เช้าวันนี้…ผมตื่นตรงตามเวลาเดิม จิบกาแฟขม ออกกำลังกายเรียบร้อยแล้ว ลูกน้องเก่ามารับที่บ้านแต่เช้ามืด เพื่อจะไปรับประทานอาหารกลางวันที่ราชบุรี นั่งรถของคนมารับออกจากซอยไปตามถนนสุขุมวิท พอจะผ่านสี่แยกราชประสงค์รถติดไฟแดง ผมยกมือไหว้พระพรหมตามที่เคยปฏิบัติมาเป็นนิสัย ลูกน้องคู่ใจก็พูดขึ้นว่า สี่แยกนี้เขาเปลี่ยนชื่อแล้ว ผมจึงถามว่าเปลี่ยนเป็นอะไร ได้รับคำตอบว่าเปลี่ยนเป็น
“สี่แยกไสยศาสตร์ ครับ!”
ฟังแล้วก็ขำ เพราะรู้ทันทีว่าเขาหมาย ถึงแต่ละแยกของถนนเพลินจิตตัดกับถนนราชดำรินั้น มีรูปปั้นของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์อยู่ทุกด้านของจตุรัสแห่งนี้ คือ
-ฝั่งโรงแรมเอราวัณมี “ท้าวมหาพรหม”
-ฝั่งศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเดิม (ปัจจุบันเป็นเซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่า) มี “เทพเจ้าตรีมูรติ”
-ฝั่งโรงแรมเพรสสิเดนท์ (เดิม) มี “พระนารายณ์ทรงสุบรรณ”
-ฝั่งสุดท้ายคือด้านกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบันนั้นนั้น ประชาชนอาจไม่ทราบว่า ตรงด้านหน้าที่เป็นสโมสรกรมตำรวจเดิม มีรูปปั้น “พระนารายณ์ทรงประทับยืนเหยียบเหนือพญาอนันตนาคราช” ซึ่งเป็นรูปปั้นที่สวยงามมาก และเป็นเทพเจ้าองค์แรกที่เสด็จมาประทับที่สี่แยกไสยาศาสตร์แห่งนี้ หากแต่ผู้คนมองไม่เห็นเพราะมีอาคารอื่นบังอยู่
คำว่า “ไสยศาสตร์” นั้น แยกออกได้เป็นสองคำ คือ ไสย, ไสย (ไส,ไสยะ) เป็นคำนาม แปลว่า ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์คาถาซึ่งเชื่อได้ว่ามาจากพราหมณ์ เช่น ถูกคุณไสย
ส่วนคำว่า “ศาสตร์” หรือ “ศาสตร” หมายถึงระบบวิชาความรู้
“ไสยศาสตร์” “ไสยเวท” (ไสยะสาด,ไสยเวด) เป็นคำนาม แปลว่า ตำราทางคุณไสย,วิชาทางไสย
ดังนั้น “สี่แยกไสยศาสตร์” ก็น่าจะหมายถึงสี่แยกทางคุณไสย หรือ สี่แยกทางไสยนั่นเอง แม้จะเป็นการตั้งชื่อแบบชาวบ้านที่มีอารมณ์ขัน แต่ก็ไม่ได้มีความหมายเลื่อนเปื้อนไปทางอื่น เพราะสี่แยกนี้ทุกด้าน ล้วนแต่เป็นที่ตั้งรูปเคารพซึ่งเป็นเทพเจ้าซึ่งเป็นที่เคารพของศาสนาใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิก่อนศาสนาอื่น โดยมีที่มั่นในดินแดนขอม และเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ ลัทธิพราหมณ์ก็ยังมิได้แยกขาดออกจากพระพุทธศาสนาเสียโดยเด็ดขาด หากแต่ได้มีวิวัฒนาการควบคู่กันไป แม้พระพุทธศาสนาจะแผ่ขยายและมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนมากกว่า แต่ความเชื่อทางพราหมณ์หรือลัทธิไศเลนทรนั้น ก็คงปรากฏให้เห็นชัดเจนในรูปแบบของพิธีกรรมต่างๆในประเทศของเรา
