xs
xsm
sm
md
lg

เมืองคนอ้วน

เผยแพร่:   โดย: นินจา ราตรี

ว่ากันว่า ถ้ามีคนออสซี่เดินผ่านหน้ามากลุ่มหนึ่ง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นคนอ้วน

คำกล่าวนี้ หาได้เกินจริงไม่

จากการศึกษาวิจัยของรัฐบาลออสเตรเลีย พบว่าประชากรของเขามีน้ำหนักเกินปกติถึงร้อยละ 60 หรือเกือบ 8 ล้านคนทีเดียวที่จัดว่าเป็นพวก “อ้วน”

ที่น่าตกใจคือ เด็กออสซี่อายุตั้งแต่ 2-17 ปี มีน้ำหนักเกินพิกัดถึงร้อยละ 23

และคาดการณ์กันว่า ตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ครึ่งหนึ่งของเด็กๆแห่งดินแดนดาวน์อันเดอร์จะเป็นโรคอ้วน


ซึ่งทำให้ตัวเลขของโรคเบาหวานในเด็ก และโรคเกี่ยวเนื่องกับความอ้วนพุ่งสูงตามมา

ผลวิจัยชิ้นนี้ชี้ชัดว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนอ้วนในประเทศออสเตรเลียมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว

ตัวเลขนี้ส่งผลให้เมืองจิงโจ้ขึ้นอยู่แถวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐอเมริกา ในเรื่อง

ประเทศที่มีพลเมืองอ้วนมากที่สุดในโลก !

ช่างเป็นสถิติระดับโลกที่น่าอดสูยิ่ง...

ครับ แม้ว่าเมืองไทยเราจะไม่มีตัวเลขสถิติชี้ชัดว่า พลเมืองไทยมีจำนวนคนอ้วนมากน้อยแค่ไหน หรือเด็กไทยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเท่าใด แต่เชื่อว่าจำนวนคนอ้วนในไทยคงเพิ่มปริมาณขึ้นจากเดิมมาก

ทั้งนี้เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินอยู่ของไทยเรา

ทุกวันนี้คนเมืองในสังคมไทย และผู้คนในออสเตรเลีย หรือตามเมืองใหญ่ๆทั่วโลกต่างเดินเส้นทางเดียวกัน

นั่นคือเส้นทางบริโภคนิยม...เส้นทางแห่งหายนะ

วันนี้ นินจา ราตรี จึงขอเล่าประเด็น “นาครสนทนา” เกี่ยวเรื่องอ้วนๆ ในเมืองจิงโจ้ หวังว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงรัฐบาลไทยจะตระหนักถึงภัยร้ายที่คุกคามคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนของชาติ แล้วหันมาแก้ไข ก่อนจะสายเกินการณ์

ประเด็นเรื่อง “อ้วน” กลายเป็นข่าวเด่นประเด็นดังในออสเตรเลียในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา เมื่อหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นาย Mark Latham ออกมาเสนอว่า...

โรคอ้วนในเด็กคือปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดในชุมชน

พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลออสซี่ออกกฎหมายห้ามโฆษณาอาหารขยะ พวก Fast food หรือที่ไทยเราเรียกเชิงประชดว่า “อาหารแดกด่วน” ในรายการโทรทัศน์ของเด็ก

เพราะที่ผ่านมาอาหารแดกด่วนเหล่านี้พุ่งเป้าโฆษณามาที่เด็กและเยาวชน เห็นได้ชัดจากการจัดรณรงค์ทางการตลาดด้วยการขาย หรือแถมของเล่น ของที่ระลึกควบคู่กับการขายอาหารขยะของตนเอง

หนังเด็กจากฮอลลีวู้ดแทบทุกเรื่องจะต้องมีสปอนเซอร์จากเหล่าร้านอาหาร Fast food ร่วมรณรงค์ทางการตลาดด้วยกัน

จากการวิจัยของ Nielsen Media Research ระบุว่า เมื่อปี 2003 ร้านอาหาร Fast food ในออสเตรเลียสิบอันดับต้นๆใช้งบโฆษณาทั้งสิ้นถึง 82.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย โดยค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald ทุ่มงบไปถึง 26.8 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ส่วนอันดับสองคือค่ายของไก่นายพล KFC เทงบโฆษณาไป 22.6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ถึงแม้ว่าในช่วงหลังๆ ร้านอาหารประเภทแดกด่วนเหล่านี้จะพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเอง ว่า ไม่ใช่อาหารขยะ โดยเพิ่มประเภทอาหารสุขภาพอย่างสลัดผักเข้าไปในเมนูอาหาร หรือการระบุว่าอาหารของค่ายตนเองมีคุณค่าทางการบริโภคมาก

แต่เหล่านี้มิอาจปฏิเสธความจริงได้ว่า อาหาร Fast food คือ มูลเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนเป็นโรคอ้วน

พลันที่หัวหน้าพรรคแรงงาน นาย Mark Latham ออกมาเสนอห้ามโฆษณาอาหารขยะในช่วงรายการโทรทัศน์ของเด็ก เสียงตอบรับจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต่างสรรเสริญแซ่ซ้อง

พ่อแม่ออสซี่หลายคน แสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆทั้งวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ สนับสนุนแนวคิดของนาย Mark Latham

หลายคนอยากให้แบนโฆษณาอาหารขยะเหมือนสินค้าประเภทบุหรี่ด้วยซ้ำไป !

