xs
xsm
sm
md
lg

เหยา หมิง No.2

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ในการคัดเลือกผู้เล่นใหม่ของ 'เอ็นบีเอ' ลีกบาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐฯ ประจำฤดูกาล ค.ศ.2002 ทั่วโลกต่างตกตะลึง เมื่อดราฟอับดับหนึ่งที่ทีมฮุสตันร็อคเกตส์เลือกนั้นกลับเป็น หนุ่มยักษ์หน้าตี๋ที่ชื่อ "เหยา หมิง" เซ็นเตอร์ทีมชาติจีน และทีมเซี่ยงไฮ้ ชาร์ค

ผ่านมาสองฤดูกาล แม้ เหยา หมิง จะยังไม่โชว์ฟอร์ม 'ดราฟอับดับหนึ่ง' ในลีกเอ็นบีเออย่างที่หลายคนตั้งความหวังไว้เพราะยังอยู่ในช่วงเก็บประสบการณ์ แต่ชื่อของเขาก็เป็นชื่อที่ คนอเมริกันทุกคนรู้จัก (แม้หลายคนจะออกชื่อภาษาจีนกลางของ เหยา ไม่ถูกต้องก็ตาม) บริษัทธุรกิจระดับโลกทั้ง เครื่องกีฬาอย่างรีบอค หรือร้านฟาสต์ฟู้ดอันดับหนึ่งของโลกอย่าง แมคโดนัลด์ ต่างก็วิ่งเข้ามา ดึงเอา เหยาที่มีอายุเพียง 20 กว่าๆ เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้า โดยในทางหนึ่งหวังว่า เหยา จะเป็นหนึ่งในประตูที่เปิดทางสู่ความรุ่งเรืองทางธุรกิจของตนใน ประเทศที่มีขนาดประชากรมากที่สุดในโลก และตลาดเติบโตเร็วที่สุดในโลก

ทั้งเหยา เอ็นบีเอ และวงการกีฬาจีน ต่างก็กำลังใช้อีกฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งของตน

เอ็นบีเอ หวังว่า เหยา จะเป็นกุญแจเพื่อไขเปิดประตูขยายตลาดผู้ชมให้กว้างขึ้น ซึ่งก็สมความตั้งใจเพราะ เมื่อ เหยา เล่นในเอ็นบีเอ ยอดผู้ชมการถ่ายทอดการแข่งขันเอ็นบีเอก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว คือ เอ็นบีเอได้ลูกค้าในเมืองจีนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 ล้านหลังคาเรือน

ส่วนในประเทศจีน เหยา กลายเป็น 'ไอดอล' กลายเป็น 'ฮีโร่' ในใจของเยาวชนจีนทั่วประเทศ เขากลายเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กจีนหันมาสนใจกีฬาบาสเกตบอล และมีความฝันว่า สักวันหนึ่ง ตนเองจะได้ไปเล่นใน เอ็นบีเอ บ้าง สักวันหนึ่งจะมีชื่อเสียงและร่ำรวย อย่างเหยา หมิง!"

หลังเลิกงาน หรือ วันหยุดสุดสัปดาห์หากเดินเล่นผ่านไปยังลานสนามบาสเกตบอล ไม่ว่าจะพื้นที่ใดของเมืองจีนก็มักจะพบ เด็กจีนกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการเล่นบาสเกตบอลแบบเอาจริงเอาจัง ...

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึง ต้นเดือนสิงหาคม 2547 ในการแข่งขันบาสเกตบอล FIBA Diamond Ball tournament ซึ่งจัดขึ้นที่ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องของวงการบาสเกตบอลนานาชาติ ก่อนมหกรรมโอลิมปิก ก็มี "เหยา หมิง No.2" จรัสแสงขึ้นในวงการบาสเกตบอลจริงๆ

หนุ่มผู้นั้นมีชื่อว่า อี้เจี้ยนเหลียน (易建联:Yi jianlian)