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดห้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเทวสถาน(โบสถ์พราหมณ์) พร้อมเสาชิงช้า ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ ตามอย่างประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเทวาลัยอยู่ใจกลางเมือง เช่นพิมาย นครวัด นครธม และศาสนาพราหมณ์เองก็ถือว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ คือปางที่สิบใน “นารายณ์สิบปาง” ซึ่งอธิบายความว่าพระนายราณ์เป็นเจ้า อวตารลงมาเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเข้าใจว่า สี่แยกไสยศาสตร์แห่งนี้ เทพเจ้าที่ถูกสร้างให้มาประทับก่อนองค์ใดนั้นคือ “ท้าวมหาพรหม” แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ตรงนี้อธิบายได้ว่า
เมื่อกรมตำรวจ(สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีที่ทำการใหม่ ที่ดินส่วนหนึ่งนั้นกรมตำรวจซื้อหาเอง คือที่ตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบัน ส่วนอีกฟากหนึ่งนั้น เช่าจากวังเพชรบูรณ์ เป็นที่ตั้งของกองคดี และกองสวัสดิการกรมตำรวจ ต่อมากรมตำรวจได้ก่อสร้างหมู่อาคารขึ้นมาใหม่ ก็คืนให้กับทางวังเพชรบูรณ์ไป และกลายเป็นศูนย์การค้าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ตอนสร้างสถานที่ตั้งกรมตำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมันนั้น ก็ได้สร้างสโมสรกรมตำรวจขึ้น และตรงบริเวณหน้าสโมสรกรมตำรวจนั่นเอง ท่านก็ได้จัดให้เป็นที่ตั้งของรูปหล่อพระนารายณ์ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตร ประทับยืนเหยียบเหนือพญานาคราช
พระนารายณ์ เป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่ฝ่ายปราบปราม มีกายเป็นสีดอกตะแบก มี ๔ กร ซึ่งกรทั้ง ๔ นั้น ถืออาวุธต่างๆ กัน คือ คทา ตรี จักร สังข์ ทรงมงกุฎชัย(ชฎาเดินหน) ปกติไม่มีเหตุเพทภัยในแผ่นดินก็จะทรงบรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร บนหลังพญานาคชื่อ “อนันตนาคราช” เราจึงเห็นภาพแกะสลักในปราสาทหรือวิหาร เป็นรูปพระนารายณ์ในอริยาบทนี้หลายแห่งด้วยกัน บางทีก็สลักบน เครื่องหลังคา ที่เรียกกันว่า “ทับหลัง” เป็นรูปนี้ที่เรียกกันว่า “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์” อันที่เรารู้จักกันดีก็อยู่ที่ ปราสาทเขาพนมรุ้ง นั่นเอง
พระนารายณ์พระนารายณ์ทรงใช้ครุฑเป็นพาหนะ จึงมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น พระทรงครุฑ พระสี่กร พระทรงสังข์ พระวิษณุ พระธราธร พระสังขกร มีพระมเหสีมีพระนามว่าพระลักษมี ทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก ตรงนี้มีเกร็ดขอเล่านิดหนึ่งว่า
เมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งชื่อ คุณลักษมี กรรณสูตร ซึ่งมีความสวยงดงามมาก วงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยคุณครู และครูเอื้อ สุนทรสนาน ถึงกับแต่งเพลงให้กับเธอ ลองฟังขึ้นต้นดู
งามลักษมีเฉิดโฉมโลมพิลาส ทรามสวาทยุพดีลักษมีเฉิดฉาย
เฉิดโฉมสวยประโลมใจชาย ลักษมีนารายณ์อวตารแปลงกาย หรือฉันใดหนอนี่
แสดงว่าคุณลักษมี กรรณสูตร ต้องสวยจริงๆ สวยเหมือนพระนางลักษมีมเหสีของพระนารายณ์เลยทีเดียวเชียว !
