xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนมาเกี่ยวอะไรกับ "บอนด์"?!?

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

วันจันทร์ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ก.ค.) หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวตรงกันว่า กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เข้าข่ายสังกัดกระทรวงการคลัง อย่างเช่น ธนาคารออมสิน ต่างออกมาขานรับนโยบายใหม่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

"ยอมผ่อนเงิน แต่ไม่ยอมผ่อนโอกาส" คือ นโยบายใหม่ที่ว่า

จากข่าวที่ออกมา นโยบายดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายคือการยกระดับประเทศไทยให้ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ กลุ่มประเทศโลกที่หนึ่ง

กุนซือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ เคยนิยามคำว่า กลุ่มประเทศโลกที่ 1 เอาไว้ว่า คือ ประเทศที่ความยากจนลดลงหรือเกือบไม่มีเลย, เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่มีพลังและสามารถแข่งขันได้ (Hi-Performance Economy) และ ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Society)

การปรับกลยุทธ์การบริหารประเทศไทย หรือที่เมื่อต้นปีเคยโด่งดังในชื่อ "Re-managing ประเทศไทย" ภายใต้น้ำมือของคุณทักษิณ นักบริหารระดับมืออาชีพที่ไม่มีใครสงสัยในความสามารถ ตอนนี้มีนโยบายต่อเนื่องออกมาก็คือ การดึงเอานวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินในการพัฒนาประเทศของสังคมไทย เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็น ภาระทางการคลังของประเทศ

ภาระทางการคลังของประเทศ พูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือ การหาเงินมาพัฒนาประเทศโดยการหลีกเลี่ยงการก่อหนี้สาธารณะ อย่างเช่น การกู้ยืมเงินจากองค์กรโลกบาลอย่าง ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก เอดีบี หรือ ประเทศอื่นๆ เพราะรัฐบาลกำหนดกรอบเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะต้องไม่เกินระดับร้อยละ 45-50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ส่วนตัวแล้ว ผมสนับสนุนเต็มที่ให้รัฐบาลปรับกลยุทธ์การบริหารประเทศ ให้เป็นแนวทางใหม่ เพื่อยกระดับให้ประชาชนไทย อยู่ดีกินดี และผมก็เข้าใจถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่อยากใช้นโยบายการขาดดุลทางการคลัง เพราะ ไม่ต้องการจะสร้างภาระให้กับลูกหลานในอนาคต เหมือนกับที่เราเคยต้องทนทุกข์กันมาก่อนในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540

แนวนโยบายใหม่ที่รัฐบาลว่า และกำลังจะริเริ่มนำมาใช้ก็คือ "ซิเคียวริไทเซชั่น (Securitization)"

ซิเคียวริไทเซชั่น แปลเป็นไทยได้ว่า การแปรรูปสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งก็คือ การระดมเงิน (ทุน) ด้วยวิธีการออกตราสารทางการเงิน อย่างเช่น พันธบัตร (บอนด์) ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ขายให้กับ นักลงทุนทั่วไป หรือ ขายแบบเจาะจง แก่นักลงทุนสถาบันเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ผู้ซื้อมั่นใจก็คือ สินทรัพย์ขององค์กรที่ออกตราสารทางการเงินนั้นๆ

หากถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านแบบรวบรัดตัดความ ซิเคียวริไทเซชั่น ก็คือ "การกู้ยืมเงินอีกแบบหนึ่ง" นั่นแหละ
ทั้งนี้กรณีตัวอย่างล่าสุดก็คือ การซิเคียวริไทเซชั่นก็คือ ของการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อไปซื้อหุ้นลิเวอร์พูล ที่ คุณทักษิณ เป็นต้นคิดนั่นเอง

ฟังไปฟังไป วิธีนี้ก็ดูจะดีเหมือนกันแฮะ แต่เมื่อผมได้ยินและรับทราบ นโยบายซิเคียวริไทเซชั่น ที่นำมาดัดแปลงใช้กับ "การศึกษา" แล้ว ก็ยอมรับว่า พูดไม่ออก!