อี้เจียนเหลียน ที่มีความสูง 214 เซนติเมตร (7 ฟุต) หนัก 110 กิโลกรัม โชว์ฟอร์มอย่างยอดเยี่ยม ในการแข่งกับออสเตรเลียและช่วยให้จีนเอาชนะออสเตรเลียไปได้ แม้ในเกมถัดมาจีนจะพ่ายให้กับทีมเซอร์เบีย-มอนเตเนโกร เจ้าภาพไปด้วยคะแนน 92-78 แต่ "อี้" ก็ทำได้ดี โดย บล็อคได้ 5 ครั้ง รีบาวด์ได้ 7 ครั้ง

ทั้งนี้สิ่งที่ เด็กหนุ่มคนนี้ ทำให้หลายคนต้องตกตะลึงก็คือ เขาอายุเพียง 16 ยังไม่เต็ม 17 ปีเท่านั้น!

เดล แฮร์ริส โค้ชผู้มากประสบการณ์จากเอ็นบีเอ ที่เพิ่งเข้ามาคุมทีมชาติจีนเพื่อลุยศึกโอลิมปิก กล่าวว่า "เมื่อคุณสูง 7 ฟุต คุณวิ่ง และกระโดดได้อย่างเขา เมื่อโตเต็มที่ มันจะเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก .... เขาไม่ได้เหมือนนักกีฬาคนไหนแป๊ะๆ ซะทีเดียว มีลักษณะความเป็นนักกีฬาแบบ สโตรไมล์ สวิฟท์ (Stromile Swift) และก็มีความสามารถในการบล็อคลูกชู้ตคล้าย มาร์คัส แคมบี้ (Marcus Camby) เขามีร่ายกายบางคล้ายๆ กับทั้งสองคน แต่มีโครงที่ใหญ่กว่า และน่าจะเพิ่มน้ำหนักได้อีก"

ด้าน เหยา หมิง ก็กล่าวยกยอนักบาสเกตบอลรุ่นน้องว่า "ดีกว่าผมตอนอายุ 16 เสียอีกเพราะกระโดดเป็น ถ้ายังฝึกซ้อมอย่างหนัก เขาจะยิ่งใหญ่"

ส่วน อิกอร์ โคคอสคอฟ ผู้ช่วย แลร์รี บราวน์ โค้ชของทีมเซอร์เบีย ที่กล่าวชมว่า "อี้" คล่องแคล่ว ว่องไว และเล่นได้อย่างเข้าขากับ เหยา หมิง ถึงกับตกใจเมื่อได้ยินว่า นักบาสเกตบอลผู้นี้อายุเพียง 16 ปี ไม่ใช่ 21 ปีอย่างที่คิด

อี้เจี้ยนเหลียน เกิดที่เซินเจิ้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1987 ในครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนักโดย พ่อ-แม่ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานไปรษณีย์ โดยพ่อที่มีความสูงถึง 199 เซนติเมตร ส่วนแม่ 173 เซนติเมตร และเป็นอดีตนักแฮนด์บอล นั้นก็ไม่ทำให้ทุกคนต้องแปลกใจว่าทำไม "อี้" จึงสูงถึง 193 เซนติเมตร ตั้งแต่เรียบจบชั้นประถม ยิ่งเมื่อเทียบกับ คนจีนทางใต้ที่ปกติมีรูปร่างค่อนข้างเล็กแล้ว อี้ จึงถูกเรียกว่า "ยักษ์"

ช่วงอายุยังน้อย อี้ แม้จะมีร่างกายที่เหมาะสำหรับการเป็นนักบาสเกตบอล แต่ก็พบอุปสรรคหลายๆ อย่างคือ ทางครอบครัวที่ พ่อ-แม่ ไม่อยากให้ลูกชายกลายเป็นนักกีฬาอาชีพ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้ลูกชายซ้ำรอยกับพวกตนที่เป็นนักกีฬาที่มีการศึกษาที่ไม่ดีนัก และในบั้นปลายชีวิตก็ค่อนข้างยากลำบาก