กรมตำรวจแต่เดิมหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบัน ได้กำหนดให้ตรากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นรูป “พระนารายณ์ประทับยืนเยียบพญาอนันตนาคราช” เพราะตอนตั้งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนั้น ได้รวมเอาหน่วยงาน ๓ หน่วยคือ
๑.กองตำรวจสันติบาล
๒.กองทะเบียน
๓.กองตรวจ
ต่อมากองตรวจได้กลายมาเป็นกองปราบปรามทุกวันนี้ และมีหน่วยงานเพิ่มเข้ามาอยู่ในกองนี้อีกหลายหน่วยงาน เช่นตำรวจน้ำ ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ กองพิสูจน์หลักฐาน กองบังคับการสอบสวนคดีเศรษฐกิจ
การที่ผู้ใหญ่ของกรมตำรวจในอดีต ได้นำเอาตราพระนายรายณ์มาเป็นตราประจำกองบัญชาการนี้ ก็เพราะว่ากำลังของกองบัญชาการนี้มีฤทธิ์มาก เพราะรวบรวมเอาหน่วยตำรวจที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเอาไว้ด้วยกัน เมื่อบ้านเมืองมียุคเข็ญโจรผู้ร้ายชุกชม มีการก่อความไม่สงบขึ้นมาในประเทศ ก็จะมีการประกอบกำลังกันในลักษณะ task force หรือ “กองกำลังเฉพาะกิจ” เข้ากวาดล้างพวกโสณทุจริตให้หมดสิ้นไป และหน่วยปราบปรามคอรัปชั่น ก็อยู่ในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนี้ เดิมเป็นกองกำกับการ ๖ ของกองปราบปราม ปัจจุบันมีฐานะเป้นกองบังคับการ แต่เมื่อกฎหมายกำหนดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการในเรื่องการปราบปรามคอรัปชั่นทั้งหมด หน่วยงานนี้เมื่อได้รับเรื่องแล้วจะการสอบสวนเบื้องต้นแล้วต้องส่งให้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการ
อย่างไรก็ตามทาง ป.ป.ช.ยุคใหม่ ได้ระดมเอาพนักงานสอบสวนที่มีประวัติดีและมีความสามารถสูง เข้าไปเป็นอนุกรรมการ เพื่อช่วยในการสอบสวนจำนวนไม่น้อย เพราะพนักงานสอบสวนจากส่วนป้องกันปราบปรามการทุจริตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นกำลังในการสอบสวนของ ป.ป.ช. เอาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขติดคุกไปแล้วหนึ่งคน แต่ยังหนีซอกซอนอยู่
พนักงานสอบสวนเหล่านี้อาจต้องมาช่วยจัดการ ความไม่ชอบมาพากลในกระทรวงที่ตกเป็นขี้ปากชาวบ้านมากที่สุดอีกก็ได้ เพราะตอนนี้ผู้คนเขาไม่ไว้วางใจผู้บริหารมากขึ้นทุกที นี่ก็เพิ่งได้ยินคุณ รสนา โตสิตระกูล ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่สอบสวนเอาความผิดกับพวกทุจริตยา จะเอาเรื่องเป็นเจ้าพนักงานละเว้นเข้าไปอีก น่าสนุกดีจริงๆ แต่ก็ให้นึกสงสารเมืองไทยด้วย เพราะคอรัปชั่นบานทั้งประเทศแล้ว !