จากข่าวสารที่ออกมาตรงกันจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ระบุว่า กระทรวงการคลัง จะเริ่มนำร่องในการพัฒนาการศึกษาเพื่อลบจุดอ่อนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ของชาติ โดยมีแนวคิดในการดำเนินการเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

กรณีที่หนึ่ง หากเป็นโรงเรียนเอกชนที่ปกติผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อที่จะเอาลูกเข้าเรียนในโรงเรียน หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แป๊ะเจี๊ยะ" อยู่แล้ว ก็ให้ผู้ปกครอง แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินแบบไปแล้วไปลับ ก็ให้นำมาซื้อพันธบัตรที่โรงเรียนออกแทน โดยเมื่อครบกำหนด อย่างเช่นลูกเรียนชั้น ม.1-ม.6 ก็ให้โรงเรียนซื้อพันธบัตรคืน (ผู้ปกครองได้เงินคืน) โดยวิธีนี้โรงเรียนจะได้ประโยชน์ก็คือ นำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาลงทุนพัฒนาการเรียนการสอน เช่น จ้างครู-อาจารย์ ซื้ออุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

กรณีที่สอง หากเป็นโรงเรียนรัฐบาล (ที่ไม่มีแป๊ะเจี๊ย) ก็จะใช้วิธีให้ ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ รับซื้อพันธบัตรไปแทน โดยโรงเรียนผู้ออกพันธบัตรจะต้องทยอยซื้อคืนพันธบัตร (หรือ คืนเงิน) ปีละ 1-2 ครั้ง เช่น เมื่อได้รับชำระค่าเทอม หรือ ได้รับงบประมาณจากทางภาครัฐ

สำหรับแนวทางที่ให้โรงเรียนออกพันธบัตรระดมทุนเองนั้น มีผู้กล่าวว่า ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ จะทำให้โรงเรียนได้เงินทันที และสามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณที่มีจำกัด ดังนั้น หากโรงเรียนมีโครงการต้องการสร้างศูนย์กีฬาในโรงเรียน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที (อ้างจากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2547)

ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางแนวทางไว้ว่า ให้โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ไม่ทราบว่าเป็น ฝ่ายประถม หรือ มัธยม) เป็น "โรงเรียนหนูทดลอง"

ผมขอเดาล่วงหน้าในแนวเดียวกับนักวิชาการทางด้านการศึกษาบางท่านว่า โครงการทดลองนี้ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จะทำได้สำเร็จ (แน่นอนว่าต้องมีปัญหาบ้าง) เหตุผลก็คือ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่แต่เดิมก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา และกิจกรรมของโรงเรียนอยู่แล้ว และหากต้องการจะระดมทุนจริง ๆ ก็มี สมาคมผู้ปกครองและครูที่เข้มแข็ง สามารถจัดรายการอย่างเช่น กอล์ฟการกุศล โบว์ลิ่งการกุศล แรลลี่การกุศล มาหาเงินเข้าโรงเรียนได้แบบสบายๆ

พอออกพันธบัตร ขี้คร้าน ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเข้าสาธิตจุฬาฯ จะวิ่งเข้ามาแย่งกันซื้อ และอาจจะขายหมดไวกว่า หุ้นปตท. เสียด้วยซ้ำ

ในทางกลับกันปัญหาจะไปเกิดกับโรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่เพียงจะขาดทั้งเงิน แต่ยังขาดทั้งบุคลากร ที่ขาดความเข้าใจในนโยบายใหม่นี้ ถึงแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้การอบรม หรือ คำปรึกษาก็ตาม ผมก็ไม่เชื่อว่า โรงเรียนเล็กๆ ที่ว่ากันว่ามีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 24,000 โรงนั้นจะสามารถทำได้ (ซึ่งหากโรงเรียนเหล่านี้ทำไม่ได้หรือล้มเหลว แน่นอนว่า ก็ย่อมจะเกิดปัญหาทางด้านการเงิน และความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของเยาวชนในชาติขึ้นมาซ้ำเติม)

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมเป็นกังวลสำหรับ นโยบายให้โรงเรียนออกพันธบัตร ไม่ใช่ประเด็นที่ว่า ในทางปฏิบัติโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผู้บริหารโรงเรียนจะโกงหรือไม่โกง เพราะ ผมคิดว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ "วิธีคิด" ของท่านนายกฯ และกลุ่มคนต้นคิด ที่สะท้อนออกมาเป็น "นโยบาย"

ซิเคียวริไทเซชั่น ที่นำมาใช้กับ การศึกษา หากพิจารณาดูดีๆ แล้วจะเห็นว่าอยู่บนพื้นฐานแนวคิด คือ

