xs
xsm
sm
md
lg

Soft Landing ของจีน กับ ก้างชิ้นใหญ่

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ในจีนขณะนี้ นอกจากการพิจารณาปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ "ร้อนแรง" จนน่ากลัวว่าจะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกกันว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" ด้วยเหตุผลและตรรกะที่เป็น 'วิทยาศาสตร์' (เป็นคำที่คนจีนใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อต่อสู้กับ ความคิดแบบขงจื๊อและระบอบศักดินา จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่) แล้ว ล่าสุด ยังมีการเมืองภายในจีนเข้ามาแทรกแซงปัญหาดังกล่าวด้วย

ถ้าใครอ่านรายงาน 3 ชิ้นล่าสุดของ หนังสือพิมพ์เอเชียไทมส์* ที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหาการเมืองภายในจีน ที่เกี่ยวพันมาถึง ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ก็คงจะพอจินตนาการภาพออกถึงอุปสรรคที่จีนกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และ ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

หากจะกล่าวว่า ผู้นำสูงสุดของจีนตอนนี้คือ หูจิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานประเทศ ก็คงไม่ผิดนัก แต่ถ้าหากกล่าวถึงเรื่องอำนาจแล้วละก็ จะบอกว่า ผู้นำสูงสุดคนนี้กุมอำนาจเด็ดขาดในการบริหารกิจการของประเทศหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่!

ปัจจุบัน แกนกลางผู้นำของจีนกำลังประสบปัญหาที่เรียกว่า "การงัดข้อ" กันระหว่างผู้นำรุ่นใหม่ คือ หูจิ่นเทา-เวินเจียเป่า กับ ผู้นำรุ่นที่แล้ว เจียงเจ๋อหมิน ผู้ยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งสำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะกรรมการทหารกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน

การงัดข้อกันครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องปัญหาการปฏิรูปภายในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ การแต่งตั้ง นายพลเต็มขั้นแห่งกองทัพจีน ที่เจียงดูทีท่าว่าไม่ยอมจะ 'ล้างมือ' และต้องการก็จะดันเอาคนของตัวเองเข้าไป หรือ หู ต้องการจะเอาคนรุ่นใหม่ที่ตนเองเชื่อใจเข้าไปเพื่อถ่ายเลือดเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึง ปัญหาเรื่องอำนาจที่เกี่ยวพันไปกับเรื่องเศรษฐกิจด้วย

อย่างที่ทราบกันว่า หูจิ่นเทา และ เวินเจียเป่า กำลังดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Soft Landing อยู่ ตามคำแนะนำของ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งหลายว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการการเงินเพื่อชะลอภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างน่ากลัวในปัจจุบันให้ช้าลง

ทั้งนี้มาตรการที่ถูกผลักดันให้มีการนำมาใช้เพื่อควบคุม ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรม เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ คือ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนได้ออกมาตรการให้ ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินต่างๆ เพิ่ม Reserve Requirements อีก ร้อยละ 0.5 หรือหากคิดเป็นตัวเลขการกันสำรองที่สถาบันต้องเพิ่มก็ตกอยู่ที่ราว 110,000 ล้านหยวน ออกกฎให้ผู้ต้องการซื้อบ้านในตลาดบน (High-end) เพิ่มเงินดาวน์จากร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 30 และห้ามทำการซื้อขายก่อนที่บ้านจะสร้างเสร็จ ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่มีการถกเถียงกันมานาน ธนาคารกลางจีนก็ยังไม่ได้ปรับขึ้นแต่อย่างใด

จากรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองนั้นเติบโตขึ้นร้อยละ 9.6 ลดลงจาก ไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 9.8 และน้อยกว่าที่มีการคาดหมายกันไว้ถึง ร้อยละ 1.1 (ก่อนหน้านี้มีบรรดานักวิเคราะห์คาดกันว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองน่าจะเติบโตมากถึงร้อยละ 10.7)

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เติบโตราวร้อยละ 5 มาตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปีพอมาถึงเดือนมิถุนายนก็มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7

ตัวเลขที่ออกมาใหม่นี้ดูเหมือนว่า มาตรการเพื่อปรับสภาพเศรษฐกิจจีนให้เข้าสู่ภาวะ Soft Landing ของ หูและเวิน ดูจะประสบความสำเร็จ ติดเพียงที่ว่า มาตรการชะลอเศรษฐกิจดังกล่าว กลับถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจาก กลุ่มเซี่ยงไฮ้ กลุ่มอำนาจเก่าผู้ภักดีกับ เจียงเจ๋อหมิน อดีตผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีน

เสียงคัดค้านมาตรการคุมเข้มทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลาง ถูกคัดค้านจากกลุ่มเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ที่เห็นว่า การคุมเข้มดังกล่าวทำให้ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์กลุ่มของตนเสียหาย

ขณะที่รายงานจากเอเชียไทมส์ ก็รายงานตอกย้ำข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า นักธุรกิจและนักการเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวนไม่น้อยต่างก่นด่ามาตรการคุมเข้มทางเศรษฐกิจดังกล่าวว่า ทำให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่ตกลงกว่า 200 จุดในช่วงเดือนพฤษภาคม และราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ ก็ตกอย่างหนัก ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ เช่น มณฑลจี๋หลิน หรือ หยุนหนาน (ยูนนาน) ก็เริ่มส่งเสียงบ่นออกมาว่า รัฐบาลกลางอันเป็นผู้ตัดสินใจ อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง และไม่เข้าใจสภาพที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องการนโยบายที่แตกต่างกัน

จนล่าสุดถึงกับมีการโจมตีรัฐบาลกลางผ่านหนังสือพิมพ์ว่า หนึ่ง รัฐบาลจีนกำลังหันกลับไปหาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งขัดกับการปฏิรูปตลาดเสรีที่ทำมาตั้งแต่สมัย เติ้งเสี่ยวผิง สอง การควบคุมจากรัฐบาลเป็นภัยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการกระเพื่อมตัวมากขึ้น

หากไม่จับประเด็นทางการเมืองเข้ามาพิจารณา ปัญหาล่าสุดของเศรษฐกิจจีน แล้วพิจารณาความขัดแย้งในประเด็น Soft Landing ทางเศรษฐกิจของจีนด้วยการใช้แต่เพียงตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ ก็อาจจะมองไม่เห็นอีกมุมหนึ่งของอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน ว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 'กลุ่มอำนาจใหม่' ที่ต้องการดึงอำนาจออกจาก 'กลุ่มอำนาจเก่า'

ความขัดแย้งนี้คงจะไม่น่าสนใจเท่าไรนัก หากขอบข่ายของมันถูกจำกัดอยู่แต่เพียง เรื่องการเมืองภายในประเทศจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ยังมีความเกี่ยวพัน และเชื่อมโยงมาถึงปัญหาเศรษฐกิจในระดับนานาชาติอีกด้วย

หมายเหตุ :
- รายงานจาก Asia Times การต่อสู้ในปักกิ่ง : หูกับเจียง 10 ก.ค. 2547
- รายงานจาก Asia Times การต่อสู้เพื่ออำนาจในจีน : ต่อต้านการปฏิรูป 17 ก.ค. 2547
- รายงานจาก Asia Times จีน : ศูนย์กลางเอาไม่อยู่ 18 ก.ค. 2547
กำลังโหลดความคิดเห็น