พูดถึงเรื่องการเอาเทพเจ้าในลัทธิพราหมณ์ มาเป็นตราประจำหน่วยงานของทางราชการ มีมากมายหลายส่วนราชการด้วยกันยกตัวอย่าง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ หรือ “กรมโฆษณาการ” เดิม หรือ “กรมกร๊วก” ตามคำเรียกขานของสื่อมวลชนตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ (วันหลังจะเล่าให้ฟังว่าทำไม่เรียกอย่างนี้) ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๗ เล่มที่ ๖๔ ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ กำหนด เครื่องหมาย ราชการ ให้เป็นรูป พระอินทร์ เป่าสังข์ เหาะลอยอยู่เหนือเมฆ มีวงกลมล้อมรอบ ทั้งนี้เพราะตามวรรณคดีนั้นได้กล่าวเอาไว้ ว่า
ถ้าเหตุการณ์ปกติสุขดีอยู่ องค์พระนายรายณ์ผู้เป็นเจ้า จะทรงพระบรรทมเหนือขนดของพญาอนันตนาคราใต้สะดือทะเล เมื่อมีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นในจักรวาลหรือโลก พระอิศวรจะใช้พระอินทร์ให้ไปปลุกพระนารายณ์ไประงับเหตุ พระอินทร์ก็จะรับบัญชาแล้วตรงไปที่เกษียรสมุทร เป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ ให้ทรงตื่นขึ้นจากการบรรทมสินธุ์ เพื่อขึ้นมาปราบเหตุร้ายต่าง ๆที่ปรากฏขึ้นในโลก
สังข์นั้นตามลัทธิพราหมณ์ ถือว่า เป็นมงคล ๓ คือ สังข์ ถือกำเนิดจากพระพรหม ท้องสังข์เคยเป็น ที่ซ่อนคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ และตัวสังข์มีรอยนิ้วพระหัตถ์ของพระนารายณ์ ดังนั้นในพิธีทาง ศาสนา พราหมณ์ จึงได้มีการเป่าสังข์ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย หอยชนิดนี้แม้พระในลัทธิชินโตก็ใช้สังข์เป่าในพิธีมงคล พวกชาวเกาะทะเลใต้เป่าสังข์เพื่อเป็นการส่งสัญญาณระหว่างกัน หอยชนิดอื่นๆเป่ายังไงก็ไม่ดังเท่าสังข์ เพราะเสียงสังข์นั้นดังไปไกลไม่แพ้เป่าเขาสัตว์ เช่น ควาย หรือกวาง เป็นต้น ดังนั้นหากคนไทยโบราณไปอยู่ห่างไกลความเจริญหรือก็มีคำพูดว่า “ฉันอยู่ห่างไกลไม่ได้ยินเสียงสังข์เสียงแตร” เพราะคนกรุงเท่านั้น จึงจะได้ยินเสียงการเป่าสังข์ เป่าแตร รัวกลองชนะ อยู่นอกก็ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงเหล่านี้
การที่กำหนดให้กรมโฆษณาการหรือกรมประชาสัมพันธ์ ใช้เครื่องหมายนี้ก็เพราะว่า งานประชาสัมพันธ์นั้น เป็นเผยแพร่ข่าวสารและการการโฆษณา อีกทั้งมีภารกิจที่จะต้องอธิบายและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ เป็นสื่อหรือเครื่องช่วย จึงเปรียบได้กับ การเป่าสังข์ ของเทวดา ในสมัยโบราณเพื่อบอกสัญญาณและการเรียกประชุมนั่นเอง แต่การที่มีข่าวออกมาว่าห้ามพระสงฆ์ท่านเทศน์ทางสถานีวิทยุ แพลมออกมาให้ชาวบ้านได้ยิน จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปิดปากกระพทั่งพระสงฆ์องค์เจ้า ซึ่งไม่ใช่งานของฝ่ายประชาสัมพันธ์เด็ดขาด เลยถูกชาวบ้านด่าเช็ดเอาจนต้องออกมาแก้ตัวกันพัลวัน !