นั่นคือ ห้ามทำกิจกรรมทางการตลาด หรือโฆษณาทั้งทางวิทยุ ทีวี หรือหนังสือพิมพ์

แต่ฝั่งรัฐบาลของนาย John Howard รีบออกมาปฏิเสธแนวคิดของฝ่ายค้าน โดยมองว่าการห้ามโฆษณาสินค้า Fast food ในรายการโทรทัศน์ของเด็ก มิใช่ทางแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนออสซี่

นาย John Howard บอกว่า ทางแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กคือ การเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายในโรงเรียน และศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน

เขาเสนอให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนทั่วประเทศออสเตรเลียเพิ่มพื้นที่ เพิ่มอุปกรณ์และกิจกรรมการออกกำลังให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียน

พร้อมทั้งเสนอให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับผิดชอบเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารของลูกหลานในความดูแลของตนเองให้มากขึ้น

ครับ ฟังดูง่ายดี แต่ตอนทำจริงสิลำบาก เพราะเด็กๆส่วนใหญ่มักถูกยั่วเย้า ดึงดูดจากโฆษณาสีสันฉูดฉาด เสียงเพลงเร้าใจ เนื้อเรื่องเร้าอารมณ์

ยิ่งมีตัวตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา ของเล่นเป็นตัวหลอกล่อด้วยแล้ว พ่อแม่เกือบทุกคนคงต้องทำใจว่าจะต้องเจอลูกอ้อนจากเจ้าตัวน้อยให้พาไปร้านอาหารแดกด่วนเป็นแน่

อันที่จริง ไม่เพียงแต่อาหารจากร้านประเภท Fast food เท่านั้นนะครับ ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก

อาหารประเภทน้ำอัดลม ของขบเคี้ยว มันฝรั่งทอดกรอบ ท้อฟฟี่ ช็อกโกแลต ฯลฯ ล้วนเป็นภัยที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรชั่งใจให้มากก่อนซื้อหามาปรนเปรอเจ้าตัวน้อย

และแน่นอนครับ การจะให้ลูกหลานเชื่อว่าอาหารเหล่านี้มีโทษมากกว่าคุณประโยชน์ นั่นคือการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยปฏิเสธหรือลดปริมาณการบริโภคอาหารขยะเหล่านี้เสียก่อน

ครับ จะว่าไปแล้ว ช่วงหลังๆนี้คนออสซี่เองตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนของเขามากขึ้น เห็นได้จากการมีร้านเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ปั่น น้ำผลไม้คั่น หรือร้านประเภทสลัดบาร์เพิ่มมากขึ้น

ร้านอาหารไทยหลายแห่งในซิดนีย์ แต่งหน้าแปลงโฉม เน้นขายสลัดหลากหลายรูปแบบ โดยผสมผสานความเป็นอาหารไทยกับอาหารประเภทสลัด

อาหารประเภทยำของไทย (ไม่มีรสเผ็ดจัดจ้านเหมือนต้นฉบับในเมืองไทย) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ออสซี่

ว่าไม่ได้นะครับ หากมีการโปรโมตดีๆ ต่อไป “ส้มตำ” อาจจะกลายเป็นอาหารยอดนิยมของฝรั่ง เหมือนกับต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดไทยก็ได้

เนื่องเพราะคุณค่าทางอาหารมีอยู่ครบถ้วน อีกทั้งยังสามารถดัดแปลงให้เข้ากับอาหารประเภทต่างๆได้ จากส้มตำมะละกอต้นตำรับ กลายเป็น ส้มตำแครอท ส้มตำผลไม้รวม ฯลฯ

และที่สำคัญคือ มันเป็นอาหารกินลดความอ้วนได้ด้วยนะเออ...

ว่าแต่นักการเมืองไทย จะไม่สนใจ มองประเด็นเรื่อง “โรคอ้วน” เป็นประเด็นหาเสียง หานโยบายดีๆ มาแก้ปัญหาสุขภาพของประชากรเหมือนนักการเมืองออสซี่เขาหรือครับ

หรือว่า นักการเมืองไทยมีแต่พวก “อ้วน”

เพราะ “กิน” เกินพิกัด ทั้งบ้านเมืองและอาหาร !

เลยเมินเฉยต่อประเด็น “อ้วน”

กำลังโหลดความคิดเห็น