จักกันไปทั้งโลก (แม่นโปเลียนเป็นชาวคอร์ซิกัน พูดอิตาเลียน)

พูดเรื่อง “แม่” มาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงชนชาติมอญ ที่เขามีประเพณี แห่หงษ์ ธงตะขาบ ซึ่งขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า

เรื่องชองหงษ์นั้นคนมอญเชื่อว่า ตอนที่พระศาสดาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังภูเขา สุทัศนะรังสิตบรรพต ซึ่งอยู่เหนือเมือง “สะเทิม” ทรงทอดพระเนตรเห็นหงษ์ทองสองตัวลงเล่นน้ำ จึงทรงมีพุทธทำนายว่า สืบต่อไปแผ่นดินที่หงษ์ทองสองตัวลงเล่นน้ำนั้น จะกลายเป้นเมืองชื่อว่า “หงสาวดี” จะรุ่งเรืองไพบูลย์วัฒนาเป็นเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนา ฉะนั้น หากท่านผู้อ่านเห็นเสาหงส์ขึ้นอยู่ที่หน้าวัดใด โปรดทราบว่านั่นคือวัดรามัญหรือวัดมอญนั่นเอง


สำหรับตะขาบนั้น ตำนานของทางมอญเขาให้แง่คิดว่า ในทางธรรม คนมอญเขามองทุกส่วนของร่างตะขาบ แล้วสามารถตีความออกมาเป็นปริศนาธรรม คือ หนวดตะขาบสองเส้นเปรียบดั่งสติ คือความระลึกรู้ และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัว ส่วนหางทั้งสองเปรียบดั่ง ขันติ ความอดกลั้นและ โสรัจจะ ความเสงี่ยมเจียมตัว เขี้ยว ๒ เขี้ยว ดั่ง หิริ คือความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ตา ๒ ตา เปรียบเสมือบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ ประเภท คือบุพการี คือ บุคคลผู้ให้อุปการะมาก่อน และ กตัญญูกตเวที คือบุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำมาแล้ว และรู้จักทำตอบแก่ท่าน ลำคัวตะขาบมี ๒๒ ปล้อง ได้แก่ สติปัฎฐาน ๔ สับมัปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ และพละ ๕

ส่วนในทางโลก คนมอญเห็น ตะขาบ เป็น สัตว์ที่มีลำตัวยาว มีเขี้ยวเล็บเป็นพิษ สามารถต่อสู้กับสัตรูที่มาระรานได้ เปรียบเสมือนคนมอญที่ไม่เคยหวาดหวั่นศัตรู นอกจากนั้นตะขาบยังเป็นสัตว์ที่มีลูกมาก ในแต่ละครั้งประมาณ ๒๐–๓๐ ตัว แม่ตะขาบจะปกป้องลูกได้ในอ้อมอก ยามใดที่ลูกๆเลื้อยกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ แม่ตะขาบจะทิ้งตะแคงลำตัวโอบลูกๆทั้งหมดเข้ามาแล้วขดเป็นวงกลม เพื่อปกป้องภัยร้ายให้ลูกโดยเอาตนเป็นเกราะกำบังให้ลูกเพื่อพ้นจากภัยร้าย ซี่งนั่นหมายความ ว่า

หากผู้ปกครองของมอญ สามารถปกครองดูแลราษฎรได้เหมือนตะขาบแล้วไซร้ รามัญประเทศจะเจริญไปอีกนานแสนนาน และเต็มไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุขได้ ธงตะขาบ จึงเป็นสัญญาลักษณ์แห่งอำนาจบารมี เป็นสิ่งนำความสุขสวัสดี และความมีโชคชัย มาสู่ทุกผู้คนในหมู่บ้าน การแห่ธงตะขาบจึงควบคู่มากับการแห่หงส์

ประชาชนในประเทศไหนๆก็ตาม ที่เขามีความคิด ก็ล้วนแต่อยากได้รัฐบาลที่ให้ความรัก ความอบอุ่น ทะนุถนอมดูแลราษฎรอย่างจริงใจเหมือนเป็น “รัฐบาลแม่ตะขาบ”

ไม่ใช่รัฐบาลแม่ชนิด “สอนลูกให้เป็นโจร” อย่างในนิทานที่เด็กไทยสมัยหนึ่งต้องเรียนซึ่งเป็นแม่ที่มีวิธี ‘คิด’ แบบ “สิ้นคิด” คือ ‘คิด’ แต่จะนำแหล่งอบายมุขเข้ามาตั้งในประเทศ ปลุกปั่นให้ประชาชนซึ่งเป็นเสมือนบุตรตน ให้ลุ่มหลงแต่ในทางอบาย อันเป็นหนทางแห่งความพินาศฉิบหาย เป็นการทำร้ายประชาชนคนทั้งชาติ และเป็นเรื่องที่น่า “ขยะแขยง” อย่างยิ่ง !

อยากได้ “รัฐบาลแม่ตะขาบ” เหลือกำลัง แล้วละครับ !!

                                    …………………………………………..
กำลังโหลดความคิดเห็น