เทพอีกองค์หนึ่งซึ่งประทับอยู่คนละฝั่งถนนกับพระนารายณ์ คือ “ท่านท้าวมหาพรหม” ของโรงแรมเอราวัณ ผมได้ยินจากคุณเจือระวี ชมเสวี ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณฐาปบุตร ชมเสวี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ท่านผู้นี้ผมเรียกว่าคุณอา ท่านอยู่ในทีมสถาปนิกที่มีส่วนออกแบบ และตกแต่งโรงแรมเอราวัณ(เก่า) ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปไม่นาน เคยเล่าให้ผมฟังว่า
เมื่อรัฐบาลตั้งบริษัทสหโรงแรมไทย และการท่องเที่ยว จำกัด ก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อจะเอาไว้เป็นที่รับรองแขกเมืองของรัฐบาล ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา แต่ปรากฏว่าระหว่างการก่อสร้าง มีเหตุที่คนงานเสียชีวิตเพราะตกนั่งร้านตายบ้าง เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุอื่นบ้าง พอมาถึงปลายปี ๒๔๙๙ ใกล้จะถึงเวลาเปิดโรงแรม ผู้ใหญ่ในรัฐบาลจึงให้คุณเจือระวี ชมเสวี ไปหาพลเรือตรีหลวงสุวิชาญแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ ดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม คุณหลวงท่านก็ได้ท้วงติงว่า ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมทำไว้ไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไขด้วยการสร้าง ศาลท้าวมหาพรหม และศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรมแห่งนี้
คุณเจือระวีฯบอกว่าท่านเกิดมาก็ไม่เคยเห็นองค์ท้าวมหาพรหมเลย จึงไปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่นั่นท่านก็ไปพบรูปหล่อเทพรูปหนึ่งชื่อ “ท้าวมหาพรหมเทวาประสิทธิ์” แต่ปรากฏว่าเป็นรูปคล้ายคนธรรมดา คือมีสองมือสองเท้า คุณเจือระวีฯจึงเขียนแบบร่างและเติมหน้าพระพรหมเข้าไปอีกเป็น ๔ หน้า เพราะท่านบอกว่า คุ้นกับท่ารำชื่อ “พรหมสี่หน้า” แล้วท่านได้เติมแขนต่อขาให้พระพรหมตามแนวคิดของท่านเอง ส่งไปให้ทางกรมศิลปากรเพื่อออกแบบตามแนวคิดของท่าน ปรากฏว่าทางกรมศิลปากรออกแบบและปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้น โดยคุณจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ ของกรมศิลปากร อัญเชิญมาประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
พุดแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นเพราะบารมีของท่านท้าวมหาพรหมหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ โรงแรมเอราวัณก็เจริญรุ่งเรืองมาตลอด ยืนหยัดเป็นศรีสง่ากับประเทศนานหลายทศวรรษ ด้วยรูปแบบเดิมที่สง่าผ่าเผย ด้วยแบบก่อสร้างมีความเป็นไทยอยู่เป็นอย่างมาก โรงแรมแห่งนี้ได้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แขกเมืองของรัฐบาล เคยเป็นสถานที่ที่มีอาหารเอร็ดอร่อย มีบรรยากาศเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน บัดนี้โรงแรมนี้ไม่มีอยู่แล้ว น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
แม้โรงแรมเอราวัณเดิม ต้องกลายเป็นกิจการในรูปแบบฝรั่งมังค่าเรียบร้อยแล้ว แต่พระพรหมท่านยังอยู่ และที่น่าสนใจคือยังมีผู้คนไปกราบไหว้ เมื่อขอพระจากท่านแล้วได้สำเร็จสมประสงค์ก็บริจาคเงินเข้ากองทุนของท่าน ซึ่งจัดรูปแบบเป็นมูลนิธิ ชื่อ “มูลนิธิท่านท้าวมหาพรหม” มีท่าน ศ.ไพจิตร โรจนวาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่มีชื่อเสียงอย่า คุณพิชัย วาสนาส่ง มูลนิธินี้ ได้บริจาคเงินที่ได้จากประชาชนทำบุญกับท่านท้าวมหาพรหม ให้กับสถาบันการศึกษา โรงเรียน ไม่ว่าเป็นโรงเรียนในชนบท หรือสถานพยาบาลอย่าง โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น ซึ่งมูลนิธิได้ทำงานเพื่อสังคมมาอย่างดีเป็นเวลานานกว่า ๓ ทศวรรษแล้ว ตอนฤดูสอบเข้ามหาวิทยาลัย ใกล้วันหวยออก หรือใกล้เลือกตั้ง ก็มีดอกไม้บูชาผู้คนมาบริจาคเงินเข้ามูลนิธิเป็นจำนวนมาก สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯเที่ยวนี้ก็เถอะ รับรองว่าผู้สมัครจำนวนไม่น้อยต้องไปไหว้ขอพรกันเป็นทิวแถว
ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าว เมื่อได้สิ่งที่ขอไว้สมใจก็จะมาแก้บนส่วนใหญ่ก็จะเป็นละครชาตรีรำ แต่นักแสดงประเภทดาวยั่วบางคนเห็นว่า ท่านดูรำละครชาตรีจนเบื่อแล้ว เลยเต้นจ้ำบ๊ะถวายท่านหมดเรื่องหมดราวไปเสียเลย แต่ก็เก๋ไปอีกแบบหนึ่ง !