หนึ่ง การยอมแพ้ให้กับระบบแป๊ะเจี๊ยะ แม้หลายคนจะออกมาว่าก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้วผมอย่าทำเป็นปากแข็งเลย! แต่อย่าลืมว่า การที่ทำเช่นนี้ก็เหมือนกับการที่รัฐบาลยอมยกธงขาว ยอมละทิ้งแนวคิดการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับอนาคตของชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันซึ่ง ผู้แข็งแรง (ผู้มีเงิน) เท่านั้นที่จะ อยู่รอด (ส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ได้) เป็นหลัก

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดจาก วิธีคิด "การเปลี่ยนแป๊ะเจี๊ยะเป็นพันธบัตร" ซึ่งก็ต้องถามกลับว่า ยุติธรรมไหมสำหรับคนไม่มีเงิน?

สอง การละเลยที่จะลดช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา โดยหันไปเน้นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับการศึกษาให้กับผู้ที่แข็งแรงอยู่แล้ว ให้แข็งแรงขึ้นไปอีก ขณะที่ผู้ที่อ่อนแอก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้อยู่เช่นเดิม หรือ กรณีที่หนักขึ้นไปอีกก็คือ ไม่มีเงินเพียงพอมาซื้อคืนพันธบัตร (ใช้หนี้)

โรงเรียนที่มีขายพันธบัตรได้มากก็จะมีทุนในการพัฒนาการเรียนการสอนได้มาก ส่วนโรงเรียนที่ออกพันธบัตรไม่ได้ ไม่มีผู้ซื้อ หรือมีผู้ซื้อน้อย จนต้องให้ธนาคารออมสินซื้อไปแทน หรือ โรงเรียนใดที่ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีความสามารถในการบริหารเงินและทรัพยสินของโรงเรียน ก็จะขาดแคลนทุนในการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลกระทบมาสู่ "เด็กนักเรียน" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สาม โรงเรียนไม่ใช่ และไม่ควรที่จะเป็นองค์กรธุรกิจ อันมีจุดมุ่งหมายในการหา "กำไร" เป็นเป้าหมายหลัก และโรงเรียนก็ไม่ต้องการนักบริหารการเงินมืออาชีพเข้ามาเป็น ครูใหญ่ หรือ ผู้อำนวยการใหญ่ แต่ต้องการนักบริหารการศึกษามืออาชีพเข้ามาบริหารโรงเรียนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพต่างหาก

ไม่ใช่ว่าผมเห็นว่า นโยบายซิเคียวริไทเซชั่น โดยภาพรวมไม่ดี แต่ภาพที่ผมเห็นในปัจจุบันคือ การนำนโยบายนี้มาปรับใช้กับการศึกษานั้น 'ผิดพลาด' ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้ว

สำหรับหนทาง "การแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาด้วยเงิน" นั้น ผมก็ขอคิดง่ายๆ และขอลอกเลียนแบบวิธีคิดแบบท่านนายกฯ ในการระดมทุนซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลก็แล้วกัน

ผมขออ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นที่ อ.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กราว 24,000 แห่งที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณราวปีละ 200,000 บาท (สมควรได้ 300,000 บาทต่อปี แต่ได้จริงเพียง 100,000 กว่าบาทต่อปี) อันส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการขาดแคลนอัตราครู และเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อคำนวณคร่าวๆ ดูแล้ว เงินที่ขาดแคลนในแต่ละปีนั้นอยู่ที่ราว 24,000 คูณ 200,000 ได้เท่ากับ 4,800 ล้านบาทพอดี

เงินที่ขาดไปจำนวนนี้ไม่ต้องแก้ด้วยวิธีให้โรงเรียนออกพันธบัตรครับ ลองใช้วิธี "ออกหวย (สลาก) ส่งเสริมการศึกษา" ขึ้นมาแทน

ประเมินดูแล้ว วงเงิน 4,800 ล้านบาทก็คลาดไปจากเงินที่รัฐบาลเคยหวังว่าจะระดมทุนจากประชาชนด้วยวิธีขายหวยแถมหุ้นหงส์ ไปไม่เท่าไหร่ แต่ที่แตกต่างกันเยอะก็คือ "หวยส่งเสริมการศึกษา" ที่ว่า คนซื้อไม่เพียงจะได้ลุ้นรางวัล แต่ยังได้บุญ แถมยังเป็นการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนอนาคตของชาติอีกต่างหาก
กำลังโหลดความคิดเห็น