"เราไม่ได้รับการศึกษาที่ดีนักตอนเด็ก ทำให้เราหางานดีๆ ไม่ได้ ทำให้เราหวังว่าลูกชายของเราจะต้องเป็นคนมีการศึกษา แทนที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพ เราไม่อยากให้เขาเป็นอย่างพวกเรา" แม่ของ อี้ กล่าวไว้อย่างชัดเจน

นอกจากเหตุผลทางด้านครอบครัวแล้ว เด็กที่มีร่ายกายใหญ่โตผิดกับคนทั่วไปนั้นปกติมักจะเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเชื่องช้า และเหนื่อยง่าย ซึ่งตอนก่อนเล่นบาสเกตบอล อี้เจี้ยนเหลียนก็เป็นเช่นนั้น จนกระทั่งเมื่อโตขึ้น เจ้าตัว ซึ่งเริ่มหลงใหลใน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับบาสเกตบอลเอ็นบีเอไม่ว่าจะเป็น นักบาสเกตบอล เกม หรือสินค้าอื่นๆ เขาจึงหันมาเล่นกีฬานี้อย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนโดยโค้ชจากโรงเรียนกีฬา

ต่อมาเมื่ออายุ 14 ปี เด็กหนุ่มผู้นี้ ก็เข้าเป็นสมาชิกของทีม กวางตุ้ง ไทเกอร์ส ซึ่งเป็นแชมป์ CBA ลีกบาสเกตบอลอาชีพภายในประเทศของจีนในปีล่าสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฤดูกาลที่ผ่านมาเด็กหนุ่มผู้นี้ไม่ได้ลงสนามให้กับต้นสังกัดมากนัก แต่สตาฟของบาสเกตบอลทีมชาติจีนกลับเห็นแววของเขา จึงเรียกเขาไปติดทีมชาติชุดโอลิมปิก ซึ่งผลงานล่าสุด "อี้" ก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ

หลายคนหวังว่า อี้ กำลังจะเข้าเล่นบาสเกตบอลอาชีพ ในเอ็นบีเอเร็วๆ นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยอายุที่ยังน้อยมาก โดยอย่างเร็วก็จะต้องรออีก 2 ปี (ค.ศ.2006) หรืออาจนานกว่านั้นถ้าหากเอ็นบีเอเปลี่ยนกฎว่านักบาสเกตบอลเอ็นบีเอจะต้องมีอายุอย่างน้อย 19-20 ปี

นักบาสเกตบอลหนุ่มผู้นี้ เป็นที่น่าจับตามองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ แต่คงยังไม่ใช่บาสเกตบอลเอ็นบีเอในฤดูกาลหน้า

ไม่ว่าจะเป็น เหยา หมิง Menke Batere หวังจื้อจื้อ อี้เจี้ยนเหลียน นักบาสเกตบอลจีนที่ไปเล่นอาชีพในสหรัฐฯ หรือ นักกีฬาอาชีพจีนในกีฬาอื่นทั้ง บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากนโยบายการเปิดลีกอาชีพกีฬาขึ้นในจีน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยจีนเองในขณะนั้นมองเห็นว่าการจะพัฒนากีฬานั้นจะต้องทำให้ทีมต่างๆ เข้าไปสู่ระบบตลาดมากขึ้นดึงเอาบริษัทเอกชนเข้ามามากขึ้น เหมือนกับที่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของตนเองให้เข้าสู่ระบบตลาดเมื่อปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980

สิบกว่าปีที่ผ่านมาจากการผลิตนักกีฬาที่กวาดเหรียญทองในเวทีกีฬาโลก วันนี้จีนเริ่มเห็นผลจากผลิตนักกีฬาอาชีพ ที่ไม่เพียงจะกวาดชื่อเสียงเข้าประเทศเท่านั้น แต่ยังกวาดเงินเข้ากระเป๋าด้วย อย่างเป็นกอบเป็นกำ

อ่านเพิ่มเติม :
- ยุคบูมของกีฬาอาชีพในจีน โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2546
กำลังโหลดความคิดเห็น