ฝั่งตรงข้ามกับโรงแรมเอราวัณ เดิมเป็นที่ตั้งอาคารพาณิชย์และมีจุดสังเกตใหญ่คือสายการบิน B.O.A.C. และมีถนนเกษรตัดเข้าทางหน้าถนนด้านราชดำริ ซึ่งหนุ่มสาวยุค ’60 อย่างผมเคยสนุกสนานกับงาน “มาร์ดิกราส์ถนนเกษร” ก่อนย้ายงานไปถนนพัฒน์พงษ์ และมีการก่อสร้างโรงแรมเพรสสิเดนท์ขึ้นมาในภายหลัง
มาบัดนี้ทุกอย่างก็กลับเป็นความหลังไป โรงแรมก็เปลี่ยนใหม่กลายเป็นโฮเต็ลในเครือของบริษัทต่างชาติไปเช่นเดียวกับโรงแรมเอราวัณเดิม แต่เดิมฝั่งข้างนี้ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดมาสิงสถิต แต่ปรากฏว่าเกิดอุบติเหตุไฟไหม้ร้ายแรงกับตัวอาคารด้านหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเงินทุน ก่อนวันเปิดเพียงไม่กี่วัน ทำให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินมีมูลค่าสูงน่าตกใจเพราะนับเป็นพันล้านบาท บริษัทเงินทุนถึงกับต้องปิดตัวเอง ทางเจ้าของโครงการจึงก่อสร้างศาล “พระนารายณ์ทรงสุบรรณ” เอาไว้ด้านถนนเพลินจิตร เป็นเทพเจ้าองค์เดียวกับของสำนักงานตำรวจแห่งชา เพียงแต่ต่างกันด้วยลักษณะท่าทางเท่านั้น คือของทางโรงแรมใหม่นี้ เป็นพระนารายณ์ขี่ครุฑหรือขี่พญาสุบรรณ อันเป็นพาหนะประจำของพระองค์ หรือเรียกกันว่า “พระนารายณ์ทรงสุบรรณ” คำว่า “สุบรรณ” แปลว่า “ครุฑ”
ท่านผู้อ่านที่เคยดู กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คงจำชื่อเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคลำใหม่ ที่มีชื่อว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙“ ได้ เรือพระที่นั่งลำนี้ สร้างกองทัพเรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ โดยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ทดแทนเรือพระที่นั่งลำเดิม ซึ่งโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ อันเป็นมงคลนามตามประวัติ จำนวน ๑ ลำ มีฐานะเป็น เรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ ทางกองทัพเรือได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างขึ้น ในรัชกาลปัจจุบัน โดยรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงไว้ ด้วยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ โขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ โดยใช้ต้นแบบเดิม ที่เป็นฝีมือช่างยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ซึ่งตัวเรือทรุดโทรมไปตามกาลเวลาคงเหลือแต่โขนหัวเรือ ประกอบด้วย พญาสุบรรณ (พญาครุฑ) และพระนารายณ์ ซึ่งอยู่ในสภาพดี อนุรักษ์เรือลำนี้ไว้ในกระบวนเรือพระราชพิธี ทำให้กระบวนเรือมีความสมบูรณ์ขึ้น และจะได้อนุรักษ์ฝีมือช่างยุครัตนโกสินทร์ไว้มิให้สูญสลายไป
