xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องยุ่งๆ ของ Free Trade

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงการค้าโลกมีเรื่องที่นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือ เมื่อคืนวันเสาร์ต่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในการประชุมของสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการบรรลุข้อตกลงขั้นต้น ให้ประเทศสมาชิกหยุดการอุดหนุนสินค้าเกษตร และ ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร

ปัญหาการอุดหนุนสินค้าเกษตร และกำแพงภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรนั้น เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างรุนแรงตั้งแต่การประชุมดับเบิลยูทีโอระดับรัฐมนตรี ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ระหว่าง 10-14 กันยายน 2546

ทั้งนี้แกนหลักของการโต้เถียงก็เป็นเรื่องเดิมคือ Free Trade ของประเทศพัฒนาแล้ว นั้นไม่ยุติธรรมเพราะไม่เป็น Fair Trade สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยกลุ่มผู้คัดค้านระบุว่าระบบการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากประเทศเล็กเสียเปรียบประเทศใหญ่ ประเทศด้อยพัฒนาถูกเอาเปรียบโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนองค์การการค้าโลกที่ปัจจุบันมี คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนั้น ก็เป็นเพียงองค์กรลูกมือของประเทศมหาอำนาจและบรรษัทระหว่างประเทศ ในการหาประโยชน์จากการผลักดันการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศ

ในตอนนั้นหัวหอกในการ "ล้มโต๊ะ" การประชุมก็คือ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกธัญพืช 18 ประเทศที่รวมตัวเป็น Cairns Group และประเทศด้อยพัฒนา 20 ประเทศ ที่รวมตัวกันเป็น Group of 20 (G20) โดยมีบราซิล เป็นผู้นำ กับกลุ่มประเทศแอฟริกัน-แคริเบียน หรือ ACP ( African-Caribbean Pacific) ที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรหากการเจรจาบรรลุผล

สำหรับ กลุ่ม G20 นั้นเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ด้านหนึ่งพยายามแพร่ขยายลัทธิการค้าเสรี โดยประกาศว่าการค้าเสรีจะทำให้ชาวโลกอยู่ดีกินดีขึ้น รวมถึงกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนายอมรับกติกาการค้าใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งกลับ ให้เงินอุดหนุนเกษตรกรของตัวเองและปฏิเสธที่จะลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตร เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ ไม่ให้สินค้าเกษตรที่มีราคาถูกกว่าไหลทะลักเข้ามา

ความล้มเหลวของการประชุมที่เม็กซิโกเมื่อปีก่อนนั้นส่งผลให้ กระแสของการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีลดระดับลงอย่างรุนแรง และกระแสการเจรจาการค้าโดยตรงระหว่างสองประเทศ แบบทวิภาคีก็กลับดีดตัวขึ้นมาแซง

สำหรับผู้ที่เชื่อมั่นใน "ลัทธิการค้าเสรี" ว่าจะทำให้ประชาคมโลกอยู่ดีกินดีขึ้น ข่าวการบรรลุข้อตกลง ดังกล่าวจึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย

ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ทำการศึกษาเพื่อสนับสนุนทฤษฎีการค้าเสรีว่า ในทางทฤษฎีหากปัจจุบันประเทศทั่วโลกลดกำแพงการค้าลงเพียง 1 ใน 3 ก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นถึง 613,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เท่ากับระบบเศรษฐกิจโลกมีการการเพิ่มเอาประเทศแคนาดาเข้าไปอีกหนึ่งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นที่น่าจับตาดูกันต่อไปว่า สัญญาที่ตกลงกันไว้ หากลงลึกกันแล้วจะออกมาในรูปใด เพราะ ข้อตกลงที่ประสบผลในตอนนี้นั้นเป็นเพียงแค่ เค้าโครงและหลักการ เท่านั้น และยังต้องมีการลงรายละเอียดที่จะต้องเจรจากันอีก โดยมีการคาดหมายว่าจะเริ่มต้นเจรจาในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ส่วนการบังคับใช้นั้นเชื่อกันว่า คงไม่ทันปลายปีนี้ อันเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่การประชุมรอบโดฮาเมื่อสามปีก่อน แต่อย่างเร็วอาจจะเป็นปี 2549

ช่วงสุดสัปดาห์นอกจากข่าวใหญ่ในเรื่อง การบรรลุข้อตกลงขั้นต้น ให้ประเทศสมาชิกหยุดการอุดหนุนสินค้าเกษตร และ ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรแล้ว ยังมีข่าวเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "การค้า" อีกข่าวหนึ่งที่ผมไปพบแล้วก็อดนำมาเล่าต่อไม่ได้

เรื่องมีอยู่ว่า โฆษกกระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้ทำสัญญาระยะ 5 ปี มูลค่า 50 ล้านปอนด์ กับบริษัทแห่งหนึ่งในไอร์แลนด์เหนือ ที่ชื่อ Cooneen Watts and Stone เพื่อผลิตชุดพรางให้กับทหารของกองทัพ

ดีลธุรกิจระหว่าง กองทัพกับเอกชน ดังกล่าวคงไม่เป็นเรื่องราวหาก Cooneen Watts and Stone ไม่ประกาศออกมาว่า บริษัทมีแผนที่จะให้บริษัทในประเทศจีนรับเหมาช่วง (Subcontracted) ผลิตชุดพรางของทหารแห่งกองทัพอังกฤษต่อไปอีกที เพื่อลดต้นทุน

ทั้งเมื่อข่าวถูกประกาศออกไป ก็มีผู้ออกมาคัดค้านจำนวนไม่น้อย

ทนายที่สังกัดพรรคแรงงาน ของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับ การกระทำดังกล่าวว่า จะเป็นการทำให้อังกฤษผิดสัญญาในการเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรป ที่ว่า ห้ามสมาชิกขายอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับประเทศจีนหรือไม่?

ขณะที่ สารวัตรทหาร Lindsay Hoyle ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า "ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบที่ อังกฤษสัญญาว่าจะไม่ขายอาวุธให้กับจีน เพราะ ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลกลับยอมให้ ประเทศคอมมิวนิสต์ ขายเครื่องแบบให้กับกองกำลังติดอาวุธของเรา"

นอกจากนี้ยังมีผู้ออกมาหัวเราะเยาะ การกระทำดังกล่าวของ กระทรวงกลาโหมอังกฤษอีกด้วยโดยระบุว่านอกจาก จีนจะมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว สินค้าที่ผลิตในประเทศจีน และหลายประเทศในเอเชียยังน่าสงสัยในเรื่องคุณภาพว่า เครื่องแบบอาจจะใช้ได้แค่ ปีหรือสองปี ใช้ไม่ได้ในสงครามจริงๆ หรือ อาจะฉีกเป็นชิ้นๆ เมื่อเจอสภาพอากาศที่เปียกชื้น และหลังจากนั้นอีกปี ทหารอังกฤษอาจจะต้องซื้อชุดออกรบเอง

อย่างไรก็ตามสำหรับกระทรวงกลาโหมอังกฤษเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องตลก หรือน่าหัวเราะแต่อย่างไร โดยได้ส่งโฆษกหญิงออกมาโต้ว่า สินค้าที่ขายอยู่ในย่านไฮสตรีท อันเป็นย่านชอปปิ้งสำคัญในลอนดอนต่างก็ผลิตในจีนทั้งนั้น และที่สำคัญ ดีลนี้ช่วยประหยัดเงินกองทัพอังกฤษไปได้มากถึง 23 ล้านปอนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น