ทางฝั่งตรงข้ามกับกรมตำรวจด้านถนนพระราม ๑ เป็นที่ตั้งของวังเพชรบูรณ์เดิม ต่อมากลายกรมตำรวจเช่าที่จากวังเป็นบางส่วน เป็นที่ตั้งของกองคดี กองการเงิน กรมตำรวจ และเมื่อหมดสัญญา ทางวังเพชรบูรณ์ได้ให้ทางกลุ่มธนาคารศรีนครเช่าไป กลายเป็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งก็มีการดู “ฮวงจุ้ย” ตามตำรับจีนกันเต็มที่ เพื่อกันความ “แรง” ของเทพเจ้าสององค์คือพระนารายณ์และพระพรหม แต่ก็คงกันไม่ได้ เพราะ “เจ้า”ของคนจีน ยังไงก็ไม่สามารถปล่อยแสงเฮ้ากวง หรือเกี้ยมซุก มาสู้กับฤทธิ์ของพระมหาเทพทั้งสององค์ได้ กิจการของศูนย์การค้าแห่งนี้จึงทรุดลง จึงมีการก่อสร้าง คือ
“พระตรีมูรติ”
ซึ่งเป็นภาครวมของเทพเจ้า ๓ พระองค์ของฮินดู คือ พระพรหมซึ่งเป็นพระพระผู้สร้างพระนารายณ์หมายถึงพระผู้รักษา และพระอิศวรคือพระผู้ทำลาย พระตรีมูรติจึงเป็นเทพเจ้าสูงสุด
อย่างไรก็ตามอาจเป็นเพราะความ “แรง” ของเทพเจ้าสององค์เดิมที่มีอยู่ก่อน การสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาก็ดูเหมือนจะล่าช้าไป ศูนย์การค้าที่น่าสงสารแห่งนี้ เลยมีอันต้องเปลี่ยนเจ้าของใหม่ไป ส่วนธนาคารที่หนุนเรื่องทุนอยู่ ก็มีอันต้องอัตรธานหายไปจากสาระบบแบ๊งค์ไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ต้องเจ๊งซ้ำรอยเดิมเจ้าของใหม่ก็มีการบูชาศาลเป็นอย่างดี จึงทำให้กิจการก็พอที่จะดำเนินต่อไปได้
เทพเจ้าองค์ใหม่นี้มาแปลกเลย คือทุกคืนวันพฤหัสบดี เวลาประมาณสักสามทุ่มครึ่ง ก็มีคนหนุ่มคนสาวเป็นจำนวนมาก เขาจะพาไปชุมนุมเพื่อสักการะ "พระตรีมูรติ" แล้วอธิษฐานขอให้สมหวังในความรัก ที่ลานอเนกประสงค์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า (เวิลด์เทรดเก่า) ตรงข้ามศาลพระพรหมเอราวัณ ด้วยความเชื่อว่าเทพประจำศาสนาฮินดูนี้ จะประทานความรักและความสมหวังให้กับคู่รัก ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์อีกด้านหนึ่งในสังคมตะวันออก เช่นเดียวกับความเชื่อของกลุ่มคนที่ศรัทธาและบูชาในพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ผู้คนชอบเรียกเสด็จพ่อ ร.๕ (ฟังแล้วผมมีความรู้สึกพิกล เพราะดูเหมือนว่าจะมีการไปนับญาติกับพระองค์ท่าน) หรือท่านท้าวมหาพรหม ที่โรงแรมเอราวัณ
พอได้เวลาที่เทพตรีมูรติเสด็จลง ซึ่งเขียนไว้บริเวณหน้าแท่นบูชาว่า "วันเวลาที่เหมาะสมที่จะขอพรคือ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๓๐ น. ให้นำเทียนสีแดง ๑ เล่ม ธูปแดง ๙ ดอก พร้อมพวงมาลัยดอกกุหลาบสีแดงไปบูชา พร้อมของสักการะตามแต่ศรัทธา โดยเฉพาะผลไม้จะเป็นที่โปรดปราน"
ไม่มีใครรู้ว่า เหตุใด “พระตรีมูรติ” ที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่าแห่งนี้ จึงศักดิ์สิทธิ์เรื่องความรักนั้น เหมือน Cupid ของฝรั่ง ถามใครแล้วปรากฏว่าไม่มีใครทราบ เป็นแต่ว่าบอกต่อๆ มาแบบปากต่อปาก ยิ่งกว่านั้นบางคนบอกว่าอ่านเจอในอินเตอร์เน็ต ก็เลยลองเสี่ยงมาขอดู เผื่อฟลุคจะได้มีความรักกับเขาบ้า และไม่ได้เห็นเป็นเรื่องที่เสียหาย แต่หลายรายก็มาขอเรื่องอื่นเช่น ขอให้ถูกหวย ร่ำรวยเป็นเศรษฐี บางคนมาขอเรื่องตำแหน่งหน้าที่การ หรือมาขอให้หายจากโรคร้ายสุดแท้แต่ความต้องการของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่นัดกันมาขอให้สมหวังในเรื่องของความรัก
มีบางคนเชื่อว่า การขอพระตรีมูรติเป็นการขอแบบ Three in one คือเทพทั้งสามองค์ล้วนแต่ศักดิ์สิทธิ์ พระพรหมก็สร้างมนุษย์และสัตว์ พระนารายณ์ก็มีฤทธิ์มากเหลือหลาย และพระพระอิศวรก็เป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การขอพรพระตรีมูรติองค์เดียว ก็เหมือนขอพระจากเทพที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามองค์ เช่นเดียวกับการกินกาแฟ Three in one ที่มีทั้งกาแฟ น้ำตาล และนม รวมอยู่ในซองเดียวกัน ยังไงยังงั้นเลยทีเดียวเชียว
ผมว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหากโปรโมทดีๆ บางทีเทพตรีมูรติอาจเป็นจุดขายที่สำคัญก็ได้ เพราะปัจจุบันกรุ๊ปทัวร์จากฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปรืและจากประเทศจีนก็มีโปรแกรมพานักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านั้น ไปสักการะท่านท้าวมหาพรหมอยู่แล้ว ลองถ่ายภาพยนต์โฆษณาการท่องเที่ยวสักชุด เกี่ยวกับประวัติสี่แยกไสยาศาสตร์นี้ ให้ชื่อว่า “The Holy Intersection” รับรองว่าจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยทีเดียว
เขียน “กาแฟขม...ขนมหวาน” ตอนนี้แล้ว ทำให้เกิดความคิดจะแนะนำรุ่นพี่อย่าง พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค และอีกหลายท่าน ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพและต่างจังหวัดซึ่งเป็น “พ่อม่าย” และอยากได้คู่ครองใหม่ ไปไหว้ “พระตรีมูรติ” เพื่อขอให้ได้เจอสุภาพสตรีถูกใจ คุยกันได้ถูกคออีกสักคน เพื่อที่ได้แต่งงานใหม่อีกสักหน เอาไว้อยู่เป็นเพื่อนกันตอนบั้นปลายของชีวิตกันบ้างท่าจะดี ใครอยากจะไปกับผมก็สมัครเข้ามาได้ จะไปเมื่อไหร่ก็จะนัดเจอกันหน้าศาลเลยทีเดียวโดยต่างคนต่างไป เผื่อพระตรีมูรติท่านศักดิ์สิทธิ์จริงก็อาจโชคดี จะได้ขึ้นรถรางเที่ยวสุดท้ายทันกับเขาบ้าง!
ส่วนที่เป็นประเภท “พ่อม่ายเมียติด” ไม่ต้องแสดงความจำนงเข้ามา เดี๋ยวศรีภริยาจะตามมาต่อว่าต่อขานผมเข้าให้ ไม่ดีแน่ !!
อย่างไรก็ตามก่อนจบข้อเขียนตอน “สี่แยกไสยาศาสตร์” นี้ ก็อดนึกถึงคำพูดของคุณเจือระวี ชมเสวี ผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพรหมตรงหัวมุมโรงแรมเอราวัณมาตั้งแต่ต้น ซึ่งท่านพูดกับผมระหว่างที่นั่งรถผ่านสี่แยกไสยาศาสตร์นี้ตอนเย็นวันหนึ่งนานมาแล้ว ว่า
“อาผ่านมาตรงนี้ทีไร อดคิดไม่ได้เลยว่า ของที่เราออกแบบมากับมือแท้ๆ ทำไมถึงศักดิ์สิทธิ์ยืนยงอยู่ได้ถึงป่านฉะนี้ก็ไม่รู้นะ !”
พูดจบท่านถอนหายใจเฮือกใหญ่ !!